φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
เขียนเมื่อ 2017/02/03 16:37
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#พุธ 16 พ.ย. 2016

จีนมีการพัฒนาด้านดาราศาสตร์มายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีการพัฒนาแยกต่างหากจากทางตะวันตก มีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ต่างออกไป

แม้ปัจจุบันดาราศาสตร์ของชาวตะวันตกซึ่งมีรากฐานจากกรีกโบราณจะกลายเป็นมาตรฐานสากลของโลกไปแล้ว แต่เราก็ยังคงเห็นร่องรอยของดาราศาสตร์ในสมัยก่อนของจีนได้อยู่ โดยดูจากโบราณสถานต่างๆมากมายที่ยังคงหลงเหลือไว้ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

สำหรับในปักกิ่งแล้ว โบราณสถานทางดาราศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดก็คือสถานที่ที่เรียกว่าหอดูดาวโบราณปักกิ่ง (北京古观象台, เป่ย์จิงกู่กวานเซี่ยงไถ)

หอดูดาวโบราณปักกิ่งสร้างขึ้นในปี 1442 ซึ่งเป็นสมัยของจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (正统, ปี 1436-1449) แห่งราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368-1644) โดยสร้างขึ้นที่ป้อมมุมตะวันออกเฉียงใต้ของกำแพงเมืองเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271-1368)

ในช่วงระยะแรกได้ใช้อุปกรณ์เช่น หุนอี๋ (浑仪, วงล้อทรงกลมท้องฟ้า) และเจี่ยนอี๋ (简仪, วงล้อทรงกลมท้องฟ้าแบบย่อ) แบบโบราณดั้งเดิม

แต่ตอนหลังพอเข้าสู่ยุคราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1644-1912) ทางหอดูดาวได้เริ่มหันมาใช้ระบบการวัดที่ได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตกตามคำแนะนำของหมอสอนศาสนาชาวเยอรมัน โยฮันน์ อดัม ชัล ฟอน เบล (Johann Adam Schall von Bell หรือชื่อจีนว่า ทางรั่วว่าง (汤若望), 1592-1666)

อุปกรณ์ดาราศาสตร์จำนวนมากได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในช่วงต้นยุคราชวงศ์ชิง ที่เหลืออยู่จนปัจจุบันและแสดงให้ชมมี ๘ ชิ้น ดังนี้

  อุปกรณ์ ชื่อ
  เสียงอ่าน จีนตัวย่อ จีนตัวเต็ม พินอิน
1. วงล้อทรงกลมท้องฟ้าของเฉียนหลง จีเหิงฝู่เฉินอี๋ 玑衡抚辰仪 璣衡撫辰儀 jīhéngfǔchényí
2. เครื่องวัดมุมเงยดาว เซี่ยงเซี่ยนอี๋ 象限仪 象限儀 xiàngxiànyí
3. ลูกทรงกลมท้องฟ้า เทียนถี่อี๋ 天体仪 天體儀 tiāntǐyí
4. เครื่องวัดตำแหน่งดาวในระบบพิกัดสุริยวิถี หวงเต้าจิงเหว่ย์อี๋ 黄道经纬仪 黃道經緯儀 huángdàojīngwěiyí
5. เครื่องวัดมุมทิศดาว ตี้ผิงจิงอี๋ 地平经仪 地平經儀 dìpíngjīngyí
6. เครื่องวัดมุมทิศและมุมเงยดาว ตี้ผิงจิงเหว่ย์อี๋ 地平经纬仪 地平經緯儀 dìpíngjīngwěiyí
7. เครื่องวัดระยะเชิงมุม จี้เซี่ยนอี๋ 纪限仪 紀限儀 jìxiànyí
8. เครื่องวัดตำแหน่งดาวในระบบพิกัดศูนย์สูตรฟ้า ชื่อเต้าจิงเหว่ย์อี๋ 赤道经纬仪 赤道經緯儀 chìdàojīngwěiyí

ชื่ออุปกรณ์ที่แปลไทยในที่นี้ไม่ได้แปลตรงตัวนักแต่แปลเอาความหมายโดยขยายความให้เห็นภาพชัดจึงค่อนข้างยาว

ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิงส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสวนดอกไม้ข้างๆแท่นสังเกตการณ์และในอาคารจัดแสดง และบางส่วนก็ย้ายไปที่หอดูดาวจื่อจินซาน (紫金山天文台) ที่หนานจิง

อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์เหล่านี้ไม่ใช่แค่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานจริงได้เท่านั้นแต่ยังถูกตกแต่งอย่างสวยงาม เช่นสลักลายมังกรอันเป็นสัญลักษณ์ของจีน มีคุณค่าทางศิลปะไปด้วยในขณะเดียวกัน

รายละเอียดของแต่ละชิ้นจะอธิบายถึงในส่วนถัดไป

อุปกรณ์ ๖ ชิ้นจาก ๘ ชิ้นในนี้สร้างขึ้นในช่วงปี 1669-1673 ตามคำสั่งของจักรพรรดิคางซี (康熙, ปี 1661-1722)

ยุคสมัยของคางซีนั้นเป็นช่วงที่มีการเปิดรับเอาวิทยาการจากชาวตะวันตกมามาก อุปกรณ์เหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก โดยผู้ที่สร้างเป็นชาวเบลเยียมชื่อแฟร์ดินันด์ แฟร์บีสต์ (Ferdinand Verbiest, ปี 1623-1688) หรือชื่อจีนว่า หนานหวยเหริน (南怀仁) ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับสำนักหอดูดาวหลวง (钦天监监副, ชินเทียนเจียนเจียนฟู่)

ส่วนอีก ๒ อันคือตี้ผิงจิงเหว่ย์อี๋ สร้างขึ้นในปี 1713 และ จีเหิงฝู่เฉินอี๋ สร้างในปี 1754

พูดถึงหอดูดาวคนอาจมักนึกถึงกล้องโทรทรรศน์ แต่ว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งที่หอดูดาวโบราณนี้ล้วนเป็นอุปกรณ์แบบโบราณดั้งเดิมซึ่งใช้ตาเปล่าสังเกตการณ์ไม่มีการใช้เลนส์และกล้องโทรทรรศน์ เพราะวัตถุประสงค์สำคัญคือการสังเกตการณ์เคลื่อนที่ของดาวเพื่อคำนวณฤดูกาลและกำหนดปฏิทิน

หอดูดาวแห่งนี้ถูกใช้งานในฐานะหอดูดาวหลวงมาตลอดตั้งแต่ถูกสร้างขึ้น จนสิ้นสุดการใช้งานลงในปี 1929 นับรวมเวลาใช้งานเกือบห้าร้อยปี

หลังจากนั้นที่นี่ก็ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ผู้คนเข้ามาชม และตั้งแต่ปี 1956 ได้กลายมาอยู่ใต้สังกัดของท้องฟ้าจำลองปักกิ่ง (北京天文馆)

ปี 1959 ตอนที่วางแผนสร้างรถไฟใต้ดินขึ้นได้มีการเสนอว่าให้รื้อหอดูดาวแห่งนี้ทิ้ง แต่โจวเอินไหล (周恩来) นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้เสนอว่าให้รถไฟใต้ดินอ้อมไปแทน ไม่ควรจะรื้อทิ้ง ดังนั้นที่นี่จึงอยู่มาถึงทุกวันนี้ โดยรถไฟใต้ดินสถานีเจี้ยนกั๋วเหมิน (建国门站) ก็ได้ถูกสร้างขึ้นใกล้ๆกัน



บริเวณที่เปิดให้คนสามารถเข้าชมได้นั้นแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วนคือ
- แท่นสังเกตการณ์ ประกอบด้วยอุปกรณ์ดาราศาสตร์โบราณ ๘ ชิ้นตั้งแสดงอยู่
- สวนดอกไม้ เป็นสวนที่มีแบบจำลองอุปกรณ์โบราณที่สร้างเลียนแบบขึ้นตั้งอยู่
- อาคารจัดแสดง เป็นอาคาร ๓ หลังซึ่งภายในจัดแสดงเรื่องราวและความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้อง

อุปกรณ์ที่จัดแสดงอยู่บนแท่นสังเกตการณ์ทั้ง ๘ อันวางในตำแหน่งตามที่แสดงด้วยหมายเลขตามที่เขียนไว้ข้างต้น



