φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เขียนเมื่อ 2019/12/08 22:39
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
บทความนี้จะเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประชาธิปไตย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย

เนื้อหาทั้งหมดเรียบเรียงมาจากหนังสือของญี่ปุ่น 天才美少女生徒会長が教える民主主義のぶっ壊し方 โดยมีการเสริมเนื้อหาบางส่วนจากแหล่งอื่นประกอบไปด้วย

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20191208






ประชาธิปไตยไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว

ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ถูกใช้แพร่หลายที่สุดในโลกยุคปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ

ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าหลักการของประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่อยู่ในสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ คือผู้คนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะมีสิทธิต่างๆเหมือนๆกัน

แต่ว่าโลกในยุคอดีตไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสังคมสมัยก่อนนั้นการแบ่งชนชั้นถือเป็นเรื่องปกติ การที่มนุษย์ไม่เคยจะเท่าเทียมกันนั้นกลับจะเป็นเรื่องปกติในสามัญสำนึกทั่วไปของคนสมัยก่อน

ดังนั้นกว่าจะมาเกิดเป็นระบอบประชาธิปไตยได้นั้นต้องผ่านกระบวนการอะไรมากมาย ผ่านประวัติศาสตร์ยาวนาน

หากศึกษาประวัติศาสตร์จะรู้ว่าสังคมถูกเปลี่ยนผ่านมาเรื่อยๆ จากยุคแรกที่แต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน จนเริ่มรู้สึกถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน

ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้นั้นก็เกิดขึ้นมาจากวิวัฒนาการที่เป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

การศึกษาประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เข้าใจความหมายของประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดีขึ้น รวมถึงมองข้อดีและข้อเสียของระบบให้ออกเพื่อเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต



รากฐานของประชาธิปไตยคือรัฐธรรมนูญ

หากพูดถึงคำว่าประชาธิปไตยแล้ว ส่วนประกอบสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" ดังนั้นก่อนอื่นจึงควรเริ่มอธิบายจากตรงนี้ก่อน

ที่จริงแล้ว ความหมายของรัฐธรรมนูญนั้นอาจสามารถตีความได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าใช้ในบริบทไหน

หากว่ากันตามรากศัพท์แล้ว คำวารัฐธรรมนูญนี้มาจากภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสว่า constitution ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน constitutus โดยมีความหมายเดิมว่า "โครงสร้าง, โครงร่าง, เค้าโครง, สิ่งที่ประกอบขึ้นมา"

เมื่อนำคำนี้มาใช้กับประเทศ จึงควรจะหมายถึง "อะไรบางสิ่งที่บอกถึงโครงสร้าง อุดมคติ แนวทางที่จะก้าวเดินไปของประเทศ"

แต่เดิมทีแล้วสิ่งนี้อาจไม่ต้องอยู่ในรูปของกฎหมาย และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับระบอบประชาธิปไตย เช่นในประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการนั้นอาจถือได้ว่าตัวผู้นำเผด็จการนั่นเองคือรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น มีสิทธิ์ขาดที่จะกำหนดความเป็นไปของประเทศทุกอย่าง

หากอยู่ในรูปของกฎหมาย กฎหมายรัฐธรรมนูญ (constitution law) ก็คือ "กฎหมายสูงสุดของประเทศ" นั่นเอง

นั่นก็หมายความว่าไม่ว่าจะออกกฎหมายอะไรขึ้นมาใหม่ ก็จะขัดกับสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ แม้แต่ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศก็ตาม

หากรัฐธรรมนูญถูกกำหนดไว้แล้ว แล้วพบว่าผู้มีอำนาจในประเทศออกคำสั่งหรือกฎหมายอะไรก็ตามที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประชาชนสามารถหยิบรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นเหตุผลที่ชอบธรรมในการที่จะไม่ทำตามได้

ซึ่งถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจได้เต็มที่โดยขาดการควบคุม จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น "กฎที่ควบคุมจำกัดสิทธิ์ในการบริหารประเทศ"

และหลักประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นโดยมีพื้นฐานมาจากตรงนี้เอง รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาก่อนระบอบประชาธิปไตย และเดิมทีไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับประชาธิปไตยเลย แต่รัฐธรรมนูญเป็นแกนหลักของประชาธิปไตย

ทุกวันนี้สิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญถูกใช้ทั่วไปในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นเพื่อที่จะเข้าใจที่มาของประชาธิปไตย จึงอาจต้องมองย้อนไปถึงที่มาของรัฐธรรมนูญ



กำเนิดรัฐธรรมนูญในยุคกลาง

เรื่องราวของรัฐธรรมนูญนั้นอาจต้องย้อนไปดูอดีตไกลถึงช่วงยุคกลางของยุโรป ซึ่งหมายถึงช่วงศตวรรษที่ 5~15 สมัยนั้นสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายจารีตประเพณี (customary law) เป็นสิ่งที่ถูกใช้เป็นหลักในการปกครอง

