φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



ทำความรู้จักกับภาษามองโกล
เขียนเมื่อ 2022/03/06 11:36
แก้ไขล่าสุด 2022/03/26 23:08
เชื่อว่าคนไทยคงจะรู้จักและคุ้นเคยชื่อ "ชาวมองโกล" หรือ "ประเทศมองโกเลีย" กันอยู่แล้ว แต่คงจะมีน้อยคนที่จะรู้ว่าภาษาที่พวกเขาใช้นั่นคือ "ภาษามองโกล" นั้นเป็นภาษาแบบไหนกัน

บทความนี้จะพาไปแนะนำให้รู้จักถึงภาพรวมของภาษามองโกล ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งที่น่าสนใจทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์, ตัวอักษร และไวยากรณ์



ที่มาและพื้นที่ที่พูดภาษามองโกล

ภาษามองโกล (монгол хэлม็องก็อล เฮ็ล) เป็นภาษาของชาวมองโกล ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนาน พวกมองโกลเคยเป็นแค่ชนเผ่าเร่ร่อน แต่ในช่วง ศตวรรษที่ 13 ก็ได้สร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียขึ้นมา จึงเป็นภาษาหนึ่งที่เคยมีอิทธิพลมากในแถบนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อราชวงศ์หมิงของจีนเรืองอำนาจขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 14 ก็ทำให้มองโกลก็เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นแค่ชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของจีนและไม่ได้กลับมามีบทบาทอะไรอีกเป็นระยะเวลานาน

แต่ในปี 1911 อาณาเขตส่วนหนึ่งของมองโกลได้แยกออกมาจากจีนและก่อตั้งเป็นประเทศขึ้นได้สำเร็จ นั่นก็คือประเทศมองโกเลีย (монгол улсม็องกอ ลลส์) ในปัจจุบันนั่นเอง

แต่นั่นก็ทำให้ชาวมองโกลถูกแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือในประเทศมองโกเลีย เรียกว่ามองโกเลียนอก และในมองโกลส่วนที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจีน เรียกว่ามองโกเลียใน (өвөр монголโอโวร์ ม็องก็อล)

ภาพแสดงการกระจายของผู้พูดภาษามองโกล คือทั้งประเทศมองโกเลีย และตอนเหนือของจีน (รวมภาษาอื่นในตระกูลมองโกล ซึ่งบางครั้งถูกจัดเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษามองโกลไปด้วย เช่นภาษาออยรัด, ภาษาบุร์ยัด)

ประเทศมองโกเลียมีพื้นที่มากกว่ามองโกเลียใน แต่ก็ค่อนข้างแห้งแล้งเต็มไปด้วยทะเลทราย มีที่อยู่อาศัยได้น้อย ประชากรเบาบางกว่ามาก โดยรวมแล้วประชากรน้อยกว่ามองโกเลียในเสียอีก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในมองโกเลียในเต็มไปด้วยคนเชื้อสายจีนมากยิ่งกว่าคนมองโกล และพูดภาษาจีนเป็นหลัก ดังนั้นโดยรวมแล้วประชากรที่พูดภาษามองโกลในมองโกเลียในนั้นคาดว่ามีจำนวนน้อยกว่าในประเทศมองโกเลีย

และการที่มองโกลได้ตั้งเป็นประเทศของตัวเองขึ้นจึงทำให้ภาษามองโกเลียได้กลายเป็นภาษาราชการ มีการกำหนดสำเนียงฮัลฮ์ (халх) ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองหลวงโอลามบาทาร์ (улаанбаатар, ในไทยมักเขียนเป็น "อูลานบาตอร์") เป็นสำเนียงมาตรฐาน เป็นภาษาแม่ของประชาชนกว่า ๓ ล้านคนในประเทศมองโกเลีย

ทุกวันนี้เวลาพูดถึงภาษามองโกล โดยทั่วไปก็จะหมายถึงภาษามองโกลสำเนียงฮัลฮ์ที่ใช้ในประเทศมองโกเลียนี้เอง

จำนวนผู้พูดภาษามองโกลทั้งหมดนั้นประมาณว่าอยู่ที่ ๕ ล้านคน คือประชาชนประเทศมองโกเลียทั้ง ๓ ล้านกว่าคน และชาวในมองโกเลียในอีกราวๆ ๒ ล้านคน

แต่ภาษามองโกลที่ใช้ในมองโกเลียในนั้นเป็นคนละสำเนียงกับที่ใช้ในประเทศมองโกเลีย อีกทั้งยังมีความหลากหลายมากกว่า แบ่งเป็นหลายสำเนียง เช่น
- สำเนียงชาฮาร์ (цахар)
- สำเนียงฮอร์ชิง (хорчин)
- สำเนียงฮาร์ชิง (харчин)
- สำเนียงบาริง (баарин)
- สำเนียงดอร์ฮ็อด (дорнод)
- สำเนียงอัลชา (альшаа)

