φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



สวนที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ ร่องรอยที่หลงเหลือจากสงครามโลกครั้งที่สอง
เขียนเมื่อ 2013/05/19 02:22
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#ศุกร์ 25 ม.ค. 2013

เข้าสู่เช้าวันที่ ๙ ของการเที่ยวญี่ปุ่น และเป็นวันที่ ๓ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเที่ยวในฮิโรชิมะ


หลังจากที่เมื่อคืนไปเที่ยวที่สะพานคินไตและเกาะมิยาจิมะแล้ว เราก็กลับมาค้างคืนที่เรียวกังในฮิโรชิมะ https://phyblas.hinaboshi.com/20130515

สองวันแรกเป็นการเที่ยวภายในจังหวัด แต่ไม่ได้เที่ยวในตัวเมืองฮิโรชิมะเลย จนกระทั่งเมื่อคืนถึงมีโอกาสได้ไปเดินมานิดหน่อย แต่วันนี้จะเป็นการเที่ยวภายในตัวเมืองจริงๆ

วันนี้เป้าหมายแรกที่จะไปก็คือโดมระเบิดปรมาณู และสวนที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ

ก่อนจะไปชมภาพสถานที่คงขาดไม่ได้ที่จะต้องเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะเมืองฮิโรชิมะนี้เป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะเมืองแรกของโลกที่โดนระเบิดปรมาณู และสถานที่ที่จะไปในครั้งนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับระเบิดปรมาณูโดยตรง





ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากที่ญี่ปุ่นถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ญี่ปุ่นก็ได้เข้าสู่ภาวะสงครามกับสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด

จนปี 1945 ช่วงท้ายของสงคราม ญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะเสียเปรียบอย่างมาก โดนไล่ต้อนมาเรื่อยๆ และยิ่งเมื่อเยอรมันยอมแพ้ไปตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 1945 ทำให้การโจมตีของสหรัฐฯมุ่งเปามาที่ญี่ปุ่นอย่างเดียว จึงยิ่งเสียเปรียบหนักแต่ญี่ปุ่นก็ยังสู้ต่อไป และมีทีท่าว่าสงครามจะยืดเยื้อออกไป

ในช่วงนั้นห้องวิจัยในสหรัฐฯได้มีการวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นอย่างลับๆในชื่อโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ซึ่งได้วิจัยจนสามารถผลิตระเบิดปรมาณูได้สำเร็จในปี 1945

ในช่วงที่สงครามยืดเยื้อ ทางสหรัฐฯได้ตัดสินใจว่าจะนำระเบิดปรมาณูทิ้งที่ญี่ปุ่น จึงได้มีการทดสอบทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ที่ทะเลทรายบริเวณใกล้กับเมืองแอลาโมกอร์โด (Alamogordo) รัฐนิวเม็กซิโก เป็นระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก

เมื่อการทดลองระเบิดประสบความสำเร็จ ทางสหรัฐฯจึงได้เตรียมที่จะนำมาใช้จริงในการโจมตีญี่ปุ่น โดยในเบื้องต้นได้มีการเลือกเป้าหมายไว้หลายเป้าหมาย แต่สุดท้ายก็ตัดเหลืออยู่ ๓ ที่คือ ฮิโรชิมะ โคกุระ และนางาซากิ

ดังนั้นในวันที่ 6 สิงหาคม ระเบิดปรมาณูลูกแรก ลิตเติลบอย (Little Boy) ซึ่งหนัก ๔.๔ ตัน กำลังระเบิด ๑๖ กิโลตัน ก็ได้ถูกทิ้งลงที่ฮิโรชิมะ และระเบิดในตอนเช้าเวลา 8:15 บริเวณใจกลางเมืองที่จุดสูงจากพื้นดิน ๖๐๐ เมตร



แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งตายทันทีและตายในเวลาต่อมารวมประมาณ ๙ - ๑๒ หมื่นคน คนที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางระเบิดในระยะ ๕๐๐ เมตร 90% ตายทันทีหรือตายภายในวันนั้น ส่วนในระยะ ๕๐๐-๑๐๐๐ เมตร ตายทันทีหรือตายในวันนั้น 60-70% แต่คนที่รอดมาได้ก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่นานและต้องตายในเวลาสัปดาห์หรือเดือนต่อมาเกือบทั้งหมด

