φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เขียนเมื่อ 2015/10/28 21:47
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#เสาร์ 18 เม.ย. 2015

หลังจากที่ชมส่วนต่างๆในเซียนหนงถานไปแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20151024

คราวนี้มาชมสวนที่สำคัญที่สุดของที่นี่ นั่นคือส่วนอาคารไท่ซุ่ยเตี้ยน (太岁殿) ซึ่งถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง (北京古代建筑博物馆)

ช่วงนี้มีโอกาสได้ไปชมพิพิธภัณฑ์มาหลายแห่งแล้ว แต่ละแห่งก็มีความน่าสนใจต่างกันออกไป สำหรับสถาปัตยกรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญน่าสนใจมากเพราะไม่ว่าจะไปเที่ยวไหนเราก็ต้องเจอกับสิ่งก่อสร้างเต็มไปหมด หากมองดูให้ดีก็จะพบว่าสิ่งก่อสร้างแต่ละแห่งมีความโดดเด่นต่างกันออกไป หากสร้างในยุคไหนก็จะมีเอกลักษณ์ในแบบของยุคนั้น

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนในมุมมองของวิวัฒนาการของสิ่งก่อสร้าง



เริ่มแรกตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์อาศัยอยู่ในถ้ำ แต่ต่อมามนุษย์ก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่พอต่อความต้องการดังนั้นจึงเริ่มหาทางสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาเองจากวัตถุดิบที่มีอยู่รอบๆตัว สิ่งก่อสร้างในยุคแรกๆนั้นก็เป็นแค่อะไรง่ายๆเช่นการขุดหลุมแล้วเอาฟางมาปิดเป็นหลังคา



จากนั้นต่อมาก็เริ่มจะเอากระดูกสัตว์หรือไม้มาทำเป็นโครงแล้วเอาดินมาก่อขึ้นเป็นรูปร่าง



สมัยต่อมามนุษย์ก็เริ่มเอาไม้มาประกอบกันสร้างเป็นบ้าน



นี่คือภาพร่างของสิ่งก่อสร้างที่ป้านพัว (半坡) ซึ่งเป็นเมืองในวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ตั้งอยู่ในมณฑลส่านซี หากใครเคยเล่นเกม emperor ของ sierra แล้วละก็ เมืองป้านพัวนี้คือเมืองแรกที่ต้องเล่น



เกี่ยวกับเกม emperor ลองอ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150429

ที่เห็นที่พื้นใต้กระจกคือแบบจำลองบริเวณที่ขุดพบซากโบราณสถานหนิวเหอเหลียง (牛河梁) ที่เมืองหลิงหยวน (凌源) มณฑลเหลียวหนิง มีการขุดพบสุสานที่สร้างด้วยหิน



แล้วก็ยังมีเจอซากวัด และรูปปั้นเทพธิดาด้วย



ภาพทางซ้ายคือภาพในจินตนาการของหมู่บ้านสมัยโบราณซึ่งขุดพบร่องรอยที่ตำบลเจียงไจ้ (姜寨) ในเขตหลินถง (临潼) ของเมืองซีอาน (西安) มณฑลส่านซี
ส่วนภาพทางขวานี้คือซากโบราณสถานเหอหมู่ตู้ (河姆渡) ที่เมืองหยวีเหยา (余姚) มณฑลเจ้อเจียง ในเกม emperor มีปรากฏเมืองชื่อเหอหมู่ตู้ด้วย แต่ว่าไม่ใช่เมืองที่ให้ผู้เล่นเล่น เป็นแค่เมืองห่างไกลที่ต้องทำการค้าด้วย
ข้างล่างเป็นการประกอบไม้เพื่อสร้างสิ่งก่อสร้าง



