# พฤหัส 26 ธ.ค. 2024วันนี้ก็ยังออกไปหาร้านราเมงกินหลังเลิกงานอีกเช่นเคยเหมือนกับวันอื่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เป้าหมายวันนี้อยู่แถวย่าน
จิโยะ (
千代) ทางตอนเหนือสุดของเขตฮากาตะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ
ที่ว่าการจังหวัดฟุกุโอกะ (
福岡県庁)
ตำแหน่งของที่ว่าการจังหวัดตั้งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟใต้ดิน ๒ สถานีคือ
สถานีจิโยะเคนโจวงุจิ (
千代県庁口駅) กับ
สถานีมาอิดาชิคิวไดเบียวอิงมาเอะ (
馬出九大病院前駅) ซึ่งตั้งอยู่บน
สายไคซึกะ (
貝塚線) และชื่อยาวทั้งคู่เลย
แถวย่านนี้มีร้านอาหารอยู่หลายร้าน ส่วนร้านที่เราแวะไปกินมาคราวนี้อยู่ที่ถนนด้านหลังของที่ว่าการจังหวัด ชื่อร้านคือ
มาชิมาชิราเมง เรื่องราวเริ่มต้นจากที่นี่ไงล่ะ (マシマシらーめん
物語はここから
始まるのだ。)
ใช่แล้ว ที่ยาวๆทั้งหมดนี่คือชื่อร้าน เป็นร้านอาหารที่ชื่อยาวที่สุดเท่าที่เคยรู้จักมาเลย เห็นชื่อร้านแล้วอย่างกับชื่อนิยายสมัยใหม่หลายเรื่องที่ชอบตั้งให้ยาว เห็นชื่อร้านแล้วรู้สึกสนใจก็เลยตัดสินใจเลือกร้านนี้
พูดถึงราเมงในฟุกุโอกะแล้วส่วนใหญ่จะเป็นราเมงกระดูกหมู (ทงกตสึ) ที่เรียกว่าฮากาตะราเมง เป็นหลัก แต่ว่าร้านนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างออกไป เรียกว่าเป็น
จิโรวเกย์ราเมง (
二郎系ラーメン) เป็นรูปแบบหนึ่งของราเมงในญี่ปุ่น มีต้นแบบมาจากร้าน
ราเมงจิโรว (ラーメン
二郎) ในโตเกียว
ลักษณะของราเมงชนิดนี้โดยรวมแล้วจะมีการใส่พวกถั่วงอกหรือผักพูนเต็มชาม มักใส่หมูชาชู มีการใส่กระเทียม เส้นที่ใช้เป็นแบบค่อนข้างหนา นอกจากนี้แล้วเวลาสั่งจะมีตัวเลือกปรับแต่งได้อย่างละเอียด ซึ่งทำให้คนที่เพิ่งเคยกินราเมงแบบนี้ครั้งแรกอาจเลือกไม่ถูก เสียเวลาได้ ทำให้คิดว่าแค่มากินราเมงยังต้องมาคิดอะไรให้ยุ่งยากอีกหรือ การที่ปรับแต่งได้เยอะก็มีทั้งข้อดีข้อเสียแบบนี้
ภาพรวมของการเดินทางครั้งนี้ก็คือนั่งรถไฟฟ้าที่สถานีไปลงที่สถานีจิโยะเคนโจวงุจิ แวะกินราเมง เดินดูแถวที่ว่าการจังหวัด แล้วก็นั่งรถเมล์จากหน้าสถานีมาอิดาชิคิวไดเบียวอิงมาเอะกลับ
การไปครั้งนี้เราเริ่มจากสถานีฮากาตะเช่นเคย ต้องไปต่อที่
สถานีนากาสึคาวาบาตะ (
中洲川端駅) เพื่อไปยังสายไคซึกะ
มาลงสถานีจิโยะเคนโจวงุจิ
ขึ้นมาบนพื้นดิน
ออกมาแล้วเดินไปทางเหนือก็เจอ
สวนสาธารณะจิโยะฮิงาชิ (
千代東公園)
ซึ่งก็เป็นแค่สวนเล็กๆ ไม่มีอะไรมาก
แล้วเดินต่อไปตามถนนสายฟุกุโอกะโนงาตะ (
福岡直方線)
