φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



แนะนำองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)
เขียนเมื่อ 2014/01/16 23:49
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนมาจากการที่ได้ร่วมค่ายอบรมวิชาการภาคฤดูหนาวของโซวเคนไดที่วิทยาเขตซางามิฮาระของ JAXA https://phyblas.hinaboshi.com/20131205
ตั้งใจจะให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่อ่านทั่วไปสามารถเข้าใจได้

เนื้อหาโดยหลักแปลและสรุปจากเว็บไซต์ของ JAXA ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น และเพิ่มเติมบางส่วนจากความเข้าใจของตัวเอง และข้อมูลบางส่วนจากวิกิพีเดีย รูปประกอบทั้งหมดก็นำมาจากเว็บไซต์เดียวกัน

อ้างอิง
http://www.jaxa.jp/pr/brochure/pdf/07/general01.pdf
http://www.jaxa.jp/pr/brochure/pdf/06/centers03.pdf
http://www.jaxa.jp/about/centers/index_j.html




หากพูดถึงเทคโนโลยีทางด้านอวกาศแล้ว คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงสหรัฐฯหรือไม่ก็รัสเซีย แต่ในช่วงยุคสมัยไม่นานมานี้ประเทศต่างๆก็ได้พยายามเริ่มท้าทายต่ออวกาศกันมากขึ้น ประเทศหนึ่งที่โดดเด่นน่าจับตามองก็คือญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะมีงบในการวิจัยทางด้านอวกาศไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ แต่ก็มีผลงานสำคัญโดดเด่นมากมายที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย

และหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จด้านอวกาศของญี่ปุ่นก็คือองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศ (宇宙航空研究開発機構) ของญี่ปุ่น หรือที่เรียกย่อๆกันว่า JAXA (ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Japan Aerospace eXploration Agency)

JAXA ก่อตั้งเมื่อปี 2003 จากการรวมตัวของ ๓ องค์การทางด้านอวกาศของญี่ปุ่น คือ
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศ (宇宙科学研究所) หรือที่เรียกย่อๆว่า ISAS (มาจากภาษาอังกฤษว่า Institute of Space and Astronautical Science)
- สถาบันวิจัยเทคโนโลยีการบินอวกาศ (航空宇宙技術研究所) หรือที่เรียกย่อๆว่า NAL (มาจากภาษาอังกฤษว่า National Aerospace Laboratory of Japan)
- องค์การพัฒนาอวกาศ (宇宙開発事業団) หรือที่เรียกย่อๆว่า NASDA (มาจากภาษาอังกฤษว่า National Space Development Agency)

หน่วยงานทั้งสามนี้ต่างก็มีส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของญี่ปุ่นมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนที่จะรวมตัวเป็นหน่วยงานเดียวกัน เมื่อรวมกันแล้ว JAXA ก็มีหน้าที่สานต่องานที่เคยทำมาก่อนเหล่านั้นต่อไป

สโลแกนของ JAXA คือ "ท้าทายท้องฟ้า บุกเบิกอวกาศ" (空へ挑み、宇宙を拓く) ภารกิจของ JAXA คือไล่ตามความเป็นไปได้อันไม่มีขีดจำกัด เพื่ออนาคตที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอวกาศ

ความหลงใหลและความกลัวที่มีต่ออวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลที่อาจเรียกได้ว่าไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งนั้นเริ่มมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

อวกาศเป็นดินแดนที่บรรพบุรุษของพวกเราเคยได้แต่แหงนมองฟ้าแล้วจินตนาการถึง เมื่อผ่านพ้นยุคสมัยต่างๆไป และเทคโนโลยีต่างๆได้พัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ตอนนี้อวกาศได้กลายมาเป็นสาขาสำคัญที่มนุษยชาติให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังกลายเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพวกเราที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลก

อวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้นยังแฝงไปด้วยปริศนาอยู่มากมาย แต่ว่าอวกาศก็ได้เผยให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้อันไม่มีขีดจำกัด

JAXA ยึดมั่นในภารกิจอันยิ่งใหญ่ต่างๆนี้และกำลังท้าทายต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะเข้าถึงปริศนาและส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างอุดมสมบูรณ์และสงบสุขยิ่งขึ้นได้อย่างเต็มที่



