φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
เขียนเมื่อ 2013/05/29 12:07
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#3-7 พ.ค. 2013

เมื่อช่วงวันที่ 3-7 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาเยี่ยมชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง (兴隆观测基地, ซิงหลงกวานเช่อจีตี้) มา

เนื่องจากเทอมนี้ลงเรียนวิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ (实测天体物理, สือเช่อเทียนถี่อู้หลี่) ในวิชามีให้ไปชมหอดูดาวด้วย เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหา ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสดี เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีโอกาสได้ไปชมหอดูดาวตามต่างจังหวัดที่ไหนเลย

ฐานสังเกตการณ์ซิงหลงตั้งอยู่บนเขายานซาน (燕山) อำเภอซิงหลง (兴隆) จังหวัดเฉิงเต่อ (承德) มณฑลเหอเป่ย์ (河北省) ความสูงจากระดับน้ำทะเล 960 เมตร ละติจูด 40°23′39″เหนือ ลองติจูด 117°34′30″ ตะวันออก อยู่ห่างจากปักกิ่งไปร้อยกว่ากิโลเมตร

ในบริเวณฐานสังเกตการณ์นี้มีหอดูดาวอยู่หลายแห่งซึ่งมีกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆอยู่ กล้องที่ใหญ่ที่สุดคือกล้อง LAMOST ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนตอนนี้ และยังมีหน้าตาประหลาดไม่เหมือนกับกล้องโทรทรรศน์ทั่วไปที่อื่น จึงเป็นจุดสนใจที่สำคัญของที่นี่



เป้าหมายของการไปครั้งนี้คือไปเยี่ยมชมและศึกษาดูการทำงานในหอดูดาว โดยไปทั้งหมด ๕ วัน ๔ คืน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ถึงวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2013

การเดินทางไปนั้นต้องไปนั่งรถจากหอดูดาวแห่งชาติ (国家天文台, กั๋วเจียเทียนเหวินไถ) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามกีฬารังนก ที่นี่มีรถที่จะพาไปยังฐานสังเกตการณ์ซิงหลงได้สัปดาห์ละสองรอบ คือวันอังคารกับวันศุกร์ โดยคนที่ไปแต่ละคนก็มีทั้งพวกนักวิจัย อาจารย์ และนักเรียนนักศึกษาผู้สนใจที่จะไปเข้าชมหอดูดาว



รถเที่ยวนี้เนื่องจากมีกลุ่มนักศึกษาอย่างพวกเราไปด้วยเป็นกลุ่มใหญ่ก็เลยนั่งกันจนเกือบเต็มเลย เหลือที่นั่งอยู่แค่ที่เดียว



การเดินทางใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่ง รถออก 8 โมงครึ่ง และถึงตอน 11 โมง

ตอนที่ขึ้นรถไปใหม่ๆช่วงแรกไม่นานเราก็หลับไปเลย แต่พอใกล้ถึงก็ตื่นขึ้นมาชมทิวทัศน์ข้างทาง ช่วงนี้พอดีเป็นฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้มากมายกำลังบาน ก็เลยถ่ายภาพจากบนรถระหว่างทางมากมาย



 

ระหว่างทางตอนที่เข้าเขตอำเภอซิงหลงแล้วเจอซากกำแพงเมืองจีนด้วย เห็นอยู่เพียงแค่สั้นๆแถมผุฟังไปมา แต่ยังไงก็คือกำแพงเมืองจีนไม่ผิดแน่



เสียดายที่ถ่ายจากบนรถ แม้จะซูมเข้าไปก็เห็นภาพได้ไม่ค่อยชัด



ผ่านตัวเมืองซิงหลง ดูแล้วเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ค่อยมีอะไร แต่ก็มีตึกสูงอยู่บ้างประปราย







เส้นทางต้องขึ้นไปบนเขาเรื่อยๆ



จากด้านล่างเราก็เริ่มเห็นตัวฐานสังเกตการณ์ซึ่งอยู่ด้านบนแล้ว มีเสาแทงก์น้ำสีแดงเป็นจุดเด่น



ระหว่างทางก็เป็นทางขึ้นเขาไปเรื่อยๆ พอจะเห็นทิวทัศน์สวยบ้าง




แล้วเราก็มาถึงที่หมายแล้ว



มาถึงเราก็เข้าไปที่ห้องพักกันก่อนเลย ที่นี่มีห้องพักสำหรับคนที่มาเยือน เป็นอาคารรูปร่างแปลกๆอย่างที่เห็น ห้องพักก็ไม่เลว ข้างในเหมือนโรงแรม ถ้าเอาคอมมาสามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ด้วย



