φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เขียนเมื่อ 2015/10/28 21:47
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#เสาร์ 18 เม.ย. 2015

หลังจากที่ชมส่วนต่างๆในเซียนหนงถานไปแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20151024

คราวนี้มาชมสวนที่สำคัญที่สุดของที่นี่ นั่นคือส่วนอาคารไท่ซุ่ยเตี้ยน (太岁殿) ซึ่งถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง (北京古代建筑博物馆)

ช่วงนี้มีโอกาสได้ไปชมพิพิธภัณฑ์มาหลายแห่งแล้ว แต่ละแห่งก็มีความน่าสนใจต่างกันออกไป สำหรับสถาปัตยกรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญน่าสนใจมากเพราะไม่ว่าจะไปเที่ยวไหนเราก็ต้องเจอกับสิ่งก่อสร้างเต็มไปหมด หากมองดูให้ดีก็จะพบว่าสิ่งก่อสร้างแต่ละแห่งมีความโดดเด่นต่างกันออกไป หากสร้างในยุคไหนก็จะมีเอกลักษณ์ในแบบของยุคนั้น

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนในมุมมองของวิวัฒนาการของสิ่งก่อสร้าง



เริ่มแรกตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์อาศัยอยู่ในถ้ำ แต่ต่อมามนุษย์ก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่พอต่อความต้องการดังนั้นจึงเริ่มหาทางสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาเองจากวัตถุดิบที่มีอยู่รอบๆตัว สิ่งก่อสร้างในยุคแรกๆนั้นก็เป็นแค่อะไรง่ายๆเช่นการขุดหลุมแล้วเอาฟางมาปิดเป็นหลังคา



จากนั้นต่อมาก็เริ่มจะเอากระดูกสัตว์หรือไม้มาทำเป็นโครงแล้วเอาดินมาก่อขึ้นเป็นรูปร่าง



สมัยต่อมามนุษย์ก็เริ่มเอาไม้มาประกอบกันสร้างเป็นบ้าน



นี่คือภาพร่างของสิ่งก่อสร้างที่ป้านพัว (半坡) ซึ่งเป็นเมืองในวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ตั้งอยู่ในมณฑลส่านซี หากใครเคยเล่นเกม emperor ของ sierra แล้วละก็ เมืองป้านพัวนี้คือเมืองแรกที่ต้องเล่น



เกี่ยวกับเกม emperor ลองอ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150429

ที่เห็นที่พื้นใต้กระจกคือแบบจำลองบริเวณที่ขุดพบซากโบราณสถานหนิวเหอเหลียง (牛河梁) ที่เมืองหลิงหยวน (凌源) มณฑลเหลียวหนิง มีการขุดพบสุสานที่สร้างด้วยหิน



แล้วก็ยังมีเจอซากวัด และรูปปั้นเทพธิดาด้วย



ภาพทางซ้ายคือภาพในจินตนาการของหมู่บ้านสมัยโบราณซึ่งขุดพบร่องรอยที่ตำบลเจียงไจ้ (姜寨) ในเขตหลินถง (临潼) ของเมืองซีอาน (西安) มณฑลส่านซี
ส่วนภาพทางขวานี้คือซากโบราณสถานเหอหมู่ตู้ (河姆渡) ที่เมืองหยวีเหยา (余姚) มณฑลเจ้อเจียง ในเกม emperor มีปรากฏเมืองชื่อเหอหมู่ตู้ด้วย แต่ว่าไม่ใช่เมืองที่ให้ผู้เล่นเล่น เป็นแค่เมืองห่างไกลที่ต้องทำการค้าด้วย
ข้างล่างเป็นการประกอบไม้เพื่อสร้างสิ่งก่อสร้าง



