ก่อนหน้านี้ได้แนะนำเกี่ยวกับอักษรชนิดต่างๆในกลุ่มพราหมีและความเกี่ยวพันกับภาษาไทยไปแล้วใน
https://phyblas.hinaboshi.com/20220131จะเห็นว่าอักษรในตระกูลพราหมีนั้นมีพยัญชนะที่มีรากมาจากอักษรพราหมีและปรับเพิ่มลดอักษรให้เข้ากับอักษรตัวเองอีกที
คราวนี้อยากจะลองเอาอักษรแต่ละชนิดมาวางเปรียบเทียบกันดูสักหน่อย โดยจะขอยกมาเฉพาะอักษรที่มีรากมาจากอักษรพราหมีโดยตรง ส่วนที่เพิ่มมาใหม่นั้นจะไม่แสดงในนี้
อักษรพราหมีนั้นประกอบด้วยอักษรพยัญชนะกับสระ โดยเขียนของภาษาไทยที่เป็นตัวเทียบประกอบไว้ดังนี้
สระประกอบไปด้วยสระ อะ อา อิ อี อุ อู เอ ไอ โอ เอา นอกจากนี้ยังมี ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ด้วย แต่จะไม่ขอแสดงในนี้ เพราะถูกใช้น้อยและมักถูกตัดออกไป
ต่อไปนี้จะแสดงพยัญชนะ โดยถือว่ามีทั้งหมด ๓๕ ตัว แม้ว่าจริงๆแล้วอักษร อ นั้นในอักษรพรามีเดิมเป็นสระ แต่ในภาษาไทยและอีกหลายภาษาใช้เป็นพยัญชนะ ดังนั้นในนี้ก็จะแสดง อ เป็นอักษรตัวสุดท้ายไว้ด้วย
ส่วน ฬ นั้นจะมีแค่ในบางภาษา เพราะเป็นอักษรที่ถูกใช้เฉพาะในภาษาบาลี ไม่ได้ถูกใช้ในภาษาสันสกฤต
รายละเอียดอื่นๆเช่นว่า ๕ วรรคหลักคืออะไร สระลอยกับสระจมต่างกันยังไงนั้นได้เขียนไว้ในบทความที่แล้ว ดังนั้นในที่นี้ก็จะขอละไว้เช่นกัน
แผนผังการวิวัฒนาการของอักษรก็ได้แสดงไว้ในบทความที่แล้ว ดังนั้นในที่นี้จะไล่ลำดับตามผังนั้น
อักษรที่วิวัฒนาการมาจากอักษรพราหมีโดยตรง นั้นแบ่งเป็น ๓ ชนิดหลักคืออักษรคุปตะ อักษรกทัมพะ และอักษรปัลลวะ
อย่างไรก็ตาม อักษรเหล่านี้ล้วนไม่มีบรรจุในยูนิโค้ด จึงไม่อาจทำภาพมาแสดงในนี้ได้ จึงขอละไว้
ขอเริ่มจากอักษรทางสายที่วิวัฒนาการจากอักษรคุปตะ ซึ่งได้แก่อักษรสิทธัม อักษรเทวนาครี อักษรทิเบต และอักษรไภกษุกี
ในจำนวนนั้นอักษรไภกษุกีที่ถูกใช้อยู่ในแค่ช่วงสั้นๆ และไม่ได้มีวิวัฒนาการต่อไปเป็นอักษรชนิดอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นอักษรที่สวยงามมีลักษณะเด่น โดยเฉพาะที่มีหัวเป็นลูกศรแบบนี้
ต่อมาคืออักษรสิทธัม ซึ่งเป็นอักษรที่ถูกใช้กว้างขวาง และยังประสบความสำเร็จในการวิวัฒนาการ เพราะเป็นต้นแบบของอักษรชนิดอื่นๆอีกมากมาย แม้ว่าอักษรสิทธัมจะไม่ได้ถูกใช้แล้วในปัจจุบัน แต่อักษรหลักต่างๆในอินเดียก็ล้วนวิวัฒนาการมาจากอักษรสิทธัมทั้งนั้น
หนึ่งในนั้นคืออักษรเทวนาครี ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุด ปัจจุบันใช้เขียนทั้งภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี ภาษาเนปาล ภาษมราฐี ฯลฯ ดังนั้นน่าจะเป็นอักษรในตระกูลพราหมีที่คุ้นตาชาวโลกมากที่สุด
อักษรเทวนาครีนั้นยังได้ถูกพัฒนาต่อไปเป็นอักษรอื่นๆเช่นอักษรคุชราต ซึ่งใช้ในภาษาคุชราชในรัฐคุชราตของอินเดีย จะเห็นว่าใกล้เคียงกับอักษรเทวนาครีมาก แต่ตัดขีดด้านบนออก
