φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
เขียนเมื่อ 2022/05/28 10:36
แก้ไขล่าสุด 2022/06/04 18:47
 



อักษรกรีก (Ελληνικό αλφάβητο) เป็นอักษรเก่าแก่ที่มีความสำคัญ เป็นที่รู้จักดี และยังถูกใช้มาอย่างยาวนานตลอดจนถึงปัจจุบัน

ในปัจจุบันอักษรกรีกมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ต่างๆมากมาย และคนทั่วไปก็รู้จักอักษรกรีกกันในฐานะสัญลักษณ์แทนอะไรต่างๆซะมาก แม้ว่าจะไม่รู้ภาษากรีกเลยก็ยังคุ้นเคยกับอักษรกรีกกันพอสมควร

แต่แน่นอนว่าเดิมทีแล้วอักษรกรีกนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เขียนภาษากรีก (Ελληνικά) ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณเป็นพันๆปีก่อน และยังคงใช้เขียนภาษากรีกสมัยใหม่ซึ่งใช้พูดมาจนถึงปัจจุบัน

อักษรกรีกเป็นอักษรแทนเสียงอ่าน และเสียงอ่านนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงจากยุคโบราณมาจนถึงยุคสมัยใหม่ ทำให้เมื่อพูดถึงอักษรกรีกหรือภาษากรีกแล้วอาจมีการสับสนเกิดขึ้นได้

ในบทความนี้จะอธิบายถึงอักษรกรีก ทั้งชื่อเรียกตัวอักษร และเสียงอ่านตัวอักษรที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่





กรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่

ภาษากรีกโบราณกับกรีกสมัยใหม่นั้นต่างก็เขียนโดยใช้อักษรกรีกเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด เปลี่ยนไปตายุคสมัย

ภาษากรีกสมัยใหม่ (Νεοελληνική γλώσσα) หมายถึงภาษากรีกที่ใช้ซึ่งพูดโดยชาวกรีกยุคปัจจุบัน ซึ่งมี ๑๐ กว่าล้านคน รวมถึง ซึ่งนอกจากจะใช้ในประเทศกรีซ (Ελλάδα) แล้วยังใช้ในประเทศไซปรัส (Κύπρος) ซึ่งเป็นประเทศเกาะเล็กๆทางใต้ของตุรกีด้วย

แผนที่แสดงตำแหน่งของพื้นที่ที่ใช้ภาษากรีก คาบสมุทรด้านซ้ายและรวมถึงเกาะต่างๆในแถบนั้นคือประเทศกรีซ ส่วนเกาะหนึ่งที่แยกมาโดดเดี่ยวทางด้านขวาคือประเทศไซปรัส



ในขณะที่ภาษากรีกโบราณ (Αρχαία ελληνική γλώσσα) จะหมายถึงภาษากรีกที่ใช้ในสมัยก่อนนานมาแล้ว

ตัวภาษากรีกเองก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดตามยุคสมัย แต่โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงกรีกโบราณแล้วจะหมายถึงภาษากรีกที่ใช้ในช่วงยุคที่อาณาจักรของชาวกรีกนั้นได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด คือช่วง 400 ปีก่อน ค.ศ. ซึ่งมีการเขียนเอกสารต่างๆบันทึกไว้เป็นภาษากรีกจำนวนมากซึ่งหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน

คนกรีกปัจจุบันสามารถเข้าใจภาษากรีกโบราณได้ในระดับนึง แต่ไม่ทั้งหมด เนื่องจากภาษากรีกมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดช่วงระยะเวลาเป็นพันๆปี

อักษรที่ใช้ในภาษากรีกมี ๒๔ ตัวตั้งแต่สมัยกรีกโบราณจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างกัน แต่วิธีการเขียนนั้นได้ต่างไปจากเดิม เช่นภาษากรีกโบราณมีการแต่งเติมสัญลักษณ์เพิ่มเติมมากกว่า อีกทั้งแม้แต่อักษรตัวเดียวกันก็มีเสียงอ่านเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งทำให้เวลาพูดถึงชื่อต่างๆในภาษากรีก คนมักจะสับสนว่าจริงๆควรเรียกว่าอะไรกันแน่ เพราะเสียงอ่านจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่ายึดตามกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่

ปัจจุบันนี้หากศึกษาภาษากรีกเพื่อไปคุยกับคนกรีกก็ต้องเรียนภาษากรีกสมัยใหม่ แต่หากต้องการศึกษาประวัติศาสตร์หรือภาษาศาสตร์ทางยุโรปแล้วก็ควรจะเรียนภาษากรีกโบราณ