ก็มาถึงร้านชื่อยาวที่เป็นเป้าหมาย
เมื่อเข้ามาในร้าน ก่อนอื่นเลือกเมนูด้วยเครื่องขาย โดยรวมแล้วถือว่าแพงอยู่ ที่เราเลือกคือราเมงธรรมดาถูกสุด ๙๘๐ เยน
แต่เลือกเมนูเสร็จแล้วก็ยังไม่จบแค่นี้ ยังต้องมาเลือกตัวเลือกปรับแต่งอีก ซึ่งเป็นลักษณะของจิโรวเกย์ราเมง มีตัวเลือกอยู่ ๕ อย่าง ให้ใช้ดินสอเขียนลงในกระดาษ ว่าต้องการมากแค่ไหน
- やさい: ผัก
- かつお: คัตสึโอบุชิ
- あぶら: น้ำมัน
- にんにく: กระเทียม
- からめ:
คาเอชิแล้วเวลาเขียนตอบก็มีวิธีการเขียนโดยเฉพาะ แบ่งเป็น ๔ ระดับ
- 基本 (คิฮง = พื้นฐาน)
- ちょいマシ (โจยมาชิ)
- マシ (มาชิ)
- マシマシ (มาชิมาชิ)
ดูในรูปที่ติดอยู่ในร้านแล้วเห็นภาพ ถ้าสั่งผักเยอะเขาจะใส่พูนชามตามในรูปจริงๆ เราเห็นแล้วไม่ไหวเลยขอแค่ ちょいマシ ก็พอ นอกจากนั้นก็เลือกพวกคัตสึโอบุชิ, น้ำมัน, กระเทียม ใช้เวลาเลือกอยู่นานเลย ไม่เคยเจอร้านราเมงที่ต้องใช้เวลาสั่งนานแบบนี้มาก่อน
หลังจากสั่งไปแค่แป๊บเดียวราเมงที่สั่งก็มา ลักษณะเด่นอีกอย่างของจิโรวเกย์ราเมงก็คือทำเสร็จเร็วมาก เพราะเตรียมเอาไว้แล้ว แค่รอใส่เครื่องตามที่สั่งเท่านั้น
โดยรวมแล้วก็อร่อยพอใช้ได้อยู่ แต่ปริมาณเส้นเยอะเกินไป (ในขณะที่หมูมีน้อยจนไม่สมดุล) กินหมดไม่ไหว ต้องยอมเหลืออย่างช่วยไม่ได้ แต่ว่าดูแล้วไขมันเยอะ ยิ่งปริมาณขนาดนี้ถ้ากินหมดละก็คงต้องระวังอ้วนได้
จิโรวเกย์ราเมงโดยทั่วไปก็เป็นแบบนี้ คนที่ชอบก็ชอบ มีหลายร้านที่มีชื่อเสียง แต่ถ้า
คนที่ไม่ชอบแค่เห็นสภาพภายนอกที่ดูเลี่ยนน้ำมันและชามที่ใส่เส้นและถั่วงอกจนพูนก็ขัดใจแล้ว ความเห็นที่มีต่อราเมงประเภทนี้แตกเป็น ๒ ทางอย่างชัดเจน ความชอบขึ้นอยู่กับคนจริงๆ
กินเสร็จก็เดินต่อไปทางเหนือต่อไป
ร้านอยู่ตรงถนนด้านหลังที่ว่าการจังหวัด หน้าร้านไม่ได้หันเข้าที่ว่าการจังหวัดโดยตรง แต่เมื่อเดินไปตามถนนแล้วเลี้ยวไปก็เห็นที่ว่าการจังหวัดตั้งเด่นอยู่ตรงหน้า
ตัวอาคารที่ว่าการจังหวัดฟุกุโอกะ เวลาค่ำคืนแบบนี้ก็ยังเห็นเปิดไฟอยู่ประมาณครึ่งนึง คงมีคนไม่น้อยในนี้ที่ทำงานกันถึงดึก
เดินต่อมายังเจอร้านราเมงอีกร้าน ชื่อร้าน
อิจิริวเตย์ (
一龍亭) เป็นร้านราเมงแบบนางาฮามะราเมง ซึ่งก็คือราเมงกระดูกหมูแบบที่พบได้ทั่วไปในฟุกุโอกะ ร้านนี้ก็ดูน่ากินเหมือนกัน
มองกลับไปยังอาคารที่ว่าการจังหวัดอีกหลังจากเดินออกมาไกลอีกหน่อย
ส่วนข้างๆที่ว่าการจังหวัดซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันนี้เป็นอาคารกรมตำรวจ
