φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



วรรณยุกต์ในภาษาหมิ่นหนาน (ฮกเกี้ยน)
เขียนเมื่อ 2017/08/25 22:20
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
ในบทความที่แล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20170824

ได้แนะนำเกี่ยวกับภาษาหมิ่นหนาน (ฮกเกี้ยน) ในไต้หวันไปแล้ว และก็ได้ทิ้งท้ายด้วยเรื่องของการออกเสียงเอาไว้

สำหรับในบทความนี้จะพูดถึงในส่วนของวรรณยุกต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่ายุ่งยากที่สุดสำหรับภาษานี้ แต่ก็มีความน่าสนใจน่าศึกษาไม่น้อย



ภาษาหมิ่นหนานมีวรรณยุกต์กี่เสียง
วรรณยุกต์เป็นลักษณะร่วมอย่างหนึ่งของภาษาทั้งหมดในกลุ่มภาษาจีน โดยส่วนใหญ่แล้วภาษาจีนท้องถิ่นที่ใช้ในจีนตอนใต้จะมีวรรณยุกต์ค่อนข้างมาก โดยกวางตุ้งมีเยอะสุดคือ ๙ เสียง เทียบกันแล้วจีนกลางถือว่าค่อนข้างน้อยคือมีแค่ ๔ เสียงเท่านั้น

ภาษาหมิ่นหนานนั้นดั้งเดิมมีเสียงวรรณยุกต์ทั้งหมด ๘ เสียง แต่ในปัจจุบันสำเนียงส่วนใหญ่ได้สูญเสียวรรณยุกต์ไป ๑ เสียง จึงเหลือ ๗ เสียง

สำเนียงฮกเกี้ยนในไต้หวันและเซี่ยเหมินเดิมทีได้รับอิทธิพลจากสำเนียงจางโจวและสำเนียงเฉวียนโจวมามาก ซึ่งสำเนียงจางโจวนั้นมีวรรณยุกต์ ๗ เสียง ในขณะที่สำเนียงเฉวียนโจวเหลือวรรณยุกต์ครบ ๘ เสียง

แต่ในไต้หวันสำเนียงจางโจวมีอิทธิพลมากกว่า และยังมีสำเนียงผสมอีก สุดท้ายแล้วคนไต้หวันที่ใช้สำเนียงที่มีวรรณยุกต์ ๘ เสียงจึงเหลือแค่ที่อำเภอลู่ก่าง (鹿港) จังหวัดจางฮว่า (彰化) เท่านั้น ซึ่งเป็นแค่ส่วนน้อยมาก ส่วนสำเนียงเซี่ยเหมินเองก็เหลือ ๗ เสียงเช่นกัน

ดังนั้นโดยทั่วไปสามารถถือได้ว่าฮกเกี้ยนมีวรรณยุกต์ ๗ เสียง

มาดูทางด้านภาษาแต้จิ๋วกันบ้างเพื่อการเปรียบเทียบสักหน่อย

เนื่องจากสำเนียงฮกเกี้ยนกับสำเนียงแต้จิ๋วเป็นภาษาหมิ่นหนานเหมือนกัน ต่างกันแค่สำเนียงเท่านั้น ดังนั้นจึงมีลักษณะร่วมกันในระดับที่สามารถเทียบเคียงกันได้

วรรณยุกต์เองก็เช่นกัน สามารถเทียบเคียงกันได้โดยสมบูรณ์ ตัวเลขที่ใช้แทนวรรณยุกต์ใช้แบบเดียวกัน คือแทนด้วยเลข 1-8

เมื่อเทียบแล้วเราจะพบว่าสำเนียงแต้จิ๋วไม่ว่าจะแถบไหนก็ตามล้วนมีการอนุรักษ์วรรณยุกต์ไว้ครบ ๘ เสียง



ทำความเข้าใจวรรณยุกต์
ก่อนอื่นทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณยุกต์สักนิดก่อน แต่ไหนแต่ไรวรรณยุกต์คืออะไร

หลายคนคงอธิบายได้ว่ามันคือความสูงต่ำของเสียงนั่นเอง ซึ่งก็ไม่ผิดแต่นั่นเป็นแค่คำตอบแบบง่ายๆเท่านั้น เพราะจริงๆถ้าวรรณยุกต์เป็นแค่การออกเสียงให้สูงหรือต่ำต่างกัน มันก็ไม่อาจจะมีความหลากหลายเท่านี้ได้