ภาษากรีกโบราณนั้นเป็นรากศัพท์ของภาษาต่างๆมากมายทางยุโรป มักถูกใช้ในเชิงวิชาการ ชื่อเทพเจ้าหรืออะไรที่เก่าๆโบราณก็มักจะเรียกตามภาษากรีกโบราณเป็นหลัก ในขณะที่กรีกสมัยใหม่จะใช้เรียกชื่อคนหรือสถานที่ในปัจจุบันเป็นหลัก




อักษรกรีก ๒๔ ตัว

อักษรกรีกที่ใช้โดยทั่วไปในปัจจุบันมีทั้งหมด ๒๔ ตัว โดยแต่ละตัวนั้นมีการเขียนเป็นตัวพิมพ์เล็กและตัวพิมพ์ใหญ่

ตารางต่อไปนี้จะแสดงชื่อเรียกอักษรแต่ละตัว รวมถึงเสียงอ่าน โดยเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกรีกโบราณกับกรีกสมัยใหม่ด้วย โดยจะแสดงด้วย IPA พร้อมทับศัพท์ด้วยอักษรไทย

ชื่ออักษรแต่ละตัวที่นิยมเรียกในภาษาไทยนั้นมีทั้งที่อ่านตามแบบกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่ปนๆกันไป หรือบางตัวก็ไม่ได้อ่านเหมือนทั้งกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่ แต่อ่านตามเสียงที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษ

เสียงอ่านภาษาไทยตามที่นิยม (อาจมีหลายแบบ) และชื่อที่เขียนด้วยอักษรโรมันก็จะใส่ลงในนี้เพื่อเปรียบเทียบด้วย

อักษร ชื่อเรียก เสียงอ่าน
ตัว
เล็ก
ตัว
ใหญ่
กรีก ไทย โรมัน กรีก
โบราณ
กรีก
สมัยใหม่
โบราณ สมัยใหม่
α Α ἄλφα
[alpʰa]
อัลพา
άλφα
[alfa]
อัลฟา
อัลฟา
แอลฟา
alpha /a/
อา
β Β βῆτα
[bɛːta]
แบตา
βήτα
[vita]
วีตา
เบตา
บีตา
beta /b/
/v/
(ว)
γ Γ γάμμα
[ɡamma]
กัมมา
γάμμα
[ɣama]
กามา
กัมมา
แกมมา
gamma /ɡ/
(ก)
/ɣ/
(ก)
δ Δ δέλτα
[delta]
เดลตา
δέλτα
[ðelta]
เดลตา
เดลตา delta /d/
/ð/
(ด)
ε Ε εἶ
[eː]
เอ
έψιλον
[epsilon]
เอปซีลน
เอปซีลอน
เอปไซลอน
epsilon /e/
เอ
ζ Ζ ζῆτα
[zdɛːta]
แซตา
ζήτα
[zita]
ซีตา
เซตา
ซีตา
zeta /zd/
(ซ)
/z/
(ซ)
η Η ἦτα
[ɛːta]
แอตา
ήτα
[ita]
อีตา
เอตา
อีตา
eta /ɛː/
แอ
/i/
อี
θ Θ θῆτα
[tʰɛːta]
แทตา
θήτα
[θita]
ธีตา
เธตา
ธีตา
theta /tʰ/
/θ/
(ธ)
ι Ι ἰῶτα
[iɔːta]
อีออตา
ιώτα
[ʝota]
โยตา
อีโอตา
ไอโอตา
iota /i/
อี
κ Κ κάππα
[kappa]
กัปปา
κάππα
[kapa]
กาปา
คัปปา
แคปปา
kappa /k/
λ Λ λάμβδα
[lambda]
ลัมบ์ดา
λάμβδα
[lamða]
ลัมดา
ลัมบ์ดา
แลมบ์ดา
lambda /l/
μ Μ μυ
[myː]
มือ
μυ
[mi]
มี
มิว mu /m/
ν Ν νυ
[nyː]
นือ
νυ
[ni]
นี
นิว nu /n/
ξ Ξ ξεῖ
[kseː]
กเซ
ξι
[ksi]
กซี
คซี
คไซ
xi /ks/
กซ
ο Ο οὖ
[uː]
อู
όμικρον
[omikron]
โอมีกรน
โอมีครอน
โอไมครอน
omicron /o/
โอ
π Π πεῖ
[peː]
เป
πι
[pi]
ปี
ไพ pi /p/
ρ Ρ ρώ
[rɔː]
รอ
ρώ
[ro]
โร
โร rho /r/
σ
ς
Σ σῖγμα
[siɡma]
ซิกมา
σίγμα
[siɣma]
ซิกมา
ซิกมา sigma /s/
τ Τ ταῦ
[tau]
ตาว
ταυ
[taf]
ตัฟ
เทา tau /t/
υ Υ
[yː]
อือ
ύψιλον
[ipsilon]
อิปซีลน
อิปซีลอน
อุปซีลอน
อิปไซลอน
upsilon /y/
(อือ)
/i/
อี
φ Φ φεῖ
[pʰeː]
เพ
φι
[fi]
ฟี
ฟี
ไฟ
phi /pʰ/
/f/
χ Χ χεῖ
[kʰeː]
เค
χι
[çi]
คี
คี
ไค
chi /kʰ/
/x/
(คฮ)
ψ Ψ ψεῖ
[pseː]
ปเซ
ψι
[psi]
ปซี
พซี
พไซ
psi /ps/
ปซ
ω Ω
[ɔː]
ออ
ωμέγα
[oˈmeɣa]
โอเมกา
โอเมกา omega /ɔː/
ออ
/o/
โอ

