φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาจีน
เขียนเมื่อ 2015/03/22 08:32
แก้ไขล่าสุด 2023/07/01 20:20
#พฤหัส 19 มี.ค. 2015

ช่วงนี้ปักกิ่งอากาศอุ่นขึ้นมาก เรียกได้ว่าเย็นสบายกำลังดี น่าออกไปเดินเล่น อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะอุ่นขึ้นหน่อยแล้วแต่ดอกไม้ก็ยังไม่เริ่มบาน ถ้าจะไปเที่ยวสุถานที่พวกสวนหรือนอกเมืองน่าจะรอช้ากว่านี้อีกสักหน่อย

ช่วงนี้รู้สึกอยากเที่ยวสถานที่พวกพิพิธภัณฑ์ จากการลองหาข้อมูลดูในปักกิ่งมีพิพิธภัณฑ์อยู่มากทีเดียว

ที่แวะไปครั้งนี้คือพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาจีน (中国地质博物馆) ซึ่งอยู่ที่ซีซื่อ (西四) ใกล้ใจกลางเมืองปักกิ่ง

ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับทางธรณีวิทยา มีจัดแสดงตัวอย่างหินและแร่ชนิดต่างๆ แล้วก็มีฟอสซิลจัดแสดงอยู่เป็นจำนวนมากด้วย

พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาจีนก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1916 ถือเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งแรกที่สร้างขึ้นโดยคนจีนเอง แต่ว่าเดิมที่ตัวพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกสร้างเมื่อปี 1958 และเริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ปี 1959



พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ติดกับสถานีซีซื่อ (西四站) ถ้านั่งรถไฟฟ้ามาก็สามารถมาได้โดยง่าย

แต่ครั้งนี้เราเดินทางมาจากมหาวิทยาลัยโดยนั่งรถเมล์มา ระหว่างทางต้องผ่านย่านฮู่กั๋วซื่อ (护国寺) เป็นย่านชุมชน ถนนของกินแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าผิงอานหลี่ (平安里站) เลยแวะลงมาก่อน



ที่แวะมาตรงนี้ก็เพื่อมาหาอะไรกินก่อนจะไปเที่ยว



ที่นี่มีร้านอาหารอิตาลีไซเซริยะ (saizeriya, 萨莉亚) อยู่ที่ชั้นสองของอาคารฮู่กั๋วซื่อเทียนตี้ (护国寺天地)



สปาเก็ตตีของร้านนี้อร่อย แล้วก็ไม่แพงด้วย จานนี้ ๑๓ หยวน



เหมือนจะนอกเรื่องไปหน่อย ยังไม่ทันพูดถึงที่เที่ยวก็เอารูปของกินมาลงซะแล้ว เอาเป็นว่าเป็นการอุ่นเครื่องก่อนเริ่มเล่าถึงสถานที่จริง กองทัพเดินด้วยท้อง



หลังจากแวะกินเสร็จก็เดินออกมาแล้วเดินลงใต้ไปยังสถานีรถไฟฟ้าผิงอานหลี่ ตรงนั้นมีป้ายชี้ทางไปยังพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาจีนอยู่ด้วย ปกติพวกสถานที่เที่ยวต่างๆมักจะมีป้ายสีน้ำตาลแบบนี้ชี้นำทางมาแต่ไกลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามตัวพิพิธภัณฑ์ยังอยู่ห่างออกไปจากตรงนี้อีกสักระยะ ถ้านั่งรถไฟฟ้าก็คือสถานีถัดไป แต่ถ้านั่งรถเมล์ก็ห่าง ๒ ป้าย ถ้าเดินไปก็ต้องใช้เวลาสักพัก



เพื่อเป็นการประหยัดแรงเรานั่งรถเมล์เพื่อมาลงที่หน้าสถานีซีซื่อ แป๊บเดียวก็ถึง



ตรงนี้เห็นป้ายแนะนำสถานที่เที่ยวอีกแห่งหนึ่งคือวัดลี่ไต้ตี้หวาง (历代帝王庙) เป็นวัดเก่าแห่งหนึ่งของปักกิ่ง ตอนที่ดูแผนที่ก็เห็นในแผนที่มีสถานที่นี้อยู่ มันอยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่ใช่ที่เที่ยวที่มีอะไรสำคัญนักจึงไม่ได้ให้ความสนใจแต่แรก แต่ในเมื่อมันอยู่ใกล้ก็เลยคิดว่าถ้าเดินในพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้วยังเหลือแรงอยู่ก็จะแวะไปดูสักหน่อย



อาคารพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาจีน แต่ว่าที่เป็นส่วนที่ให้คนเข้าชมได้คือส่วนเล็กๆด้านตะวันออกสุด ที่เหลือเป็นอาคารสำนักงานและสถาบันวิจัย



ฝั่งตรงข้ามของพิพิธภัณฑ์คือสถานที่เที่ยวชื่อดังอีกแห่ง คือวัดกว่างจี้ (广济寺) ซึ่งเคยมาเที่ยวเมื่อนานมาแล้ว เล่าถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20111207



เข้าไปด้านใน ค่าเข้าชม ๓๐ หยวน ถ้าเป็นนักเรียนก็สามารถลดครึ่งราคาได้ แต่ว่าที่นี่นักศึกษาปริญญาโทขึ้นไปไม่สามารถลดได้ก็เลยต้องจ่ายเต็มราคาตามปกติ

ชั้น ๑ จัดแสดงให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโลก เข้ามาเริ่มแรกด้านหน้าสุดจะเห็นลูกโลกขนาดใหญ่ และแบบจำลองแผ่นหินที่บันทึกกลุ่มดาวจีนโบราณซึ่งสลักขึ้นในยุคราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋, ปี 1127 - 1279) ในนี้มีดาวทั้งหมด ๑๔๐๐ กว่าดวงบันทึกอยู่



แผ่นป้ายที่ให้ข้อมูลความรู้ต่างๆ เริ่มพูดถึงตั้งแต่เรื่องตำแหน่งของโลกภายในดาราจักรแล้วก็ระบบสุริยะ



แบบจำลองและแผ่นป้ายอธิบายการเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก



หลักฐานว่าแผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ก็คือการที่พบซากฟอสซิลของสัตว์ชนิดเดียวกันอยู่คนละทวีป



หินที่เจอการบีบอัดจนมีรอยโค้งงอจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก



ว่าด้วยเรื่องภูเขาไฟ



หินลาวาที่แข็งตัว



หินลาวาบ้างก็เป็นก้อนกลมๆแบบนี้



หินบะซอลต์ที่แตกเป็นเสาเหลี่ยม เกิดจากการแตกขณะที่ลาวาเย็นตัวลง



อันนี้เป็นของเล่น เขาให้ลองเอาก้อนพวกนี้มาสร้างให้เป็นโครงสร้างที่จะไม่พังเวลามีแผ่นดินไหว พอก่อเสร็จก็กดปุ่มข้างๆให้พื้นมันสั่นดูเป็นการทดสอบ



แบบจำลองบ้านขณะโดนแผ่นดินไหว ในนี้แสดงตำแหน่งสามจุดที่ปลอดภัยที่สุดที่ควรซ่อนตัวขณะแผ่นดินไหวมาก็คือที่บานประตู ใต้โต๊ะ แล้วก็มุมห้อง



อธิบายการเกิดของภูเขา



จำลองธารน้ำแข็ง



ห้องเล็กๆตรงกลางมีที่นั่งและมีจอภาพพูดแนะนำสถานที่





ชั้น ๑ จบแล้ว ต่อไปขึ้นมาชั้น ๒ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เริ่มจากดูส่วนทางขวาก่อน ตรงนี้จัดแสดงเกี่ยวกับแร่ต่างๆ



แร่ชนิดต่างๆวางเรียงรายอยู่เต็มไปหมด สวยๆทั้งนั้น




ความมันวาวของแร่



สีของแร่



โพรงผลึก




ตรงนี้แสดงการแบ่งจำแนกหินชนิดต่างๆว่าเป็นหินอะไร ดูแล้วไม่ง่ายเลย



ส่วนตรงนี้เป็นการจำแนกแร่ชนิดต่างๆ



คาร์สต์ภายในถ้ำหินปูน เป็นโครงสร้างที่เกิดจากการที่น้ำกัดเซาะหินปูนจนกร่อนเป็นร่องรอยแบบนี้



โพรงผลึกที่มีแบไรต์เกิดขึ้นพร้อมกับควอร์ตซ์



แร่มาลาไคต์ ในภาษาจีนเรียกว่าข่งเชวี่ยสือ (孔雀石) ซึ่งแปลว่าหินนกยูง เป็นชื่อที่ดูเพราะดี มาลาไคต์เป็นแร่ทองแดงคาร์บอเนต มีสีเขียวสวยงาม





