φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



หอคอยเลี่ยวตี๋แห่งเมืองติ้งโจว หอคอยโบราณที่สูงที่สุดในจีน
เขียนเมื่อ 2014/12/06 16:15
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42


#พฤหัส 4 ธ.ค. 2014

ช่วงนี้ยุ่งๆอยู่จนแทบจะไม่ได้ออกไปเที่ยวไหน แต่ก็ยังพอจะหาเรื่องเที่ยวอยู่บ้าง ตอนนี้เข้าฤดูหนาวเต็มที่แล้ว ใบไม้ร่วงหมด อุณหภูมิก็ขึ้นลงอยู่ใกล้ๆเลขศูนย์ เป็นฤดูที่คนทั่วไปไมค่อยจะอยากเที่ยวกันนัก

อย่างไรก็ตามการเที่ยวในฤดูหนาวก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน คือพอใบไม้ร่วงหมดก็จะเห็นทิวทัศน์ที่สวยไปอีกแบบ และทำให้ทัศนวิสัยชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะไม่มีอะไรมาคอยบดบัง เหมาะแก่การชมทิวทัศน์ อีกอย่างคือเดินยังไงก็ไม่เหนื่อยง่ายๆเพราะอากาศเย็น แล้วก็ถ้าพกน้ำไปกับตัวละก็ ไม่ต้องใช้กระติก เพราะแค่เดินอยู่ข้างนอกก็เหมือนอยู่ในตู้เย็นอยู่แล้ว

เที่ยวครั้งนี้เลือกไปวันที่ 4 ธ.ค. เนื่องจากดูพยากรณ์อากาศแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นวันที่อากาศกำลังดี ฟ้าแจ่มใส ลมไม่แรงเกินไป เป้าหมายที่ต้องการไปมีอยู่สองที่คือเมืองติ้งโจว (定州市) และเมืองเป่าติ้ง (保定市) ซึ่งเป็นเมืองในมณฑลเหอเป่ย์ที่อยู่ใกล้ปักกิ่งทั้งคู่ สามารถเที่ยวแบบวันเดียวกลับได้สบาย

เมืองที่แวะไปก่อนคือเมืองติ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองระดับอำเภอในเขตจังหวัดของเมืองเป่าติ้ง แต่ก็เป็นเมืองใหญ่เหมือนกัน ประชากรมีถึงหลักล้าน สถานที่เที่ยวที่ตั้งใจไปในเมืองนี้มีอยู่แค่สองอย่างก็คือหอคอยเลี่ยวตี๋ (料敌塔) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเที่ยวนี้ และถือโอกาสแวะชมก้งย่วนแห่งติ้งโจว (定州贡院) ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน



หอคอยเลี่ยวตี๋ บางครั้งก็ยังเรียกว่าหอคอยติ้งโจว (定州塔) ตามชื่อเมือง เป็นหอคอยยุคโบราณที่ทำจากอิฐที่สูงที่สุดในโลก มีความสูง ๘๔.๒ เมตร ถูกสร้างขึ้นในช่วงยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋) เริ่มก่อสร้างปี 1001 ในสมัยของจักรพรรดิซ่งเจินจง (宋真宗) และเสร็จในปี 1055 สมัยจักรพรรดิซ่งเหรินจง (宋仁宗) ใช้เวลาสร้างนานถึง ๕๕ ปี

สมัยนั้นราชวงศ์ซ่งทำสงครามกับพวกชี่ตาน (契丹) ซึ่งก่อตั้งราชวงศ์เหลียว (辽朝) อยู่ทางเหนือของจีน และเมืองติ้งโจวนี้ก็ตั้งอยู่ในตำแหน่งใกล้พรมแดนจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากหอคอยแห่งนี้มีความสูงมากและตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญก็เลยถูกใช้ในทางการทหารเพื่อสังเกตการณ์ศัตรู

เดิมหอคอยนี้มีชื่อว่าหอคอยวัดไคหยวน (开元寺塔) แต่เพราะใช้สังเกตการณ์ศัตรูก็เลยทำให้ถูกเรียกว่าหอคอยเลี่ยวตี๋ ซึ่งแปลว่า "คาดเดาศัตรู"

หอคอยเลี่ยวตี๋นี้เป็นหอคอยที่สูงที่สุดในจีนมาโดยตลอดจนหอคอยเทียนหนิง (天宁宝塔) ในเมืองฉางโจว (常州市) สร้างเสร็จในปี 2007 สูงถึง ๑๕๓.๗๙ เมตร อย่างไรก็ตามก็ยังถือว่าหอคอยเลี่ยวตี๋เป็นหอคอยโบราณที่สูงที่สุด