สีส้มคือส่วนของอาคารจัดแสดง



การเดินทางมาต้องขึ้นรถไฟฟ้าสาย 2 มาลงที่สถานีเจี้ยนกั๋วเหมิน แล้วออกทางประตูตะวันตกเฉียงใต้ (ประตู C)

ภาพแผนที่หน้าประตู C



แล้วก็จะเห็นตัวแท่นสังเกตการณ์หอดูดาวโบราณตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าทันที



เดินเลียบกำแพงแท่นสังเกตการณ์มาทางขวาจะเจอประตูทางเข้า ด้านขวาจะมีช่องขายตั๋วเข้าชมอยู่ ให้ซื้อก่อนค่อยเข้า



ตั๋วราคา ๒๐ หยวน



เมื่อเข้ามาด้านใน ทางด้านซ้ายจะเป็นทางขึ้นสู่แท่นสังเกตการณ์ แต่ถ้าเดินตรงถัดไปจะเข้าสู่พื้นที่ของสวนดอกไม้

ขอเริ่มแนะนำจากสวนดอกไม้ก่อน สวนดอกไม้ตั้งอยู่ทางใต้ของแท่นสังเกตการณ์ เมื่อเดินมายังกลางสวนสามารถมองขึ้นไปเห็นอุปกรณ์ที่อยู่บนแท่นได้



ในภาพจะเห็นอุปกรณ์ดาราศาสตร์โบราณจำลองอยู่สองชิ้น อันที่วางอยู่ทางเหนือคืออุปกรณ์ที่เรียกว่าหุนอี๋ (浑仪)



หุนอี๋เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้วัดตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้าโดยการหมุนวงล้อต่างๆซึ่งแทนเส้นที่สำคัญต่างๆบนทรงกลมท้องฟ้า เช่น วงเส้นศูนย์สูตรฟ้า (赤道圈), วงเส้นสุริยวิถี (黄道圈), วงไรต์แอสเซนชัน (四游圈) และมีลำกล้องเล็งติดอยู่ที่วงไรต์แอสเซนชันซึ่งสามารถหมุนเพื่อปรับค่าเดคลิเนชันเพื่อเล็งหาดาว เมื่อเล็งจนเห็นดาวที่ต้องการในลำกล้อง เราสามารถบอกตำแหน่งของดาวนั้นได้จากมุมเดคลิเนชันที่ลำกล้องหมุนไป และมุมของวงไรต์แอสเซนชัน

อุปกรณ์ลักษณะนี้เชื่อกันว่าถูกประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงก่อนยุคจ้านกั๋ว (战国, 475-221 ปีก่อน ค.ศ.) โดยมีบันทึกเขียนถึงไว้อยู่ในหนังสือชื่อกานสือซิงจิง (甘石星经) ซึ่งเป็นหนังสือที่เอาหนังสือที่เขียนโดยกานเต๋อ (甘德) และสือเซินฟู (石申夫) นักดาราศาสตร์ยุคจ้านกั๋วทั้งสองคนมารวมกัน ทั้งสองคนอยู่ในยุคเดียวกันแต่อยู่กันคนละแคว้น ต่างคนต่างเขียนหนังสือ แต่ในสมัยต่อมามีคนเอาหนังสือของทั้งสองมารวมเข้าไว้ด้วยกัน

หุนอี๋บางครั้งก็ถูกเรียกว่าหุนเทียนอี๋ (浑天仪) เพียงแต่คำว่าหุนเทียนอี๋ยังถูกใช้เรียกลูกทรงกลมท้องฟ้า (天体仪, เทียนถี่อี๋) ได้ด้วย

รายละเอียดเกี่ยวกับลูกทรงกลมท้องฟ้าจะกล่าวถึงในส่วนต่อๆไป

คำว่าหุนอี๋อาจแปลเป็นไทยได้ว่าเป็น "วงล้อทรงกลมท้องฟ้า" หรืออาจแปลว่าเป็น "ลูกทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อ" เพราะมีลักษณะคล้ายลูกทรงกลมท้องฟ้าแต่มีโครงสร้างเป็นวงล้อ

ในยุคแรกหุนอี๋ค่อนข้างเรียบง่าย มีวงไม่มาก แต่ยุคสมัยผ่านไปก็ค่อยๆเพิ่มวงเข้ามา มีความซับซ้อนมากขึ้น

