φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมทิเบต
เขียนเมื่อ 2015/06/08 21:06
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#เสาร์ 6 มิ.ย.

ก่อนหน้านี้ได้แนะนำสวนชนเผ่าแห่งจีน (中华民族园) ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับชนเผ่าต่างๆในจีนไปแล้ว โดยตอนที่เล่าถึงสวนฝั่งเหนือเราได้แนะนำชนเผ่าหนึ่งที่มีความสำคัญและประวัติศาสตร์น่าสนใจไป นั่นคือชาวทิเบต https://phyblas.hinaboshi.com/20150606

ในปักกิ่งยังมีสถานที่อีกแห่งที่จัดแสดงเรื่องราวของทิเบต อยู่ไม่ไกลกันมาก นั่นคือพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมทิเบต (西藏文化博物馆)

พิพิธภัณฑ์นี้
เปิดทำการตั้งแต่เมื่อปี 2010 เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วิจัยทิเบตศึกษาจีน (中国藏学研究中心)

วันเปิดให้เข้าชมของที่นี่ค่อนข้างแปลกสักหน่อยคือเปิดเฉพาะวันอังคาร, พฤหัส และเสาร์ ทำให้ถ้าใครอยากจะมาชมละก็ต้องดูวันเวลาให้ดี

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโดยใช้ ๓ ภาษาเป็นหลัก คือภาษาจีน, ทิเบต และอังกฤษ แต่ก็มีบางส่วนที่เขียนเป็นภาษาจีนอย่างเดียว

เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทิเบตในครั้งนี้เราเลยถือโอกาสเรียนรู้วิธีการอ่านอักษรทิเบตไปด้วย

อักษรทิเบตเป็นอักษรที่สวยมาก เป็นอักษรแทนเสียงที่ดัดแปลงมาจากอักษรทางฝั่งอินเดียเช่นเดียวกับอักษรไทยจึงมีส่วนคล้าย สามารถเทียบเคียงกันได้ แต่มีระบบที่ไม่ได้ซับซ้อนมากเท่าอักษรไทย มีการแยกพยางค์ชัดเจนทำให้อ่านง่าย แต่อักษรไม่มีเครื่องหมายแสดงวรรณยุกต์ชัดเจนเสียงวรรณยุกต์จึงขึ้นอยู่กับพยัญชนะและสระ



ทิเบตเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบต (西藏自治区) และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่ในมณฑลกานซู่, เสฉวน และยูนนาน เป็นหนึ่งใน ๕๖ ชนชาติในจีนที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีน ประชากรทั้งหมดรวมแล้วก็ประมาณ ๕ ล้านกว่าคน

แม้ว่าทิเบตจะเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ว่าบริเวณที่คนทิเบตอาศัยอยู่นั้นมีคนจีนอาศัยอยู่น้อยมาก ในเขตปกครองตนเองทิเบตนั้นมีชาวทิเบตอยู่มากกว่า ๙๐% ในขณะที่มีคนจีนฮั่นไม่ถึง ๑๐% ซึ่งผิดกับเขตการปกครองของชนกลุ่มน้อยเขตอื่นในจีนที่ตามเมืองใหญ่เต็มไปด้วยคนจีนฮั่นหมดแล้ว

ชาวทิเบตมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองที่ค่อนข้างโดดเด่น พวกเขานับถือพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ซึ่งบางทีก็ถูกเรียกว่าเป็นศาสนาพุทธแบบทิเบต วัฒนธรรมตรงนี้มีอิทธิพลต่อจีนอยู่ไม่มากก็น้อย

ในช่วงยุคหลังๆมานี้ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีนยุคใหม่ทำให้ชาวจีนเข้ามามีบทบาทในทิเบตมากขึ้น วัฒนธรรมของทิเบตก็ค่อยๆถูกกลืนหายลงไปมาก ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความพยายามที่จะอนุรักษ์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์วัฒนธรรมทิเบต