ภาษามองโกลในมองโกเลียในไม่ได้มีการทำเป็นมาตรฐานเหมือนอย่างในประเทศมองโกเลีย แต่โดยทั่วไปแล้วถือว่ายึดสำเนียงชาฮาร์ ซึ่งใช้ที่เมืองชิลีน (шилийн) และเมืองโอลานเชา (улаанцав) ที่อยู่ตอนกลางของมองโกเลียในเป็นหลัก

บริเวณสีส้มแสดงเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน สีแดงคือตำแหน่งเมืองโอลานเชา ในภาษาจีนเรียกว่า "อูหลานฉาปู้" (乌兰察布)

ภาษามองโกลในมองโกเลียในจะได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนมาก จึงมีส่วนต่างไปจากภาษามองโกลในประเทศมองโกเลียซึ่งได้รับอิทธิพลจากรัสเซียมาก

แต่ถึงอย่างนั้นภาษามองโกลทั้ง ๒ ฝั่งก็สื่อสารกันได้รู้เรื่อง เพราะเป็นภาษาเดียวกันแค่ต่างสำเนียง และศัพท์บางคำอาจใช้ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ภาษามองโกลของทั้ง ๒ ฝั่งต่างกันมากที่สุดก็คือเรื่องระบบการเขียน เพราะทุกวันนี้ภาษามองโกลในประเทศมองโกเลียใช้อักษรซีริลลิกซึ่งรับมาจากรัสเซียในการเขียนเป็นหลัก ส่วนที่มองโกเลียในยังคงอนุรักษ์อักษรมองโกลซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่อดีต



ภาพแสดงชื่อประเทศมองโกลและประเทศรอบๆ เขียนด้วยอักษรมองโกล และอักษรซีริลลิก พร้อมภาษาไทย พื้นที่สีเขียวตรงกลางคือประเทศมองโกเลีย




อักษรที่ใช้เขียนภาษามองโกล

ภาษามองโกลนั้นเริ่มมีอักษรเป็นของตัวเองในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ซึ่งชาวมองโกลได้เริ่มก่อตั้งจักรวรรดิมองโกล (ช่วงปี 1206 - 1368) ขึ้นมา โดยหลังจากที่จักรพรรดิเจงกิสข่าน (чингис хаанชิงกิส ฮาง) พิชิตอุยกูร์ได้ ก็ได้สั่งให้ชาวอุยกูร์ชื่อทาทาทงกา (тататунга) สร้างอักษรมองโกลขึ้นมา ซึ่งเขาก็สร้างโดยการเอาอักษรอุยกูร์โบราณมาดัดแปลง

ตัวอักษรชนิดนี้เขียนตามแนวตั้งจากบนลงล่างและซ้ายไปขวา และนั่นก็กลายมาเป็นอักษรมองโกลที่ใช้แพร่หลายเป็นระยะเวลานานมาจนถึงปัจจุบัน

ชื่อเต็มของกรุงเทพฯ เขียนด้วยอักษรมองโกล เริ่มอ่านจากบรรทัดซ้ายสุดแล้วไล่ไปบรรทัดทางขวา
ᠭᠷᠦᠩᠲᠡᠫ ᠮᠠᠾᠠᠨᠠᠺᠣᠨ ᠠᠮᠣᠨ ᠷᠠᠲᠲᠠᠨᠠᠺᠤᠰᠢᠨ ᠮᠠᠾᠢᠨᠲᠠᠷᠠᠶᠦᠲᠲᠠᠶᠠ ᠮᠠᠾᠠᠳᠢᠯᠤᠺᠫᠤᠫ ᠨᠤᠫᠫᠠᠷᠠᠳ ᠷᠠᠲᠴᠠᠲᠠᠨᠢ ᠪᠦᠷᠢᠷᠤᠮ ᠦᠳᠤᠮᠷᠠᠲᠴᠠᠨᠢᠸᠡᠲ ᠮᠠᠾᠠᠰᠠᠲᠠᠨ ᠠᠮᠣᠨᠫᠢᠮᠠᠨ ᠠᠸᠠᠲᠠᠨᠰᠠᠲᠢᠲ ᠰᠠᠭᠭᠠᠲᠠᠳᠳᠢᠶᠠ ᠸᠢᠲᠰᠠᠨᠦᠭᠠᠮ ᠪᠷᠠᠰᠢᠳ

อย่างไรก็ตาม พอถึงยุคสมัยของกุบไลข่าน (хубилай хаанโฮบิไล ฮาง) ได้มีการประดิษฐ์อักษรชุดใหม่ขึ้นมาโดยพระทิเบตชื่อพักปา (འཕགས་པ་) เรียกว่าอักษรทรงเหลี่ยม (дөрвөлжин бичигโดร์โวลจิม บิชิก) แต่ผู้คนนิยมเรียกอักษรนี้ว่า "อักษรพักปา" ตามชื่อผู้สร้าง โดยอักษรนี้ดัดแปลงจากอักษรทิเบต จึงถือเป็นอักษรชนิดหนึ่งในตระกูลอักษรพราหมี แต่เขียนแนวตั้งจากบนลงล่างและซ้ายไปขวาเช่นเดียวกับอักษรมองโกลเดิม จึงถือว่าแปลกกว่าอักษรชนิดอื่นๆในกลุ่ม