ตัวหอคอยเป็นรูป ๘ เหลี่ยมซึ่งค่อยๆเรียวเล็กลงเมื่อเข้าใกล้ยอด ตรงส่วนยอดหอคอยประดับด้วยยอดรูปดอกบัวสวยงาม ส่วนภายในก็ตกแต่งอย่างสวยงาม มีทั้งภาพวาดและสลักอยู่ที่ผนัง

ด้วยความที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน อีกทั้งมีความสวยงาม ที่นี่จึงเป็นหอคอยที่น่าแวะมาชมแห่งหนึ่งเลยทีเดียว แผนเที่ยวนี้เกิดขึ้นเพราะอยากมาชมหอคอยแห่งนี้เป็นหลัก ส่วนที่เหลือก็อาจเรียกได้ว่าเป็นแค่ของแถม



การเดินทางครั้งนี้วางแผนไว้ตามนี้คือเริ่มจากนั่งรถไฟไปเมืองติ้งโจวซึ่งอยู่ไกลกว่าก่อนแล้วค่อยนั่งรถจากเมืองติ้งโจวไปเมืองเป่าติ้งซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน แล้วขากลับก็นั่งรถไฟจากเมืองเป่าติ้งกลับปักกิ่ง

ตั๋วรถไฟที่จองจากปักกิ่งไปติ้งโจวคือเที่ยว K817 ออกเวลา 8:20 ไปถึง 10:35 โดยออกจากสถานีตะวันตกของปักกิ่ง ส่วนขากลับจากเป่าติ้งมาปักกิ่งนั่งเที่ยว T290 ออกเวลา 16:10 ไปถึง 17:40 โดยรวมแล้วก็มีเวลาเที่ยวสองเมืองประมาณ ๕ ชั่วโมงกว่า



เพื่อจะไปขึ้นรถไฟเราออกแต่เช้าเพื่อไปยังสถานีตะวันตกปักกิ่ง ครั้งนี้เผื่อเวลาไปล่วงหน้าไม่นานเท่าไหร่ ไปถึงก่อนเวลารถไฟออกแค่ ๒๐ นาที มาถึงก็สามารถขึ้นรถไฟได้ทันที รถไฟที่ขึ้นนี้เป็นรถไฟที่จะวิ่งไปถึงเมืองเฉิงตู (成都市)
ในมณฑลเสฉวนซึ่งอยู่ไกลมากต้องใช้เวลาเป็นวัน ดังนั้นตู้ส่วนใหญ่ของรถไฟขบวนนี้จึงเป็นตู้นอน แต่เรานั่งไปแค่ระยะสั้นนิดเดียวเท่านั้น





แล้วก็มาถึงสถานีติ้งโจวในเวลาที่ช้ากว่ากำหนดไปเล็กน้อย




ออกมาด้านหน้าสถานี หาจุดที่ขึ้นรถเมล์ เรานั่งรถเมล์สาย ๑๑ เพื่อจะไปยังที่หมายคือหอคอยเลี่ยวตี๋ ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟไปคนละมุมเมืองเลย



บนรถเมล์ ใช้เวลานั่งประมาณ ๒๐ นาทีจึงจะถึง



มาลงตรงหน้าห้างกว่างเฟิงซางเซี่ย (广丰商厦) เป็นห้างใหญ่ของที่นี่ เมืองนี้เป็นแค่เมืองระดับอำเภอแต่ก็ใหญ่และเจริญทีเดียว จะเห็นได้จากระหว่างทางรถวิ่งผ่านย่านร้านค้าที่มีคนพลุกพล่าน มีห้างใหญ่ๆอยู่ แต่ไม่ได้ถ่ายภาพจากบนรถเอาไว้



จากนั้นเดินไปทางใต้ก็จะเห็นหอคอยเลี่ยวตี๋เด่นมาแต่ไกล



หอคอยอยู่ตรงหน้านี้แล้ว แต่พอเข้าไปใกล้ตรงนี้จึงรู้ว่าทางเข้าไม่ได้อยู่ตรงนี้ ต้องอ้อมไปเข้าด้านหลัง



เส้นทางที่ให้อ้อมไปนั้นเป็นซอยแคบๆที่ค่อนข้างรก




พออ้อมมาถึงก็เจอที่ขายตั๋วแล้วก็ทางเข้า ค่าเข้าราคา ๑๐ หยวน แต่ถ้าจะปีนหอคอยต้องจ่ายอีก ๓๐ รวมแล้วเป็น ๔๐ หยวน



