φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



หลักการเขียนทับศัพท์ภาษาเวียดนาม
เขียนเมื่อ 2022/04/14 17:02
แก้ไขล่าสุด 2023/03/20 05:32
บทความนี้จะแสดงหลักการเขียนทับศัพท์คำภาษาเวียดนามมาเป็นภาษาไทย โดยจะถอดจากระบบการเขียนที่เวียดนามใช้ในปัจจุบัน คือระบบอักษรโรมันที่เรียกว่าจื๋อก๊วกหงือ (chữ quốc ngữ)

ภาษาเวียดนามมักแบ่งเป็นสำเนียงเหนือ (เมืองหลวงฮานอย) และสำเนียงใต้ (เมืองโฮจิมินห์) ๒ สำเนียงนี้มีการใช้กว้างขวางมากพอๆกัน แต่ทางรัฐบาลกำหนดสำเนียงเหนือเป็นสำเนียงหลัก และสำเนียงเหนือก็มีความเรียบง่ายกว่าด้วย ดังนั้นหลักการทับศัพท์ในที่นี้จะยึดสำเนียงเหนือเป็นหลัก

เพียงแต่ว่าพยัญชนะบางตัวนั้นเสียงในสำเนียงเหนือนั้นไม่มีในภาษาไทย แต่เสียงในสำเนียงใต้มีในภาษาไทย ในกรณีนี้เท่านั้นที่จะอนุโลมให้เขียนทับศัพท์แทนตามเสียงตามสำเนียงใต้ได้ด้วย ซึ่งได้แก่กรณีเสียง d, gi, r ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวถึงต่อไป

ที่จริงแล้วทางราชบัณฑิตได้ทำระบบทับศัพท์ภาษาเวียดนามเอาไว้แล้ว แต่ทำออกมาได้ไม่ค่อยดีเพราะมีปัญหาต่างๆที่ต้องการแก้ไข เช่น

- เสียง t กับ p เมื่อเป็นตัวสะกดนั้นราชบัณฑิตให้เขียนเป็น "ต" กับ "ป" แต่จริงๆแล้วเสียงตัวสะกดในเวียดนามเป็นเสียงกักแบบเดียวกับแม่กดและแม่กบในภาษาไทย ในที่นี้จะใช้เป็น "ด" กับ "บ"
- เสียง nh เมื่อเป็นตัวสะกดนั้นในราชบัณฑิตใช้ "ญ" แต่จริงๆแล้ว nh เมื่อเป็นตัวสะกดในสำเนียงเหนือจะออกเป็นเสียง "ง" ดังนั้นในที่นี้ก็จะขอเขียนเป็น "ง" ไปด้วย (แต่ถ้าเป็นพยัญชนะต้นให้เขียนเป็น "ญ" เหมือนเดิม)
- วรรณยุกต์ ả ของราชบัณฑิตใช้เป็นเสียงจัตวา ซึ่งเป็นตามสำเนียงใต้ แต่ในที่นี้จะใช้เสียงโท อิงตามสำเนียงเหนือ
- วรรณยุกต์ ạ ในที่นี้จะให้ปรับเป็นเสียงสั้นเพื่อแสดงเสียงกักเฉพาะกรณีที่ไม่มีตัวสะกดเท่านั้น ส่วนคำที่มีตัวสะกดให้เขียนเป็นเสียงเอกเหมือน à

ดังนั้นแล้วระบบทับศัพท์ที่จะเขียนดังต่อไปนี้จะต่างจากระบบทับศัพท์ของราชบัณฑิตไปมาก แต่ก็เพราะมองว่าการเขียนแบบนี้ดูแล้วเหมาะสมกว่า เพื่อความเป็นมาตรฐาน



วรรณยุกต์

ในภาษาเวียดนามมีเสียงวรรณยุกต์ทั้งหมด ๖ เสียง ซึ่งอาจเขียนทับศัพท์แทนในภาษาไทยได้ดังนี้

เขียน แทนด้วย
วรรณยุกต์
ทับศัพท์ อธิบายเสียงอ่าน ตัวอย่าง
a สามัญ อา เสียงกลางเรียบ ca = กา ngân = เงิน
à เอก อ่า เริ่มจากเสียงต่ำแล้วค่อยๆตกเล็กน้อย gà = ก่า ngần = เหงิ่น
โท อ้า เริ่มจากเสียงต่ำแล้วตกอย่างรวดเร็ว cả = ก้า ngẩn = เงิ่น
á ตรี อ๊า เริ่มจากเสียงสูงแล้วก็ยังค่อยๆสูงขึ้นไปอีก cá = ก๊า ngấn = เงิ้น
ã จัตวา อ๋า เริ่มจากเสียงกลางแล้วกักกลางทางแล้วยกเสียงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว gã = ก๋า ngẫm = เหงิม
เอก+กัก อะ เสียงต่ำและมีการกักตอนท้าย cạ = กะ ngậm = เหงิ่ม