แล้วก็อักษรโมฑี ซึ่งเคยถูกใช้เขียนภาษามราฐีที่ใช้ในรัฐมหาราษฏระ ซึ่งรวมถึงเมืองมุมไบ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียด้วย แต่ว่าอักษรนี้เลิกใช้ไปแล้ว เพราะภาษามราฐีหันมาใช้อักษรเทวนาครีเป็นหลัก
และอักษรปรัจลิต ซึ่งใช้ในภาษาเนวาร์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศเนปาลและในรัฐสิกขิมของอินเดียด้วย
นอกจากนี้อักษรสวยัมภู หรืออักษรซอย็อมบอ (соёмбо) ที่เคยใช้ในการเขียนภาษามองโกล ก็พัฒนาขึ้นจากอักษรเทวนาครีเช่นกัน แต่ก็ได้ตัดสระลอยทิ้งและเหลือแค่สระจมบางส่วนไว้เท่านั้น นอกจากนั้นก็มีพยัญชนะหรือสระที่เพิ่มมาใหม่อีกมาก เพื่อให้เข้ากับภาษามองโกล
อักษรอีกชนิดที่วิวัฒนาการมาจากอักษรสิทธัมก็คืออักษรเบงกอล ซึ่งก็จะเห็นว่ามีหน้าตาคล้ายกับอักษรเทวนาครีมาก อักษรนี้ใช้ในภาษาเบงกอล ซึ่งเป็นภาษาหลักของประเทศบังกลาเทศ และใช้กว้างขวางในประเทศอินเดียแถบตะวันออก นอกจากนี้ยังใช้เขียนภาษาอัสสัมด้วย
และอักษรติรหุตา ซึ่งเคยถูกใช้เขียนภาษาไมถิลี เป็นหนึ่งในภาษาที่มีผู้พูดอยู่มากในอินเดีย แต่ว่าปัจจุบันภาษาไมถิลีกลับนิยมเขียนด้วยอักษรเทวนาครีมากกว่า
ต่อมาก็อักษรไกถี ซึ่งเคยถูกใช้เขียนภาษาอวัธ ที่มีผู้พูดจำนวนเล็กน้อยในอินเดีย แต่ปัจจุบันก็หันไปใช้อักษรเทวนาครีเป็นหลักแทน
และอักษรไกถีนั้นยังคาดว่าเป็นต้นแบบของอักษรสิเลฏินาครี ซึ่งใช้ในการเขียนภาษาสิเลฏี ซึ่งมีผู้พูดอยู่บังกลาเทศและอินเดียตะวันออก
นอกจากนี้ก็มีอักษรโอริยา ซึ่งใช้ในภาษาโอริยา ซึ่งใช้ในรัฐโอฑิศาในอินเดีย
และอักษรคุนชลาโคนฑีซึ่งเคยถูกใช้เขียนภาษาโคนฑีซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆในอินเดียตอนใต้ก็มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มนี้ แต่ยังไม่อาจยืนยันได้แน่ว่ามีที่มาจากอักษรชนิดไหน
สายของอักษรสิทธัมก็ขอแนะนำถึงเท่านี้ ต่อไปมาดูอีกสายซึ่งวิวัฒนาการจากอักษรคุปตะเช่นกัน นั่นคืออักษาศารทา
อักษรศารทานั้นเคยถูกใช้เขียนาภาษาสันสกฤต แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้ถูกใช้แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นอักษรอื่นๆอีกหลายชนิดที่ยังใช้อยู่ถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นที่เป็นรู้จักที่สุดก็คืออักษรคุรมุขี ซึ่งใช้เขียนภาษาปัญจาบในอินเดีย
นอกจากนี้ก็ยังมีอักษรขุทาพาทีที่ถูกใช้เขียนภาษาสิทธีซึ่งมีผู้พูดในอินเดียและปากีสถาน
อักษรฏากรีที่ใช้เขียนเคยถูกใช้เขียนภาษาโฑครี ซึ่งมีผู้พูดอยู่เล็กน้อยในอินเดีย
และอักษรโฑครีซึ่งใช้ในภาษาโฑครีในปัจจุบันก็วิวัฒนาการมาจากอักษรฏากรี
