φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



แนะนำองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)
เขียนเมื่อ 2014/01/16 23:49
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนมาจากการที่ได้ร่วมค่ายอบรมวิชาการภาคฤดูหนาวของโซวเคนไดที่วิทยาเขตซางามิฮาระของ JAXA https://phyblas.hinaboshi.com/20131205
ตั้งใจจะให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่อ่านทั่วไปสามารถเข้าใจได้

เนื้อหาโดยหลักแปลและสรุปจากเว็บไซต์ของ JAXA ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น และเพิ่มเติมบางส่วนจากความเข้าใจของตัวเอง และข้อมูลบางส่วนจากวิกิพีเดีย รูปประกอบทั้งหมดก็นำมาจากเว็บไซต์เดียวกัน

อ้างอิง
http://www.jaxa.jp/pr/brochure/pdf/07/general01.pdf
http://www.jaxa.jp/pr/brochure/pdf/06/centers03.pdf
http://www.jaxa.jp/about/centers/index_j.html




หากพูดถึงเทคโนโลยีทางด้านอวกาศแล้ว คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงสหรัฐฯหรือไม่ก็รัสเซีย แต่ในช่วงยุคสมัยไม่นานมานี้ประเทศต่างๆก็ได้พยายามเริ่มท้าทายต่ออวกาศกันมากขึ้น ประเทศหนึ่งที่โดดเด่นน่าจับตามองก็คือญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะมีงบในการวิจัยทางด้านอวกาศไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ แต่ก็มีผลงานสำคัญโดดเด่นมากมายที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย

และหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จด้านอวกาศของญี่ปุ่นก็คือองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศ (宇宙航空研究開発機構) ของญี่ปุ่น หรือที่เรียกย่อๆกันว่า JAXA (ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Japan Aerospace eXploration Agency)

JAXA ก่อตั้งเมื่อปี 2003 จากการรวมตัวของ ๓ องค์การทางด้านอวกาศของญี่ปุ่น คือ
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศ (宇宙科学研究所) หรือที่เรียกย่อๆว่า ISAS (มาจากภาษาอังกฤษว่า Institute of Space and Astronautical Science)
- สถาบันวิจัยเทคโนโลยีการบินอวกาศ (航空宇宙技術研究所) หรือที่เรียกย่อๆว่า NAL (มาจากภาษาอังกฤษว่า National Aerospace Laboratory of Japan)
- องค์การพัฒนาอวกาศ (宇宙開発事業団) หรือที่เรียกย่อๆว่า NASDA (มาจากภาษาอังกฤษว่า National Space Development Agency)

หน่วยงานทั้งสามนี้ต่างก็มีส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของญี่ปุ่นมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนที่จะรวมตัวเป็นหน่วยงานเดียวกัน เมื่อรวมกันแล้ว JAXA ก็มีหน้าที่สานต่องานที่เคยทำมาก่อนเหล่านั้นต่อไป

สโลแกนของ JAXA คือ "ท้าทายท้องฟ้า บุกเบิกอวกาศ" (空へ挑み、宇宙を拓く) ภารกิจของ JAXA คือไล่ตามความเป็นไปได้อันไม่มีขีดจำกัด เพื่ออนาคตที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอวกาศ

ความหลงใหลและความกลัวที่มีต่ออวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลที่อาจเรียกได้ว่าไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งนั้นเริ่มมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

อวกาศเป็นดินแดนที่บรรพบุรุษของพวกเราเคยได้แต่แหงนมองฟ้าแล้วจินตนาการถึง เมื่อผ่านพ้นยุคสมัยต่างๆไป และเทคโนโลยีต่างๆได้พัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ตอนนี้อวกาศได้กลายมาเป็นสาขาสำคัญที่มนุษยชาติให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังกลายเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพวกเราที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลก

อวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้นยังแฝงไปด้วยปริศนาอยู่มากมาย แต่ว่าอวกาศก็ได้เผยให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้อันไม่มีขีดจำกัด

JAXA ยึดมั่นในภารกิจอันยิ่งใหญ่ต่างๆนี้และกำลังท้าทายต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะเข้าถึงปริศนาและส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างอุดมสมบูรณ์และสงบสุขยิ่งขึ้นได้อย่างเต็มที่



