φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
เขียนเมื่อ 2018/10/17 07:26
แก้ไขล่าสุด 2024/03/07 06:35
เสริมจากเรื่องหลักการทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่เขียนสรุปไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/lakthapsap_nihongo

เสียง g ในภาษาญี่ปุ่นเวลาที่ทับศัพท์มักจะเจอการเขียนทั้ง "ก" และ "ง" ดังนั้นจึงชวนให้คนสับสนว่าที่จริงแล้วมันอ่านยังไงกันแน่ และเวลาเขียนทับศัพท์ควรจะเขียนแบบไหนกันแน่

ดังนั้นจึงขออธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทความนี้

โดยพื้นฐานแล้ว เสียง g (が、ぎ、ぐ、げ、ご) ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียงได้ ๒ แบบคือ

- เมื่ออยู่พยางค์แรกของคำ ออกเสียงแบบตัว g ในภาษาอังกฤษ (IPA* เป็น /g/) มักทับศัพท์เป็น "ก"

- เมื่อไม่ได้อยู่พยางค์แรกของคำ มักออกเสียงเป็น "ง" (IPA เป็น /ŋ/)

*** IPA = สัทอักษรสากล รายละเอียดอ่านในวิกิพีเดีย



ปรากฏการณ์ที่เสียง g กลายเป็น "ง" ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "บิดากุอง" (鼻濁音びだくおん) แปลตรงๆเป็นไทยว่า "เสียงขุ่นออกจมูก"

อ้างอิง https://ja.wikipedia.org/wiki/鼻濁音

เสียงออกจมูกก็คือเสียงที่เวลาพูดแล้วจะก้องที่จมูก ถ้าปิดจมูกจะออกเสียงไม่ได้ ได้แก่ "ง", "น" และ "ม" ในทางเทคนิคมักถูกเรียกว่า "เสียงนาสิก"

เสียงขุ่น คือเสียงที่เวลาออกแล้วมีการก้องอยู่ภายในปาก ในภาษาญี่ปุ่นคือคำที่เขียนด้วยอักษรที่มีตัว ゛เรียกว่า "ดากุเตง" (濁点だくてん) ได้แก่ がざじだば (g z j d b) ในทางเทคนิคเรียกว่า "เสียงโฆษะ"

ในจำนวนนั้นที่มีในภาษาไทยมีแค่ b = "บ" และ d = "ด" ส่วนนอกนั้นไม่มี คนไทยจึงไม่สามารถออกเสียงให้ชัดได้

ดังนั้นการที่เขียนเสียง g เป็น "ก" เป็นแค่เสียงประมาณใกล้เคียงเท่านั้น ที่เป็นเสียง "ก" จริงๆคือ か (k)

การออกเสียง g ให้พยายามเลียนแบบความสัมพันธ์ระหว่าง "ป" กับ "บ" และ "ต" กับ "ด"

"บ" และ "ด" คือเสียง "ป" และ "ต" ที่ออกเสียงแบบก้อง ในทำนองเดียวกัน g ก็คือ "ก" ที่ออกเสียงแบบก้อง (เช่นเดียวกัน ถ้าออกเสียง "ซ" และ "จ" ให้ก้องก็จะกลายเป็นเสียง z และ j)



"บิดากุอง" (鼻濁音) หรือ "เสียงขุ่นออกจมูก" ในที่นี้จึงหมายถึงการที่เสียง g ซึ่งควรจะเป็นเสียงขุ่น ถูกเปลี่ยนกลายเป็นเสียง "ง" ซึ่งเป็นเสียงออกจมูก

บางครั้งเพื่อแยกให้ชัดว่าต่างจากเสียง g ที่ออกพยางค์แรกซึ่งเขียนด้วย が、ぎ、ぐ、げ、ご ก็มีการใช้อักษร か゚、き゚、く゚、け゚、こ゚ แทนในกรณีที่ออกเสียง "ง" (เปลี่ยน ゛เป็น ゜) แต่การเขียนแบบนี้ใช้ในทางภาษาศาสตร์มากกว่า ไม่ได้ใช้ทั่วไป คีย์บอร์ดทั่วไปก็พิมพ์ไม่ได้ ปกติก็จะเขียนเป็น ゛ตลอด ไม่ว่าจะออกเสียง "ง" หรือไม่ก็ตาม ให้แยกแยะกันเอาเอง