หลักนี้มีพื้นฐานมาจากยุคโรมัน ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการตั้งกฎต่างๆขึ้นมามากมายและมีการบันทึกเอาไว้ ดินแดนต่างๆในยุโรปก็หยิบมาใช้เป็นแบบอย่าง

ในยุคกลางท้องถิ่นต่างๆจะมีผู้ปกครองซึ่งครอบครองผืนดินในที่นั้นๆ และมีผู้ที่เป็นศูนย์กลางคอยผูกรวมผู้ปกครองแต่ละท้องถิ่นไว้อีกที นั่นก็คือกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ในยุคแรกๆนั้นไม่ได้มีอำนาจท่วมท้นอะไร เป็นแค่ผู้ที่เป็นเหมือนตัวกลางในการติดต่อระหว่างแต่ละท้องถิ่นในอาณาจักรเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจปกครองท้องถิ่นโดยตรง อีกทั้งบางท้องถิ่นก็อาจขึ้นอยู่กับกษัตริย์มากกว่าหนึ่งประเทศในเวลาเดียวกัน ทำให้ประเทศในสมัยนั้นถือเป็นการรวมตัวแบบหลวมๆเท่านั้น

สิ่งที่มีอำนาจยิ่งกว่ากษัตริย์ในสมัยนั้นก็คือกฎหมายจารีตประเพณี แม้จะเป็นกษัตริย์ก็ต้องปฏิบัติตาม

แต่เวลาผ่านไปกษัตริย์ก็เริ่มสั่งสมอำนาจบารมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มจะเพิกเฉยต่อกฎหมายจารีตประเพณีดั้งเดิม เช่นมีการเรียกภาษีหรือค่าคุ้มครองจากผู้ครองท้องถิ่น จึงทำให้ผู้ครองท้องถิ่นไม่พอใจ

ที่อังกฤษ ได้เกิดจุดแตกหักที่สำคัญขึ้นในปี 1215 กษัตริย์อังกฤษในขณะนั้นคือพระเจ้าจอห์น (King John) ช่วงนั้นมีการทำสงครามกับฝรั่งเศสอยู่เรื่อยๆ จึงมีการเรียกเก็บภาษีจากผู้ครองท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก

เหล่าผู้ครองท้องถิ่นต่างๆก็ไม่พอใจและรวมตัวกันเขียนสิ่งที่เรียกว่า "มหากฎบัตร" หรือชื่อในภาษาละตินว่า "มักนา คาร์ตา" (Magna Carta) ซึ่งเป็นข้อสัญญายาว ๖๓ ข้อขึ้นมา

จากนั้นก็ได้บุกเข้าไปหาพระเจ้าจอห์นเพื่อบังคับให้เซ็นยอมรับข้อสัญญานี้ ไม่เช่นนั้นจะจับประหารทิ้งแล้วหาคนอื่นมาเป็นกษัตริย์แทน พระเจ้าจอห์นจึงจำต้องยอม


มหากฎบัตร

ใจความสำคัญข้อหนึ่งของสัญญานั้นก็คือหากจะมีการตัดสินใจทำการอะไรบางอย่างที่สำคัญเช่นการเรียกเก็บภาษีขึ้นมา กษัตริย์ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองคนเดียวได้ จะต้องมีการเรียกประชุมกับผู้ครองท้องถิ่นต่างๆ เพื่อหารือตกลงกัน

นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครอง เพียงแต่ว่าประชาชนในที่นี้จริงๆแล้วก็คือกลุ่มชนชั้นสูงเช่นผู้ครองท้องถิ่นต่างๆเท่านั้น ซึ่งเป็นแค่สัดส่วนเล็กน้อย ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาก็ไม่ได้มีส่วนอะไรในการปกครอง

อย่างไรก็ตาม มหากฎบัตรที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ได้ถูกคนยุคหลังยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในโลก



การต่อสู้กับแนวคิดเทวสิทธิราชย์

ที่อังกฤษแม้จะเกิดมหากฎบัตรขึ้นมาแล้ว แต่จริงๆก็ไม่ได้มีผลกระทบมากมายอย่างที่ควรจะเป็น และเวลาผ่านไปไม่นานก็กลับถูกลืมเลือนไป

ซ้ำร้าย เวลาผ่านไปกลับกลายเป็นว่าอำนาจของกษัตริย์กลับเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุมาจากการที่ศาสนาคริตส์มีอิทธิพลอย่างมากในยุคนั้น สิ่งที่ถูกเขียนในคัมภีร์ไบเบิลถูกนำมาเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญ

แต่คัมภีร์ไบเบิลถูกเขียนด้วยภาษาละติน ซึ่งคนทั่วไปอ่านไม่ออก ทำให้คนส่วนใหญ่ยากที่จะเข้าถึงได้ ได้แต่รับรู้ผ่านนักบวชหรือผู้มีความรู้เท่านั้น

สิ่งที่เขียนในพระคัมภีร์นั้นมีหลายส่วนที่คลุมเครือ แล้วแต่คนจะตีความ มีใจความส่วนหนึ่งที่สามารถตีความไปในทางที่สนับสนุนแนวคิดเทวสิทธิราชย์ (divine right) ซึ่งถือว่ากษัตริย์คือสมมติเทพ ได้รับมอบอำนาจมาจากพระเจ้า มีอำนาจล้นพ้น และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายใดๆ นั่นก็คือระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์

