φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



ลงรถไฟที่สถานีซากุระนามิกิ แวะกินที่ร้านราเมงอาจิชิง เดินผ่านจุดตัดแบ่งระหว่างเมืองฟุกุโอกะ โอโนโจว คาสึงะ
เขียนเมื่อ 2024/12/21 20:52
แก้ไขล่าสุด 2024/12/22 10:53
# เสาร์ 21 ธ.ค. 2024

วันนี้ตอนเย็นได้ลองนั่งรถไฟไปเดินดูแถวสถานีซากุระนามิกิ (桜並木駅さくらなみきえき) ความน่าสนใจของสถานีนี้ก็คือเป็นสถานีของสายโอมุตะ (大牟田線おおむたせん) ของบริษัทรถไฟนิชิเทตสึ (西鉄にしてつ) ที่อยู่ปลายใต้สุดของเมืองฟุกุโอกะ โดยอยู่ใกล้กับรอยต่อระหว่างเมืองฟุกุโอกะกับอีก ๒ เมืองคือเมืองคาสึงะ (春日市かすがし) และ เมืองโอโนโจว (大野城市おおのじょうし)

บริเวณพื้นที่เล็กๆสีชมพูเข้มในภาพนี้คือตำแหน่งเมืองคาสึงะในจังหวัดฟุกุโอกะ ติดกับเมืองฟุกุโอกะ




ส่วนเมืองโอโนโจวอยู่ถัดไปทางตะวันออกนิดหน่อย แสดงเป็นสีชมพูเข้มในภาพนี้



ฉะนั้นครั้งนี้จึงได้ตัดสินใจมาที่นี่เพื่อที่จะเดินดูบริเวณส่วนรอยต่อที่เป็นจุดตัดระหว่าง ๓ เมืองนี้ บริเวณนั้นเป็นย่านที่อยู่อาศัยธรรมดาที่ดูไม่มีอะไรเลย แต่ความที่เป็นจุดตัดสำคัญก็ทำให้มีความน่าสนใจพอที่จะอยากลองไปดู

ทั้งเมืองคาสึงะและเมืองโอโนโจวก็ถือเป็นเมืองบริวารของเมืองฟุกุโอกะ คืออยู่ติดกัน ย่านเมืองก็ต่อเนื่องกันแทบเป็นเนื้อเดียวกัน จะมองว่าเป็นเมืองเดียวกันก็ได้ แต่ในแง่เขตการปกครองแล้วก็ถือว่าเป็นอีกเมือง แต่เส้นแบ่งก็อยู่กลางย่านชุมชนแล้วไม่ได้มีจุดสังเกตเป็นพิเศษ เดินๆอยู่ก็ข้ามโดยไม่รู้ตัวแล้ว

เมืองคาสึงะนั้นเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นประชากรเป็นอันดับต้นๆของญี่ปุ่นด้วยแถมมีแนวโน้มจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีก คนที่มีอาศัยอยู่เมืองนี้ส่วนใหญ่ก็คือคนที่จะทำงานในเมืองฟุกุโอกะ เมืองคาสึงะมีพื้นที่เล็กนิดเดียวและแทบทั้งหมดเป็นที่อยู่อาศัย ทำให้ประชากรเยอะ แต่ว่าส่วนใหญ่ไม่อยู่ตอนกลางวันเพราะเข้าเมืองฟุกุโอกะไปทำงานกันหมด

เมืองโอโนโจวก็คล้ายๆกัน แต่ว่ามีพื้นที่มากกว่าและมีส่วนที่เป็นภูเขา จึงไม่ได้หนาแน่นเท่า แต่ก็ถือว่าหนาแน่นมากเหมือนกัน