หลังจากนั้น ๓ วัน ระเบิดปรมาณูลูกที่สอง แฟตแมน (Fat Man) ซึ่งมีอานุภาพสูงกว่าลูกแรกก็ได้ถูกทิ้งที่นางาซากิ แต่มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่ดีทำให้ศูนย์กลางของระเบิดห่างจากใจกลางเมือง ไม่เหมือนกับฮิโรชิมะที่ละเบิดลงตรงกลางเมือง

สุดท้ายญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 เป็นอันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒

บริเวณใกล้ศูนย์กลางของการระเบิดนั้นเรียบเป็นหน้ากลองเหลือเพียงแต่ซาก มีเพียงไม่กี่อาคารที่ยังพอเหลือเค้าโครง หนึ่งในนั้นคืออาคารที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าโดมระเบิดปรมาณู (原爆ドーム, เกมบากุโดมุ) ซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางการระเบิดเพียง ๑๕๐ เมตร ปัจจุบันถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี

พื้นที่บริเวณศูนย์กลางของระเบิดได้กลายเป็นสวนที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ (広島平和記念公園, ฮิโรชิมะเฮย์วะคิเนงโควเอง) ซึ่งเต็มไปด้วยอนุสาวรีย์ต่างๆเพื่อรำลึกเหตุการณ์ และยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ (広島平和記念資料館, ฮิโรชิมะเฮย์วะคิเนงชิเรียวกัง) ซึ่งเป็นที่จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูและสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความน่ากลัว

ปัจจุบันที่นี่ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่ดึงดูนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาชม เป็นสถานที่ที่ใครมาฮิโรชิมะยังไงก็ต้องแวะมา





หลังจากเท้าความถึงประวัติศาสตร์เสร็จ ก็ขอกลับมาเล่าเรื่องการเที่ยวต่อ

เช้านี้เป็นอะไรที่เริ่มต้นขึ้นอย่างช้า เนื่องจากเพื่อนเราปกติเป็นคนนอนตื่นสายอยู่แล้ว ให้ตื่นเช้าเพื่อเที่ยวมาสองวันก็เต็มที่แล้ว วันนี้เลยขอนอนหลับสบายๆตื่นสายๆสักเช้า ไปๆมาๆเราออกจากเรียวกังประมาณเก้าโมงครึ่ง

แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะแผนการเที่ยววันนี้ค่อนข้างหลวมๆอยู่ เพราะเที่ยวแค่ในเมือง ไม่ได้ไปไหนไกล ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และเรามีเวลาถึงตอนเย็นเพราะต้องรอรถเที่ยวกลางคืนขากลับ ถ้าแผนมันรัดตัวจริงๆละก็ยังไงเราก็ต้องปลุกเพื่อนให้ตื่นแล้วออกตอน ๗ โมงให้ได้

เราเช็กเอาต์แล้วก็ฝากของไว้กับเรียวกัง ไว้ตอนเย็นเที่ยวเสร็จค่อยกลับมาเอาก่อนจะกลับ

ภาพจิซึรุเรียวกังแบบเต็มๆ เมื่อคืนมาถึงก็มืดแล้วเลยไม่มีโอกาสได้ถ่าย เห็นแบบนี้แล้วเล็กนิดเดียว ดูไม่ออกว่าจะเป็นโรงแรมเลยนะ



มื้อเช้าซื้อแม็กโดนัลด์แถวใกล้ๆเรียวกังทาน มื้อนี้ราคาแค่ ๑๐๐ เยนเท่านั้นเอง ถูกกว่าซื้อขนมปังตามร้านสะดวกซื้อซะอีก แม็กที่นี่ถือเป็นอาหารแบบถูกๆติดดิน ตรงกันข้ามกับที่ไทยหรือที่จีนเลย แถมอร่อยไม่แพ้กันด้วย อยากประหยัดเงินต้องมากินแม็ก



กินเสร็จก็ไปเดินเล่นในย่านฮนโดริต่อ วันนี้เราดูใจเย็นมากจริงๆ ตอนกลางวันที่นี่ให้บรรยากาศต่างจากเมื่อคืนไปอีกแบบ




แล้วก็เจอร้านเกม เพื่อนเราเข้าไปเล่นยูโฟแคทเชอร์ (ตู้หนีบตุ๊กตา) สักเกม... บอกแล้วว่าวันนี้ใจเย็นกันมาก