เสียง ã นั้นที่จริงแล้วซ้บซ้อนกว่าเสียงจัตวาในภาษาไทย เพราะจะมีการกักตรงกลางคำด้วย แต่ฟังเผินๆแล้วก็จะฟังเป็นเสียงจัตวา ดังนั้นให้แทนด้วยเสียงจัตวา

ในสำเนียงภาคใต้เสียง ả กับ ã จะถือเป็นเสียงเดียวกัน เป็นเสียงใกล้เคียงเสียงจัตวาในภาษาไทย แต่ในที่นี้จะยึดตามสำเนียงเหนือ ซึ่งจะยังแยกเสียง ả กับ ã อยู่

เสียง ả นั้นจริงๆใกล้เคียงกับ à มาก เพราะเสียงเสียงที่เริ่มจากต่ำแล้วก็ตกลงเหมือนกันฟังดูเป็นเสียงเอก แต่ ả จะตกลงอย่างรวดเร็ว เสียงจึงค่อนไปทางเสียงโท สามารถมองว่าเป็นเสียงโทได้ ในที่นี้จึงให้แทนเสียง ả เป็นเสียงโท เพื่อให้แยกออกจากกันชัดเจน เช่น tả จะฟังดูเป็น "ต่า" มากกว่า "ต้า" แต่จะขอเขียนทับศัพท์เป็น "ต้า" เพื่อแยกต่างจาก tà ซึ่งจะเขียนเป็น "ต่า"

เสียง ạ เป็นเสียงวรรณยุกต์เอก คล้ายเกับ à แต่จะทำให้เกิดเป็นเสียงกักขึ้น ในกรณีที่ไม่มีตัวสะกด เสียง ạ จะให้เขียนเป็นสระเสียงสั้น เช่น

tà = ต่า
tạ = ตะ

แต่หากมีตัวสะกดก็จะเขียนเป็นเสียงเอก ซึ่งจะทำให้ซ้ำกับ à แต่ก็ช่วยไม่ได้ เพราะระบบเขียนในภาษาไทยไม่เอื้ออำนวยให้เขียนต่างกันได้ในกรณีนี้

bàn = บ่าน
bạn = บ่าน

นอกจากนี้ หากว่ากันโดยละเอียดจริงๆแล้วเสียง á นั้นเมื่ออยู่ในพยางค์เปิดจะเป็นเสียงที่ไล่จากต่ำไปสูง ฟังดูคล้ายเสียงจัตวามากกว่าเสียงตรี เช่น đá นั้นจริงๆจะฟังแล้วใกล้เคียง "ด๋า" มากกว่า "ด๊า" แต่ในที่นี้จะให้เขียนทับศัพท์เป็น "ด๊า" เพื่อแยกต่างจาก đã ซึ่งจะเขียนเป็น "ด๋า"

ในระบบทับศัพท์น้จะเขียนเสียงวรรณยุกต์ á แทนด้วยเสียงตรีทั้งหมด เพราะเสียงจัตวาจะใช้กับ ã เท่านั้น แยกกันชัดเจน

ในการเขียนรูปวรรณยุกต์นั้นให้ยึดตามหลักการเขียนในภาษาไทยอย่างเคร่งครัด มีการใช้ทั้งอักษรสูง กลาง ต่ำ แล้วแต่พยัญชนะต้นและเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้น