ความจริงสิ่งที่ทำให้เราแยกได้ว่าวรรณยุกต์อะไรนั้นต้องประกอบไปด้วยสองส่วนคือ ความสูงต่ำของเสียง และการเปลี่ยนแปลงความสูงต่ำในระหว่างออกเสียง

ภาษาที่แบ่งวรรณยุกต์แค่ความสูงต่ำของเสียงก็มีอยู่ แต่ภาษาแบบนั้นจะแบ่งวรรณยุกต์ได้แค่ ๓ เสียงคือสูง กลาง ต่ำ เท่านั้น

แต่ภาษาไทยและภาษาจีนทั้งหมดแบ่งวรรณยุกต์โดยใช้ทั้งความสูงต่ำและความเปลี่ยนแปลงไปด้วยพร้อมกัน ดังนั้นจึงสร้างวรรณยุกต์ได้หลากหลาย

เพื่อให้เห็นภาพชัดมาดูวรรณยุกต์ทั้ง ๕ ของภาษาไทยกันก่อนว่ามีการเปลี่ยนแปลงเสียงยังไง



ส่วนวรรณยุกต์ทั้ง ๗ ของภาษาหมิ่นหนานสำเนียงไต้หวันจะเป็นแบบนี้



ฟังเสียงทั้ง ๗ ได้ในคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=a_BVabMdiSk

ในนี้จะเห็นว่าแยกเป็น ๘ เสียง แต่เสียงที่ 6 ก็ใช้สัญลักษณ์เดียวกับ 2 แล้วก็อ่านเหมือนกัน

ฟังแล้วจะเห็นว่าฟังดูคล้ายภาษาไทย ดังนั้นเราจึงสามารถทำการเทียบเคียงแปลงมาเป็นวรรณยุกต์ไทยได้แบบคร่าวๆ แม้จะไม่ได้พอดีเป๊ะก็ตาม



เสียงวรรณยุกต์ของภาษาหมิ่นหนาน
ตารางแสดงการเปรียบเทียบวรรณยุกต์

ตัวเลข สัญลักษณ์ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว
a1 a อ๊า อา
a2 á อ้า อ้า
a3 à อ่า อ่า
ah4 ah อะ อะ
a5 â อ๋า อ๊า
a6 ǎ อ้า อ๋า
a7 ā อา อ่า
ah8 a̍h อ๊ะ อ๊ะ


ในที่นี้เสียง 4 กับ 8 จะเป็นพยางค์ปิด คือลงท้ายด้วย h k p t (ะ ก บ ด) ส่วนที่เหลือเป็นพยางค์เปิด

โดยรวมแล้วจะเห็นว่าเสียงพยางค์เปิดทั้ง ๕ (ตัดเสียง 6 ทิ้ง) จับคู่กับวรรณยุกต์ทั้ง ๕ ในภาษาไทยได้พอดี

ถึงจะมีพยางค์ปิดเพิ่มเข้ามาอีก ๒ เสียงคือเสียง 4 กับ 8 แต่ก็เป็นคนละคำกับเสียงอื่นแน่นอนจึงไม่ต้องกลัวจะสับสน

ทั้งนี้นี่เป็นแค่การเทียบเคียงแบบให้ใกล้เคียงที่สุดเท่านั้น ในความเป็นจริงไม่ได้เหมือนเป๊ะ อีกทั้งยังมีความแปรปรวนโดยขึ้นกับสำเนียงด้วย ในที่นี้ฮกเกี้ยนยึดตามสำเนียงมาตรฐานในเซี่ยเหมินและไต้หวัน ส่วนแต่้จิ๋วยึดตามซัวเถา

ตัวอย่างเสียงที่มีครบ ๗ วรรณยุกต์

1 2 3 4 5 7 8
kun kún kùn kut kûn kūn ku̍t
กุ๊น กุ้น กุ่น กุด กุ๋น กุน กุ๊ด

ที่ต้องระวังสักหน่อยคือเสียง 1, 4 และ 8

เสียง 1 สามารถเทียบเคียงเป็นเสียงตรี แต่ที่จริงมีความต่าง คือเป็นเสียงสูงเรียบ แต่เสียงตรีของไทยจะมีการยกเสียงสูงขึ้นในช่วงท้าย (ดูเส้นในภาพข้างบนเปรียบเทียบ)