ต่อมาเริ่มเข้าสู่ยุคราชวงศ์เซี่ย (夏朝, 21 - 17 ศตวรรษก่อน ค.ศ.) ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญของวัฒนธรรมที่ขุดเจอของยุคนี้คือเอ้อร์หลี่โถว (二里头) สำหรับในเกม emperor เมืองเอ้อร์หลี่โถวนี้คือเมืองที่ ๒ ที่เราจะต้องสร้างขึ้นมาต่อจากป้านพัว
นี่คือแบบจำลองอาคารที่ขุดพบร่องรอยที่เอ้อร์หลี่โถว เป็นบ้านที่ทำจากไม้และดินอัดและมีสวนกลางบ้านซึ่งเก่าแก่ที่สุดที่มีการขุดพบเจอในจีน



ต่อมาพูดถึงซากโบราณในสมัยราชวงศ์ซาง (商朝, 17 - 11 ศตวรรษก่อน ค.ศ.) ภาพซ้ายคือภาพจินตนาการพระราชวังในโบราณสถานที่เมืองหย่านซือ (偃师) มณฑลเหอหนาน ส่วนภาพขวาคือซากสุสาน, ปราสาท และวัดที่เมืองอานหยาง (安阳) สำหรับที่นี่เรามีโอกาสได้ไปเที่ยวชมมาแล้ว เคยเล่าถึงไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120915



พระราชวังที่ซากโบราณสถานผานหลงเฉิง (盘龙城) ในเขตหวงผี (黄陂) เมืองอู่ฮั่น (武汉) มณฑลหูเป่ย์ คาดกันว่าเป็นวังของเจ้าครองแคว้นหนึ่งในสมัยราชวงศ์ซาง



ภาพจินตนาการซื่อเหอย่วนในโบราณสถานที่หมู่บ้านเฟิ่งฉู (凤雏) ในอำเภอฉีซาน (岐山) มณฑลส่านซี นี่เป็นร่องรอยของซื่อเหอย่วนที่เก่าแก่ที่สุดในจีน อยู่ในยุคราชวงศ์โจวตะวันตก (西周, 1046 - 771 ปีก่อน ค.ศ.) ภาพร่างอย่างที่เห็น



ภาพร่างในจินตนาการของสุสานเจ้าครองแคว้นจงซานในยุคจ้านกั๋ว (战国, 475 - 221 ปีก่อน ค.ศ.) ที่ขุดพบในอำเภอผิงซาน (平山) มณฑลเหอเป่ย์ ร่างขึ้นมาจากจารึกโบราณ



และนี่คือชิ้นส่วนมุงหลังคาของสุสานนั้น



ตรงนี้มีภาพโบราณสถานที่กรีกซึ่งสร้างขึ้นในช่วงยุคเดียวกันคือ 500 ปีก่อน ค.ศ. เอาไว้เป็นตัวเปรียบเทียบวิทยาการของโลกฝั่งตะวันตกกับของจีน



วังเสียนหยาง (咸阳宫) ที่เมืองเสียนหยางมณฑลส่านซี สร้างขึ้นในช่วงยุคจ้านกั๋ว เป็นวังของเจ้าครองแคว้นฉินซึ่งต่อมาได้รวบรวมประเทศตั้งตัวเป็นราชวงศ์ฉิน (秦朝, 221 - 206 ปีก่อน ค.ศ.)



ภาพจินตนาการวังเจี้ยสือ (碣石宫) ที่อำเภอสุยจง (绥中) ในมณฑลเหลียวหนิง เป็นวังพักร้องสมัยราชวงศ์ฉิน



ต่อไปเข้าสู่ยุคราชวงศ์ฮั่น (汉朝, 202 ปีก่อน ค.ศ. - ปี 220) นี่เป็นภาพวังเจี้ยนจาง (建章宫) ในเมืองหลวงฉางอาน (长安) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองซีอาน สร้างเมื่อ 104 ปีก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นช่วงราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西汉, 202 ปีก่อน ค.ศ. - ปี ค.ศ. 8)



เสาและประตูของสุสานโบราณในยุคราชวงศ์ฮั่น



แบบจำลองสุสานยุคราชวงศ์ฮั่นต้าเป่าไถ (大葆台汉墓) อยู่ในปักกิ่ง เป็นสุสานโบราณยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตกที่หลงเหลืออยู่ในสภาพดีมากแห่งหนึ่ง เราเคยไปเที่ยวมาด้วยแต่ปิดอยู่จึงไม่ได้เห็นด้านใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150628