หลังจากนั้นก็ไปขึ้นรถรางเพื่อจะไปยังโดมระเบิดปรมาณูกันเหมือนเมื่อคืน ความจริงแล้วระยะทางมันใกล้พอที่จะเดินไปได้ แต่ทุ่นแรงได้ก็ทุ่นไว้ก่อนดีกว่าเพราะยังต้องเที่ยวทั้งวัน





แล้วก็มาถึงโดมระเบิดปรมาณู




ภาพทิวทัศน์ริมฝั่งน้ำที่มีโดมระเบิดปรมาณูอยู่ริมฝั่ง ดูแล้วก็สวยงาม



เข้ามาใกล้ๆ ดูโดมระเบิดปรมาณูในมุมต่างๆ





พูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับที่นี่สักหน่อย โดมระเบิดปรมาณูแห่งนี้เมื่อก่อนเป็นหอจัดแสดงผลิตภัณฑ์จังหวัดฮิโรชิมะ (広島県物産陳列館, ฮิโรชิมะเกงบุซซังจินเรตสึกัง) เริ่มสร้างและเปิดใช้งานเปิดเมื่อปี 1915 ออกแบบโดยยาน เล็ตเซล (Jan Letzel) สถาปนิกชาวเชก ซึ่งได้สร้างผลงานสิ่งก่อสร้างไว้หลายแห่งในญี่ปุ่น

ปี 1933 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นหอส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัดฮิโรชิมะ (広島県産業奨励館, ฮิโรชิมะเกงซังเงียวโชวริกัง) แล้วเปิดเป็นหอจัดแสดงงานศิลปะซึ่งส่งเสริมวัฒนธรรมของจังหวัดฮิโรชิมะ แต่ว่าตั้งแต่ 31 มีนาคม 1944 ที่นี่ก็ได้ปิดตัวลงเนื่องจากภาวะสงครามยืดเยื้อ

จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม 1945 เมื่อระเบิดปรมาณูได้ถูกทิ้งลงที่ฮิโรชิมะ ที่นี่อยู่ห่างจากศูนย์กลางระเบิดเพียง ๑๕๐ เมตร จึงโดนระเบิดไปเต็มๆ และหลงเหลือเพียงแค่ซากเค้าโครงของตึกอย่างที่เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

สาเหตุที่ตึกไม่ได้ถูกทำลายอย่างสมบูรณ์ก็เพราะว่าศูนย์กลางการระเบิดนั้นอยู่เกือบค่อนไปทางด้านบนของตึกพอดี และจากการที่ตึกนี้มีหน้าต่างเยอะทำให้แรงระเบิดระบายผ่านหน้าต่างไป และเนื่องจากส่วนยอดโดมของตึกนั้นทำจากทองแดงซึ่งต่างจากตัวตึกที่ทำด้วยอิฐเสริมเหล็ก ทองแดงหลอมเหลวง่าย ทำให้หลอมเหลวไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้ตัวอาคารโปร่ง แรงระเบิดผ่านทะลุไปได้ง่ายขึ้นอีก

เมื่อสงครามสิ้นสุดลงผู้คนก็ถกกันว่าจะทำยังไงกับตัวอาคารนี้ดี ชาวบ้านทั่วไปเห็นว่าควรจะรื้อทิ้ง แต่สุดท้ายทางการก็ตัดสินใจที่จะหลงเหลือไว้เพื่อเป็นที่ระลึกให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงความโหดร้ายของระเบิดปรมาณู

ตั้งแต่นั้นมาที่นี่จึงได้เป็นที่รู้จักในฐานะโดมระเบิดปรมาณู ในปี 1996 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก



หลังจากดูโดมระเบิดปรมาณูเสร็จก็ข้ามฝั่งแม่น้ำมา ก็จะเป็นบริเวณสวนที่ระลึกสันติภาพ บริเวณนี้คือส่วนที่เป็นศูนย์กลางของระเบิดปรมาณู ตั้งอยู่บริเวณฝั่งใต้สามเหลี่ยมปากทางแยกของแม่น้ำ





อนุสาวรีย์ที่อยู่กลางน้ำนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ตายจากระเบิดปรมาณู



ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ





การเข้าชมจ่ายค่าเข้าเพียงแค่ ๕๐ เยนเท่านั้น เทียบราคากับสถานที่เที่ยวแห่งอื่นแล้วแทบจะเรียกว่าฟรีเลยก็ว่าได้