โรงอาหารอยู่ภายในอาคารนี้เลย ทุกคนที่ทำงานอยู่ที่นี่ต้องมากินที่นี่กันหมด โดยจะเปิดแค่ตอนเช้า กลางวัน เย็น ตามเวลาอาหาร ถึงเวลาอาหารคนจะมารอกันเต็ม ต้องต่อแถวคิวสักพัก ถ้ามาช้าอาหารก็หมด หน้าตาอาหารก็ประมาณนี้ รสชาติก็พอใช้ได้ แล้วแต่อารมณ์คนเตรียมอาหารในแต่ละวัน ราคาก็ไม่แพงมาก ถ้าเป็นมื้อเช้าจะเป็นพวกหมั่นโถวกับปาท่องโก๋



แต่ถ้าเป็นพวกแขกคนสำคัญเขาก็จะทำอาหารต้อนรับอย่างดี ไม่ต้องมากินในโรงอาหารแบบนี้

ในวันที่เราไป พอดีว่ามีแขกคนสำคัญมาเยี่ยมชมที่นี่ด้วยพอดี เขาก็เลยจัดเวลาให้เราได้เข้าไปชมพร้อมกับเขา มีคนบรรยายอะไรๆต่างๆเกี่ยวกับที่นี่ให้อย่างละเอียด

แผนที่ในบริเวณ จะเห็นว่าไม่ได้กว้างอะไรเท่าไหร่ อาคารแต่ละแห่งก็อยู่ไม่ไกลกันนัก เดินแค่นิดเดียวก็ทั่วแล้ว



กล้องโทรทรรศน์แห่งแรกที่เขาพามาเยี่ยมชมก็คือกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 85 ซ.ม.



เข้ามาดูตัวกล้องจากด้านใน




เขากำลังบรรยายเกี่ยวกับกล้องให้แขกที่มาได้ฟังอยู่ ตอนนี้กลางวันอยู่ดังนั้นกล้องจึงไม่ได้ทำงานอะไร



ภาพตอนเย็นซึ่งหอดูดาวเริ่มเปิดหลังคาออกเต็มที่



ข้างๆกล้องโทรทรรศน์ 85 ซ.ม. นี้เป็นหอดูดาวที่มีกล้องโทรทรรศน์ชนิดชมิดท์ (Schmidt telescope) ขนาด 60 / 90 ซ.ม.



กล้องโทรทรรศน์ชมิดท์เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยกระจกหลักสำหรับรวมแสงและเลนส์ปรับแก้ โดยแสงจะผ่านเลนส์ปรับแก้เพื่อลดความคลาดต่างๆ ก่อนที่จะมารวมแสงที่กระจกหลักเหมือนกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงทั่วไป



ภาพโครงสร้างของกล้องชมิดท์ ทางซ้ายคือเลนส์ปรับแก้ (改正镜, correcting lens) ซึ่งแสงจะต้องผ่านก่อนที่จะไปถึงกระจกหลักผิวทรงกลม (球面主镜, spherical primary mirror) แล้วรวมแสงไปยังระนาบโฟกัส (焦面, focal plane)

กล้องชมิดท์มีจุดเด่นตรงที่มุมมองของภาพกว้างหลายองศา ทำให้ส่องทีเดียวเห็นท้องฟ้าได้เป็นมุมกว้าง เหมาะสำหรับงานที่ต้องกวาดสำรวจทั่วท้องฟ้า

ที่ว่ากล้องมีขนาด 60 / 90 ซ.ม. นั้นหมายความว่ากระจกหลักขนาด 90 ซ.ม. และเลนส์ปรับแก้ขนาด 60 ซ.ม.

ชื่อเรียกกล้องชมิดท์นั้นมาจากชื่อแบร์นฮาร์ท ชมิดท์ (Bernhard Schmidt) ผู้คิดค้นซึ่งเป็นชาวเยอรมัน

ถัดมาอีกอันนี้เป็นกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 60 ซ.ม.



แล้วข้างๆก็มีกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 50 ซ.ม.



