φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



javascript เบื้องต้น บทที่ ๔: นิพจน์และการคำนวณ
เขียนเมื่อ 2019/07/31 23:08
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42


ตัวดำเนินการพื้นฐาน

หลังจากที่ได้แนะนำให้รู้จักชนิดข้อมูลต่างๆไปแล้ว ในบทนี้จะมาพูดถึงการนำข้อมูลมาดำเนินการทำอะไรกัน

อย่างที่เห็นในตัวอย่างก่อนๆไปแล้วว่าข้อมูลชนิดตัวเลขสามารถนำมาบวกกันได้ เช่น 1+2

ในกรณีเครื่องหมายสัญลักษณ์บวก + เรียกว่าเป็น "ตัวดำเนินการ" (operator) และการที่ตัวเลขหรือตัวแปรมาทำอะไรบางอย่างกันนี้เรียกว่า "นิพจน์" (expression)

สัญลักษณ์ต่างๆที่ใช้แทนตัวดำเนินการในนิพจน์ที่มักพบในทุกภาษาในความหมายเหมือนกันไม่ว่าจะในภาษาไหนก็คือ +, -, *, /, %
  • x + y บวก
  • x - y ลบ
  • x * y คูณ
  • x / y หาร
  • x % y หารเอาเศษ
ตัวอย่าง
alert(33 + 44); // ได้ 77
alert(44 - 33); // ได้ 11
alert(11 * 4); // ได้ 44
alert(44 / 4); // ได้ 11
alert(55 % 10); // ได้ 5

นอกจากนี้ตั้งแต่รุ่น ES2016 จึงได้มีตัวดำเนินการใหม่เพิ่มเข้ามาคือ ** เอาไว้ใช้แทนเลขยกกำลัง

x ** y คือ x ยกกำลัง y

ตัวดำเนินการ ** นั้นถูกใช้ในภาษาอื่นหลายภาษา แต่ในจาวาสคริปต์เพิ่งใส่เพิ่มเข้ามา จึงเริ่มใช้ได้

ถ้าหากเป็นรุ่นก่อนหน้านี้เวลาจะต้องเขียน Math.pow(x,y) เมื่อต้องการคำนวณ x ยกกำลัง y



ตัวดำเนินการแบบเปลี่ยนแปลงค่าตัวแปรเดิม

ตัวดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้นได้แก่ +-*/% นั้นจะทำการคำนวณแล้วคืนค่าใหม่มาให้ ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นกับตัวแปรเดิมที่ใส่เข้าไป

หากเติมเครื่องหมาย = เข้าไปจะหมายถึงให้ทำการดำเนินการด้วยค่าตัวแปรเดิมของตัวนั้นกับค่าที่ใส่เข้าไปด้านหลัง
  • x += y เท่ากับ x = x + y
  • x -= y เท่ากับ x = x - y
  • x *= y เท่ากับ x = x * y
  • x /= y เท่ากับ x = x / y
  • x %= y เท่ากับ x = x % y
ตัวอย่าง
var x = 8;
x += 2;
alert(x); // ได้ 10

นอกจากนี้สำหรับเครื่องหมายบวกและลบหากเขียนสองตัวต่อกันจะหมายถึงการเอาตัวแปรนั้นมาบวก 1 หรือลบ 1
  • x++
  • x--
  • ++x
  • --x
การเอาเครื่องหมายไว้ด้านหน้าและด้านหลังมีความหมายต่างกันเล็กน้อย ความแตกต่างจะเห็นในกรณีที่เอาค่านี้ไปแทนใส่ตัวแปรอื่นด้วยในทีเดียว
var y1 = 5;
z1 = y1++;
alert(z1); // ได้ 5
alert(y1); // ได้ 6

var y2 = 5;
z2 = ++y2;
alert(z2); // ได้ 6
alert(y2); // ได้ 6

จะเห็นว่าถ้าวาง ++ ไว้ด้านหลัง การบวกเพิ่มจะเกิดขึ้นหลังจากที่ค่าแทนเข้าไปในตัวแปรทางซ้ายแล้ว แต่ถ้าอยู่ด้านหน้าก็จะเกิดการบวกทันทีแล้วจึงแทนในตัวแปรซ้ายไปด้วย

แต่โดยส่วนมาก ++ จะใช้ในกรณีที่ต้องการเพิ่มค่าตัวแปรไปอีก 1 โดยเขียนแบบง่ายๆว่า
++x;
x++;

ถ้าจุดประสงค์แค่ต้องการเพิ่มค่า x แบบนี้จะเขียนแบบไหนก็ไม่ต่างกัน ความหมายล้วนหมายถึงค่าของ x บวกเพิ่มอีก 1 เหมือนกัน



ขีดจำกัดของค่าตัวเลข และค่าอนันต์

การคำนวณในคอมพิวเตอร์นั้นมีข้อจำกัด ไม่สามารถป้อนค่าตัวเลขที่ใหญ่เกินค่าค่าหนึ่งได้