ในจำนวนนี้อักษรที่เป็นสระมีอยู่ ๗ ตัวคือ α ε η ι ο υ ω ในที่นี้แทนด้วยพื้นสีเหลือง ที่เหลืออีก ๑๗ ตัวเป็นพยัญชนะ

ε และ υ นั้นในกรีกโบราณเรียกชื่อแค่สั้นๆ แต่ในยุคหลังได้มีการเติมคำว่า ψιλον (psilon) ซึ่งมีความหมายว่า "ก็แค่ธรรมดา" ลงไป จึงกลายเป็น έψιλον (epsilon) และ ύψιλον (upsilon) ไป

ส่วนคำว่า μικρον (micron) และ μέγα (mega) ในชื่ออักษร ο และ ω นั้นหมายถึง "เล็ก" และ "ใหญ่" ถูกเติมมาในสมัยหลังเพื่อแยกชื่อเรียกตัว ο และ ω ให้ต่างกัน จึงกลายเป็น όμικρον (omicron) และ ωμέγα (omega)

อักษรซิกมานั้นจะพิเศษหน่อยตรงที่ตัวพิมพ์เล็กมีเขียนอยู่ ๒ แบบ ปกติจะเขียนเป็น σ แต่ถ้าอยู่ท้ายสุดของคำจะเขียนเป็น ς



ความแตกต่างของเสียงสระเดี่ยวในกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่

ข้อแตกต่างระหว่างเสียงอ่านภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือเสียงสระ

ในที่นี้ขอแสดงตารางเปรียบเทียบเสียงอ่านเฉพาะแค่อักษร ๗ ตัวที่เป็นสระ โดยอธิบายความแตกต่างลงไปด้วย

อักษร เสียงอ่าน คำอธิบาย
ตัว
เล็ก
ตัว
ใหญ่
กรีก
โบราณ
กรีก
สมัยใหม่
α Α /a/, /aː/
อา
เป็นเสียงสระอา ในกรีกโบราณอาจเป็นเสียงสั้นหรือยาว แล้วแต่คำ
ในกรีกสมัยใหม่ไม่แยกเสียงสั้นยาว
ε Ε /e/
เอ
เป็นเสียงสระเอ ในกรีกโบราณแทนเสียงสั้นเสมอ
ในกรีกสมัยใหม่ไม่แยกเสียงสั้นยาว
η Η /ɛː/
แอ
/i/
อี
ในกรีกโบราณเป็นสระแอเสียงยาว
ในกรีกสมัยใหม่เป็นสระอี (เหมือน ι)
ι Ι /i/, /iː/
อี
เป็นเสียงสระอี ในกรีกโบราณอาจแทนเสียงสั้นหรือยาว แล้วแต่คำ
ในกรีกสมัยใหม่ไม่แยกเสียงสั้นยาว
ο Ο /o/
โอ
เป็นเสียงสระโอ ในกรีกโบราณแทนเสียงสั้นเสมอ
ในกรีกสมัยใหม่เป็นไม่แยกเสียงสั้นยาว
υ Υ /y/, /yː/
(อือ)
/i/
อี
ในกรีกโบราณเมื่ออยู่เดี่ยวเป็นเสียง /y/ (คล้าย "อือ") โดยอาจเป็นเสียงสั้นหรือยาวแล้วแต่คำ แต่หากอยู่ต่อจากสระอื่นจะออกเสียงเป็นสระอู
ส่วนในกรีกสมัยใหม่เป็นเสียงสระอี (เหมือน ι)
ω Ω /ɔː/
ออ
/o/
โอ
ในกรีกโบราณแทนสระออเสียงยาว
ในกรีกสมัยใหม่แทนเสียงสระโอ (เหมือน ο)