อักษรมหาชนีซึ่งเคยใช้เขียนภาษามาร์วารี อีกภาษาหนึ่งในอินเดีย แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนไปใช้อักษรเทวนาครีแทน
อักษรโขชกี ใช้เขียนภาษากัจฉิและภาษาสิทธี ซึ่งมีผู้พูดในอินเดียและบังกลาเทศ
สำหรับสายอักษรศารทานั้นก็ขอแนะนำเพียงเท่านี้
มาที่อีกสายหนึ่งที่วิวัฒนาการมาจากอักษรคุปตะเช่นกัน นั่นคืออักษรทิเบต ซึ่งใช้เขียนภาษาทิเบตและภาษาอื่นๆในกลุ่มใกล้เคียงเช่นภาษาภูฏาน นอกจากนี้ยังวิวัฒนาการต่อไปเป็นอักษรอีกหลายชนิด อักษรทิเบตไม่ใช้สระลอย ดังนั้นอักษรในกลุ่มนี้มีลักษณะร่วมกันก็คือตัดสระลอยทิ้งไปทั้งหมด
อักษรพักปาซึ่งเคยถูกใช้เขียนภาษามองโกลในยุคราชวงศ์หยวนก็พัฒนามาจากอักษรทิเบต แต่อักษรชนิดนี้มีความพิเศษกว่าอักษรชนิดอื่นในตระกูลอักษรพราหมีตรงที่ถูกเขียนในแนวตั้งจากบนลงล่าง
มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอักษรฮันกึลที่ใช้ในภาษาเกาหลีนั้นได้รับอิทธิพลมาจากอักษรพักปาด้วย แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน ถ้าใช่จริงๆอักษรฮันกึลก็อาจถือได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับอักษรตระกูลพราหมี แม้จะแค่เล็กน้อยก็ตาม
อักษรชญานวัชระซึ่งเป็นอักษรอีกชนิดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เขียนภาษามองโกลก็พัฒนามาจากอักษรพักปา แต่ต่างจากอักษรพักปาตรงที่เขียนในแนวนอนจากซ้ายไปขวาตามปกติ อักษรนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงยุคราชวงศ์ชิง ผู้คิดก็เป็นคนเดียวกับอักษรสวยัมภู แต่ไม่ได้ถูกใช้กันอย่างกว้างขวางเท่าไหร่นัก
อักษรมาร์เชน ที่ใช้ในภาษาซังซุง ซึ่งเป็นชนเผ่ากลุ่มเดียวกับทิเบต ก็ดัดแปลงมาจากอักษรทิเบต แต่ชนเผ่านี้ได้สูญพันธุ์ไปหมดนานแล้วเพราะโดนจักรวรรดิทิเบตกลืน
อักษรเลปชา ใช้ในภาษาเลปชาซึ่งก็เป็นภาษาในตระกูลทิเบต ที่พูดในแถบเทือกเขาหิมาลัย
อักษรลิมบู ใช้เขียนภาษาลิมบู ซึ่งเป็นอีกภาษาในตระกูลทิเบต ซึ่งใช้ในแถบเทือกเขาหิมาลัย
อักษรมณีปุระ ใช้เขียนภาษามรีปุระซึ่งใช้ในรัฐมณีปุระทางตะวันออกของอินเดีย ก็วิวัฒนาการมาจากอักษรทิเบต
สายของอักษรคุปตะก็ขอแนะนำแต่เพียงเท่านี้ ต่อมามาดูอีกสาย นั่นคืออักษรที่วิวัฒนาการจากอักษรปัลลวะและอักษรกทัมพะ
อักษรเตลูกู ใช้ในภาษาเตลูกู เป็นภาษาตระกูลดราวิเดียนซึ่งถูกใช้อย่างกว้างขวางที่สุดทางตอนใต้ของอินเดีย
อักษรกันนาดา ใช้เขียนภาษากันนาดา ซึ่งก็เป็นอีกภาษาในตระกูลดราวิเดียนที่มีผู้พูดอยู่มากทางตอนใต้ของอินเดีย
และอักษรทมิฬ ใช้เขียนภาษาทมิฬ ซึ่งก็เป็นภาษาตระกูลดราวิเดียนที่ถูกใช้ทั้งในตอนใต้ของอินเดียและในศรีลังกา รวมไปถึงสิงคโปร์ด้วย อย่างไรก็ตาม อักษรทมิฬได้ตัดเอาอักษรดั้งเดิมจากอักษรพราหมีไปมาก
อักษรสิงหล ใช้ในภาษาสิงหล ภาษาราชการของประเทศศรีลังกา