งานของ JAXA

ปัจจุบัน JAXA มีบทบาทหน้าที่ต่างๆมากมายดังนี้

๑. การใช้ประโยชน์จากอวกาศโดยผ่านดาวเทียม

    เพื่อที่จะทำให้การใช้ชีวิตของพวกเราดีขึ้น และปกป้องโลกที่พวกเราอาศัยอยู่ใบนี้ให้อยู่ต่อไปได้ในอนาคต JAXA ได้ทำการสังเกตการณ์การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน, ใช้ดาวเทียมเพื่อตรวจตราภัยพิบัติธรรมชาติทั่วโลก และวัดตำแหน่งเพื่อสร้างระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์

๒. การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ
    เพื่อที่จะอธิบายว่าพวกเรามาจากไหนและจะเป็นอย่างไรต่อไป อะไรคือจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของอวกาศ ชีวิตกำเนิดมาจากไหน JAXA ได้ทำการสังเกตการณ์อวกาศ หรือการสำรวจและสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ อีกทั้งยังทำการทดลองในสภาพแวดล้อมแบบในอวกาศและการวิจัยทางวิศวกรรมที่นำสมัย มุ่งหวังผลสำเร็จทางการวิจัยในระดับชั้นนำของโลก

๓. การสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์

    ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยทำให้พื้นที่อยู่อาศัยของมนุษยชาติสามารถค่อยๆขยายขึ้นจนออกจากโลกไปสู่อวกาศ JAXA จึงได้เดินหน้าแผนการสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ โดยร่วมมือกับองค์กรอวกาศของประเทศต่างๆ แล้วพิจารณาแผนงานสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ได้อย่างเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังทำการสนับสนุนภารกิจต่างๆต่อไปเรื่อยๆ

๔. การใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมแบบในอวกาศ
    สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) สิ่งก่อสร้างในอวกาศที่มีคนอยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ถูกสร้างขึ้นให้โคจรรอบโลก โดยอยู่สูงจากพื้นดิน ๔๐๐ กม. ภายใน ISS ได้มีการทดลองต่างๆโดยใช้ประโยชน์จากลักษณะพิเศษของสภาพแวดล้อมแบบในอวกาศ โดยหวังจะนำผลสำเร็จไปประยุกต์ใช้ในสาขาต่างๆอย่างกว้างขวาง เช่น การแพทย์, ทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ, วัสดุศาสตร์, การศึกษา, ศิลปะการแสดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ ISS เป็นเครื่องมือในการสร้างบุคลากรระดับนานาชาติ

๕. ระบบขนส่งที่เชื่อมโยงพื้นโลกเข้ากับอวกาศ
    ในการขนส่งดาวเทียมต่างๆขึ้นสู่ท้องฟ้า ตั้งแต่ดาวเทียมสื่อสารและดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปจนถึงยานสำรวจดาวเคราะห์สำหรับไล่ตามปริศนาของวัตถุท้องฟ้า รวมถึงการขนส่งเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ เราต้องใช้จรวดชนิดต่างๆ JAXA จะทำให้เทคโนโลยีจรวดซึ่งญี่ปุ่นได้พัฒนาขึ้นเองมาโดยตลอดนั้นพัฒนาต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในกระบวนการขนส่งที่มีอยู่ให้สูงยิ่งขึ้น

๖. การวิจัยเทคโนโลยีการบิน
    ยานพาหนะที่บินได้นั้นได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับวิถีชีวิตของเราในฐานะเป็นวิธีการในการเคลื่อนย้ายและขนส่ง JAXA มีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของญี่ปุ่น โดยการวิจัยเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีการบินที่ปลอดภัยและเข้ากับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับความต้องการที่ขยายวงกว้างและหลากหลายมากขึ้นในอนาคต