จากตารางจะเห็นว่าอักษร η, υ และ ω มีเสียงอ่านที่ต่างกันไประหว่างกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่ จึงต้องระวังให้ดี

ในกรีกโบราณนั้น อักษรสระ ๗ ตัวแทนสระที่ต่างกันออกไปทั้งหมด แต่เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงทำให้เสียงอ่านต่างไปจากเดิม ในกรีกสมัยใหม่มีการซ้ำกันเกิดขึ้น สร้างความสับสนขึ้นมาได้

เช่นเดิมทีภาษากรีกโบราณแยกเสียงสระโอกับสระออ โดยสระโอใช้ตัว ο และสระออใช้ตัว ω แต่ว่าในปัจจุบันทั้ง ο และ ω ต่างแทนเสียงสระโอเหมือนกันทั้งคู่

ส่วนอักษร η และ υ นั้นก็เปลี่ยนเป็นสระอีซึ่งไปซ้ำกับอักษร ι อีกที ทั้งที่เดิมที่เป็นคนละสระกันต่างออกไป

ตัว υ ในภาษากรีกโบราณออกเสียง /y/ คือคล้าย ü ในภาษาจีนกลางหรือภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นสระที่ไม่มีในภาษาไทย แต่ฟังดูคล้ายๆสระอือ หรือเป็น "อวี"

เพียงแต่หาก υ ไปตามหลังอักษรสระตัวอื่นจะออกเสียงเป็นสระอูแทน เช่นชื่อเทพ Ζεύς (Zeus) อ่านว่า "เซอุส"

นอกจากนี้ภาษากรีกโบราณมีการแยกเสียงสั้นและเสียงยาวด้วย โดยอักษร α ι υ นั้นอาจเป็นได้ทั้งเสียงสั้นหรือยาว แล้วแต่คำ ในขณะที่อักษร ε ο จะเป็นเสียงสั้นเสมอ และอักษร η ω จะเป็นเสียงยาวเสมอ

เสียงสั้นหรือยาวของตัว α ι υ นั้นไม่ได้ถูกเขียนแยกให้ต่างกันชัดเจน แต่ในบางครั้งก็มีการเติมเครื่องหมาย ¯ เป็น ᾱ ῑ ῡ เพื่อแทนเสียงยาว หรือเติม ˘ เป็น ᾰ ῐ ῠ เพื่อแสดงเสียงสั้น แต่ก็ไม่ได้ใช้ในการเขียนโดยทั่วไป จึงมักจะต้องแยกเสียงสั้นหรือยาวเอาเองด้วยวิธีอื่น




เสียงสระเมื่อวางต่อกันสองตัว

อักษรสระ ๒ ตัวอาจนำมาวางต่อกันเพื่อแสดงเสียงสระประสม หรือสระใหม่ที่ต่างกันออกไปได้ ซึ่งเสียงของสระเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกันไประหว่างกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่เช่นกัน

เขียน เสียงอ่าน คำอธิบาย
กรีก
โบราณ
กรีก
สมัยใหม่
αι /ai/, /aːi/
ไอ, อาย
/e/
เอ
ในกรีกโบราณอ่านตรงตัวเป็นสระอาตามด้วยสระอี (=สระไอ)
ในกรีกสมัยใหม่เสียงกลายเป็นสระเอ
αυ /au/, /aːu/
เอา, อาว
/af/
อัฟ
ในกรีกโบราณอ่านตรงตัวเป็นสระอาตามด้วยสระอู
ในกรีกสมัยใหม่เสียง υ ด้านหลังกลายเป็น "ฟ"
ει /ei/, /eː/
เอย์, เอ
/i/
อี
ในกรีกโบราณเป็นสระเอเสียงยาว หรือสระเอแล้วตามด้วยสระอี
ในกรีกสมัยใหม่กลายเป็นสระอี
ευ /eυ/
เอว
/ef/
เอฟ
ในกรีกโบราณอ่านตรงตัวเป็นสระเอตามด้วยสระอู
ในกรีกสมัยใหม่เสียง υ ด้านหลังกลายเป็น "ฟ"
οι /oi/
โอย
/i/
อี
ในกรีกโบราณอ่านตรงตัวเป็นสระโอตามด้วยสระอี
ในกรีกสมัยใหม่เสียงกลายเป็นสระอี
ου /u/
อู
ออกเสียงสระอูตลอดทั้งในกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่