ต่อมาเริ่มเข้าสู่ยุคราชวงศ์เซี่ย (夏朝, 21 - 17 ศตวรรษก่อน ค.ศ.) ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญของวัฒนธรรมที่ขุดเจอของยุคนี้คือเอ้อร์หลี่โถว (二里头) สำหรับในเกม emperor เมืองเอ้อร์หลี่โถวนี้คือเมืองที่ ๒ ที่เราจะต้องสร้างขึ้นมาต่อจากป้านพัว
นี่คือแบบจำลองอาคารที่ขุดพบร่องรอยที่เอ้อร์หลี่โถว เป็นบ้านที่ทำจากไม้และดินอัดและมีสวนกลางบ้านซึ่งเก่าแก่ที่สุดที่มีการขุดพบเจอในจีน



ต่อมาพูดถึงซากโบราณในสมัยราชวงศ์ซาง (商朝, 17 - 11 ศตวรรษก่อน ค.ศ.) ภาพซ้ายคือภาพจินตนาการพระราชวังในโบราณสถานที่เมืองหย่านซือ (偃师) มณฑลเหอหนาน ส่วนภาพขวาคือซากสุสาน, ปราสาท และวัดที่เมืองอานหยาง (安阳) สำหรับที่นี่เรามีโอกาสได้ไปเที่ยวชมมาแล้ว เคยเล่าถึงไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120915



พระราชวังที่ซากโบราณสถานผานหลงเฉิง (盘龙城) ในเขตหวงผี (黄陂) เมืองอู่ฮั่น (武汉) มณฑลหูเป่ย์ คาดกันว่าเป็นวังของเจ้าครองแคว้นหนึ่งในสมัยราชวงศ์ซาง



ภาพจินตนาการซื่อเหอย่วนในโบราณสถานที่หมู่บ้านเฟิ่งฉู (凤雏) ในอำเภอฉีซาน (岐山) มณฑลส่านซี นี่เป็นร่องรอยของซื่อเหอย่วนที่เก่าแก่ที่สุดในจีน อยู่ในยุคราชวงศ์โจวตะวันตก (西周, 1046 - 771 ปีก่อน ค.ศ.) ภาพร่างอย่างที่เห็น



ภาพร่างในจินตนาการของสุสานเจ้าครองแคว้นจงซานในยุคจ้านกั๋ว (战国, 475 - 221 ปีก่อน ค.ศ.) ที่ขุดพบในอำเภอผิงซาน (平山) มณฑลเหอเป่ย์ ร่างขึ้นมาจากจารึกโบราณ



และนี่คือชิ้นส่วนมุงหลังคาของสุสานนั้น



ตรงนี้มีภาพโบราณสถานที่กรีกซึ่งสร้างขึ้นในช่วงยุคเดียวกันคือ 500 ปีก่อน ค.ศ. เอาไว้เป็นตัวเปรียบเทียบวิทยาการของโลกฝั่งตะวันตกกับของจีน



วังเสียนหยาง (咸阳宫) ที่เมืองเสียนหยางมณฑลส่านซี สร้างขึ้นในช่วงยุคจ้านกั๋ว เป็นวังของเจ้าครองแคว้นฉินซึ่งต่อมาได้รวบรวมประเทศตั้งตัวเป็นราชวงศ์ฉิน (秦朝, 221 - 206 ปีก่อน ค.ศ.)



ภาพจินตนาการวังเจี้ยสือ (碣石宫) ที่อำเภอสุยจง (绥中) ในมณฑลเหลียวหนิง เป็นวังพักร้องสมัยราชวงศ์ฉิน



ต่อไปเข้าสู่ยุคราชวงศ์ฮั่น (汉朝, 202 ปีก่อน ค.ศ. - ปี 220) นี่เป็นภาพวังเจี้ยนจาง (建章宫) ในเมืองหลวงฉางอาน (长安) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองซีอาน สร้างเมื่อ 104 ปีก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นช่วงราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西汉, 202 ปีก่อน ค.ศ. - ปี ค.ศ. 8)



เสาและประตูของสุสานโบราณในยุคราชวงศ์ฮั่น



แบบจำลองสุสานยุคราชวงศ์ฮั่นต้าเป่าไถ (大葆台汉墓) อยู่ในปักกิ่ง เป็นสุสานโบราณยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตกที่หลงเหลืออยู่ในสภาพดีมากแห่งหนึ่ง เราเคยไปเที่ยวมาด้วยแต่ปิดอยู่จึงไม่ได้เห็นด้านใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150628