พยัญชนะต้น

พยัญชนะในภาษาเวียดนาม เมื่อใช้เป็นพยัญชนะต้นให้ทับศัพท์ดังนี้

อักษร IPA ทับศัพท์ อธิบายคร่าวๆ ตัวอย่าง
b /ɓ/ คล้าย "บ" ในภาษาไทย bà = บ่า bần = เบิ่น
ch /c/ คล้าย "จ" ในภาษาไทย chả = จ้า chân = เจิน
d /z/~/j/ ซ/ส
หรือ ย
ในสำเนียงใต้จะตรงกับเสียง "ย" ในภาษาไทย
แต่สำเนียงเหนือจะเป็นเสียง z อย่างในภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่มีในภาษาไทย
ในที่นี้จึงให้แทนด้วยเสียง "ซ/ส" ซึ่งใกล้เคียงเสียง z มากที่สุดในภาษาไทย หรืออาจอนุโลมให้ใช้เป็น "ย" ตามสำเนียงใต้ก็ได้
da = ซา/ยา dọc = ส็อก/หย็อก
gi giả = ซ่า/ย่า gì =  สี่/หยี่
đ /ɗ/ คล้าย "ด" ในภาษาไทย đá = ด๊า đọc = ด็อก
g /ɣ/ ไม่มีในภาษาไทย แต่ฟังดูแล้วใกล้เคียง "ก"
รูป gh ใช้เมื่อตามด้วยสระ i, y หรือ e
ยกเว้น gi จะเป็นอีกเสียง (ดูที่ด้านบน)
gà = ก่า gùi = กุ่ย
gh ghi = กี ghen = แกน
h /h/ ฮ/ห ตรงกับเสียง "ฮ/ห" ในภาษาไทย hả = ฮ่า học = ห็อก
k /k/ ตรงกับเสียง "ก" ในภาษาไทย
รูป c ใช้เมื่อตามด้วย a, o หรือ u
รูป q ใช้เมื่อตามด้วย u กลายเป็นเสียง "กว"
kí = กี่ kẹt = แกด
c cá = ก๊า cơm = เกิม
q quà = กว่า quần = เกวิ่น
kh /x/~// ค/ข ในสำเนียงใต้จะตรงกับเสียง "ค" ในภาษาไทย
แต่ในสำเนียงเหนือจะเป็นเสียง /x/ ซึ่งไม่มีในภาษาไทย
ในที่นี้จึงให้แทนด้วย "ค" ตามเสียงสำเนียงใต้
khá = ค้า khốn = โค้น
l /l/ ตรงกับเสียง "ล" ในภาษาไทย lá = ล้า lên = เล็น
m /m/ ตรงกับเสียง "ม" ในภาษาไทย mà = หม่า mọc = หม็อก
n /n/ ตรงกับเสียง "น" ในภาษาไทย nà = หน่า nóng = น้อง
ng /ŋ/ ตรงกับเสียง "ง" ในภาษาไทย
รูป ngh ใช้เมื่อตามด้วยสระ i, y หรือ e
ngã = หงา ngân = เงิน
ngh nghề = เหง่ nghiệp = เหงียบ
nh /ɲ/ ตรงกับเสียง "ญ" ในภาษาลาวหรือเขมร nhả = ญ่า nhấn = เญิ้น
p /p/ ตรงกับเสียง "ป" ในภาษาไทย pin = ปีน pốp = โป๊บ
ph /f/ ฟ/ฝ ตรงกับเสียง "ฟ/ฝ" ในภาษาไทย phá = ฟ้า phối = โฟ้ย
r /z/~/ʐ/~/ɹ/ ซ/ส
หรือ ร
ในสำเนียงเหนือจะเป็นเสียงเดียวกับ d/gi ดังนั้นให้ทับศัพท์เป็น ซ/ส
อย่างไรก็ตามในสำเนียงใต้จะออกเสียงคล้าย r ในภาษาญี่ปุ่นหรืออาจคล้าย r ในจีนกลาง
ในที่นี้จึงอนุโลมให้แทนด้วย "ร" ซึ่งใกล้เคียงที่สุดเมื่ออิงตามสำเนียงใต้ได้
rã = สา/หรา rất = เซิ้ด/เริ้ด
s /s/~/ʂ/ ซ/ส ในสำเนียงเหนือจะตรงกับเสียง "ซ" ในภาษาไทย
ในสำเนียงใต้จะค้ายเสียง sh ในภาษาจีน
ไม่ว่าเสียงไหนก็ฟังดูใกล้เคียง "ซ" จึงให้ทับศัพท์เป็น "ซ" ในภาษาไทย
sà = ส่า sân = เซิน
t /t/ ตรงกับเสียง "ต" ในภาษาไทย tả = ต้า tôi = โตย
th // ท/ถ ตรงกับเสียง "ท/ถ" ในภาษาไทย thả = ท่า thông = ทง
tr /c/~/tʂ/ ในสำเนียงเหนือจะออกเสียงเหมือนกับ ch
ในสำเนียงใต้จะออกเสียงคล้าย zh ในภาษาจีน
ไม่ว่าจะเสียงไหนก็ฟังดูใกล้เคียง "จ" จึงให้ทับศัพท์เป็น "จ" ในภาษาไทย
trà = จ่า trâu = เจิว
v /v/ คล้ายเสียง v ในภาษาอังกฤษ ใกล้เคียงกับเสียง "ว" ในภาษาไทย và = หว่า vốn = โว้น
x /s/ ซ/ส ตรงกับเสียง "ซ/ส" ในภาษาไทย xa = ซา xong = ซ็อง

ในตารางนี้เสียงที่แทน IPA เป็น ๒ เสียงแยกกันนั้นทางซ้ายจะเป็นสำเนียงเหนือ ทางขวาเป็นสำเนียงใต้ แต่ยังไงก็ให้ยึดสำเนียงเหนือเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม กรณีเสียง d, gi นั้นอนุโลมให้เขียนเป็น "ย" ตามสำเนียงใต้ด้วย เนื่องจากเสียง d, gi ในสำเนียงเหนือไม่มีในภาษาไทย ถ้าจะเขียนให้ใกล้เคียงที่สุดก็จะเป็น "ซ/ส" แต่ถ้าเขียนแทนด้วย แต่ก็จะไปซ้ำซ้อนกับ x และ s

ส่วน r นั้นในในสำเนียงเหนือจะออกเสียงเหมือน d, gi แต่ในสำเนียงใต้จะออกเสียงเป็น "ร" ดังนั้นอาจทับศัพท์เป็น "ซ/ส" หรืออาจใช้เป็น "ร" ก็ได้

ดังนั้นให้อนุโลมเขียนเป็น "ย" ตามเสียงอ่านสำเนียงใต้ได้ด้วย หากต้องการแยกให้เห็นความต่างชัดจากเสียง x และ s

