สวนสาธารณะถวิ่นหมุ่น สวนสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก
เขียนเมื่อ 2015/01/25 17:07
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อังคาร 13 ม.ค. 2015
หลังจากเดินเที่ยวตามเส้นทางสมบัติทางวัฒนธรรมเผ่งซ้านเสร็จ https://phyblas.hinaboshi.com/20150122
ก็ขึ้นรถรางจากสถานีเผ่งซ้านเพื่อไปยังเป้าหมายสุดท้ายนั่นคือสวนสาธารณะถวิ่นหมุ่น (屯門公園) ซึ่งมีสวนสัตว์เลื้อยคลานอยู่ เรียกว่าหอสัตว์เลื้อยคลานสวนสาธารณะถวิ่นหมุ่น (屯門公園爬蟲館)
ปกติเวลาที่ไปเที่ยวเมืองไหนเราจะชอบเที่ยวสวนสัตว์อยู่แล้ว ครั้งนี้เองก็ถือโอกาสแวะมาที่นี่เพราะว่าอยู่ไม่ไกลจากเผ่งซ้านมาก เดินทางสะดวก
การเดินทางไปถวิ่นหมุ่นถ้าเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าทิ้นโสยไหว่ซึ่งเราเพิ่งมาลงเมื่อครู่นี้ละก็มันอยู่ห่างกันแค่สองสถานีเท่านั้น แต่ว่าตอนนี้เราเดินไกลออกมาจากสถานีรถไฟฟ้าพอสมควร แต่ตรงนี้ก็มีรถรางซึ่งใช้แทนกันได้ สามารถไปถึงถวิ่นหมุ่นได้เหมือนกัน เพียงแต่จำนวนป้ายที่จอดนั้นมีจำนวนมากจึงทำให้ใช้เวลาเดินทางนานกว่า ความจริงแล้วทางเลือกที่เร็วที่สุดน่าจะเป็นการนั่งรถรางกลับไปที่สถานีทิ้นโสยไหว่แล้วค่อยนั่งรถไฟฟ้าต่อไปถึงถวิ่นหมุ่น แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจนั่งรถรางไปจนจบเลยดีกว่า รถไฟฟ้านั่งมาเยอะแล้ว
เส้นทางรถรางมีหลายสายค่อนข้างซับซ้อนอยู่ ตอนแรกเราขึ้นผิดสายไปขึ้นสาย ๗๖๑ ซึ่งมีปลายทางอยู่ที่ทิ้นหยัด (天逸) ซึ่งอยู่ทางเหนือ เป็นคนละทางกับถวิ่นหมุ่น ทำให้ต้องลงกลางทางที่สถานีฮ้างเหมย์ชวิ้น (坑尾村) เพื่อรอรถรางสาย ๗๕๑
คราวนี้ไม่ผิดแล้ว รถรางสาย ๗๕๑ คันนี้มีปลายทางอยู่ที่เหยาออย (友愛) ซึ่งอยู่ทางตะวันตก ผ่านถวิ่นหมุ่นระหว่างทาง
ใช้เวลาเดินทางนานพอสมควร โดยจอดทีละป้ายระหว่างทาง ในที่สุดก็ถึงสถานีถวิ่นหมุ่นแล้ว
แผนที่บริเวณแถวๆนี้
บริเวณนี้แม้ว่าจะอยู่เกือบสุดขอบฮ่องกงแล้วแต่ย่านเมืองรอบๆก็เต็มไปด้วยตึกสูงเหมือนกัน ที่ฮ่องกงไม่ว่าจะย่านไหนถ้ามีที่เขาก็ต้องสร้างตึกสูงๆ
ตรงนี้เป็นห้าง
อาคารนี้คือโบสถ์
ทางเข้าสวนสาธารณะถวิ่นหมุ่นไปทางนี้
แผนที่
บรรยากาศภายในก็ดูร่มรื่นดี
ตรงนี้มีคนนั่งเล่นหมากรุกจึนกันอยู่
บางส่วนก็ประดับทำเป็นน้ำตกสวยดี
แล้วก็มาถึงเป้าหมายหลัก นั่นก็คือหอสัตว์เลื้อยคลาน
ประตูทางเข้า
ที่นี่มีจัดแสดงสัตว์เลื้อยคลานอยู่หลายชนิด แต่ก็ไม่ได้กว้างนัก มีขนาดค่อนข้างเล็ก
เต่าเหรียญทอง (三線閉殼龜/金錢龜, Cuora trifasciata)
ตะกองจีน (中國水龍, Physignathus cocincinus)