หุนอี๋อันนี้ที่ตั้งอยู่ในสวนดอกไม้เป็นอันที่สร้างเลียนแบบหุนอี๋ที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงสำหรับใช้ที่หอดูดาวแห่งนี้ ของเดิมปัจจุบันไม่อยู่ที่นี่แล้ว

ส่วนอีกอันที่ตั้งอยู่ข้างๆหุนอี๋คือ เจี่ยนอี๋ (简仪) เป็นอุปกรณ์ที่นำหุนอี๋มาปรับปรุงให้ง่ายขึ้น โดยแยกวงล้อต่างๆออกจากกัน



เจี่ยนอี๋สร้างโดยกัวโส่วจิ้ง (郭守敬, ปี 1231-1316) นักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคราชวงศ์หยวน เขามีผลงานโดดเด่นมากมาย สิ่งประดิษฐ์ของเขามีเยอะจนไม่อาจกล่าวถึงในนี้ได้หมด

เจี่ยนอี๋ที่กัวโส่วจิ้งสร้างนั้นปัจจุบันไม่เหลืออยู่แล้ว แต่เจี่ยนอี๋ที่ใช้ที่หอดูดาวแห่งนี้เป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์หมิง ปี 1437 แต่ของดั้งเดิมได้ถูกย้ายไปที่หอดูดาวจื่อจิงซานที่หนานจิงแล้วตั้งแต่ปี 1933 ปัจจุบันอันที่เห็นอยู่นี้เป็นอันที่สร้างขึ้นเลียนแบบของเดิม

ข้างๆกันนั้นมีรูปปั้นของกัวโส่วจิ้งอยู่ด้วย



ใกล้ๆกันมีอุปกรณ์ที่เรียกว่าเจิ้งฟางอ้าน (正方案) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ของกัวโส่วจิ้ง ใช้สำหรับวัดทิศทางโดยดูจากเงาของดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบลงบนแผ่น



ถัดไปจะเห็นหลิงหลงอี๋ (玲珑仪) คือลูกท้องฟ้าจำลองซึ่งคิดค้นโดยกัวโส่วจิ้ง ลักษณะเป็นทรงกลมที่มีการเจาะรูเอาไว้ตามตำแหน่งดาว



วิธีการใช้ก็คือให้คนไปนั่งอยู่ด้านในทรงกลมท้องฟ้าอันนี้แล้วปล่อยให้แสงลอดผ่านรูเข้ามาจากภายนอก จะมองเห็นแสงเป็นจุดตามรูที่เจาะไว้ เหมือนได้ดูดาวอยู่จริงๆ และทรงกลมนี้ยังสร้างให้หมุนไปเรื่อยๆได้ สามารถจำลองการเคลื่อนที่ของดาวจริงๆได้

ข้างๆกันยังมีรูปปั้นเสิ่นคั่ว (沈括, 1030-1094) นักดาราศาสตร์ของจีนที่มีชื่อเสียงอีกคน เขาทำงานอยู่ในสำนักหอดูดาวของราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋, ปี 960-1127) เขามีส่วนในการปรับปรุงหุนอี๋ให้ดีขึ้น ได้ค้นพบว่าขั้วแม่เหล็กโลกไม่ได้อยู่ที่ขั้วโลก และได้อธิบายหลักการในการใช้กระจกเว้าเพื่อขยายภาพ และยังมีผลงานทางด้านภูมิศาสตร์อีกด้วย



ในบริเวณยังมี กุยเปี่ยว (圭表) เป็นอุปกรณ์บอกวันที่โดยดูจากเงาของเสาที่ได้รับแสงอาทิตย์ โดยเงาของเสาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆในรอบปี

ในวันครีษมายัน (夏至, เซี่ยจื้อ) ดวงอาทิตย์ช่วงเที่ยงวันจะสูงที่สุดจากขอบฟ้าทางทิศใต้และเงาจะทอดมาทางเหนือสั้นที่สุด ส่วนในวันเหมายัน (冬至, ตงจื้อ) ดวงอาทิตย์จะขึ้นต่ำที่สุดและเงาจะยาวที่สุด

อย่างไรก็ตามจะเป็นแบบนี้เฉพาะพื้นที่ที่อยู่ละติจูดสูงกว่า ๒๓.๕ องศาเหนืออย่างปักกิ่งเท่านั้น สำหรับที่ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทยดวงอาทิตย์ยามเที่ยงจะอยู่ได้ทั้งในทิศเหนือและใต้สลับตามฤดู และที่ละติจูดต่ำกว่า ๒๓.๕ องศาใต้ดวงอาทิตย์จะอยู่ทางทิศเหนือตลอด