คำว่า "กรุงเทพมหานคร" เขียนด้วยอักษรพักปา

อักษรพักปาได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในช่วงปี 1270-1360 แต่ก็เลิกใช้ไปพร้อมกับการเสื่อมอำนาจของจักรวรรดิมองโกล แล้วชาวมองโกลก็ได้กลับมาใช้อักษรมองโกลแบบเดิมกันอีก

เมื่อจีนเข้าสู่ยุคราชวงศ์ชิง (ตั้งแต่ปี 1644) จักรพรรดิและชนชั้นปกครองที่เป็นชนชาติแมนจูก็ได้นำอักษรมองโกลมาใช้เขียนภาษาแมนจูด้วย อักษรนี้จึงยังรู้จักในชื่อว่าอักษรแมนจูด้วย ซึ่งเป็นอักษรชุดเดียวกับอักษรมองโกล แค่มีการเพิ่มบางอักษรเข้ามา ทุกวันนี้ป้ายที่เขียนเป็นภาษาแมนจูอาจพบได้ตามวัดหรือวังเก่าๆในปักกิ่ง

ภาษาแมนจู เขียนชื่อจักรพรรดิทั้ง ๑๐ คนของราชวงศ์ชิง

ในช่วงปี 1680 พระชาวมองโกลชื่อซานาบาซาร์ (занабазар, ชื่อมาจากภาษาสันสกฤต "ชญานวัชระ" (ज्ञानवज्र)) ได้ประดิษฐ์อักษรชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อเขียนอักษรมองโกล เรียกว่าอักษรซอย็อมบอ (соёмбо бичиг) ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤตคำว่า "สวยัมภู" (स्वयंभू) โดยดัดแปลงมาจากอักษรสิทธัมที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤตในอินเดีย จึงถือเป็นอักษรในตระกูลอักษรพราหมีด้วยเช่นกัน แต่วิธีการเขียนจะเป็นการประกอบอักษรแยกเป็นพยางค์ คล้ายอักษรฮันกึลของเกาหลี

คำว่า "กรุงเทพมหานคร" เขียนด้วยอักษรซอย็อมบอ (สวยัมภู)

ซานาบาซาร์ยังได้ประดิษฐ์อักษรขึ้นอีกชุดด้วย โดยคราวนี้ดัดแปลงมาจากอักษรพักปาเก่าที่เลิกใช้ไปแล้ว แต่ปรับให้เขียนในแนวนอนแทน จึงเรียกว่า อักษรทรงเหลี่ยมแนวนอน (хэвтээ дөрвөлжин бичигเฮวเท โดร์โวลจิม บิชิก) แต่มักถูกเรียกว่าอักษรซานาบาซาร์ทรงเหลี่ยม ตามชื่อผู้สร้าง

คำว่า "กรุงเทพมหานคร" เขียนด้วยอักษรซานาบาซาร์ (ชญานวัชระ) ทรงเหลี่ยม

อักษรทั้ง ๒ ชนิดของซานาบาซาร์นั้นแม้จะได้ถูกใช้อยู่บ้างเช่นในทางศาสนา แต่ก็ไม่ได้แพร่หลายนัก ชาวมองโกลยังคงใช้อักษรมองโกลแบบเก่าที่เขียนในแนวตั้งกันเรื่อยมา



เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งชาวมองโกลได้แยกออกจากจีนมาตั้งเป็นประเทศมองโกเลียขึ้นมา ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับภาษามองโกลอีกครั้ง เนื่องจากการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) ทำให้ทางรัฐบาลมองโกเลียหันมาใช้อักษรซีริลลิก เช่นเดียวกับที่ใช้ในภาษารัสเซีย ระบบการเขียนนี้ถูกใช้อย่างเป็นทางการในประเทศมองโกเลียตั้งแต่ปี 1941 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนชาวมองโกลในมองโกเลียในของจีนนั้นก็ยังคงใช้อักษรมองโกลแบบดั้งเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ จึงทำให้มีความแตกต่างในระบบการเขียนของมองโกเลีย ๒ ฝั่งขึ้นมา

แต่แล้วในปี 1991 (ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย) ทางรัฐบาลมองโกเลียก็ได้ประกาศว่าจะกลับมาใช้อักษรมองโกลแบบเดิมอีก เพื่อรื้อฟื้นวัฒนธรรมของตัวเอง หลังจากที่โดนอิทธิพลของรัสเซียกลืนกินไปมาก

ตั้งแต่นั้นมาก็มีการสนับสนุนการสอนอักษรมองโกลในประเทศมองโกเลีย แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความยากลำบากอยู่ไม่น้อย เพราะทุกคนชินกับอักษรซีริลลิกกันหมดแล้ว

