φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ทำความรู้จักกับแต้จิ๋ว
เขียนเมื่อ 2012/06/29 10:58
แก้ไขล่าสุด 2024/10/26 16:02
ตอนนี้เราก็ได้มาแวะเยือนแดนแต้จิ๋วแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20120628

ช่วงนี้ก็เลยพยายามศึกษาข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับแต้จิ๋วไว้สักหน่อย


หน้าต่อๆไปนี้กำลังจะเล่าถึงสถานที่เที่ยวในบริเวณแต้จิ๋ว ดังนั้นก่อนที่จะเล่าจึงอยากขอเขียนเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับที่นั่นสักหน่อย

*บทความนี้เขียนชื่อส่วนใหญ่เป็นภาษาแต้จิ๋ว แต่วงเล็บคำอ่านจีนกลางไว้ข้างหลัง



แต้จิ๋ว พอพูดชื่อนี้ปุ๊บคนไทยเชื้อสายจีนทุกคนรู้จักกันอย่างดี เพราะคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่พูดภาษาจีนแต้จิ๋ว มีจำนวนมากกว่าจีนกลุ่มอื่นๆเช่นจีนฮกเกี้ยน จีนกวางตุ้ง จีนไหหลำ จีนแคะ

เขตที่คนพูดภาษาแต้จิ๋วนั้นเป็นเพียงบริเวณเล็กๆภายในจีนแผ่นดินใหญ่ หลักๆแล้วอยู่ในบริเวณ ๔ จังหวัดภายในภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง คือจังหวัดซัวเถา (汕头, ซ่านโถว) แต้จิ๋ว (潮州, เฉาโจว) กิ๊กเอี๊ย (揭阳, เจียหยาง) ซัวบ้วย (汕尾, ซ่านเหว่ย์)



หากพูดภึงมณฑลกวางตุ้งแล้ว คนมักจะนึกถึงภาษากวางตุ้ง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ทั้งหมดที่พูดกวางตุ้ง เพราะทางภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้งพูดภาษาแต้จิ๋ว ส่วนภาคเหนือบางส่วนพูดภาษาแคะ (客家话)

คำว่าแต้จิ๋วนั้นเป็นสำเนียงที่คนไทยเรียก ที่จริงเรียกให้ถูกต้องตามสำเนียงแต้จิ๋วจริงๆว่า "เตี่ยจิว" ส่วนซัวเถาก็ต้องเรียกให้ถูกว่า "ซัวเท้า" แต่เนื่องจากคนไทยชินเรียกแบบนั้นดังนั้นต่อไปก็จะเรียกว่าแต้จิ๋วกับซัวเถาเหมือนเดิม แต่ขอให้รู้ไว้ว่าจริงๆเป็นเสียงที่ไม่ถูกต้อง

ทั้ง ๔ จังหวัดนี้รวมแล้วเรียกว่าเขตเตี่ยซัว (潮汕, เฉาซ่าน) ซึ่งเป็นชื่อรวมจากคำว่า เตี่ยจิว (潮州) กับ ซัวเท้า (汕头)

ซัวเถาเป็นเมืองหลักซึ่งเจริญที่สุด มีประชากรเยอะสุด เป็นศูนย์กลางของเขตเตี่ยซัว ภาษาแต้จิ๋วนั้นในแต่ละท้องที่ก็อาจต่างกันออกไป แต่สำเนียงแต้จิ๋วมาตรฐานนั้นยึดตามสำเนียงที่คนในเมืองซัวเถาพูด

บางครั้งก็ไม่นับรวมจังหวัดซัวบ้วยเป็นส่วนหนึ่งของเขตนี้เนื่องจากภาษาที่ใช้ในซัวบ้วยสำเนียงค่อนข้างต่างไปจากสำเนียงแต้จิ๋วในพื้นที่ส่วนใหญ่พอสมควร

คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ก็อพยพมาจากซัวเถา ส่วนที่อพยพมาจากแต้จิ๋วหรือกิ๊กเอี๊ยก็มีไม่น้อย

แต้จิ๋วเป็นเมืองเก่าแก่ ย่านเมืองเก่าในแต้จิ๋วนั้นยังคงอนุรักษ์ไว้ มีกำแพงเมืองเก่า มีสะพานโบราณ สวยงามน่าเที่ยว ในขณะที่ซัวเถาเป็นเมืองสมัยใหม่ที่หลังๆนี้พัฒนาไปมาก บรรยากาศจะแตกต่างกันออกไป