ประวัติศาสตร์ของทิเบตนั้นแม้ว่าจะไม่เก่าแก่เท่าจีน แต่ก็มีความน่าสนใจเหมือนกัน ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์จีนแล้วก็ถือว่าน่าเรียนรู้เช่นกัน ภายในพิพิธภัณฑ์นี้เล่าประวัติศาสตร์ของทิเบตไว้คร่าวๆ ซึ่งเดี๋ยวจะกล่าวถึงโดยย่อไปพร้อมกับที่เล่าถึงส่วนจัดแสดง



การเดินทางไปพิพิธภัณฑ์นั้นสามารถขึ้นรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีฮุ่ยซินซีเจียเป๋ย์โข่ว (惠新西街北口站) ซึ่งอยู่สาย 5



เมื่อออกประตูมาแล้วจะมาโผล่ที่ฝั่งตรงข้าม ต้องข้ามสะพานลอยไป



นี่คืออาคารศูนย์วิจัยทิเบตศึกษาจีน อาคารทำเป็นแบบทิเบตดูแล้วเด่น ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์อยู่ถัดออกไปอีก



ถึงแล้ว อาคารนี้เอง



ชั้นล่างของอาคารมีภาพแกะสลักอยู่ดูสวยดี



ทางเข้าอยู่ชั้น ๒ พอเข้าไปแล้วก็ต้องยื่นพาสปอร์ตเพื่อรับบัตรเข้าชมฟรี ถ้ามีสัมภาระมาต้องฝากไว้ด้วย



ส่วนจัดแสดงมีอยู่ ๒ ชั้น คือชั้น ๒ กับ ๓ โดยชั้น ๒ เป็นส่วนจัดแสดงหลัก ส่วนชั้น ๓ เป็นส่วนจัดแสดงชั่วคราว


เริ่มจากชั้น ๒ ห้องแรกจัดแสดงประวัติศาสตร์ของทิเบต




บริเวณที่เป็นทิเบตนั้นเริ่มมีร่องรอยการอาศัยอยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่ช่วงยุคหินเก่าแล้ว สามารถขุดเจอซากอารยธรรมได้



ในปี 629 เริ่มมีปรากฎอาณาจักรของชาวทิเบตขึ้นมาเป็นครั้งแรก มีชื่อราชวงศ์ว่าเผ่อเชนโป (བོད་ཆེན་པོ།, Pöqênbo) ในภาษาทิเบต และเรียกว่าถู่ปัว (吐蕃*) ในภาษาจีน มีการติดต่อกับราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907) ของจีนด้วย
ในช่วงนี้ได้เริ่มมีการประดิษฐ์อักษรทิเบตขึ้นมา
*อักษร 蕃 ปกติจะอ่านว่า "ฟาน" แต่เฉพาะในคำนี้จะอ่านว่า "ปัว"


ทางซ้ายคือรูปของซงแจนกั่มโป (སྲོང་བཙན་སྒམ་པོ་, Songzän Gambo) หรือซงจ้านกานปู้ (松赞干布) ในภาษาจีน กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ถู่ปัว
ทางขวาคือเจ้าหญิงเหวินเฉิง (文成公主) หลานสาวของจักรพรรดิถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถังซึ่งถูกส่งให้ไปแต่งงานกับซงแจนกัมโปเพื่อกระชับไมตรีระหว่างราชวงศ์ถังกับราชวงศ์ถู่ปัว



อนุสาวรีย์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของราชวงศ์ถังและถู่ปัว



พอถึงช่วงปลาย ศตวรรษที่ 9 อาณาจักรถู่ปัวก็ได้ล่มสลายลง ชาวทิเบตได้กระจัดกระจายแตกเป็นก๊กเหล่าเป็นเวลากว่า ๓๐๐ ปี จนเวลาได้ล่วงเลยมาสู่ศตวรรษที่ 13 เข้าสู่ยุคที่จักรวรรดิมองโกลเริ่มเรืองอำนาจ


จักรวรรดิมองโกลได้เข้าครอบครองทิเบต ภายใต้การสนับสนุนของจักรวรรดิมองโกลทำให้กลุ่มทางศาสนาของทิเบตนิกายสักยะขึ้นมาเป็นผู้นำในทิเบต

