φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
เขียนเมื่อ 2020/05/20 11:16
แก้ไขล่าสุด 2022/05/16 22:22
ภาษาจีนมีความหลากหลายแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มซึ่งต่างกันมากมาย เวลาพูดถึงภาษาจีนเรามักจะต้องบอกด้วยว่าหมายถึงจีนอะไร

ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีก็ได้แก่ จีนกลาง จีนกวางตุ้ง จีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนฮากกา จีนไหหลำ เป็นต้น

บทความนี้จะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการแบ่งกลุ่มในภาษาจีน



- ภาษาหรือว่าสำเนียง?

ก่อนอื่นขอเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่องของคำว่า "ภาษา" และ "สำเนียง"

เวลาพูดถึงภาษาจีนกลุ่มต่างๆนั้น เราอาจเคยได้ยินคนใช้ทั้งคำว่า "ภาษา" และ "สำเนียง" เช่น "ภาษาจีนแต้จิ๋ว" หรือ "สำเนียงแต้จิ๋ว" แบบนี้เป็นต้น ดังนั้นชวนให้สับสนว่าภาษาจีนกลุ่มต่างๆนั้นจริงๆแล้วเป็นคนละภาษากันเลย หรือว่าเป็นภาษาเดียวกันแต่ต่างสำเนียงกันเท่านั้น

เรื่องนี้จริงๆแล้วมองได้สองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าจะนิยามคำว่าภาษาและคำว่าสำเนียงว่าอย่างไร

ในทางภาษาศาสตร์มักจะใช้ความเข้าใจกันได้เป็นเกณฑ์ นั่นคือถ้าเอาคนสองคนที่พูดภาษาหรือสำเนียงต่างกันสองคนมาคุยกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งต้องไม่รู้ภาษาหรือสำเนียงของอีกฝ่ายเลย แล้วหากสองคนนั้นคุยกันพอรู้เรื่อง แบบนั้นสามารถนับว่าเป็นภาษาเดียวกันคนละสำเนียง แต่ถ้าคุยกันเข้าใจน้อยมาก แบบนั้นถือว่าเป็นคนละภาษา

ภาษาจีนในแต่ละกลุ่ม จีนกลาง กวางตุ้ง แต้จิ๋ว นั้นมีความแตกต่างกันมาก โดยทั่วไปเรียกได้ว่าคุยกันแทบจะไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นคนละภาษา ไม่ใช่สำเนียง

ส่วนแต้จิ๋วกับฮกเกี้ยนนั้นใกล้เคียงกันมาก คุยกันพอรู้เรื่อง จึงอาจถือว่าเป็นภาษาเดียวกันแค่คนละสำเนียงได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่ง การตัดสินว่าเป็นภาษาหรือสำเนียงนั้นมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

แผ่นดินจีนตั้งแต่อดีตมาล้วนอยู่กันเป็นปึกแผ่นมาโดยตลอด แม้มีบางคุยที่แตกแยกออกเป็นแคว้นๆ แต่คนจีนก็ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีนอยู่ อีกทั้งอักษรที่ใช้ก็คืออักษรจีนเหมือนกัน จึงง่ายที่จะถือว่าเป็นภาษาเดียวกัน

รัฐบาลจีนถือว่าภาษาจีนทุกกลุ่มเป็นภาษาเดียวกัน เรียกรวมๆว่าเป็นภาษาจีน และภาษาจีนท้องถิ่นต่างๆเป็นเพียงแค่สำเนียง ไม่ใช่ภาษา แม้ว่าความแตกต่างจะมากจนไม่สามารถคุยสื่อสารกันได้ก็ตาม

ที่จริงแล้วภาษาในกลุ่มยุโรปแต่ละประเทศนั้นบางกลุ่มยังมีความใกล้เคียงกันมากยิ่งกว่าความแตกต่างระหว่างภาษาจีนเสียอีก เช่นภาษาในกลุ่มสแกนดิเนเวียซึ่งประกอบไปด้วยภาษาสวีเดน, นอร์เวย์ และ เดนมาร์ก ๓ ภาษานี้ใกล้เคียงกันมากจนคุยกันพอรู้เรื่องได้ไม่ยาก แต่ก็กลับถือว่าแยกเป็นคนละภาษา เนื่องจากแต่ละประเทศประกาศใช้สำเนียงของตัวเองเป็นมาตรฐานและไม่ยอมรับว่าภาษาตัวเองเป็นเพียงสำเนียงของอีกภาษาหนึ่ง

สเปนและโปรตุเกสก็เช่นกัน ๒ ภาษานี้คล้ายกันมากจนคุยกันรู้เรื่อง แต่ต่างฝ่ายต่างก็มีประเทศเป็นของตัวเอง จึงถือเป็นภาษาแยก ไม่ใช่สำเนียง

แต่ภาษาจีนแต่ละถิ่นนั้นต่างกันจนแทบไม่สามารถเข้าใจกันได้เลย ดังนั้นความต่างจึงมากกว่า แต่เพราะจีนเป็นประเทศเดียวไม่มีการแบ่งแยก ดังนั้นภาษาจีนท้องถิ่นจึงถูกถือว่าเป็นแค่สำเนียงไป

เช่นเดียวกัน ทางญี่ปุ่นก็ถือว่าภาษาโอกินาวะเป็นเพียงสำเนียงหนึ่งของภาษาญี่ปุ่น ทั้งๆที่คนญี่ปุ่นไม่สามารถฟังภาษาโอกินาวะรู้เรื่อง แม้จะมีความคล้ายกันบ้างก็ตาม แต่จริงๆแล้วเป็นเพียงอีกภาษาในตระกูลเดียวกันเท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะจัดเป็นภาษาหรือสำเนียงก็ตาม ก็เป็นความจริงที่ว่าภาษาจีนแต่ละกลุ่มมีต้นกำเนิดร่วมกัน มีความสัมพันธ์กันชัดเจน สามารถสืบย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปได้ เพียงแต่ผ่านวิวัฒนาการมายาวนานเป็นพันปีจนทำให้ปัจจุบันความแตกต่างมากเกินกว่าที่จะสื่อสารกันรู้เรื่องได้ด้วยคำพูด