เครื่องปั้นดินเผาที่ถูกใช้ฝังพร้อมศพคนตายซึ่งทำเป็นรูปอาคาร อันนี้เป็นแบบจำลองของอันที่สร้างในช่วงยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (东汉, ปี 25 - 220)



จากนั้นก็เป็นยุคราชวงศ์สุย (隋朝, ปี 581 - 618) สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นในยุคนั้นอย่างหนึ่งคือสะพานเจ้าโจว (赵州桥) อยู่ในอำเภอเจ้าเซี่ยน (赵县) มณฑลเหอเป่ย์



ทางซ้ายคือผังเมืองต้าซิง (大兴) เมืองหลวงยุคราชวงศ์สุยซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณเมืองซีอาน เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มาก คาดกันว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ส่วนทางขวาคือเมืองลั่วหยาง (洛阳) ซึ่งสมัยนั้นถูกใช้เป็นเมืองหลวงรองทางตะวันออก



เข้าสู่ยุคราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907) ก็มีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆอีกมากมาย เช่นรูปซ้ายบนคือวังต้าหมิง (大明宫) สร้างขึ้นในเมืองหลวงสมัยนั้น



หอคอยหลายแห่งถูกสร้างในยุคราชวงศ์ถัง และยังเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ในรูปนี้เรียงจากทางซ้ายคือหอคอยต้าย่าน (大雁塔) , หอคอยเสี่ยวย่าน (小雁塔), หอคอยเสวียนจ้าง (玄奘塔) ทั้ง ๓ แห่งอยู่ในเมืองซีอาน และขวาสุดคือหอคอยจิ้งฉางฉานซือ (净藏禅师塔) ที่เมืองเติงเฟิง มณฑลเหอหนาน



ต่อมาช่วงยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (五代十国, ปี 907–979) นี่เป็นรูปสิ่งก่อสร้างในมณฑลซานซีในช่วงยุคนั้น รูปซ้ายคือวัดเจิ้นกั๋ว (镇国寺) ที่เมืองผิงเหยา (平遥) ส่วนทางขวาคืออาคารต้าหยวินย่วน (大云院) ในเมืองผิงซุ่น (平顺)



จากนั้นก็เป็นยุคราชวงศ์ซ่ง (宋朝, ปี 960 - 1279) หอคอยสวยๆหลายแห่งถูกสร้างในยุคนั้น รูปซ้ายสุดคือหอคอยเลี่ยวตี๋ (料敌塔) ในเมืองติ้งโจว (定州) มณฑลเหอเป่ย์ เคยเล่าถึงไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20141206



ในยุคร่วมสมัยกับราชวงศ์ซ่งปกครองพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนนั้นมีราชวงศ์เหลียว (辽朝, ปี 916 - 1125) ซึ่งได้เหลือสิ่งก่อสร้างไว้ในดินแดนทางตอนเหนือของจีนมากมายเช่นในปักกิ่ง



สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นอย่างหนึ่งในยุคราชวงศ์เหลียวคือเจดีย์ศากยมุนีวัดฝัวกง (佛公寺释迦塔, ฝัวกงซื่อซื่อเจียถ่า) ที่อำเภออิ้งเซี่ยน (应县) มณฑลซานซี สูง ๖๗.๓๑ แบบจำลองขนาด ๑:๒๐ ตั้งอยู่เด่นมาก เจดีย์นี้มีชื่อเสียงมากเพราะเป็นเจดีย์ไม้โบราณขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในจีน



ต่อจากราชวงศ์เหลียวก็คือราชวงศ์จิน (金朝, ปี 1115 - 1234) ซึ่งมาสืบต่อบริเวณพื้นที่ตอนเหนือของจีน ในรูปนี้คือสิ่งก่อสร้างในมณฑลซานซีที่สร้างในช่วงนั้น