อักษรครันถะก็เป็นอักษรเก่าอีกชนิดที่วิวัฒนาการมาจากอักษรปัลลวะ
อักษรเสาราษฏร์ ใช้ในภาษาเสาราษฏร์ ซึ่งมีผู้พูดอยู่เล็กน้อยในอินเดีย วิวัฒนาการมาจากอักษรครันถะ
และอักษรมลยาฬัม ใช้ในภาษามลายาฬัม ซึ่งเป็นภาษาตระกูลดราวิเดียนอีกชนิดที่ใช้มากในตอนใต้ของอินเดีย ก็มาจากอักษรครันถะ เช่นกัน
ต่อมาข้ามมาทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันบ้าง อักษรกลุ่มที่ใช้ในแถบนี้เองก็พัฒนาขึ้นมาจากอักษณปัลลวะทั้งสิ้น
เริ่มจากอักษรเขมร ซึ่งใช้ในกัมพูชา และอักษรนี้เองที่เป็นต้นแบบของอักษรไทยและอักษรลาวด้วย
นอกจากนี้ที่เวียดนามยังมีการใช้อักษรจามในการเขียนภาษาจามของพวกจาม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยภายในเวียดนาม แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยและไม่เป็นที่รู้จักนักในปัจจุบัน
อีกสายคือกลุ่มอักษรพม่า หรืออาจเรียกว่าเป็นอักษรมอญ ก็ถูกใช้ในภาษาพม่าและอีกหลายภาษาในพม่า
อักษรล้านนา ที่ใช้ในภาษาไทยถิ่นเหนือทางภาคเหนือของไทยก็วิวัฒนาการมาจากอักษรพม่านี้เอง
อักษรอาหม ใช้ในภาษาไทอาหม ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยที่เป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ในรัฐอัสสัมของอินเดีย ก็พัฒนาการมาจากอักษรพม่า
นอกจากนี้ยังมีอักษรจักมา ซึ่งถูกใช้ในภาษาจักมาของชนกฃุ่มน้อยที่อยู่ทางแถบตะวันออกของบังกลาเทศและอินเดีย แถบที่ติดกับพม่า ก็ดัดแปลงมาจากอักษรพม่า
นอกจากนี้ยังมีอักษรทางสายอักษรกวิ ซึ่งวิวัฒนาการมาจากอักษรปัลลวะเช่นกัน ส่วนใหญ่ใช้ในแถบอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทั้งหมดนั้นเลิกใช้ไปแล้ว แม้ว่ากลุ่มนี้ที่จริงมีเยอะมาก ในที่นี้ขอยกมาแค่ส่วนหนึ่ง
เริ่มจากอักษรชวา เคยถูกใช้เขียนภาษาชวาซึ่งถูกพูดอย่างกว้างขวางในเกาะชวาของอินโดนีเซ๊ย แต่ปัจจุบันนี้ภาษาชวากลับหันมาใช้อักษรโรมันแทน อักษรนี้ก็เลยไม่ได้ใช้แล้ว
และอักษรบาหลี เคยใช้เขียนภาษาบาหลีในเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย มีลักษณะคล้ายอักษรชวามาก
อักษรไบบายิน เคยถูกใช้ในภาษาตากาล็อก ภาษาหลักของฟิลิปปินส์ แต่ปัจจุบันนี้ภาษตากาล็อกหันไปใช้อักษรโรมันแทน
ภาษาตากาล็อกนั้นเดิมทีมีแค่ ๓ สระ และเสียงพยัญชนะก็น้อยด้วย จึงรับเอาอักษรมาใช้แค่ส่วนเล็กน้อย เสียงที่ซ้ำกันหรือไม่มีในภาษาตากาล็อกได้ถูกตัดออก
ก็ขอจบการนะนำอักษรชนิดต่างๆลงเท่านี้ แน่นอนว่าจริงๆแล้วยังมีอักษรอีกหลายชนิด ที่แนะนำไปในนี้ ๔๔ ชนิดเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
จะเห็นว่าอักษรไทยนั้นมีญาติอยู่มากมาย ทั้งใกล้และไกล ทั้งหมดล้วนอยู่ในตระกูลพราหมีและประกอบด้วยอักษรพื้นฐานที่เหมือนกัน และล้วนเป็นอักษรสระประกอบ