ประตูทางเข้า ปกติปิดอยู่แต่มีคนเฝ้า ต้องยื่นตั๋วให้ตรวจเขาถึงจะเปิดประตูให้



เข้ามาด้านใน



ที่อยู่ด้านหน้าหอคอยก็คืออาคารจัดแสดงเกี่ยวกับหอคอย ภายในมีบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์



แบบจำลองหอคอยสัดส่วน ๑:๑๘ สูง ๔.๖๘ เมตร



แผ่นมุงหลังคาทางเดินในหอคอย สลักเป็นรูปสวยงาม



ภาพนี้แสดงอธิบายถึงส่วนยอดของหอคอยซึ่งเป็นรูปดอกบัวสวย



ภาพแสดงการบูรณะหอคอยซึ่งทำในช่วงปี 1988 ถึง 2003



ภาพก่อนการบูรณะ จะเห็นว่าส่วนต่างๆทรุดโทรมมากเลย





เมื่อชมเกี่ยวกับประวัติของหอคอยนี้แล้วคราวนี้ก็ลองเข้าไปชมด้านในดู



ทางเข้าอยู่ตรงนี้ มีคนคอยตรวจตั๋วอยู่



ทางเดินจากชั้นแรกในส่วนฐานค่อนข้างชันมาก



ส่วนหลังคาของชั้นแรกสุด ลวดลายสวยงามดี



เมื่อขึ้นมาเรื่อยๆในระหว่างชั้นจะเป็นแบบนี้ มีอะไรประดับอยู่ระหว่างทางตลอด



ตามทางในบางจุดก็มีช่องซี่งมีรูปวาดอยู่



ทางเดินขึ้นในแต่ละชั้นจะผ่านส่วนใจกลางหอคอย และบันไดของแต่ละชั้นอยู่ในตำแหน่งที่ไขว้กัน ไม่ได้อยู่แนวเดียวกัน



ขึ้นไปได้สูงสุดถึงชั้น ๗ ก็มีกรงกั้น ดูเหมือนจะไปต่อได้แค่นี้เอง เขาไม่ให้ขึ้นไปได้ไกลกว่านี้



ตามผนังชั้น ๗ เต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนัง (พยายามเรียกให้ฟังดูดี) โดยเหล่านักท่องเที่ยวมือบอน




ดูแล้วตั้งใจเขียนกันดีจริงๆเลยนะ



ทิวทัศน์ที่มองจากชั้น ๗ ทิศใต้ เป็นทิศที่หันไปทางทางเข้าที่เข้ามา



ทิศตะวันตก เป็นทิศที่หันหน้าเข้าตัวเมือง



ทิศเหนือ จะเห็นลานกว้าง นี่ก็หันไปทางใจกลางเมืองเหมือนกัน



ทิศตะวันออก เป็นทิศตรงข้ามกับใจกลางเมือง จะเห็นว่ามีการก่อสร้างเต็มไปหมด เขาพยายามจะสร้างอะไรขึ้นมาเรื่อยๆ





หลังจากชมภายในหอคอยเสร็จก็เดินจากลงมา แต่การเที่ยวในเมืองนี้ยังไม่จบลงแค่นี้ ยังมีสถานที่อีกแห่งที่น่าแวะไปต่อ นั่นคือ ก้งย่วนแห่งติ้งโจว

ก้งย่วน (贡院) เป็นสถานที่จัดสอบส่วนขุนนางภูมิภาคในการคัดเลือกบุคลากรสำหรับทำงานราชการในสมัยก่อน ปัจจุบันที่ยังเหลืออยู่ก็มีอยู่ไม่กี่แห่ง

สำหรับก้งย่วนที่ติ้งโจวนี้ถูกสร้างในปี 1738 และปรับปรุงขยายเพิ่มเติมในปี 1822 จากนั้นก็เก็บรักษามาจนปัจจุบัน

ก้งย่วนอยู่ไม่ไกลจากหอคอยเลี่ยวตี๋ การไปก็เดินย้อนกลับไปทางทิศเหนือแล้วเดินเลี้ยวขวาไปทางตะวันออกต่อ

ระหว่างทางเดินไปก้งย่วนเห็นตามทางมีการก่อสร้างอยู่ตลอดแนว



พอลองดูกำแพงของย่านก่อสร้างก็เห็นเขาเขียนว่ากำลังก่อสร้างย่านท่องเที่ยวขึ้นมาอยู่โดยฟื้นฟูย่านโบราณเมืองเก่า เน่าเสียดายที่เรามาที่นี่เร็วไปหน่อยก็เลยไม่ได้เห็นอะไรสวยๆแบบในภาพนี้ กลับต้องมาเห็นสภาพบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยการก่อสร้าง แต่ถ้าใครที่สนใจมาเที่ยวที่นี่หลังจากนี้ไปก็น่าจะได้เห็น