อีกทั้งการที่อักษรมองโกเลียต้องเขียนแนวตั้งทำให้ไม่สะดวกเพราะต่างจากภาษาส่วนใหญ่ในโลก และยิ่งเข้าสู่ยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน การแสดงผลในเครื่องก็ใช้แนวนอนเป็นหลัก การจะเขียนอักษรมองโกลที่เขียนแนวตั้งจึงเป็นอะไรที่มีข้อจำกัดมาก

ถึงอย่างนั้นทางรัฐบาลมองโกเลียก็ยังตั้งใจว่าพอถึงปี 2025 จะกลับมาใช้อักษรมองโกลเป็นอักษรทางการอีกครั้ง ควบคู่ไปกับอักษรซีริลลิกด้วย

จะเห็นว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีอักษรหลายชนิดที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อใช้เขียนภาษามองโกล แต่สุดท้ายแล้วผู้คนก็จะกลับไปใช้อักษรมองโกลดั้งเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการศึกษาภาษามองโกลในยุคนี้ยังคงเป็นการสะดวกที่จะใช้อักษรซีริลลิกอยู่ เพราะเขียนและอ่านง่ายกว่า และสอดคล้องกับเสียงอ่านภาษามองโกลในปัจจุบันมากกว่า



คำว่า "มองโกล" เขียนด้วยอักษรชนิดต่างๆ ตรงกลางสุดคืออักษรมองโกล



ความเกี่ยวพันระหว่างภาษามองโกลกับภาษาอื่นๆ

ภาษามองโกลนั้นเป็นภาษาตระกูลเล็กๆที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว ยังไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับภาษาหลักอื่นๆในโลก

ภาษาออยรัด (ойрад), ภาษาบุร์ยัด (буриад), ภาษาฮัมนิกัง (хамниган) ที่ใช้ในหมู่ชนกลุ่มน้อยในจีนและรัสเซียนั้นก็เป็นภาษาตระกูลเดียวกับภาษามองโกล แต่มีผู้พูดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และบางครั้งก็ถูกจัดรวมเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษามองโกลไป ดังนั้นอาจถือได้ว่าภาษามองโกลเป็นภาษาโดดเดี่ยว

ถึงอย่างนั้นก็ได้มีคนตั้งข้อสังเกตว่าภาษามองโกลนั้นมีความใกล้เคียงกับภาษาญี่ปุ่น เกาหลี แมนจู โดยเฉพาะเรื่องของไวยากรณ์ซึ่งใกล้เคียงกันมาก

นอกจากนั้นยังอาจเชื่อมโยงกับภาษาตระกูลตุรกี ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ที่ประกอบไปด้วยภาษาตุรกีและภาษาของประเทศต่างๆทางแถบเอเชียกลาง (เช่นพวกกลุ่ม "สถาน" ทั้งหลาย)

ดังนั้นบางครั้งจึงมีการใช้คำว่า "ตระกูลภาษาอัลไต" (алтай ชื่อเทือกเขาทางตะวันตกของมองโกเลีย) เพื่อเรียกรวมกลุ่มภาษาทั้ง ๕ นี้คือ

กลุ่มภาษาตุรกี ภาษาตุรกี, ภาษาอาเซอร์ไบจาน, ภาษาเติร์กเมน, ภาษาอุซเบก, ภาษาคาซัค, ภาษาคีร์กีซ, ภาษาอุยกูร์, ฯลฯ
กลุ่มภาษามองโกล ภาษามองโกล ภาษาออยรัต ภาษาบุร์ยัต ภาษาฮัมนิกัง และภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่นๆในบริเวณใกล้เคียง
กลุ่มภาษาแมนจู ภาษาแมนจู และภาษาของชนกลุ่มน้อยบางส่วนในจีนและรัสเซีย ส่วนใหญ่แทบไม่มีผู้พูดแล้ว
กลุ่มภาษาเกาหลี ภาษาเกาหลี และภาษาเชจู
กลุ่มภาษาญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น และกลุ่มภาษาโอกินาวะ

แผนที่แสดงการกระจายตัวของผู้พูดภาษา ๕ กลุ่มนี้ สีเขียวคือกลุ่มภาษามองโกล, สีน้ำเงินคือกลุ่มภาษาตุรกี, สีแดงคือกลุ่มภาษาแมนจู, สีเหลืองคือกลุ่มภาษาเกาหลี, สีม่วงคือกลุ่มภาษาญี่ปุ่น

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่พบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าภาษาเหล่านี้ควรเป็นภาษาตระกูลเดียวกันจริง แค่ความเกี่ยวพันทางภูมิศาสตร์และไวยากรณ์ยังไม่ใช่สิ่งพิสูจน์ได้ถึงความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นอน

ดังนั้นปัจจุบันคำว่า "ตระกูลภาษาอัลไต" ไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป (เช่นเดียวกับที่แนวคิดว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตไม่ได้รับการยอมรับแล้ว)