การแบ่งเขตการปกครอง

การแบ่งเขตที่จะพูดถึงนี้เป็นการแบ่งเขตในปัจจุบัน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนระบบการแบ่งเขตมาหลายครั้ง ชื่อบางเขตก็ถูกเปลี่ยน บางทีก็แบ่งแยกเขตเพิ่มเกิดเขตใหม่เพิ่มเข้ามา ดังนั้นหลายชื่อถ้าพูดให้คนจีนในไทยฟังเขาก็คงจะไม่รู้จัก ในขณะที่บางชื่อที่คุ้นเคยอาจกลายเป็นแต่ชื่อตำบลหรืออาจไม่ได้ใช้แล้วก็มี

บางชื่อที่คนไทยอาจคุ้นเคยเช่น เตี่ยอัง เหยี่ยวเพ้ง เถ่งไฮ่ เตี่ยเอี๊ย โผวเล้ง ก็กระจายอยู่ตามแต่ละจังหวัดในเขตนี้ บ้างก็กลายเป็นชื่อเขต บ้างก็กลายเป็นชื่ออำเภอ



ซัวเถา มีพื้นที่ 2,199 ตร.กม. ประชากร ๕ ล้านกว่าคน แบ่งออกเป็น ๖ เขต ๑ อำเภอ



- เขตกิมเพ้ง (金平区, จินผิงชวี) คือเขตใจกลางเมือง
- เขตเหล่งโอ๊ว (龙湖区, หลงหูชวี)
- เขตเห่ากัง (濠江区, เหาเจียงชวี)
- เขตเตี่ยเอี๊ย (潮阳区, เฉาหยางชวี)
- เขตเตี่ยนั้ม (潮南区, เฉาหนานชวี)
- เขตเถ่งไฮ่ (澄海区, เฉิงไห่ชวี)
- อำเภอหนั่มอ่อ (南澳县, หนานเอ้าเซี่ยน) เป็นเกาะเล็กๆที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง


แต้จิ๋ว มีพื้นที่ 3,146 ตร.กม. ประชากร ๒ ล้านกว่าคน แบ่งออกเป็น ๒ เขต และ ๑ อำเภอ



- เขตเซียงเกี๊ย (湘桥区, เซียงเฉียวชวี) คือเขตใจกลางเมือง
- เขตเตี่ยอัง (潮安区, เฉาอานชวี)
- อำเภอเหยี่ยวเพ้ง (饶平县, เหราผิงเซี่ยน)


กิ๊กเอี๊ย มีพื้นที่ 5,265 ตร.กม. ประชากร ๕ ล้านกว่าคน แบ่งออกเป็น ๑ เขต ๓ อำเภอ และเมืองระดับอำเภอ ๑ เมือง



- เขตหย่งเซี้ย (榕城区, หรงเฉิงชวี) คือเขตใจกลางเมือง
- เขตกิ๊กตัง (揭东区, เจียตงชวี)
- เมืองโผวเล้ง (普宁市, ผู่หนิงซื่อ)
- อำเภอกิ๊กไซ (揭西县, เจียซีเซี่ยน)
- อำเภอหุ่ยไล้ (惠来县, ฮุ่ยไหลเซี่ยน)


ซัวบ้วย มีพื้นที่ 4,862 ตร.กม. ประชากรประมาณ ๒ ล้านคน แบ่งออกเป็น ๑ เขต ๒ อำเภอ และเมืองระดับอำเภอ ๑ เมือง



- เขตเมือง (城区, เฉิงชวี) คือเขตใจกลางเมือง
- เมืองเหล็กฮง (陆丰市, ลู่เฟิงซื่อ)
- อำเภอไหฮง (海丰县, ไห่เฟิงเซี่ยน)
- อำเภอเหล็กฮ้อ (陆河县, ลู่เหอเซี่ยน)



