φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



หลักการเขียนทับศัพท์ภาษาจีนกลาง
เขียนเมื่อ 2018/10/19 08:21
แก้ไขล่าสุด 2022/03/23 20:15
บทความนี้จะเขียนหลักการทับศัพท์ภาษาจีนกลางที่ผู้เขียนกำหนดขึ้นเองเพื่อใช้ในงานเขียนต่างๆที่ตัวเองเขียน

ในที่นี้ขอสรุปหลักการทั้งหมดโดยละเอียดเพื่อให้ผู้อื่นที่สนใจสามารถนำไปใช้งานได้เช่นกัน

ที่ต้องทำหลักการขึ้นก็เพื่อให้งานเขียนเป็นไปอย่างเป็นระบบระเบียบเรียบร้อย

ปัจจุบันหลักการทับศัพท์ภาษาจีนมีความหลากหลายกระจัดกระจายมาก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
- มีหลายสระที่ไม่ตรงกับภาษาไทยพอดี ทำให้ต้องใช้เสียงที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งก็มีทางเลือกอยู่หลายแบบ
- เสียงควบ* หรือสระประสมบางตัวที่ไม่อาจแทนในภาษาไทยได้ง่ายอาจถูกละเลย เพื่อที่จะให้ดูอ่านง่าย
- ภาษาจีนกลางไม่แยกแยะสระเสียงสั้นกับยาว ปกติจึงมีการเขียนทั้งในรูปเสียงสั้นและเสียงยาว เช่น an เป็น "อัน" หรือ "อาน"
- บางคนใช้ตัวพินทุ** ใส่ในตัวหน้าของเสียงควบ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช้กัน
- วรรณยุกต์เสียง ๔ ตรงกับเสียงโทในภาษาไทย อาจถูกเขียนด้วย "อักษรสูง+ไม้โท"*** หรือ "อักษรต่ำ+ไม้เอก" เช่น kè เป็น "เข้อ" หรือ "เค่อ"
- บางคนอ่านพินอินโดยคิดว่าเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ทับศัพท์ผิด

* เสียงควบคือเสียงที่เกิดจากพยัญชนะสองตัว เช่น guan=กวาน ในที่นี้ "กว" เป็นพยัญชนะเสียงควบ
** พินทุ "ฺ" คือจุดด้านใต้อักษร เช่น หฺวาง สฺยง

*** อักษรสูงในที่นี้รวมถึงอักษรต่ำเดี่ยวที่ใส่ ห นำด้วย

เดิมทีหลักการทับศัพท์ภาษาจีนกลางมีการบัญญัติไว้โดยราชบัณฑิตอยู่แล้ว >> https://th.wikipedia.org/wiki/การทับศัพท์ภาษาจีน แต่ระบบนี้ต่างไปจากความนิยมของคนทั่วไปจึงไม่ค่อยมีคนนำมาใช้จริง

ดังนั้นจึงได้ทำการคิดหลักการทับศัพท์แบบใหม่ขึ้นมา โดยยึดหลักดังนี้
- พิจารณาจากรูปแบบการเขียนที่มีคนอื่นเคยเขียนมาก่อนจริงๆแล้วเอามาสรุปรวม ไม่ได้มีการสร้างรูปแบบการเขียนใหม่ที่ไม่มีใครเคยใช้ขึ้นมาเอง
- เขียนรูปสระประสมในรูปที่ทั้งใกล้เคียงเสียงอ่านจริงและตรงกับความนิยมของคนส่วนใหญ่ ชั่งน้ำหนักระหว่างสองอย่างให้ดี
- สระที่อาจเป็นได้ทั้งเสียงสั้นเสียงยาวจะเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยดูแนวโน้มว่าในสระนั้นๆเสียงมีแนวโน้มไปทางไหนมากกว่า และคนนิยมเขียนแบบไหนมากกว่า
- ไม่ใช้พินทุ เพราะจะทำให้ดูแปลกตาสำหรับคนทั่วไป
- ใส่วรรณยุกต์ให้เสียงอ่านถูกต้องและไม่ขัดต่อหลักภาษาไทย
- วรรณยุกต์เสียง ๔ (เสียงโท) เขียนในรูป "อักษรต่ำ+ไม้เอก" ไม่ใช้ "อักษรสูง+ไม้โท"

ระบบทับศัพท์จะแปลงจากพินอินเป็นหลัก นอกจากนี้จะมีกำกับจู้อินและ IPA เพื่ออ้างอิงประกอบด้วย แต่ไม่เน้น

(พินอินคือ >> https://th.wikipedia.org/wiki/พินอิน
จู้อินคืน >> https://th.wikipedia.org/wiki/จู้อิน
IPA คือ >> https://th.wikipedia.org/wiki/สัทอักษรสากล)

อนึ่ง ระบบนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นและใช้เขียนจริงๆภายในบล็อกนี้มาตั้งแต่ช่วงปี 2012 โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จึงมั่นใจได้ว่ามีความลงตัว เพียงแต่เพิ่งมีโอกาสเขียนสรุปเป็นลายลักษณ์อักษรในวันที่ 19 ต.ค. 2018



วรรณยุกต์

ภาษาจีนกลางมี ๔ วรรณยุกต์ รวมเสียงเบาด้วยเป็น ๕ เสียง

ทั้ง ๔ วรรณยุกต์สามารถเทียบเคียงด้วยวรรณยุกต์ไทยได้หมด

เสียงทั้ง ๕ บางครั้งถูกเขียนแทนด้วยหมายเลข 1-5 บางครั้งเขียนแทนด้วยสัญลักษณะบนตัวสระ