อย่างไรก็ตาม ปี 1517 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในยุโรป คือการปฏิรูปศาสนาคริสต์ครั้งใหญ่โดยมาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther, ปี 1483~1546) ในเยอรมนี

ลูเทอร์มองว่านักบวชและผู้ปกครองใช้อำนาจจากศาสนาในทางที่ผิด เขาจึงทำการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาเยอรมันให้คนทั่วไปอ่านได้และเผยแพร่

ช่วงนั้นประจวบเหมาะกับที่เพิ่งเกิดเทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นโดยโยฮันเนิส กูเทินแบร์ค (Johannes Gutenberg, ปี 1400~1468) และเริ่มเป็นที่แพร่หลาย คัมภีร์แปลของลูเทอร์จึงได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างรวดเร็ว คนทั่วไปได้เข้าใจความจริงต่างๆในพระคัมภีร์ซึ่งถูกบิดเบือนไป หลังจากนั้นคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (protestant) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

ทางด้านอังกฤษนั้นตั้งแต่ปี 1625 ก็ได้เข้าสู่ยุคของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 (Charles I, ปี 1600~1649) ช่วงนั้นได้มีนักปรัชญาชื่อรอเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Robert Filmer, 1588~1653) ตีพิมพ์แนวคิดซึ่งสนับสนุนเทวสิทธิราชย์ให้กษัตริย์มีอำนาจล้นพ้น

แต่ทว่าในตอนนั้นนิกายโปรเตสแตนต์ได้แพร่เข้ามาถึงอังกฤษแล้ว ทำให้เกิดกลุ่มชาวคริสต์โปรเตสแตนต์กลุ่มใหญ่ในอังกฤษ เรียกว่ากลุ่มพิวริตัน (Puritan) พวกเขาต่อต้านแนวคิดเทวสิทธิราชย์ของฟิลเมอร์ และความขัดแย้งนี้ได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองอังกฤษขึ้นในปี 1642 แล้วในที่สุดพวกพิวริตันก็ทำรัฐประหารได้สำเร็จ


ภาพวาดแสดงสภาพสงครามภายในระหว่างยุทธการที่เนสบี

ในครั้งนี้ มหากฎบัตรซึ่งถูกทำสัญญาขึ้นมาเมื่อ 400 กว่าปีแล้วเคยถูกลืมเลือนไป ก็ได้เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาใช้สนับสนุนฝั่งพิวริตัน โอยอ้างว่าพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ได้ทำผิดข้อตกลงในสัญญา ในที่สุดพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ก็ถูกล้มและถูกประหารในปี 1649

แม้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะยังไม่ได้เปลี่ยนถ่ายไปสู่ประชาธิปไตย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มหากฎบัตรซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญได้มีการให้บทลงโทษต่อกษัตริย์ที่ละเมิดข้อตกลงจริงๆ เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นผู้มีอำนาจแค่ไหนก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ



สัญญาประชาคมสำหรับโลกในอุดมคติ

แม้ว่ากลุ่มพิวริตันจะล้มพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ได้สำเร็จ แต่ความวุ่นวายก็ยังไม่จบ การปกครองไม่มีเสถียรภาพ เกิดรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีกจนในที่สุดปี 1660 กลุ่มที่สนับสนุนกษัตริย์ก็ชนะ พระเจ้าชาลส์ที่ 2 (Charles II, ปี 1630~1685) ซึ่งเป็นลูกของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ได้มาขึ้นครองราชย์ ทำให้อังกฤษกลับมาปกครองในระบบเดิมต่ออีก

สาเหตุหนึ่งมาจากการที่งานเขียนของฟิลเมอร์ที่สนับสนุนเทวสิทธิราชย์นั้นยังคงมีอิทธิพลอยู่มากในอังกฤษ และได้ถูกฝั่งสนับสนุนกษัตริย์นำมาใช้

ส่วนทางฝรั่งเศสช่วงนั้นก็เข้าสู่ยุคที่ปกครองโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV, ปี 1638~1715) ซึ่งปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสมบูรณ์ไปแล้ว

ถึงกระนั้นแนวคิดสนับสนุนอำนาจกษัตริย์ในอังกฤษก็อ่อนแอลงมาก และในช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่มีการปะทะกันทางแนวคิดและปรัชญาอยู่เรื่อยๆในยุโรป

บุคคลที่มีความสำคัญที่สุดคนหนึ่งคือนักปรัชญาชาวอังกฤษ จอห์น ล็อก (John Locke, ปี 1632~1704) ได้พยายามตีพิมพ์งานซึ่งวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของฟิลเมอร์ จนถูกกลุ่มสนับสนุนกษัตริย์หมายหัว จนต้องลี้ภัยหนีออกจากอังกฤษ