ค่าที่ใหญ่เกินก็จะกลายเป็น Infinity คือค่าอนันต์ นอกจากนี้อาจเกิดจากการคำนวณบางอย่าง เช่นหารด้วย 0 เช่น
alert(1e400); // ได้ Infinity
alert(-1 / 0); // ได้ -Infinity

ค่าสูงสุดของตัวเลขที่สามารถเก็บในโปรแกรมได้สามารถดูได้ที่ Number.MAX_VALUE ถ้าเกินกว่าค่านี้ไปก็จะกลายเป็น Infinity
alert(Number.MAX_VALUE); // ได้ 1.7976931348623157e+308
alert(1.8e308); // Infinity

ในทางกลับกัน จำนวนที่มีค่าเล็กจนเข้าใกล้ 0 มากๆก็มีขีดจำกัดเช่นกัน ดูได้ที่ค่า Number.MIN_VALUE หากใส่ค่าที่น้อยกว่านี้ไปก็จะกลายเป็น 0
alert(Number.MIN_VALUE); // ได้ 5e-324
alert(2.5e-324); // ได้ 5e-324
alert(2.4e-324); // ได้ 0

จะเห็นว่าทั้งขีดจำกัดนั้นแม้จะมีอยู่แต่ก็กำหนดไว้สูงมาก การคำนวณโดยทั่วไปในชีวิตประจำวันยากที่จะไปถึงค่านั้น โดยทั่วไปจึงอาจไม่ได้ต้องกังวลมากนัก



ลำดับความสำคัญในการคำนวณ

เวลาที่มีนิพจน์ยาวๆซึ่งประกอบด้วยสัญลักษณ์ในการคำนวณหลายตัว การคำนวณจะเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายครั้งซ้อนกันไปเรื่อยๆ โดยเริ่มไล่จากซ้ายไปขวา เช่น
var a = 1 + 2 + 3 - 4;

การคำนวณจะเริ่มต้นจาก 1 บวก 2 แล้วค่อยไปบวก 3 แล้วลบ 4 ตามลำดับ

แต่ว่านี่เป็นเพราะว่าลำดับความสำคัญของเครื่องหมายบวกกับลบเท่ากัน ดังนั้นจึงเกิดการไล่จากซ้ายไปขวา

แต่ถ้าลองเขียนแบบนี้
var a = 2 * 3 + 4 / 5;
alert(a); // ได้ 6.8

จะพบว่าโปรแกรมจะคำนวณโดยเอา 2 คูณ 3 แล้วก็เอา 4 หาร 5 แล้วค่อยเอาทั้งสองส่วนนี้มาบวกกัน

นั่นเพราะลำดับความสำคัญของเครื่องหมายคูณและหารนั้นมาก่อนบวกกับลบ ดังนั้นเมื่อเห็น 4/5 จึงถูกคิดก่อนเครื่องหมายบวกที่อยู่ทางซ้าย

หากต้องการเปลี่ยนลำดับความสำคัญก็สามารถทำได้โดยใส่วงเล็บ
var a = (2 * 3) + (4 / 5); // อันนี้ใส่หรือไม่ก็เหมือนกัน
alert(a); // ได้ 6.8
var a = (2 * 3 + 4) / 5;
alert(a); // ได้ 2
var a = ((2 * 3) + 4) / 5;
alert(a); // ได้ 2

จะเห็นว่า 2*3 จะใส่วงเล็บหรือไม่ใส่ก็ไม่ต่างกัน เพราะความสำคัญของคูณมาก่อนบวกอยู่แล้ว

หากเรียงความสำคัญก็จะได้ดังนี้

- วงเล็บ ()
- คูณ (*) หาร (/) หารเอาเศษ (%)
- บวก (+) ลบ (-)

ถ้าลำดับความสำคัญเท่ากันก็จะคิดจากซ้ายไปขวา



การคำนวณของ true และ false

true false สามารถนำมาใช้ในการคำนวณบวกลบคูณหารได้ โดยเวลาคำนวณจะถูกแปลงข้อมูลเป็นตัวเลขโดยอัตโนมัติ true จะมีค่าเป็น 1 และ false มีค่าเป็น 0

สามารถนำ true false มาเข้านิพจน์คำนวณกันเองก็ได้ หรือจะทำกับตัวเลขก็ได้
alert(true + true); // ได้ 2
alert(true + false); // ได้ 1
alert(true * true); // ได้ 1
alert(true * false); // ได้ 0
alert(true + 7); // ได้ 8
alert(8 * false); // ได้ 0

แต่ยกเว้นกรณีที่ไปบวกกับข้อมูลชนิดสายอักขระ กรณีนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นสายอักขระแทน ตัวอย่างจะกล่าวถึงต่อไป