ในขณะเดียวกันร่วมสมัยกับราชวงศ์เหลียว ซ่ง และจิน ราชวงศ์ซีเซี่ย (西夏, ปี 1032 - 1227) ซึ่งตั้งตัวขึ้นทางตะวันตกของจีน ก็ได้เหลือสิ่งก่อสร้างโบราณเอาไว้ เนินที่ดูคล้ายๆจอมปลวกในรูปบนคือสุสานราชวงศ์ซีเซี่ย (西夏王陵) ในเมืองอิ๋นชวาน (银川) ในเขตการปกครองตัวเองหนิงเซี่ยหุย ส่วนภาพล่างเป็นส่วนประกอบของสุสานนั้นที่ขุดเจอ เขียวๆที่เห็นด้านหน้านี่คือสัตว์ประดับหลังคาที่เรียกว่าชือเหวิ่น (鸱吻)



ต่อมาเป็นยุคราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) นี่คือแบบจำลองขนาด ๑:๒๐ ของวัดหย่งเล่อกง (永乐宫) ที่อำเภอรุ่ยเฉิง (芮城) มณฑลซานซี สร้างเสร็จในปี 1358 เป็นวัดลัทธิเต้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุคราชวงศ์หยวน



จากนั้นก็มาถึงช่วงยุคราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644) ยิ่งย่างเข้าสมัยใหม่ตัวอย่างสิ่งก่อสร้างที่มีให้เห็นก็ยิ่งเยอะ สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของราชวงศ์หมิงก็คือพระราชวังต้องห้ามกู้กง (故宫) ภาพข้างล่างถ่ายจากเขาจิ่งซาน (景山) ขณะมีหิมะ ส่วนด้านบนเป็นจอโทรทัศน์ที่กำลังอธิบายเกี่ยวกับกู้กง



ต่อจากราชวงศ์หมิงก็เป็นราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1644 - 1912) สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ที่พบในปักกิ่งส่วนใหญ่จะถูกสร้างในช่วงยุคหมิงและชิงซึ่งเป็นช่วงที่ปักกิ่งถูกใช้เป็นเมืองหลวง ตรงนี้มีภาพสิ่งก่อสร้างหลายอย่างในปักกิ่งและบริเวณรอบๆ ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงยุคสองราชวงศ์นี้





ส่วนที่จัดแสดงเรียบเรียงประวัติศาสตร์ก็จบลงแค่นี้ ต่อมาเราเดินต่อไปยังอาคารฝั่งตะวันตก ซึ่งตรงส่วนนี้จัดแสดงสิ่งก่อสร้างโบราณของจีนโดยแยกเป็นชนิดต่างๆ

เริ่มจากสิ่งก่อสร้างประเภทที่เป็นพื้นฐานที่สุด นั่นก็คือที่อยู่อาศัย พูดถึงบ้านแบบจีนแล้วโดยทั่วไปคนคงจะนึกถึงซื่อเหอย่วน ซึ่งหมายถึงกลุ่มอาคารที่ประกอบกันเป็นสี่เหลี่ยมแล้วมีลานบ้านอยู่ตรงกลาง แบบจำลองนี้คือบ้านเก่าของหว่านหรง (婉容) ภรรยาของผู่อี๋ (溥仪) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน



ส่วนประกอบต่างๆของซื่อเหอย่วนนั้นมักถูกทำขึ้นอย่างวิจิตร



นอกจากนี้ภายในทั่วประเทศจีนแต่ละพื้นที่ก็ได้มีการพัฒนาสิ่งก่อสร้างในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้น



อย่างอันนี้คือสิ่งก่อสร้างที่มณฑลอานฮุย ภาพซ้ายคือแผงบนหลังคาสำหรับป้องกันอัคคีภัยที่ฮุยโจว (徽州) ทางขวาคือบ้านที่หมู่บ้านโบราณซีตี้ (西递)



ส่วนนี่เป็นบ้านดิน (土楼, ถู่โหลว) สิ่งก่อสร้างอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนฮากกาที่อยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน



ต่อมาเป็นเรื่องของสวนจีน ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างหมู่อาคาร ก้อนหิน สระน้ำ และต้นไม้ แบบจำลองนี้คือส่วนหนึ่งของหลิวหยวน (留园) ในเมืองซูโจว (苏州) มณฑลเจียงซู ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซูโจวเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องสวนจีน