กุยเปี่ยวประกอบด้วยส่วนที่เป็นฐานซึ่งมีขีดบอกค่า เรียกว่า "กุย" (圭) และส่วนของแท่งที่วางตั้งเอาไว้บังแสงให้เกิดเงา เรียกว่า "เปี่ยว" (表) รวมกันจึงเรียกเป็นกุยเปี่ยว



ตัวที่เห็นอยู่นี่เป็นของที่ทำขึ้นในปี 1437 หลังสร้างหอดูดาวแห่งนี้ไม่นาน เพียงแต่ว่าที่เป็นของจริงที่ทำตอนนั้นคือแค่ส่วนฐานหิน แต่ส่วนโลหะได้ถูกย้ายไปที่หอดูดาวจื่อจินซานที่หนานจิงตั้งแต่ปี 1931 ที่เห็นอยู่นี้เป็นของที่ทำขึ้นใหม่ในปี 1983

ส่วนทางนี้เป็น นาฬิกาแดดแบบศูนย์สูตรฟ้า (赤道日晷, ชื่อเต้ารื่อกุ่ย) เป็นนาฬิกาแดดที่เรียบง่ายที่สุด เพราะตั้งระนาบมุมเอียงตามละติจูดของสถานที่ และดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ขนานไปกับระนาบนี้และสร้างเงาในทิศทางเดียวกันตลอดทั้งปี



และนี่คือ นาฬิกาแดดแบบแนวระดับ (地平式日晷, ตี้ผิงซื่อรื่อกุ่ย) ต่างจากแบบศูนย์สูตรฟ้าตรงที่ฐานวางอยู่ในแนวระดับไม่ได้เอียงตามละติจูด แต่แท่งบังแสงก็ยังเอียงตามละติจูดเหมือนเดิม การที่ฐานไม่ได้เอียงตามละติจูดทำให้ขีดบอกเวลาซึ่งอยู่บนฐานไม่ได้เว้นระยะห่างเท่ากันเหมือนอย่างแบบศูนย์สูตรฟ้า



ส่วนอันนี้ก็เป็นนาฬิกาแดดอีกแบบหนึ่ง ลักษณะเด่นคือจะเห็นว่าฐานสำหรับอ่านค่าวางอยู่บนพื้นโค้งต่างจากสองอันแรก รูทางซ้ายมีไว้เสียบแท่งบังแสง



และอันนี้เป็นนาฬิกาแดดที่ทำในแบบตะวันตก จะเห็นว่าเลขที่ใช้เป็นเลขโรมัน ส่วนรูที่เห็นตรงกลางมีไว้เสียบแท่งบังแสง



ที่ผนังนี้แสดงเทพแห่งดวงดาวต่างๆในทางฮินดู-พุทธซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ที่รูปแสดงชื่อเทพต่างๆทั้งในภาษาจีนและภาษาสันสกฤต ภาพเทพเหล่านี้ได้ถูกลืมเลือนไปตั้งแต่ช่วงสมัยราชวงศ์หมิงที่อิทธิพลดาราศาสตร์ตะวันตกเริ่มเข้ามา



ข้างๆสวนดอกไม้มีทางเข้าสู่บริเวณที่เป็นส่วนสถานที่ทำงานซึ่งไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม





ต่อมาจะมาดูในส่วนของแท่นสังเกตการณ์ ซึ่งสามารถขึ้นไปชมด้านบนได้



เดินขึ้นบันไดมา



เดินขึ้นมาจนถึงด้านบนสุดแล้วมองหันกลับไปจะเห็นทิวทัศน์ด้านล่างและไกลออกไปเป็นตึกสมัยใหม่ ในขณะที่ทางซ้ายเริ่มเห็นอุปกรณ์ดาราศาสตร์โบราณชิ้นแรกคือเซี่ยงเซี่ยนอี๋ (เครื่องวัดมุมเงยดาว)



เซี่ยงเซี่ยนอี๋นี้ วางอยู่ด้านซ้ายของ จีเหิงฝู่เฉินอี๋ (วงล้อทรงกลมท้องฟ้าของเฉียนหลง)