สรุปได้ดังตารางนี้
 
เลข เครื่องหมาย ตัวอย่าง เทียบวรรณยุกต์ไทย วิธีการเขียน
1 ¯ 妈 = mā/ma1 สามัญ อักษรกลางหรือต่ำ ไม่ใส่รูปวรรณยุกต์
2 ´ 麻 = má/ma2 จัตวา อักษรกลางใส่ไม้จัตวา หรืออักษรสูงไม่ใส่รูปวรรณยุกต์
3 ˇ 马 = mǎ/ma3 เอก
(ถ้าตามหลังด้วยเสียง 3 อีกตัว จะเปลี่ยนเป็นเสียง 2)
อักษรกลางหรืออักษรสูง ใส่ไม้เอก
4 ` 骂 = mà/ma4 โท อักษรกลางใส่ไม้โท หรืออักษรต่ำใส่ไม้เอก
5 ไม่เขียน 吗 = ma/ma5 เสียงเบา สระเสียงสั้น ไม่ใส่รูปวรรณยุกต์

เนื่องจากการเขียนวรรณยุกต์ในภาษาไทยมีความยุ่งยาก วรรณยุกต์เสียงนึงอาจเขียนด้วยรูปวรรณยุกต์ต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าใช้กับพยัญชนะตัวไหน ผู้แปลจำเป็นต้องคล่องเรื่องวรรณยุกต์สูง กลาง ต่ำ และหลักการผัน ไม่เช่นนั้นจะเขียนผิดได้

ตัวอย่าง
施氏食狮史 shī shì shí shī shǐ = ซือ ซื่อ สือ ซือ สื่อ

หากเสียง 3 นำหน้าเสียง 3 อีกตัวจะกลายเป็นเสียง 2 ไป ในการเขียนทับศัพท์ก็ให้เขียนเหมือนกับเป็นเสียง 2
可疑 kě yí = เข่อ อี๋
可以 kě yǐ = ké yǐ = เขอ อี่

กรณีเสียง 5 คือเสียงเบา เป็นเสียงที่เกิดขึ้นแค่ในบางกรณีแบบไม่แน่นอนและในทางภาษาศาสตร์ไม่นับเป็นวรรณยุกต์ เวลาเจอให้เขียนเป็นรูปสระเสียงสั้น ใช้อักษรกลางหรืออักษรต่ำที่ไม่ใส่รูปวรรณยุกต์

หากเป็นสระที่เปลี่ยนเป็นเสียงสั้นแล้วกลายเป็นคำตายให้ใช้อักษรกลางหรืออักษรสูงที่ไม่ใส่รูปวรรณยุกต์

ตัวอย่าง
妈妈/媽媽 mā ma = มา หมะ
爸爸 bà ba = ป้า ปะ
哥哥 gē ge = เกอ เกอะ
姐姐 jiě jie = เจี่ย เจียะ
伯伯 bó bo = ปั๋ว ปัวะ
名字 míng zi = หมิง จึ
什么/什麼 shén me = เสิน เหมอะ
的 de = เตอะ
明白 míng bai = หมิง ไป
我们/我們 wǒ men = หว่อ เมิน



พยัญชนะต้น

ภาษาจีนกลางมีพยัญชนะ ๒๑ ตัว แยกเขียนด้วยอักษร b p m f d t n l g k h j q x zh ch sh r z c s



ทุกตัวสามารถอ่านได้แบบเดียวโดยไม่มีข้อยกเว้นจึงง่ายต่อการจำและกำหนดมาตรฐาน

เสียงส่วนใหญ่มีในภาษาไทย จึงมีวิธีการเขียนแน่นอน แต่มีบางส่วนที่ไม่มีในภาษาไทย ต้องใช้เสียงใกล้เคียงเทียบเคียงเอา จึงมีความไม่แน่นอนในการทับศัพท์อยู่บ้าง แต่โดยรวมมักจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นอกจาก r และ sh แล้ว เสียงอื่นมักถูกทับศัพท์เป็นแนวทางเดียวกันทั้งหมด

(ปัญหาความหลากหลายในการทับศัพท์มักไม่ได้มีสาเหตุจากพยัญชนะต้น แต่มาจากสระมากกว่า)

สรุปเสียงอ่านได้ดังนี้

พินอิน จู้อิน IPA ทับศัพท์ไทย
b /p/
p /pʰ/ พ, ผ
m /m/ ม, หม
f /f/ ฟ, ฝ
d /t/
t /tʰ/ ท, ถ
n /n/ น, หน
l /l/ ล, หล
g /k/
k /kʰ/ ค, ข
h /x/ ฮ, ห *
j /ʨ/
q /ʨʰ/ ช, ฉ
x /ɕ/ ซ, ส *
zh /ʈ͡ʂ/ *
ch /ʈ͡ʂʰ/ ช, ฉ *
sh /ʂ/ ซ, ส *
r /ɻ/~/ʐ/ ร, หร *
z /ʦ/ *
c /ʦʰ/ ช, ฉ *
s /s/ ซ, ส

ที่มีดอกจัน * อยู่ด้านขวาคือเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย ได้แค่เทียบเคียงด้วยพยัญชนะที่ใกล้เคียง

อธิบายเพิ่มเติม

b p m f d t n l g k ตรงกับภาษาไทย "ป พ/ผ ม ฟ/ฝ ต ท/ถ น ล ก ค/ข" ตามลำดับ จึงไม่มีปัญหาทั้งการออกเสียงและการทับศัพท์