เต่ารัศมีดารา (輻射紋龜, Astrochelys radiata)
เหี้ย (五爪金龍, Varanus salvator)
เตกูแดง (紅泰加巨蜥, Tupinambis rufescens)
งูโบอาหางสีแดง (紅尾蚺, Boa constrictor)
จิ้งเหลนลิ้นสีน้ำเงิน (藍舌石龍子, Tiliqua scincoides scincoides)
กิ่งก่าหางหนามมาลี (馬里刺尾蜥, Uromastyx dispar maliensis)
งูหลามบอล (球蟒, Python regius)
เหี้ยป่าชายเลน (紅樹巨蜥, Varanus indicus)
จิ้งเหลนลูกสน (松果蜥, Tiliqua rugosa)
งูวอมา (窩瑪蟒, Aspidites ramsayi)
กิ้งก่าแผงคอ (傘蜥, Chlamydosaurus kingii)
กิ้งก่าคาเมเลียนสารพัดสี (七彩變色龍, Furcifer pardalis)
งูหลามต้นไม้สีเขียว (綠樹蟒, Morelia viridis)
ตุ๊กแกกลางวันมาดากัสการ์ (馬達加斯加綠壁虎, Phelsuma madagascariensis)
เต่าคองูเหนือ (北方蛇頸龜, Chelodina siebenrocki)
เต่าจมูกหมู (豬鼻龜, Carettochelys insculpta)
เต่าบึงสีดำ (黑池龜, Geoclemys hamiltonii)
งูหลามคาร์เพ็ต (地氈蟒, Morelia spilota)
ส่วนตรงนี้เป็นตู้เต่า
เจ้าตัวใหญ่ที่เห็นเด่นอยู่นี่คือเต่าซูลคาตา (盾臂龜, Geochelone sulcata)
นอกจากสัตว์จริงๆเป็นๆแล้วก็ยังมีแบบที่ไม่มีชีวิตด้วย
แล้วก็แผ่นป้ายพร้อมรูปภาพอธิบาย อย่างเช่นอันนี้กล่าวถึงงูที่มีสดใสแต่เต็มไปด้วยอันตราย
ตรงนี้อธิบายเกี่ยวกับชีวิตของงู
วัวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลาน
ภาพเต่าชนิดต่างๆ แต่ว่าไม่รู้ทำไมชื่อเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด คำว่า Schildkröten ในภาษาเยอรมันแปลว่าเต่า มาจากคำว่า Schild ที่แปลว่าโล่ กับคำว่า Kröten ที่แปลว่าคางคก ดูเหมือนคนเยอรมันจะคิดว่าเต่าดูแล้วคล้ายกับเป็นคางคกที่มีกระดอง
นอกจากนี้ก็มีบริเวณทางเดินด้านนอกที่มีสัตว์อยู่อีกนิดหน่อย แต่เขาบอกว่าเนื่องจากอากาศหนาวก็เลยย้ายสัตว์เข้าไปข้างในแล้ว
จบแค่นี้ เสร็จแล้วก็ออกมาทางด้านหลัง
เรากลับไปยังสถานีรถไฟฟ้า ได้เวลากลับไปยังสนามบินเพื่อจะกลับบ้านแล้ว ตั้งใจว่าจะหารถเมล์เพื่อนั่งไปสนามบินโดยตรง จากการหาข้อมูลมาก็พบว่ามีรถเมล์สาย A33 กับ E33 ที่ท่ารถรวมเจอสาย A33 อยู่ แต่มันเป็นรถที่มีออกแค่เที่ยวเดียวตลอดทั้งวันก็เลยขึ้นไม่ได้
พอลองพยายามหา E33 ก็หาไม่เจอ ลองถามคนแถวนั้นดูแล้วเขาก็บอกทางไปแต่ก็ไม่เจออยู่ดี ต้องยอมรับว่าเตรียมข้อมูลมาไม่พร้อมเต็มที่ แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะว่าก็ยุ่งๆอยู่ก่อนที่จะเดินทาง จะให้เตรียมแผนให้พร้อมทุกอย่างเลยก็เป็นไปได้ยาก การออกมาเจอสถานการณ์จริงจะเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้นกว่า