จอห์น ล็อก

ช่วงนั้นอังกฤษได้เกิดสงครามกับฮอลันดาขึ้น และนำไปสู่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ปี 1688 กลุ่มปฏิวัติได้ตั้งพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 (William III) ขึ้นครองราชย์แทนและเป็นกษัตริย์ภายใต้สัญญาที่เรียกว่า "ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง" (Bill of Rights) ซึ่งถือรากฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญในอังกฤษ

แม้จะมีรัฐธรรมนูญแล้ว และจำกัดสิทธิ์การบริหารของกษัตริย์แล้ว แต่ก็แค่เปลี่ยนถ่ายอำนาจไปยังเหล่าขุนนางซึ่งเป็นชนชั้นปกครองที่เป็นส่วนน้อยของประเทศ จึงยังไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แค่ถือว่าใกล้เข้ามาอีกก้าว

และสิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นก็คือเรื่องแนวคิดที่เกิดขึ้นมาใหม่ และได้มีอิทธิพลต่อการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แนวคิดหนึ่งที่มีความสำคัญ "สัญญาประชาคม" (social contract) ซึ่งว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน แนวคิดนี้หักล้างหลักการของเทวสิทธิราชย์

แนวคิดสัญญาประชาคมนี้ได้ถูกเสนอขึ้นโดยนักปรัชญาหลายคน มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่โดยรวมแล้วที่เหมือนกันก็คือเริ่มจากอธิบายว่าสังคมของมนุษย์ควรเกิดขึ้นมาจากการที่คนในสังคมทำสัญญาอะไรบางอย่างร่วมกัน ต้องมีการกำหนดว่าใครจะมีหน้าที่อะไรและจะได้สิทธิอะไรตอบแทน แทนที่จะปล่อยให้มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ตามอำเภอใจโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ

แนวคิดของล็อกก็อยู่บนพื้นฐานของสัญญาประชาคม ในปี 1689 เขาได้เดินทางกลับอังกฤษและตีพิมพ์หนังสือ "ศาสตร์นิพนธ์สองบรรพว่าด้วยการปกครอง" (Two Treaties of Government) ซึ่งรวบรวมแนวคิดของเขาไว้ เป็นผลงานสำคัญซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองทั่วโลกหลังจากนั้น

เนื้อหาแบ่งเป็น ๒​ ส่วน ส่วนแรกอธิบายหักล้างแนวคิดเทวสิทธิราชโดยเด็ดขาด และส่วนที่สองว่าด้วยสัญญาประชาคมในแบบของเขา ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่าการปกครองที่จะมาแทนควรเป็นอย่างไร

แนวความคิดของเขาว่าด้วยเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ (ius naturale) ของมนุษย์ โดยบอกว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการอิสระไม่ต้องการถูกใครสั่ง อยากมีสิทธิ์ในการทำอะไรกับตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองครอบครอง และควรจะเท่าเทียมกัน

เมื่อมนุษย์อยากได้ของอะไรของคนอื่นก็ควรจะทำอะไรให้เป็นการตอบแทน และมนุษย์ก็มีความรู้สึกที่อยากได้ความรัก จึงต้องพยายามทำให้คนอื่นรักเราด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ามนุษย์จะสามารถทำอะไรได้อย่างอิสระโดยสมบูรณ์ เพราะมนุษย์ต่างก็มีสิ่งที่ต้องการเหมือนกัน คือต้องการปกป้องชีวิต สุขภาพ อิสระ หรือทรัพย์สินของตัวเอง ดังนั้นจึงไม่ควรจะทำลายสิ่งเหล่านี้ของคนอื่นเช่นกัน

ซึ่งที่จริงแล้วนี่เป็นพื้นฐานของสิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกกันว่าหลักสิทธิมนุษยชนนั่นเอง นี่เป็นพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อนำไปสู่การเกิดประชาธิปไตย



สิทธิมนุษยชนมาจากไหน

พูดถึงสิทธิมนุษยชนแล้ว สำหรับคนในยุคเราคงถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับสมัยนั้นคนทั่วไปยังมีแนวคิดแตกต่างกันไป

อาจมองได้ว่าแนวความคิดเรื่องนี้ก็เหมือนกับศาสนา คือมีคนคิดขึ้นแล้วก็เผยแพร่สู่คนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันแนวความคิดนี้ประสบความสำเร็จในการครอบงำความคิดของคนส่วนใหญ่ในโลก จึงทำให้เรารู้สึกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องธรรมดาที่อยู่ในสามัญสำนึกนั่นเอง

จึงถือว่าคนที่วางรากฐานความคิดของคนรุ่นหลังก็คือนักคิดนักปรัชญาสมัยก่อน และแนวคิดของล็อกนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมาก

แต่ว่าแนวคิดนี้ของล็อกนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาคริสต์ กล่าวคือพระเจ้าเป็นผู้กำหนดให้ทุกอย่างเป็นแบบนี้ ซึ่งสำหรับคนยุโรปสมัยนั้นแล้วนี่เป็นแนวคิดที่ได้ผลดี เพราะส่วนใหญ่นับถือคริสต์และเชื่อในพระเจ้า