เนื่องจากจะมองเป็นภาษาหรือสำเนียงก็ได้ ในนี้จะใช้ทั้งคำว่าภาษาและสำเนียงปนๆกันไป ขึ้นอยู่กับบริบท



- ว่าด้วยคำที่ใช้เรียกภาษาหรือสำเนียงในภาษาจีน

ในภาษาจีนมีชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มภาษาหรือสำเนียงต่างๆอยู่หลายแบบ แต่ละคำมีขอบเขตความหมายไม่แน่ชัดมากนัก บางครั้งก็ไม่อาจแปลเป็นไทยได้โดยตรง

อักษร พินอิน ทับศัพท์ แปลคร่าวๆ
หยวี่ ภาษา
wén เหวิน ภาษา, อักษร, ข้อความ
huà ฮว่า ภาษา, สำเนียง
方言 fāngyán ฟางหยาน สำเนียงถิ่น
piàn เพี่ยน กลุ่มสำเนียง
qiāng เชียง สำเนียงย่อย, เสียงเหน่อ

(หยวี่)
เป็นคำที่ใช้เรียกภาษาโดยทั่วๆไป ปกติจะแปลว่า "ภาษา" และอาจไม่จำเป็นต้องเป็นภาษามนุษย์หรือภาษาที่พูดออกมา แต่ใช้เรียกอะไรก็ตามที่ใช้สื่อสารได้ เช่นพวกภาษามือ ภาษาสัตว์ ภาษาต่างดาว ก็ใช้คำนี้

(เหวิน)
คำนี้จริงๆแปลว่าข้อความ แต่ก็ใช้ในความหมายว่าภาษาด้วย แต่มักเน้นภาษาเขียน

ภาษาไทยอาจถูกเรียกว่า 泰语tài yǔ หรือ 泰文tài wén ก็ได้ แต่เวลาใช้ 语 มีแนวโน้มจะหมายถึงภาษาพูด แต่ถ้าใช้ 文 อาจเน้นที่ภาษาเขียน อย่างไรก็ตาม ในกรณีทั่วไปถือว่าความหมายเดียวกัน ใช้แทนกันได้โดยไม่ได้แยกแยะความหมาย

บางครั้ง 文 ยังหมายถึงตัวอักษร ใช้แทนคำว่า ซึ่งก็แปลว่าอักษรเหมือนกัน

(ฮว่า)
เป็นอีกคำที่ใช้ในความหมายว่าภาษา แต่บางครั้งก็อาจแปลว่าสำเนียง

คำนี้จริงๆแปลว่าการพูด ใช้เรียกถ้อยคำที่คนกลุ่มนั้นหรือพื้นที่นั้นๆพูด ไม่ได้มีความหมายที่เน้นว่านั่นเป็นภาษาหรือสำเนียง

方言 (ฟางหยาน)
โดยทั่วไปแปลได้ว่าเป็น "สำเนียงถิ่น" โดยคำว่า 方 แปลว่าท้องที่ ใช้เรียกกลุ่มย่อยของภาษา คำนี้ใช้เมื่อมองว่าเป็นแค่สำเนียงที่ใช้ในท้องที่หนึ่ง ไม่ใช่ภาษาแยกต่างหาก

(เพี่ยน)
แปลตรงๆก็คือ "แผ่น" เป็นคำที่ใช้ในทางวิทยาการทางภาษาศาสตร์เวลาเรียกกลุ่มสำเนียงย่อย ในภาษาพูดมักจะใช้ 话 แทน

บางครั้งเพื่อแยกกลุ่มใหญ่กลุ่มเล็กยังมีการใช้คำว่า 大片dà piàn (แผ่นใหญ่) และ 小片xiǎo piàn (แผ่นเล็ก) ด้วย โดย 大片 นึงอาจแบ่งเป็นหลาย 片 และใน 片 นึงแบ่งเป็นหลาย 小片 เป็นต้น

(เชียง)
ใช้แบ่งสำเนียงย่อยในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก ต่างกันเพียงแค่น้ำเสียงในการพูด คือการพูดเหน่อต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ยังหมายถึงการที่คนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาพูดไม่ชัดโดยติดสำเนียงการพูดจากภาษาแม่



หากให้เรียงลำดับจากใหญ่ไปเล็กก็คือ 语 (ภาษา) > 片 (กลุ่มสำเนียง) > 方言 (สำเนียง) > 腔 (สำเนียงย่อย) แต่ก็ไม่ได้ตายตัวเสมอไป ส่วนคำว่า 话 นั้นอาจถูกใช้เรียกแทนระดับไหนก็ได้ใช้ได้กว้างที่สุด

จะเห็นได้ว่ามีคำที่ใช้เรียกการแบ่งกลุ่มภาษาอยู่หลายคำมาก และแต่ละคำก็มีความแตกต่างกันไปทีละเล็กน้อย มีขอบเขตการใช้ที่เหลื่อมล้ำกัน แทนกันได้ในบางบริบท ดังนันเวลาพูดถึงการแบ่งกลุ่มภาษาจึงมักจะมีความคลุมเครือ อาจไม่ได้มีการตีความตายตัว

แม้นักภาษาศาสตร์จะพยายามวิจัยและจัดกลุ่มภาษา แต่ก็มีหลายแนวการจัด ไม่ได้ตรงกันนัก

ดังนั้นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มภาษาจีนนั้นมีอยู่หลากหลาย ไม่ได้เป็นที่ตกลงกันแน่นอนนัก แต่ในที่นี้ที่จะเขียนถึงต่อไปนี้จะเขียนตามวิธีการแบ่งที่ได้รับการยอมรับกันมากที่สุด



- การแบ่งกลุ่มใหญ่

ภาษาจีนอาจแบ่งออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๗ หรือ ๑๐ ​กลุ่ม

