φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



สวนชนเผ่าแห่งจีน ฝั่งเหนือ
เขียนเมื่อ 2015/06/06 02:21
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#จันทร์ 4 พ.ค. 2015

เที่ยวสวนชนเผ่าแห่งจีน
ต่อ หลังจากที่ตอนที่แล้วเดินเที่ยวฝั่งใต้เสร็จ https://phyblas.hinaboshi.com/20150604

คราวนี้เดินข้ามสะพานลอยมาเพื่อมาต่อบริเวณฝั่งเหนือ พอข้ามมาแล้วสิ่งที่พบอย่างแรกก็คือสิ่งก่อสร้างของชาวทิเบต



ชาวทิเบตนั้นในภาษาทิเบตเรียกว่า เผ่อปา (བོད་པ་, Pöba) หรือในภาษาจีนเรียกว่าชาวจ้าง (藏族) เป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบต และยังอาศัยอยู่ในเขตที่ราบสูงของมณฑลกานซู่, เสฉวน และยูนนานอีกเป็นจำนวนมาก ประชากรรวมแล้วประมาณ ๕ ล้านกว่าคน ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายวัชรยาน

ชาวทิเบตมีภาษาเป็นของตัวเองคือภาษาทิเบต ซึ่งเขียนโดยอักษรทิเบต เป็นอักษรแทนเสียง มีหน้าตาสวยงามและมีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน

นี่คือบ้านที่อยู่ในเขตคั่ม (ཁམས
་, Kam) หรือเรียกว่าคาง (康) ในภาษาจีน เป็นย่านชาวทิเบตในบริเวณทางตะวันตกของมณฑลเสฉวน


อาคารนี้มีชื่อเรียกในภาษาสันสกฤตว่ากาลจักรวัชรมณฑล อาจแปลตรงๆว่าวงกลมเพชรกงล้อเวลา คำว่า มณฑล นั้นมีความหมายเดิมว่าวงกลม แต่ในทางนิกายวัชรยานใช้เรียกแท่นบูชาหรือวงเวทย์ที่ใช้ประกอบพิธี ในนี้สามารถเข้าไปชมได้โดยเก็บค่าเข้าเพิ่มเติม ๒ หยวน



ตรงนี้เป็นทางลงไปข้างล่าง หากลงไปก็จะไปโผล่หน้าประตูทางเข้าของสวนฝั่งเหนือ แต่เรายังไม่ลงไปตอนนี้



อาคารนี้จำลองมาจากวัดโฉ่คัง (ཇོ་ཁང་, Qokang) หรือเรียกว่าต้าเจา (大昭寺) ในภาษาจีน เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในเมืองลาซ่า ข้างในเข้าไปชมได้



ที่อยู่ด้านนอกอาคารนี้คือสิ่งที่เรียกว่า "หม่านี" (མ་ནི།, mani) ในภาษาทิเบต ในภาษาจีนเรียกว่า "จว่านจิงถ่ง" (转经筒) เป็นกงล้อที่มีเขียนบทสวดเอาไว้แล้วพอหมุนก็เหมือนกับเป็นการอ่านบทสวด มีตั้งแต่ขนาดเล็กสามารถถือได้ ไปจนถึงขนาดใหญ่อย่างที่เห็น



เข้ามาชมภายในวัดโจคัง




จากชั้น ๒ มองออกไปทางโน้น เป็นบริเวณที่จำลองย่านเมืองเก่าในลาซ่า ชื่อว่าผ่าร์โกร์ (བར་སྐོར་, Pargor) ในภาษาจีนเรียกว่าปาคั่ว (八廓) เป็นย่านรอบๆวัดโจคัง



ลงมาเดินตรงนี้สักหน่อย



แต่ละอาคารตรงนี้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงสิ่งต่างๆเกี่ยวกับชาวทิเบต



