ชื่อหัวเรื่องอาจทำให้สับสนเล็กน้อย เสียงอ่านคันจิในภาษาไทยที่จะพูดถึงนี้ไม่ได้หมายถึงคันจิที่ใช้ในภาษาไทยจริงๆ แต่เป็นคำภาษาจีนซึ่งใช้ทับศัพท์อยู่ในภาษาไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นจีนแต้จิ๋วซึ่งคนไทยคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอเรียกว่าเป็นเสียงอ่านคันจิในภาษาไทย
ที่เขียนหัวข้อนี้ขึ้นเพราะมีโอกาสได้ไปอ่านหนังสือเข้า และก็ได้เห็นและมารู้ว่า แท้จริงอักษรที่เราเรียนมาจนคุ้นเคยเนี่ย ก็มีเสียงอ่านในภาษาไทยเหมือนกัน ถ้าเราจำไปเทียบมันก็ช่วยให้จำได้ง่ายมากขึ้นเยอะเลย
สำหรับเสียงอ่านในภาษาญี่ปุ่นกับในภาษาแต้จิ๋วนั้นจะมีส่วนคล้ายกันมากพอสมควรเลย (แต่ที่ต่างกันสิ้นเชิงเลยก็มี) แต่เสียงที่คล้ายก็คือเสียงอง (เสียงเลียนจีน) เท่านั้น จึงขอยกเสียงองมาเปรียบเทียบ
คำไทยที่เอามาจากแต้จิ๋วมาเยอะมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่พอนำมาใช้แล้วคำเรียกเปลี่ยนไปหมดเลย เช่นเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยน หรือ ตัวสะกด "ง" กลายเป็น "น" บ้างก็สระเปลี่ยน แต่ก็ยังใกล้เคียงกันจนพอให้รู้ว่าทับศัพท์กันมา
อย่างไรก็ตามบางคำอาจจะแค่เหมือนกันโดยบังเอิญก็เป็นได้ (ซึ่งก็ไม่อาจแยกได้แน่ชัด) เพราะภาษาไทยกับจีนเป็นภาษาตระกูลเดียวกันอยู่แล้ว คำที่ใกล้เคียงกันตั้งแต่โบราณก็มีอยู่ไม่น้อย
บางคำก็ยกมาใช้ในความหมายที่ต่างไปจากเดิมก็มีมาก ซึ่งจะยกไว้ข้างล่าง
คำทับศัพท์ไทยที่เอามาจากภาษาแต้จิ๋วนั้นมีอยู่มากมาย ในที่นี้จะขอยกมาพอที่รู้จักและเท่าที่ได้อ่านมา
- 国 คำว่าประเทศ อ่านเสียงองว่า "โคกุ" คำนี้แต้จิ๋วอ่านว่า "กก" คนไทยเรียกว่า "ก๊ก" นั่นเอง
- 館 คำนี้เป็นคำลงท้ายหมายถึงอาคารที่พักอะไรต่างๆ เสียงองว่า "คัง" คำไทยก็คือ "ก๊วน" นั่นเอง มาจากแต้จิ๋วว่า "ก้วง"
- 肥 อ่านเสียงองว่า "ฮิ" คำนี้ก็หมายถึง "ปุ๋ย" นั่นเอง แต้จิ๋วเรียกว่า "ปุ๊ย"
- 税 คำว่าภาษี อ่านเสียงองว่า "เซย์" ในภาษาไทยก็คือ "ส่วย" นั่นเอง ถอดมาจากแต้จิ๋วตรงๆ
- 仮 (จีนเขียน 假) อ่านเสียงองว่า "คะ" หมายถึงของปลอมหรือสมมุติขึ้น ในภาษาไทยคือคำว่า "เก๊" มาจากแต้จิ๋วว่า "แก้"
