ระหว่างที่ใช้ชีวิตตามปกติในไต้หวัน วันหนึ่งไปเข้าห้องน้ำที่สถานีรถไฟและก็เจอป้ายนี้เข้า
拒嚼檳榔
愛你清新好口氣
อย่าเคี้ยวหมาก
เพื่อลมปากที่สะอาดสดใส
ป้ายนี้นำไปสู่คำถามตามมาว่า ทำไมต้องห้ามเคี้ยวหมาก? ที่นี่มีคนเคี้ยวหมากเยอะเลยหรือ?
จึงไปถามอาจารย์ดูก็ได้ความว่าใช่จริงๆ ที่นี่คนนิยมเคี้ยวหมากกันมากแม้แต่คนหนุ่มสาว ซึ่งต่างจากบ้านเราที่เลิกเคี้ยวหมากกันไปนานแล้ว แถมการขายของเขายังไม่ธรรมดาเอามากเลยด้วย
ไม่ธรรมดายังไง? คือคนที่นี่เวลาขายหมากเขาต้องให้คนสาวๆมาเป็นคนขาย เพื่อล่อลูกค้า (?)
เราถามเพื่อนว่าทำไมแค่ขายหมากต้องถึงกับลงทุนเอาสาวซึ่งแต่งกายค่อนข้างบางๆมาขาย ทำอย่างกับขายอย่างอื่นมากกว่านั้นเลย... (ไม่ได้ล้อเล่น เขาขายแต่หมากจริงๆ) เพื่อนตอบว่า
ระหว่างคนขายแก่กับคนขายสาว เราจะอยากซื้อกับใครมากกว่ากัน? เราตอบไปว่า ถ้าของมันดีไม่ว่าคนขายคือใครมันก็เหมือนกันไม่ใช่หรือ ขายหมากนะเฟ้ย ไม่ได้ขายอย่างอื่น...
โดยเฉพาะเมืองที่เราเรียนอยู่คือเมืองจงลี่ (中壢市) เนี่ย มีร้านมีชื่อเสียงมากอยู่ร้านหนึ่งชื่อ tiffany เรานั่งรถผ่านเพื่อนก็ชี้ให้ดู ก็เห็นว่าร้านนี้ใหญ่พอดู หน้าร้านมีตู้กระจก มีสาวๆอยู่ข้างในนั้น ถ้าไม่บอกว่าเป็นร้านขายหมากนี่นึกว่าขายอย่างอื่นนะเนี่ย...
สาวขายหมากที่นี่เขามีชื่อเรียกว่า 檳榔西施 (ปิงหลางซีซือ) คำว่า 檳榔 (ปิงหลาง) หมายถึงหมาก ส่วนคำว่า 西施 (ซีซือ) นี่คนไทยรู้จักในชื่อว่า ไซซี ตามสำเนียงแต้จิ๋ว คือชื่อสาวงามคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เพราะงั้น 檳榔西施 เลยหมายถึงสาวสวยที่ขายหมาก
สำหรับป้ายที่เราเห็นนี่ก็คือแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเขาก็รณรงค์ให้เลิกหมากกันพอสมควร แต่ไม่ค่อยได้ผล
เพราะหมากมันมีผลเสียมากมาย ทั้งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปาก ทั้งยังมีกลิ่นติดซึ่งไม่ค่อยดีเวลาพูดกับคนอื่น
เห็นเขาบอกว่าคนที่นี่กินหมากกันเยอะเพราะว่าทำงานกันดึกเลยนำมาเคี้ยวแก้ง่วง เราถามว่าถ้าแบบนั้นใช้หมากฝรั่งไม่ดีกว่าหรือ เขาก็บอกว่าข้างในหมากมันมีสารที่ทำให้ไม่ง่วงอยู่ด้วย (เราคิดในใจ แบบนั้นดื่มกาแฟแล้วตามด้วยเคี้ยวหมากฝรั่งแทนไม่ดีกว่าหรือ)
ไต้หวันมีคนเคี้ยวหมากมากถึง 7.6% ของประชากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (เพราะคนขายเป็นผู้หญิง?) ผู้ชายเคี้ยวหมากถึง 14.3% ในขณะที่ผู้หญิงเคี้ยวหมากมีแค่ 1.0%อ้างอิง http://zh.wikipedia.org/wiki/檳榔
เห็นสัดส่วนคนเคี้ยวหมากแล้วน่ากลัวมากทีเดียว ก็ยังดีว่าคนที่เรารู้จักไม่เห็นมีใครเคี้ยวหมากเลย เราก็เลยไม่รู้ว่าคนที่นี่นิยมเคี้ยวหมากแค่ไหน
ถ้าหากว่าใครเอาคำว่าหมากในภาษาจีนคือ 檳榔 (ปิงหลาง) ไปถามหารูปกับอากู๋ละก็ ภาพที่จะเห็นส่วนใหญ่มันไม่ใช่ภาพห่อเขียวๆหมากพลูที่เราคุ้นเคย แต่เป็น...
นับเป็นเรื่องแปลกๆอีกเรื่องของไต้หวัน