เดินต่อมาไม่นานก็จะเห็นป้ายสีน้ำตาลที่ชี้ทางไปยังก้งย่วน



ซอยที่ป้ายชี้เข้ามานี้ก็ดูรกๆและมีการก่อสร้างอยู่ด้วย ทำให้กลัวขึ้นมาว่าไอ้ที่กำลังสร้างอยู่นี่คงจะไม่ใช่กำลังปิดซ่อมแซมตัวก้งย่วนอยู่ด้วยหรอกนะ ไม่งั้นคงเสียเที่ยวแย่



แต่พอเข้าไปจึงรู้ว่ามันไม่ได้ปิดซ่อมอยู่ จึงโล่งใจขึ้นมา



ซื้อตั๋วตรงนี้ ราคาค่าเข้าไปชมด้านในคือ ๒๐ หยวน แต่ใช้บัตรนักเรียนได้ ลดเหลือ ๑๐ หยวน



ทางเข้า



จากตรงนี้เห็นหอคอยเลี่ยวตี๋ด้วย



พอเข้ามา ตรงนี้คืออาคารด้านหน้าสุด



แล้วเมื่อผ่านเข้ามาด้านในก็ได้ภาพอาคารหลักที่สวยที่สุดตรงนี้ ที่สวยได้ขนาดนี้ก็เพราะเป็นฤดูหนาวที่ใบไม้ร่วงหมดแล้ว ไม่เช่นนั้นบรรยากาศคงต่างไปอีกแบบ



ภายในอาคารก็จัดแสดงอะไรต่างๆเกี่ยวกับการสอบสมัยโบราณ






ป้ายเขียนคำว่าจว้างหยวน (状元) หรือที่นิยมเรียกในภาษาไทยว่าจอหงวนนั่นเอง คือตำแหน่งของคนที่สอบได้อันดับหนึ่ง



ผนังด้านนอกของอาคาร



สวนด้านหลัง



อาคารด้านหลังสุด



ที่นี่เขาไม่ให้เข้าไป



จากสวนด้านหลังนี้มองไปยังหอคอยเลี่ยวตี๋




ที่นี่มีปี้ซี่ (赑屃) เต่าแบกแผ่นหินที่พบได้ทั่วไปตามวัด





หลังจากชมภายในก้งย่วนเสร็จก็เดินออกมาแล้วก็นั่งรถเมล์กลับมายังสถานีรถไฟ แต่ครั้งนี้ไม่ได้จะมานั่งรถไฟแต่อยากจะเปลี่ยนมานั่งรถบัสแทนในการเดินทางระหว่างเมืองติ้งโจวไปเมืองเป่าติ้ง



ค่ารถบัสราคา ๑๕ หยวนซึ่งแพงกว่านั่งรถไฟซึ่งราคาแค่ ๑๑ หยวน ที่จริงแล้วการเดินทางโดยรถไฟนั้นทั้งเร็วกว่าและถูกกว่ารถบัส แต่ข้อดีคือสามารถเลือกจุดลงได้หลายที่กว่า และไม่ต้องเข้าไปผ่านการตรวจตั๋วเดินเข้าชานชลาซึ่งก็ค่อนข้างเสียเวลาด้วย ที่สำคัญคือมีจำนวนรอบมากกว่า และไม่ต้องมีการจองล่วงหน้า สะดวกเวลาไหนก็มาขึ้นรถได้เลย พอคนเต็มเขาก็ออกรถ ดังนั้นจึงเลือกที่จะนั่งรถบัสในการเดินทางระยะไม่ไกลแบบนี้





การเที่ยวในเมืองติ้งโจวก็จบลงเท่านี้ โดยรวมแล้วหอคอยเลี่ยวตี๋ก็ถือว่าเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่น่าแวะมาชม สำหรับใครที่สนใจสิ่งก่อสร้างเก่าๆก็ไม่ควรพลาด การเดินทางก็ไม่ได้ลำบาก อยู่ไม่ไกลจากปักกิ่งจนเกินไป

ตอนต่อไปจะเป็นการเที่ยวในเมืองเป่าติ้ง https://phyblas.hinaboshi.com/20141209
 
 
 
 



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> เหอเป่ย์
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文