ตัวอย่าง
不怕麻烦的头脑里公开/不怕麻煩的頭腦裡公開
bú pà má fán de tóu nǎo lǐ gōng kāi
= ปู๋ พ่า หมา ฝาน เตอะ โถว เหนา หลี่ กง ไค

h จะใกล้เคียงกับ "ฮ/ห" แต่จะมีเสียงเสียดแทรกปนอยู่แถวใกล้ลำคอ แต่สามารถอ่านเป็น "ฮ/ห" ธรรมดาก็ได้เช่นกัน ปกติจะทับศัพท์เป็น "ฮ/ห"

เช่น 花火 huā huǒ = ฮวาหั่ว

j q x เขียนเป็น "จ ช/ฉ ซ/ส"
zh ch sh ก็เขียนเป็น "จ ช/ฉ ซ/ส"
และ z c s ก็เขียนเป็น "จ ช/ฉ ซ/ส"

แต่ที่จริงทั้งหมดออกเสียงไม่เหมือนกันเลย เสียงที่ตรงกับ "จ ช ซ" จริงๆคือ j q s ส่วนที่เหลือแค่ใกล้เคียงจึงเขียนแทนด้วย "จ ช ซ"

ตัวอย่าง
就去寻找城市在厕所/就去尋找城市在廁所
jiù qù xún zhǎo chéng shì zài cè suǒ
= จิ้ว ชวี่ สวิน เจ่า เฉิง ซื่อ ไจ้ เช่อ สั่ว

sh บางครั้งถูกเขียนเป็น "ช" แต่คนส่วนใหญ่ใช้ "ซ" มากกว่า ในที่นี้ก็เลือกใช้ "ซ" เพื่อแยกให้ต่างจาก ch

r เป็นเสียงเสียดแทรกแบบก้อง ฟังดูคล้าย "ร" จึงทับศัพท์เป็น "ร" แต่ก็ฟังดูคล้าย "ย" ด้วยจึงมีคนทับศัพท์เป็น "ย" แต่ในที่นี้จะใช้ "ร"

y กับ w ไม่ใช่พยัญชนะต้นจริงๆในภาษาจีนกลาง แต่จะปรากฏขึ้นต้นคำในบางกรณีเวลาที่เขียนคำในสระบางตัว รายละเอียดดูในส่วนของสระและตัวสะกด



เสียงสระและตัวสะกด

ภาษาจีนกลางประกอบไปด้วยสระเดี่ยวและสระประสมรวมแล้วไม่มาก และมีตัวสะกดอยู่แค่สองเสียงคือแม่กนและแม่กง เมื่อนำสระและตัวสะกดมาจับคู่กันทั้งหมดก็ยังรวมแล้วได้ไม่กี่สิบรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีวิธีการเขียนทับศัพท์ที่ต่างกันออกไป ในที่นี้จะอธิบายโดยแจกแจงการประสมทุกรูปแบบ

สระเดี่ยว

พินอิน จู้อิน IPA ทับศัพท์ไทย
มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น
a a /a/ จา อา
e e /ɤ/ เจอ เออ
i yi /i/ จี อี
i ไม่มี ไม่ใส่ /ɨ/ จือ  
ไม่มี o /ɔ/   ออ
u wu /u/ จู อู
ü/u yu /y/ จวี ยวี

阿 = ā = อา
把 = bǎ = ป่า
ตรงกับสระอาในภาษาไทย

恶/惡 = è = เอ้อ
葛 = gě = เก่อ
ตรงกับสระเออในภาษาไทย

以 = yǐ = อี่
起 = qǐ = ฉี่
เมื่อ i นำหน้าด้วย b p m d t n l j q x y
ตรงกับสระอีในภาษาไทย
เมื่อไม่มีเสียงพยัญชนะต้นจะมีการใส่ y นำหน้า y ในที่นี้จะไม่มีการออกเสียง ให้ใช้ "อ" ไม่ใช่ "ย"

此 = cǐ = ฉื่อ
เมื่อ i นำหน้าด้วย zh ch sh r z c s
เสียงกึ่งๆระหว่างสระอือกับสระอี ให้เขียนเป็นสระอือ

噢 = ō = ออ
o เมื่ออยู่เดี่ยวๆจึงจะออกเสียง "ออ" หากตามหลัง b p m f จะกลายเป็นสระประสมสองเสียง เสียง "อัว" (ดูรายละเอียดในหัวข้อสระประสมสองเสียง) และจะไม่ตามหลังพยัญชนะอื่น

舞 = wǔ = อู่
古 = gǔ = กู่
ตรงกับสระอูในภาษาไทย
เมื่อไม่มีเสียงพยัญชนะต้นจะใส่ w นำหน้า แต่ไม่ต้องออกเสียง ให้ใช้ "อ" ไม่ใช่ "ว"
ถ้าอยู่หลัง y, j, q, x จะกลายเป็นสระ ü แม้จะเขียน u เฉยๆ

雨 = yǔ = หยวี่
取 = qǔ = ฉวี่
旅 = lǚ = หลวี่
เสียงนี้ไม่ตรงกับสระใดๆในภาษาไทย ออกเสียงคล้าย "ว" ควบสระอี แต่จริงๆเป็นสระเดี่ยว ปกติจะใช้รูปการเขียนเป็นตัวควบ "ว" ตามด้วยสระอีแทน
เมื่ออยู่หลัง y, j, q, x จะไม่มีการเติมจุดเป็น ü จะเติมเมื่ออยู่หลัง l และ n เท่านั้น
yú, jú, qú, xú อ่าน "หยวี, จวี๋, ฉวี, สวี" ไม่ใช่ "หยู, จู๋, ฉู, สู"
เสียงนี้โดนคนทับศัพท์ไว้แตกต่างกันหลายรูปแบบมาก
เช่น yǔ อาจพบรูปแบบอื่น เช่น "อวี่" "อี่ว์" "หยี่ว์" "หวี่" "ยหวี่" "หยฺวี่" "อฺวี่" เป็นต้น แบบไหนก็ไม่อาจเรียกว่าผิด แต่ในที่นี้จะเลือกใช้ "หยวี่"
ย, ล, น เป็นอักษรต่ำที่ไม่มีคู่ กรณีต้องการเขียนเสียงเอกหรือจัตวาต้องเติม ห นำ กรณีนี้ให้ใส่ "ห" ไว้หน้าสุด เช่น nǚ เขียนเป็น "หนวี่" ไม่ใช่ "นหวี่"