หากแบ่งออกเป็น ๗ กลุ่มจะประกอบด้วย
- จีนกลาง (官话guān huà ) ได้แก่ จีนกลางมาตรฐาน และจีนกลางท้องถิ่นตงเป่ย์, หนานจิง, เสฉวน, ยูนนาน, ฯลฯ กระจายอยู่ทั่วประเทศ
- อู๋ (吴语wú yǔ) ได้แก่ภาษาเซี่ยงไฮ้ และภาษาในเมืองรอบๆเซี่ยงไฮ้ เช่น หางโจว, หนิงปัว, ซูโจว, เวินโจว, ฯลฯ
- กวางตุ้ง (粤语yuè yǔ) ใช้ในมณฑลกวางตุ้งฝั่งตะวันตก และ กว่างซีฝั่งตะวันออก
- หมิ่น (闽语mǐn yǔ) สำเนียงฮกเกี้ยน, แต้จิ๋ว, ไหหลำ ล้วนอยู่ในกลุ่มนี้ ใช้ในมณฑลฝูเจี้ยน, ไหหลำ และ ส่วนตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง
- เซียง (湘语xiāng yǔ ) ใช้ในมณฑลหูหนาน
- ฮากกา (客家语kè jiā yǔ) หรือ จีนแคะ ใช้ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง, เจียงซี, ฝูเจี้ยน
- ก้าน (赣语gàn yǔ) หรือ กังไส ใช้ในมณฑลเจียงซี

หากแบ่งเป็น ๑๐ กลุ่ม จะเพิ่มมาอีก ๓ กลุ่ม
- จิ้น (晋语 jìn yǔ) แยกออกมาจากจีนกลาง ใช้ในมณฑลซานซี
- ฮุย (徽语huī yǔ ) แยกออกมาจากอู๋ ใช้ในเมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย
- ผิง (平语píng yǔ ) แยกออกมาจากกวางตุ้ง ใช้ในพื้นที่เล็กๆในกว่างซี

ทั้ง ๓ กลุ่มที่เพิ่มเข้ามานี้เนื่องจากมีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์มากพอที่จะแยกกลุ่มออกมา แต่ก็ยังมีลักษณะร่วมกันมากพอที่จะรวม จึงมีสถานะที่คลุมเครือ

แต่นอกจากนี้ ภาษาก้านกับภาษาฮากกาเองบางครั้งก็ถูกคิดรวมเป็นกลุ่มเดียวกันไปด้วยเช่นกัน หากแบ่งแบบนี้จะเหลือแค่ ๖ กลุ่ม

การแบ่งเป็น ๖, ๗ หรือ ๑๐ กลุ่มดังที่กล่าวมานี้เป็นแค่การแบ่งคร่าวๆเท่านั้น แต่ภายในแต่ละกลุ่มก็ยังมีความแตกต่างกันแตกย่อยออกไปอีกในระดับที่ไม่เท่ากัน

บางกลุ่มความแตกต่างน้อยจนแต่ละสำเนียงในกลุ่มเดียวกันคุยกันพอรู้เรื่อง แต่ภายในบางกลุ่มมีความหลากหลายมากจนคุยกันไม่รู้เรื่อง เช่นในกลุ่มภาษาหมิ่น และกลุ่มอู๋ จะมีความแตกต่างภายในค่อนข้างมาก ภายในกลุ่มยังต้องแบ่งย่อยอีกและภายในกลุ่มย่อยนั้นจึงพอคุยกันรู้เรื่อง



เกณฑ์การแบ่งที่น่าพูดถึงอีกอันนึงก็คือเกณฑ์ที่จัดโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ซึ่งได้แบ่งภาษาจีนออกเป็น ๑๓ กลุ่ม
- จีนกลาง (官话)
- จิ้น (晋语)
- อู๋ (吴语)
- ฮุย (徽语)
- กวางตุ้ง (粤语)
- หมินเป่ย์ (闽北语mǐn běi yǔ)
- หมิ่นจง (闽中语mǐn zhōng yǔ )
- หมิ่นตง (闽东语mǐn dōng yǔ)
- ผูเซียน (莆仙语pú xiān yǔ)
- หมิ่นหนาน (闽南语mǐn nán yǔ )
- ฮากกา (客家语)
- ก้าน (赣语)
- เซียง (湘语)

โดยในจำนวนนั้น หมินเป่ย์, หมิ่นจง,​หมิ่นตง, ผูเซียน, หมิ่นหนาน ทั้งหมด ๕ กลุ่มแตกย่อยออกมาจากภาษาหมิ่น ในขณะที่ภาษากลุ่มอื่นไม่ได้แบ่งต่างจากการแยกแบบ ๑๐ กลุ่ม



- การกระจายตัวของแต่ละกลุ่มภาษา

แผนที่แสดงการกระจายตัวของภาษาจีนเมื่อใช้การแบ่งเป็น ๑๐ กลุ่ม



จากในแผนที่นี้จะเห็นว่าภาษาจีนกลาง (官话) ถูกใช้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจีน

ส่วนพื้นที่สีเหลืองอ่อนคือส่วนที่ใช้ภาษากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่จีนเป็นหลัก ทางทิศตะวันตกคือภาษาทิเบตและอุยกูร์ ทางเหนือคือภาษามองโกล ส่วนกลางเกาะใต้หวันคือภาษาชนพื้นเมืองเดิมไต้หวัน

ส่วนทางเหนือที่เห็นใช้ภาษาจิ้น (晋语) คือมณฑลซานซี ซึ่งมีศูนย์กลางคือเมืองไท่หยวน (太原tài yuán ) คำว่าจิ้น (jìn) มาจากชื่อย่อของมณฑลซานซี

ภาษากลุ่มอื่นๆล้วนกระจุกอยู่ทางแถบตะวันออกเฉียงใต้ เป็นบริเวณที่มีความหลากหลายของภาษามาก

ส่วนภาษาเซียง (湘语) ใช้ในมณฑลหูหนาน มีศูนย์กลางคือเมืองฉางซา (长沙cháng shā) คำว่าเซียง (xiāng ) ก็มาเป็นชื่อย่อของมณฑลหูหนาน

ภาษาก้าน (赣语) ใช้ในมณฑลเจียงซี มีศูนย์กลางคือเมืองหนานชาง (南昌 nán chāng) คำว่าก้าน (gàn) ก็มาจากชื่อย่อของมณฑลเจียงซีด้วย ในไทยบางทีก็เรียกว่า จีนกังไส ซึ่งเป็นคำอ่านของคำว่าเจียงซีในสำเนียงแต้จิ๋ว

ภาษาอู๋ (吴语) ใช้ในเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจ้อเจียง เช่น เมืองหางโจว (杭州háng zhōu), หนิงปัว (宁波níng bō ),​ เวินโจว (温州wēn zhōu)