ระหว่างที่กำลังทำอะไรไม่ถูกเวลาก็เสียไปเรื่อยๆ ปล่อยไว้แบบนี้กลัวว่ากลับสนามบินไม่ทัน ในที่สุดก็ตัดสินใจขึ้นรถไฟฟ้ากลับเส้นทางเดิมเพื่อไปขึ้นรถไฟความเร็วสูงไปสนามบินจากสถานีเช้งยี้ (青衣) เหมือนเมื่อคราวที่แล้ว แม้จะรู้ว่านี่ไม่ใช่เส้นทางที่ฉลาดนักก็ตาม แต่สำหรับคนที่เป็นนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นแล้วรถไฟฟ้าเป็นอะไรที่แน่นอนที่สุด เข้าใจง่ายสุด นั่งยังไงก็ไม่มีวันหลง
จากตรงนี้ต้องไปเปลี่ยนรถที่สถานีหน่ามเชิ้ง (南昌) ก่อนเพื่อที่จะไปสถานีเช้งยี้ ชื่อสถานีหน่ามเชิ้งนี้ชื่อเหมือนกับเมืองหนานชางในมณฑลเจียงซี เพียงแต่ว่าอ่านเป็นสำเนียงกวางตุ้ง
แล้วก็มาถึงเช้งยี้ ทิวทัศน์บริเวณนี้สวยงามเหมือนครั้งที่แล้วที่มาไม่มีเปลี่ยน
ระหว่างรอขึ้นรถไฟความเร็วสูงสู่สนามบิน ตอนนั้นเวลา 15:10 เครื่องบินเป็นรอบ 17:00 ดังนั้นเหลืออีกแค่ไม่ถึง ๒ ชั่วโมงเครื่องบินก็จะออกแล้ว แต่ก็ถือว่าไม่มีอะไรน่าห่วง มาถึงตรงนี้แล้วอีกแค่ ๒๐ นาทีก็ถึงสนามบิน เราแค่มาเปลี่ยนเครื่อง สัมภาระก็อยู่ที่สนามบินแล้ว ไม่ต้องเสียเวลามาฝากกระเป๋า ไปถึงสามารถไปที่ด่านตรวจคนเข้าออกเมืองได้เลย
ถึงแล้ว รีบตรงดิ่งไปยังด่านตรวจคนเข้าออกเมือง
พอเข้ามายังจุดรอขึ้นเครื่องก็ยังมีเวลาอีกเล็กน้อยก็หยิบคอมมาเปิดเฟสบุ๊กเล่นไปเรื่อยๆ
เวลาขึ้นเครืองคือ 16:20 ทุกคนมาเข้าแถวคิวเพื่อขึ้นเครื่องกันยาว เท่าที่เห็นแทบจะไม่มีคนไทยเลย มีแต่คนจีนค่อนข้างเยอะ บางส่วนก็เป็นคนฮ่องกง คนที่ต่อแถวอยู่ข้างๆเราเป็นคนญี่ปุ่น เขากำลังคุยกับพนักงานแต่ดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่องภาษาเพราะพูดจีนไม่ได้ อังกฤษก็ไม่คล่อง แล้วตอนที่ไปนั่งบนเครื่องก็บังเอิญว่าเขานั่งที่นั่งติดกับเราอีกด้วย บังเอิญดี
ฟ้าเริ่มสดใสขึ้นบ้างแล้วในยามนี้ ฝนไม่ตกแล้ว สภาพอากาศเหมาะแก่การออกบิน
อาหารบนเครื่อง
แล้วเครื่องบินก็มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิตรงเวลา การเดินทางสิ้นสุดลงแล้ว
แผนที่สรุปการเดินทาง หมายเลขเรียงตามลำดับสถานที่ที่แวะเที่ยวหรือไปเปลี่ยนรถ สถานที่ที่แค่ผ่านเฉยๆไม่ได้แสดงไว้ในแผนที่
1 สนามบินนานาชาติฮ่องกง (香港國際機場)
2 เฉิ่งซ้าว้าน (長沙灣)
3 จ๊งหว่าน (中環)
4 แฉ็กฉวี (赤柱)
5 ถ่งหล่อว้าน (銅鑼灣)
6 กั๊มจ๊ง (金鐘)
7 เหมย์ฟู้ (美孚)
8 ทิ้นโสยไหว่ (天水圍)
9 ถวิ่นหมุ่น (屯門)
10 หน่ามเชิ้ง (南昌)
11 เช้งยี้ (青衣)
-----------------------------------------
囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧
ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