การบวกสายอักขระ

หากนำสายอักขระมาบวกกันจะเป็นการนำสายอักขระมาต่อกัน
alert("อา" + "ม่า"); // ได้ อาม่า

ต่อให้เป็นสายอักขระที่บรรจุแต่ตัวเลข เวลาที่บวกกันก็เป็นการเอามาต่อกันเช่นกัน ไม่ใช่การบวกตัวเลข
alert("11"+"22"); // ได้ 1122

หากมีตัวแปรที่เก็บสายอักขระอยู่ เราสามารถต่อข้อความเพิ่มลงสายอักขระได้โดยใช้ +=
var s = "เธอเป็นคนดี";
s += "แต่พูด";
alert(s); // ได้ เธอเป็นคนดีแต่พูด


การนำข้อมูลต่างชนิดกันมาเข้าตัวดำเนินการกัน

หากนำตัวเลขมาบวกกับสายอักขระ ตัวเลขจะถูกแปลงเป็นสายอักขระก่อนแล้วจึงบวกกัน นั่นหมายถึงกลายเป็นการเขียนต่อสายอักขระ
alert("1" + 2); // ได้ 12

เมื่อเกิดการบวกกับสายอักขระก็จะกลายเป็นสายอักขระทันที บวกกับอะไรต่อก็ได้แต่สายอักขระแล้ว ดังนั้นถ้าต้องการให้ตัวเลขบวกแบบคณิตศาสตร์ก็ต้องบวกกันก่อนแล้วค่อยเอามาต่อกับสายอักขระ
alert("a" + 2 + 4); // ได้ a24
alert("a" + (2 + 4)); // ได้ a6
alert(2 + 4 + "a"); // ได้ 6a

ถ้าสายอักขระบวกกับ true หรือ false ก็จะแปลงคำว่า true หรือ false เป็นสายอักขระโดยตรงแล้วก็ต่อกันไปแบบนั้น

alert("a" + true); // ได้ atrue

แต่ว่ากรณีลบ, คูณ, หาร นั้นจะต่างจากบวก คือทุกอย่างจะถูกแปลงเป็นตัวเลข ตรงกันข้ามกับกรณีบวกกัน ดังนั้นต้องระวังให้ดี

ถ้าสายอักขระนั้นบรรจะตัวเลข ก็จะถูกแปลงเป็นเลข แต่ถ้าไม่ใช่ตัวเลขก็จะได้ค่าเป็น NaN
alert("a" / 2); // ได้ NaN
alert("2" * 3); // ได้ 6
alert(2 - "9"); // ได้ -7

NaN ย่อมาจาก not a number แปลว่า "ไม่ใช่ตัวเลข" ถือเป็นข้อมูลชนิดตัวเลขชนิดหนึ่ง จะเกิดขึ้นเวลาเกิดการคำนวณแล้วไม่สามารถกลายเป็นตัวเลขได้

NaN เอาไปคำนวณอะไรต่อก็จะได้ NaN แต่ถ้าบวกกับสายอักขระจึงจะกลายเป็นการต่อกับสายอักขระ
alert(typeof NaN); // ได้ number
alert(NaN + 1); // ได้ NaN
alert(1 / NaN); // ได้ NaN
alert(NaN - "aNa"); // ได้ NaN
alert(NaN + "aNa"); // ได้ NaNaNa

สายอักขระเจอ true และ false ก็ถูกแปลงเป็นตัวเลขเช่นกัน
alert("-1" / false); // ได้ -Infinity
alert("a" * false); // ได้ NaN
alert("6" - true); // ได้ 5


กรณี undefined และ null

สำหรับ undefined นั้นไปคำนวณกับอะไรก็จะได้ NaN แต่ถ้าเป็นบวก เมื่อบวกกับสายอักขระจะแปลงเป็นสายอักขระแล้วนำไปต่อกัน

ส่วน null จะให้ผลเหมือน false

alert(undefined + "นะ"); // ได้ undefinedนะ
alert(undefined - "ล่ะ"); // ได้ NaN
alert(undefined * 10); // ได้ NaN
alert(undefined + true); // ได้ NaN
alert(null + "ล่ะ"); // ได้ nullล่ะ
alert(null - "ล่ะ"); // ได้ NaN
alert(null + 10); // ได้ 10
alert(null - "7"); // ได้ -7
alert(null * true); // ได้ 0

จะเห็นว่าตัวดำเนินการในจาวาสคริปต์นั้นใจดีมาก ไม่ว่าจะเอาข้อมูลชนิดไหนมาทำอะไรกัน ข้ามชนิดข้อมูลแค่ไหนก็ไม่มีการเกิดข้อผิดพลาดเลย เพียงแต่ว่าผลที่ได้ค่อนข้างซับซ้อนเท่านั้น ดังนั้นต้องทำความเข้าใจให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลที่ไม่คาดคิดได้




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> javascript

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文