ครั้งนี้เราได้เดินเข้าไปในส่วนของเมืองโอโนโจวแค่นิดเดียว ส่วนเมืองคาสึงะนั้นก็แค่เดินไปเพื่อขึ้นรถไฟขากลับ ไม่ได้เดินเที่ยวอะไรในเมือง เพราะว่าไปตอนเย็น แค่อยากเดินดูบรรยากาศเฉยๆ แต่ที่จริงแล้วเมืองนี้ก็มีที่เที่ยวเหมือนกัน ไว้ถ้ามีโอกาสวันหลังจะมาเที่ยวดูตอนกลางวันแล้วเดินเที่ยวชมตามสถานที่เที่ยวในเมืองนี้อีกที แต่ครั้งนี้แค่มาเดินเล่นเฉยๆ

กลับมาที่เรื่องของสถานีซากุระนามิกิ ที่จริงแล้วสถานีนี้เป็นสถานีเปิดใหม่เมื่อเดือนมีนาคมปี 2024 ที่ผ่านมานี้เอง เดิมทีบริเวณที่ตั้งของสถานีนี้เป็นแค่ทางรถไฟที่อยู่ระหว่างสถานีซัชโชโนกุมะ (雑餉隈駅ざっしょのくまえき) กับสถานีคาสึงาบารุ (春日原駅かすがばるえき) แต่ว่าต่อมาจึงได้สร้างสถานีใหม่ขึ้นมาระหว่าง ๒​ สถานีนี้ โดยระยะห่างจากสถานีซัชโชโนกุมะเพียงแค่ ๕๐๐ เมตรเท่านั้นจะเดินไปก็ยังได้ ส่วนสถานีคาสึงาบารุนั้นอยู่ในเขตเมืองคาสึงะ ข้ามเขตเมืองไป แต่ก็ห่างกันแค่กิโลเดียวเท่านั้น จึงถือเป็นช่วงที่ระยะระหว่างสถานีค่อนข้างสั้น

นอกจากนี้แล้วพอลองดูในแผนที่ก็พบว่าแถวสถานีซากุระนามิกินั้นมีร้านราเมงขึ้นชื่อยู่ ชื่อร้าน ราเมงอาจิชิง (ラーメン味心あじしん) จึงเป็นเป้าหมายของครั้งนี้ด้วย

ดังนั้นโดยรวมของแผนครั้งนี้ก็คือไปลงที่สถานีซากุระนามิกิ กินราเมง เสร็จแล้วก็เดินไปดูตรงรอยต่อระหว่าง ๓ เมือง แล้วก็นั่งรถไฟกลับจากสถานีคาสึงาบารุ



เริ่มต้น มาลงที่สถานีซากุระนามิกิ เวลาขณะนั้นคือ 17:02 รอบต่อไปแสดงดังตารางด้านบนซ้าย ประมาณ ๑๐ นาทีมาเที่ยวนึง ถือว่าสะดวกดีมาก อยากมาเมื่อไหร่ก็มา



ป้ายสถานี มีรูปซากุระอยู่ด้วย



เดินออกจากสถานีมาถ่ายอาคารสถานี จะเห็นว่าสถานีนี้และรางตรงนี้เป็นแบบยกระดับ ตัวอาคารสถานีเล็กนิดเดียว



และข้างๆสถานีก็คือร้านราเมงอาจิชิงที่เราจะมากิน



แต่ว่าก่อนจะแวะเข้าไปกินขอเดินเล่นดูแถวนี้อีกหน่อย อยากเดินเล่นจนกว่าฟ้าจะมืด ที่จริงแล้ววันนี้เป็นวันเหมายัน (冬至とうじ) พอดี กลางวันสั้น กลางคืนยาว ดวงอาทิตย์จึงตกเร็ว นี่จึงเป็นสาเหตุที่ตัดสินใจมาเร็วตั้งแต่ 5 โมง ถ้ามาช้าอีกหน่อยก็มืดไปแล้ว