แล้วก็เห็นทางเข้าสถานีมาอิดาชิคิวไดเบียวอิงมาเอะอยู่ตรงหน้าแล้ว ส่วนทางซ้ายเป็น 7-11 เลยถือโอกาสแวะนิดหน่อย
แต่พอแวะเสร็จซื้อของออกมาก็มาโผล่อีกด้านของร้าน เพราะร้านนี้ตั้งคั่นระหว่างถนน ๒ สาย เลยกลับมายังถนนที่ร้านราเมงที่กินตอนแรกตั้งอยู่
หลังจากนั้นก็เดินย้อนกลับมายังถนนที่ติดกับที่ว่าการจังหวัด สถานีอยู่ตรงหน้านี้แล้ว
แต่ว่าเรายังไม่ได้จะกลับทันที แต่ไหนๆก็มาแล้วเลยอยากเดินเล่นดูแถวนี้ต่ออีกหน่อย เป้าหมายต่อไปอยู่ทางตะวันออก
ด้านขวานี้เป็น
พิพิธภัณฑ์มองโกลรุกราน (
元寇史料館) ตั้งอยู่ใน
สวนสาธารณะฮิงาชิ (
東公園) เป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆที่เล่าประวัติศาสตร์ช่วงที่กองทับเรือของราชวงศ์หยวนของมองโกลมารุกรานญี่ปุ่นในปี 1274 และ 1281 สถานที่ที่มาขึ้นฝั่งคือบริเวณแถวจังหวัดฟุกุโอกะ จึงมีการสร้างสถานที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ภายในเมืองฟุกุโอกะอยู่หลายแห่ง ที่นี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น
แน่นอนว่ามาในเวลานี้ก็ไม่ได้เปิดอยู่ ไว้มีโอกาสคงจะแวะมาใหม่ตอนกลางวันจะได้เข้าชม จากนั้นเราก็เดินไปตามถนนด้านเหนือของสวนสาธารณะต่อไป
แล้วก็มาถึง
สถานีโยชิซึกะ (
吉塚駅) ซึ่งเป็นสถานีสำคัญแห่งหนึ่งของ JR เราเคยนั่งรถไฟผ่านสถานีนี้มาแล้วหลายครั้งแต่ก็เพิ่งได้มีโอกาสมาเห็นด้านนอกสถานีแบบนี้
หน้าสถานีก็เต็มไปด้วยร้านค้ามากมาย ดูคับคั่งทีเดียว
เดินเข้าไปในสถานี
ภายในสถานีเองก็มีพวกร้านขายขนมอยู่อีกไม่น้อย
ที่จริงที่มาที่สถานีนี้ตอนแรกตั้งใจจะนั่งรถไฟ JR กลับ แต่เห็นเวลาเที่ยวรถไฟแล้วจังหวะไม่ดีก็เลยตัดสินใจย้อนกลับไปนั่งรถเมล์แทน ดังนั้นก็เดินออกจากสถานีโยชิซึกะ แล้วเดินข้ามถนนย้อนกลับไปทางสวนสาธารณะฮิงาชิ
ระหว่างทางดูเวลาแล้วยังเหลือก่อนเที่ยวรถเมล์ที่นั่งจะมา ก็เลยแวะเดินในสวนสาธารณะนิดหน่อย แม้จะมืดแล้วไม่ค่อยเห็นอะไรก็ตาม แต่ก็เปิดอยู่ เข้ามาดูได้
ในนี้มีรูปปั้นนิจิเรงสูง ๑๐.๖ เมตรตั้งอยู่ดูโดดเด่น
เดินออกทางประตูฝั่งตะวันต
มองกลับเข้ามาจากฝั่งตรงข้ามถนน ภายนอกดูเผินๆแล้วเหมือนเป็นวัด แต่จริงๆเป็นแค่สวนสาธารณะ อาคารวัดที่ตั้งอยู่ในนี้เป็นแบบพุทธนิกายนิจิเรง
แล้วก็เดินย้อนมาถึงสถานีมาอิดาชิคิวไดเบียวอิงมาเอะ นั่งรถเมล์จากตรงนี้กลับ
ครั้งนี้มาแถวนี้ทำให้ได้เห็นว่ามีที่เที่ยวน่าสนใจอยู่ ไว้ถ้ามีโอกาสก็จะแวะมาอีกทีตอนกลางวัน จะได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ด้วย