ต่อไปมาส่วนทางซ้ายซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับอัญมนี



ที่นี่จัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับอัญมนี ตั้งแสดงอัญมนีสวยๆเต็มไปหมดเลย









ต่อขึ้นมาชั้น ๓ ก็แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ทางขวาจัดแสดงพวกฟอสซิลโบราณต่างๆมากมาย



ไทรโลไบต์ (trilobite, 三叶虫, ซานเย่ฉง) ขุดเจอที่อำเภอหย่งซุ่น (永顺) มณฑลหูหนาน มาจากช่วงต้นยุคออร์โดวิเชียน



ซีโนเซรัส (sinoceras, 震旦角石, เจิ้นต้านเจี่ยวสือ) เป็นหอยโบราณที่ขุดพบเจอได้ในประเทศจีน ตัวนี้ขุดเจอที่อี๋ชาง (宜昌) มณฑลหูเป่ย์ มาจากช่วงกลางยุคออร์โดวิเชียน



อันซ้ายเป็นฟอสซิลพวกหอย มาจากโมรอกโก อันขวาเป็นฟอสซิลปะการังมาจากกว่างหยวน (广元) มณฑลเสฉวน



สตริงโกเซฟาลุส (stringocephalus, 鸮头贝, เซียวโถวเป้ย์) ของยุคเดโวเนียน มาจากหนานหนิง (南宁) มณฑลกว่างซี



เทรามาโทครีนุส (Traumatocrinus, 创孔海百合, ชว่างข่งไห่ไป่เหอ) เป็นสัตว์ในไฟลัมเอคีโนเดร์มาตา (คือพวกเดียวกับดาวทะเลหรือเม่นทะเล) ตัวนี้อยู่ในยุคทรีอัสสิก พบที่กวานหลิ่ง มณฑลกุ้ยโจว



ฟอสซิลผีเสื้อ



ซาลามานเดอร์โบราณซึ่งพบในแถบชีวชาติเร่อเหอ (热河群) อยู่ในช่วงปลายยุคจูราสสิก พบที่อำเภอหนิงเฉิง (宁城) ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน



ฟอสซิลซิมโบสปอนดีลุส (cymbospondylus, 杯椎鱼龙, เปย์จุยหยวีหลง) เป็นสัตว์จำพวกเดียวกับอิคธีโอเซารุส (สัตว์เลื้อยคลานโบราณที่รูปร่างคล้ายปลา อาศัยอยู่ในน้ำ) ชนิดหนึ่ง ตัวนี้พบที่กวานหลิ่ง (关岭) มณฑลกุ้ยโจว มาจากปลายยุคทรีอัสสิก



กระดูกของอันคีเซารุสสายพันธุ์จีน (Anchisaurus sinensis, 中国安琪龙, จงกั๋วอานฉีหลง) ไดโนเสาร์กินพืชชนิดหนึ่ง ขนาดประมาณ ๒ เมตร ตัวนี้ขุดเจอที่ลู่เฟิง (禄丰) มณฑลยูนนาน มาจากต้นยุคจูราสสิก



สัตว์มีปีกตัวใหญ่ที่ตั้งเด่นอยู่ตรงนี้คือซุนการิปเทรุส (Dsungaripterus, 准噶尔翼龙, จุ่นก๋าเอ่อร์อี้หลง) เป็นสัตว์เลื้อยคลานโบราณที่มีปีกบินได้ เหมือนกับพวกพเตราโนดอน ตัวนี้อยู่ในต้นยุคเครทาเชียส มาจากอูเอ่อร์เหอ (乌尔禾) เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์



และอื่นๆอีกมากมาย ยกมาหมดไม่ไหว



ฉลาม พยายามถ่ายมุมที่ดูแล้วเหมือนกำลังจะงับหัวยาม



ตรงนี้อธิบายเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์สมัยก่อน



ทางนี้เป็นส่วนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม



ลาโกเมริกซ์ (Lagomeryx, 柄杯鹿, ปิ่งเปย์ลู่) เป็นสัตว์กีบคู่ ซึ่งสูญพันธุ์ไปในช่วงประมาณสิบล้านปีก่อน