แถวนี้เป็นย่านชุมชน



พอดีเราดูแผนที่แล้วเห็นว่ามีสถานที่ซึ่งเหมือนเป็นอ่างเก็บน้ำเล็กๆที่ล้อมรอบไปด้วยบ้าน เรียกว่า บ่อน้ำเมโอโตะ (女夫池めおといけ) เป็นบ่อน้ำที่ขุดขึ้นมา ไม่ใช่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ นี่คือสถานที่ที่ว่า ลองเดินดูตรงย่านรอบๆบ่อน้ำนี้ก็เห็นช่องให้มองดูภายในได้บ้าง แต่มีรั้วกั้นทั้งหมด



เดินวนไปตามย่านริมบ่อน้ำเมโอโตะ




ตรงนี้ก็มีช่องให้เห็นบ่อน้ำได้อยู่



รั้วตรงนี้มีป้ายเขียนไว้ชัดว่าห้ามเข้าไป ที่นี่ไม่ใช่ที่สำหรับว่ายน้ำเล่นเพราะว่าอันตราย




อยากถ่ายภาพภายในนี้ ดูแล้วสวยดี แต่ก็ติดรั้ว



ยังเดินวนดูหาช่องต่อไป



ก็เจอช่องให้มองด้านในอยู่หลายที่ แน่นอนว่าถูกกั้นทั้งหมด แต่มองจากตรงนี้ก็สวยดีอยู่





เจอมุมนี้ที่สามารถเข้ามาส่องเห็นภาพรวมของบ่อน้ำนี้ได้เป็นวงกว้างที่สุด



จากนั้นก็เดินถัดจากตรงบ่อน้ำไปทางตะวันตกอีกหน่อย



ก็มาเจอสถานีมินามิฟุกุโอกะ (南福岡駅みなみふくおかえき) ซึ่งเป็นสถานีของ JR ที่จริงแล้วบริเวณนี้มีทางรถไฟของ JR วิ่งคู่ขนานไปด้วยในระยะที่ห่างกันนิดเดียว ดังนั้นการจะมาที่นี่ถ้านั่ง JR มาจะมาลงสถานีนี้ก็ได้ เดินนิดเดียวก็ถึง



จากนั้นก็เดินย้อนกลับไปทางสถานีซากุระนามิกิ





กลับมาถึงฟ้าก็เริ่มมืดแล้ว



จากนั้นก็ได้เวลาเข้าไปในร้านกินราเมง



บรรยากาศภายในร้าน



ที่ร้านไม่มีเมนูเป็นแผ่นให้ดู แต่ติดเอาไว้ที่ผนัง ต้องแหงนมองเอาเอง ดูแล้วมีราเมงให้เลือกหลายแบบ ในชื่อเมนูราเมงไม่มีคำว่า "ทงกตสึ" (กระดูกหมู) แต่ก็คงเป็นที่รู้กันว่าร้านราเมงในฟุกุโอกะถ้าไม่บอกก็คือเป็นฮากาตะราเมง ซึ่งยังไงก็เป็นซุปกระดูกหมูทั้งหมดอยู่แล้ว ที่เหลือคือจะใส่เครื่องเป็นอะไร



เราเลือกคือ คากุนิ (角煮かくに) คือเนื้อหมูตุ๋นซีอิ๊วญี่ปุ่น ชามนี้ราคา ๙๖๐ เยน ก็ถือว่าแพงนิดหน่อย แต่ก็อร่อยไม่ผิดหวัง



กินเสร็จก็ออกมาเดินต่อ ก่อนไปก็ถ่ายภาพหน้าร้านสักหน่อย



จากนั้นก็เดินมุ่งหน้าไปทางใต้ต่อ เลียบทางรถไฟของนิชิเทตสึซึ่งเป็นทางยกระดับ



เดินมาจนถึงแถวนี้ตรงหน้านี้ก็เป็นเขตเมืองโอโนโจวแล้ว ไม่มีป้ายอะไรบอกก็เลยเดินข้ามมาโดยไม่รู้ตัว