เครื่องปั้นดินเผาที่ถูกใช้ฝังพร้อมศพคนตายซึ่งทำเป็นรูปอาคาร อันนี้เป็นแบบจำลองของอันที่สร้างในช่วงยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (东汉, ปี 25 - 220)



จากนั้นก็เป็นยุคราชวงศ์สุย (隋朝, ปี 581 - 618) สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นในยุคนั้นอย่างหนึ่งคือสะพานเจ้าโจว (赵州桥) อยู่ในอำเภอเจ้าเซี่ยน (赵县) มณฑลเหอเป่ย์



ทางซ้ายคือผังเมืองต้าซิง (大兴) เมืองหลวงยุคราชวงศ์สุยซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณเมืองซีอาน เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มาก คาดกันว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ส่วนทางขวาคือเมืองลั่วหยาง (洛阳) ซึ่งสมัยนั้นถูกใช้เป็นเมืองหลวงรองทางตะวันออก



เข้าสู่ยุคราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907) ก็มีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆอีกมากมาย เช่นรูปซ้ายบนคือวังต้าหมิง (大明宫) สร้างขึ้นในเมืองหลวงสมัยนั้น



หอคอยหลายแห่งถูกสร้างในยุคราชวงศ์ถัง และยังเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ในรูปนี้เรียงจากทางซ้ายคือหอคอยต้าย่าน (大雁塔) , หอคอยเสี่ยวย่าน (小雁塔), หอคอยเสวียนจ้าง (玄奘塔) ทั้ง ๓ แห่งอยู่ในเมืองซีอาน และขวาสุดคือหอคอยจิ้งฉางฉานซือ (净藏禅师塔) ที่เมืองเติงเฟิง มณฑลเหอหนาน



ต่อมาช่วงยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (五代十国, ปี 907–979) นี่เป็นรูปสิ่งก่อสร้างในมณฑลซานซีในช่วงยุคนั้น รูปซ้ายคือวัดเจิ้นกั๋ว (镇国寺) ที่เมืองผิงเหยา (平遥) ส่วนทางขวาคืออาคารต้าหยวินย่วน (大云院) ในเมืองผิงซุ่น (平顺)



จากนั้นก็เป็นยุคราชวงศ์ซ่ง (宋朝, ปี 960 - 1279) หอคอยสวยๆหลายแห่งถูกสร้างในยุคนั้น รูปซ้ายสุดคือหอคอยเลี่ยวตี๋ (料敌塔) ในเมืองติ้งโจว (定州) มณฑลเหอเป่ย์ เคยเล่าถึงไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20141206



ในยุคร่วมสมัยกับราชวงศ์ซ่งปกครองพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนนั้นมีราชวงศ์เหลียว (辽朝, ปี 916 - 1125) ซึ่งได้เหลือสิ่งก่อสร้างไว้ในดินแดนทางตอนเหนือของจีนมากมายเช่นในปักกิ่ง



สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นอย่างหนึ่งในยุคราชวงศ์เหลียวคือเจดีย์ศากยมุนีวัดฝัวกง (佛公寺释迦塔, ฝัวกงซื่อซื่อเจียถ่า) ที่อำเภออิ้งเซี่ยน (应县) มณฑลซานซี สูง ๖๗.๓๑ แบบจำลองขนาด ๑:๒๐ ตั้งอยู่เด่นมาก เจดีย์นี้มีชื่อเสียงมากเพราะเป็นเจดีย์ไม้โบราณขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในจีน



ต่อจากราชวงศ์เหลียวก็คือราชวงศ์จิน (金朝, ปี 1115 - 1234) ซึ่งมาสืบต่อบริเวณพื้นที่ตอนเหนือของจีน ในรูปนี้คือสิ่งก่อสร้างในมณฑลซานซีที่สร้างในช่วงนั้น