๗. วิจัยเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน
    JAXA สั่งสมความรู้จากการทำการวิจัยต่อเนื่องอย่างไม่หยุดหย่อน แล้วยังสร้างรากฐานเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง สนับสนุนและผลักดันงานวิจัยอันนำสมัยรวมถึงอุปกรณ์ทดสอบและวิจัยซึ่งจะเป็นเสาหลักของพลังเทคโนโลยีของสาขาวิทยาศาสตร์อวกาศ พร้อมกันนั้น ก็ได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีชิ้นส่วนและองค์ประกอบที่จำเป็นเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีอวกาศ, บุกเบิกเทคโนโลยีที่ไม่เคยลองมาก่อนเพื่อจะทำให้แนวความคิดด้านอวกาศในอนาคตเป็นจริง ทำการสาธิตต่างๆบนวงโคจรรอบโลกโดยใช้ดาวเทียมสาธิตขนาดเล็ก (小型実証衛星)

๘. กิจกรรมทางการศึกษาและการแลกเปลี่ยนบุคลากร
    JAXA จัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาต่างๆให้กับเยาวชนทั้งในระดับประถมและมัธยมโดยใช้วิทยาศาสตร์อวกาศเป็นวัตถุดิบ เพาะเลี้ยงเยาวชนที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ ผลักดันงานวิจัยและส่งเสริมการศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัยด้วยการติดต่อร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ

๙. ผลักดันความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม, สถาบันศึกษา และรัฐบาล
    JAXA ให้ความสำคัญกับการติดต่อร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างรากฐานทางอุตสาหกรรมอวกาศของญี่ปุ่นและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ อีกทั้งสร้างธุรกิจใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากอวกาศ

๑๐. ความร่วมมือระดับนานาชาติ
    ความร่วมมือระดับนานาชาติอย่างกว้างขวางเป็นสิ่งจำเป็นในการคลี่คลายปัญหาระดับโลก JAXA จึงได้ให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมกับนานาชาติในฐานะองค์กรการบินอวกาศระดับชั้นนำของโลก ความสามารถทางเทคโนโลยีระดับสูงในสาขาการบินอวกาศที่ญี่ปุ่นมีอยู่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับฐานะของญี่ปุ่นในนานาชาติ และรักษาสันติภาพของโลก

๑๑. กิจกรรมประชาสัมพันธ์
    JAXA ได้ทำกิจกรรมเพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนได้ทำความเข้าใจและให้การสนับสนุน โดยใช้โอกาสและช่องทางต่างๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมและการพัฒนาอวกาศของ JAXA ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันและเนื้อหางานวิจัยล่าสุด พยายามกระจายข่าวสารในหลายช่องทางเพื่อจะให้ผู้คนรู้สึกว่าอวกาศเป็นสิ่งใกล้ตัวเรามากขึ้น



ศูนย์ต่างๆของ JAXA




๑. สำนักงานใหญ่ ศูนย์อวกาศและการบินโจวฟุ (本社・調布航空宇宙センター)

    ตั้งอยู่ที่เมืองโจวฟุ จังหวัดโตเกียว เป็นศูนย์ที่ทำการวิจัยเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานของสาขาทางด้านอวกาศและการบิน ภายในมีเครื่องมือต่างๆที่เป็นระดับสุดยอดของประเทศ อย่างอุโมงค์ลมซึ่งใช้ทดสอบการปะทะกับอากาศของยานบิน และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งใช้ในการคำนวณงานใหญ่ๆเช่นการจำลองเพื่อออกแบบและวิเคราะห์ยานอวกาศ

๒. สำนักงานสาขาโตเกียว (東京事務所)
    ตั้งอยู่ในเขตจิโยดะของโตเกียว รับหน้าที่เป็นศูนย์ส่งเสริมการใช้ดาวเทียมและจัดการงานของสำนักงานใหญ่บางอย่าง

๓. ศูนย์อวกาศทสึกุบะ (筑波宇宙センター)