เสียง 4 ที่จริงเป็นเสียงสามัญ ไม่ใช่เสียงเอก เสียงอยู่ในระดับกลาง ไม่ได้ต่ำนัก แต่ในภาษาไทยไม่สามารถเขียน "คำตายเสียงสามัญ" ได้ เลยได้แต่เขียน "อะ" หรือ "อัด" แบบนั้น

เสียง 8 ก็เป็นเสียงสูงเรียบเช่นเดียวกับเสียง 1 แต่จะสูงกว่าและสั้นกว่า

แล้วก็ที่จริงนอกจากนี้แล้วยังมีวรรณยุกต์เสียงเบาด้วย เช่นเดียวกับจีนกลาง ไม่นับว่าเป็นวรรณยุกต์นึง แล้วก็เจอในคำบางคำแบบไม่ตายตัว ต้องจำเอาเองว่าคำไหนเป็น

ปกติเวลาเขียนพินอินเสียงเบาจะถูกเขียนแทนด้วย -- นำหน้า เช่น

出來 tshut--lâi อ่านว่า "ฉุดไหล่"

กรณีนี้ 來 เป็นเสียงเบา แม้จะยังเขียนรูปวรรณยุกต์อยู่แต่ก็ไม่ได้ออกเสียงตามนั้นแล้ว แต่เสียงจะกลายเป็นอะไรนั้นก็แล้วแต่คำ

จากตรงนี้จะเห็นว่าแม้วรรณยุกต์ในไต้หวันกับแต้จิ๋วจะเทียบเคียงกันได้ แต่เสียงเดียวกันก็ออกเสียงต่างกัน ที่ต่างกันชัดคือเสียง 1 5 6 7

เสียง 1 ของฮกเกี้ยนจะเสียงค่อนข้างสูง ใกล้เคียงเสียงตรี แต่ของแต้จิ๋วจะตรงกับเสียงสามัญ

เช่นคำว่าเต้าฮวย คือ 豆花 tāu-hue แต้จิ๋วเรียกว่า "เต่าฮวย" แต่ฮกเกี้ยนจะเป็น "เต่าฮ้วย"

(tāu ในที่นี้เป็นเสียง 7 (สามัญ) แต่ผันเป็นเสียง 3 (เอก) เพราะนำหน้าคำอื่น เกี่ยวกับเรื่องนี้จะขยายความในหัวข้อถัดไป)

เสียง 5 ของไต้หวันเป็นเสียงจัตวา ส่วนแต้จิ๋วเป็นเสียงตรี

เช่นคำว่าลูกเต๋า คือ 骰 tâu แต้จิ๋วเรียกว่า "เต๊า" แต่ฮกเกี้ยนเป็น "เต๋า"

เสียง 7 ของฮกเกี้ยนเป็นเสียงสามัญ ของแต้จิ๋วเป็นเสียงเอก

เช่นคำว่าเต้าหู้ คือ 豆腐 tāu-hū แต้จิ๋วเรียกว่า "เต่าหู่" ฮกเกี้ยนเรียกว่า "เต่าฮู"

นอกจากนี้คำที่ในแต้จิ๋วเป็นเสียง 6 นั้น ฮกเกี้ยนจะไม่มีแล้ว (ยกเว้นแค่ในบางสำเนียง) จึงกลายเป็นเสียงอื่นแทน มักกลายเป็นเสียง 7

อย่างคำว่า "ตี๋" 弟 ที่แปลว่าน้องชาย คำนี้เป็นเสียง 6 ในแต้จิ๋ว ไทยเรียกตามแต้จิ๋ว แต่ในฮกเกี้ยนเป็นเสียง 7 คือ "ตี" dī



การเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์เมื่อนำหน้าคำ
วรรณยุกต์ในภาษาหมิ่นหนานมีเอกลักษณ์ตรงที่ต้องมีการเปลี่ยนเสียงเมื่อไปนำหน้าคำอื่น