อิทธิพลตรงนี้ได้แสดงให้เห็นในรัฐธรรมนูญของประเทศตะวันตก และบางแห่งยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน แต่เมื่อแนวคิดถูกเผยแพร่มาสู่ประเทศทางเอเชียซึ่งไม่ได้นับถือคริสต์ เช่นญี่ปุ่น กลับไม่พบเนื้อหาที่พูดถึงพระเจ้า แต่ใจความเรื่องสิทธิมนุษยชนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ปัญหาคือการที่ในยุคเริ่มแรกมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้มีปัญหาที่ว่าสิทธิมนุษยชนนี้ควรจะให้แก่ใครบ้าง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกาศเอกราชและก่อตั้งขึ้นในปี 1776 เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาในยุคนั้นยังคงมีการใช้งานทาสซึ่งเป็นคนดำ และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงอย่างโหดร้าย

แม้สหรัฐอเมริกาจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกซึ่งใช้ระบอบประชาธิปไตย และประกาศไว้ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน แต่สิทธิ์นี้ไม่รวมคนดำซึ่งเป็นทาสและชนเผ่าพื้นเมือง พวกเขาไม่ถูกมองว่าเป็นคนเหมือนกัน

ซึ่งตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนในยุคแรกนั้นถูกนำมาใช้แบบไม่เต็มที่ ทั้งๆที่ในอุดมคติตามความคิดของล็อกบอกว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันควรจะเท่าเทียมกัน



ธรรมชาติของมนุษย์อาจก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม

แนวคิดของล็อกนั้นถือว่าเป็นสังคมแบบโลกสวย แต่ว่านั่นอาจเป็นเพียงอุดมคติซึ่งคิดขึ้นมาเองเท่านั้น

มีตัวอย่างแนวคิดที่สำคัญอีกอันหนึ่งซึ่งถูกเผยแพร่มาก่อนของล็อกไม่นานก็คือแนวคิดสัญญาประชาคมของทอมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes, 1588~1679) นักปรัชญาชาวอังกฤษ เขาได้ตีพิมพ์ขึ้นในปี 1651


ทอมัส ฮ็อบส์

แนวคิดของเขาก็ว่าด้วยเรื่องสัญญาประชาคม คือมีการกล่าวถึงสภาพโดยธรรมชาติของมนุษย์ และดูเหมือนจะเริ่มต้นจากหลักความคิดคล้ายกันกับของล็อก แต่กลับมีหลายสิ่งตรงกันข้ามกัน และนำไปสู่ข้อสรุปที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงมักถูกนำมาเปรียบเทียบกัน

สภาพตามธรรมชาติของมนุษย์ในความคิดของฮ็อบส์ก็คือ มนุษย์มีความต้องการและความอยากเอาตัวรอด จึงคิดอยากช่วงชิงของหรือทรัพย์สินจากคนอื่น ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากถูกใครแย่งของตัวเองไปด้วยจึงต้องชิงลงมือก่อน

และหากถึงขั้นต้องสู้กันขึ้นมา ไม่ว่าใครก็ไม่อยากตาย จึงต้องฆ่าอีกฝ่ายให้ได้ก่อนที่จะถูกฆ่าซะเอง ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติ มีแต่จะต่อสู้แย่งชิงกัน เกิดเป็นโศกนาฏกรรม

ฮ็อบส์ได้ตั้งชื่อสังคมแบบนี้ว่า "เลวีอาธาน" (Leviathan) ซึ่งเป็นชื่อของอสูรแห่งความสับสนวุ่นวายในตำนานที่ปรากฏในพระคัมภีร์โบราณ


เลวีอาธาน จากเกม FFVII

และเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพื่อที่จะสามารถอยู่ได้อย่างสันติสุข จึงต้องมีการทำสัญญากันเพื่อที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันในสังคม โดยมีอำนาจอะไรบางอย่างที่ทำให้คนเกรงกลัวแล้วไม่กล้าขัดขืน และต้องมีบทลงโทษที่ปฏิบัติได้จริง

แต่เพื่อการนั้นจำเป็นจะต้องมีผู้ที่มีอำนาจตัดสินว่าใครทำผิด ซึ่งตรงนี้เขามองว่าระบบที่ดีที่สุดก็คือการที่มีผู้ถือสิทธิ์สูงสุดอย่างเพียงคนเดียว ซึ่งก็คือระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์

สรุปก็คือแนวคิดของฮ็อบส์นั้นเป็นการมองมนุษย์ในแง่ที่เลวร้าย ซึ่งตรงกันข้ามกับของล็อกโดนสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ล็อกเป็นฝ่ายตีพิมพ์แนวคิดภายหลัง เขาได้อ่านแนวคิดของฮ็อบส์ก่อน และถือว่างานเขียนของเขาก็มีส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของฮ็อบส์ โดยเขาหักล้างแนวคิดนี้ด้วยการมองโลกในแง่ดี

ล็อกมองว่าไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจบังคับเด็ดขาดมนุษย์ก็รู้จักที่จะรักษากฎเองได้ ต่างจากฮ็อบส์ที่ไม่คิดว่ามนุษย์จะสามารถรักษากฎเองได้หากไม่มีผู้ที่มีอำนาจคอยพิพากษา