    ตั้งอยู่ที่เมืองทสึกุบะ จังหวัดอิบารากิ สร้างขึ้นเมื่อปี 1972 พื้นที่ประมาณ ๕๓๐,๐๐๐ ตร.ม. มีการวิจัยพัฒนาและทดสอบยานอวกาศสำหรับอนาคต และเป็นฐานเครือข่ายในประเทศที่คอยติดตามและควบคุมดาวเทียมที่ถูกส่งออกไป นอกจากนี้ยังเป็นที่พัฒนาและทดสอบโมดูล “คิโบว” (きぼう) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสถานีอวกาศนานาชาติ และยังมีการฝึกนักบินอวกาศด้วย ปัจจุบันที่นี่ประกอบด้วยสำนักงานใหญ่ของภารกิจขนส่งอวกาศ, สำนักงานใหญ่ที่หนึ่งของโครงการประยุกต์ใช้ดาวเทียม, สำนักงานใหญ่การวิจัยและพัฒนา, สำนักงานใหญ่ของภารกิจส่งคนขึ้นสู่อวกาศ, และสำนักงานใหญ่ของการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศบางส่วน ทำงานวิจัยพัฒนาและทดสอบเพื่อการพัฒนาอวกาศ เป็นศูนย์การพัฒนาด้านอวกาศของญี่ปุ่น

๔. วิทยาเขตซางามิฮาระ (相模原キャンパス)


    ตั้งอยู่ที่เมืองซางามิฮาระ จังหวัดคานางาวะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1989 เป็นสถาบันที่ทำการวิจัยเพื่อไขปริศนาต่างๆของอวกาศ เช่น กิจกรรมของดวงอาทิตย์ และการกำเนิดของดวงจันทร์, ดาวเคราะห์, หลุมดำ หรือดาราจักรต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศและอวกาศโดยใช้บัลลูน ภายในวิทยาเขตมีอาคารวิจัยและบริหารจัดการ, อาคารศูนย์วิจัย แล้วก็กลุ่มอาคารสำหรับทำการทดสอบเฉพาะทางที่ใช้ทดลองและพัฒนาจรวดและพาหนะสำหรับบรรทุกดาวเทียม นอกจากนี้ที่นี่ยังจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งช่วยสร้างเด็กรุ่นถัดไปที่จะมามีบทบาทในการพัฒนาสังคมของมนุษยชาติ และยังเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ใช้ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่รวบรวมนักวิจัยมากมายมาทำงานวิจัยต่างๆ มีส่วนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศโดยเป็นฐานในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อวกาศที่มีนักวิจัยจากประเทศต่างๆทั่วโลก

รายละเอียดเพิ่มเติมเขียนไว้ในหน้านี้ https://phyblas.hinaboshi.com/20140118

๕. ศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ (種子島宇宙センター)


    ตั้งอยู่ปลายแหลมทางใต้สุดของเกาะทาเนงาชิมะ ในเขตของเมืองมินามิตาเนะ (南種子町) จังหวัดคาโงชิมะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1969 เป็นฐานปล่อยจรวดที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีพื้นที่ ๙.๗ ล้าน ตร.ม. ทำหน้าที่ตั้งแต่การประกอบจรวดจนถึงการปล่อยจรวด และยังตรวจสภาพขั้นสุดท้ายของดาวเทียมเพื่อจะนำไปขึ้นจรวด ภายในมีที่ปล่อยจรวดขนาดใหญ่สำหรับปล่อยจรวด H-IIA หรือ H-IIB อาคารประกอบดาวเทียมสำหรับประกอบและทดสอบดาวเทียมและยานอวกาศที่จะส่งไปกับจรวด อาคารประกอบโครงสร้างภายนอกของดาวเทียม ทางเหนือมีสถานีส่งสัญญาณอวกาศมาสึดะ และทางตะวันตกมีสถานีเรดาร์อุจูงาโอกะ (宇宙ヶ丘レーダステーション) และสถานีสังเกตการณ์ทางแสง ซึ่งทำหน้าที่ช่วยติดตามจรวด

๖. สถานีสังเกตการณ์อวกาศอุจิโนอุระ (内之浦宇宙空間観測所)


    ตั้งอยู่ที่เมืองอุจิโนอุระ จังหวัดคาโงชิมะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1962 เพื่อใช้ส่งจรวดและดาวเทียม และติดตามและรับข้อมูล ที่นี่ได้ทำการปล่อยดาวเทียมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์และยานสำรวจดาวเคราะห์ต่างๆมากมาย โดยเริ่มจาก "โอสึมิ" (おおすみ) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของญี่ปุ่นในปี 1970 ที่นี่มีจานรับสัญญาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐ เมตรและ ๓๔ เมตรสำหรับรับคลื่นวิทยุจากดาวเทียมที่ถูกปล่อยออกไป