ตอนใต้ของมณฑลเจียงซูก็ใช้ภาษาอู๋ เช่นเมืองซูโจว (苏州sū zhōu), อู๋ซี (无锡wú xī) แต่ตอนเหนือของมณฑลเช่นเมืองหนานจิง (南京 nán jīng) ใช้จีนกลาง

มณฑลอานฮุยตอนใต้ก็ใช้ภาษาอู๋ และส่วนหนึ่งใช้ภาษาฮุย (徽语) ส่วนทางตอนเหนือใช้จีนกลาง

ภาษากวางตุ้ง (粤语) ใช้ในฝั่งตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง มีศูนย์กลางที่เมืองกว่างโจว (广州guǎng zhōu) รวมไปถึงเขตปกครองพิเศษอย่างฮ่องกง (香港xiāng gǎng) และมาเก๊า (澳门ào mén)

ในเขตปกครองตัวเองกว่างซีนั้นทางซึกตะวันออกใช้ภาษากวางตุ้ง และส่วนหนึ่งใช้ภาษาผิง (平话) แต่ทางตะวันตกใช้สำเนียงของจีนกลาง

ภาษาหมิ่น (闽语) ใช้ในมณฑลฝูเจี้ยนเป็นหลัก ชื่อหมิ่น (mǐn) ก็มาจากชื่อย่อของมณฑลนี้ เมืองเอกของมณฑลคือเมืองฝูโจว (福州fú zhōu) ใช้ภาษาหมิ่นตง ส่วนเมืองที่สำคัญทางใต้ของมณฑลคือเซี่ยเหมิน (厦门xià mén) ใช้ภาษาหมิ่นหนาน

นอกจากนี้สำเนียงแต้จิ๋วซึ่งใช้ในส่วนตะวันออกของมณฑลกวางตุ้งก็อยู่ในกลุ่มนี้ รวมถึงสำเนียงไหหลำที่ใช้ในเกาะไหหลำก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

ภาษาฮากกา (客家话) ใช้ในมณฑลกวางตุ้งส่วนตะวันออก เจียงซีตอนใต้ และฝูเจี้ยนส่วนตะวันตก บริเวณที่พูดภาษาฮากกาในแต่ละมณฑลไม่ได้กว้างนัก ถือเป็นส่วนน้อยของแต่ละมณฑล แต่รวมกัน ๓ มณฑลแล้วก็ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่

ในไต้หวัน ภาษาที่ใช้เป็นหลักคือหมิ่นหนาน และมีส่วนน้อยใช้ภาษาฮากกา

นอกจากนี้ยังมีชาวจีนที่อพยพไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่พูดภาษาหมิ่น, ฮากกา, กวางตุ้ง มีบ้างที่เป็นกลุ่มที่พูดจีนกลางและอู๋



- การแบ่งกลุ่มย่อย

จากเกณฑ์การแบ่งกลุ่มใหญ่ข้างต้น หากเลือกใช้เกณฑ์การแบ่งเป็น ๑๐ กลุ่มเป็นจุดเริ่มต้น แล้วแบ่งกลุ่มย่อยลงไปอีก สรุปการแบ่งเป็นขั้นๆแล้วอาจเขียนเป็นผังได้แบบนี้

  แบ่ง
แบ่ง
๑๐
กลุ่มย่อย   ตัวอย่างพื้นที่ที่ใช้
ภา
ษา
จีน
  จีนกลาง ปักกิ่ง   ปักกิ่งเดิม (จีนกลางปักกิ่ง)
จีนแผ่นดินใหญ่ (ผู่ทงฮว่า)
ไต้หวัน (กั๋วหยวี่)
สิงคโปร์ (จีนกลางสิงคโปร์)
มาเลเซีย (จีนกลางมาเลเซีย)
ตงเป่ย์   มณฑลเฮย์หลงเจียง
มณฑลจี๋หลิน
มณฑลเหลียวหนิง
เจียงหวย   หนานจิง หยางโจว หนานทง ไท่โจว
เหอเฝย์ อู๋หู
ซีหนาน   มณฑลยูนนาน
มณฑลกุ้ยโจว
มณฑลเสฉวน
มณฑลหูเป่ย์
ฉงชิ่ง
อื่นๆ   มณฑลส่านซี
มณฑลซานตง
มณฑลกานซู่
มองโกเลียใน
ฯลฯ
จิ้น   ไท่หยวน ต้าถง ซินโจว ซั่วโจว ผิงเหยา
  เซียง   ฉางซา เซียงถาน หนิงเซียง เหิงหยาง อี้หยาง
  อู๋ ไท่หู   เซี่ยงไฮ้
หางโจว หนิงปัว
ซูโจว อู๋ซี ฉางโจว
อื่นๆ   ไทโจว จินหัว ฉวีโจว ลี่สุ่ย
เวินโจว
ฮุย   หวงซาน
  ก้าน   หนานชาง อี๋ชุน จี๋อาน
ฝู่โจว อิงถาน
ฮากกา
(แคะ)
แคะลึก   เหมย์เซี่ยน เหมียวลี่ (ซื่อเซี่ยน) ต้าปู้ ซิงหนิง เจียวหลิ่ง
แคะตื้น   เฟิงซุ่น หย่งติ้ง
อื่นๆ   เจ้าอาน เหอหยวน ฮุ่ยโจว
ก้านโจว
  หมิ่น หมินเป่ย์   เจี้ยนโอว
หมิ่นจง   หย่งอาน ซาเซี่ยน
หมิ่นตง ฮกจิว   ฝูโจว
อื่นๆ   หมาจู่ ฝูอาน
ผูเซียน   ผูเถียน เซียนโหยว อูชิว
หมิ่นหนาน ฮกเกี้ยน   เซี่ยเหมิน จางโจว เฉวียนโจว
จินเหมิน เผิงหู ไถหนาน
แต้จิ๋ว   แต้จิ๋ว ซัวเถา กิ๊กเอี๊ย
อื่นๆ   ต้าเถียน ไห่เฟิง ลู่เฟิง
ฉยงเหลย์ ไหหลำ   ไหโข่ว ซานย่า เหวินชาง
อื่นๆ   เหลย์โจว
อื่นๆ   เซ่าอู่ เจียงเล่อ
  กวางตุ้ง ซ้ามยับ กว่างโจว   กว่างโจว ฮ่องกง มาเก๊า
อื่นๆ   ฝัวซาน จงซาน
เซย์ยับ   ไถซาน ไคผิง เอินผิง เฮ่อซาน
อื่นๆ   ชิ่นโจว จ้านเจียง ตานโจว
ผิง   หนานหนิง กุ้ยหลิน