สระประสมสองเสียง

เป็นสระที่เกิดจากสระ ๒ ตัวมาประสมกันแล้วเสียงลากยาวต่อเนื่องกันไป

พินอิน จู้อิน IPA ทับศัพท์ไทย
มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น
ai ai /ai̯/ ไจ ไอ
ao ao /au̯/ เจา เอา
ei ei /ei̯/ เจย์ เอย์
ia ya ㄧㄚ /ja/ เจีย ยา
ie ye ㄧㄝ /je/ เจีย เย
ไม่มี yo ㄧㄛ /jɔ/   ยอ
o ไม่มี /wo/ ปัว  
ou ou /ou̯/ โจว โอว
ua wa ㄨㄚ /wa/ จวา วา
uo wo ㄨㄛ /wo/ จัว วอ
üe/ue yue ㄩㄝ /ɥe/ เจวีย เยวีย

矮 = ǎi = ไอ่
改 = gǎi = ไก่
ตรงกับสระไอในภาษาไทย
เนื่องจากภาษาจีนกลางไม่แยกเสียงสั้นเสียงยาว บางครั้งอาจมีคนเขียนเป็นสระอา+"ย" เช่น "อ่าย" "ก่าย"

拗 = ào = เอ้า
搞 = gǎo = เก่า
ตรงกับสระเอาในภาษาไทย
เนื่องจากภาษาจีนกลางไม่แยกเสียงสั้นเสียงยาว บางครั้งอาจมีคนเขียนเป็นสระอา+"ว" เช่น "อ้าว" "ก่าว"

诶/誒 = èi = เอ้ย์
给/給 = gěi = เก่ย์
คือสระเอที่ตามด้วยสระอิ ไม่มีเสียงแบบนี้ในภาษาไทย
มีคนจำนวนมากนิยมเขียนเป็น "เก่ย" แบบนี้แต่ถ้าเขียนแบบนี้จะชวนให้เข้าใจผิดว่าเป็นสระเออ+อิ ได้ เพราะในภาษาไทยสระเอแล้วตามด้วย "ย" จะกลายเป็นสระเออไป แต่จริงๆในภาษาจีนกลางคำนี้เป็นสระเอ+อิ ดังนั้นจึงควรใส่การันต์เพื่อไม่ให้อ่านผิด

雅 = yǎ = หย่า
假 = jiǎ = เจี่ย
คล้ายสระเอียในภาษาไทย แต่ไม่ใช่ ความจริงเป็นเสียงควบ "ย" ตามด้วยสระอา ที่จริง jiǎ เสียงใกล้เคียง "จย่า" มากกว่า แต่ไม่นิยม จึงให้เขียนเป็น "เจี่ย"
กรณีไม่มีเสียงพยัญชนะต้นจะเขียนด้วย y แทน i กรณีนี้ทับศัพท์ด้วย "ย" ได้เลย
yǎ ไม่ได้ตรงกับ "หย่า" ในภาษาไทยเสียทีเดียว แต่เป็น "อ" ควบ "ย" สระอา บางครั้งก็มีคนเขียนเป็น "เอี่ย", "อหย่า", "อฺย่า" แต่ในที่นี้เพื่อความง่ายจึงเขียนแค่ "หย่า"

也 = yě = เหย่
解 = jiě = เจี่ย
ไม่มีเสียงเทียบเคียงในภาษาไทย แต่นิยมทับศัพท์ด้วยสระเอีย จึงใช้ตามนั้น ซึ่งจะไปซ้ำกับ ia แต่คนส่วนใหญ่นิยมเขียนแบบนี้จึงใช้ตามนั้น
เสียงนี้เป็นเสียงควบ "ย" ตามด้วยสระเอ
yě ก็ไม่ได้ตรงกับ "เหย่" ในภาษาไทย แต่เป็น แต่เป็น "อ" ควบ "ย" สระเอ

唷 = yō = ยอ
ไม่มีเสียงนี้ในกรณีที่มีเสียงพยัญชนะต้น
yō เป็นเสียง "อ" ควบ "ย" สระออ แต่เขียนง่ายๆเป็น "ยอ" เฉยๆ

我 = wǒ = หว่อ
抹 = mǒ = หมั่ว
果 = guǒ = กั่ว
o ที่จริงเป็นเสียงเดียวกับ uo แต่เมื่อตามหลัง b p m f จะไม่มีการเติม u หากตามหลัง d t n l g k h zh ch sh z c s r จึงเติม u เป็น uo
เสียงนี้เป็นเสียงควบ "ว" ตามด้วยสระออ bǒ อ่านใกล้เคียงกับ "ปหว่อ" แต่เนื่องจากเขียนยากจึงนิยมเขียนในรูปสระอัว
ส่วน wǒ เป็นเสียง "อ" ควบ "ว" สระออ มักถูกเขียนหลายแบบ เช่น "อั่ว" "หวั่ว" "อหว่อ" "หฺว่อ" "หฺวั่ว" แต่ในนี้เลือกเขียนรูปที่ง่ายสุดคือ "หว่อ"