จะเห็นว่าในกรีกโบราณเสียงอ่านจะเกิดเป็นเสียงสระประสมค่อนข้างตรงตัว เข้าใจได้ง่ายกว่า ในกรีกสมัยใหม่ได้สูญเสียสระประสม และเกิดเป็นสระเดี่ยวซ้ำๆกันมากมาย

ส่วนเสียง υ ใน αυ กับ ευ นั้นได้กลายเป็นออกเป็นเสียง "ฟ" ไป




สระประสมที่กลายเป็นสระเดี่ยวในกรีกสมัยใหม่

เนื่องจากภาษากรีกสมัยใหม่มีสระหลายรูปที่เขียนต่างกันแต่ออกเสียงเหมือนกัน จึงขอสรุปรวมแต่ละเสียงไว้ในตารางนี้

เขียน เสียงอ่านกรีกสมัยใหม่
α /a/
อา
ε αι /e/
เอ
ι η υ ει οι /i/
อี
ο ω /o/
โอ
ου /u/
อู





เครื่องหมายเน้นเสียง

ภาษากรีกมีการเติมเครื่องหมายเพื่อเน้นเสียงสูงเสียงต่ำด้วย โดยในกรีกโบราณมีการเติมเครื่องหมายเน้นเสียง ๓ ชนิด ในขณะที่กรีกสมัยใหม่จะใช้แค่ ´

เขียน ความหมาย
´ วางบนสระเพื่อแสดงเสียงสูง ใช้ทั้งในกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
` วางบนสระเพื่อแสดงเสียงต่ำในกรีกโบราณ ส่วนกรีกสมัยใหม่ไม่ได้ใช้
˜ ˆ วางบนสระเพื่อแสดงเสียงขึ้นสูงแล้วลงต่ำ ส่วนกรีกสมัยใหม่ไม่ได้ใช้
อาจเขียนเป็น ˜ หรือ ˆ ก็ได้ ความหมายไม่ต่างกัน

กรณีที่เป็นสระประสมจะวางไว้ที่สระตัวหลัง เช่น αῖ (ไม่ใช่ ᾶι)

หากเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ เครื่องหมายจะไปอยู่ด้านซ้าย เช่น Ὲ Έ




เสียง "ฮ" ในกรีกโบราณ

ในภาษากรีกโบราณนั้นมีเสียง "ฮ" อยู่ด้วย แต่ว่าไม่ได้มีอักษรพยัญชนะที่ใช้แทนเสียง "ฮ" โดยเฉพาะ แต่เสียง "ฮ" กลับถูกแสดงโดยใช้เครื่องหมาย เติมด้านบนสระ

นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องหมาย ᾿ เพื่อแยกว่าไม่ต้องออกเสียง "ฮ" แต่ให้เป็น "อ" ไป

สัญลักษณ์ กับ ᾿ นี้จะถูกเขียนบนอักษรสระที่ไม่ได้ตามด้วยพยัญชนะ เพื่อจะแยกว่าเป็นเสียง "อ" หรือ "ฮ" แต่จะไม่เขียนบนสระที่ตามหลังพยัญชนะอยู่แล้ว

การเขียน และ ᾿ นั้นอาจใช้ปนกับสัญลักษณ์แสดงการเน้นเสียง โดยหากอยู่กับ ´ หรือ ` จะวางอยู่ด้านซ้าย แต่หากอยู่กับ ˜ (หรือ ˆ) จะวางอยู่ด้านล่าง

ตัวอย่างการใช้เช่นชื่อเทพ Ἑρμῆς (Hermēs) อ่านว่า "เฮร์แมส" เพราะ Ε เติม ส่วนชื่อเทพ Ἔρις (Eris) อ่าน "เอริส" เพราะเติม ᾿

อย่างไรก็ตาม กรีกสมัยใหม่ได้สูญเสียเสียง "ฮ" ไปแล้ว จึงไม่มีการเติม กับ ᾿ และอ่านเป็น "อ" ทั้งหมด

เขียน ตัวอย่างและความหมาย
ἁ ἃ ἅ ἇ ἑ ἓ ἕ ἡ ἣ ἥ ἧ ἱ ἳ ἵ ἷ ὁ ὃ ὅ ὑ ὓ ὕ ὗ ὡ ὣ ὥ ὧ
วางบนสระที่ไม่มีพยัญชนะนำหน้าเพื่อแสดงว่าออกเสียง "ฮ"
᾿ ἀ ἂ ἄ ἆ ἐ ἒ ἔ ἠ ἢ ἤ ἦ ἰ ἲ ἴ ἶ ὀ ὂ ὄ ὐ ὒ ὔ ὖ ὠ ὢ ὤ ὦ
วางบนสระที่ไม่มีพยัญชนะนำหน้าเพื่อแสดงว่าไม่ออกเสียง "ฮ" ให้ออกเสียง "อ" ไป