จากนั้นเดินต่อมาผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยกงล้อมานี ทางซ้ายนี้เป็นอาคารของชาวลั่วปา (珞巴族) ชนกลุ่มน้อยกลุ่มเล็กๆในทิเบต มีชื่อเรียกในภาษาทิเบตว่าโฮลปา (ལྷོ་པ་, Lhoba) ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียซึ่งเป็นแดนพิพาท จีนถือว่าเป็นดินแดนในครองครองของตัวเอง เรียกว่าทิเบตใต้ (藏南, จ้างหนาน) หากไม่นับชาวลั่วปาที่อยู่ในบริเวณนี้แล้วชาวลั่วปาถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนน้อยที่สุดในจีน



และเดินถัดมาก็เจอกับอาคารของชาวเหมินปา (门巴族) ชนกลุ่มน้อยกลุ่มเล็กๆอีกกลุ่มที่อยู่ในทิเบต มีชื่อเรียกในภาษาทิเบตว่า เหมิ่นปา (མོན་པ་, Mönba) ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในรัฐอรุณาจัลประเทศเช่นกัน มีที่อยู่ในดินแดนปกครองจริงๆของจีนไม่มาก



ต่อมาเป็นส่วนของชาวเชียง (羌族) ชนกลุ่มน้อยในมณฑลเสฉวน มีประชากรประมาณ ๒ แสนกว่าคน



ชาวเชียงนั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานมาก ในช่วงยุคห้าชนเผ่าสิบหกแคว้น (五胡十六国, ปี 304 - 439) ชาวเชียงเป็น ๑ใน ๕ ชนเผ่าที่ได้ตั้งอาณาจักรปกครองจีนตอนเหนือ อีก ๔ ชนเผ่าคือชาวเซียงหนู (匈奴
), ชาวเจี๋ย (), ชาวเซียนเปย์ (鮮卑族) และ ชาวตี (氐族) ชาวเชียงเป็นเผ่าเดียวที่ยังเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันแม้ว่าชาวเชียงในปัจจุบันนี้จะหลงเหลืออยู่แค่เพียงกลุ่มย่อยของชาวเชียงโบราณที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกก็ตาม

อาคารนี้สร้างตามลักษณะสิ่งก่อสร้างพื้นเมืองของชาวเชียงในอำเภอเม่าเซี่ยน (茂县) ในมณฑลเสฉวน ภายในใหญ่พอสมควร มีจัดแสดงเกี่ยวกับชาวเชียง



ในนี้ยังมีพูดถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มณฑลเสฉวนเมื่อปี 2008 ซึ่งบริเวณที่อยู่อาศัยของเผ่าเชียงนั้นอยู่ใกล้ศูนย์กลางและได้รับความเสียหายมากมาย สิ่งก่อสร้างโบราณของชาวเชียงถูกทำลายย่อยยับต้องทำการฟื้นฟูเป็นการใหญ่



เดินออกมาอีกด้านของอาคาร



จากตรงนี้สามารถมองข้ามไปเห็นสิ่งก่อสร้างของชาวถู่ (土族) เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในอำเภอปกครองตนเองฮู่จู้ (互助) ของเผ่าถู่ซึ่งอยู่ในมณฑลชิงไห่



ข้ามมาเดินในนี้ดู



ภายในอาคาร




ขึ้นมาชั้นสองแล้วมองย้อนกลับไปเห็นอาคารของชาวเชียงอยู่ทางโน้นไกลๆ



ถัดมาทางนี้เดินย้อนมาหน่อยจะเป็นส่วนของชนชาติที่เราคุ้นเคยกันดี นั่นคือชาวไท หรือในภาษาจีนเรียกว่าชาวไต่ (傣族)



ที่เรียกว่าชาวไทนั้น เป็นชื่อเรียกรวมๆของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ลาว รัฐฉ่านของพม่า แล้วก็ตอนใต้ของมณฑลยูนนานในจีน ชาวไทพูดภาษาในตระกูลภาษาไท ซึ่งเป็นตระกูลย่อยของภาษาตระกูลไท-กะได

ชาวไทเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยและลาว และในรัฐฉานของพม่า สำหรับชาวไทในรัฐฉานนั้นส่วนใหญ่คือชาวไทใหญ่ ปัจจุบันเริ่มจะถูกวัฒนธรรมของพม่ากลืนไปแล้ว

ส่วนชาวไทที่อยู่ในจีนนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม กระจายอยู่ตอนใต้ของมณฑลยูนนาน แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือชาวไทลื้อ หรือเรียกในภาษาจีนว่าไต่เล่อ (傣仂) ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปกครองตัวเองสิบสองปันนา (西双版纳, ซือซวางป่านน่า) นอกจากนี้ก็ยังมีไทไต้คง เรียกในภาษาจีนว่าไต่น่า (傣那) อยู่ในจังหวัดปกครองตนเองเต๋อหง (德宏)

ที่นี่ได้จำลองสถานที่ท่องเที่ยวจากสิบสองปันนามาไว้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าไปเหมือนกัน คนที่นั่นพูดภาษาไทลื้อ ซึ่งก็ใกล้เคียงกับภาษาไทยมาก พอสื่อสารกันรู้เรื่อง ประเพณีก็คล้ายๆกัน มีเทศกาลสงกรานต์ สาดน้ำเล่นกัน

ตรงนี้มีให้เช่าอุปกรณ์และชุดสำหรับเล่นสาดน้ำ เทศกาลสงกรานต์เรียกในภาษาจีนว่าพัวสุ่ยเจี๋ย (泼水节) แปลว่าเทศกาลสาดน้ำ



ตรงนี้เป็นลานกว้างสำหรับสาดน้ำเล่น มีถังน้ำตั้งอยู่ แต่วันนี้เงียบเหงาไม่เห็นมีใครมาเล่นเลย



ศาลาแปดเหลี่ยมจิ่งเจิน (景真八角亭) ในอำเภอเมืองฮาย (勐海, เหมิงไห่) ในสิบสองปันนา



วัดไท



เจดีย์ม่านเฟย์หลง (曼飞龙塔) ในเมืองเชียงรุ่ง (景洪, จิ่งหง) เมืองเอกของสิบสองปันนา



บ่อน้ำรูปช้างที่มีเจดีย์อยู่ด้านบน



ร้านขายของ สามารถมาซื้อปืนฉีดน้ำหรือถาดน้ำสำหรับมาเล่นสาดน้ำตรงนี้ได้



หัวสะพานถูกประดับเป็นรูปสัตว์ต่างๆ



จากนั้นเมื่อข้ามสะพานมาก็จะเป็นอาคารของชาวซาลา (撒拉族) ชนเผ่าในมณฑลชิงไห่ มีประชากรประมาณแสนกว่าคน นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษาซาลาซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาอัลไตอิก



นี่เป็นสิ่งก่อสร้างในแบบของชาวซาลา เรียกว่าหลีปาโหลว (篱笆楼)



หอคอยสุเหร่า



ถัดมาเป็นส่วนของชาวเกาซาน (高山族) ซึ่งเป็นชื่อเรียกรวมๆชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในเกาะไต้หวันแม้ว่าภายในกลุ่มนี้จะมีความแตกต่างยิบย่อยลงไปอีกมากมายทั้งในทางภาษาและวัฒนธรรม แต่ว่าทั้งหมดล้วนพูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก เมื่อก่อนเกาะไต้หวันมีคนจีนฮั่นอาศัยอยู่เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าดั้งเดิม แต่เมื่อขึ้นสมัยราชวงศ์ชิงได้มีการอพยพครั้งใหญ่ของคนจีนไปยังเกาะไต้หวัน หลังจากนั้นชนพื้นเมืองก็ค่อยๆถูกกลืนไปทีละนิด ปัจจุบันมีประชากรอยู่ประมาณ ๔ แสนกว่าคน



เดินขึ้นมาบนเขา บนนี้เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างของชาวเกาซาน คำว่าเกาซาน (高山) นั้นแปลว่าเขาสูง ชาวเกาซานส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเขา




ยุ้งฉาง (谷仓)



ชั้นวางหัวของชาวเฉา (曹族) ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในกลุ่มเกาซาน มีวัฒนธรรมการล่าหัวมนุษย์ ใครยิ่งล่าได้มากก็ยิ่งแสดงถึงสถานะที่สูงขึ้นในสังคมของพวกเขา



ป้อมบัญชาการของชาวหลูไข่ (鲁凯族) กลุ่มย่อยอีกกลุ่มของชาวเกาซาน



จากนั้นลงเขามาแล้วเดินต่อมาก็เจอส่วนของชาวเกาหลี ซึ่งเรียกในภาษาจีนว่าชาวเฉาเสี่ยน (朝鲜族) ที่อยู่หน้าทางเข้านี่คือเสาไม้เทพารักษ์ มักวางไว้หน้าทางเข้าหมู่บ้านหรือประตูวัด เป็นความเชื่อว่าจะคอยปกป้องคุ้มกัน บนเสาจะเขียนเป็นภาษาเกาหลีโดยใช้อักษรฮันจา (한자, อักษรจีน)  ว่าช็อนฮาแดจังกุน (천하대장군, 天下大將軍) แปลว่าแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ใต้สรวงสวรรค์ และ ชีฮายอจังกุน (지하여장군, 地下女將軍) แปลว่าแม่ทัพหญิงใต้ปฐพี



ชาวเกาหลีในจีนมีอยู่ไม่น้อยตามแถบชายแดนเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ก็ยังมีชุมชนคนเกาหลีใต้อยู่หลายแห่งในจีนด้วย เกาหลีก็ถือเป็นอีกชนชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในเอเชียตะวันออก มีอยู่หลายช่วงที่ตกเป็นรัฐบรรณาการของจีน สุดท้ายก็ตกเป็นของญี่ปุ่น หลังจากนั้นพอจบสงครามโลกครั้งที่สองก็แตกเป็นเหนือกับใต้อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


เดินเข้ามาชมภายในส่วนของเกาหลี




อาคารนี้มีของจัดแสดง และสามารถเข้าไปเช่าชุดเกาหลี มีคนถ่ายรูปให้ด้วย



ส่วนอาคารนี้เป็นภัตตาคาร เป็นร้านอาหารเพียงแห่งเดียวของสวนแห่งนี้ เรามาถึงตรงนี้ในตอนประมาณเที่ยงพอดีได้เวลาอาหารจึงแวะทานเลย



อาหารที่ขายก็มีอาหารเกาหลี แต่ก็มีอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ส่วนใหญ่ไม่ต่างจากอาหารที่ขายทั่วไป แต่ว่าแพงกว่าเพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว



เกี๊ยวจานนี้ ๑๘ หยวน อร่อยธรรมดาเหมือนเกี๊ยวตามร้านข้างทางทั่วไป



กินเสร็จท้องอิ่มก็มีแรงเดินต่อ ต่อไปเป็นส่วนของชาวซีปั๋ว (锡伯族) ชนกลุ่มน้อยในซินเจียงและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีประชากรประมาณแสนกว่า ใช้ภาษาซีปั๋วซึ่งถือเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษาแมนจู



และถัดมาเป็นส่วนของชาวแมนจู หรือเรียกในภาษาจีนว่าชาวหมั่น (满族) เป็นชนชาติที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์จีนอย่างยิ่ง เพราะราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนนั้นเป็นชาวแมนจู ปกครองจีนมาตั้งแต่ปี 1644 ถึงปี 1911 วัฒนธรรมต่างๆของชาวแมนจูจึงถูกเผยแพร่กลมกลืนไปกับจีนในช่วงนั้น



ชาวแมนจูมีต้นกำเนิดเดิมมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน บริเวณนั้นเรียกว่าแมนจูเรีย หรือหมั่นโจว (满洲) ในภาษาจีน แต่ปัจจุบันบริเวณนั้นก็เต็มไปด้วยคนจีนฮั่น ชาวแมนจูกลายเป็นประชากรส่วนน้อยไปแล้ว