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวพันกันจริงหรือแค่บังเอิญ แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าไวยากรณ์มีความใกล้เคียงกันมาก จึงทำให้ผู้ที่รู้ภาษาเกาหลีหรือญี่ปุ่นสามารถศึกษาภาษามองโกลได้ง่าย

ลักษณะร่วมกันระหว่างภาษา ๕ กลุ่มนี้ก็คือ
- การเรียงคำแบบ ประธาน-กรรม-กริยา เป็นหลัก
- มีการผันคำกริยาเป็นรูปต่างๆหลากหลาย
- คำนามมีการผันรูปไปตามหน้าที่ในประโยค (เพียงแต่ในภาษาญี่ปุ่นถือว่าเป็นแค่การเติมคำช่วย (助詞) มักไม่ถือว่าเป็นการผัน)

อย่างไรก็ตาม กลุ่มภาษาตุรกีนั้นมีการแบ่งเอกพจน์พหูพจน์ คำกริยามีการผันไปตามประธาน คล้ายภาษาในกลุ่มยุโรปและอินเดีย

ซึ่งลักษณะนี้ต่างจากภาษามองโกล แมนจู เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งผันคำเพื่อแสดงหน้าที่ในประโยคหรือเวลา โดยไม่ต้องไปสนใจว่าประธานเป็นใครและมีจำนวนเท่าไร

ดังนั้นหากเทียบกับกลุ่มภาษาตุรกีที่มีการผันค่อนข้างยากแล้ว ภาษามองโกล แมนจู เกาหลี ญี่ปุ่น จะค่อนข้างง่ายกว่าในแง่เรื่องการผันคำ



ลักษณะไวยากรณ์และเสียงของภาษามองโกล

ต่อไปมาดูภาพรวมของภาษามองโกลในด้านไวยากรณ์และการออกเสียง โดยจะยกเอาแค่ประเด็นหลักๆหรือเรื่องที่เด่นๆมาพูดถึง พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นด้วย

๑. เรียงคำแบบประธาน-กรรม-กริยา เป็นหลัก

การวางตำแหน่งคำโดยพื้นฐานแล้วจะขึ้นต้นด้วยประธาน และจบด้วยกริยา

เช่น

муур загас иддэгโมร์ ซากา ซิดเด็ก = แมวกินปลา

муурโมร์ = แมว
загасซากัส = ปลา
иддэгอิดเด็ก = กิน (ผันรูปทำเป็นประจำปกติ)

ลักษณะเช่นนี้จะเหมือนกับในภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น ทิเบต พม่า แต่ต่างจากภาษาจีน ไทย เขมร เวียดนาม ที่จะเรียงเป็น ประธาน-กริยา-กรรม เป็นหลัก



๒. คำที่ขยายอยู่หน้าคำที่ถูกขยาย

โดยปกติแล้วในภาษามองโกลคำที่ทำหน้าที่ขยายความจะวางไว้ด้านหน้าคำที่ถูกขยาย เช่น

япон хүнยาพ็อง ฮุง = คนญี่ปุ่น
[японยาพ็อง = ญี่ปุ่น] + [хүнฮุง = คน]

солонгос улсซอร็องกอ ซลส์ = ประเทศเกาหลี
[солонгосซอรองก็อส = เกาหลี] + [улсอลส์ = ประเทศ]

ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับภาษาจีน ทิเบต พม่า เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ตรงกันข้ามกับภาษาไทย เขมร เวียดนาม

นอกจากนี้แล้ว ประโยคขยายประโยคก็เรียงลำดับแบบเดียวกันนี้ ดังนั้นอาจพบว่าเมื่อแปลจะเรียงลำดับตรงกันข้ามกับภาษาไทยเลย เช่น

өтгөн хулгана идсэн том могойอทกง ฮลกา นิดเซ็น ท็อม มอกอย
= งูใหญ่ที่กินหนูอ้วน

өтгөнอทกง = อ้วน
хулганаฮลกัน = หนู
идсэнอิดเซ็ง = กิน (ผันรูปอดีต)
томท็อม = ใหญ่
могойมอกอย = งู

ใครที่เคยแปลภาษาญี่ปุ่นหรือเกาหลีเป็นภาษาไทย คงจะคุ้นเคยกับการแปลกลับหลังมาหน้าแบบนี้ไม่น้อย



๓. คำนามจะผันรูปไปตามหน้าที่ในประโยค

ภาษามองโกลมีการผันคำนามหลากหลายรูปแบบเพื่อแสดงหน้าที่ต่างๆภายในประโยค ซึ่งเทียบได้กับการเติมคำช่วยในภาษาญี่ปุ่น

ลักษณะคล้ายกันนี้ยังพบในกลุ่มภาษาตุรกี และภาษาทางยุโรปและอินเดียด้วย แต่ง่ายกว่าตรงที่การผันคำนามในภาษามองโกลจะไม่ขึ้นกับเพศและจำนวน