๗. ศูนย์สังเกตการณ์โลก (地球観測センター)


    ตั้งอยู่ที่เมืองฮาโตยามะ (鳩山町) จังหวัดไซตามะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1978 เพื่อวางรากฐานและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (รีโมทเซนซิง) เพื่อที่จะสังเกตการณ์สภาพแวดล้อมของโลกจากดาวเทียม ที่นี่ประกอบไปด้วยจานรับสัญญาณทรงพาราโบลา ๓ อัน ทำหน้าที่รับข้อมูลจากดาวเทียมสังเกตการณ์และเก็บบันทึก นอกจากนี้ยังใช้ระบบคอมพิวเตอร์จัดการภาพและเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจให้กับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศโดยใช้ DVD หรือช่องทางอื่นๆ และยังมีถ่ายทอดให้คนทั่วไปด้วย อีกทั้งยังทำการอธิบายปัญหาสิ่งแวดล้อม จับตาภัยพิบัติ สำรวจทรัพยากร

๘. ศูนย์อวกาศคากุดะ (角田宇宙センター)

    ตั้งอยู่ที่เมืองคากุดะ จังหวัดมิยางิ สร้างขึ้นเมื่อปี 1965 ใช้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับจรวดซึ่งใช้ขนส่งดาวเทียมออกนอกชั้นบรรยากาศ ที่นี่แบ่งงานออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือวิจัยพัฒนาและทดสอบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเหลวที่ใส่ในจรวดชนิดต่างๆเช่น H-IIA อีกส่วนหนึ่งคือวิจัยพัฒนาเครื่องยนต์จรวดแบบที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้เพื่อที่จะนำไปประยุกต์เป็นระบบขนส่งอวกาศซึ่งนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ หรือเครื่องยนต์ที่สามารถนำอากาศมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ในขณะที่กำลังบินอยู่ในชั้นบรรยากาศ

๙. สนามทดลองจรวดโนชิโระ (能代ロケット実験場)


    ตั้งอยู่ที่เมืองโนชิโระ จังหวัดอากิตะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1962 โดยแรกเริ่มมีไว้ทดสอบการเผาไหม้บนพื้นดินชนิดต่างๆเพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ของจรวดรุ่นมิวซึ่งใช้ส่งดาวเทียมวิทยาศาสตร์และยานสำรวจอวกาศ และจรวดสังเกตการณ์ ตั้งแต่ปี 1975 ใช้พัฒนาจรวดออกซิเจนเหลวและไฮโดรเจนเหลว ตั้งแต่ปี 1988 ได้เริ่มมีการพัฒนาเครื่องยนต์แอร์เทอร์โบแรมเจ็ต (ATR) สมรรถภาพสูงซึ่งถูกใช้ในยานขนส่งอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยที่นี่ใช้ทดสอบภาคพื้นดินเพื่อตรวจสอบสมรรถภาพ ก่อนที่จะไปทดสอบบินจริง ในบริเวณนี้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ทดสอบเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงแข็ง และอุปการณ์ทดลองต่างๆที่จำเป็นสำหรับการพัฒนางานวิจัยเครื่องยนต์สมรรถภาพสูงสำหรับอนาคต

๑๐. สนามทดลองการบินและอวกาศไทกิ (大樹航空宇宙実験場)


    ตั้งอยู่ที่เมืองไทกิ จังหวัดฮกไกโด เป็นสถานที่ทำการทดสอบการบินต่างๆโดยใช้ยานบินทดสอบเพื่อสาธิตถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 1997 และตั้งแต่ปี 2008 การปล่อยบัลลูนขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการทดลองซึ่งเคยทำที่ฐานสังเกตการณ์บัลลูนขนาดใหญ่ซันริกุ (三陸大気球観測所) ที่เมืองโอฟุนาโตะ (大船渡市) จังหวัดอิวาเตะก็ได้ย้ายมาที่นี่ด้วย ภายในบริเวณเป็นสวนสาธารณะที่ประกอบไปด้วยลานวิ่งที่ยาวถึง ๑๐๐๐ ม. และมีพื้นที่บนอากาศเพียงพอต่อการใช้งาน และยังมีโรงเก็บเครื่องบินขนาดใหญ่ซึ่งกว้าง ๓๐ ม. ยาว ๘๓.๒ ม. สูง ๓๔.๙ ม. ,หอควบคุมการบิน และอุปการณ์วัดสภาพอากาศ