เสียง b, ch, đ นั้นจริงๆแล้วไม่มีในภาษาไทย แต่อาจถือว่าเป็นเสียง บ, จ, ด ในภาษาไทยไปได้เพราะใกล้เคียงกันมากอยู่แล้ว

เสียง g นั้นเป็นเสียงที่คล้ายเสียง "ฅ" ในภาษาไทยโบราณ คือเป็นเสียง "ก" แบบก้องและออกจากลำคอ ซึ่งปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว แต่ฟังดูเผินๆจะใกล้เคียงเสียง "ก" ดังนั้นจึงให้แทนด้วย "ก" ไป

นอกจากนี้อาจพบว่ามีการใช้อักษร y นำหน้าในบางคำเช่นคำว่า yếu แต่ว่านี่ไม่ใช่พยัญชนะต้น แต่เป็นสระ ภาษาเวียดนามไม่มีพยัญชนะต้น y แต่ y ในที่นี้ใช้แทนตัว i ในกรณีที่ไม่มีพยัญชนะต้นนำหน้า ในที่นี้ yếu อ่านว่า "เอี๊ยว" (ไม่ใช่ "เย้ว") เช่นเดียวกับที่ chiếu อ่านว่า "เจี๊ยว"



ตัวสะกด

อักษรที่อาจพบเป็นตัวสะกดนั้นมีอยู่ ๘ ตัวด้วยกัน คือ ng, nh, n, m, c, ch, t, p ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะออกเสียงเหมือนเวลาเป็นพยัญชนะต้น

ที่จะมีปัญหาค่อนข้างมากคือเสียง nh กับ ch เพราะได้สูญเสียเสียงอ่านดั้งเดิมไปแล้ว โดยเสียงจะไปคล้ายกับ ng และ c แต่จะมีเสียง "ย" นำอยู่เล็กน้อย จึงให้แทนด้วยแม่กงกับแม่กกไปเหมือนกับ ng และ c ได้เลย

เพียงแต่กรณี anh และ ach นั้นเพื่อให้แยกต่างจาก ăn และ ăc จึงให้เติม "ย" ไปด้วย

căng = กัง
canh = กังย์
cang = กาง
sắc = ซัก
sách = ซักย์
sác = ซ้าก

กรณีที่ตามด้วยตัวอื่นเช่น i หรือ ê จะไม่มีลงท้ายด้วย ng กับ c ด้วย จึงไม่ต้องเติม "ย์" ก็เขียนเป็นแม่กงกับแม่กกไปได้เลย

mình = หมิ่ง
lịch = หลิก
bệnh = เบ่ง
lệch = เหล็ก
(เพราะไม่มีคำที่ใช้ ing, ic, eng, ec อยู่)

เสียงอ่านและการทับศัพท์ตัวสะกดอาจสรุปได้ดังนี้

อักษร IPA ทับศัพท์ อธิบายคร่าวๆ ตัวอย่าง
ng /ŋ/ ตรงกับแม่กงในภาษาไทย càng = ก่าง lòng = หล่อง
nh /jŋ/ ง, งย์ ให้เขียนเหมือน ng ยกเว้น anh เขียนเป็น "อังย์" nhanh = ญังย์ minh = มิง
n /n/ ตรงกับแม่กนในภาษาไทย tôn = โตน tàn = ต่าน
m /m/ ตรงกับแม่กมในภาษาไทย cầm = เกิ่ม ngỏm = ง่อม
c /k̚/ ตรงกับแม่กกในภาษาไทย mắc = มัก sốc = ซก
ch /jk̚/ ก, กย์ ให้เขียนเหมือน c ยกเว้น ach เขียนเป็น "อักย์" sạch = สักย์ đích = ดิ๊ก
t // ตรงกับแม่กดในภาษาไทย cát = ก๊าด mốt = โม้ด
p // ตรงกับแม่กบในภาษาไทย sắp = ซับ lốp = โล้บ



สระเดี่ยว

ภาษาเวียดนามประกอบด้วยสระต่างๆใกล้เคียงกับภาษาไทยมาก อีกทั้งมีการแยกเสียงสั้นและยาวด้วย เวลาทับศัพท์จึงเลือกสระเขียนแทนได้ตรงๆง่ายๆ