ถ้ามองถัดไปทางซ้ายจะเห็นอุปกรณ์อีก ๖ ชิ้นที่เหลือ ไล่จากขวาไปซ้ายคือ
เทียนถี่อี๋ > หวงเต้าจิงเหว่ย์อี๋ > ตี้ผิงจิงอี๋ > ตี้ผิงจิงเหว่ย์อี๋ > จี้เซี่ยนอี๋ > ชื่อเต้าจิงเหว่ย์อี๋



จากตรงนี้จะเริ่มอธิบายรายละเอียดของอุปกรณ์ทั้ง ๘ นี้ทีละชิ้น ไล่จากหมายเลขที่เขียนในแผนที่ซึ่งเรียงทวนเข็มนาฬิกา ในที่นี้คือไล่จากขวาไปซ้าย

อันแรกคืออุปกรณ์ที่เรียกว่า จีเหิงฝู่เฉินอี๋ (玑衡抚辰仪) เป็นวงล้อทรงกลมท้องฟ้าแบบหนึ่ง หนัก ๕๑๔๕ กก. สูง ๓.๓๗๙ เมตร



จีเหิงฝู่เฉินอี๋สร้างขึ้นตามคำสั่งของจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆, ปี 1735-1795) ถือเป็นอุปกรณ์ที่ใหม่ที่สุดในบรรดา ๘ ชิ้น เพราะชิ้นที่เหลือถูกสร้างในสมัยจักรพรรดิคางซี

เดิมทีในปี 1744 จักรพรรดิเฉียนหลงได้มาที่หอดูดาวแห่งนี้แล้วเห็นว่าอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่ใช้อยู่ตอนนั้น (อุปกรณ์อีก ๗ ชิ้นที่เหลือซึ่งสร้างก่อนหน้า) มีโครงสร้างเป็นแบบตะวันตก จึงอยากให้สร้างอุปกรณ์ขึ้นมาใหม่อีกชิ้นที่แสดงถึงความเป็นจีนมากกว่านี้ อุปกรณ์สร้างเสร็จในปี 1754

วงล้อทรงกลมท้องฟ้าอันนี้ประกอบด้วยวงล้อต่างๆคล้ายกับหุนอี๋อันที่วางอยู่ที่สวนดอกไม้ เพียงแต่ไม่มีวงสุริยวิถี

หน้าที่หลักคือใช้วัดเวลาสุริยะคติปรากฏ (真太阳时) และวัดตำแหน่งดาวในระบบพิกัดศูนย์สูตรฟ้า คือ เดคลิเนชัน (赤纬) กับ ไรต์แอสเซนชัน (赤经)

อันถัดมาคือ เซี่ยงเซี่ยนอี๋ (象限仪) เครื่องวัดมุมเงยของดาว หนัก ๒๔๘๓ กก. สูง ๓.๔๘๓ เมตร



ส่วนประกอบหลักที่สำคัญคือแผ่นรูปส่วนตัดของแผ่นวงกลมขนาด ๙๐ องศาที่สลักเป็นรูปลายมังกรสวยงาม ส่วนนี้สามารถหมุนไปมาในแนวระดับได้เพื่อปรับมุมทิศให้ตรงกับดาวที่ต้องการจะวัด จากนั้นก็เลื่อนหมุนท่อเล็งซึ่งมีแกนหมุนอยู่ที่กึ่งกลางส่วนโค้งของแผ่นส่วนของเส้นโค้งไปเรื่อยๆจนมองเห็นดาวเป้าหมาย โดยที่ปลายแผ่นมีขีดบอกมุม เมื่อเล็งเจอดาวที่ต้องการแล้วก็อ่านค่าที่ขีดก็จะรู้มุมเงยของดาว

อันที่สามคือ เทียนถี่อี๋ (天体仪) ลูกทรงกลมท้องฟ้า มีไว้ใช้แสดงตำแหน่งดาวต่างๆโดยแสดงบนทรงกลมเช่นเดียวกับลูกโลก



ลูกทรงกลมท้องฟ้าอันนี้หนัก ๓๘๕๐ กก. สูง ๒.๗๓๕ เมตร แสดงดาวทั้งหมด ๑๘๗๖ ดวง โดยมีการทำขนาดให้ต่างกันไปตามความสว่างปรากฏด้วย