นอกจากนี้แล้ว ยังใช้เติมบนตัว ρ เป็น เพื่อแสดงเสียง /r̥/ ด้วย เช่นชื่อเทพ Ῥέα (Rhea) อ่านว่า "เรอา"




อีโอตาตัวเล็กวางด้านล่าง

ในภาษากรีกโบราณนั้นอักษร ι เมื่อตามหลัง α (เสียงยาว) หรือตัว η หรือ ω นั้นเสียง ι จะหายไป การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดในกรีกโบราณยุคหลัง แต่เนื่องจากยังมีหน้าที่ทางไวยากรณ์อยู่ จึงมีการเขียน ι ที่มีตัวตนอยู่แต่เสียงหายไปนี้ในรูปห้อยด้านล่างตัว α η ω กลายเป็นเหมือนเครื่องหมายขีดด้านล่าง

อักษร เสียงอ่านกรีกโบราณ
ตัว
เล็ก
ตัว
ใหญ่
ยุคแรก ยุคหลัง
/aːi/
อาย
/aː/
อา
/ɛːi/
แอย
/ɛː/
แอ
/ɔːi/
ออย
/ɔː/
ออ

ตัวอย่างเช่นชื่อเทพแห่งขุมนรก ᾍδης อ่านว่า "ฮายแดส" ในกรีกโบราณยุคต้น แต่เสียง ι ได้หายไป จึงอ่านเป็น "ฮาแดส" ในกรีกโบราณยุคหลัง ในขณะที่กรีกสมัยใหม่จะละ ι ไป จึงเขียนเป็น Άδης (อ่านว่า "อาดีส")




เสียงคู่พ่นลมกับไม่พ่นลมในกรีกโบราณที่หายไป

ภาษากรีกโบราณนั้นมีการแยกเสียงพ่นลมและไม่พ่นลม เช่นเดียวกับในภาษาไทย

เสียงไม่พ่นลมหมายถึงเสียง "ก ต ป" ซึ่งแทนด้วยอักษร κ τ π ทั้งในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่

ในขณะที่เสียงพ่นลมจะหมายถึงเสียง "ค ท พ" ซึ่งมีในกรีกโบราณ แทนด้วยตัวอักษร χ θ φ ในขณะที่ในกรีกปัจจุบันนั้นเสียงของอักษรเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว

ตารางเปรียบเทียบเสียงแต่ละคู่ แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลง

อักษร เสียงอ่าน คำอธิบาย
ตัว
เล็ก
ตัว
ใหญ่
กรีก
โบราณ
กรีก
สมัยใหม่
κ Κ /k/
χ เป็นเสียงพ่นลมของ κ ในภาษากรีกโบราณ
แต่ในกรีกสมัยใหม่ χ กลายเป็นเสียง /x/ คือเป็นเสียงคล้าย "ค" แต่มีการกักภายในลำคอ
χ Χ /kʰ/
/x/
(คฮ)
τ Τ /t/
θ เป็นเสียงพ่นลมของ τ ในภาษากรีกโบราณ
แต่ในกรีกสมัยใหม่ χ กลายเป็นเสียง /θ/ คือเหมือนเสียง th ในภาษาอังกฤษ
θ Θ /tʰ/
/θ/
(ธ)
π Π /p/
φ เป็นเสียงพ่นลมของ π ในภาษากรีกโบราณ
แต่ในกรีกสมัยใหม่ φ กลายเป็นเสียง "ฟ"
φ Φ /pʰ
/f/




การเปลี่ยนแปลงของพยัญชนะเสียงก้อง

ในภาษากรีกมีพยัญชนะที่แทนเสียงก้องอยู่ ๔ ตัว คือ β γ δ ζ เป็นคู่เสียงก้องของอักษร π κ τ σ ซึ่งเป็นเสียงไม่ก้อง

แต่อักษรเหล่านี้ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงเสียงอ่านต่างไประหว่างกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่