ในนี้จัดแสดงประวัติเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู และผลกระทบที่เกิดขึ้น



นี่คือบริเวณศูนย์กลางการระเบิด ก่อนเกิดการระเบิด



และนี่คือสภาพหลังระเบิด จะเห็นว่าเรียบเป็นหน้ากลอง เหลือโครงอยู่ไม่กี่หลัง



พวกคนที่ใส่ชุดสีเขียวๆจะเห็นว่ามีแต่คนแก่ๆทั้งนั้น พวกเขาคือคนที่ผ่านเหตุการณ์สมัยนั้นมาและยังมีชีวิตอยู่จนมาเล่าประสบการณ์ได้ ฟังเขาเล่าแล้วก็ได้อารมณ์ตามจริงๆ แต่น่าเสียดายว่ายุคสมัยผ่านไปเรื่อยๆ ถ้ามาที่นี่อีกทีสักสิบปีให้หลังจะยังเหลือแค่กี่คนที่สามารถมาเล่าประสบการณ์ตรงให้ฟังแบบนี้ได้บ้างนะ



ตรงนี้อธิบายความเป็นมาว่าทำไมฮิโรชิมะถึงถูกเลือกเป็นเป้าหมายของระเบิดปรมาณู มีเมืองไหนถูกเล็งเอาไว้บ้าง



นาฬิกาข้อมือที่เหลือรอดจากตอนนั้น มันหยุดเดินเวลา 8:15 ซึ่งเป็นเวลาที่เกิดระเบิดพอดี



อันนี้เป็นแบบจำลองเหมือนกับโดมระเบิดปรมาณูขนาดย่อ ตั้งอยู่ภายในนี้



หน้าจอนี้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพ มีเป็นภาษาต่างๆมากมาย ภาษาไทยก็มีด้วย แต่เนื้อหาไม่ยาวเท่าไหร่



ลูกโลกที่แสดงจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าอยู่ที่ประเทศไหนกี่ลูก จะเห็นว่าที่เยอะสุดก็คือสหรัฐอเมริกา



บริเวณนี้จำลองสภาพให้เหมือนอยู่ภายในซากตึกที่ถูกทำลาย ให้บรรยากาศน่ากลัวขึ้นไปอีก



นี่คือเมฆรูปเห็ด เป็นเมฆชนิดพิเศษที่เป็นผลจากระเบิดปรมาณู



หุ่นจำลองสภาพของผู้ที่ถูกระเบิดปรมาณู จากสภาพที่เห็นคืออยู่ได้อีกไม่นานก็ต้องตายลงอย่างทรมาน



แบบจำลองแสดงตำแหน่งที่ลูกระเบิดลง โดยห้อยเป็นลูกบอลสีแดงอยู่เหนือศูนย์กลางระเบิด ให้เห็นว่ามันระเบิดจากกลางอากาศ ระเบิดปรมาณูไม่เหมือนระเบิดทั่วไปตรงที่มันต้องจุดให้ระเบิดกลางอากาศ



พวกชุดที่เหลือสภาพจากตอนนั้น




ซากของอะไรต่างๆที่หลงเหลืออยู่ก็เอามาจัดแสดง








นี่เป็นพวกโลหะที่ถูกหลอมในตอนที่เกิดระเบิด เนื่องจากความร้อนสูงมากทำให้ทุกอย่างหลอมมารวมกัน



เขามีติดป้ายเชิญชวนให้จับกันดูด้วย



ขยายดูใกล้ๆ หน้าตาอย่างที่เห็น อย่างกับก้อนหินเลย




และยังมีอีกมากมายตรงนี้



เครื่องวัดปริมาณรังสี มีให้เลื่อนสารกัมมันตรังสีเข้าๆออกๆได้เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของเครื่อง



หน้าจออธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ มีภาษาต่างๆมากมาย รวมทั้งภาษาไทย



แผนที่แสดงจำนวนผู้ที่เสียชีวิตในจังหวัดต่างๆของญี่ปุ่น สีน้ำตาลคือตายมากกว่า ๕ หมื่นคน ซึ่งก็มีเพียงแค่ ๒ จังหวัดเท่านั้น คือฮิโรชิมะ กับนางาซากิ ส่วนสีชมพูคือตาย ๕ พันถึง ๑ หมื่นคน ก็มีแค่สี่จังหวัดคือโตเกียว คานางาวะ โอซากะ ฟุกุโอกะ