หยวนหมิงหยวน สวนจีนขนาดใหญ่ สร้างขึ้นในปี 1707 ครั้งหนึ่งเคยเป็นสุดยอดแห่งสวนจีน แต่ก็ถูกทำลายลงโดยกองทัพต่างชาติในปี 1860 ตอนนี้เหลือแต่เพียงซาก รายละเอียดอ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20111221



สิ่งก่อสร้างจำพวกศาลประจำตระกูล



สิ่งก่อสร้างจำพวกหอคอยหรือเจดีย์ก็เป็นสิ่งก่อสร้างชนิดหนึ่งที่โดดเด่นของจีน มีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก รูปล่างกลางคือเจดีย์ที่วัดหยวินจวี (云居寺) ที่เคยเล่าไปแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20150328



ภาพนี้เอาหอคอยต่างๆมาจัดเรียงตามชนิดและเวลาที่สร้าง ยิ่งอยู่บนยิ่งเป็นหอคอยเก่า



แบบจำลองขนาด ๑:๒๐ ของหอคอยเฟย์อิง (飞英塔) เมืองหูโจว (湖州) มณฑลเจ้อเจียง



วัดต่างๆ รูปซ้ายบนคือวัดบนเขาอู่ตาง (武当山) มณฑลหูเป่ย์ รูปตรงกลางคือวัดตงเยวี่ย (东岳庙) วัดลัทธิเต๋าในปักกิ่ง ซึ่งมีเล่าถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150513



วัดและเจดีย์ที่เมืองเชียงรุ่ง หรือชื่อจีนว่าจิ่งหง (景洪) ในสิบสองปันนา อยู่ในมณฑลยูนนานตอนใต้ของจีน เป็นเมืองของชาวไทลื้อจึงมีวัฒนธรรมใกล้เคียงไทย



ผาหินแกะสลัก นี่คือ ๔ แห่งที่ใหญ่ที่สุดในจีน อันซ้ายล่างคือถ้ำหินหลงเหมิน (龙门石窟) เคยไปมาแล้วเล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120730



สิ่งก่อสร้างของศาสนาอิสลาม ๓ รูปทางซ้ายบนเป็นมัสยิดที่มณฑลซินเจียง ซ้ายล่างเป็นมัสยิดที่อยู่ในเมืองซีอาน ส่วนทางขวาคือมัสยิดหนิวเจีย (牛街礼拜寺) ในปักกิ่ง เคยไปมา เล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150517



สิ่งก่อสร้างพวกกำแพงและป้อมซึ่งเอาไว้ป้องกันเมือง



พูดถึงกำแพงที่มีชื่อเสียงในจีนไม่ว่าใครก็คงนึกถึงกำแพงเมืองจีนหรือที่เรียกว่าฉางเฉิง (长城) ภาพขวาคือหัวมังกรเฒ่า (老龙头, เหล่าหลงโถว) ที่เมืองฉินหวงเต่า (秦皇岛) มณฑลเหอเป่ย์ เป็นส่วนต้นของกำแพงเมืองจีน เคยเล่าถึงไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20131029
ภาพซ้ายบนคือด่านเจียยวี่กวาน (嘉峪关) ภาพซ้ายล่างคือด่านจวียงกวาน (居庸关) ในปักกิ่ง เคยไปมาแล้ว เล่าไว้เช่นกันที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20120310



กำแพงเมืองจีนด่านจิ่วเหมินโข่ว (就门口) ซึ่งสร้างบนน้ำ อยู่ในมณฑลเหลียวหนิง เคยไปมาและเขียนถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20131026



ป้อมปราการติดปืนใหญ่สองแห่งซึ่งเป็นสมรภูมิสำคัญในสงครามฝิ่น รูปบนคือป้อมปืนใหญ่หู่เหมิน (虎门炮台) เมืองตงกว่าน (东莞) มณฑลกวางตุ้ง เคยเขียนถึงไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120626
ส่วนรูปล่างคือป้อมปืนใหญ่ต้ากู (大沽炮台) ที่เมืองเทียนจิน ซึ่งเคยไปเที่ยวมาแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20151020