เรื่องของทรัพย์สินและแรงงาน

นอกจากเรื่องธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิดของล็อกและฮ็อบส์ได้ผลสรุปออกมาต่างกันอีกอย่างก็คือแนวคิดในเรื่องของทรัพย์สิน

ตามแนวคิดของฮ็อบส์แล้ว เมื่อมนุษย์มีสิ่งที่อยากได้เหมือนกัน และทรัพยากรก็มีอยู่อย่างจำกัด ถ้าใครได้มาก อีกคนก็ต้องได้น้อย จึงจำเป็นต้องแก่งแย่งกัน

ที่มองแบบนี้ก็เพราะว่าในสมัยนั้นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือที่ดิน ซึ่งที่ดินบนโลกเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเห็นได้ชัด ไม่สามารถเพิ่มขึ้นมาใหม่ได้ อีกทั้งสมัยนั้นผลผลิตที่ได้ในพื้นที่ใดๆจะถือว่าเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินนั้นทั้งหมด การมีที่ดินจึงมีค่ามาก และประชาชนชั้นล่างซึ่งไม่มีที่ดินจึงไม่มีสิทธิ์อะไรมาก

ในขณะที่ล็อกกลับมองว่า "แรงงาน" เป็นต้นทุนที่สำคัญของมนุษย์ มีค่ายิ่งกว่าที่ดิน มนุษย์ที่ใช้แรงของตัวเองในการทำงานจะมีสิทธิ์ในการถือครอง

เช่นถ้าเราล่าหมูป่าได้แล้วเอามาแล่เนื้อ ก็ถือว่าเราได้ออกแรงแล้ว จึงมิสิทธิ์ที่จะครอบครองเนื้อที่ได้ หรือชาวนาที่ทำเกษตร ได้ทำการปลูกพืชและดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนั้นผลผลิตได้จึงควรเป็นของชาวนา

สำหรับคนยุคเราอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่จริงล็อกเป็นคนแรกที่พูดถึงคุณค่าของแรงงานในลักษณะนี้ขึ้นมา มองว่าแรงงานเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าที่ดิน

มนุษย์ยิ่งทำงานก็จะยิ่งได้สิ่งตอบแทน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้กำลังต่อสู้แย่งชิงกัน แค่ตั้งใจทำงานก็ได้ และงานในที่นี้ก็มีอยู่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ล่าสัตว์หรือปลูกพืชซึ่งทำเพื่อดำรงชีวิต เมื่อสังคมมีความมั่งคั่งแล้วมนุษย์ก็จะแสวงหาความสนุกในชีวิต สิ่งที่ทำให้คนมีความสุขได้ก็ล้วนมีค่าทั้งสิ้น

และมนุษย์ก็มีพลังที่จะสามารถคิดอะไรใหม่ๆขึ้นมาได้เรื่อยๆ ดังนั้นทรัพย์สินที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้นจึงยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆได้อย่างไม่จำกัด

แนวความคิดนี้อาจดูเลื่อนลอยในสมัยนั้น แต่เวลาผ่านไปก็เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขึ้น ซึ่งช่วยกระตุ้นให้แนวคิดของล็อกเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น



ทำไมทุกคนจึงควรมีสิทธิ์ออกเสียงเท่าเทียมกัน

นอกจากฮ็อบส์จะมีมองว่ามนุษย์โดยธรรมชาติแล้วจะต้องต่อสู้กัน ก็ยังมองว่ามนุษย์แต่ละคนความสามารถไม่ได้ต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัดมาก หมายความว่าคนที่อ่อนแอที่สุดก็สามารถฆ่าคนที่แข็งแกร่งได้ อาจจะด้วยการวางแผน หรือการรวมหัวกัน

ดังนั้นหากมีความขัดแย้งกันระหว่าง ๒ ฝ่ายขึ้น โดยทั่วไปแล้วฝ่ายที่มีจำนวนมากกว่าก็มักจะได้เปรียบ หากเกิดเหตุการณ์ที่ความเห็นไม่ลงตัวกันแล้วตัดสินใจตามความเห็นของฝ่ายที่น้อยกว่า ฝ่ายที่มากกว่าก็จะสามารถต่อต้านด้วยการต่อสู้ เพราะถือว่าคนมากได้เปรียบ สุดท้ายก็ชนะด้วยกำลังอยู่ดี ในขณะที่ถ้ายอมตามคนหมู่มาก ทางฝ่ายที่คนน้อยกว่าถึงจะไม่พอใจก็ไม่อาจขัดขืนอะไรได้

นี่จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าเราจำเป็นจะต้องให้สิทธิ์กับทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในฐานะไหนก็ตาม ทำให้นำไปสู่ระบบเลือกตั้งที่ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียง ๑ เสียงอย่างเท่าเทียมกัน

ประเทศอังกฤษหลังจากผ่านการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ปี 1688 ไปแล้ว ก็ค่อยๆวิวัฒนาการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยทีละน้อย เริ่มมีการเลือกตั้ง แม้ตอนแรกจะให้สิทธิ์แค่คนระดับสูง และเฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่ว่าของเขตของคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดแล้วก็ครอบคลุมคนทั้งประเทศ