จะเห็นว่าจังหวัดที่โดนระเบิดปรมาณูคนตายมากกว่า ๕ หมื่นคน ในขณะที่จังหวัดอื่นมีคนตายอย่างมากก็ไม่ถึงหมื่นคน ความเสียหายต่างกันมากลิบลับ ถ้าสงครามจบลงโดยที่ไม่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูความเสียหายของญี่ปุ่นคงน้อยกว่านี้มาก



แล้วก็เดินภายในนี้เสร็จ หลังจากนั้นเดินไปไม่ไกลนักจะเจออีกอาคารหนึ่ง คือหออธิษฐานสันติภาพไว้อาลัยผู้ตายจากระเบิดปรมาณูฮิโรชิมะแห่งชาติ (国立広島原爆死没者追悼平和祈念館)



อาคารเป็นโดมซึ่งขุดลึกลงไปใต้ดิน



ลงไปข้างล่างจะเป็นห้องโถงใหญ่ซึ่งเอาไว้รำลึกถึงผู้ที่ตายไปในเหตุการณ์ ภาพที่เห็นที่ผนังเป็นสภาพเมืองขณะเพิ่งถูกระเบิดไป



นี่เป็นรายชื่อผู้คนที่ตายในเหตุการณ์ทั้งหมดที่มีการบันทึกชื่อไว้ พร้อมรูปประกอบมากมาย



นอกจากนี้ยังมีเครื่องคอมที่บรรจุรายชื่อของผู้คนที่เสียชีวิตทั้งหมดไว้ สามารถไปกดค้นได้ด้วย



แล้วก็ออกมา ไม่ไกลจากตรงนั้นมีอนุสาวรีย์ของซาดาโกะ นี่เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงซาซากิ ซาดาโกะ (佐々木禎子) เด็กสาวที่ได้รับผลกระทบจากผลของระเบิดปรมาณู



ปี 1945 ขณะซาดาโกะอายุ ๒ ปี เธอเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู และมีชีวิตอยู่ต่อมาจนกระทั่งปลายปี 1954 เธอเริ่มล้มป่วยลงและตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นผลมาจากระเบิดปรมาณู แต่เพิ่งจะมาแสดงอาการ

ซาดาโกะได้ยินเรื่องราวว่าถ้าพับนกกระเรียนได้พันตัวแล้วจะหายดี เธอเลยพยายามพับนกกระเรียนทั้งที่อาการป่วยก็ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จนพับได้ครบพันตัวแล้วแต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เธอก็ยังคงพับต่อไป จนในที่สุดก็เสียชีวิตลงในวันที่ 25 ตุลาคม 1955 ในวัย ๑๒ ปี หลังจากเริ่มตรวจพบอาการเพียงประมาณปีเดียว

เรื่องราวของซาดาโกะแพร่หลายออกไป ผู้คนได้ยินเรื่องราวแล้วรู้สึกเห็นใจอย่างมาก จึงสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อระลึกถึงเธอที่สวนสันติภาพแห่งนี้ด้วย



หลังจากดูอนุสาวรีย์ซาดาโกะเสร็จการเดินเที่ยวในสวนสันติภาพนี้ก็จบลง เราใช้เวลาในนี้ประมาณ ๒ ชั่วโมง ค่อยๆดูข้อมูลต่างๆไป เราเดินจากที่นี่ไปด้วยอารมณ์หดหู่ตามบรรยากาศสถานที่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยได้ยินเรื่องราวของระเบิดปรมาณูมาแล้วตั้งไม่รู้กี่ครั้ง แต่พอได้มาเห็นสถานที่เกิดเหตุจริงแล้วก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ ได้ความรู้อะไรมากขึ้นเยอะ จึงหลงเหลือความประทับใจไม่น้อยกับที่นี่



ที่หมายต่อไปที่จะไปต่อก็คือปราสาทฮิโรชิมะ ปราสาทโบราณที่ฟื้นฟูขึ้นมาหลังถูกทำลายโดยระเบิดปรมาณู ติดตามอ่านกันต่อได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20130604





-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศญี่ปุ่น >> ฮิโรชิมะ
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
-- ท่องเที่ยว >> ที่ระลึกภัยพิบัติ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文