ถัดมาอีกจะเจออาคารสูงซึ่งมีกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 1 เมตร



ถัดไปอีกในที่สุดก็ได้เห็นกล้อง LAMOST กล้องที่ใหญ่ที่สุดและโดดเด่นสุดของที่นี่





กล้อง LAMOST เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบชมิดท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในตอนนี้

คำว่า LAMOST นั้นย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษว่า Large Sky Area Multi-Object Fiber Spectroscopic Telescope

มีชื่อจีนว่ากล้องโทรทรรศน์กัวโส่วจิ้ง (郭守敬望远镜) ตามชื่อของนักดาราศาสตร์คนสำคัญในอดีตของจีนสมัยราชวงศ์หยวน แต่ก็เป็นชื่อที่ไม่ค่อยมีใครเรียกกัน แม้แต่คนจีนส่วนใหญ่ก็เรียกว่า LAMOST เพราะชื่อกัวโส่วจิ้งนั้นเป็นแค่ชื่อเล่นที่ถูกตั้งตอนหลัง

หลักการทำงานของกล้องนี้แปลกกว่ากล้องโทรทรรศน์ทั่วไปพอสมควร อย่างที่เห็นว่ากล้องนี้หน้าตาแปลกประหลาด โดยประกอบไปด้วยสองส่วน ตั้งอยู่ในสองตัวอาคารซึ่งเรียงตัวอยู่ในแนวเหนือใต้ ทำหน้าที่ร่วมกัน ประกอบรวมกันเป็นกล้อง โดยทางใต้เป็นตัวลำกล้องซึ่งตั้งเอียง 25 องศา ทางเหนือเป็นอาคารที่ตั้งกระจกรับแสงสำหรับส่งผ่านไปยังลำกล้อง

โครงสร้างของกล้อง


แสงจากวัตถุท้องฟ้าจะเข้ามาที่กระจกปรับแก้ (改正镜, correcting mirror) เรียกย่อๆว่า Ma ซึ่งประกอบไปด้วยกระจกย่อยขนาด 1.1 ม. รูปหกเหลี่ยมทั้งหมด  ๒๔ อัน ประกอบรวมเป็นกระจกขนาดใหญ่ 5.72 ม. x 4.4 ม.

กระจกนี้ทำขึ้นโดยใช้เทคนิกที่เรียกว่า active optics ไว้ใช้สำหรับปรับแก้แสงเพื่อลดความคลาดทรงกลม

ปกติแล้วกล้องชมิดท์ธรรมดาจะใช้เลนส์เป็นตัวปรับแก้ แต่ว่าสำหรับกล้อง LAMOST นี้ใช้กระจกเป็นตัวปรับแก้ ซึ่งยังไม่เคยมีกล้องไหนบนโลกทำแบบนี้ ข้อดีก็คือกระจกสามารถสร้างให้ใหญ่มากได้ง่าย ในขณะที่เลนส์นั้นมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถสร้างให้ใหญ่มาก นั่นทำให้กล้อง LAMOST เป็นกล้องชมิดท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไม่มีคู่แข่ง

ตัวกระจก Ma นี้เป็นกระจกที่สามารถหมุนไปหมุนไปตามจุดต่างๆบนท้องฟ้าได้เหมือนกับลำกล้องของกล้องดูดาวทั่วไป แต่มีข้อจำกัดมากกว่า สามารถปรับมุมก้มเงยได้ 90 องศา และสามารถหมุนซ้ายขวาได้แค่เล็กน้อยประมาณ 30 องศา


หลังจากที่แสงสะท้อนที่กระจก Ma แล้ว ก็จะสะท้อนข้ามไปยังอาคารที่มีลำกล้องรูปทรงกระบอกตั้งอยู่ ด้านในสุดบนสุดมีกระจกหลักผิวทรงกลมที่อยู่กับที่ (固定球面主镜, fixed spherical mirror) เรียกย่อๆว่า Mb เป็นกระจกรวมแสงซึ่งประกอบจากกระจกย่อยขนาด 1.1 ม. รุปหกเหลี่ยมทั้งหมด ๓๗ อัน ประกอบรวมเป็นกระจกขนาดใหญ่ 6.67 ม. x 6.09 ม. กระจกนี้ตั้งอยู่กับที่ไม่ต้องมีการขยับไปไหนขณะทำงาน เพราะตัวที่ขยับคือกระจก Ma เท่านั้น