แต่ยังไงก็ยังมีข้อยกเว้น นั่นคือเด็กที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์เลือกตั้ง เพราะถือว่ายังอาจไม่มีวิจารณญาณที่ดีพอ ทุกประเทศเป็นเช่นนี้เหมือนกัน จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีประเทศไหนให้สิทธิ์เด็กเลือกตั้ง

แต่จริงๆแล้วคนที่ไม่มีวิจารณญาณดีพออาจจะไม่ใช่แค่เด็ก เพราะประชาชนส่วนมากเองก็ไม่ใช่ว่าจะมีความรู้ การให้คนที่ไม่มีความรู้ได้เลือกตั้งอาจนำไปสู่การปกครองโดยคนโง่ได้ นี่จึงเป็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกพูดถึงกันมากเช่นกัน



เสียงของคนส่วนน้อยที่ถูกละเลย

อีกปัญหาหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่มักถูกกล่าวถึงกันมากก็คือ เมื่อมีการออกเสียงเพื่อโหวตเลือกอะไรก็ตาม ความเห็นฝ่ายที่มีจำนวนมากก็จะถูกเลือก และความเห็นของฝ่ายส่วนน้อยก็จะถูกเพิกเฉยไปเลยทันที จึงถูกมองว่านี่เป็นระบอบเผด็จการโดยคนหมู่มาก และทอดทิ้งคนส่วนน้อย

อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่าการจะให้ทุกคนเห็นพ้องตรงกันหมดนั้นเป็นไปได้ยาก จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องยอมสละส่วนน้อย ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจทำอะไรได้

ตัวอย่างที่น่าสนใจที่น่าพูดถึงในเรื่องนี้ก็คือประเทศโปแลนด์ ในอดีตประเทศโปแลนด์เคยมีการประชุมที่มีกฎว่าทุกคนต้องเห็นด้วยไม่เช่นนั้นจะไม่ตัดสินใจทำอะไร คือสมัยที่ก่อตั้งเป็นราชอาณาจักรโปแลนด์ (Królestwo Polskie) และต่อมารวมกับลิทัวเนีย กลายเป็น เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย (Królestwo Polskie i Wielkie Księstwo Litewskie) ถือเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในยุคนั้น


เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ปี 1648 แสดงเป็นพื้นที่สีชมพู ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางซึ่งรวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของยูเครน

สมัยนั้นโปแลนด์ปกครองแบบสาธารณรัฐ เวลาจะตัดสินใจอะไรจะเรียกขุนนางของแต่ละท้องที่มาประชุม โดยมีหลักการว่าถ้ามีแม้แต่คนเดียวที่ไม่เห็นด้วยก็จะไม่ตัดสิน

ปรากฏว่าระบบนี้ใช้งานได้ดี อย่างน้อยก็ตลอดช่วงที่ราชวงศ์ยาเกียลลอน (Dynastia Jagiellonów, ปี 1386~1572) ปกครองโปแลนด์อยู่ แต่นั่นเป็นเพราะโดยธรรมเนียมแล้วเมื่อมีคนที่แสดงความเห็นด้วยมากเกินครึ่ง คนที่เหลือก็จะเกรงใจและไม่กล้าค้านอะไร ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วจึงไม่ต่างจากระบบเสียงข้างมาก

แต่พอถึงปลายศตวรรษที่ 16 ปัญหาของระบบนี้ก็เริ่มแสดงออกมาให้เห็น การที่หากมีคนไม่เห็นด้วยแค่คนเดียวก็ตัดสินใจทำอะไรไม่ได้ นั่นก็หมายความว่าถ้าหากสามารถเตี๊ยมกับผู้มีสิทธิ์ร่วมประชุมได้แม้แต่คนเดียวให้เขาช่วยออกความเห็นคัดค้านหัวชนฝา สภาก็จะตัดสินอะไรไม่ได้ทันที

แล้วเหตุการณ์เช่นนั้นก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ ทำให้ระบบบริหารของโปแลนด์เป็นอัมพาต มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายในยุคหลัง ถูกแทรกแซงจากประเทศรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด

นี่จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ยอมสละเสียงส่วนน้อยเลยก็จะเป็นปัญหากับส่วนรวม ดังนั้นประชาธิปไตยจึงต้องตัดสินโดยคนส่วนมาก และต้องยอมละเลยคนส่วนน้อยไป



การเมืองที่ไม่มีการใช้กำลังแย่งชิงอำนาจ

โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ทุกคนก็รักตัวกลัวตาย แต่ในขณะเดียวกันก็รักอิสระด้วย บางครั้งต่อให้รู้ว่าขัดขืนแล้วอาจต้องเสี่ยงตาย แต่เพื่อให้ได้อิสระแล้วก็ยอมเสี่ยง

ดังนั้นการผูกมัดผู้คนด้วยกำลังอำนาจ ไม่อาจทำให้ผู้มีอำนาจปลอดภัยแน่นอน มนุษย์ที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเมื่อจนตรอกมากๆก็อาจลุกฮือขึ้นใช้กำลัง ล้มล้างรัฐบาลได้ ตายเป็นตาย ดีกว่าต้องอยู่ต่อไปแบบไม่มีอิสระ