แผนผังนี้ตั้งใจแค่จะเน้นให้รู้จักสำเนียงที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดี ส่วนที่เขียนว่า "อื่นๆ" หมายความว่ามีกลุ่มอื่นอีกมากมายซึ่งไม่เป็นที่รู้จักนักจึงขอละไว้ เพราะถ้าเขียนทั้งหมดจะยาวมาก

ต่อไปจะอธิบายทีละกลุ่มในรายละเอียด


-- จีนกลาง --

จีนกลางแม้ว่าจะกระจายตัวมากสุด ประชากรรวมเยอะสุด แต่ความหลากหลายภายในกลุ่มไม่สูง สามารถสื่อสารกันภายในกลุ่มพอรู้เรื่อง คนที่รู้แค่จีนกลางมาตรฐานสามารถพอเดาสิ่งที่คนจีนยูนนานพูดได้

แผนที่แสดงการกระจายของพื้นที่ที่ใช้จีนกลางเป็นภาษาแม่ แสดงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนตรงสีเขียวอ่อนที่มณฑลซานซีเป็นภาษาจิ้น ซึ่งบางครั้งก็ถูกจัดเป็นกลุ่มย่อยของจีนกลางอีกที



จีนกลางใช้ในบริเวณส่วนใหญ่ของจีน ยกเว้นทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นกลุ่มภาษาจีนอื่นๆ ทางตะวันตกเป็นทิเบตใช้ภาษาทิเบต ทางเหนือเป็นมองโกเลียในใช้ภาษามองโกล

สำหรับจีนกลางมาตรฐานที่ทุกคนรู้จักกันโดยทั่วไปนั้นเป็นภาษาที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้สำเนียงปักกิ่งเป็นพื้นฐาน แต่ตัดส่วนที่ยุ่งยากออกเพื่อให้คนทั้งประเทศสามารถเข้าใจได้ง่าย จึงกลายเป็นภาษาสมัยใหม่ที่มีความเรียบง่าย

ปัจจุบันที่ปักกิ่งผู้คนยังนิยมพูดสำเนียงปักกิ่งดั้งเดิม ซึ่งมีความแตกต่างจากจีนกลางมาตรฐาน ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจอยู่บ้างสำหรับผู้ที่มาจากถิ่นอื่น

จีนกลางมาตรฐานยังแบ่งออกเป็นแบบจีนแผ่นดินใหญ่กับแบบไต้หวัน ในจีนแผ่นดินใหญ่เรียกว่าเรียกว่าผู่ทงฮว่า (普通话pǔ tōng huà) ในไต้หวันเรียกว่ากั๋วหยวี่ (国语guó yù) มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่ที่การใช้คำศัพท์สมัยใหม่ และการออกเสียงอักษรบางตัว

นอกจากนี้จีนกลางที่ใช้ในสิงคโปร์และมาเลเซียต่างก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นมาตรฐานที่ต่างไปจากในแผ่นดินใหญ่หรือไต้หวันอีกด้วย


-- หมิ่น --

ภาษากลุ่มหมิ่นเป็นกลุ่มที่มีการแบ่งย่อยมากที่สุด และแต่ละกลุ่มย่อยก็ต่างกันมากจนสื่อสารข้ามกลุ่มไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีลักษณะบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ร่วมกันจึงถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเดียวกันอยู่

ภาษาหมิ่นอาจแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆดังนี้



ภาษาหมิ่นตง มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฝูโจว เมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยน บางทีก็เรียกว่าเป็นภาษาฮกจิว (ซึ่งเป็นคำอ่านชื่อเมืองฝูโจวตามสำเนียงแต้จิ๋ว)

ภาษาที่ใช้ในเกาะไหหลำคือสำเนียงจีนไหหลำ จัดเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษาฉยงเหลย์ (琼雷话) ซึ่งรวมถึงสำเนียงเหลย์โจว (雷州话) ซึ่งใช้ในเมืองเหลย์โจวทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง

หมิ่นหนานยังแบ่งย่อยเป็นฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว ความแตกต่างของฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วมีเพียงเล็กน้อย สามารถสื่อสารกันพอรู้เรื่อง แต่สื่อสารกับหมิ่นตงหรือไหหลำไม่ได้ แม้จะอยู่ในกลุ่มภาษาหมิ่นเหมือนกันก็ตาม

การแบ่งสำเนียงย่อยของภาษาหมิ่นหนาน



ที่เรียกว่าเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนนั้นถือเป็นกลุ่มสำเนียงย่อยของภาษาหมิ่นหนานซึ่งใช้ในมณฑลฝูเจี้ยนตอนใต้เช่นเมืองเฉวียนโจว (泉州quán zhōu) เซี่ยเหมิน (厦门xià mén), จางโจว (漳州zhāng zhōu) และรวมไปถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะไต้หวัน ซึ่งมีชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพไปตั้งถิ่นฐานเป็นหลัก กลุ่มนี้เรียกรวมๆว่ากลุ่มสำเนียงเฉวียนจาง (泉漳quán zhāng片) ตามชื่อเมืองเฉวียนโจวและจางโจว

แยกจากอีกกลุ่มคือกลุ่มสำเนียงเฉาซ่าน (潮汕cháo shàn片) ซึ่งเราเรียกกันทั่วไปว่าสำเนียงแต้จิ๋ว ใช้ในเมืองแต้จิ๋ว (เฉาโจว, 潮州cháo zhōu), ซัวเถา (ซ่านโถว, 汕头shàn tóu) และกิ๊กเอี๊ย (เจียหยาง, 揭阳jiē yáng)

นอกจาก ๒​ กลุ่มนี้แล้วภาษาหมิ่นหนานยังมีกลุ่มย่อยอื่นๆเล็กๆ เช่นที่อำเภอต้าเถียน (大田dà tián) ทางตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยนก็จัดเป็นกลุ่มย่อยอีกกลุ่ม