- 牌 เสียงองอ่านว่า "ไฮ" หมายถึงป้าย ในภาษาไทยก็คือคำว่า "ป้าย" นั่นเอง มาจากคำแต้จิ๋วว่า "ไป๊"
- 尾 อ่านเสียงองว่า "บิ" หมายถึงหาง คำนี้ในแต้จิ๋วอ่านว่า "บ้วย" คนไทยเอามาใช้อ่านว่า "บ๊วย" ในความหมายที่ว่าอยู่ท้ายแถว
- 道 คำว่าถนนหรือวิถีทาง อ่านเสียงองว่า "โดว" ซึ่งคำนี้ยังหมายถึงลัทธิเต๋าได้ด้วย คำนี้ในแต้จิ๋วอ่านว่า "เต๋า" ในภาษาไทยก็นำมาใช้ในความหมายของลัทธิเต๋า (ไม่เกี่ยวกับลูกเต๋า)
- 骰 อักษรนี้คนทั่วไปน่าจะไม่คุ้นนักเพราะมาจากคำว่า 骰子 ซึ่งปกติจะเขียนเป็นฮิรางานะว่า さいころ "ไซโกโระ" ซึ่งแปลว่าลูกเต๋า คำนี้ในแต้จิ๋วอ่านว่า "เต๊า" เป็นที่มาของคำว่า "เต๋า" ในภาษาไทยนั่นเอง
- 卓 อ่านเสียงองว่า "ทากุ" แปลว่า "โต๊ะ" แต้จิ๋วอ่านว่า "เตาะ" คำนี้ที่จริงต้องเขียนว่า 桌 ถึงจะแปลว่าโต๊ะ ส่วน 卓 จริงๆจะหมายถึงความโดดเด่น แต่ในภาษาญี่ปุ่นเขียนเป็นตัวเดียวกัน
- 交 + 椅 อ่านเสียงองว่า "โคว" กับ "อิ" เมื่อเขียนรวมกันเป็น 交椅 ในภาษาจีนหมายถึง "เก้าอี้" นั่นเอง ในแต้จิ๋วอ่านว่า "เกาอี้"
- 字 + 号 อ่านเสียงองว่า "จิ" กับ "โกว" เมื่อเขียนรวมกันเป็น 字号 อ่านแบบแต้จิ๋วว่า "หยี่ห่อ" ซึ่งก้หมายถึง "ยี่ห้อ" นั่นเอง
- 興 อ่านเสียงองว่า "โคว" หมายถึงรุ่งเรือง แต้จิ๋วอ่านว่า "เฮง" หมายถึงรุ่งเรือง หรือ โชคดี
- 衰 อ่านเสียงองว่า "ซึย" หมายถึงถดถอย แต้จิ๋วอ่านว่า "ซวย" หมายถึงเสื่อมถอย หรือ โชคร้าย ถ้ารวมกันเป็น 興衰 ก็คือ "เฮงซวย"
- 先生 อ่านว่า "เซนเซย์" หมายถึงอาจารย์ คุณหมอ หรือใช้เรียกอาชีพที่มีเกียรติทั้งหลาย คำนี้แต้จิ๋วก็ใช้เช่นเดียวกัน อ่านว่า "ซิงแซ" แต่ไทยเรียกเป็น "ซินแส" แต่คำนี้ในจีนกลางใช้ในความหมายต่างไปคนละเรื่องเลย โดยเป็นแค่คำลงท้ายแบบให้เกียรติธรรมดา (เหมือน "ซัง" ในภาษาญี่ปุ่น)
ชื่อพืชหรืออาหาร
- 仙 "เซง" ในภาษาไทยก็คือ "เซียน" นั่นเอง ในแต้จิ๋วอ่านว่า "เซียง" ส่วนคำว่า 水仙 คือดอก "จุ๊ยเซียน" ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "ซึยเซง" (แต่บางทีก็ทับศัพท์เป็น ナルキッソス(narkissos,Νάρκισσος)) คำนี้เรียกตามแต้จิ๋วจริงๆต้องเป็น "จุยเซียง"