ผู้นำนิกายสักยะขณะนั้นคือซ่าเจียปานจื้อต๋า (萨迦·班智达) หรือ
ภาษาจีน หรือชื่อในภาษาสันสกฤตว่าสักยะบัณฑิต

ทางมองโกลได้เชิญเขาไปเข้าเฝ้า ในปี 1244 ซาสกยาบันดิตาพร้อมกับหลาน ๒ คนได้ไปเข้าพบลูกชายของวอเคอไตข่าน ผู้นำมองโกลขณะนั้น นั่นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าทางทิเบตอยู่ภายใต้อำนาจของทางมองโกลแล้ว

หนึ่งในหลานของซาสกยาบันดีตาที่ไปเข้าเฝ้าด้วยนั้นชื่อพักปา (འཕགས་པ་) หรือในภาษาจีนเรียกว่าปาซือปา (八思巴) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองทิเบตในปี 1260 หลังจากที่กุบไลข่านได้ขึ้นเป็นข่านแห่งมองโกล

ในปี 1270 พักปาได้ประดิษฐ์อักษรขึ้นมาสำหรับเขียนภาษามองโกล อักษรนั้นถูกเรียกว่าอักษรพักปา สร้างขึ้นโดยเลียนแบบจากอักษรทิเบตแต่เขียนแนวตั้ง อักษรนี้ถูกใช้แค่ไม่นานก็เลิกใช้ไป

นี่คือจดหมายราชการของมองโกลที่เขียนโดยอักษรพักปา



ความสัมพันธ์ระหว่างมองโกลกับทิเบตตั้งแต่ช่วงนั้นก็เรียกได้ว่าทางมองโกลจะคอยเป็นผู้ปกครองและคุ้มครองทิเบตให้ ส่วนทิเบตก็มีหน้าที่คอยช่วยเผยแพร่ศาสนาพุทธภายในอาณาจักรให้

ความสัมพันธ์นี้ก็เป็นอยู่ต่อมาจนจักรวรรดิมองโกลตั้งราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) ขึ้นมาปกครองแผ่นดินจีน แล้วต่อมาพอราชวงศ์หยวนถูกล้ม ราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644) ขึ้นมาปกครองจีนต่อก็ได้สืบทอดอำนาจปกครองทิเบต


นี่เป็นเอกสารที่จักรพรรดิเฉิงฮว่า (成化, ปี 1464 - 1487) ส่งให้ผู้นำทางศาสนาในทิเบต มีเป็นภาษาจีนและภาษาทิเบต



หลังจากนั้นราชวงศ์หมิงก็เสื่อมอำนาจลง ราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1644 - 1912) ของชาวแมนจูเริ่มขึ้นมามีอำนาจ


ในปี 1642 ซึ่งเป็นช่วงไล่เลี่ยกับที่ราชวงศ์ชิงเริ่มมามีอำนาจ ทิเบตภายใต้การสนับสนุนของทางมองโกลได้เริ่มระบบการปกครองโดยดาไลลามะขึ้น

ดาไลลามะ ในภาษาทิเบตเรียกว่าตาแลลามา (ཏཱ་ལའི་བླ་མ་, Dalä Lama) โดยคำว่าตาแล (
ཏཱ་ལའི་) นั้นมาจากภาษามองโกล แปลว่ามหาสมุทร ส่วนคำว่าลามา (བླ་མ་) เป็นภาษาทิเบตหมายถึงพระครู ส่วนในภาษาจีนเรียกว่าต๋าไล่ล่าหมะ (达赖喇嘛)

ดาไลละมะนั้นคือผู้ที่ถูกเชื่อว่าเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ แรกเริ่มเดิมทีดาไลลามะเป็นเพียงผู้นำทางศาสนาพุทธแบบทิเบตนิกายเกลุก แต่ตั้งแต่สมัยของดาไลละมะองค์ที่ ๕ จึงได้กลายมาเป็นผู้นำสูงสุดของดินแดนทิเบตไป