และนอกจากนี้ยังมีจุดที่โดดแยกมาเล็กๆตรงเมืองจงซาน (中山zhōng shān) ในมณฑลกวางตุ้ง และบริเวณหนึ่งของเมืองเวินโจว (温州wēn zhōu) ทางใต้ของมณฑลเจ้อเจียงด้วย

นอกจากนี้แล้วที่เมืองลู่เฟิง (陆丰lù fēng) ไห่เฟิง (海丰hǎi fēng) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของพื้นที่ที่พูดภาษาแต้จิ๋ว บางครั้งก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มย่อยแยกไปอีกกลุ่ม เพราะมีความแตกต่างจากภาษาแต้จิ๋วที่พูดในเมืองแต้จิ๋วและซัวเถามากพอ

เกี่ยวกับเรื่องของภาษาหมิ่นหนานมีรายละเอียดอีกมาก อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ >> https://phyblas.hinaboshi.com/20170824

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับถิ่นที่พูดภาษาแต้จิ๋วได้ในบทความนี้ >> https://phyblas.hinaboshi.com/20120629


-- กวางตุ้ง --

ภาษากวางตุ้งใช้อย่างแพร่หลายในฝั่งตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง และทางตะวันออกของมณฑลกว่างซี อาจแบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม

แผนที่แสดงการกระจายตัวของภาษาจีนกวางตุ้ง



ในภาพนี้ยังรวมถึงภาษาผิง (平话) ซึ่งบางครั้งก็ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของภาษากวางตุ้ง

ที่เป็นที่รู้จักกันมากในหมู่คนไทยและประเทศที่มีชาวจีนโพ้นทะเลคือกลุ่มสำเนียงกว๋างฝู่ (广府guǎng fǔ) หรือมักเรียกว่าซ้ามยับ (ซานอี้, 三邑sān yì) และอีกกลุ่มคือเซย์ยับ (ซื่ออี้, 四邑sì yì )

กลุ่มซ้ามยับใช้ในบริเวณใจกลางของมณฑลกวางตุ้ง รวมถึงสำเนียงกว่างโจวซึ่งถือเป็นสำเนียงกวางตุ้งมาตรฐาน ใช้ในเมืองกว่างโจวและเมืองรอบๆ รวมไปถึงฮ่องกงและมาเก๊า

ฮ่องกงและมาเก๊าโดยพื้นฐานแล้วใช้สำเนียงกว่างโจว แต่มีความแตกต่างตรงที่มีการแทรกคำศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษปนมากกว่า แต่ในสมัยใหม่นี้เนื่องจากอิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ฮ่องกง การพูดแบบฮ่องกงได้กลายเป็นที่ใช้ทั่วไปแม้แต่ในส่วนอื่นที่พูดสำเนียงกว่างโจว ดังนั้นโดยรวมถือว่าสำเนียงที่ใช้ในกว่างโจว ฮ่องกง มาเก๊า เป็นสำเนียงเตียวกัน

ส่วนเซย์ยับเป็นกลุ่มที่อยู่ในแถบเมืองเจียงเหมิน (江门jiāng mén) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของกว่างโจว สำเนียงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือสำเนียงไถซาน (台山tái shān )

ที่เมืองตานโจว (儋州dān zhōu) ในเกาะไหหลำ (ไม่ได้แสดงในแผนที่ด้านบน) ก็ใช้สำเนียงของภาษากวางตุ้ง

นอกจากนี้ก็มีสำเนียงอื่นๆอีกมากมายทางตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง แต่ละสำเนียงมีความแตกต่างกันมากจนสื่อสารกันได้ลำบาก


-- ฮากกา --

จีนฮากกา ในไทยนิยมเรียกว่าจีนแคะ คำว่า "แคะ" เป็นคำที่คนแต้จิ๋วเรียกคนจีนฮากกา ส่วนคำว่าฮากกาคือชื่อเรียกในภาษาฮากกาเอง ส่วนจีนกลางจะเรียกฮากกาว่า "เค่อเจีย"

คนจีนฮากกาซึ่งพูดภาษาจีนฮากกานั้นกระจายตัวอยู่ใน ๓ มณฑล คือ กวางตุ้งส่วนตะวันออก เจียงซีตอนใต้ และฝูเจี้ยนส่วนตะวันตก



แต่คนจีนฮากกาที่อพยพไปยังต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นคนฮากกาในมณฑลกวางตุ้ง

ฮากกาเองก็มีแบ่งย่อยเป็นหลายสำเนียงซึ่งต่างกันมาก แต่ที่แพร่หลายที่สุดคือสำเนียงเหมย์เซี่ยน (梅县话méi xiàn huà) ซึ่งในไทยนิยมเรียกว่า หม่อยแย้น ตามสำเนียงฮากกา เหมย์เซี่ยนเป็นเขตในเมืองเหมย์โจว (梅州méi zhōu) อยู่ทางตะวันออกสุดของมณฑลกวางตุ้ง ติดกับมณฑลฝูเจี้ยน

คนฮากกาในไทยส่วนใหญ่มาจากมณฑลกวางตุ้ง มักถูกแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆคือแคะลึก (深客shēn kè) และแคะตื้น หรือแคะครึ่งเขา (半山客bàn shān kè)

แคะลึกคือสำเนียงเหมย์เซี่ยนและบริเวณรอบๆ เนื่องจากแถวนั้นอยู่ค่อนข้างลึกเข้าไปในแผ่นดินมาก เลยเรียกว่าแคะลึก

ส่วนแคะตื้นหมายถึงสำเนียงเฟิงซุ่นและสำเนียงต่างๆใกล้เขตพื้นที่ที่พูดภาษาแต้จิ๋ว เป็นสำเนียงที่ได้รับอิทธิพลจากแต้จิ๋วมาด้วย กลุ่มนี้เนื่องจากไม่ได้อยู่ลึกลงไปในแผ่นดินมากเลยเลียกว่าแคะตื้น หรือแคะครึ่งเขา

ในไทยบางทีก็เรียกแคะลึกว่า "ซิมขัก" เรียกแคะตื้นว่า "ปันซันขัก" ชื่อเรียกนี้มีที่มาจากการออกเสียงตามสำเนียงแคะตื้น