ตัวอย่างเช่น

би танд түүний нууцыг хэлнэบี ทันด์ ทูนี โนชีก เฮ็ลน์ = ฉันจะบอกความลับของเขาให้กับคุณ
(ฉัน + คุณ + เขา + ความลับ + บอก)

ประโยคนี้ประกอบขึ้นมาจาก ๕ คำคือ

คำ   รูปเดิม หน้าที่ ความหมาย
биบี биบี ประธาน ฉัน
тандทันด์ таทา กรรมรอง คุณ
түүнийทูนี тэрเทร์ ขยายแสดงความเป็นเจ้าของ เขาคนนั้น, สิ่งนั้น
нууцыгโนชีก нууцโนช กรรมตรง ความลับ
хэлнэเฮ็ลน์ хэлэхเฮเลฮ์ กริยา บอก

จะเห็นว่าคำนามทั้ง ๔ ตัวทำหน้าที่ต่างๆกันไปในประโยค และนอกจาก би (ฉัน) ที่ทำหน้าที่เป็นประธานแล้ว ตัวอื่นอยู่ในรูปที่ถูกผันแล้วทั้งนั้น

ลักษณะไวยากรณ์เช่นนี้หากใครเคยเรียนภาษาเกาหลีหรือภาษาญี่ปุ่นมาแล้วคงจะคุ้นเคยดี



๔. กริยาผันได้หลากหลายตามกาลและหน้าที่ในประโยค

นอกจากประธานแล้ว คำกริยาก็มีการผันเช่นกัน ในตัวอย่างที่แล้วเองก็จะเห็นว่ากริยา хэлэхเฮเลฮ์ ก็ได้ถูกผันเป็น хэлнэเฮ็ลน์ ซึ่งเป็นรูปปัจจุบันหรืออนาคต

หากเปิดดูพจนานุกรมภาษามองโกลก็จะพบว่ากริยาทุกคำอยู่ในรูปที่ลงท้ายด้วย х เช่นเดียวกับที่ในภาษาเกาหลีกริยาต้องลงท้ายด้วย ดา หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นต้องลงท้ายด้วยเสียง u

แต่เวลาใช้จริงๆมักจะไม่ได้ใช้ในรูปนี้ แต่จะต้องผันเป็นรูปต่างๆเพื่อบอกเรื่องที่กำลังทำอยู่หรือกำลังจะทำ

ตัวอย่างเช่นกริยา байхไบฮ์ แปลว่า "เป็น อยู่ มี" เป็นกริยาที่มีความหมายกว้างและใช้บ่อยที่สุดในภาษามองโกล

รูปพจนานุกรม байхไบฮ์
รูปปัจจุบันหรืออนาคต байнаไบน์
รูปทำประจำเป็นปกติ байдагไบดัก
รูปอดีตที่ผ่านมาแล้ว байсанไบซัง
รูปคำสั่ง байไบ

นอกจากนี้ยังมีการผันอีกหลายแบบ ในที่นี้ยกมาแค่ส่วนหนึ่งที่พอจะอธิบายได้ง่าย

การผันคำกริยาเป็นสิ่งที่เจอได้ทั่วไปในหลายๆภาษา แต่ถ้าเป็นกลุ่มภาษาตุรกี หรือภาษาทางยุโรปหรืออินเดียจะค่อนข้างยากกว่านี้อีก เพราะนอกจากกริยาจะผันตามกาลหรือหน้าที่ในประโยคแล้ว การยังผันต่างไปตามประธานด้วย ในขณะที่ภาษามองโกล เกาหลี ญี่ปุ่น นั้นกริยาจะผันโดยไม่ต้องสนใจว่าประธานเป็นอะไร จึงง่ายกว่า และไม่ชวนสับสน



๕. คำคุณศัพท์ปกติจะไม่ถูกผัน แต่ถ้าถูกใช้เป็นคำนามก็ถูกผันได้เหมือนกัน

จากตัวอย่างที่แล้วจะเห็นได้ว่าคำนามและคำกริยาในภาษามองโกลจะมีการผันเปลี่ยนรูปแบบไปหลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม ที่มักจะผันก็มีแค่คำนามและกริยาเท่านั้น ส่วนคำคุณศัพท์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะใช้ในกาลไหนหรือด้วยบริบทอย่างไรก็ตาม ดังนั้นก็ใช้ทั้งๆอย่างนั้นได้เลย ปรากฏในรูปเดิมตลอด

ตรงส่วนนี้จึงค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับภาษาเกาหลีหรือญี่ปุ่นหรือภาษาในกลุ่มยุโรปและอินเดียที่มักจะต้องผันแม้แต่คำคุณศัพท์

อย่างไรก็ตาม คำคุณศัพท์บางทีก็ถูกใช้เป็นคำนามได้ด้วย ในกรณีแบบนั้นมันก็จะถูกผันได้เหมือนกับเป็นคำนาม