ชาวแมนจูมีภาษาของตัวเองคือภาษาแมนจู เป็นภาษาในตระกูลอัลไตอิก เคยถูกใช้ทั่วไปในหมู่ชาวแมนจู ในช่วงแรกๆที่ราชวงศ์ชิงปกครองจีนถูกใช้แพร่หลายในหมู่ชนชั้นปกครอง แต่ก็ค่อยๆเริ่มใช้น้อยลงเรื่อยๆเพราะชาวแมนจูเริ่มหันไปใช้ภาษาจีนกันแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันคนที่พูดภาษาแมนจูได้มีไม่ถึงร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นคนแก่แล้วก็นักภาษาศาสตร์จำนวนหนึ่งเท่านั้น ชาวแมนจูในจีนปัจจุบันนี้มีประมาณสิบล้านกว่าคน ถือเป็นชนกลุ่มที่มีจำนวนมาก แต่ว่าทุกคนใช้ภาษาจีนกันหมด

อาคารแมนจูที่สร้างไว้ที่นี่จำลองรูปแบบมาจากวังของราชวงศ์ชิง ชั้นบนเป็นสวน และอาคารชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับชาวแมนจู




กษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิงแต่ละองค์ เริ่มตั้งแต่ทางขวาสุดตั้งแต่องค์แรกคือหนูเอ่อร์ฮาชื่อ (努尔哈赤) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ในปี 1616 (เริ่มแรกใช้ชื่อว่าราชวงศ์โฮ่วจิน (后金)) ไปจนถึงทางซ้ายสุดซึ่งเป็นคนเดียวที่เป็นรูปถ่ายคือผู่อี๋ (溥仪) จักรพรรดิองค์สุดท้ายผู้ต้องถูกจองจำอยู่ในพระราชวังต้องห้ามหลังถูกโค่นล้มราชวงศ์



แบบจำลองมู่หลานชิวเสี่ยน (木兰秋狝) ซึ่งเป็นค่ายฝึกทหารในสมัยต้นราชวงศ์ชิง บริเวณนั้นปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอปกครองตนเองเหวย์ฉ่าง (围场) ของชาวแมนจูและมองโกล



แบบจำลองสถานที่พักร้อนเฉิงเต๋อ (承德避暑山庄) ซึ่งเป็นผลงานสำคัญอย่างหนึ่งของราชวงศ์ชิง เริ่มสร้างในปี 1703 และค่อยๆสร้างไปเรื่อยๆจนเสร็จสมบูรณ์ในปี 1792 ที่นี่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม



จากนั้นเดินออกมาฝั่งตรงข้ามเป็นอาคารของชาวเอ้อหลุนชุน (鄂伦春族) ชนกลุ่มน้อยในมณฑลเฮย์หลงเจียง ใช้ภาษาในตระกูลภาษาอัลไตอิก



ใกล้ๆกันนั้นเป็นอาคารของชาวต๋าว่อเอ่อร์ (达斡尔族) เป็นชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตัวเองมองโกเลียใน เชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากชาวชี่ตาน (契丹) ซึ่งเป็นผู้ตั้งราชวงศ์เหลียว (辽朝) ปกครองจีนทางตอนเหนือมาก่อน ใช้ภาษาในตระกูลภาษาอัลไตอิก




ถัดมาเป็นสิ่งก่อสร้างของชาวญวน หรือก็คือชาวเวียดนามนั่นเอง เรียกในภาษาจีนว่าชาวจิง (京族) ในภาษาเวียดนามเรียกว่าชาวกิญ (Kinh) ในจีนมีชาวญวนอยู่เล็กน้อยตามชายแดน



ชาวเฮ่อเจ๋อ (赫哲族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในจีนและรัสเซีย ในจีนมีอยู่เพียงเล็กน้อยในมณฑลเฮย์หลงเจียง มีไม่ถึงหมื่นคน