บริเวณนี้คือในเขตเมืองโอโนโจวแล้ว แม้จะข้ามเขตมาแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรต่างไปเป็นพิเศษ




เดินเลี้ยวมาทางตะวันตกเล็กน้อย ผ่านย่านชุมชนตรงนี้





แล้วก็มาถึงแยกสำคัญที่เป็นจุดตัดระหว่าง ๓ เมือง ในภาพนี้ด้านหลังเป็นเมืองโอโนโจว แต่เมื่อถึงแยกด้านหน้านี้ทางขวาเป็นเมืองฟุกุโอกะ ทางซ้ายเป็นเมืองคาสึงะ คนที่อยู่ตรงแถวนี้คงมีสับสนบ้างล่ะว่าตัวเองอยู่เมืองไหนกันแน่



เดินมาถ่ายจากตรงหน้าคลินิกที่อยู่ตรงแยกนี้ คราวนี้เมืองโอโนโจวอยู่ทางขวา (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนด้านหน้า (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) คือเมืองฟุกุโอกะ มองไปเห็นป้ายที่เขียนว่า 福岡市 อยู่ด้วยบอกชัดเจน ส่วนด้านหลัง (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) คือเมืองคาสึงะ



จากนั้นเดินไปทางใต้ เข้าสู่เขตเมืองคาสึงะ



เดินมานิดหน่อยจึงเห็นป้ายที่เขียนว่า 春日市 เพื่อบอกว่าเป็นเมืองคาสึงะแล้ว



จากนั้นก็เดินต่อไป เลี้ยวขวาตรงนี้ไปทางตะวันตกเฉียงใต้อีกหน่อย




แล้วก็มาถึงสถานีคาสึงะ (春日駅かすがえき) ซึ่งเป็นสถานีของ JR อยู่ถัดจากสถานีมินามิฟุกุโอกะ



สภาพสถานีดูแล้วมีส่วนที่ปิดซ่อมอยู่ บันไดตรงนี้ขึ้นไม่ได้



เดินขึ้นจากบันไดตรงนี้ได้



ส่วนตัวสถานีนี้อยู่ด้านบน



จากบนสถานีมองไปข้างๆเห็นถนนบนทางยกระดับด้วย



มองจากบนสถานีไปทางตะวันตก เห็นทิวทัศน์เมืองคาสึงะยามค่ำคืน



ภายในสถานี เข้ามาถึงก็ไม่มีอะไรนอกจากหน้าต่างขายตั๋วแล้วก็ที่แตะบัตรเข้า



แต่ว่าเราไม่ได้จะมาขึ้นรถไฟกลับจากสถานีนี้ เพราะว่านี่เป็นสถานีของ JR แต่ที่เราจะกลับคือรถไฟของนิชิเทตสึเช่นเดียวกับตอนขามา นั่นคือสถานีคาสึงาบารุ ซึ่งเป็นคนละสถานีกัน แต่ก็อยู่ไม่ไกลกันมาก ต้องเดินไปทางตะวันออกเฉียงเหนืออีกหน่อย





แล้วก็มาถึงสถานีคาสึงาบารุ




ดูจากสภาพแล้วสถานีนี้ก็กำลังมีการก่อสร้างอยู่เหมือนกัน



ตัวสถานีนี้ก็อยู่ด้านบน เพราะเป็นทางรถไฟยกระดับ



เดินแตะบัตรเข้าไป



ป้ายสถานีในชานชลา



แล้วรถไฟก็มา ได้เวลาเดินทางกลับ



ครั้งนี้ได้มากินฮากาตะราเมงอร่อยๆ แล้วยังได้มาเดินเล่นแถวจุดรอยต่อระหว่าง ๓ เมือง แม้จะไม่ได้แวะที่เที่ยวอะไร แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้มา



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> ฟุกุโอกะ
-- ท่องเที่ยว >> ราเมง
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