ตำแหน่งดาไลลามะตั้งแตกต่างจากระบบกษัตริย์เพราะไม่ได้สืบทอดทางสายเลือด แต่สืบทอดโดยการแต่งตั้ง โดยเมื่อดาไลละมะองค์เดิมตายจะมีการไปหาเด็กที่ดูแล้วน่าเป็นดาไลลามะองค์ก่อนที่กลับชาติมาเกิด ดาไลลามะจึงเริ่มรับตำแหน่งตั้งแต่เด็กและในทางปฏิบัติอำนาจจะอยู่กับผู้สำเร็จราชการไปจนกว่าดาไลลามะจะโต

เมื่อราชวงศ์ชิงล้มราชวงศ์หมิงและได้ปกครองแผ่นดินจีนทั้งหมดแทน ไม่นานนักก็ได้สืบทอดอำนาจเหนือแผ่นดินทิเบตต่อไปด้วย

ในปี 1652 ดาไลลามะได้เดินทางไปปักกิ่งตามคำขอของจักรพรรดิซุ่นจื้อ (顺治, ปี 1643 - 1661) เพื่อเข้าเฝ้า จักรพรรดิซุ่นจื้อได้ทำการแต่งตั้งดาไลลามะอย่างเป็นทางการ การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ชิงและทิเบตมีต่อไปเรื่อยๆ

เขตแดนของจีนสมัยราชวงศ์ชิง จะเห็นว่าผนวกรวมทิเบตอยู่ในนี้แล้ว รวมทั้งซินเจียงและมองโกเลียด้วย



หนังสือที่ออกโดยจักรพรรดิคางซี (康熙, ปี 1661 - 1722) คำสั่งมอบตำแหน่งแปนเชนลามา (པན་ཆེན་བླ་མ་, Bänqên Lama) หรือในภาษาจีนเรียกว่าปานฉานล่าหมะ (班禅喇嘛) ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำทางศาสนารองจากดาไลลามะ  



แผ่นป้ายที่จักรพรรดิถงจื้อ (同治, ปี 1862 - 1874) เขียนส่งให้วัดจาซีฮลวินโป (བཀྲ་ཤིས་ལྷུན་པོ, Zhaxilhünbo) หรือในภาษาจีนเรียกว่าวัดจาสือหลุนปู้ (扎什伦布寺) จะเห็นว่ามี ๔ ภาษาคือภาษาแมนจู, มองโกล, จีน และทิเบต



ช่วงศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์ชิงเริ่มเสื่อมอำนาจ อังกฤษแข่งกับรัสเซียเข้ามามีอำนาจในเอเชียกลาง ทิเบตเลยกลายเป็นรัฐกันชน ปี 1903 อังกฤษเริ่มบุกทิเบต ในขณะนั้นการเมืองภายในจีนวุ่นวาย ทางราชวงศ์ชิงไม่สามารถมาช่วยเหลือแทรกแซงทางนี้ได้ทิเบตจึงต้องป้องกันตัวเอง ผู้นำทิเบตซึ่งขณะนั้นเป็นดาไลละมะที่ ๑๓ ได้หลบหนีไปมองโกเลีย


แบบจำลองซากป้อมบนเขาในอำเภอกยั่งเจ (རྒྱལ་རྩེ, Gyangzê) หรือเจียงจือ (江孜) ในภาษาจีน ซึ่งมีการสู้เพื่อป้องกันตนเองจากกองทัพอังกฤษในปี 1904 ทิเบตไม่มีทางต่อต้านทัพอังกฤษได้เลย ได้แต่ต้องยอมจำนน ผลคือทิเบตต้องยอมทำสัญญาอนุญาตให้อังกฤษเข้ามาทำการค้าขายในทิเบตอีกทั้งต้องชดใช้ค่าเสียหายจากสงคราม อย่างไรก็ตามทิเบตในตอนนั้นวุ่นวายและไม่อาจทำตามที่สัญญาเอาไว้ได้



ต่อมาปี 1906 ทางราชวงศ์ชิงได้เข้าไปเจรจากับอังกฤษเพื่อขอทำสัญญาแบบที่ทิเบตเคยทำและรับภาระค่าเสียหายแทน โดยที่อังกฤษยังต้องยอมรับอำนาจของราชวงศ์ชิงเหนือทิเบตอยู่