อักษร เสียงอ่าน คำอธิบาย
ตัว
เล็ก
ตัว
ใหญ่
กรีก
โบราณ
กรีก
สมัยใหม่
β Β /b/
/v/
(ว)
ในกรีกโบราณเป็นเสียง "บ" แต่ในกรีกสมัยใหม่กลายเป็นเสียงเหมือน v ในภาษาอังกฤษ
γ Γ /g/
(ก)
/ɣ/
(ก)
ในกรีกโบราณเป็นเสียงเหมือน g ในภาษาอังกฤษ แต่กรีกสมัยใหม่กลายเป็นเสียงกักในลำคอ คล้ายเสียง "ฅ" ในภาษาไทยโบราณ
δ Δ /d/
/ð/
(ด)
ในกรีกโบราณเป็นเสียง "ด" แต่ในกรีกสมัยใหม่กลายเป็นเสียง /ð/ คือคล้าย th ในภาษาอังกฤษคำว่า the
ζ Ζ /zd/
(ซ)
/z/
(ซ)
ในกรีกโบราณเป็นเสียงเหมือน z ในภาษาอังกฤษปนกับ "ด" แต่ในกรีกสมัยใหม่เป็นแค่เสียง z เฉยๆ




วิวัฒนาการของอักษรกรีกจากอักษรฟินิเชียและไปสู่อักษรโรมัน

อักษรกรีกนั้นถูกพัฒนาขึ้นโดยดัดแปลงมาจากอักษรฟินิเชีย (Phoenicia) ซึ่งเป็นอักษรโบราณที่ใช้ในช่วงยุคโบราณ และถือเป็นรากฐานของอักษรอีกหลายชนิดบนโลกนี้

อักษรฟินิเชียมีทั้งหมด ๒๒ ตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นอักษรกรีก โดยได้มีการเพิ่มอักษรบางตัวเข้าไป และอักษรบางตัวได้ถูกเลิกใช้

ลำดับการเรียงอักษรกรีกรวมถึงชื่อเรียกอักษรต่างๆนั้นก็มีที่มาจากการเรียงอักษรฟินิเชียนี้ด้วย โดยอักษรที่อยู่ลำดับท้ายต่อจาก υ ได้แก่ φ χ ψ ω นั้นล้วนเป็นอักษรที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ไม่ได้มีที่มาจากอักษรฟินิเชียโดยตรง

นอกจากนี้แล้วยังเป็นที่รู้กันว่าอักษรโรมันนั้นได้ดัดแปลงมาจากอักษรกรีกอีกทีด้วย โดยลำดับการเรียงอักษรโรมันก็มีที่มาจากอักษรกรีกด้วย

ดังนั้นในที้นี้จะขอแสดงตารางเทียบระหว่างอักษรฟินิเชีย อักษรกรีก และอักษรโรมัน ที่มีความเกี่ยวข้องวิวัฒนาการกันมา

อักษรฟินิเชีย ชื่อเรียก อักษรกรีก อักษรโรมัน
𐤀 ʼāleph α Α a A
𐤁 bēth β Β b B
𐤂 gīmel γ Γ c C
g G
𐤃 dāleth δ Δ d D
𐤄 ε Ε e E
𐤅 wāw ϝ Ϝ f F
υ Υ u U
v V
w W
y Y
𐤆 zayin ζ Ζ z Z
𐤇 ḥēth η Η h H
𐤈 ṭēth θ Θ
𐤉 yōdh ι Ι i I
𐤊 kaph κ Κ k K
𐤋 lāmedh λ Λ l L
𐤌 mēm μ Μ m M
𐤍 nun ν Ν n N
𐤎 sāmekh ξ Ξ
𐤏 ʿayin ο Ο o O
𐤐 π Π p P
𐤑 ṣādē ϻ Ϻ
𐤒 qōph ϙ Ϙ q Q
𐤓 rēš ρ Ρ r R
𐤔 šin σ Σ s S
𐤕 tāw τ Τ t T

ในจำนวนนี้มีอักษร ϝ ϻ ϙ ที่เลิกใช้ไปแล้วในภาษากรีก แต่ ϝ นั้นกลายมาเป็นที่มาของอักษรโรมัน f ส่วน ϙ เป็นที่มาของอักษรโรมัน q

อักษร ϝ กับ υ นั้นแตกมาจากอักษรฟินิเชียตัวเดียวกัน แต่ ϝ ถูกวางในตำแหน่งเดิม ในขณะที่ υ ถูกนำไปวางไว้ในตำแหน่งท้ายต่อจาก τ

อักษรโรมัน u v w y ล้วนแตกมาจากอักษรกรีก υ ทั้งสิ้น

อักษรกรีก γ นั้นเป็นที่มาของอักษรโรมัน c กับ g แต่ c ถูกวางในตำแหน่งเดิม ในขณะที่ g ถูกย้ายไปวางหลัง f

อักษรฟินิเชียยังอาจมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอักษรพราหมี ซึ่งเป็นที่มาของอักษรไทยด้วย รายละเอียดเรื่องนี้อ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20220131