งานของ JAXA

ปัจจุบัน JAXA มีบทบาทหน้าที่ต่างๆมากมายดังนี้

๑. การใช้ประโยชน์จากอวกาศโดยผ่านดาวเทียม

    เพื่อที่จะทำให้การใช้ชีวิตของพวกเราดีขึ้น และปกป้องโลกที่พวกเราอาศัยอยู่ใบนี้ให้อยู่ต่อไปได้ในอนาคต JAXA ได้ทำการสังเกตการณ์การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน, ใช้ดาวเทียมเพื่อตรวจตราภัยพิบัติธรรมชาติทั่วโลก และวัดตำแหน่งเพื่อสร้างระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์

๒. การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ
    เพื่อที่จะอธิบายว่าพวกเรามาจากไหนและจะเป็นอย่างไรต่อไป อะไรคือจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของอวกาศ ชีวิตกำเนิดมาจากไหน JAXA ได้ทำการสังเกตการณ์อวกาศ หรือการสำรวจและสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ อีกทั้งยังทำการทดลองในสภาพแวดล้อมแบบในอวกาศและการวิจัยทางวิศวกรรมที่นำสมัย มุ่งหวังผลสำเร็จทางการวิจัยในระดับชั้นนำของโลก

๓. การสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์

    ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยทำให้พื้นที่อยู่อาศัยของมนุษยชาติสามารถค่อยๆขยายขึ้นจนออกจากโลกไปสู่อวกาศ JAXA จึงได้เดินหน้าแผนการสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ โดยร่วมมือกับองค์กรอวกาศของประเทศต่างๆ แล้วพิจารณาแผนงานสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ได้อย่างเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังทำการสนับสนุนภารกิจต่างๆต่อไปเรื่อยๆ

๔. การใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมแบบในอวกาศ
    สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) สิ่งก่อสร้างในอวกาศที่มีคนอยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ถูกสร้างขึ้นให้โคจรรอบโลก โดยอยู่สูงจากพื้นดิน ๔๐๐ กม. ภายใน ISS ได้มีการทดลองต่างๆโดยใช้ประโยชน์จากลักษณะพิเศษของสภาพแวดล้อมแบบในอวกาศ โดยหวังจะนำผลสำเร็จไปประยุกต์ใช้ในสาขาต่างๆอย่างกว้างขวาง เช่น การแพทย์, ทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ, วัสดุศาสตร์, การศึกษา, ศิลปะการแสดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ ISS เป็นเครื่องมือในการสร้างบุคลากรระดับนานาชาติ

๕. ระบบขนส่งที่เชื่อมโยงพื้นโลกเข้ากับอวกาศ
    ในการขนส่งดาวเทียมต่างๆขึ้นสู่ท้องฟ้า ตั้งแต่ดาวเทียมสื่อสารและดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปจนถึงยานสำรวจดาวเคราะห์สำหรับไล่ตามปริศนาของวัตถุท้องฟ้า รวมถึงการขนส่งเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ เราต้องใช้จรวดชนิดต่างๆ JAXA จะทำให้เทคโนโลยีจรวดซึ่งญี่ปุ่นได้พัฒนาขึ้นเองมาโดยตลอดนั้นพัฒนาต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในกระบวนการขนส่งที่มีอยู่ให้สูงยิ่งขึ้น

๖. การวิจัยเทคโนโลยีการบิน
    ยานพาหนะที่บินได้นั้นได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับวิถีชีวิตของเราในฐานะเป็นวิธีการในการเคลื่อนย้ายและขนส่ง JAXA มีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของญี่ปุ่น โดยการวิจัยเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีการบินที่ปลอดภัยและเข้ากับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับความต้องการที่ขยายวงกว้างและหลากหลายมากขึ้นในอนาคต