ขีดแบ่งมุมที่ใช้ในลูกทรงกลมท้องฟ้าอันนี้แบ่งเป็น ๓๖๐ องศาตามแบบสากล แทนที่จะใช้ ๓๖๕.๒๕ องศา ตามจำนวนวันในรอบปีอย่างที่จีนเคยใช้อยู่ดั้งเดิม อีกทั้งมีการแสดงดาวในซีกโลกใต้ส่วนที่ไม่มีอยู่ในกลุ่มดาวจีนดั้งเดิมและไม่มีวันเห็นได้ในจีนด้วย นี่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของทางตะวันตกที่มีต่อดาราศาสตร์จีนในช่วงราชวงศ์ชิง

ลูกทรงกลมท้องฟ้าในจีนมีบันทึกว่าถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกโดยเกิ่งโซ่วชาง (耿寿昌) นักดาราศาสตร์ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西汉, 202 ปี ก่อน ค.ศ. - ค.ศ. 8)

ในสมัยก่อนถึงยุคราชวงศ์ชิงจะนิยมเรียกลูกทรงกลมท้องฟ้าว่าหุนเซี่ยง (浑象) หรือหุนเทียนอี๋ (浑天仪) แต่คำว่าหุนเทียนอี๋บางครั้งอาจหมายถึงหุนเซี่ยง (วงล้อทรงกลมท้องฟ้า) ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันด้วยได้

อันที่สี่คือ หวงเต้าจิงเหว่ย์อี๋ (黄道经纬仪) เครื่องวัดตำแหน่งดาวในระบบพิกัดสุริยวิถี หนัก ๒๗๒๐ กก. สูง ๓.๓๘๐ เมตร



อุปกรณ์มีไว้ใช้วัดตำแหน่งของดาวในระบบพิกัดสุริยวิถี (ละติจูดและลองจิจูดสุริยวิถี)

ลักษณะจะเป็นวงล้อคล้ายกับหุนอี๋แบบดั้งเดิม แต่ว่าต่างกันมาก เพราะไม่มีวงเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า แต่ประกอบด้วยวงปรับไรต์แอสเซนชันของจุดหยุด** (极至圈), วงเส้นสุริยวิถี (黄道圈) และ วงลองจิจูดสุริยวิถี (黄道纬圈)

** "จุดหยุด" หรือ "อายัน" (solstice) เป็นคำที่ใช้เรียกรวมทั้ง "ครีษมายัน" และ "เหมายัน"

วงปรับไรต์แอสเซนชันของจุดหยุดเป็นวงที่หมุนไปตามแนวไรต์แอสเซนชัน โดยยึดติดกับวงเส้นสุริยวิถีโดยมีจุดยึดอยู่ที่จุดคริสมายันและจุดเหมายัน ต้องหมุนวงนี้เพื่อปรับระนาบสุริยวิถีให้สอดคล้องตามตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปัจจุบัน เนื่องจากระนาบสุริยวิถีเปลี่ยนไปตลอดปี ต่างจากระนาบศูนย์สูตรฟ้าซึ่งตรึงอยู่กับที่ตลอดได้

ในวงล้อทรงกลมท้องฟ้าที่สร้างขึ้นในสมัยก่อนหน้านั้นแม้ว่าจะมีการใส่วงสุริยวิถีไปด้วยแต่ก็ไม่มีการใช้ระบบพิกัดสุริยวิถีในการวัดจริงๆ ดังนั้นวงล้อทรงกลมท้องฟ้าในระบบพิกัดสุริยวิถีอันนี้จึงนับเป็นอุปกรณ์แรกของจีนที่มีการใช้ระบบพิกัดสุริยวิถี ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลของดาราศาสตร์ตะวันตก

อย่างไรก็ตามเนื่องจากนักดาราศาสตร์จีนในสมัยนั้นก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบพิกัดสุริยวิถีมากนัก อุปกรณ์นี้จึงได้ใช้ค่อนข้างน้อย

อันที่ห้าคือ ตี้ผิงจิงอี๋ (地平经仪) เครื่องวัดมุมทิศของดาว หนัก ๑๘๑๑ กก. สูง ๓.๒๐๑ เมตร