ในขณะเดียวกันร่วมสมัยกับราชวงศ์เหลียว ซ่ง และจิน ราชวงศ์ซีเซี่ย (西夏, ปี 1032 - 1227) ซึ่งตั้งตัวขึ้นทางตะวันตกของจีน ก็ได้เหลือสิ่งก่อสร้างโบราณเอาไว้ เนินที่ดูคล้ายๆจอมปลวกในรูปบนคือสุสานราชวงศ์ซีเซี่ย (西夏王陵) ในเมืองอิ๋นชวาน (银川) ในเขตการปกครองตัวเองหนิงเซี่ยหุย ส่วนภาพล่างเป็นส่วนประกอบของสุสานนั้นที่ขุดเจอ เขียวๆที่เห็นด้านหน้านี่คือสัตว์ประดับหลังคาที่เรียกว่าชือเหวิ่น (鸱吻)



ต่อมาเป็นยุคราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) นี่คือแบบจำลองขนาด ๑:๒๐ ของวัดหย่งเล่อกง (永乐宫) ที่อำเภอรุ่ยเฉิง (芮城) มณฑลซานซี สร้างเสร็จในปี 1358 เป็นวัดลัทธิเต้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุคราชวงศ์หยวน



จากนั้นก็มาถึงช่วงยุคราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644) ยิ่งย่างเข้าสมัยใหม่ตัวอย่างสิ่งก่อสร้างที่มีให้เห็นก็ยิ่งเยอะ สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของราชวงศ์หมิงก็คือพระราชวังต้องห้ามกู้กง (故宫) ภาพข้างล่างถ่ายจากเขาจิ่งซาน (景山) ขณะมีหิมะ ส่วนด้านบนเป็นจอโทรทัศน์ที่กำลังอธิบายเกี่ยวกับกู้กง



ต่อจากราชวงศ์หมิงก็เป็นราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1644 - 1912) สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ที่พบในปักกิ่งส่วนใหญ่จะถูกสร้างในช่วงยุคหมิงและชิงซึ่งเป็นช่วงที่ปักกิ่งถูกใช้เป็นเมืองหลวง ตรงนี้มีภาพสิ่งก่อสร้างหลายอย่างในปักกิ่งและบริเวณรอบๆ ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงยุคสองราชวงศ์นี้





ส่วนที่จัดแสดงเรียบเรียงประวัติศาสตร์ก็จบลงแค่นี้ ต่อมาเราเดินต่อไปยังอาคารฝั่งตะวันตก ซึ่งตรงส่วนนี้จัดแสดงสิ่งก่อสร้างโบราณของจีนโดยแยกเป็นชนิดต่างๆ

เริ่มจากสิ่งก่อสร้างประเภทที่เป็นพื้นฐานที่สุด นั่นก็คือที่อยู่อาศัย พูดถึงบ้านแบบจีนแล้วโดยทั่วไปคนคงจะนึกถึงซื่อเหอย่วน ซึ่งหมายถึงกลุ่มอาคารที่ประกอบกันเป็นสี่เหลี่ยมแล้วมีลานบ้านอยู่ตรงกลาง แบบจำลองนี้คือบ้านเก่าของหว่านหรง (婉容) ภรรยาของผู่อี๋ (溥仪) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน



ส่วนประกอบต่างๆของซื่อเหอย่วนนั้นมักถูกทำขึ้นอย่างวิจิตร



นอกจากนี้ภายในทั่วประเทศจีนแต่ละพื้นที่ก็ได้มีการพัฒนาสิ่งก่อสร้างในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้น



อย่างอันนี้คือสิ่งก่อสร้างที่มณฑลอานฮุย ภาพซ้ายคือแผงบนหลังคาสำหรับป้องกันอัคคีภัยที่ฮุยโจว (徽州) ทางขวาคือบ้านที่หมู่บ้านโบราณซีตี้ (西递)



ส่วนนี่เป็นบ้านดิน (土楼, ถู่โหลว) สิ่งก่อสร้างอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนฮากกาที่อยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน



ต่อมาเป็นเรื่องของสวนจีน ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างหมู่อาคาร ก้อนหิน สระน้ำ และต้นไม้ แบบจำลองนี้คือส่วนหนึ่งของหลิวหยวน (留园) ในเมืองซูโจว (苏州) มณฑลเจียงซู ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซูโจวเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องสวนจีน