ไม่ว่าจะฮกเกี้ยนหรือแต้จิ๋วก็มีการเปลี่ยนเสียง แต่ว่าเป็นไปในคนละทิศทางกัน

อีกทั้งสำเนียงฮกเกี้ยนภายในไต้หวันเองก็ยังมีกฎการเปลี่ยนไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับว่าได้รับอิทธิพลจากสำเนียงจางโจวหรือเฉวียนโจวมากกว่ากัน

แต่แบบจางโจวนั้นจะแพร่หลายกว่า สำเนียงมาตรฐานที่เซี่ยเหมินเองก็ยึดการผันตามแบบจางโจว ดังนั้นในนี้ก็จะยึดแบบจางโจวเป็นหลัก

สรุปเป็นแผนผังได้ดังนี้



ที่เขียนว่า 漳 คือแบบจางโจว ที่เขียนว่า 泉 คือแบบเฉวียนโจว

จากแผนผังสรุปสั้นๆได้ว่า สำหรับวรรณยุกต์ที่เป็นเสียงพยางค์เปิด การเปลี่ยนจะวนดังนี้ สำหรับสำเนียงจางโจว
5 → 7 → 3 → 2 → 1 → 7
อ๋า > อา > อ่า > อ้า > อ๊า > อา

เพียงแต่ว่าหากเป็นสำเนียงเฉวียนโจวจะมีกฎการวนเป็น 1 → 7 → 3 → 2 → 5 → 3 แต่อันนี้ไม่ต้องจำก็ได้เพราะเป็นส่วนน้อย แค่ให้รู้ว่ามีคนผันแบบนี้

ตัวอย่าง คำว่า จางโจว 漳州 ชื่อในสำเนียงฮกเกี้ยนคือ tsiang-tsiu เป็นเสียง 1 (ตรี) ทั้งคู่ แต่ตัวหน้าต้องผันเป็นเสียง 7 (สามัญ) จึงเป็น "เจียง-จิ๊ว"

คำว่าไต้หวัน 台灣 tâi‑uân เป็นเสียง 5 (จัตวา) ทั้งตัวหน้าและหลัง แต่ตัวหน้าต้องผันเป็นเสียง 7 (สามัญ) ดังนั้นจึงอ่านว่า "ไตอ๋วน"

เซี่ยเหมิน 廈門 ē-mn̂g ตัวแรกเป็นเสียง 7 (สามัญ) ต้องผันเป็นเสียง 3 (เอก) จึงเป็น "เอ่หมึง"



ลองเทียบกับแต้จิ๋วดูสักหน่อย สำหรับกฎการผันของแต้จิ๋วจะเป็น
2 → 6 → 7
3 → 5 → 7

จะเห็นว่าต่างไปมาก นอกจากจะไม่ได้มีลักษณะเป็นวังวนแล้ว เสียง 1 กับ 7 ก็ไม่มีการผันด้วย แต่ของฮกเกี้ยนจะต้องผันหมดไม่ว่าเสียงไหน

ยกตัวอย่างเช่นเสียง 2 (โท) ฮกเกี้ยนผันเป็นเสียง 1 (ตรี) แต่แต้จิ๋วผันเป็นเสียง 6 (สำหรับแต้จิ๋วคือจัตวา)

เช่นคำว่า "ก๋วยเตี๋ยว" คือ 粿條 kué tiâu แต้จิ๋วเรียกว่า "ก๋วยเตี๊ยว" ฮกเกี้ยนเรียก "ก๊วยเตี๋ยว"



ต่อมาดูกรณีของเสียงพยางค์ปิด ซึ่งอันนี้ต้องแบ่งเป็น ๒ กรณี คือกรณีลงท้ายด้วย k p t (อัก อับ อัด) จะเป็น
4 → 8 และ 8 → 4

ก็คือแค่สลับกันเท่านั้น
อัด > อั๊ด, อั๊ด > อัด

ตัวอย่างเช่น คำว่า "ฮกเกี้ยน" ในสำเนียงฮกเกี้ยนจริงๆต้องอ่านเป็น "ฮ็อกเกี่ยน" คำนี้มาจาก ห็อก 福 hok กับ เกี่ยน 建 kiàn แต่พอรวมกันแล้วตัวหน้าซึ่งเป็นเสียง 4 จะผันเป็นเสียง 8 จึงเป็น "ฮ็อกเกี่ยน"