๑๑. สถานีสังเกตการณ์อวกาศอุสึดะ (臼田宇宙空間観測所)


    ตั้งอยู่ที่เมืองอุสึดะ (ปัจจุบันถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองซากุ (佐久市)) จังหวัดนางาโนะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1984 ทำหน้าที่ส่งสัญญาณควบคุมยานอวกาศที่สำรวจดาวเคราะห์หรือดาวหาง และรับข้อมูลสังเกตการณ์ที่ได้จากยาน เพื่อที่จะรับสัญญาณซึ่งมาจากที่ไกลและเบาบางมากจึงต้องตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งห่างไกลจากคลื่นรบกวนต่างๆจากย่านเมือง ส่วนหลักของที่นี่คือจานรับสัญญาณทรงพาราโบลาขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๔ ม. ซึ่งหนักถึง ๑๙๘๐ ตัน

๑๒. สถานีสื่อสารอวกาศคัตสึอุระ (勝浦宇宙通信所)


    ตั้งอยู่ที่เมืองคัตสึอุระ จังหวัดจิบะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1968 หน้าที่หลักคือติดตามและควบคุมดาวเทียม รับคลื่นจากดาวเทียมที่ส่งไป ตรวจว่าตำแหน่งและสภาพของดาวเทียมและอุปการณ์อิเล็กโทรนิกที่บรรจุอยู่ทำงานเป็นปกติอยู่หรือไม่แล้วออกคำสั่งควบคุมตามสถานการณ์เพื่อควบคุมรักษาสภาพดาวเทียม ประกอบไปด้วยจานรับสัญญาณทรงพาราโบลาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๓ ม. และ ๑๐ ม. และยังมีอาคารติดตามและควบคุม, อาคารผลิตไฟฟ้า และอาคารปล่อยลำแสงขนานโนโนซึกะซึ่งตั้งอยู่บนเขาโนโนซึกะ

๑๓. สถานีสื่อสารอวกาศมาสึดะ (増田宇宙通信所)


    ตั้งอยู่ที่เมืองนากาตาเนะ (中種子町) เกาะทาเนงาชิมะ จังหวัดคาโงชิมะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1974 ทำหน้าที่รับคลื่นจากดาวเทียม ตรวจตราว่าดาวเทียมรักษาสภาพวงโคจร, ตำแหน่ง และสภาพไว้เป็นปกติอยู่หรือไม่ ส่งข้อมูลให้กับศูนย์อวกาศทสึกุบะเพื่อจะได้รู้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใส่อยู่ยังทำงานเป็นปกติอยู่หรือไม่ อีกทั้งส่งคำสั่งควบคุมไปตามสถานการณ์เพื่อควบคุมสภาพดาวเทียม นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดตามจรวดด้วยเรดาร์ความแม่นยำสูง และรับสัญญาณโทรมาตรที่ส่งจากจรวด แล้วตรวจตราสภาพของจรวด

๑๔. สถานีสื่อสารอวกาศโอกินาวะ (沖縄宇宙通信所)


    ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านอนนะ (恩納村) จังหวัดโอกินาวะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1963 หน้าที่หลักคือติดตามและควบคุมดาวเทียม รับคลื่นจากดาวเทียมที่ส่งออกไป แล้วตรวจสอบสภาพและตำแหน่ง ตรวจดูว่าอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ที่บรรจุอยู่ทำงานปกติหรือไม่ และส่งคลื่นคำสั่งไปสนับสนุนตามสภาพของดาวเทียม

๑๕. สถานีติดตามจรวดโองาซาวาระ (小笠原追跡所)


    ตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะกลางเกาะจิจิ (父島) ในหมู่เกาะโองาซาวาระ จังหวัดโตเกียว สร้างขึ้นเมื่อปี 1975 ใช้ตรวจสอบยืนยันเส้นทางการบินหรือสภาพการบินของจรวดที่ปล่อยออกจากศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ และรับประกันความปลอดภัย มีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับใช้คลื่นในการติดตามจรวดที่กำลังบินอยู่ ที่นี่กับศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะเชื่อมต่อกันด้วยวงจรเฉพาะทาง สามารถส่งข้อมูลถึงกันได้ภายในช่วงเวลาที่สั้นมาก

๑๖. สำนักงานดาวเทียมคันไซ (関西サテライトオフィス)

    ตั้งอยู่ที่เมืองฮิงาชิโอซากะ (東大阪) จังหวัดโอซากะ สร้างขึ้นเมื่อปี 2003 เป็นฐานพัฒนาอวกาศของทางภูมิภาคคันไซ เป็นสำนักงานประสานงานผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานที่พัฒนาอวกาศ โดยหลักจะสนับสนุนเทคโนโลยีการพัฒนาอวกาศให้กับบริษัทหรือมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจที่จะทำธุรกิจด้านอวกาศ ให้คำปรึกษาด้านอวกาศ นอกจากนี้ยังมีอุปการณ์สำหรับทดสอบดาวเทียมขนาดเล็ก สามารถทดสอบในสภาวะสูญญากาศร้อนหรือทดสอบการสั่นสะเทือนได้

๑๗. ฐานวิจัยการบินที่สนามบินนาโงยะ (名古屋空港飛行研究拠点)


    ตั้งอยู่ติดกับสนามบินนาโงยะ (名古屋飛行場) ซึ่งเป็นสนามบินประจำจังหวัด มีหน้าที่ทำการทดลองสาธิตการบิน เป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านการบินของญี่ปุ่น ประกอบด้วยโรงเก็บเครื่องบินที่สามารถเก็บได้สามลำ ห้องควบคุมการทดลองที่สามารถติดตามการบินได้ภายในช่วงเวลาที่สั้นมาก และห้องเตรียมอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมสำหรับการทดสอบส่วนประกอบแต่ละชนิดของเครื่องบิน

๑๘. สำนักงานประจำต่างประเทศ
มีอยู่ ๕ แห่ง
- สำนักงานประจำกรุงวอชิงตัน
    ทำหน้าที่ติดต่อกับสำนักงานใหญ่ของ NASAองค์กรจัดการด้านสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA), ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, สภาผู้แทนราษฎร, บริษัทที่เกี่ยวกับการบินอวกาศ และทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมของ JAXA ภายในอเมริกา
- สำนักงานประจำฮิวส์ตัน
    ทำหน้าที่ติดต่อกับศูนย์อวกาศจอห์นสัน (JSC) ซึ่งโดยหลักแล้วทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งคนไปในอวกาศ สำนักงานนี้จึงรับผิดชอบเรื่องการฝึกนักบินอวกาศ การพัฒนาและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากสถานีอวกาศ การทดลองกระสวยอวกาศ
- สำนักงานประจำกรุงปารีส
    ใช้ติดต่อแผนงานที่ร่วมมือกับทางยุโรป โดยเฉพาะองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปารีส และองค์การอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส (CNES)
- สำนักงานประจำกรุงเทพฯ
    ตั้งอยู่ในอาคารบีบีที่ถนนอโศก ทำหน้าที่สนับสนุนการใช้สถานีรับสัญญาณจากดาวเทียมที่ลาดกระบังของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ใช้ข้อมูลจาก JAXA ที่รับจากสถานีนี้ภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดต่อกับหน่วยงานต่างๆภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำรวจแนวโน้มในภูมิภาค และประชาสัมพันธ์
- สำนักงานประจำกรุงมอสโก
    ใช้สนับสนุนการฝึกฝนของนักบินอวกาศญี่ปุ่นภายในรัสเซีย การส่งคนขึ้นและลงด้วยยานโซยูส และทำการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอวกาศของรัสเซียเรื่องสถานีอวกาศนานาชาติหรือโครงการอวกาศต่างๆ



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์
-- ประเทศญี่ปุ่น

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