โดยทั่วไปเสียงจะถูกเปลี่ยนเป็น "ง" เมื่อไม่ได้อยู่ในพยางค์แรกของคำ อย่างไรก็ตามขอบเขตการใช้มีความซับซ้อนกว่านั้น บางครั้งไม่ใช่พยางค์แรกก็ไม่ถูกออกเสียงเป็น "ง" เสียงขุ่นออกจมูกนี้เป็นลักษณะการออกเสียงที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ คนญี่ปุ่นเองก็ออกเสียงไปโดยไม่รู้ตัว และในวิชาเรียนภาษาญี่ปุ่นของคนญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้มีการสอนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในส่วนนี้ชัดเจน

ปัญหาซับซ้อนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนที่จะออกเสียง g เป็น "ง" ตามกฎนี้ทุกคน แต่จะมีความต่างไปในแต่ละท้องถิ่น

การเปลี่ยนเสียงเป็น "ง" นี้เป็นลักษณะโดยทั่วไปของภาษาญี่ปุ่นสำเนียงโตเกียว ซึ่งกลายมาเป็นสำเนียงมาตรฐาน ดังนั้นการออกเสียงแบบนี้จึงถือเป็นมาตรฐาน

แต่เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ถูกเน้นในการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นภายในประเทศ ทำให้คนญี่ปุ่นที่อยู่ตามท้องถิ่นบางจังหวัดมองข้ามการออกเสียงในส่วนนี้ และออกเสียง が เป็น g เหมือนในพยางค์แรก หรือออกเสียงกลายเป็นเสียงเสียดแทรกเพดานอ่อนก้อง (IPA คือ /ɣ/)

และคนรุ่นหลังมีแนวโน้มที่จะออกเสียงตามนี้น้อยลงด้วย ฉะนั้นจึงอาจมีบางครั้งที่ได้ยินเสียง が ไม่ได้เป็นเสียง "ง" แม้จะอยู่กลางคำ

หลักการทับศัพท์ในไทยเองก็เลยดิ้นได้ กลายเป็นมีการเขียนทั้ง "ก" และ "ง" แม้จะไม่ได้อยู่พยางค์แรก

เช่น nagoya มีคนเขียนทั้ง "นาโงยะ" และ "นาโกยะ"

แต่บางคำก็ไม่พบว่ามีคนเขียนด้วย "ก" เช่น nagasaki ทุกคนเขียนเป็น "นางาซากิ"

ความนิยมในการเขียนนั้นดูค่อนข้างไม่แน่นอน อาจขึ้นอยู่กับว่าใครเขียนคำนั้นมาก่อนและเริ่มนิยมมาก่อน



อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสำเนียงมาตรฐานโตเกียวออกเสียง g เป็น "ง" เมื่อไม่ได้อยู่พยางค์แรก

ดังนั้นเวลาเขียนทับศัพท์เราก็ควรจะยึดตามนี้เป็นหลัก เขียนเป็น "ง" ให้หมดยกเว้นพยางค์แรกเช่นกัน

อีกทั้งต่อให้เขียนแทนด้วย "ก" ไป นั่นก็ไม่ใช่เสียง g ที่แท้จริง มีแต่จะทำให้สับสนกับ k ซึ่งเป็นเสียง "ก" ที่แท้จริง

คำที่มักถูกเข้าใจผิดได้ง่ายเวลาเขียน g เป็น "ก" เช่น ชื่อจังหวัดต่างๆ

จังหวัด nagano หากเขียนเป็น "นากาโนะ" จะไปซ้ำกับ nakano ซึ่งเป็นชื่อเขตในโตเกียว ดังนั้น nagano ควรเขียนเป็น "นางาโนะ"

จังหวัด saga ควรเขียนเป็น "ซางะ" ถ้าเขียน "ซากะ" จะไปซ้ำกับคำว่า saka ซึ่งแปลว่า "ทางลาดเขา"

จังหวัด shiga ควรเขียนเป็น "ชิงะ" ถ้าเขียน "ชิกะ" จะเป็น shika แปลว่า "กวาง"