แล้วก็ หากคำว่า "คนฮกเกี้ยน" ก็จะเป็น 福建人 hok-kiàn-lâng ซึ่งตัว kiàn ก็ต้องถูกผันไปด้วย จากเสียง 3 (เอก) จึงกลายเป็นเสียง 2 (โท) เป็น "ฮ็อกเกี้ยนหลัง"

ส่วนกรณีที่ลงท้ายด้วย h (อะ) จะมีกฎการผันต่างไป คือกลายเป็น
4 → 2 และ 8 → 3

ข้อสังเกตก็คือเสียงจะกลายเป็นพยางค์เปิดไป เสียงจะยาวขึ้น
อะ > อ้า, อ๊ะ > อ่า

สำหรับการผันของแต้จิ๋วนั้น ก็จะเป็น 4 กับ 8 เปลี่ยนไปมาเช่นกัน แต่จะเป็นทุกกรณี ไม่ว่าจะลงท้ายด้วย h หรือเปล่า

ตัวอย่างความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเช่นคำว่า "บ๊ะจ่าง" 肉粽 bah-tsàng พยางค์แรก "บะ" ต้องผัน

แต้จิ๋วจะผันเป็น "บ๊ะจั่ง" แต่ฮกเกียนต้องออกเสียงยาวเป็น "บ้าจั่ง"

ลองดูคลิปนี้จะได้ยินชัดเจนว่าออกเสียงเป็น "บ้าจั่ง" https://www.youtube.com/watch?v=E3nbd4REaY4



คำไหนบ้างที่ต้องเปลี่ยนเสียง
หลังจากที่เข้าใจว่าคำไหนผันเสียงยังไงแล้ว ยังมีปัญหาที่ยุ่งยากเหลืออยู่อีกข้อ นั่นก็คือ... คำไหนบ้างที่จะต้องเปลี่ยนเสียง

ในตอนแรกได้อธิบายแค่คร่าวๆว่าเมื่อนำหน้าคำอื่นจะต้องเปลี่ยนเสียง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกตัวยกเว้นตัวสุดท้ายของคำจะต้องเปลี่ยนเสียงทั้งหมด มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องทำความเข้าใจก่อน

เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน รายละเอียดจริงๆยังจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์เป็นอย่างมาก

ในที่นี้จะสรุปคร่าวๆดังนี้

(จากตรงนี้คำไหนขีดเส้นใต้ก็คือไม่เปลี่ยนเสียง)

๑. ในประโยคจะมีการแบ่งช่วงใจความชัดเจน คำสุดท้ายของแต่ละช่วงไม่ต้องเปลี่ยนเสียง

๒. คำที่เป็นภาคประธานของประโยคก็ถือเป็นการแบ่งช่วงจึงไม่ต้องเปลี่ยนเสียง
台灣文學 真趣
tâi‑uân-bûn‑ha̍k-sái tsin tshù‑
ไต-วัน-บุน-หัก-ไซ่ จิน ชู่-บี
(ประวัติศาสตร์วรรณกรรมไต้หวันน่าสนุกมาก)

敢有?
kam‑á kám ū tinn ?
กัม-อ้า กั๊ม อู ตี๊ง์?
(ส้มหวานมั้ย?)

๓. เพียงแต่ว่ายกเว้นคำที่เป็นสรรพนาม เนื่องจากมักเป็นสิ่งที่ผู้พูดและผู้ฟังรู้ดีอยู่แล้ว อาจเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเสียงก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเน้นหรือเปล่า เช่น

伊敢欲來台?
i kám beh lâi Tâi-pak ?
อี กั๊ม เบ้ ไหล ไต-ปัก?
(เขาจะมาไทเปมั้ย?)