เช่น คำว่า улаанโอลาน = สีแดง เป็นคำคุณศัพท์ แต่ใช้เป็นคำนามได้

энэ улаан цэцэгเอ โนลาน เชเช็ก
= ดอกไม้สีแดงดอกนี้ (คุณศัพท์ขยายคำนาม)

энэ цэцгийг улаанเอ็น เช็ชกีก โอลาน.
= ดอกไม้ดอกนี้สีแดง (คุณศัพท์ใช้เป็นภาคแสดง)

улаанбаатарโอลามบาทาร์
= วีรบุรุษสีแดง (ชื่อเมืองหลวงประเทศมองโกเลีย มักเขียนติดกันไป)

энэ цэцгийг улаанаар буднаเอ็น เช็ชกีก โอลานาร์ โบดน์.
= ทาดอกไม้ดอกนี้ด้วยสีแดง (ใช้เป็นคำนาม เลยโดนผันเป็นรูปบอกวิธีการ)



๖. มีความกลมกลืนกันของเสียงในแต่ละพยางค์ของคำ

เสียงสระของแต่ละพยางค์ในคำคำหนึ่งในภาษามองโกลมักจะมีกฎตายตัว เช่นถ้าพยางค์หน้าเป็นสระ оออ แล้ว พยางค์ต่อไปก็จะต้องเป็นสระ оออ เช่นกัน หรือถ้าพยางค์หน้าเป็นสระ үอู แล้ว พยางค์ต่อไปจะเป็นสระ эเอ

หลักนี้มีผลต่อการผันคำนามหรือคำกริยา หรือการเลือกเติมคำต่อท้ายให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์

เช่นเมื่อต้องการผันคำนามเป็นรูปแสดงที่มา จะทำได้โดยการเติมเสียงสระเสียงยาวแล้วตามด้วย с แต่สระที่มาเติมต่อนั้นจะเป็นสระอะไรก็ขึ้นกับสระในพยางค์สุดท้ายของคำนามรูปเดิมนั้น

เช่นตามกฎที่ยกมาข้างต้น คำนามที่ลงท้ายด้วยสระ оออ จะผันโดยเติม оосออส  เช่น

хоолฮอลхоолоосฮอลอส
อาหาร → จากอาหาร

แต่ถ้าเป็นสระ үอู แล้ว จะเติม ээсเอส เช่น

цүнхชุงฮ์цүнхээсชุงเฮส
กระเป๋า → จากกระเป๋า

ถ้าทำความเข้าใจหลักความสัมพันธ์ระหว่างเสียงสระแล้วก็จะทำให้จำหลักการผันคำต่างๆในภาษามองโกลได้ง่ายขึ้นมาก



๗. ตัวสะกดในคำหน้าจะถูกลากเสียงไปยังคำถัดไป

ภายในประโยคเดียวกัน ถ้าคำที่ลงท้ายด้วยตัวสะกดไปนำหน้าคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง "อ" จะเกิดการลากเสียงไป เช่น

тэрเทร์ = นั้น
ахอาฮ์ = พี่ชาย
ирэхอีเรฮ์ = มา
үүอู = ไหม (ใช้สร้างประโยคคำถาม)

เมื่อรวมกันเป็นประโยคก็จะอ่านแบบนี้
тэр ах ирэх үүเท รา ฮีเร ฮู? = พี่ชายคนนั้นจะมาไหม?

ลักษณะคล้ายกันนี้ยังพบในภาษาอื่นอีกหลายภาษาด้วย เช่นภาษาเกาหลี ภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น



๘. มีเสียงเสียดแทรกข้างลิ้น [ɮ] แทนเสียง "ล" ธรรมดา

เสียงเปิดข้างลิ้น หรือก็คือ "ล" ในภาษาไทยนั้น เป็นเสียงที่พบได้มากในหลายภาษา แต่ว่าภาษามองโกลไม่มีเสียง "ล" นี้ในแบบที่เหมือนกับภาษาอื่นส่วนใหญ่

แต่ในภาษามองโกลกลับมีเสียงเสียดแทรกข้างลิ้น (IPA เป็น [ɮ]) ซึ่งเป็นเสียงที่ค่อนข้างหายาก ภาษาที่มีเสียงนี้อยู่มีไม่มากนัก ดังนั้นเสียงนี้จึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษามองโกล แต่ก็ทำให้คนต่างชาติที่เรียนภาษามองโกลยากที่จะออกเสียงได้เหมือนอย่างคนมองโกล เพราะเสียง "ล" ในภาษามองโกลมีความพิเศษนั่นเอง

นั่นหมายความว่าเวลาที่เจอเสียง "ล" (คือตัว л) ในภาษามองโกล เช่นในคำว่า монголม็องก็อล = มองโกล นี้จริงๆแล้วไม่ใช่เสียง "ล" ธรรมดา แต่เป็นการออกเสียง "ล" แบบให้มีการเสียดแทรกเกิดขึ้นระหว่างที่ลิ้นแตะเพดานปากด้วย ฟังดูแล้วก็คล้าย "ซ"