ต่อมาเป็นสะพานที่ต่างๆ



แบบจำลองที่ตั้งเด่นอยู่นี้คือแบบจำลองของสะพานลมฝนเฉิงหยาง (程阳风雨桥, เฉิงหยางเฟิงหยวี่เฉียว) ในมณฑลกว่างซี สร้างขึ้นในช่วงปี 1912 - 1924



ไผฟาง (牌坊) คือซุ้มประตูที่มักพบได้ตามสถานที่สำคัญในจีน ในรูปนี้คือแบบจำลองขนาด ๑:๑๐ ของซุ้มประตูหินสวี่กั๋ว (许国石坊, สวี่กั๋วสือฟาง) ในอำเภอเซ่อเซี่ยน (歙县) มณฑลอานฮุย สร้างขึ้นในปี 1584 สมัยราชวงศ์หมิง



ต่อมาสุดท้ายเป็นสิ่งก่อสร้างจำพวกสุสาน พูดถึงสุสานในจีนแล้วที่มีชื่อเสียงที่สุดน่าจะเป็นสุสานจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและชิงซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เคยเล่าถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150706



นี่คือแบบจำลองบริเวณที่สร้างสุสานสิบสามจักรพรรดิราชวงศ์หมิง



แบบจำลองสุสานแบบที่เรียกว่าเป่าเฉิงเป๋าติ่ง (宝城宝顶) ทำจากกระดาษ





หมดแค่นี้สำหรับอาคารฝั่งตะวันตก ถัดมาก็เป็นส่วนสุดท้ายคืออาคารฝั่งเหนือ ซึ่งเป็นอาคารหลักด้านในสุด อาคารแบ่งเป็นสองส่วน ด้านขวาจัดแสดงเกี่ยวกับเมืองสมัยโบราณ และด้านขวาจัดแสดงเทคนิกการสร้างสถาปัตยกรรมโบราณ



เริ่มจากด้านขวาก่อนมาดูเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างเมือง



ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้วตำแหน่งตั้งเมืองที่ดีที่สุดคือต้องมีแม่น้ำไหลผ่าน เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญของเมือง ภาพซ้ายแสดงแม่น้ำที่ไหลผ่านแถวเมืองเสียนหยาง (咸阳) เมืองหลวงจีนยุคราชวงศ์ฉิน ภาพขวาบนคือกำแพงเมืองที่ซูโจว มีช่องเปิดให้น้ำไหลผ่าน



ภาพแสดงการย้ายเมืองหลวงในประวัติศาสตร์จีน นี่เป็นการบอกแค่คร่าวๆเท่านั้น ที่จริงมันซับซ้อนกว่านี้มาก จริงๆแล้วยังมีอีกหลายเมืองที่ได้ชือว่าเป็นเมืองหลวงของจีน อนึ่งในภาพนี้ปลายลูกศรอยู่ที่เมืองหนานจิงซึ่งเป็นเมืองหลวงตอนยุคราชวงศ์หมิง แต่ความจริงคือย้ายได้ไม่นานก็ย้ายกลับมาที่ปักกิ่งหลังจากนั้นก็อยู่ที่ปักกิ่งเกือบจะตลอดจนถึงปัจจุบัน



วิวัฒนาการของเมือง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย, ซาง และโจวก็เริ่มมีปรากฏหลักฐานโครงสร้างเมืองแล้ว นี่เป็นแผนที่ของเมืองในยุคนั้น ภาพซ้ายและกลางคือที่เอ้อร์หลี่โถว ภาพขวาคือเมืองเจิ้งโจวสมัยราชวงศ์ซาง



สมัยสามก๊ก ภาพขวาเมืองลั่วหยางสมัยที่ราชวงศ์เฉาเว่ย์ (曹魏) ปกครองอยู่ ถูกสร้างใหม่หลังจากที่ถูกต่งจั๋ว (董卓, นิยายสามก๊กไทยเรียก ตั๋งโต๊ะ) เผาเมือง