ลักษณะของภาษาแต้จิ๋ว

- เขียนด้วยอักษรจีนเหมือนกันภาษาจีนกลาง แต่ออกเสียงต่างกัน สื่อสารกันด้วยคำพูดกับคนที่พูดจีนกลางไม่ได้ ภาษาเขียนเขียนเหมือนจีนกลาง แต่ภาษาพูดจะใช้คำต่างออกไปเยอะ บางคำก็เป็นแค่ภาษาพูดซึ่งไม่มีอักษรเขียนด้วย ไวยากรณ์โดยรวมเหมือนจีนกลางแต่มีความต่างเล็กน้อยบางส่วน
- มีเสียงวรรณยุกต์มากถึง ๘ เสียง
- มีตัวสะกดที่เป็นคำตาย คือแม่กก กับแม่กบ และคำเสียงสั้นแบบไม่มีตัวสะกด เช่น เจ๊ก (一) จั๊บ (十) แปะ (百) ในขณะที่จีนกลางไม่มีเสียงแบบนี้
- ไม่มีเสียงตัวสะกดแม่กน กับแม่กด ทำให้คนจินแต้จิ๋วมักพูดภาษาไทยไม่ชัด เสียงตัวสะกด น เป็น ง และเสียง ด เป็น ก
- คำไหนที่จีนกลางออกเสียงตัวสะกด น แต้จิ๋วมักจะออกเสียงเป็น ง หรือ ม แทน เช่น 安 จีนกลางอ่าน อาน แต้จิ๋วอ่าน อัง และ 音 จีนกลางอ่าน อิน แต้จิ๋วอ่าน อิม
- มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่าเสียงออกจมูก ซึ่งฟังแล้วแยกแยะกับเสียงธรรมดายากมากสำหรับคนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา เช่นคำว่า เฮีย (兄) ที่แปลว่าพี่ชาย กับคำว่าเฮีย (靴) ที่แปลว่ารองเท้า ฟังเผินๆเหมือนจะออกเสียงเหมือนกัน แต่ว่าคำว่าเฮียที่แปลว่าพี่ชายนั้นเป็นออกเสียงออกจมูก ดังนั้นจึงไม่เหมือนกัน
- พยัญชนะต้นมีเสียง บ และ ง ด้วย ในขณะที่จีนกลางไม่มี
- เสียงวรรณยุกต์ของคำคำหนึ่งไม่ค่อยตายตัว ถ้าเป็นคำโดดจะออกเสียงเป็นเสียงวรรณยุกต์ดั้งเดิม แต่ถ้าไปนำหน้าคำอื่นจะเปลี่ยนวรรณยุกต์ต่างไปจากเดิม เช่น เจี๊ยะ (食) แปลว่ากิน แต่พอเป็นกินข้าวจะอ่านว่า เจียะปึ่ง (食饭) ไม่ใช่ เจี๊ยะปึ่ง ประเทศไทยใช้คำว่า ไท้กก (泰国) แต่พอพูดว่าคนไทยต้องอ่านเป็น ไท้ก๊กนั้ง (泰国人) ดังนั้นจะเห็นบ่อยๆว่าบางทีอักษรตัวเดียวกันแท้ๆแต่กลับอ่านไม่เหมือนกัน นั่นเพราะอยู่ในตำแหน่งไม่เหมือนกัน

ข้อมูลเพิ่มเติมอ่านในวิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาแต้จิ๋ว



หากถามถึงว่าปัจจุบันนี้ภาษาแต้จิ๋วจำเป็นแค่ไหนละก็ คงต้องตอบว่าไม่ค่อยจะจำเป็นแล้ว เพราะคนแต้จิ๋วในประเทศจีนแทบจะทั้งหมดสามารถคุยจีนกลางได้ ดังนั้นเรียนจีนกลางได้ประโยชน์กว่าเยอะ เพียงแต่พวกคนแก่ๆที่ไม่เคยได้ออกเดินทางไปไหนมาไหนบ่อยๆก็อาจจะไม่รู้จีนกลาง นอกจากนี้ชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะในไทย ก็มักจะรู้แต่แต้จิ๋ว ไม่รู้จีนกลาง หรือถึงรู้จีนกลางก็ไม่ได้คล่องมาก ดังนั้นจึงอาจเรียกว่าจำเป็นอยู่ก็ได้

เพียงแต่ปัญหาคือถ้าใครอยากจะเรียนภาษาแต้จิ๋วตอนนี้ ตำราเรียนนั้นเรียกได้ว่าหายากมาก และไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะเรียน และถึงจะเรียนได้ก็ไม่อาจคุยคล่องเหมือนคนที่คุยมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นใครเคยใช้มาตั้งแต่เด็กก็ถือว่าโชคดีไป ส่วนใครไม่เคยก็อาจจะค่อนข้างลำบาก




# แก้ไขเพิ่มเติม 22/2/2019

ภาษาแต้จิ๋วเป็นสำเนียงย่อยของภาษาหมิ่นหนาน (หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า ภาษาจีนฮกเกี้ยน) เกี่ยวกับภาษาหมิ่นหนานอ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170824

ส่วนรายละเอียดเรื่องการผันวรรณยุกต์ของภาษาหมิ่นหนาน (รวมถึงแต้จิ๋ว) อ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170825


# แก้ไขเพิ่มเติม 23/9/2024

มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตการปกครองบางส่วน ทั้งพื้นที่และจำนวนประชากรก็ต่างไปจากเดิมจึงแก้ข้อมูลใหม่


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> กวางตุ้ง >> แต้จิ๋ว

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文