หยวนหมิงหยวน สวนจีนขนาดใหญ่ สร้างขึ้นในปี 1707 ครั้งหนึ่งเคยเป็นสุดยอดแห่งสวนจีน แต่ก็ถูกทำลายลงโดยกองทัพต่างชาติในปี 1860 ตอนนี้เหลือแต่เพียงซาก รายละเอียดอ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20111221



สิ่งก่อสร้างจำพวกศาลประจำตระกูล



สิ่งก่อสร้างจำพวกหอคอยหรือเจดีย์ก็เป็นสิ่งก่อสร้างชนิดหนึ่งที่โดดเด่นของจีน มีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก รูปล่างกลางคือเจดีย์ที่วัดหยวินจวี (云居寺) ที่เคยเล่าไปแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20150328



ภาพนี้เอาหอคอยต่างๆมาจัดเรียงตามชนิดและเวลาที่สร้าง ยิ่งอยู่บนยิ่งเป็นหอคอยเก่า



แบบจำลองขนาด ๑:๒๐ ของหอคอยเฟย์อิง (飞英塔) เมืองหูโจว (湖州) มณฑลเจ้อเจียง



วัดต่างๆ รูปซ้ายบนคือวัดบนเขาอู่ตาง (武当山) มณฑลหูเป่ย์ รูปตรงกลางคือวัดตงเยวี่ย (东岳庙) วัดลัทธิเต๋าในปักกิ่ง ซึ่งมีเล่าถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150513



วัดและเจดีย์ที่เมืองเชียงรุ่ง หรือชื่อจีนว่าจิ่งหง (景洪) ในสิบสองปันนา อยู่ในมณฑลยูนนานตอนใต้ของจีน เป็นเมืองของชาวไทลื้อจึงมีวัฒนธรรมใกล้เคียงไทย



ผาหินแกะสลัก นี่คือ ๔ แห่งที่ใหญ่ที่สุดในจีน อันซ้ายล่างคือถ้ำหินหลงเหมิน (龙门石窟) เคยไปมาแล้วเล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120730



สิ่งก่อสร้างของศาสนาอิสลาม ๓ รูปทางซ้ายบนเป็นมัสยิดที่มณฑลซินเจียง ซ้ายล่างเป็นมัสยิดที่อยู่ในเมืองซีอาน ส่วนทางขวาคือมัสยิดหนิวเจีย (牛街礼拜寺) ในปักกิ่ง เคยไปมา เล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150517



สิ่งก่อสร้างพวกกำแพงและป้อมซึ่งเอาไว้ป้องกันเมือง



พูดถึงกำแพงที่มีชื่อเสียงในจีนไม่ว่าใครก็คงนึกถึงกำแพงเมืองจีนหรือที่เรียกว่าฉางเฉิง (长城) ภาพขวาคือหัวมังกรเฒ่า (老龙头, เหล่าหลงโถว) ที่เมืองฉินหวงเต่า (秦皇岛) มณฑลเหอเป่ย์ เป็นส่วนต้นของกำแพงเมืองจีน เคยเล่าถึงไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20131029
ภาพซ้ายบนคือด่านเจียยวี่กวาน (嘉峪关) ภาพซ้ายล่างคือด่านจวียงกวาน (居庸关) ในปักกิ่ง เคยไปมาแล้ว เล่าไว้เช่นกันที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20120310



กำแพงเมืองจีนด่านจิ่วเหมินโข่ว (就门口) ซึ่งสร้างบนน้ำ อยู่ในมณฑลเหลียวหนิง เคยไปมาและเขียนถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20131026



ป้อมปราการติดปืนใหญ่สองแห่งซึ่งเป็นสมรภูมิสำคัญในสงครามฝิ่น รูปบนคือป้อมปืนใหญ่หู่เหมิน (虎门炮台) เมืองตงกว่าน (东莞) มณฑลกวางตุ้ง เคยเขียนถึงไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120626
ส่วนรูปล่างคือป้อมปืนใหญ่ต้ากู (大沽炮台) ที่เมืองเทียนจิน ซึ่งเคยไปเที่ยวมาแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20151020