ชื่อคนก็ทำให้สับสนได้ เช่นปกติแล้วชื่อคนญี่ปุ่นชื่อที่ลงท้ายด้วย go จะเป็นผู้ชาย แต่ลงท้ายด้วย ko เป็นผู้หญิง

เช่น โชวโงะ (shougo) ยูโงะ (yuugo) เป็นชื่อผู้ชาย แต่ โชวโกะ (shouko) ยูโกะ (yuuko) จะเป็นชื่อผู้หญิง

ถ้า shougo เขียนเป็น "โชวโกะ" หรือ yuugo เขียนเป็น "ยูโกะ" จะฟังดูกลายเป็นผู้หญิงทันที

มังงะเกมกลคนอัจฉริยะ ตัวเอกชื่อ yuugi แปลว่า "เกม" แต่ฉบับแปลไทยถูกเขียนชื่อเป็น "ยูกิ" ทำให้อาจมีคนเข้าใจผิดว่ามาจากคำว่า yuuki ซึ่งแปลว่า "ความกล้า" หรือแม้แต่ yuki ที่แปลว่า "หิมะ"

แต่ถ้าเขียนเป็น "ยูงิ" ไปซะก็จะไม่สับสน (ฉบับอนิเมะพากย์ไทยใช้แบบนี้ แต่ดูเหมือนคนจะคุ้นชินกับชื่อในมังงะแปลมากกว่า)

เคยมีเรื่องเล่าว่ามีคนไทยนั่งรถไฟไปกับคนญี่ปุ่น พอกำลังใกล้จะถึงสถานีที่จะลงก็เลยจะพูดว่า "ทสึงิดะ" (tsugi da) แปลว่า "ต่อไปนะ" (สถานีหน้านะ) แต่ออกเสียงผิดเป็น "สึกิดะ" (suki da) แปลว่า "ชอบนะ" (ฉันชอบเธอ) เลยกลายเป็นคำบอกรักไปแทน



หรือต่อให้ไม่สับสนกับคำอื่นก็ตาม ถ้ายังเขียน g เป็น "ก" อยู่ก็อาจเป็นเหตุให้สะกดผิดได้โดยไม่รู้ตัว

เช่น nagasaki ถ้าเขียนเป็น "นากาซากิ" อาจเข้าใจว่าสะกดว่า nakazaki ได้

สำหรับ s กับ z นั้นยังไงก็ใช้ "ซ" เหมือนกัน จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงความสับสนได้ แต่สำหรับ k กับ g นั้นเราสามารถเขียนเป็น "ก" กับ "ง" เพื่อให้ต่างกันได้ ดังนั้นจึงควรใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์

หรืออย่าง kugimiya ควรเขียน "คุงิมิยะ" ถ้าเขียนเป็น "คุกิมิยะ" อาจเข้าใจว่าเป็น kukimiya ซึ่งคำว่า kuki ก็มีอยู่จริง แปลว่า "ลำต้น" ในขณะที่ชื่อที่ถูกต้องคือ kugi แปลว่า "ตะปู" เป็นคนละคำกัน

ยิ่งไปกว่านั้นหากเขียนเป็น "คูกิมิยะ" อาจเข้าใจว่าเป็น kuukimiya ซึ่งคำว่า kuuki แปลว่า "อากาศ" ก็เป็นคนละคำกันอีก



ยังไงการเขียน g เป็น "ง" ไว้ ไม่มีข้อเสียอะไร ไม่อาจทำให้เกิดความคลุมเครือสับสนได้ ในขณะที่หากเขียนเป็น "ก" อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเลือกใช้ "ก"

ถ้าชินกับการเขียน g เป็น "ก" ไปแล้ว แม้แต่เวลาพูดก็อาจเผลอออกเสียง g เป็น "ก" ไปจริงๆ ซึ่งอาจทำให้คนฟังเข้าใจว่าเป็นเสียง k ได้ หากบริบทเอื้ออำนวยก็สร้างความกำกวมหรือเข้าใจผิดได้เหมือนกัน



อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำอีกครั้งว่าการแปลงเป็นเสียง "ง" จะไม่เกิดขึ้นในพยางค์แรก หาก g อยู่ที่พยางค์แรกจะไม่ออกเสียงเป็น "ง" ดังนั้นจึงเขียนทับศัพท์เป็น "ก"

เช่น gengo เขียน "เกงโงะ"