กระจกนี้จะรวมแสงไปยังแผงโฟกัส (焦面, focal plane) ขนาด 1.75 ม. ซึ่งวางอยู่บนฐานอาคารอีกส่วนซึ่งอยู่ต่ำกว่า แผ่นโฟกัสประกอบไปด้วยเส้นใยนำแสง (光纤, fiber optics) จำนวน ๔๐๐๐ เส้น ทำให้แยกสเป็กตรัมแสงได้มากมาย และสามารถส่องวัตถุที่เลือนลางบนท้องฟ้าได้ถึงอันดับความสว่าง 20.5

โดยด้านล่างภายในตัวอาคารเป็นสเป็กโตรสโกปี (光谱仪, spectroscopy) เครื่องที่ใช้วิเคราะห์สเป็กตรัม

กล้อง LAMOST มีมุมการมองกว้าง 5 องศาทำให้สำรวจวัตถุท้องฟ้าได้ทีละ ๔๐๐๐ วัตถุในเวลาเดียวกัน

สำหรับกลไกการทำงานของกล้องนี้ ดูในคลิปนี้ได้ (คำอธิบายเป็นภาษาจีน) http://www.youtube.com/watch?v=ZkKOXYOXGEM

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกล้อง LAMOST อ่านได้ที่
http://lamost.us/legue
http://www.lamost.org
http://en.wikipedia.org/wiki/LAMOST
http://www.xinglong-naoc.org/index.jsp


กล้อง LAMOST เริ่มเปิดทำงานมาตั้งแต่ปี 2008 เป้าหมายของกล้อง LAMOSTหลักๆสามอย่างคือการศึกษาจักรวาลในระดับมหภาค ศึกษาวิวัฒนาการของดาราจักรทางช้างเผือก และตรวจสอบยืนยันวัตถุท้องฟ้าในช่วงความยาวคลื่นต่างๆ

การวิเคราะห์สเป็กตรัมของวัตถุต่างๆภายนอกดาราจักรทางช้างเผือก เช่นดาราจักรอื่นๆและเควซาร์ต่างๆจะมีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยทำความเข้าใจโครงสร้างของจักรวาลในระดับมหภาค และการวิจัยการก่อตัวและวิวัฒนาการของดาราจักร

การกวาดท้องฟ้าสำรวจสเป็กตรัมของดาวฤกษ์จำนวนมากจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวิจัยฟิสิกส์ดาวฤกษ์และโครงสร้างและวิวัฒนาการของดาราจักรทางช้างเผือก

การสังเกตสเป็กตรัมของวัตถุท้องฟ้าจำนวนมากในช่วงความยาวคลื่นต่างๆเช่นอินฟราเรด คลื่นวิทยุ รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา จะมีประโยชน์อย่างมากในการตรวจสอบยืนยันโดยดูจุดที่สอดคล้องกันของข้อมูลจากหลายช่วงความยาวคลื่นในวัตถุท้องฟ้าชนิดต่างๆ



ตัวอาคารที่ตั้งกระจก Ma



ตัวอาคารที่ตั้งกระจก Mb และแผ่นโฟกัส



ภายในอาคารที่อยู่ภายใต้กล้องนี้สามารถเข้าไปชมได้



ชั้นล่างสุดจัดแสดงคำอธิบายเกี่ยวกับกล้องนี้ไว้อยู่ อันนี้ผู้ดูแลกำลังอธิบายให้แขกที่มาเยือนฟังอยู่



นอกจากนี้เขายังพาไปชมส่วนประกอบต่างๆของตัวกล้องด้วย แต่เขาไม่ให้ถ่ายรูปดังนั้นจึงไม่ได้ภาพอะไรติดมา

พอตอนกลางคืนเรายังได้ไปเข้าชมห้องควบคุมกล้อง LAMOST ด้วย ตรงส่วนนี้เขาอนุญาตให้ถ่ายรูปได้



นี่เป็นหน้าจอขนาดใหญ่ที่แสดงค่าต่างๆของตัวกล้อง



พวกคนที่ทำงานก็นั่งคุมคอมพิวเตอร์ตรงนี้




ข้างๆกล้อง LAMOST มีดอกไม้บานสวยอยู่



ก็เลยได้ถ่ายภาพกล้องคู่กับดอกไม้สวย




หากเดินต่อไปจะเห็นหอดุดาวขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง



นี่คือกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 2.16 ม. เป็นกล้องที่ใหญ่ที่สุดของที่นี่ก่อนที่จะมี LAMOST