ต่อมาเป็นสะพานที่ต่างๆ



แบบจำลองที่ตั้งเด่นอยู่นี้คือแบบจำลองของสะพานลมฝนเฉิงหยาง (程阳风雨桥, เฉิงหยางเฟิงหยวี่เฉียว) ในมณฑลกว่างซี สร้างขึ้นในช่วงปี 1912 - 1924



ไผฟาง (牌坊) คือซุ้มประตูที่มักพบได้ตามสถานที่สำคัญในจีน ในรูปนี้คือแบบจำลองขนาด ๑:๑๐ ของซุ้มประตูหินสวี่กั๋ว (许国石坊, สวี่กั๋วสือฟาง) ในอำเภอเซ่อเซี่ยน (歙县) มณฑลอานฮุย สร้างขึ้นในปี 1584 สมัยราชวงศ์หมิง



ต่อมาสุดท้ายเป็นสิ่งก่อสร้างจำพวกสุสาน พูดถึงสุสานในจีนแล้วที่มีชื่อเสียงที่สุดน่าจะเป็นสุสานจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและชิงซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เคยเล่าถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150706



นี่คือแบบจำลองบริเวณที่สร้างสุสานสิบสามจักรพรรดิราชวงศ์หมิง



แบบจำลองสุสานแบบที่เรียกว่าเป่าเฉิงเป๋าติ่ง (宝城宝顶) ทำจากกระดาษ





หมดแค่นี้สำหรับอาคารฝั่งตะวันตก ถัดมาก็เป็นส่วนสุดท้ายคืออาคารฝั่งเหนือ ซึ่งเป็นอาคารหลักด้านในสุด อาคารแบ่งเป็นสองส่วน ด้านขวาจัดแสดงเกี่ยวกับเมืองสมัยโบราณ และด้านขวาจัดแสดงเทคนิกการสร้างสถาปัตยกรรมโบราณ



เริ่มจากด้านขวาก่อนมาดูเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างเมือง



ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้วตำแหน่งตั้งเมืองที่ดีที่สุดคือต้องมีแม่น้ำไหลผ่าน เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญของเมือง ภาพซ้ายแสดงแม่น้ำที่ไหลผ่านแถวเมืองเสียนหยาง (咸阳) เมืองหลวงจีนยุคราชวงศ์ฉิน ภาพขวาบนคือกำแพงเมืองที่ซูโจว มีช่องเปิดให้น้ำไหลผ่าน



ภาพแสดงการย้ายเมืองหลวงในประวัติศาสตร์จีน นี่เป็นการบอกแค่คร่าวๆเท่านั้น ที่จริงมันซับซ้อนกว่านี้มาก จริงๆแล้วยังมีอีกหลายเมืองที่ได้ชือว่าเป็นเมืองหลวงของจีน อนึ่งในภาพนี้ปลายลูกศรอยู่ที่เมืองหนานจิงซึ่งเป็นเมืองหลวงตอนยุคราชวงศ์หมิง แต่ความจริงคือย้ายได้ไม่นานก็ย้ายกลับมาที่ปักกิ่งหลังจากนั้นก็อยู่ที่ปักกิ่งเกือบจะตลอดจนถึงปัจจุบัน



วิวัฒนาการของเมือง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย, ซาง และโจวก็เริ่มมีปรากฏหลักฐานโครงสร้างเมืองแล้ว นี่เป็นแผนที่ของเมืองในยุคนั้น ภาพซ้ายและกลางคือที่เอ้อร์หลี่โถว ภาพขวาคือเมืองเจิ้งโจวสมัยราชวงศ์ซาง



สมัยสามก๊ก ภาพขวาเมืองลั่วหยางสมัยที่ราชวงศ์เฉาเว่ย์ (曹魏) ปกครองอยู่ ถูกสร้างใหม่หลังจากที่ถูกต่งจั๋ว (董卓, นิยายสามก๊กไทยเรียก ตั๋งโต๊ะ) เผาเมือง