ที่ไต้หวันก็มีคนจีนฮากกาเช่นกัน เป็นภาษาท้องถิ่นที่มีคนพูดเยอะรองจากภาษาจีนฮากกาไต้หวัน ส่วนใหญ่จะอพยพจากเหมย์เซี่ยนและเมืองรอบๆนั้น

สำเนียงฮากกาในไต้หวันใช้สำเนียงเหมย์เซี่ยนเป็นพื้นฐาน แต่มีความแตกต่างเล็กน้อย เรียกว่าสำเนียงซื่อเซี่ยน (四县话sì xiàn huà) ศูนย์กลางชุมชนชาวฮากกาในไต้หวันอยู่ที่เมืองเหมียวลี่ (苗栗)

ปัจจุบันเราจะได้ยินฮากกาสำเนียงซื่อเซี่ยนนี้ตามรถเมล์และรถไฟฟ้าในไต้หวัน โดยจะมีการประกาศเป็นลำดับสุดท้ายต่อจากภาษาจีนกลางและฮกเกี้ยน


-- อู๋ --

เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากเป็นอันดับ ๒ รองจากจีนกลาง ภาษาในกลุ่มอู๋ที่เป็นที่รู้จักที่สุดคือภาษาเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ยังมีเมืองสำคัญอีกหลายเมืองที่ใช้ภาษาในกลุ่มนี้ได้แก่พื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเจ้อเจียง และมณฑลเจียงซูตอนใต้

ความหลากหลายของภาษาตระกูลอู๋



สำเนียงที่ใช้ในแต่ละเมืองมีความแตกต่างกันมาก ใช้สื่อสารข้ามเมืองกันได้ลำบาก

เซี่ยงไฮ้ และเมืองทางตอนใต้ของมณฑลเจียงซูอย่างซูโจว (苏州sū zhōu), อู๋ซี (无锡wú xī) รวมถึงตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียงอย่างเมืองหางโจว (杭州háng zhōu), หนิงปัว (宁波níng bō) อยู่ในกลุ่มสำเนียงไท่หู (太湖tài hú) ซึ่งในนั้นก็ยังแบ่งเป็นกลุ่มเล็กอีกมากมาย ส่วนทางตอนใต้ของมณฑลเจ้อเจียงเช่นเมืองไทโจว (台州tāi zhōu), เวินโจว (温州wēn zhōu) เป็นอีกกลุ่มซึ่งต่างกันไปอีกมาก

คนจีนในไทยมีที่พูดภาษากลุ่มนี้น้อยมาก เพราะไม่ใช่กลุ่มหลักที่นิยมอพยพออกมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็มีคนจีนเซี่ยงไฮ้อพยพไปอยู่ในบางประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นด้วย


-- กลุ่มอื่นๆ --

สำหรับภาษาจีนในกลุ่มจิ้น, ฮุย, เซียง, ก้าน, ผิง นั้นไม่เป็นที่รู้จักนักทั้งในไทยและในต่างแดน เพราะกลุ่มเหล่านี้มีการอพยพไปต่างแดนน้อยมาก จึงขอละการอธิบายรายละเอียดไว้



- การแบ่งกลุ่มคนจีนที่ใช้ในประเทศไทย

การแบ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการแบ่งตามหลักภาษาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การแบ่งกลุ่มแบบที่คนไทยคุ้นเคยนั้นจะค่อนข้างต่างกันไป

เวลาพูดถึงการแบ่งกลุ่มคนจีนในไทย เราอาจจะมักได้ยินกันว่าคนเชื้อสายจีนในไทยประกอบไปด้วยหลายกลุ่มด้วยกัน แบ่งกันตามภาษาหรือสำเนียงถิ่น ที่มักได้ยินบ่อยๆเช่น
- แต้จิ๋ว
- ฮกเกี้ยน
- ไหหลำ
- กวางตุ้ง
- ฮากกา (แคะ)
- ฮกจิว (ฝูเจี้ยน)
- ยูนนาน
- ฯลฯ

หากลองเทียบกับการแบ่งกลุ่ม ๑๐ กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าภาษากวางตุ้ง และ ฮากกา ต่างก็เป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ส่วนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฮกจิว ไหหลำ ล้วนเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มใหญ่เดียวกันคือภาษาหมิ่น และจีนยูนนานเป็นแค่สำเนียงย่อยของจีนกลางอีกที

สำหรับสัดส่วนจำนวนนั้นเป็นเรื่องยากที่จะรู้แน่ชัด เพราะการแบ่งไม่ได้ชัดเจนเสียทีเดียว ที่ผสมกันระหว่างกลุ่มก็มีไม่น้อย ข้อมูลแต่ละที่ก็อาจจะไม่ค่อยตรงกันนัก

แต่โดยภาพรวมแล้วก็คือประมาณครึ่งหนึ่งเป็นจีนแต้จิ๋ว อีกครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มอื่นๆซึ่งมีจำนวนรองลงมา ได้แก่ ฮากกา ไหหลำ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน

กลุ่มจีนแต้จิ๋วกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ส่วนฮกเกี้ยนกับไหหลำจะมีอยู่มากในภาคใต้



- แนวโน้มและความสำคัญของภาษาจีนกลุ่มต่างๆ

ในปัจจุบันพอพูดถึงภาษาจีนถ้าไม่ได้บอกว่าเป็นจีนอะไรจะหมายถึงจีนกลางมาตรฐาน มีความสำคัญมากที่สุด ใช้ได้ทั่วประเทศจีน ซึ่งรวมทั้งแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า นอกจากนี้ก็ใช้ทั่วไปในสิงคโปร์ และในกลุ่มคนจีนในมาเลเซีย

ความสำคัญของภาษาจีนท้องถิ่นกลุ่มอื่นนอกจากจีนกลางนั้นนับวันจะยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ ผู้ที่พูดได้มีน้อยลงเรื่อยๆ มีแนวโน้มจะหันไปใช้แต่ภาษาจีนกลางเป็นหลัก คนที่พูดเป็นแต่ภาษาถิ่นแต่พูดจีนกลางไม่ได้เหลือแต่เพียงคนรุ่นเก่า ซึ่งนับวันก็จะยิ่งลดลง