๗. วิจัยเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน
    JAXA สั่งสมความรู้จากการทำการวิจัยต่อเนื่องอย่างไม่หยุดหย่อน แล้วยังสร้างรากฐานเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง สนับสนุนและผลักดันงานวิจัยอันนำสมัยรวมถึงอุปกรณ์ทดสอบและวิจัยซึ่งจะเป็นเสาหลักของพลังเทคโนโลยีของสาขาวิทยาศาสตร์อวกาศ พร้อมกันนั้น ก็ได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีชิ้นส่วนและองค์ประกอบที่จำเป็นเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีอวกาศ, บุกเบิกเทคโนโลยีที่ไม่เคยลองมาก่อนเพื่อจะทำให้แนวความคิดด้านอวกาศในอนาคตเป็นจริง ทำการสาธิตต่างๆบนวงโคจรรอบโลกโดยใช้ดาวเทียมสาธิตขนาดเล็ก (小型実証衛星)

๘. กิจกรรมทางการศึกษาและการแลกเปลี่ยนบุคลากร
    JAXA จัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาต่างๆให้กับเยาวชนทั้งในระดับประถมและมัธยมโดยใช้วิทยาศาสตร์อวกาศเป็นวัตถุดิบ เพาะเลี้ยงเยาวชนที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ ผลักดันงานวิจัยและส่งเสริมการศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัยด้วยการติดต่อร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ

๙. ผลักดันความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม, สถาบันศึกษา และรัฐบาล
    JAXA ให้ความสำคัญกับการติดต่อร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างรากฐานทางอุตสาหกรรมอวกาศของญี่ปุ่นและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ อีกทั้งสร้างธุรกิจใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากอวกาศ

๑๐. ความร่วมมือระดับนานาชาติ
    ความร่วมมือระดับนานาชาติอย่างกว้างขวางเป็นสิ่งจำเป็นในการคลี่คลายปัญหาระดับโลก JAXA จึงได้ให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมกับนานาชาติในฐานะองค์กรการบินอวกาศระดับชั้นนำของโลก ความสามารถทางเทคโนโลยีระดับสูงในสาขาการบินอวกาศที่ญี่ปุ่นมีอยู่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับฐานะของญี่ปุ่นในนานาชาติ และรักษาสันติภาพของโลก

๑๑. กิจกรรมประชาสัมพันธ์
    JAXA ได้ทำกิจกรรมเพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนได้ทำความเข้าใจและให้การสนับสนุน โดยใช้โอกาสและช่องทางต่างๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมและการพัฒนาอวกาศของ JAXA ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันและเนื้อหางานวิจัยล่าสุด พยายามกระจายข่าวสารในหลายช่องทางเพื่อจะให้ผู้คนรู้สึกว่าอวกาศเป็นสิ่งใกล้ตัวเรามากขึ้น



ศูนย์ต่างๆของ JAXA




๑. สำนักงานใหญ่ ศูนย์อวกาศและการบินโจวฟุ (本社・調布航空宇宙センター)

    ตั้งอยู่ที่เมืองโจวฟุ จังหวัดโตเกียว เป็นศูนย์ที่ทำการวิจัยเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานของสาขาทางด้านอวกาศและการบิน ภายในมีเครื่องมือต่างๆที่เป็นระดับสุดยอดของประเทศ อย่างอุโมงค์ลมซึ่งใช้ทดสอบการปะทะกับอากาศของยานบิน และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งใช้ในการคำนวณงานใหญ่ๆเช่นการจำลองเพื่อออกแบบและวิเคราะห์ยานอวกาศ

๒. สำนักงานสาขาโตเกียว (東京事務所)
    ตั้งอยู่ในเขตจิโยดะของโตเกียว รับหน้าที่เป็นศูนย์ส่งเสริมการใช้ดาวเทียมและจัดการงานของสำนักงานใหญ่บางอย่าง

๓. ศูนย์อวกาศทสึกุบะ (筑波宇宙センター)