อุปกรณ์มีลักษณะเป็นวงล้อที่สามารถหมุนได้ เวลาใช้จะขึงเส้นเชือกสองเส้นไว้ระหว่างส่วนยอดของแกนกลางและแท่งที่ลากผ่านศูนย์กลางวงล้อ เวลาใช้ก็หมุนวงล้อจนเห็นดาวเป้าหมายอยู่ด้านหลังเชือกสองเส้นนั้น วัดมุมว่าหมุนวงล้อไปเท่าไหร่ก็จะรู้มุมทิศของดาว

อันที่หกคือ ตี้ผิงจิงเหว่ย์อี๋ (地平经纬仪) เครื่องวัดมุมทิศและมุมเงยของดาว หนัก ๗๓๖๘ กก. สูง ๔.๑๒๕ เมตร



นี่เป็นเครื่องมืออีกอันที่ไม่ได้สร้างในต้นรัชกาลของจักรพรรดิคางซี แต่สร้างขึ้นในปี 1713 ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาล สร้างโดยหมอสอนศาสนาชาวเยอรมัน คีเลียน สตุมพฟ์ (Kilian Stumpf, ปี 1655-1720) หรือชื่อจีนว่า จี้หลี่อาน (纪理安)

อุปกรณ์นี้รวมความสามารถของตี้ผิงจิงอี๋ (วัดมุมทิศ) และเซี่ยงเซี่ยนอี๋ (วัดมุมเงย) เข้าด้วยกัน สามารถวัดได้ทั้งมุมทิศและมุมเงยของดาวพร้อมกัน

นี่เป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวที่ได้สร้างด้วยศิลปะแบบฝรั่งเศสแทนที่จะเป็นแบบจีนเหมือนอย่างชิ้นอื่น

อันที่เจ็ดคือ จี้เซี่ยนอี๋ (纪限仪) เครื่องวัดระยะเชิงมุม หนัก ๘๐๒ กก. สูง ๓.๒๗๔ เมตร



ประกอบไปด้วยแถบรูปส่วนของวงกลมขนาด ๖๐ องศา มีลักษณะเหมือนกับอุปกรณ์ที่เรียกว่าเซ็กซ์แทนต์ (六分仪) เอาไว้ใช้วัดระยะเชิงมุมระหว่างดาวสองดวงซึ่งอยู่ห่างกันไม่เกิน ๖๐ องศา

และอันสุดท้ายคือ ชื่อเต้าจิงเหว่ย์อี๋ (赤道经纬仪) เครื่องวัดตำแหน่งดาวในระบบพิกัดศูนย์สูตรฟ้า หนัก ๒๗๒๐ กก. สูง ๓.๓๘๐ เมตร



ลักษณะคล้ายกับหุนอี๋ในสวนดอกไม้ แต่ไม่มีวงสุริยวิถี หน้าที่หลักคือใช้วัดเวลาสุริยะคติปรากฏ เดคลิเนชัน และไรต์แอสเซนชันของดาว เช่นเดียวกับจีเหิงฝู่เฉินอี๋

ทิวทัศน์ที่มองจากด้านบนแท่นสังเกตการณ์ไปยังถนนด้านนอก



ส่วนจัดแสดงกลางแจ้งมีอยู่เพียงเท่านี้ ต่อจากนี้ไปที่เหลือเป็นส่วนจัดแสดงภายในอาคารซึ่งจะให้ข้อมูลความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องมากมาย

อ่านต่อได้ในตอนต่อไป https://phyblas.hinaboshi.com/20170204



แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://zh.wikipedia.org/wiki/北京古观象台
http://www.chiculture.net/0801/html/b01/0801b01.html
http://baike.baidu.com/view/41715.htm
http://wiki.cdstm.cn/index.php?doc-view-13039
http://blog.sina.com.cn/s/blog_44faf8f9010008bh.html
http://kjbl.ypskz.com.cn/TWW/twdg/index.htm
http://web2.nmns.edu.tw/Web-Title/china/A-1-7_display.htm
http://s.visitbeijing.com.cn/html/j-118101_kd.shtml
http://www.china.com.cn/culture/zhuanti/2009-05/19/content_17801109.htm
หนังสือ 星移物換-中國古代天文文物精華 http://www.telescopes.com.tw/shop/print_product_info.php?products_id=265&Twesid=yttauzxdtun



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ดาราศาสตร์
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文