偶 = ǒu = โอ่ว
某 = mǒu = โหม่ว
ตรงกับเสียง "โอว" ในภาษาไทย

瓦 = wǎ = หว่า
寡 = guǎ = กว่า
เป็นเสียงควบ "ว" ตามด้วยสระอา
กรณีเสียง h และเป็นเสียงเอกหรือจัตวาจะเขียนในรูปสระอัวแทน เพื่อเลี่ยงความสับสน เพราะหากเขียน "หวา" หรือ "หว่า" จะดูเหมือนว่า "ห" ไม่ออกเสียง และจะไปซ้ำกับ wá และ wǎ
ดังนั้น huā, huá, huǎ, huà จึงเขียนเป็น ฮวา, หัว, หั่ว, ฮว่า
นอกจากนี้ยังมีอีกรูปแบบที่มีคนเขียนคือ huá เขียนเป็น "หฺวา" และ huǎ เขียนเป็น "หฺว่า" อย่างไรก็ตาม การเขียนด้วยพินทุ (จุดล่าง) ไม่เป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไป
บางคนอาจเขียน huá เป็น "ฮว๋า" แต่การเขียนแบบนี้ผิดหลักภาษาไทยจึงไม่ควร อีกทั้งแก้ปัญหาได้แค่การเขียน huá แต่ยังคงไม่สามารถเขียน huǎ ได้

月 = yuè = เยวี่ย
雀 = què = เชวี่ย
略 = lüè = เลวี่ย
u จะเติมจุดเป็น ü เมื่อตามด้วย n และ l นอกนั้นไม่เติม
เสียงนี้คล้ายเสียง ü แล้วตามด้วยสระเอ ไม่อาจเทียบเคียงในภาษาไทย ออกเสียงยาก จึงถูกทับศัพท์ต่างกันไปในหลากหลายรูปแบบมาก
เช่น yuè อาจถูกทับศัพท์แบบอื่นเป็น "เยว่" "เย่ว์" "อเยวี่ย" "ยเวี่ย" "ยฺเวี่ย" "เยฺวี่ย" เป็นต้น


สระประสมสามเสียง

เป็นสระที่มีการลากเสียงประสมสระถึง ๓ ตัว

กรณี iu กับ ui แม้เวลาเขียนจะเห็นเป็นสระสองตัว แต่จริงๆลดรูปมาจาก iou กับ uei จึงถือเป็นสระประสมสามเสียงด้วย

พินอิน จู้อิน IPA ทับศัพท์ไทย
มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น
iao yao ㄧㄠ /jau̯/ เจียว เยา
iu you ㄧㄡ /jou̯/ จิว โยว
uai wai ㄨㄞ /wai̯/ ไจว ไว
ui wei ㄨㄟ /u̯eɪ̯/ จุย เวย์

咬 = yǎo = เหย่า
秒 = miǎo = เหมี่ยว
เป็นเสียงควบ "ย" ตามด้วยสระเอา กรณีมีพยัญชนะต้นมักถูกทับศัพท์เป็น "เอียว" แม้จะไม่ตรงเสียทีเดียวก็ตาม ในนี้ก็จะเขียนตามนั้น
กรณีไม่มีพยัญชนะต้นจะเติม y นำหน้า กรณีนี้จะทับศัพท์เป็น "ย" สระเอา
แต่เสียงจริงๆเป็น "อ" ควบ "ย" ตามด้วยสระเอา ดังนั้นจึงอาจเจอการทับศัพท์รูปแบบอื่น
เช่น yǎo อาจเจอคนเขียนเป็น "เอี่ยว" หรือ "เหยี่ยว"

有 = yǒu = โหย่ว
扭 = niǔ = หนิ่ว
เป็นเสียงควบ "ย" ตามด้วยสระโอ สะกด "ว"
เสียงนี้กรณีมีพยัญชนะต้นกับไม่มีถูกเขียนต่างกันมาก ความนิยมในการทับศัพท์ก็ต่างกัน
ในกรณีที่ไม่มีพยัญชนะต้น ตัว o จะไม่ถูกเขียนในระบบพินอิน และเครื่องหมายแสดงวรรณยุกต์ก็ตกไปอยู่ที่ตัว u แทนด้วย
niǔ จึงเขียนแบบนี้ ไม่ใช่ niǒu เวลาทับศัพท์เป็นไทยก็นิยมใช้เสียง "อิว" ไปเลย เช่น liǔ เป็น "หลิ่ว" แม้นี่จะไม่ใช่เสียงอ่านที่ตรงนัก แต่ทุกคนส่วนใหญ่เขียนแบบนี้จึงใช้ตามนั้น
กรณีไม่มีพยัญชนะต้น i จะกลายเป็น y เวลาทับศัพท์เป็นไทยก็นิยมใช้ "ย" ตามด้วยสระโอ สะกด "ว" แต่นั่นก็ไม่ใช่เสียงที่ตรงเสียทีเดียว
yǒu นอกจากเขียน "โหย่ว" แล้วยังอาจมีบางคนเขียนเป็น "หยิ่ว" หรือ "อิ่ว"

外 = wài = ไว่
拐 = guǎi = ไกว่
เป็นเสียงควบ "ว" ตามด้วยสระไอ
กรณีที่ใช้กับ h จะมีปัญหาเมื่อใช้ "ห" เช่นเดียวกับในเสียง huá หรือ huǎ จึงเลี่ยงมาใช้สระอัวแทนเฉพาะเมื่อเขียนด้วย "ห" เช่นกัน
ดังนั้น huāi huái huǎi huài เขียนเป็น "ไฮว" "หวย" "ห่วย" "ไฮว่"