    ตั้งอยู่ที่เมืองทสึกุบะ จังหวัดอิบารากิ สร้างขึ้นเมื่อปี 1972 พื้นที่ประมาณ ๕๓๐,๐๐๐ ตร.ม. มีการวิจัยพัฒนาและทดสอบยานอวกาศสำหรับอนาคต และเป็นฐานเครือข่ายในประเทศที่คอยติดตามและควบคุมดาวเทียมที่ถูกส่งออกไป นอกจากนี้ยังเป็นที่พัฒนาและทดสอบโมดูล “คิโบว” (きぼう) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสถานีอวกาศนานาชาติ และยังมีการฝึกนักบินอวกาศด้วย ปัจจุบันที่นี่ประกอบด้วยสำนักงานใหญ่ของภารกิจขนส่งอวกาศ, สำนักงานใหญ่ที่หนึ่งของโครงการประยุกต์ใช้ดาวเทียม, สำนักงานใหญ่การวิจัยและพัฒนา, สำนักงานใหญ่ของภารกิจส่งคนขึ้นสู่อวกาศ, และสำนักงานใหญ่ของการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศบางส่วน ทำงานวิจัยพัฒนาและทดสอบเพื่อการพัฒนาอวกาศ เป็นศูนย์การพัฒนาด้านอวกาศของญี่ปุ่น

๔. วิทยาเขตซางามิฮาระ (相模原キャンパス)


    ตั้งอยู่ที่เมืองซางามิฮาระ จังหวัดคานางาวะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1989 เป็นสถาบันที่ทำการวิจัยเพื่อไขปริศนาต่างๆของอวกาศ เช่น กิจกรรมของดวงอาทิตย์ และการกำเนิดของดวงจันทร์, ดาวเคราะห์, หลุมดำ หรือดาราจักรต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศและอวกาศโดยใช้บัลลูน ภายในวิทยาเขตมีอาคารวิจัยและบริหารจัดการ, อาคารศูนย์วิจัย แล้วก็กลุ่มอาคารสำหรับทำการทดสอบเฉพาะทางที่ใช้ทดลองและพัฒนาจรวดและพาหนะสำหรับบรรทุกดาวเทียม นอกจากนี้ที่นี่ยังจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งช่วยสร้างเด็กรุ่นถัดไปที่จะมามีบทบาทในการพัฒนาสังคมของมนุษยชาติ และยังเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ใช้ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่รวบรวมนักวิจัยมากมายมาทำงานวิจัยต่างๆ มีส่วนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศโดยเป็นฐานในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อวกาศที่มีนักวิจัยจากประเทศต่างๆทั่วโลก

รายละเอียดเพิ่มเติมเขียนไว้ในหน้านี้ https://phyblas.hinaboshi.com/20140118

๕. ศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ (種子島宇宙センター)


    ตั้งอยู่ปลายแหลมทางใต้สุดของเกาะทาเนงาชิมะ ในเขตของเมืองมินามิตาเนะ (南種子町) จังหวัดคาโงชิมะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1969 เป็นฐานปล่อยจรวดที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีพื้นที่ ๙.๗ ล้าน ตร.ม. ทำหน้าที่ตั้งแต่การประกอบจรวดจนถึงการปล่อยจรวด และยังตรวจสภาพขั้นสุดท้ายของดาวเทียมเพื่อจะนำไปขึ้นจรวด ภายในมีที่ปล่อยจรวดขนาดใหญ่สำหรับปล่อยจรวด H-IIA หรือ H-IIB อาคารประกอบดาวเทียมสำหรับประกอบและทดสอบดาวเทียมและยานอวกาศที่จะส่งไปกับจรวด อาคารประกอบโครงสร้างภายนอกของดาวเทียม ทางเหนือมีสถานีส่งสัญญาณอวกาศมาสึดะ และทางตะวันตกมีสถานีเรดาร์อุจูงาโอกะ (宇宙ヶ丘レーダステーション) และสถานีสังเกตการณ์ทางแสง ซึ่งทำหน้าที่ช่วยติดตามจรวด

๖. สถานีสังเกตการณ์อวกาศอุจิโนอุระ (内之浦宇宙空間観測所)


    ตั้งอยู่ที่เมืองอุจิโนอุระ จังหวัดคาโงชิมะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1962 เพื่อใช้ส่งจรวดและดาวเทียม และติดตามและรับข้อมูล ที่นี่ได้ทำการปล่อยดาวเทียมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์และยานสำรวจดาวเคราะห์ต่างๆมากมาย โดยเริ่มจาก "โอสึมิ" (おおすみ) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของญี่ปุ่นในปี 1970 ที่นี่มีจานรับสัญญาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐ เมตรและ ๓๔ เมตรสำหรับรับคลื่นวิทยุจากดาวเทียมที่ถูกปล่อยออกไป