๔. คำที่เป็นหัวข้อหลักที่เน้นในประโยค แม้จะไม่ใช่ประธานก็ไม่ต้องเปลี่ยนเสียงด้วย เช่นคำที่ยกกรรมขึ้นมากล่าวก่อน เช่น
予你,塗 我來
uánn hōo lí sué, thôo-kha guá lâi sào
อั๊วง์ ห่อ ลี้ ซ่วย, ทอ-คา งั้ว ไล เส่า
(ชามให้เธอล้าง พื้นให้ฉันกวาด)

๕. ท้ายคำที่นำหน้าคำบุพบทจะไม่ต้องเปลี่ยนเสียง เช่น
交無朋
káu‑kuài ê lâng kau bô pîng‑
เก๊า-ก่วย เอ หลัง เกา เบอ ปิง-อิ้ว
(คนเจ้าเล่ห์จะไม่มีเพื่อนคบ)

๖. คำบอกเวลาหรือสถานที่ ท้ายคำไม่ต้องเปลี่ยนเสียง เช่น

閣地
Lâm-tâu thàu‑tsá koh tē‑tāng
ลัม-เต๋า เท่า-จ้า เก้อ เต่-ตัง
(หนานโถวตอนรุ่งสางแผ่นดินไหวอีกแล้ว)

๗. คำที่นำหน้าคำเสียงเบาไม่ต้องเปลี่ยนเสียง

เช่น 起來 kóng--khí-lâi (ว่าไปแล้ว) คำนี้ 講 อ่านเสียงเดิมเป็น "ก้อง"

คำบางคำตัวท้ายอาจมีทั้งเสียงเบาและไม่เบา ก็จะทำให้ตัวหน้าอ่านต่างกันไปด้วย แล้วความหมายก็จะต่างกัน

เช่น 驚死 kiann-sí ถ้าตัวหลังเสียงเบาจะอ่านว่า "เกี๊ยง์สี่" แปลว่า "กลัวจะตาย" (กลัวมากๆ)

แต่ถ้าตัวหลังไม่ใช่เสียงเบาจะอ่านว่า "เกียง์ซี่" แปลว่า "กลัวความตาย" (ขี้ขลาด)

๘. คำที่ขยายคำที่อยู่ข้างหลังจะต้องเปลี่ยนเสียง แต่ถ้าคำหลังขยายคำหน้าจะไม่มีการเปลี่ยนเสียง

เช่น 烏 oo thinn àm ออ ที้ อั้ม เต (ฟ้าดำดินมืด) ตัว 烏 กับ 暗 จะเปลี่ยนเสียง

แต่ถ้า 天烏 地暗 thinn oo àm ที้ อ๊อ เต อั่ม (ความหมายเหมือนกัน) อ่านเสียงเดิมทั้งหมด

๙. ประโยคที่มีกริยาหลายตัวคู่ขนานกันไปก็ถือเป็นการแบ่งช่วง ท้ายแต่ละช่วงไม่ต้องเปลี่ยนเสียง
我欲買便 轉來
guá beh bué piān‑tong tńg lâi tsia̍h
งั้ว เบ้ บ๊วย เปี่ยน-ท้อง ตึ๊ง ไล เจี๊ยะ
(ฉันจะซื้อเบนโตวกลับมากิน)

ในที่นี้เริ่มจากซื้อก่อน เสร็จแล้วก็ค่อยกลับมากิน แม้จะมีความต่อเนื่องแต่สองส่วนนี้ก็มีใจความแยกกันอยู่ในตัว



นอกจากนี้ก็ยังมีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นปลีกย่อยอีกมากมาย



อ้างอิง
https://www.moedict.tw
http://uegu.blogspot.tw/2015/01/blog-post_16.html
http://twblg.dict.edu.tw/holodict_new/compile1_3_9_3.jsp
http://210.240.193.39/loh/jiapeng/d1-12.pdf
https://zh.wikipedia.org/wiki/台灣話
https://zh.wikipedia.org/wiki/闽南语
https://zh.wikipedia.org/wiki/闽南语连续变调
https://zh.wikipedia.org/wiki/台湾闽南语罗马字拼音方案
https://www.youtube.com/watch?v=DA_DMxQVLqE
https://www.youtube.com/watch?v=BPjAK3f5fJ4
http://v.youku.com/v_show/id_XNDk0MTAxNjM2.html
หนังสือ "ลูกหลานคนแต้จิ๋ว 潮人後裔" โดยเหล่าตั๊ง


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> เรียนภาษา
-- ภาษาศาสตร์ >> ภาษาจีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文