และมองข้ามไปทางนั้น อาคารที่เห็นโดดเด่นที่สุดตรงนั้นเป็นของชาวต้ง (侗族) เป็นชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ในมณฑลกุ้ยโจว, หูหนาน และกว่างซี ประชากรประมาณ ๒ ล้านกว่าคน ภาษาต้งจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต



บ้านของชาวต้ง



หอคอยนี้คือหอกลองของชาวต้ง



สะพานลมฝน (风雨桥, เฟิงหยวี่เฉียว) เป็นสะพานที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวต้ง



ถัดมาจะเจอบ้านที่ดูหรูหรา นี่เป็นบ้านของชาวรัสเซีย หรือเรียกในภาษาจีนว่าเอ๋อหลัวซือ (俄罗斯族) บ้านนี้จำลองมาจากที่อยู่อาศัยพื้นเมืองของคนรัสเซียที่อาศัยอยู่ในซินเจียง



ถัดมาก็จะเจอกับหมู่อาคารของชาวปู้อี (布依族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมณฑลกุ้ยโจว พบในมณฑลอื่นอยู่บ้างนิดหน่อย และพบในเวียดนามด้วยเล็กน้อย ประชากรประมาณ ๒ ล้านกว่าคน พูดภาษาปู้อีซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได



ที่นี่จำลองมาจากสิ่งก่อสร้างพื้นเมืองของชาวปู้อีในกุ้ยโจว





มีอาคารหลายหลังที่เข้าไปได้ ภายในจัดแสดงอะไรต่างๆเกี่ยวกับชาวปู้อี



สุดทางแค่นี้แล้ว ถือว่ากว้างใช้ได้เลย



พอเดินมาถึงตรงนี้ก็เป็นส่วนปลายตะวันออกสุดของสวนแห่งนี้แล้ว ตรงนี้เป็นลานกว้างที่เหมือนกับว่ากำลังเตรียมจะสร้างอะไรเพิ่มเติมอยู่



ตรงนี้เป็นอาคารอีกส่วนหนึ่งของชาวต้ง



ถัดมาเป็นส่วนของชาวอี๋ (彝族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่กระจายอยู่ในตอนใต้ของจีน มีประชากรประมาณ ๙ ล้านกว่าคนในจีนและยังมีบางส่วนอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวอี๋มีภาษาของตัวเองคือภาษาอี๋ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต มีอักษรเป็นของตัวเอง



ข้างในเห็นหมู่อาคารของชาวอี๋เป็นจำนวนมากแต่ว่ากำลังก่อสร้างอยู่จึงไม่ได้เข้าไป จากนั้นจึงเดินมายังบริเวณของชนชาติถัดไปต่อ



ตรงนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ตะเกียงพื้นเมืองจีน



ข้างในจัดแสดงตะเกียงอยู่มากมาย



ถัดมาจะเจออาคารของชาวลาฮู่ (拉祜族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน และยังกระจายอยู่ในประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย สำหรับในจีนมีอยู่ประมาณ ๘ แสนคน ในภาษาไทยบางทีก็เรียกชาวลาฮู่ว่าชาวมูเซอ ใช้ภาษาลาฮู่ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต



ข้างๆกันนั้นเป็นอีกชนเผ่าที่คนไทยน่าจะคุ้นชื่อกันอยู่ นั่นคือชาวม้งหรือแม้ว ในภาษาจีนเรียกว่าชาวเหมียว (苗族) เป็นชนชาติหนึ่งที่มีจำนวนมาก โดยกระจายตัวอยู่ในภาคใต้ของจีนและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในจีนมีอยู่ประมาณ ๙ ล้านคน ชาวม้งพูดภาษาในตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน ชาวม้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นสาขาย่อยหนึ่งของชาวม้งในจีน



บ้านของชาวม้ง



ถัดไปเป็นอาคารของชาวปู้หล่าง (布朗族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมณฑลยูนนาน ประชากรไม่ถึงแสนคน ใช้ภาษาปู้หล่างซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก



ต่อมาเป็นอาคารของชาวหว่า (佤族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน และในพม่า ใช้ภาษาหว่าซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ในจีนมีประชากรชาวหว่าประมาณ ๔ แสนกว่าคน แต่ในพม่ามีจำนวนมากกว่านั้น



ตรงนี้มีจัดแสดงเต้นของชาวหว่าด้วย แต่วันนี้วันจันทร์ไม่มีการแสดงอยู่แล้ว



อาคารที่พักของนักแสดง ห้ามเข้า



จากนั้นถัดมาเป็นอาคารของชาวหลี (黎族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประชากรประมาณล้านกว่า โดยหลักแล้วอาศัยอยู่ในเกาะไหหลำ ชาวหลีมีภาษาหลีเป็นภาษาของตัวเอง เป็นภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได



ภายในอาคารนี้จัดแสดงพวกอุปกรณ์เกษตร



อาคารแบบหลังคาเหลี่ยม จำลองมาจากบ้านแบบพื้นเมืองของชาวหลีในเกาะไหหลำ



ภายใน



อาคารแบบหลังคาโค้ง จำลองมาจากบ้านพื้นเมืองของชาวหลีในเกาะไหหลำเช่นกัน



ต่อมาเป็นอาคารของชาวจิ่งพัว (景颇族) ซึ่งเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ในรัฐกะฉิ่นของพม่า สำหรับในจีนมีชาวจิ่งพัวประมาณแสนกว่าคน ภาษาจิ่งพัวจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ในพม่าเรียกชาวจิ่งพัวว่าชาวกะฉิ่น



ภายในบ้านมีแขวนกระโหลกควายไว้ด้วย



เดินลึกเข้ามาอีกก็เจออาคารของชาวฮาหนี (哈尼族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนานของจีน มีประชากรอยู่ประมาณล้านกว่าคน ภาษาฮาหนีจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
นอกจากนี้ชาวอาข่า (阿卡族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในไทยและพม่าก็ถูกจัดว่าเป็นสาขาย่อยของชาวฮาหนี



ถัดจากนั้นเดินต่อมาก็เจออาคารของชาวอาชาง (阿昌族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมณฑลยูนนาน มีประชากรประมาณ ๓ หมื่นกว่า และยังมีอยู่ในพม่าด้วย ภาษาอาชางอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต



เท่านี้ก็เดินจนทั่วบริเวณเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นถ้าเดินต่อก็จะย้อนกลับมายังส่วนของชาวถู่ซึ่งผ่านมาแล้ว จากนั้นก็เดินย้อนไปอีกหน่อยผ่านย่านของชาวไทเพื่อมายังประตูทางออก ประตูทางเข้าออกนั้นทำในลักษณะคล้ายกับวัดของชาวไท



เดินออกจากสวนมาอย่างเหนื่อยล้าเต็มที หลังจากที่ใช้เวลาเดินในนี้นานมาก รวมเวลาที่นั่งพักทานข้าวแล้วก็ประมาณ ๕ ชั่วโมงครึ่ง เป็นสถานที่ที่ใช้เวลาเดินมากจริงๆ นี่ขนาดดูแค่สิ่งก่อสร้าง ไม่ได้ชมการแสดงอะไร แถมไม่ได้ตั้งใจดูส่วนจัดแสดงภายในอาคารต่างๆอย่างละเอียดด้วย ถ้าจะเที่ยวละเอียดครบถ้วนจริงๆยังไงก็ต้องมาตั้งแต่เช้าแล้วออกตอนเย็นเลย

อย่างไรก็ตามเที่ยวนี้ถือว่าคุ้มมากสุดๆเลย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนเผ่าทั้ง ๕๖ ในจีนทั้งหมด เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความรู้ ใครสนใจเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมพื้นเมืองต่างๆละก็ควรค่าแก่การมาอย่างมากเลย



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文