๗. ศูนย์สังเกตการณ์โลก (地球観測センター)


    ตั้งอยู่ที่เมืองฮาโตยามะ (鳩山町) จังหวัดไซตามะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1978 เพื่อวางรากฐานและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (รีโมทเซนซิง) เพื่อที่จะสังเกตการณ์สภาพแวดล้อมของโลกจากดาวเทียม ที่นี่ประกอบไปด้วยจานรับสัญญาณทรงพาราโบลา ๓ อัน ทำหน้าที่รับข้อมูลจากดาวเทียมสังเกตการณ์และเก็บบันทึก นอกจากนี้ยังใช้ระบบคอมพิวเตอร์จัดการภาพและเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจให้กับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศโดยใช้ DVD หรือช่องทางอื่นๆ และยังมีถ่ายทอดให้คนทั่วไปด้วย อีกทั้งยังทำการอธิบายปัญหาสิ่งแวดล้อม จับตาภัยพิบัติ สำรวจทรัพยากร

๘. ศูนย์อวกาศคากุดะ (角田宇宙センター)

    ตั้งอยู่ที่เมืองคากุดะ จังหวัดมิยางิ สร้างขึ้นเมื่อปี 1965 ใช้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับจรวดซึ่งใช้ขนส่งดาวเทียมออกนอกชั้นบรรยากาศ ที่นี่แบ่งงานออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือวิจัยพัฒนาและทดสอบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเหลวที่ใส่ในจรวดชนิดต่างๆเช่น H-IIA อีกส่วนหนึ่งคือวิจัยพัฒนาเครื่องยนต์จรวดแบบที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้เพื่อที่จะนำไปประยุกต์เป็นระบบขนส่งอวกาศซึ่งนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ หรือเครื่องยนต์ที่สามารถนำอากาศมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ในขณะที่กำลังบินอยู่ในชั้นบรรยากาศ

๙. สนามทดลองจรวดโนชิโระ (能代ロケット実験場)


    ตั้งอยู่ที่เมืองโนชิโระ จังหวัดอากิตะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1962 โดยแรกเริ่มมีไว้ทดสอบการเผาไหม้บนพื้นดินชนิดต่างๆเพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ของจรวดรุ่นมิวซึ่งใช้ส่งดาวเทียมวิทยาศาสตร์และยานสำรวจอวกาศ และจรวดสังเกตการณ์ ตั้งแต่ปี 1975 ใช้พัฒนาจรวดออกซิเจนเหลวและไฮโดรเจนเหลว ตั้งแต่ปี 1988 ได้เริ่มมีการพัฒนาเครื่องยนต์แอร์เทอร์โบแรมเจ็ต (ATR) สมรรถภาพสูงซึ่งถูกใช้ในยานขนส่งอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยที่นี่ใช้ทดสอบภาคพื้นดินเพื่อตรวจสอบสมรรถภาพ ก่อนที่จะไปทดสอบบินจริง ในบริเวณนี้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ทดสอบเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงแข็ง และอุปการณ์ทดลองต่างๆที่จำเป็นสำหรับการพัฒนางานวิจัยเครื่องยนต์สมรรถภาพสูงสำหรับอนาคต

๑๐. สนามทดลองการบินและอวกาศไทกิ (大樹航空宇宙実験場)


    ตั้งอยู่ที่เมืองไทกิ จังหวัดฮกไกโด เป็นสถานที่ทำการทดสอบการบินต่างๆโดยใช้ยานบินทดสอบเพื่อสาธิตถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 1997 และตั้งแต่ปี 2008 การปล่อยบัลลูนขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการทดลองซึ่งเคยทำที่ฐานสังเกตการณ์บัลลูนขนาดใหญ่ซันริกุ (三陸大気球観測所) ที่เมืองโอฟุนาโตะ (大船渡市) จังหวัดอิวาเตะก็ได้ย้ายมาที่นี่ด้วย ภายในบริเวณเป็นสวนสาธารณะที่ประกอบไปด้วยลานวิ่งที่ยาวถึง ๑๐๐๐ ม. และมีพื้นที่บนอากาศเพียงพอต่อการใช้งาน และยังมีโรงเก็บเครื่องบินขนาดใหญ่ซึ่งกว้าง ๓๐ ม. ยาว ๘๓.๒ ม. สูง ๓๔.๙ ม. ,หอควบคุมการบิน และอุปการณ์วัดสภาพอากาศ