แล้วเขาก็มีพาแขกไปเยี่ยมชมภายในอาคาร เราเองก็ตามเข้าไปดูด้วย



กล้องขนาดใหญ่ภายในอาคาร




เขากำลังอธิบายเกี่ยวกับตัวกล้องอยู่



จากด้านบนหอดูดาวนี้สามารถเห็นกล้อง LAMOST และส่วนอื่นๆในบริเวณฐานสังเกตการณ์นี้จากมุมสูงได้




หอดูดาวอันนี้ตั้งอยู่สุดทางแล้ว เดินต่อไปก็จะเจอทางตันซึ่งเป็นจุดชมวิวอย่างดี




มองกลับไปเห็นกล้อง 2.16 ม. พร้อมกับกล้อง LAMOST



เมื่อเสร็จจากการชมกล้องนี้แล้วเขาก็พาไปที่อาคารหลัก



ภายในมีจัดแสดงพวกข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับที่นี่ มีแบบจำลองต่างๆมากมาย




 

แบบจำลองแผ่นโฟกัสของกล้อง LAMOST



แบบจำลองกระจก Ma ซึ่งเป็นกระจกปรับแก้ของกล้อง LAMOST



แบบจำลองฐานสังเกตการณ์แห่งนี้



ในนั้นมีแบบจำลองกล้อง LAMOST ขนาดเล็กด้วย



แผนที่แสดงตำแหน่งหอดูดาวแห่งต่างๆในจีน



ก็มีอยู่เท่านี้ ส่วนบริเวณจัดแสดงไม่ได้กว้างสักเท่าไหร่



ตอนกลางคืนเขามีให้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กเพื่อส่องดาวด้วย แต่ว่าเนื่องจากดูดาวตอนกลางคืนมืดๆจึงไม่สามารถ่ายรูปอะไรมาได้

ตอนกลางวันเองก็มีให้ใช้กล้องส่องเพื่อดูดวงอาทิตย์เพื่อดูจุดบนดวงอาทิตย์



เราพยายามใช้กล้องถ่ายรูปถ่ายจุดบนดวงอาทิตย์ที่ส่องเห็นในกล้องดูดาวด้วย แต่ว่าไม่สำเร็จ ก็เลยไม่อาจเอาภาพมาฝากได้ ได้แต่เห็นด้วยตาเปล่า โดยปกติแล้วการใช้กล้องโทรทรรศน์สำหรับใช้ตาส่องจะเอากล้องถ่ายรูปมาซ้อนก็ลำบากอยู่แล้ว



จากบริเวณที่เรามาส่องกล้องดูดาวขนาดเล็กกัน ข้างๆนั้นมองไปจะเห็นกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 80 ซ.ม. อีกอัน และด้านหลังที่ถูกบังอยู่ยังมีกล้องอีกตัวหนึ่ง เป็นกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดขนาด 1.26 ม.



ทั้งหมดก็มีอยู่เท่านี้ อยู่ที่นี่ทั้งหมด ๕ วัน ๔ คืน ส่วนใหญ่ตอนกลางวันนอกจากไปเยี่ยมชมที่ต่างๆตามที่เล่ามาแล้วก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็ทำอะไรเล่นอยู่ในห้องพัก เพราะทุกคนต่างพกคอมตัวเองมา มีเวลาก็เล่นเกมบ้าง ทำงานบ้าง อ่านหนังสือบ้าง บ้างก็ออกมาเดินเล่น

ภายในบริเวณช่วงนี้ก็เต็มไปด้วยดอกไม้บาน เดินดูไปก็รู้สึกเพลิดเพลินเหมือนกัน เสียดายแค่ว่าแคบไปหน่อยไม่ได้มีอะไรให้เดินมากนัก




ภาพหอดูดาวที่ตั้งกล้องโทรทรรศน์ 85 ซ.ม. ซึ่งมองจากบริเวณหอพัก





ส่วนกิจกรรมหลักของการมาครั้งนี้จริงๆอยู่ที่ตอนกลางคืน เพราะเป็นเวลาที่จะไปดูการทำงานในห้องทำงานที่คุมกล้องโทรทรรศน์แต่ละอัน ซึ่งแต่ละอันก็ใช้ทำงานไม่เหมือนกัน โดยทั้งหมดอยู่ ๔ คืน ก็ได้เข้าดูทั้งหมด ๔ แห่ง นั่นคือกล้อง 60 ซ.ม. กล้อง 85 ซ.ม. กล้องชมิดท์ 60/90 ม.ม. และกล้อง 2.16 ม.