แผนที่เมืองซูโจวในปี 1113 สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋, ปี 960 - 1127) ซึ่งสมัยนั้นเมืองชื่อว่าผิงเจียง (平江)



แผนที่เมืองปักกิ่งสมัยราชวงศ์หยวนซึ่งเริ่มใช้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง



ภาพกำแพงเมืองของเมืองต่างๆซึ่งยังหลงเหลือถึงปัจจุบัน กำแพงเมืองเป็นโครงสร้างที่สำคัญของเมืองในสมัยก่อน





จากนั้นมาดูส่วนที่จัดแสดงเทคนิกการสร้างสถาปัตยกรรม ที่โดดเด่นอยู่กลางห้องคือแบบจำลองการก่อสร้างอาคารไม้



สิ่งก่อสร้างโบราณของจีนส่วนใหญ่ใช้ไม้เป็นโครงหลัก เพราะว่าสะดวกและสร้างได้เร็ว ซ่อมง่าย ขนย้ายคล่อง



อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในงานไม้



แบบจำลองอาคารหลงหู่เตี้ยน (龙虎殿) ของวัดหย่งเล่อกง (永乐宫) ขณะกำลังก่อสร้าง



ตรงนี้อธิบายเกี่ยวกับหลังคาของอาคาร



นี่คือโครงสร้างส่วนที่เรียกว่าโต๋วก่ง (斗栱) เป็นโครงสร้างที่เอาไว้ใช้ค้ำยันส่วนที่อยู่ด้านบนซึ่งมีความกว้างกว่าฐานข้างล่าง พบได้มากในสิ่งก่อสร้างของจีนตั้งแต่สมัยโบราณ อันนี้เป็นแบบจำลองขนาด ๑:๕ ของโต้วก่งของเจดีย์ศากยมุนีวัดฝัวกงที่อำเภออิ้งเซี่ยน มณฑลซานซี



วิวัฒนาการของโต้วก่งในยุคต่างๆตั้งแต่ยุคราชวงศ์ถังไปจนถึงราชวงศ์ชิง



แบบจำลองขนาดเท่าของจริงของโต้วก่งของอาคารไท่ซุ่ยเตี้ยนซึ่งก็คืออาคารหลังที่เป็นพิพิธภัณฑ์นี้เอง



การตกแต่งส่วนภายในอาคารส่วนใต้หลังคาของอาคารต่างๆ ถ้าใครไปเที่ยวตามวัดหรือวังเก่าๆลองมองสังเกตเพดานก็จะเห็นว่าแต่ละที่มีการตกแต่งอย่างสวยงาม



อาคารไท่ซุ่ยเตี้ยนที่เราอยู่ตอนนี้หากมองขึ้นไปก็จะเห็นว่าหลังคาประดับสวยมากเช่นกัน




โครงสร้างกระเบื้องเคลือบซึ่งประดับอยู่บนหลังคาอาคาร



บนหลังคามักจะประดับด้วยกระเบื้องเคลือบรูปสัตว์ต่างๆหรือบางทีก็เป็นรูปเทพ แต่ละชนิดก็มีความหมายต่างกันออกไป



การลงสีวาดลงบนโครงสร้างไม้ของอาคารต่างๆ




งานแกะสลักหินที่พบได้ตามสิ่งก่อสร้าง




หน้าต่างอาคารซึ่งทำเป็นลวดลายต่างๆ



ไม้ชนิดต่างๆที่ใช้ในการก่อสร้าง



ขั้นตอนและอุปกรณ์ในการก่อสร้าง



แบบจำลองสถานที่ที่กำลังดำเนินงานก่อสร้าง





ในที่สุดก็เดินจนทั่วแล้ว ที่นี่ช่างกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยเนื้อหาน่าสนใจ แค่เฉพาะตรงส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณนี้เราใช้เวลาดูไปทั้งหมดถึง ๓ ชั่วโมงกว่า เวลาช่างหมดไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็คุ้มค่ามากกับการมาเดินดูที่นี่

ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ทีอยากแนะนำให้คนมาลองชมกันดูมากที่สุดแห่งหนึ่งเลย ใครสนใจสามารถลองแวะมาได้



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