ภาษาถิ่นแต่ละกลุ่มมีแนวโน้มต่างกันออกไป บางกลุ่มแทบไม่เหลือคนพูดและกำลังหายไปในไม่ช้า หรือบางกลุ่มแม้คนรุ่นใหม่จะยังพูดได้แต่ก็ไม่คล่องเท่าจีนกลาง เพราะไม่ได้มีโอกาสใช้ในชีวิตประจำวันมากเท่า และไม่ได้เห็นถึงความจำเป็นกันนัก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนจีนที่อพยพไปยังโพ้นทะเล เช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ฮากกา จะใช้ภาษาถิ่นกับภาษาของประเทศที่ไปอยู่เป็นหลัก จีนกลางอาจจะพูดไม่ได้ ดังนั้นภาษากลุ่มนั้นก็ยังมีประโยชน์ในการใช้คุยกับคนจีนโพ้นทะเลได้



นอกจากจีนกลางแล้ว ที่สำคัญรองลงมาก็คือภาษาจีนกวางตุ้ง เพราะใช้เป็นภาษาราชการในฮ่องกงและมาเก๊า คนฮ่องกงและมาเก๊ายังใช้ภาษากวางตุ้งเป็นหลัก แม้จะพูดจีนกลางได้แต่ก็อาจไม่คล่องเท่าคนจีนแผ่นดินใหญ่หรือไต้หวัน ดังนั้นภาษาจีนกวางตุ้งจึงค่อนข้างจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในฮ่องกงและมาเก๊า

และเพราะมีความสำคัญอยู่มาก ทำให้ภาษากวางตุ้งยังถูกอนุรักษ์ต่อไปได้ดีกว่าภาษาจีนท้องถิ่นอื่นๆ ยังคงไม่มีแนวโน้มที่จะสูญหายไป และมีคนต่างชาติเรียนมากรองจากจีนกลาง

รวมถึงกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่เป็นเชื้อสายกวางตุ้งเองก็มักจะอนุรักษ์เอาไว้จึงพูดกันได้แม้แต่ในคนรุ่นใหม่

ภาษาจีนฮกเกี้ยนเป็นกลุ่มที่ใช้แพร่หลายรองลงมา ใช้ทั้งในมณฑลฝูเจี้ยน และแพร่หลายในไต้หวัน และเป็นกลุ่มคนจีนที่อพยพไปต่างประเทศมากที่สุด

สำหรับที่ไต้หวันเรียกภาษาจีนฮกเกี้ยนว่าภาษาไต้หวัน แต่ไม่ได้ถูกอนุรักษ์อย่างดีมาก ตอนนี้คนไต้หวันรุ่นใหม่พูดได้น้อยลงเรื่อยๆ ถึงพูดได้ก็ไม่คล่อง แต่คนไต้หวันส่วนใหญ่ก็ยังรู้พื้นฐาน พวกคำง่ายๆที่ใช้บ่อย และมีการใช้พูดปนประปรายอยู่แม้แต่เวลาพูดจีนกลาง ดังนั้นความสำคัญจึงยังไม่ได้หายไปเสียทีเดียว

ส่วนคนจีนแต้จิ๋วส่วนใหญ่อพยพมาไทยและกัมพูชา ภาษาจีนแต้จิ๋วยังคงมีการใช้แพร่หลายในไทย แม้จะค่อยๆหายไปเรื่อยๆ แต่สำหรับในท้องถิ่นแต้จิ๋วในจีน เช่นเมืองแต้จิ๋วและซัวเถานั้นภาษาแต้จิ๋วยังคงถูกอนุรักษ์ไว้ค่อนข้างดี สามารถใช้ได้ทั่วไปในพื้นที่ท้องถิ่นนั้น แม้แต่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ตาม



สำหรับการเรียนภาษาจีนในฐานะภาษาที่สองนั้น นอกจากจีนกลางและกวางตุ้งแล้ว ภาษาจีนกลุ่มอื่นหาเรียนได้ยากมาก อีกทั้งยังไม่ได้มีการจัดทำมาตรฐานที่ตายตัว ตำราเรียนก็ใช้มาตรฐานต่างกันไปแล้วแต่คนทำ ดังนั้นหากไม่ใช่เจ้าของภาษาที่พูดตั้งแต่เกิดโอกาสที่จะพูดได้ก็น้อยมาก

สำหรับในจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน ขอแค่รู้จีนกลางก็สามารถใช้ได้ทั่วโดยแทบจะไม่มีปัญหาใดๆแล้ว อาจยกเว้นแค่เมื่อเจอคนรุ่นเก่าบางคนที่อาจจะมีพูดไม่ได้หรืออาจจะไม่ชัดไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วมีโอกาสได้ใช้มากกว่าภาษาท้องถิ่น

ส่วนในฮ่องกงและมาเก๊าจะใช้ภาษาจีนกวางตุ้งเป็นหลัก จีนกลางเป็นรอง ดังนั้นแม้ว่าจีนกลางพอจะใช้ได้ทั่วไปในฮ่องกงและมาเก๊าก็ตาม หากรู้ภาษากวางตุ้งก็จะช่วยให้ใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น



หากใครสนใจจะเรียนภาษาจีนก็คงจะเลือกเรียนจีนกลางเป็นหลัก ส่วนคนที่จะไปฮ่องกงมาเก๊าก็ควรจะเลือกเรียนภาษากวางตุ้งเป็นอันดับถัดมา

ภาษาถิ่นเมื่อไม่ได้อนุรักษ์ไว้และผู้คนเริ่มไม่เห็นความสำคัญก็จะค่อยๆเลือนหายไป ท้ายที่สุดแล้วอาจเหลือแค่จีนกลางกับกวางตุ้ง

อย่างไรก็ตาม ภาษาจีนตามท้องถิ่นต่างๆนั้นก็ยังมีความสำคัญมากในแง่ประวัติศาสตร์ เพราะส่วนใหญ่อนุรักษ์เสียงดั้งเดิมจากภาษาจีนยุคเก่าได้ดีกว่ามาก ทิ้งให้เห็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์

ถ้าหากว่าสุดท้ายแล้วต้องหายไปหมดเหลือไว้เพียงแค่จีนกลางจริงๆก็เป็นเรื่องน่าเสียดายแย่



อ้างอิง

เรียบเรียงขึ้นจากข้อมูลในวิกิพีเดีย >> https://zh.wikipedia.org


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> ภาษาจีน
-- ประเทศจีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文