ส่วนตัวอาคารหอดูดาวแต่ละอันต่างกันออกไป บางอันห้องควบคุมกว้างขวาง มีห้องนอนด้วย คล้ายๆกับเป็นบ้านได้เลย แต่บางอันก็แคบๆ แล้วก็ไม่มีห้องน้ำด้วย แต่ที่เหมือนกันคือมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ได้

การเข้าไปศึกษาการทำงานนั้นก็ไม่มีอะไรมากนัก นอกจากดูเขาทำงาน เราไม่ต้องทำอะไร แค่นั่งไปเรื่อยๆ จะทำงานส่วนตัวหรือเล่นคอมของตัวเองไปก็ได้ จะหลับก็ยังได้ ขอแค่ต้องนั่งอยู่ในห้อง

ภายในห้องทำงานของหอดูดาวแต่ละหอนั้นเขาไม่ให้ถ่ายรูป ดังนั้นจึงไม่ได้เก็บภาพอะไรมา

การทำงานที่นี่ก็คือนั่งอยู่หน้าจอ คอยดูภาพข้อมูลที่กล้องโทรทรรศน์เก็บมาได้ และก็ต้องคอยควบคุมกล้องให้ทำงานตามที่ต้องการ งานในหอดูดาวนั้นต้องทำตอนกลางคืนตลอด เป็นงานที่ลำบากอยู่เพราะว่าต้องตื่นในขณะที่คนอื่นเขาหลับกัน พอตอนกลางวันก็ต้องนอน มีครั้งนึงเห็นคนทำงานเขาฟุบลงไปหลับกับโต๊ะที่ทำงานเลย วันไหนอากาศไม่ดี งานก็จะไม่สามารถเดินได้



ระหว่างนั้นเบื่อๆก็สามารถออกไปดูดาวข้างนอกได้ บริเวณฐานสังเกตการณ์แบบนี้ตอนกลางคืนจะมืดมาก แทบไม่มีแสงอะไรรบกวนการดูดาวเลย เพราะเขาไม่ต้องการให้แสงไฟมารถกวนการสังเกตการณ์ ห้ามทุกอาคารเปิดไฟโดยไม่ปิดม่าน และห้ามใช้ไฟฉายส่องขึ้นฟ้า จึงมืดสนิทเห็นดาวชัดมาก ชัดว่าที่ไหนที่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด

น่าเสียดายว่าช่วงที่ไปนี้แต่ละวันอากาศไม่ค่อยดีเลย วันแรกฝนตกปรอยๆด้วย ก็เลยยังไม่มีวันไหนได้เห็นดาวเยอะจนประทับใจเป็นพิเศษ ทางช้างเผือกก็เหมือนจะมองเห็นลางๆ แต่ไม่ได้ชัดเจนสวยงามอย่างที่เคยเห็นในรูปถ่าย

ถึงอย่างนั้นก็นับว่าได้มองเห็นทางช้างเผือกเป็นครั้งแรก ก็ดีใจไม่น้อยเหมือนกัน แถมยังได้เห็นดาวที่ไม่สว่างนักที่ปกติยากที่จะเห็นด้วย ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ออกมาดูดาวตามต่างจังหวัดเนี่ยไม่ว่าครั้งไหนก็รู้สึก เพลิดเพลินมีความสุขจริงๆ



ในที่สุดก็ได้เวลากลับ ตอนที่จะกลับเกิดเหตุขัดข้อง ได้ยินว่ารถประจำที่ใช้นั่งกลับปักกิ่งนั้นเกิดเสียขึ้นมา อาจารย์ก็เลยต้องช่วยติดต่อเหมารถตู้ให้ รถนั่งไม่สบายเท่าตอนขามาที่นั่งรถทัวร์เพราะรถเล็กกว่าเลยเบียดกันแออัด แต่ก็ทำให้ได้กลับเร็วกว่ากำหนด จากที่รถประจำนั้นจะออกตอนเที่ยง แต่พอเหมารถมาเองเลยได้กลับตั้งแต่ 9 โมงเช้า



โดยรวมแล้วเป็นอะไรที่คุ้มมากทีเดียว ได้ประสบการณ์มากมาย หวังว่าหลังจากนี้ไปจะยังมีโอกาสดีๆแบบนี้อีก
 



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> เหอเป่ย์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文