สระต่างๆเขียนแทนดังนี้

เขียน IPA ทับศัพท์ หมายเหตุ ตัวอย่าง
-a /aː/ อา เขียน "อั-ย์" เมื่อตามด้วยตัวสะกด ch หรือ nh tả = ต้า mà = หม่า
-a- อา- cát = ก๊าด cản = ก้าน
/aj/ อั-ย์ bánh = บั๊งย์ lách = ลักย์
-ă- /a/ อั- ă จะเป็นเสียงสั้นและตามด้วยตัวสะกดเสมอ bắn = บั๊น bằng = บั่ง
-â- /ə/ เอิ- â จะเป็นเสียงสั้นและตามด้วยตัวสะกดเสมอ vấn = เวิ้น cầm = เกิ่ม
/əː/ เออ ơ จะเป็นเสียงยาวเสมอ ngơ = เงอ nhờ = เหญ่อ
-ơ- เอิ- đơn = เดิน bớt = เบิ๊ด
/o/ โอ เป็นเสียงสั้นเมื่อตามด้วยตัวสะกด c หรือ ng ngô = โง lổ = โล่
-ô- โอ- chôp = โจ๊บ nhột = โหญด
/əw/ อ- tổng = ต้ง ngốc = งก
-o /ɔ/ ออ เป็นเสียงสั้นเมื่อตามด้วยตัวสะกด c หรือ ng
ถ้ามีรูปวรรณยุกต์จะตัดไม้ไต่คู่
nhỏ = หญ้อ đó = ด๊อ
-o- ออ- món = ม้อน xóm = ซ้อม
/aw/ อ็อ- nong = น็อง móc = ม้อก
-u /u/ อู เป็นเสียงสั้นเมื่อตามด้วยตัวสะกด c หรือ ng ngủ = งู่ mù = หมู่
-u- อู- gút = กู๊ด nhún = ญู้น
/ʊw/ อุ- thùng = ถุ่ง đúc = ดุ๊ก
/ɯ/ อือ เป็นเสียงสั้นเมื่อตามด้วยตัวสะกด c หรือ ng thư = ทือ nhừ = หญื่อ
-ư- อื- nhứt = ญื้ด cứt = กื๊ด
อึ- xưng = ซึง ngực = หงึก
/e/ เอ เขียน "เอ็-" เมื่อตามด้วยตัวสะกด ch หรือ nh
ถ้ามีรูปวรรณยุกต์จะตัดไม้ไต่คู้
kể = เก้ tề = เต่
-ê- เอ- bến = เบ๊น nền = เหน่น
/əj/ เอ็- nghênh = เง็ง đếch = เด๊ก
-e /ɛ/ แอ e จะเป็นเสียงยาวเสมอ tẻ = แต้ vẽ = แหว
-e- แอ- tẹt = แตด kém = แก๊ม
-i
-y
/i/ อี เขียน "อิ-" เมื่อตามด้วย ch หรือ nh
กรณีไม่มีตัวสะกดอาจถูกเขียนเป็น i หรือ y แล้วแต่คำ และบางคำก็อาจเขียนได้ทั้ง ๒ แบบ
mĩ = หมี
mỹ = หมี
lí = ลี้
lý = ลี้
-i-
อี- mịt = หมีด tín = ตี๊น
/ï/ อิ- lịch = หลิก vịnh = หวิ่ง

มีแค่คู่ อะ/อา (ă/a) กับ เออะ/เออ (â/ơ) เท่านั้นที่แยกเสียงสั้นเสียงยาวชัดเจน ส่วนสระอื่นนั้นจะแยกเสียงสั้นยาวอย่างตายตัวตามตัวสะกด คือโดยทั่วไปจะเป็นเสียงสั้นเมื่อตามด้วย c, ch, ng, nh นอกนั้นเป็นเสียงยาว

อนึ่ง ในภาษาไทยใช้รูป "เอิ-" เขียนทั้งเสียงสั้นและเสียงยาว เราจึงไม่สามารถแยกความต่างระหว่าง â กับ ơ ได้ ดังนั้นคำว่า nhất (ที่สุด) กับ nhớt (เหนียวเหนอะ) จะเขียนทับศัพท์เป็น "เญิ้ด" เหมือนกันไม่อาจแยกแยะได้เนื่องจากข้อจำกัดของการเขียน แต่จริงๆแล้วจะต่างกันที่ความยาวของเสียง

สำหรับเสียงสั้น ă กับ â นั้นจะตามด้วยตัวสะกดเสมอ

นอกจากนี anh กับ ach เป็นตัวยกเว้น จะเป็นเสียงสั้น และให้ทับศัพท์เป็น "อังย์" และ "อักย์" ดังที่ได้อธิบายไปในหัวข้อเรื่องตัวสะกด

ข้อยกเว้น สำหรับรูปสระเมื่อใช้วรรณยุกต์ ạ และไม่มีตัวสะกด ให้เขียนต่างออกไปเป็นรูปคำตาย ดังนี้

เขียน IPA ทับศัพท์ ตัวอย่าง
-ạ /aː˧˨ʔ/ อะ nạ = หนะ
-ợ /əː˧˨ʔ/ เออะ thợ = เถอะ
-ộ /o˧˨ʔ/ โอะ lộ = โหละ
-ọ /ɔ˧˨ʔ/ เอาะ bọ =เบาะ
-ụ /u˧˨ʔ/ อุ cụ =กุ
-ự /ɯ˧˨ʔ/ อึ bự =บึ
-ệ /e˧˨ʔ/ เอะ kệ = เกะ
-ẹ /ɛ˧˨ʔ/ แอะ mẹ =แหมะ
-ị
-ỵ
/i˧˨ʔ/ อิ tị = ติ
tỵ =ติ