- 牡丹 "โบตัง" ที่คนไทยเรียกว่าดอก "โบตั๋น" มาจากแต้จิ๋วว่า "โบ๋วตัว"
- 梅 เสียงองอ่านว่า "ไบ" คำนี้ที่แปลว่าดอกบ๊วยนั่นเอง คำว่า "บ๊วย" นี้ในแต้จิ๋วก็อ่านว่า "บ๊วย" จริงๆ คนละคำกับคำว่าบ๊วยที่แปลว่าท้ายแถว แต่คนไทยชอบเอามาล้อกัน
- 韮 เป็นอักษรที่แทบไม่ใช้กันเนื่องจากปกติใช้เป็นคาตาคานะว่า ニラ "นิระ" หมายถึงผัก "กุยช่าย" ในภาษาจีนเขียนว่า 韭菜 แต้จิ๋วอ่านว่า "กู๋ฉ่าย"
- 豆腐 "โทวฟุ" ที่คนไทยเรียกว่า "เต้าหู้" นั่นเอง ในแต้จิ๋วอ่านว่า "เต่าหู่"
- 餅 ขนมโมจินั่นเอง เสียงองอ่านว่า "เบย์" อย่างเช่นในคำว่า 煎餅 "เซมเบย์" (ขนมเซมเบ้) คำนี้ในภาษาไทยก็คือขนม "เปี๊ยะ" มาจากแต้จิ๋วว่า "เปี้ย"
- 麺 (麵) คือคำว่า "เมง" หมายถึงอาหารประเภทเส้น ซึ่งก็คือคำว่า "หมี่" นั่นเอง ถ้ารวมกับคำว่า 肉 "นิกุ" ก็จะเป็น "บ๊ะหมี่" หรือที่คนไทยเรียก "บะหมี่" นั่นเอง
- 餃 จากคำว่า 餃子 "เกียวซะ" ก็คือ "เกี๊ยวซ่า" นั่นเอง คำว่า "เกี๊ยว" ก็คือเกี๋ยวที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง คำนี้เป็นคำที่มาจากแต้จิ๋วซึ่งอ่านว่า "เกี้ยว"
คนในครอบครัว
- 姉 (จีนเขียน 姐) อ่านเสียงองว่า "ชิ" คำนี้ในภาษาไทยก็คือคำว่า "เจ้" นั่นเอง แต่บางคนเรียกเพี้ยนเป็น "เจ๊" ซึ่งฟังดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ในแต้จิ๋วจริงๆต้องอ่านว่า "แจ้" (ไม่เกี่ยวกับไก้แจ้นะ)
- 兄 อ่านเสียงองว่า "เคียว" หมายถึงพี่ชาย คำนี้ในภาษาไทยก็คือคำว่า "เฮีย" นั่นเอง
- 叔 จากคำว่า 叔父 "โอจิ" หมายถึงคุณอาหรือคุณน้าผู้ชาย อ่านเสียงองว่า "ชุกุ" คำนี้ในแต้จิ๋วอ่านว่า "เจ็ก" ความหมายแคบกว่าคือหมายถึงคุณอาผู้ชายเท่านั้น (ถ้าน้าผู้ชายต้องใช้อีกคำ) แต่คำนี้คนไทยมักเอาไปเรียกว่า "เจ๊ก" ในความหมายไม่ค่อยจะดีนัก
- 伯 จากคำว่า 伯父 "โอจิ" ที่แปลว่าลุง (ทั้งฝั่งพ่อและฝั่งแม่) อ่านเสียงองว่า "ฮากุ" ในแต้จิ๋วอ่านว่า "แปะ" ใช้่ในความหมายแคบกว่าคือใช้เรียกลุงฝั่งพ่อเท่านั้น คำนี้คนไทยชอบเรียกว่า "แป๊ะ" ในความหมายที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่