อักษรกรีกที่เลิกใช้ไปแล้ว

นอกจากอักษร ๒๔ ตัวที่ใช้ทั่วไปในภาษากรีกจนถึงปัจจุบันแล้ว ก็ยังมีอักษรกรีกที่เคยถูกใช้ในอดีตแต่ไม่ได้แพร่หลายและถูกเลิกใช้ไปตั้งแต่สมัยกรีกโบราณด้วยเหตุผลต่างๆ

อักษรเหล่านี้แม้จะไม่ถูกใช้งานแล้วและไม่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน แต่ก็พบได้ในเอกสารเก่าแก่จำนวนหนึ่ง

อักษร ชื่อเรียก เสียงอ่าน คำอธิบาย
ตัว
เล็ก
ตัว
ใหญ่
ϝ Ϝ digamma
หรือ wau
/w/
มีที่มาจากอักษรฟินิเชีย เคยใช้แทนเสียง "ว" ในภาษากรีกยุคต้นๆ แต่เสียงนี้ได้หายไปจากภาษากรีก อักษรนี้จึงเลิกใช้
ϛ Ϛ stigma /st/
สต
ถูกสร้างเพิ่มเข้ามา เคยถูกใช้แทน στ แต่ยกเลิกไป
ͱ Ͱ heta /h/
ถูกสร้างมาเพื่อใช้แทนเสียง "ฮ" แต่ในกรีกโบราณมาตรฐานได้เปลี่ยนมาเป็นการเขียน บนสระเพื่อแทนเสียง "ฮ" แทน
ϻ Ϻ san /s/
มีที่มาจากอักษรฟินิเชีย แต่ในภาษากรีกเสียงไปซ้ำกับ σ จึงเลิกใช้
ϙ Ϙ koppa /k/
มีที่มาจากอักษรฟินิเชีย แต่ในภาษากรีกเสียงไปซ้ำกับ κ จึงเลิกใช้
ͳ Ͳ sampi /ss/
สส
ถูกสร้างเพิ่มเข้ามา เคยถูกใช้แทน σσ แต่ยกเลิกไป
ϸ Ϸ sho /ʃ/
(ช)
ถูกสร้างเพิ่มมาเพื่อใช้ในภาษาบักเตรียเพื่อแทนเสียง /ʃ/ (sh ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งไม่มีในภาษากรีก

ภาษาบักเตรีย เป็นภาษาที่ตายไปนานแล้วซึ่งเคยใช้ในดินแดนบักเตรียซึ่งเคยตั้งอยู่ในแถบเอเชียกลาง ภาษานี้เป็นตระกูลใกล้เคียงกับภาษาเปอร์เซีย แต่กลับใช้อักษรกรีกในการเขียน โดยได้มีการเพิ่มอักษร ϸ เข้าไปเป็นตัวที่ ๒๕ เพื่อแทนเสียง /ʃ/ ที่มีในภาษาบักเตรียแต่ไม่มีในภาษากรีก




คีย์บอร์ดภาษากรีก

หากต้องการพิมพ์อักษรกรีกก็สามารถทำได้ง่ายโดยใช้คีย์บอร์ดกรีก ตำแหน่งแป้นพิมพ์ของอักษรกรีกค่อนข้างสัมพันธ์กับคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษ จึงเป็นการง่ายที่จะจดจำและใช้งาน



สามารถลองใช้คีย์บอร์ดนี้ดูได้ที่ https://keyboardingonline.net/greek-keyboard/




สรุปความต่างระหว่างกรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่

จากที่เขียนถึงมาข้างต้น อาจสรุปความแตกต่างที่สำคัญได้ดังนี้

กรีกโบราณ กรีกสมัยใหม่
เสียงอ่านสระตรงตามที่เขียน และรักษาสระประสมไว้มากกว่า เสียงอ่านมีความหลากหลายน้อยลง ยุบเหลือเพียงสระเดี่ยว ๕ สระ
มีการแยกสระเสียงสั้นและยาว ไม่มีการแยกสระเสียงสั้นและยาว
มีเสียง "ฮ" แทนด้วย เสียง "ฮ" ได้หายไปแล้ว
มีการเติมสัญลักษณ์ทั้ง ´ ` ˜ (ˆ) ῾ ᾿ มีการใช้แค่ ´ เท่านั้น
อักษร χ θ φ เป็นเสียงพ่นลมของ κ τ π อักษร χ θ φ เป็นเสียง /x/ /θ/ /f/
อักษร γ δ β เป็นเสียงก้องของ κ τ π อักษร γ δ β เป็นเสียง /ɣ/ /ð/ /v/


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> ตัวอักษร
-- ภาษาศาสตร์ >> เรียนภาษา

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文