สระประสมสองเสียง

ภาษาเวียดนามมีสระประสมสองเสียงอยู่หลากหลายมาก อาจสรุปได้ดังตารางนี้

เขียน IPA ทับศัพท์ หมายเหตุ ตัวอย่าง
-ay /aj/ ไอ   mảy = ไม่ cày = ไก่
-ai /aːj/ อาย   mài = หม่าย cài = ก่าย
-au /aw/ เอา   sau = เซา đau = เดา
-ao /aːw/ อาว   sao = ซาว não = หนาว
-âu /əw/ เอิว   đâu = เดิว nấu = เนิ้ว
-ây /əj/ เอ็ย ถ้ามีรูปวรรณยุกต์ ให้ตัดไม้ไต่คู่ทิ้ง đấy = เด๊ย tây = เต็ย
-ơi /əːj/ เอย   tơi = เตย mới = เม้ย
-ôi /oj/ โอย   tối =โต๊ย xôi = โซย
-oi /ɔj/ ออย   mỏi = ม่อย gọi = ก่อย
-oa
(q)ua
/waː/ วา เขียน "วั-ย์" ถ้ามีตัวสะกดเป็น ch หรือ nh
รูป ua พบเฉพาะเมื่อตาม q
quả = กว้า toa = ตวา
-oa-
(q)ua-
วา- quàng = กว่าง hoảng = ฮว่าง
/waj/ วั-ย์ khoách = ควักย์ quành = กวั่งย์
-oă-
(q)uă-
/wa/ วั- รูปนี้ตามด้วยตัวสะกดเสมอ
รูป uă พบเฉพาะเมื่อตาม q
hoắc = ฮวัก quăng = กวัง 
-oe
(q)ue
/wɛ/ แว รูป ue พบเฉพาะเมื่อตาม q khoẻ = แคว่ què = แกว่
-oe-
(q)ue-
แว- quẹt = แกวด toẹt = แตวด
-ua
-uơ
/uə/ อัว มีหลายรูป แต่ออกเสียงเหมือนกัน
แต่ยกเว้น qua ให้ยึดตามรูป -oa ในตัวอย่างด้านบน
của = กั้ว thuở = ทั่ว
-uâ-
-uô-
อว- xuất = ซ้วด tuốn = ต๊วน
-uê /we/ เว เขียนเป็น "เว็" เมื่อตามด้วยตัวสะกด ch หรือ nh
แต่ถ้ามีรูปวรรณยุกต์ ให้ตัดไม้ไต่คู่ทิ้ง
tuế = เตว๊ huế = เฮว้
-uê- เว- quên = เกวน quết = เกว๊ด
/wəj/ เว็- tuềnh = เตว่ง khuếch = เคว็ก
-uy /wi/ วี เขียนเป็น "วิ-" เมื่อตามด้วยตัวสะกด ch หรือ nh tuy = ตวี quỷ = กวี้
-uy- วี- buýp = บวี๊บ quýt = กวี๊ด
/wï/ วิ- quých = กวิ๊ก khuỷnh = ควิ่ง
-ui /uj/ อูย   tui = ตูย củi = กู้ย
-ưi /ɯj/ อืย   gửi = กื้ย ngửi = งื่ย
-ưa /ɯə/ เอือ   nửa = เนื่อ chứa = เจื๊อ
-ươ- เอือ- xương = เซือง tường = เตื่อง
-ưu /ɯw/ อืว   bưu = บืว lưu = ลืว
-êu /ew/ เอว   nếu = เน้ว đều = เด่ว
-eo /ɛw/ แอว   kèo = แก่ว mẻo = แม่ว
-ia /iə/ เอีย รูป yê- จะพบเมื่อไม่มีพยัญชนะต้น phía = เฟี้ย ỉa = เอี้ย
-iê-
yê-
เอีย- biệt = เบียด yểm = เอี้ยม
-iu /iw/ อีว   xỉu = ซี่ว tíu = ตี๊ว

สระประสมบางตัวที่ขึ้นต้นด้วย o นั้นจะเปลี่ยนมาใช้ u เมื่อตามหลัง q เท่านั้น จึงให้จำไว้เป็นข้อยกเว้นด้วย

ให้ระวังว่าสำหรับสระ oă oa oe uê uy นั้นเขียนในรูปควบ "ว" เช่น huê ถอดเป็น "เฮว" (ไม่ใช่ "ฮวย"), huỷ ถอดเป็น "ฮวี่" (ไม่ใช่ "ฮุ่ย") เป็นต้น

พยัญชนะควบจะเขียนติดกับ "ว" เสมอ แต่กรณี oe กับ uê ที่รูปสระ "แ" กับ "เ" จะนำหน้าพยัญชนะต้น ก็ให้เขียนพยัญชนะอยู่หลัง "แ" หรือ "เ" ทั้งคู่ เช่น thuế เขียนเป็น "เทว้" (ไม่ใช่ "ทเว้"), choe choé เขียนเป็น "แจวแจว๊" (ไม่ใช่ "จแวจแว๊") เป็นต้น