ทั้งนี้ในกรณีนี้แม้จะเขียน g ด้วย "ก" ก็ไม่ทำให้สับสนกับ k ได้ เพราะเมื่ออยู่พยางค์แรก k จะออกเสียงค่อนไปทาง "ค" มากกว่า "ก" ดังนั้นจึงทับศัพท์เป็น "ค"

โดยทั่วไปถ้าเจอ "ก" อยู่พยางค์แรกจะมาจาก g เสมอ

เพียงแต่ก็มีบางคำที่แม้จะเป็น k อยู่พยางค์แรกแต่ก็มักถูกเขียนเป็น "ก" เช่น "โกโบริ" ชื่อพระเอกนิยายเรื่องคู่กรรม ที่จริงมาจากคำว่า kobori ไม่ใช่ gobori

เพียงแต่กรณีแบบนี้มีน้อยมาก โดยทั่วไปจึงมักไม่มีปัญหา



เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น ขอยกตัวอย่างการเขียนคำอีกจำนวนหนึ่งที่ถ้าหากเขียนหรือออกเสียง g กับ k ผิดก็จะทำให้เข้าใจผิดเป็นคำอื่นได้

加賀 kaga คางะ (นามสกุลคน)
画家 gaka กากะ = จิตรกร

餓鬼   gaki กากิ = เด็กเปรต
柿、牡蠣 kaki คากิ = ลูกพลับ, หอยนางรม
鍵    kagi คางิ = กุญแจ

核  kaku คากุ = แกน
家具 kagu คางุ = เครื่องเรือน
架空 kakuu คากู = ในจินตนาการ

影  kage คาเงะ = เงา
崖  gake กาเกะ = หน้าผา
家系 kakei คาเกย์ = ตระกูล

過去 kako คาโกะ = อดีตกาล
籠  kago คาโงะ = ตะกร้า
加工 kakou คาโกว = แต่งเติม

稽古 keiko เคย์โกะ = ซ้อมการแสดง
敬語 keigo เคย์โงะ = คำสุภาพ

見解 kenkai เคงไก = มุมมองการตัดสินใจ
圏外 kengai เคงไง = นอกเขตสัญญาณ
限界 genkai เกงไก = ขีดจำกัด

ここ koko โคโกะ = ที่นี่
古語 kogo โคโงะ = ภาษาโบราณ
午後 gogo โกโงะ = หลังเที่ยง
口語 kougo โควโงะ = ภาษาพูด
高校 koukou โควโกว = มัธยมปลาย
皇后 kougou โควโงว = ราชินี (ภรรยาหลวงของกษัตริย์, ฮองเฮา)

股間 kokan โคกัง = ระหว่างขา
互換 gokan โกกัง = แลกเปลี่ยน
護岸 gogan โกงัง = แนวปกป้องชายฝั่ง
交換 koukan โควกัง = แลกเปลี่ยน
睾丸 kougan โควงัง = ลูกอัณฑะ
強姦 goukan โกวกัง = ข่มขืน

危険、棄権 kiken คิเกง = อันตราย, สละสิทธิ์
期限、機嫌 kigen คิเงง = เส้นตาย, อารมณ์

帰郷 kikyou คิเกียว = กลับบ้านเกิด
企業 kigyou คิเงียว = การประกอบกิจการ

凶器 kyouki เคียวกิ = อาวุธที่ใช้ก่อเหตุ
競技 kyougi เคียวงิ = กรีฑา
行儀 gyougi เกียวงิ = ท่าทีมารยาท

寄付 kifu คิฟุ = บริจาค
岐阜 gifu กิฟุ (ชื่อจังหวัด)

先  saki ซากิ = เบื้องหน้า, สุดปลาย
詐欺 sagi ซางิ = ต้มตุ๋นหลอกลวง

好き suki สึกิ = ชอบ
杉  sugi สึงิ = ต้นสน
月  tsuki ทสึกิ = พระจันทร์
次  tsugi ทสึงิ = ต่อไป

着く tsuku ทสึกุ = ไปถึง
継ぐ tsugu ทสึงุ = สืบทอด




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> เรียนภาษา
-- ภาษาศาสตร์ >> หลักเกณฑ์การทับศัพท์
-- ภาษาศาสตร์ >> ภาษาญี่ปุ่น

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文