คำที่นำมาใช้ในความหมายต่างจากเดิม
- 角 อ่านเสียงองว่า "คากุ" หมายถึงมุม ในภาษาไทยคือ "กั๊ก" มาจากแต้จิ๋วที่อ่านว่า "กัก" ภาษาไทยใช้ในความหมายที่ค่อนข้างต่างไป
- 鬼 ปกติคำนี้คุ้นเคยว่าอ่านว่า "โอนิ" ซึ่งเป็นเสียงคุง ส่วนเสียงองอ่านว่า "คิ" ความหมายก็คือยักษ์ผีปีศาจ คำนี้ในแต้จิ๋วอ่านว่า "กุ้ย" แต่ภาษาไทยใช้เอามาใช้ในความหมายที่ต่างไปนิดหน่อยคือเรียกว่า "กุ๊ย"
- 格 เสียงองอ่านว่า "คากุ" มักใช้ในคำประกอบ หมายถึงเกี่ยวกับโครงสร้าง ในภาษาไทยก็คือคำว่า "เก๊ะ" แต้จิ๋วอ่านว่า "แกะ"
- 承 เสียงองอ่านว่า "โชว" หมายถึงการยอมรับ ยอมตาม คำนี้ในภาษาแต้จิ๋วอ่านว่า "เซ้ง" ส่วนความหมายที่ภาษาไทยใช้กันกลายเป็นว่าโอนกิจการ
- 行 อ่านเสียงองว่า "โคว" หรือ "เกียว" ในแต้จิ๋วอ่านว่า "ฮั้ง" คนไทยเรียกว่า "ห้าง" อาคารร้าน
- 硬 คำว่าแข็ง เสียงองอ่านว่า "โคว" แต้จิ๋วอ่านว่า "แหง" ในภาษาไทยเอามาใช้หมายถึงว่าแน่นอน
- 和 เสียงองอ่านว่า "วะ" หมายถึงความสงบสุข ในภาษาไทยคือคำว่า "ฮั้ว" หมายถึงร่วมหัวกันทำอะไรที่ไม่ดี ทั้งที่คำนี้ทั้งในภาษาญี่ปุ่นหรือจีนล้วนมีความหมายดีทั้งนั้นเลย
- 死 อ่านว่า "ชิ" แปลว่าตาย แต้จิ๋วอ่านว่า "ซี่" คนไทยอ่านว่า "ซี้" ใช้ในความหมายว่าสนิทกันมาก มีที่มาจากคำว่าเพื่อนซี้ ซึ่งหมายถึงเพื่อนตาย พอถูกตัดสั้นเลยกลายเป็นความหมายนี้ไป
- 分 เสียงองอ่านว่า "ฟุง" มีความหมายว่า นาที หรือ ส่วนแบ่ง ภาษาไทยใช้ในความหมายว่า "หุ้น" มาจากแต้จิ๋วว่า "ฮุง"
- 乱 อ่านเสียงองว่า "รัง" หมายถึงยุ่งวุ่นวาย แต่ในภาษาไทยใช้เป็นคำว่า "หยวน" หมายถึงผ่อนปรน มาจากแต้จิ๋วว่า "หยวง"
- 玩 อ่านเสียงองว่า "กัง" แต่ปกจิเจอในรูปเสียงคุงคำว่า "โมเตอาโซบุ" หมายถึงเล่น ในภาษาไทยใช้เป็นคำว่า "ง่วน" หมายถึงมัวแต่จ่ดจ่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ แต้จิ๋วอ่านว่า "ง่วง"
- 忍 อ่านเสียงองว่า "นิง" หมายถึงอดทน หรือ ลักลอบ ภาษาไทยใช้เป็นคำว่า "ลุ้น" หมายถึงเฝ้ารออย่างจดจ่อ มาจากแต้จิ๋วคำว่า "ลุ่ง"