พอถึงปี 1912 ราชวงศ์ชิงล่มสลายลง เข้าสู่ยุคที่จีนปกครองโดยรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ทิเบตได้เกิดความวุ่นวายมีการต่อต้านขึ้นอีก ดาไลลามะองค์ที่ ๑๓ ซึ่งลี้ภัยอยู่ได้กลับมาทิเบตและได้ประกาศอิสรภาพตั้งทิเบตเป็นรัฐอิสระขึ้นมา อย่างไรก็ตามจีนไม่ยอมรับความเป็นอิสระของทิเบตและยังมีอิทธิพลต่อทิเบตอยู่เรื่อยมา

เจียงไคเชกกับภรรยาถ่ายรูปคู่กับคณะตัวแทนจากทิเบตที่หนานจิงปี 1946



จดหมายที่เจียงไคเชกติดต่อกับดาไลลามะ





ส่วนจัดแสดงห้องแรกจบลงเพียงเท่านี้ ห้องถัดไปจะจัดแสดงเกี่ยวกับทิเบตตั้งแต่เริ่มยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงปัจจุบัน

ปี 1949 จีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนได้ประกาศอำนาจปกครองเหนือทิเบตและส่งกำลังเข้าปราบผู้ต่อต้าน ในปี 1951 มีการทำสัญญาลงนามข้อตกลงสันติภาพกันที่ปักกิ่ง โดยถือว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน นี่คือหุ่นจำลองแสดงการลงนามในครั้งนั้น



ตั้งแต่นั้นมาแม้จะยังคงมีการต่อต้านอยู่เรื่อยมาแต่ทิเบตก็อยู่ภายใต้การปกครองของจีนมาโดยตลอดจนปัจจุบัน

ปี 1959 เกิดการลุกฮือขึ้นในทิเบต ผลลงเอยด้วยการที่ดาไลละมะองค์ที่ ๑๔ หลบหนีลี้ภัยไปยังอินเดีย หลังจากนั้นการปฏิรูปภายในทิเบตจึงเริ่มขึ้น ทำการล้มเลิกระบบศักดินา ยึดที่ดินและทรัพย์สินจากพวกชนชั้นเจ้านายมาแจกจ่ายให้ประชาชน

ภายใต้การปกครองของจีน ทิเบตเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ แผนภาพนี้แสดงถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวและอายุขัยเฉลี่ยของทิเบตซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1951



และพัฒนาการด้านอื่นๆอีกหลายอย่าง



งานฝีมือของทิเบต



ยาทิเบต



หนังสือภาษาทิเบต



ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตในทิเบต



ชั้นหนังสือนี้เก็บพระสูตรภาษาทิเบต



ลองเปิดมาดู ภาษาทิเบตหมดเลย



นี่คือแบบจำลองภูมิประเทศและทางรถไฟในทิเบต



หน้าจอแนะนำเส้นทางรถไฟในทิเบต



ชั้น ๒ ส่วนจัดแสดงมีอยู่เท่านี้ ที่เหลือก็คือชั้น ๓



จากชั้น ๓ มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นตึกซีจ้างต้าซ่า (西藏大厦) เป็นตึกที่สร้างแบบทิเบต ดูแล้วสวยดี



ชั้น ๓ ห้องแรกจัดแสดงเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบทิเบต



แผนที่แสดงศาสนสถานของนิกายต่างๆในทิเบต ที่เห็นเยอะสุดสีเหลืองนี้คือนิกายเกลุก



ในนี้มีจัดแสดงพวกพระพุทธรูปและของที่เกี่ยวข้อง




หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแบบทิเบตและดาไลลามะ



จากนั้นห้องถัดมาจัดแสดงเกี่ยวกับดาไลลามะ








ห้องสุดท้ายจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวทิเบต มีจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของชาวทิเบต



ชุดเสื้อผ้าของชาวทิเบต



จำลองภายในบ้าน



วิถีชีวิตของชาวทิเบตที่อยู่แบบเร่ร่อน



เรือที่ทำจากหนังวัว





ส่วนจัดแสดงในนี้ก็หมดแค่นี้ โดยรวมแล้วมีขนาดไม่ใหญ่มากแต่ก็พอที่จะทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับทิเบตขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文