สำหรับกรณี h นั้นอาจมีปัญหาเพิ่มเติมเนื่องจากระบบการเขียนภาษาไทยมีปัญหา ในกรณีที่ต้องเขียนเป็นวรรณยุกต์เอกหรือจัตวา เพราะเวลาเขียนต้องใช้รูป "ห" แต่ว่าในภาษาไทยนั้น "ห" เมื่อนำ "ว" นั้นปกติจะถูกตีความเป็นอักษรนำไป จึงเข้าใจผิดได้ ดังนั้นให้แก้ปัญหาโดยการใช้ "ฮ" ช่วย เช่น

hoè = แฮหว่ (ไม่ใช่ "แหว่")
huề = เฮหว่ (ไม่ใช่ "เหว่")
hoặc = ฮหวัก (ไม่ใช่ "หวัก")
hoạch = ฮหวักย์ (ไม่ใช่ "หวักย์")
hoàng = ฮหว่าง (ไม่ใช่ "หว่าง")
hoãng = ฮหวาง (ไม่ใช่ "หวาง")
huỳnh = ฮหวิ่ง (ไม่ใช่ "หวิ่ง")

และเช่นเดียวกับในกรณีของสระเดี่ยว มีบางรูปสระที่เมื่อใช้วรรณยุกต์ ạ และไม่มีตัวสะกดให้เขียนต่างออกไปโดยใช้รูปคำตาย ดังนี้

เขียน IPA ทับศัพท์ ตัวอย่าง
-oạ-
(q)u-
/waː˧˨ʔ/ วะ quạ = กวะ
-oẹ
(q)uẹ
/wɛ˧˨ʔ/ แวะ hoẹ = แฮหวะ
-ụa
-ụơ
/uə˧˨ʔ/ อัวะ lụa = หลัวะ
-uệ /we˧˨ʔ/ เวะ huệ = เฮหวะ
-uỵ
/wi˧˨ʔ/ วิ quỵ = กวิ
-ựa /ɯə˧˨ʔ/ เอือะ ngựa = เหงือะ
-ịa /iə˧˨ʔ/ เอียะ bịa = เบียะ

ข้อควรระวังอีกอย่างคือกรณีที่พยัญชนะต้นเป็น gi ซึ่งในกรณีนี้ i ถือเป็นส่วนหนึ่งของพยัญชนะต้น จะไม่รวมตัว i เข้าไปในส่วนของสระด้วย

เช่นคำต่อไปนี้เป็นสระเดี่ยว ไม่ใช่สระประสม

gián = ซ้าน/ย้าน (ไม่ใช่ "เซี้ยน/เยี้ยน")
giật = เสิด/เหยิด
giẽ = แส/แหย
gió = ซ้อ/ย้อ
giống = ซ้ง/ย้ง
giũ = สู/หยู (ไม่ใช่ "สีว/หยีว")
giúp = ซุบ/ยุบ
giữ = สือ/หยือ

ส่วนคำต่อไปนี้เป็นสระประสมสองเสียง ไม่ใช่สระประสมสามเสียง

giây = เซ็ย/เย็ย
giới = เซ้ย/เย้ย
giữa  = เสือ/เหยือ
giường = เสื่อง/เหยื่อง

แต่มีข้อยกเว้นคือ giê- ซึ่งในที่นี้ i ก็จะถูกรวมไปเป็นสระด้วย อาจจำเป็นข้อยกเว้นไป เช่น

giết = เซี้ยด/เยี้ยด (ไม่ใช่ "เซ็ด/เย็ด")
giếm = เซี้ยม/เยี้ยม (ไม่ใช่ "เซ้ม/เย้ม")
giềng = เสี่ยง/เหยี่ยง (ไม่ใช่ "เส่ง/เหย่ง")
giễu = เสียว/เหยียว (ไม่ใช่ "เสว/เหยว")



สระประสมสามเสียง

สระประสมสามเสียงในภาษาเวียดนามก็มีอยู่ไม่น้อย และทั้งหมดสามารถเขียนแทนด้วยภาษาไทยได้ ดังนี้

เขียน IPA ทับศัพท์ หมายเหตุ ตัวอย่าง
-iêu
yêu
/iəw/ เอียว รูป yêu จะพบเมื่อไม่มีพยัญชนะต้น tiêu = เตียว yếu = เอี๊ยว
-oay
(q)uay
/waj/ ไว รูป uay พบเฉพาะเมื่อตาม q ngoáy = ไงว้ quảy = ไกว้
-oai
(q)uai
/waːj/ วาย รูป uai พบเฉพาะเมื่อตาม q khoai = ควาย quải = กว้าย
-oao
(q)uao
/waːw/ วาว รูป uao พบเฉพาะเมื่อตาม q ngoao = งวาว quào = กว่าว
-oeo
(q)ueo
/wɛw/ แวว รูป ueo พบเฉพาะเมื่อตาม q khoeo = แควว queo = แกวว
-uây /wəj/ เว็ย ถ้ามีรูปวรรณยุกต์ให้ตัดไม้ไต่คู้ quây = เกว็ย khuấy = เคว้ย
-uôi /uəj/ อวย   nuôi = นวย tuổi = ต้วย
-uya /wiə/ เวีย   khuya = เควีย  
-uyê- เวีย- khuyên = เควียน nguyễn = เหงวียน
-uyu /wiw/ วีว   khuỷu = ควี่ว  
-ươi /ɯəj/ เอียย   lười = เหลื่อย tươi = เตือย
-ươu /ɯəw/ เอือว   nườu = เหนื่อว hươu = เฮือว