๑๑. สถานีสังเกตการณ์อวกาศอุสึดะ (臼田宇宙空間観測所)


    ตั้งอยู่ที่เมืองอุสึดะ (ปัจจุบันถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองซากุ (佐久市)) จังหวัดนางาโนะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1984 ทำหน้าที่ส่งสัญญาณควบคุมยานอวกาศที่สำรวจดาวเคราะห์หรือดาวหาง และรับข้อมูลสังเกตการณ์ที่ได้จากยาน เพื่อที่จะรับสัญญาณซึ่งมาจากที่ไกลและเบาบางมากจึงต้องตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งห่างไกลจากคลื่นรบกวนต่างๆจากย่านเมือง ส่วนหลักของที่นี่คือจานรับสัญญาณทรงพาราโบลาขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๔ ม. ซึ่งหนักถึง ๑๙๘๐ ตัน

๑๒. สถานีสื่อสารอวกาศคัตสึอุระ (勝浦宇宙通信所)


    ตั้งอยู่ที่เมืองคัตสึอุระ จังหวัดจิบะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1968 หน้าที่หลักคือติดตามและควบคุมดาวเทียม รับคลื่นจากดาวเทียมที่ส่งไป ตรวจว่าตำแหน่งและสภาพของดาวเทียมและอุปการณ์อิเล็กโทรนิกที่บรรจุอยู่ทำงานเป็นปกติอยู่หรือไม่แล้วออกคำสั่งควบคุมตามสถานการณ์เพื่อควบคุมรักษาสภาพดาวเทียม ประกอบไปด้วยจานรับสัญญาณทรงพาราโบลาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๓ ม. และ ๑๐ ม. และยังมีอาคารติดตามและควบคุม, อาคารผลิตไฟฟ้า และอาคารปล่อยลำแสงขนานโนโนซึกะซึ่งตั้งอยู่บนเขาโนโนซึกะ

๑๓. สถานีสื่อสารอวกาศมาสึดะ (増田宇宙通信所)


    ตั้งอยู่ที่เมืองนากาตาเนะ (中種子町) เกาะทาเนงาชิมะ จังหวัดคาโงชิมะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1974 ทำหน้าที่รับคลื่นจากดาวเทียม ตรวจตราว่าดาวเทียมรักษาสภาพวงโคจร, ตำแหน่ง และสภาพไว้เป็นปกติอยู่หรือไม่ ส่งข้อมูลให้กับศูนย์อวกาศทสึกุบะเพื่อจะได้รู้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใส่อยู่ยังทำงานเป็นปกติอยู่หรือไม่ อีกทั้งส่งคำสั่งควบคุมไปตามสถานการณ์เพื่อควบคุมสภาพดาวเทียม นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดตามจรวดด้วยเรดาร์ความแม่นยำสูง และรับสัญญาณโทรมาตรที่ส่งจากจรวด แล้วตรวจตราสภาพของจรวด

๑๔. สถานีสื่อสารอวกาศโอกินาวะ (沖縄宇宙通信所)


    ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านอนนะ (恩納村) จังหวัดโอกินาวะ สร้างขึ้นเมื่อปี 1963 หน้าที่หลักคือติดตามและควบคุมดาวเทียม รับคลื่นจากดาวเทียมที่ส่งออกไป แล้วตรวจสอบสภาพและตำแหน่ง ตรวจดูว่าอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ที่บรรจุอยู่ทำงานปกติหรือไม่ และส่งคลื่นคำสั่งไปสนับสนุนตามสภาพของดาวเทียม

๑๕. สถานีติดตามจรวดโองาซาวาระ (小笠原追跡所)


    ตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะกลางเกาะจิจิ (父島) ในหมู่เกาะโองาซาวาระ จังหวัดโตเกียว สร้างขึ้นเมื่อปี 1975 ใช้ตรวจสอบยืนยันเส้นทางการบินหรือสภาพการบินของจรวดที่ปล่อยออกจากศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ และรับประกันความปลอดภัย มีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับใช้คลื่นในการติดตามจรวดที่กำลังบินอยู่ ที่นี่กับศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะเชื่อมต่อกันด้วยวงจรเฉพาะทาง สามารถส่งข้อมูลถึงกันได้ภายในช่วงเวลาที่สั้นมาก

๑๖. สำนักงานดาวเทียมคันไซ (関西サテライトオフィス)

    ตั้งอยู่ที่เมืองฮิงาชิโอซากะ (東大阪) จังหวัดโอซากะ สร้างขึ้นเมื่อปี 2003 เป็นฐานพัฒนาอวกาศของทางภูมิภาคคันไซ เป็นสำนักงานประสานงานผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานที่พัฒนาอวกาศ โดยหลักจะสนับสนุนเทคโนโลยีการพัฒนาอวกาศให้กับบริษัทหรือมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจที่จะทำธุรกิจด้านอวกาศ ให้คำปรึกษาด้านอวกาศ นอกจากนี้ยังมีอุปการณ์สำหรับทดสอบดาวเทียมขนาดเล็ก สามารถทดสอบในสภาวะสูญญากาศร้อนหรือทดสอบการสั่นสะเทือนได้

๑๗. ฐานวิจัยการบินที่สนามบินนาโงยะ (名古屋空港飛行研究拠点)


    ตั้งอยู่ติดกับสนามบินนาโงยะ (名古屋飛行場) ซึ่งเป็นสนามบินประจำจังหวัด มีหน้าที่ทำการทดลองสาธิตการบิน เป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านการบินของญี่ปุ่น ประกอบด้วยโรงเก็บเครื่องบินที่สามารถเก็บได้สามลำ ห้องควบคุมการทดลองที่สามารถติดตามการบินได้ภายในช่วงเวลาที่สั้นมาก และห้องเตรียมอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมสำหรับการทดสอบส่วนประกอบแต่ละชนิดของเครื่องบิน

๑๘. สำนักงานประจำต่างประเทศ
มีอยู่ ๕ แห่ง
- สำนักงานประจำกรุงวอชิงตัน
    ทำหน้าที่ติดต่อกับสำนักงานใหญ่ของ NASAองค์กรจัดการด้านสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA), ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, สภาผู้แทนราษฎร, บริษัทที่เกี่ยวกับการบินอวกาศ และทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมของ JAXA ภายในอเมริกา
- สำนักงานประจำฮิวส์ตัน
    ทำหน้าที่ติดต่อกับศูนย์อวกาศจอห์นสัน (JSC) ซึ่งโดยหลักแล้วทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งคนไปในอวกาศ สำนักงานนี้จึงรับผิดชอบเรื่องการฝึกนักบินอวกาศ การพัฒนาและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากสถานีอวกาศ การทดลองกระสวยอวกาศ
- สำนักงานประจำกรุงปารีส
    ใช้ติดต่อแผนงานที่ร่วมมือกับทางยุโรป โดยเฉพาะองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปารีส และองค์การอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส (CNES)
- สำนักงานประจำกรุงเทพฯ
    ตั้งอยู่ในอาคารบีบีที่ถนนอโศก ทำหน้าที่สนับสนุนการใช้สถานีรับสัญญาณจากดาวเทียมที่ลาดกระบังของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ใช้ข้อมูลจาก JAXA ที่รับจากสถานีนี้ภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดต่อกับหน่วยงานต่างๆภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำรวจแนวโน้มในภูมิภาค และประชาสัมพันธ์
- สำนักงานประจำกรุงมอสโก
    ใช้สนับสนุนการฝึกฝนของนักบินอวกาศญี่ปุ่นภายในรัสเซีย การส่งคนขึ้นและลงด้วยยานโซยูส และทำการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอวกาศของรัสเซียเรื่องสถานีอวกาศนานาชาติหรือโครงการอวกาศต่างๆ



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์
-- ประเทศญี่ปุ่น

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文