尾 = wěi = เหว่ย์
鬼 = guǐ = กุ่ย
เป็นเสียงควบ "ว" ตามด้วยสระเอและสะกด "ย"
กรณีมีเสียงพยัญชนะต้น ตัว e จะไม่ถูกเขียนในพินอิน และเครื่องหมายแสดงวรรณยุกต์ก็ตกไปอยู่ที่ตัว i แทนด้วย
guǐ จึงเขียนแบบนี้ ไม่ใช่ guěi ส่วนเวลาทับศัพท์ภาษาไทยก็นิยมละเลยเสียง e ไปด้วย จึงใช้เป็นเสียง "อุย"
ความจริง guǐ ไม่ได้อ่านว่า "กุ่ย" แต่ถ้าเขียนว่า "เกว่ย์" จะใกล้เคียงมากกว่า แต่เพื่อความง่ายจึงเขียน "กุ่ย" ตามความนิยม
กรณีที่ไม่มีพยัญชนะต้น u จะกลายเป็น w แทน
wěi นอกจากเขียนเป็น "เหว่ย์" แล้วยังอาจมีบางคนเขียนเป็น "อุ่ย" "หวุ่ย" "อ่วย" "เอว่ย์"
บางครั้งอาจถูกเขียนเป็น "เหว่ย" ด้วย แต่นั่นเป็นการเขียนที่ชวนให้เข้าใจเสียงอ่านผิด เพราะเสียง e ตรงกลางเป็นสระเอ ไม่ใช่สระเออ จึงควรเติมการันต์ด้วย


สระเดี่ยว+ตัวสะกด

ภาษาจีนกลางมีตัวสะกดอยู่แค่ ๒ ตัวคือแม่กงกับแม่กน

พินอิน จู้อิน IPA ทับศัพท์ไทย
มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น
an an /an/ จาน อาน
ang ang /aŋ/ จาง อาง
en en /ən/ เจิน เอิน
eng eng /əŋ/ เจิง เอิง
in yin ㄧㄣ /in/ จิน อิน
ing ying ㄧㄥ /iŋ/ จิง อิง
ong (weng) ㄨㄥ /ʊŋ/ จง (อง)
ün/un yun ㄩㄣ /yn/ จวิน ยวิน

按 = àn = อ้าน
感 = gǎn = ก่าน
เป็นเสียงสระอาหรือสระอะสะกดด้วยแม่กน
เนื่องจากภาษาจีนกลางไม่แยกเสียงสั้นเสียงยาว ในที่นี้ใช้รูปเสียงยาว แต่บางคนอาจใช้รูปเสียงสั้น เช่น "อั่น" "กั่น"

昂 = áng = อ๋าง
港 = gǎng = ก่าง
เป็นเสียงสระอาหรือสระอะสะกดด้วยแม่กง
เนื่องจากภาษาจีนกลางไม่แยกเสียงสั้นเสียงยาว ในที่นี้ใช้รูปเสียงยาว แต่บางคนอาจใช้รูปเสียงสั้น เช่น "อั่ง" "กั่ง"

恩 = ēn = เอิน
本 = běn = เปิ่น
เป็นเสียงสระเออสะกดด้วยแม่กน

鞥 = ēng = เอิง
猛 = měng = เหมิ่ง
เป็นเสียงสระเออสะกดด้วยแม่กง
คนจีนบางคน โดยเฉพาะที่ไต้หวัน หากขึ้นด้วยพยัญชนะ b p m f นิยมอ่านเป็นเสียงสระโอะแทน ทำให้บางครั้งถูกทับศัพท์ด้วยสระโอะ เช่น fēng เป็น "ฟง" แทนที่จะเป็น "เฟิง" แต่นี่ไม่ใช่วิธีการอ่านแบบมาตรฐาน

引 = yǐn = อิ่น
敏 = mǐn = หมิ่น
เป็นเสียงสระอิสะกดด้วยแม่กน
กรณีไม่มีเสียงพยัญชนะจะใส่ตัว y แต่ไม่ได้ออกเสียงเป็น "ย" เสียทีเดียว แต่ออกเป็นเหมือน "อ" ควบ "ย" จึงทำให้มีรูปแบบการเขียนที่หลากหลาย
เช่น yǐn อาจถูกเขียนเป็น "หยิ่น" "อหยิ่น" "อฺหยิ่น"

影 = yǐng = อิ่ง
名 = míng = หมิง
เป็นเสียงสระอิสะกดด้วยแม่กง
กรณีไม่มีเสียงพยัญชนะจะใส่ตัว y ก็จะเป็นเช่นเดียวกับกรณีของ ǐn
เช่น yǐng ยังอาจถูกเขียนเป็น "หยิ่ง" "อหยิ่ง" "อฺหยิ่ง"

隆 = lóng = หลง
เป็นเสียงคล้ายสระโอสะกดด้วยแม่กง
เสียงนี้นิยมทับศัพท์ด้วยสระโอแต่จริงไม่ใช่เสียงสระโอเสียทีเดียว แค่ใกล้เคียงจึงใช้ตามนั้น
เนื่องจากภาษาจีนกลางไม่แยกแยกเสียงสั้นเสียงยาว จึงอาจถูกเขียนในรูปเสียงยาว เช่น "โหลง" แต่ในที่นี้เลือกใช้รูปเสียงสั้น
เสียงนี้ไม่เกิดในกรณีที่ไม่มีเสียงพยัญชนะต้น อย่างไรก็ตาม wēng อาจถูกอ่านเป็น "อง" หรือ "วง"