ตาราง สรุปทั้งหมด มีเพิ่มเสียงอ่านจีนกลางเข้ามาด้วย สำหรับภาษาญี่ปุ่นนั้นจะเขียนเสียงอ่านแบบองและวงเล็บเสียงอ่านแบบคุงหรือ เสียงอ่านพิเศษเอาไว้
อักษร |
ไทย |
แต้จิ๋ว |
จีนกลาง |
ญี่ปุ่น เสียงอง (คุง) |
国 |
ก๊ก |
กก |
กั๋ว |
โคกุ (คุนิ) |
館 |
ก๊วน |
ก้วง |
กว่าน |
คัง |
肥 |
ปุ๋ย |
ปุ๊ย |
เฝย์ |
ฮิ (โคเอะ) |
税 |
ส่วย |
ส่วย |
ซุ่ย |
เซย์ |
仮 (假) |
เก๊ |
แก้ |
เจี่ย, เจี้ย |
คะ (คาริ) |
牌 |
ป้าย |
ไป๊ |
ไผ |
ไฮ |
尾 |
บ๊วย |
บ้วย |
เหว่ย์ |
บิ (โอะ) |
道 |
เต๋า |
เต๋า |
เต้า |
โดว (มิจิ) |
骰 |
เต๋า |
เต๊า |
โถว |
(ไซโกโระ) |
卓(桌) |
โต๊ะ |
เตาะ |
จัว |
ทากุ |
交椅 |
เก้าอี้ |
เกาอี้ |
เจียวอี่ |
โคว + อิ |
字号 |
ยี่ห้อ |
หยี่ห่อ |
จื้อเฮ่า |
จิ + โกว |
興衰 |
เฮงซวย |
เฮงซวย |
ซิงไซว่ |
โคว + ซึย |
先生 |
ซินแส |
ซิงแซ |
เซียนเซิง |
เซนเซย์ |
水仙 |
จุ๊ยเซียน |
จุยเซียง |
สุ่ยเซีย |
ซึยเซง |
牡丹 |
โบตั๋น |
โบ๋วตัว |
หมู่ตาน |
โบตัง |
梅 |
บ๊วย |
บ๊วย |
เหมย์ |
ไบ (อุเมะ) |
韮(韭菜) |
กุยช่าย |
กู๋ฉ่าย |
จิ่วไช่ |
(นิระ) |
豆腐 |
เต้าหู้ |
เต่าหู่ |
โต้วฝุ |
โทวฟุ |
餅 |
เปี๊ยะ |
เปี้ย |
ปิ่ง |
เบย์ (โมจิ) |
肉麺 (麵) |
บะหมี่ |
บ๊ะหมี่ |
โร่วเมี่ยน |
นิกุ + เมง |
餃 |
เกี๋ยว |
เกี้ยว |
เจี่ยว |
เกียว |
姉 (姐) |
เจ้, เจ๊ |
แจ้ |
เจี่ย |
ชิ (อาเนะ) |
兄 |
เฮีย |
เฮีย |
ซยง |
เคียว (อานิ) |
叔 |
เจ็ก, เจ๊ก |
เจ็ก |
ซู |
ชุกุ (โอจิ) |
伯 |
แปะ, แป๊ะ |
แปะ |
ปั๋ว |
ฮากุ (โอจิ) |
角 |
กั๊ก |
กัก |
เจี่ยว |
คากุ (คาโดะ) |
鬼 |
กุ๊ย |
กุ้ย |
กุ่ย |
คิ (โอนิ) |
格 |
เก๊ะ |
แกะ |
เก๋อ |
คากุ |
承 |
เซ้ง |
เซ้ง |
เฉิง |
โชว (อุเกตามาวารุ) |
行 |
ห้าง |
ฮั้ง |
หาง |
โคว, เกียว (อิกุ) |
硬 |
แหง |
แหง |
อิ้ง |
โคว (คาไต) |
和 |
ฮั้ว |
ฮั้ว |
เหอ |
วะ (นาโงมุ) |
死 |
ซี้ |
ซี่ |
สื่อ |
ชิ (ชินุ) |
分 |
หุ้น |
ฮุง |
เฟิน, เฟิ่น |
ฟุง (วาเครุ) |
乱 |
หยวน |
หยวง |
ลว่าน |
รัง (มิดาสึ) |
玩 |
ง่วน |
ง่วง |
หวาน |
กัง (โมเตอาโซบุ) |
忍 |
ลุ้น |
ลุ่ง |
เหริ่น |
นิง (ชิโนบุ) |
อ้างอิงเพิ่มเติม : หนังสือ ลูกหลานคนแต้จิ๋ว ของ เหล่าตั๊ง