อธิบายด้วยคำพูดอาจค่อนข้างเข้าใจยาก สามารถลองเปิดฟังได้ในวิกิ https://ja.wiktionary.org/wiki/ɮ



๙. มีการแยกเสียงปล่อยลมกับไม่ปล่อยลม แต่ไม่แยกเสียงก้องกับไม่ก้อง ("ป" = "บ" และ "ต" = "ด")

โดยปกติแล้วภาษาในแถบนี้เช่นภาษาไทย เขมร พม่า เวียดนามจะมีการแยกเสียง "ด, ต, ท" ออกจากกันชัดเจน ในขณะที่ภาษาญี่ปุ่นและกลุ่มภาษาทางยุโรปมักจะไม่แยกเสียง "ต" กับ "ท" ดังนั้น "ต/ท" จึงเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน แล้ว "ด" เป็นอีกหน่วยเสียงแยกกัน

ความสัมพันธ์ระหว่าง ด - ต นี้เรียกว่า "ด" เป็นเสียงก้อง "ต" เป็นเสียงไม่ก้อง ภาษาญี่ปุ่นและภาษาทางยุโรปจะแยกเสียงนี้ออกจากกันชัดเจน

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง ต - ท เรียกว่า "ต" เป็นเสียงไม่ปล่อยลม "ท" เป็นเสียงปล่อยลม

แต่ในภาษามองโกลนั้น ความแตกต่างระหว่างปล่อยลมกับไม่ปล่อยลม ดูจะสำคัญมากกว่าความแตกต่างระหว่างเสียงก้องกับไม่ก้อง

ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วในภาษามองโกล "ด/ต" เป็นหน่วยเสียงเดียวกัน และแยกจาก "ท"

д (d) = ด~ต
т (t) = ท

โดยส่วนใหญ่แล้วเสียง д (d) จะค่อนไปทาง "ต" (ไม่ก้อง) มากกว่า แต่บางครั้งก็อาจได้ยินเป็น "ด" (เสียงก้อง) ได้เช่นกัน ในขณะที่ "ท" ถือเป็นคนละหน่วยเสียง ต้องแยกให้ชัดเจน

ภาษามองโกลไม่แยก "ด" กับ "ต" เช่นเดียวกับที่ภาษาญี่ปุ่นไม่แยก "ต" กับ "ท"

ลักษณะอย่างนี้ไม่ค่อยเจอในภาษาส่วนใหญ่ เพราะโดยทั่วไปแล้วมักจะถือว่า "ต/ท" เป็นเสียงเดียวกันแยกจาก "ด" เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่น หรือไม่ก็มีแค่เสียง "ต" กับ "ท" แยกกันอย่างในภาษาจีน หรือแยก "ด, ต, ท" เป็น ๓ เสียงชัดเจนอย่างภาษาไทย

ตัวอย่างเช่น

гадаадกาดาด = ต่างประเทศ

ในที่นี้จะเขียนทับศัพท์ด้วย "ด" ตลอดเพื่อไม่ให้สับสนกับเสียง т (t) แต่จริงๆแล้วเสียงจะค่อนไปทาง "ต" มากกว่า

และในทำนองเดียวกัน เสียง "บ, ป, พ" ที่แยกจากกันชัดเจนในภาษาไทยนั้น ในภาษามองโกลแยกเป็น "บ/ป" และ "พ"

б (b) = บ~ป
п (p) = พ

ดังนั้นเวลาเห็นตัว b ในคำภาษามองโกล จะออกเสียง "ป" หรือ "บ" ก็ได้



๑๐. เสียง "น" ที่เป็นตัวสะกดจะเปลี่ยนเสียงไปตามพยางค์ถัดไป

เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่นหรืออีกหลายภาษา เสียง "น" เมื่อเป็นตัวสะกดมักจะไม่ใช่ "น" แต่ออกเสียงเปลี่ยนไปได้ ๓ แบบเนื่องจากอิทธิพลของพยางค์ที่ตามมาเพื่อให้ออกเสียงได้ลื่น

ถ้าอยู่ท้ายสุด หรือตามด้วยเสียง ก, ค, ฮ จะเป็นแม่กง

чингисชิกิส хаанฮา = เจงกิส ข่าน

ถ้าตามด้วยเสียง บ, พ, ม จะเป็นแม่กม

улаанбаатарโอลาบาทาร์ = (ชื่อเมืองหลวง)

นอกนั้นจะเป็นแม่กน

үндэсอุเด็ส = ชนเผ่า

газрын зурагกัซรี โซรัก = แผนที่



ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นภาพรวมที่น่าจะทำให้พอให้รู้จักกับภาษานี้กันไม่มากก็น้อย


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> ตัวอักษร
-- ประวัติศาสตร์
-- ภาษาศาสตร์ >> ภาษามองโกล

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