งาของแมมมอธ มาจากชิงก่าง (青岗) มณฑลเฮย์หลงเจียง



หัวของแรดขนดก (Coelodonta antiquitatis, 披毛犀, พีเหมาซี) พบที่ชิงก่าง มณฑลเฮย์หลงเจียง





จากนั้นทางฝั่งซ้ายเป็นส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับการสนับสนุนและส่งเสริมจากภายนอก บรรยายว่ามีใครมาเยือนที่นี่ บริจาคอะไรให้บ้าง ตรงนี้ไม่ได้ดูละเอียดสักเท่าไหร่เนื่องจากเริ่มเหนื่อยแล้ว




ด้านหน้าทางเข้าตรงส่วนนั้นมีฟอสซิลไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ตั้งเด่นอยู่ คือลู่เฟิงโกเซารุส (Lufengosaurus, 禄丰龙, ลู่เฟิงหลง) ตัวยาว ๑๒ เมตร ส่วนสูงมากกว่า ๕ เมตร ชื่อของมันมาจากสถานที่พบ คือที่อำเภอลู่เฟิง มณฑลยูนนาน



ถัดมามีกระดูกส่วนแผงบนหลังของซานตงโกเซารุส (Shantungosaurus, 山东龙, ซานตงหลง) นี่ก็เป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่อีกชนิด ขนาด ๘ เมตร ถูกพบที่มณฑลซานตงเลยได้ชื่อตามชื่อมณฑล





สุดท้ายขึ้นไปชั้น ๔ ซึ่งก็แบ่งเป็น ๒ ส่วน แต่ว่าส่วนฝั่งขวาซึ่งเป็นส่วนที่จัดแสดงทรัพยากรธรรมชาติในประเทศจีนนั้นปิดปรับปรุงอยู่จึงเข้าชมไม่ได้



จึงมาที่ส่วนทางซ้ายเป็นห้องที่จัดแสดงแร่และอัญมนีต่างๆที่ได้มาจากที่ต่างๆ



หินสวยๆวางเรียงรายอยู่ในตู้กระจกเต็มไปหมด แต่ละอันก็มีลักษณะเด่นต่างกันไป เดินชมกันได้อย่างเพลิดเพลินเลย



ขอเอารูปที่สวยๆมาลงสักส่วนหนึ่ง แต่ที่จริงถ้าได้ไปเห็นกับตาจะรู้สึกสวยกว่าเห็นในรูปมากมายเลย ยิ่งอยู่ข้างในตู้กระจกด้วยเลยไม่สามารถถ่ายออกมาให้สวยได้เต็มที่















ดูจบหมดทั้ง ๔ ชั้นแล้วก็หมดแค่นี้ กลับมาชั้นล่างตรงด้านหน้าทางเข้ามีส่วนที่ขายของที่ระลึก แต่เห็นราคาแล้วหลักพันขึ้นไปทั้งนั้น แม้แต่ของชิ้นเล็กๆ ดังนั้นก็ไม่กล้าแตะอะไร



ใช้เวลาเดินดูอยู่ข้างในประมาณ ๓ ชั่วโมง กินเวลามาก เดินจนเมื่อยเลย แต่ก็คิดว่าคุ้ม ได้เดินดูอย่างละเอียดพอสมควร



หลังเดินเสร็จก็กำลังชั่งใจว่าจะแวะไปวัดลี่ไต้ตี้หวางต่อดีมั้ย ตั้งแต่แรกสุดก็ตั้งใจว่าถ้ายังไม่เหนื่อยจนไปต่อไม่ไหวก็จะแวะไป ซึ่งตอนนี้ก็เหนื่อยพอสมควรแล้วด้วย

แต่สุดท้ายแล้วก็คิดว่าแม้มันจะไม่ใช่ที่เที่ยวที่เด่นอะไรมาก แต่ไหนๆอยู่ใกล้แวะไปหน่อยก็ไม่เสียหาย ถ้าครั้งนี้ไม่แวะไปละก็โอกาสอื่นก็คงจะไม่อยู่ดีๆมาเพื่อเข้าชมที่นี่อย่างเดียวอีก ดังนั้นจึงตัดสินใจไปเดินต่อ แม้จะเหนื่อยแล้วก็ตาม

ฉะนั้นตอนหน้าจะเขียนถึงวัดลี่ไต้ตี้หวาง https://phyblas.hinaboshi.com/20150324



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์ >> พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文