แต่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ผู้นำมาจากการเลือกของประชาชน ผู้ปกครองจึงต้องเห็นแก่ประชาชน และหากประชาชนไม่พอใจก็สามารถเปลี่ยนรัฐบาลใหม่หมดได้ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ไม่จำเป็นจะต้องลุกฮือออกมาใช้กำลังต่อต้าน ดังนั้นจึงทำให้บ้านเมืองยังคงอยู่ในความสงบได้ แม้จะขัดแย้งก็แย้งกันด้วยการโต้เถียงกัน ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

นี่เป็นข้อดีที่เด่นชัดของประชาธิปไตย ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ที่มนุษย์ทุกคนต่างต้องการสันติสุข ยิ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยดูจะเป็นตัวเลือกที่ลงตัว



ประชาธิปไตยก็เหมือนกับศาสนา

ข้อดีของระบอบประชาธิปไตยดังที่กล่าวมาก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เป็นระบอบที่ใช้กันแพร่หลาย แต่เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือความกระตือรือร้นในการเผยแพร่ระบอบการปกครอง เช่นเดียวกับศาสนาคริสต์ในสมัยก่อน

มูลเหตุสำคัญเร่ิมมาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ปี 1914~1918) ช่วงแรกๆเป็นสงครามระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลางที่ประกอบไปด้วยเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ออตโตมัน (ตุรกี) และฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ส่วนสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าร่วมกับฝ่ายไหนแต่วางตัวเป็นกลาง

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นคือ วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson, ปี 1856~1924) ตอนนั้นได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพราะนโยบาลที่จะวางตัวเป็นกลาง ไม่ให้ประชาชนต้องทำสงครามโดยไม่จำเป็น

อีกทั้งแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีพื้นเพมาจากคนอังกฤษเป็นหลัก แต่ก็มีผู้อพยพที่เป็นชาวเยอรมันอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะประกาศสงครามกับฝ่ายไหนก็คงมีประชาชนที่ไม่อาจทำใจยอมรับได้

แต่หลังจากที่รัสเซียถอนตัวออกจากฝ่ายสัมพันธมิตรไปกลางคันในปี 1917 ทำให้เหลือแค่อังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นหลัก และทั้งคู่ต่างก็เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่อีกฝ่ายเป็นประเทศจักรวรรดิที่ปกครองด้วยระบบกษัตริย์

วิลสันมองว่าถ้าสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วยนี่ก็จะกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศประชาธิปไตยกับประเทศจักรวรรดิโลกเก่า จึงใช้เป็นเหตุผลในการเกลี้ยกล่อมให้ประชาชนยอมรับที่จะเข้าร่วมสงคราม ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี

ในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมสงครามในช่วงท้าย แล้วฝ่ายสัมพันธมิตรก็ชนะสงครามได้สำเร็จ จักรวรรดิต่างๆก็ล่มสลาย

วิลสันเองก็เป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัดด้วย และธรรมชาติของชาวคริสต์คือชอบเผยแพร่แนวคิดของตัวเองโดยมองว่าเป็นหน้าที่ที่พระเจ้ามอบให้ เมื่อเห็นว่านโยบายสนับสนุนประชาธิปไตยนั้นได้ผลดี จึงทำให้แนวทางของสหรัฐอเมริกาหลังจากนั้นกลายเป็นความพยายามที่จะเข้าแทรกแทรงเพื่อเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตย

นโยบายนี้เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาต้องเข้าร่วมสงครามอีกหลายครั้ง อย่างเช่นการตัดสินใจทำสงครามกับอิรักและอัฟกานิสถานในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็มีเรื่องการเผยแพร่ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้าง

เนื่องจากการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบที่ใช้ทั่วไป แล้วตอนนี้ความคิดที่ว่าต้องระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นจึงจะดีก็ครอบงำความคิดของคนจำนวนมาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศเยอรมนี ซึ่งในอดีตมีบาดแผลจากการปกครองโดยนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาก่อน รัฐธรรมนูญของเยอรมนีได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามแสดงความเห็นที่เป็นการทำลายประชาธิปไตย และกำหนดไว้ว่าเยอรมนีจะต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยต่อไปตลาดกาล ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้

ฉะนั้นแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยจึงถูกมองได้ว่าเป็นศาสนาแบบหนึ่ง ทั้งสามารถสร้างข้อผูกมัด สร้างศรัทธาอันแรงกล้า ทั้งสามารถเข้าไปอยู่ในสามัญสำนึกของผู้คน

อย่างไรก็ตาม ศาสนาและความเชื่อเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย คงไม่อาจบอกได้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะเป็นกระแสหลักไปตลอด

สังคมมนุษย์เดินมาถูกทางแล้วหรือเปล่า คงยากที่จะตอบได้ ได้แต่ปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย





-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ปรัชญา
-- ประวัติศาสตร์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文