允 = yǔn = หยวิ่น
群 = qún = ฉวิน
เป็นเสียง ü สะกดด้วยแม่กน จะเกิดขึ้นกับพยัญชนะ j, q, x เท่านั้น
แม้จะเขียนด้วย u แต่จริงๆเป็นเสียง ü
ปกติแล้วจะใส่จุดบน u กลายเป็น ü เฉพาะกับพยัญชนะ l และ n แต่ทั้ง lün และ nün ไม่มีการใช้งานจริง



สระประสมสองเสียง+ตัวสะกด

พินอิน จู้อิน IPA ทับศัพท์ไทย
มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น มีพยัญชนะต้น ไม่มีพยัญชนะต้น
ian yan ㄧㄢ /jɛn/ เจียน ยาน
iang yang ㄧㄤ /jaŋ/ เจียง ยาง
iong yong ㄩㄥ /jʊŋ/ จยง ยง
uan wan ㄨㄢ /wan/ จวาน วาน
uang wang ㄨㄤ /waŋ/ จวาง วาง
un wen ㄨㄣ /wən/ จุน เวิน
ไม่มี weng ㄨㄥ /wəŋ/   เวิง
üan/uan yuan ㄩㄢ /ɥɛn/ เจวียน ยวน

眼 = yǎn = หย่าน
免 = miǎn = เหมี่ยน
เสียงควบ "ย" ตามด้วยสระแอ สะกดแม่กน
กรณีไม่มีเสียงพยัญชนะจะเขียนขึ้นต้นด้วย y ออกเสียงเป็น "อ" ควบ "ย"
yǎn นอกจากเขียน "หย่าน" แล้วยังอาจมีคนเขียนเป็น "เหยี่ยน" "เอี่ยน" "อหย่าน"

养/養 = yǎng = หย่าง
两/兩 = liǎng = เหลี่ยง
เสียงควบ "ย" ตามด้วยสระอา สะกดแม่กง
กรณีไม่มีเสียงพยัญชนะจะเขียนขึ้นต้นด้วย y ออกเสียงเป็น "อ" ควบ "ย"
yǎng นอกจากอ่าน "หย่าง" แล้วยังอาจมีคนเขียนเป็น "เหยี่ยง" "เอี่ยง" "อหย่าง"

永 = yǒng = หย่ง
囧 = jiǒng = จย่ง
เสียงควบ "ย" ตามด้วยสระคล้ายโอ สะกดแม่กง
กรณีไม่มีเสียงพยัญชนะจะเขียนขึ้นต้นด้วย y ออกเสียงเป็น "อ" ควบ "ย"

晚 = wǎn = หว่าน
款 = kuǎn = ขว่าน
เสียงควบ "ว" ตามด้วยสระอา สะกดแม่กน
กรณีเสียง h เมื่อใช้ "ห" สะกดให้เขียนด้วยสระอัวแทน huān huán huǎn huàn เขียนเป็น "ฮวาน หวน ห่วน ฮว่าน"
กรณีที่พยัญชนะเป็น j, q, x จะถือเป็นเสียง ü จึงไม่ได้อ่านแบบนี้ รายละเอียดให้ดูด้านล่าง

网/網 = wǎng = หว่าง
广/廣 = guǎng = กว่าง
เสียงควบ "ว" ตามด้วยสระอา สะกดแม่กง
กรณีเสียง h เมื่อใช้ "ห" สะกดให้เขียนด้วยสระอัวแทน huāng huáng huǎng huàng เขียนเป็น "ฮวาง หวง ห่วง ฮว่าง"
huáng อาจเห็นบางคนเขียนเป็น "ฮว๋าง" แต่การเขียนแบบนี้ผิดหลักภาษาไทยจึงไม่สมควรใช้

吻 = wěn = เหวิ่น
滚/滾 = gǔn = กุ่น
เสียงควบ "ว" ตามด้วยสระเออ สะกดแม่กน
กรณีที่มีเสียงพยัญชนะต้นจะตัดตัว e เหลือแต่ u แต่จริงๆเป็นเสรียง ue
ดังนั้น gǔn จึงเขียนแบบนี้แทนที่จะเป็น guěn เสียงที่อ่านจริงๆคือ "เกวิ่น" แต่ให้เขียนง่ายๆเป็น "กุ่น" ตามความนิยม

翁 = wēng = เวิง
เสียงควบ "ว" ตามด้วยสระเออ สะกดแม่กง
เสียงนี้มีเฉพาะเมื่อไม่มีเสียงพยัญชนะต้น
นอกจากนี้ wēng ยังอ่านเป็น "อง" หรือ "วง" ได้ด้วย

原 = yuán = หยวน
犬 = quǎn = เฉวี่ยน
เสียงควบ ü ตามด้วยสระแอ สะกดแม่กน เกิดขึ้นกับพยัญชนะ j, q, x เท่านั้น
yuán ไม่ได้อ่านว่า "หยวน" ถ้าเขียน "เหยวียน" จะใกล้เคียงเสียงจริงกว่า แต่เขียนยาก จึงเลือกเขียน "หยวน" ตามความนิยม


เสียง ร์

เสียง er อ่านเป็นเสียงสระเออตามด้วยการม้วนงอลิ้น คล้ายๆเสียง "ร" จึงทับศัพท์เป็น "เออร์"
耳朵 = ěr duo = เอ่อร์ ตัวะ
而且 = ér qiě = เอ๋อร์ เฉี่ย