แผนที่เมืองซูโจวในปี 1113 สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋, ปี 960 - 1127) ซึ่งสมัยนั้นเมืองชื่อว่าผิงเจียง (平江)



แผนที่เมืองปักกิ่งสมัยราชวงศ์หยวนซึ่งเริ่มใช้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง



ภาพกำแพงเมืองของเมืองต่างๆซึ่งยังหลงเหลือถึงปัจจุบัน กำแพงเมืองเป็นโครงสร้างที่สำคัญของเมืองในสมัยก่อน





จากนั้นมาดูส่วนที่จัดแสดงเทคนิกการสร้างสถาปัตยกรรม ที่โดดเด่นอยู่กลางห้องคือแบบจำลองการก่อสร้างอาคารไม้



สิ่งก่อสร้างโบราณของจีนส่วนใหญ่ใช้ไม้เป็นโครงหลัก เพราะว่าสะดวกและสร้างได้เร็ว ซ่อมง่าย ขนย้ายคล่อง



อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในงานไม้



แบบจำลองอาคารหลงหู่เตี้ยน (龙虎殿) ของวัดหย่งเล่อกง (永乐宫) ขณะกำลังก่อสร้าง



ตรงนี้อธิบายเกี่ยวกับหลังคาของอาคาร



นี่คือโครงสร้างส่วนที่เรียกว่าโต๋วก่ง (斗栱) เป็นโครงสร้างที่เอาไว้ใช้ค้ำยันส่วนที่อยู่ด้านบนซึ่งมีความกว้างกว่าฐานข้างล่าง พบได้มากในสิ่งก่อสร้างของจีนตั้งแต่สมัยโบราณ อันนี้เป็นแบบจำลองขนาด ๑:๕ ของโต้วก่งของเจดีย์ศากยมุนีวัดฝัวกงที่อำเภออิ้งเซี่ยน มณฑลซานซี



วิวัฒนาการของโต้วก่งในยุคต่างๆตั้งแต่ยุคราชวงศ์ถังไปจนถึงราชวงศ์ชิง



แบบจำลองขนาดเท่าของจริงของโต้วก่งของอาคารไท่ซุ่ยเตี้ยนซึ่งก็คืออาคารหลังที่เป็นพิพิธภัณฑ์นี้เอง



การตกแต่งส่วนภายในอาคารส่วนใต้หลังคาของอาคารต่างๆ ถ้าใครไปเที่ยวตามวัดหรือวังเก่าๆลองมองสังเกตเพดานก็จะเห็นว่าแต่ละที่มีการตกแต่งอย่างสวยงาม



อาคารไท่ซุ่ยเตี้ยนที่เราอยู่ตอนนี้หากมองขึ้นไปก็จะเห็นว่าหลังคาประดับสวยมากเช่นกัน




โครงสร้างกระเบื้องเคลือบซึ่งประดับอยู่บนหลังคาอาคาร



บนหลังคามักจะประดับด้วยกระเบื้องเคลือบรูปสัตว์ต่างๆหรือบางทีก็เป็นรูปเทพ แต่ละชนิดก็มีความหมายต่างกันออกไป



การลงสีวาดลงบนโครงสร้างไม้ของอาคารต่างๆ




งานแกะสลักหินที่พบได้ตามสิ่งก่อสร้าง




หน้าต่างอาคารซึ่งทำเป็นลวดลายต่างๆ



ไม้ชนิดต่างๆที่ใช้ในการก่อสร้าง



ขั้นตอนและอุปกรณ์ในการก่อสร้าง



แบบจำลองสถานที่ที่กำลังดำเนินงานก่อสร้าง





ในที่สุดก็เดินจนทั่วแล้ว ที่นี่ช่างกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยเนื้อหาน่าสนใจ แค่เฉพาะตรงส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณนี้เราใช้เวลาดูไปทั้งหมดถึง ๓ ชั่วโมงกว่า เวลาช่างหมดไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็คุ้มค่ามากกับการมาเดินดูที่นี่

ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ทีอยากแนะนำให้คนมาลองชมกันดูมากที่สุดแห่งหนึ่งเลย ใครสนใจสามารถลองแวะมาได้



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文