และเช่นเดียวกับกรณีอักษรประสมสองเสียง กรณีเสียง h วรรณยุกต์เอกหรือจัตวาและต้องเขียนเป็นรูปควบ "ว" จะมีบางตัวที่อาจสับสนกับอักษรนำ ก็ให้ใช้ "ฮ" ช่วย เช่น

hoài = ฮหว่าย (ไม่ใช่ "หว่าย")
huyễn = เฮหวียน (ไม่ใช่ "เหวียน")



ตัวอย่างคำ

ตัวเลข

เลข เขียน ทับศัพท์
0 không คง
1 một โหมด
2 hai ฮาย
3 ba บา
4 bốn โบ๊น
5 năm นัม
6 sáu เซ้า
7 bảy ไบ้
8 tám ต๊าม
9 chín จี๊น
10 mười เหมื่อย
100 trăm จัม
1,000 nghìn หงิ่น
1,000,000 triệu เจี่ยว
1,000,000,000 tỷ ตี้




ชื่อเขตการปกครองในเวียดนามทั้งหมด

  เขียน ทับศัพท์
1 Hà Nội ห่าโหน่ย (ฮานอย)
2 Thành phố Hồ Chí Minh ถั่งย์โฟ้โห่จี๊มิง (โฮจิมินห์)
3 Hải Phòng ฮ่ายฝ่อง
4 Đà Nẵng ด่าหนัง
5 Cần Thơ เกิ่นเทอ
6 Điện Biên เดี่ยนเบียน
7 Lai Châu ลายเจิว
8 Lào Cai หล่าวกาย
9 Hà Giang ห่าซาง/ห่ายาง
10 Cao Bằng กาวบั่ง
11 Lạng Sơn หล่างเซิน
12 Yên Bái เอียนบ๊าย
13 Tuyên Quang เตวียนกวาง
14 Bắc Kạn บั๊กก่าน
15 Thái Nguyên ท้ายเงวียน
16 Sơn La เซินลา
17 Phú Thọ ฟู้เถาะ
18 Vĩnh Phúc หวิงฟุก
19 Bắc Ninh บั๊กนิง
20 Bắc Giang บั๊กซาง/บั๊กยาง
21 Quảng Ninh กว้างนิง
22 Hòa Bình ฮหว่าบิ่ง
23 Hưng Yên ฮึงเอียน
24 Hải Dương ฮ่ายเซือง/ฮ่ายเยือง
25 Thái Bình ท้ายบิ่ง
26 Hà Nam ห่านาม
27 Nam Định นามดิ่ง
28 Ninh Bình นิงบิ่ง
29 Thanh Hoá ทังย์ฮว้า
30 Nghệ An เหงะอาน
31 Hà Tĩnh ห่าติ๋ง
32 Quảng Bình กว้างบิ่ง
33 Quảng Trị กว้างจิ
34 Thừa Thiên Huế เถื่อเทียนเฮว้
35 Quảng Nam กว้างนาม
36 Quảng Ngãi กว้างหงาย
37 Kon Tum กอนตูม
38 Gia Lai ซาลาย/ยาลาย
39 Bình Định บิ่งดิ่ง
40 Phú Yên ฟู้เอียน
41 Đắk Lắk ดั๊กลัก
42 Đắk Nông ดั๊กนง
43 Khánh Hòa คั้งย์ฮหว่า
44 Lâm Đồng เลิมด่ง
45 Ninh Thuận นิงถ่วน
46 Bình Thuận บิ่งถ่วน
47 Bình Phước บิ่งเฟื้อก
48 Tây Ninh เต็ยนิง
49 Bình Dương บิ่งเซือง/บิ่งเยือง
50 Đồng Nai ด่งนาย
51 Bà Rịa – Vũng Tàu บ่าเสียะ/บ่าเหรียะ - หวุงเต่า
52 Long An ล็องอาน
53 Đồng Tháp ด่งท้าบ
54 Tiền Giang เตี่ยนซาง/เตี่ยนยาง
55 Bến Tre เบ๊นแจ
56 An Giang อานซาง/อานยาง
57 Vĩnh Long หวิงล็อง
58 Kiên Giang เกียนซาง/เกียนยาง
59 Hậu Giang เหิ่วซาง/เหิ่วยาง
60 Trà Vinh จ่าวิง
61 Sóc Trăng ซ้อกจัง
62 Bạc Liêu บากเลียว
63 Cà Mau ก่าเมา





-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> หลักเกณฑ์การทับศัพท์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文