นอกจากนี้ er มักต่อท้ายคำอื่นแล้วควบรวมเสียงกับคำข้างหน้า กรณีนี้ในพินอินอาจละ e ไป
这儿/這兒 = zhèr = เจ้อร์
哪儿/哪兒 = nǎr = หน่าร์
等一会儿/等一會兒 = děng yí huìr = เติ่ง อี๋ ฮุ่ยร์

ถ้าคำที่อยู่ข้างหน้ามีตัวสะกดเป็น n หรือ ng เสียง "น" หรือ "ง" จะหายไป
一点儿/一點兒 = yī diǎnr = อี้ เตี่ยร์
不对劲儿/不對勁兒 = bú duì jìnr = ปู๋ ตุ้ย จี้ร์



ส่วนที่สับสนง่าย

บางส่วนดูเผินๆเหมือนเขียนคล้ายกันแต่กลับอ่านแตกต่างกันต้องย้ำเพิ่มเติมเล็กน้อย

- o wo yo เป็นเสียงสระออ เขียนเป็น "ออ วอ ยอ" แต่ bo po mo fo เป็นสระอัว เขียนเป็น "ปัว พัว มัว ฟัว"

- y j q x เมื่อนำหน้า u แท้จริงแล้วเป็นเสียง ü
ดังนั้น gu ku hu wu เขียนเป็น "กู คู ฮู อู" แต่ yu ju qu xu เขียนเป็น "ยวี จวี ชวี ซวี"

- gun kun hun เขียนเป็น "กุน คุน ฮุน" แต่ jun qun xun yun เขียนเป็น "จวิน ชวิน ซวิน ยวิน"

- guan kuan huan เขียนเป็น "กวาน ควาน ฮวาน" แต่ juan quan xuan เขียนเป็น "เจวียน เชวียน เซวียน" ส่วน yuan เขียนเป็น "ยวน"

- ye อ่านเป็น "เย" แต่ถ้าตัวอื่นนำหน้า e จะเป็นสระเออ เช่น de te ne le อ่านเป็น "เตอ เทอ เนอ เลอ"

- zh ch zh z c s เมื่อตามด้วย i จะเป็นสระอือ ในขณะที่ตัวอื่นจะเป็นสระอี
ดังนั้น zhi chi zhi zi ci si อ่านเป็น "จือ ชือ ซือ จือ ชือ ซือ" แต่ ji qi xi yi อ่านเป็น "จี ชี ซี อี"

- y เมื่อนำหน้า i จะให้เขียนเป็น "อ" เช่น yi yin ying เขียนเป็น "อี อิน อิง" นอกนั้นเขียนเป็น "ย" หมดเช่น ya ye yo yu เขียนเป็น "ยา เย ยอ ยวี"

- w เขียนเป็น "ว" ยกเว้นเมื่อนำหน้า u จะเขียนเป็น "อ" ดังนั้น wu อ่านว่า "อู"



ข้อควรระวัง

ปกติเวลาเขียนภาษาอังกฤษ ชื่อต่างๆในภาษาจีนกลางจะถูกแปลงตามพินอิน แต่ตัดวรรณยุกต์ออกหมด ทำให้ต้องเดา

ดังนั้นต่อให้เข้าใจหลักการแต่ถ้าไม่รู้วรรณยุกต์ก็ไม่อาจเขียนให้ถูกต้อง ทางที่ดีจึงควรค้นข้อมูลว่ามีชื่อเป็นตัวอักษรจีนหรือเปล่า แล้วนำอักษรมาแปลงเป็นพินอินแบบมีวรรณยุกต์อีกที จะได้เสียงอ่านที่แน่นอนไม่ผิด

และระบบการทับศัพท์ที่เขียนมาทั้งหมดใช้แปลงจากพินอินเท่านั้น ดังนั้นถ้าเจอคำภาษาจีนที่เขียนด้วยอักษรโรมันต้องดูให้แน่ว่าระบบการเขียนคำนั้นใช่พินอินหรือเปล่า

ปกติชื่อคนหรือสถานที่ในจีนจะทับศัพท์ตามระบบพินอิน จึงไม่มีปัญหานัก

แต่คนชื่อหรือสถานที่ในไต้หวันส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ระบบนี้ แต่ใช้หลักการทับศัพท์แบบเวด-ไจลส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นอีกระบบที่ต่างจากพินอินพอสมควร จึงใช้ไม่ได้ ต้องแปลงเทียบเป็นพินอินก่อน
เช่น
Taipei เขียนเป็นพินอินคือ tái běi = ไถเป่ย์
Chiayi เขียนเป็นพินอินคือ jiā yì = เจียอี้
Kaohsiung เขียนเป็นพินอินคือ gāo xióng = เกาสยง

และหลักนี้ใช้กับจีนกลางเท่านั้น จีนสำเนียงถิ่นอื่นจะมีหลักการที่แตกต่างกันออกไป

ชื่อคนฮ่องกงมักเขียนทับศัพท์ตามเสียงในสำเนียงกวางตุ้ง ไม่สามารถใช้หลักนี้ได้



ตัวอย่าง

ในส่วนท้ายนี้ขอแสดงการอ่านตัวเลขเป็นตัวอย่าง

0 〇/零 líng หลิง
1 อี
2 èr เอ้อร์
3 sān ซาน
4 ซื่อ
5 อู่
6 liù ลิ่ว
7 ชี
8 ปา
9 jiǔ จิ่ว
10 shí สือ
100 bǎi ไป่
1,000 qiān เชียน
10,000 万/萬 wàn ว่าน
100,000,000 亿/億 อี้
1,000,000,000,000 zhào เจ้า


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> หลักเกณฑ์การทับศัพท์
-- ภาษาศาสตร์ >> ภาษาจีน >> ภาษาจีนกลาง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文