φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



javascript เบื้องต้น บทที่ ๕: การใช้เมธอดและการแปลงชนิดข้อมูล
เขียนเมื่อ 2019/07/31 23:09
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42


การใช้เมธอด toString เพื่อแปลงข้อมูลเป็นสายอักขระ

จากบทที่แล้วจะเห็นว่าข้อมูลแต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่เหมือนกันเวลาที่เอามาทำอะไรต่างๆ เช่นในการแสดงผล หรือเมื่อเจอตัวดำเนินการ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจเรื่องชนิดตัวแปรให้ดี

นอกจากนี้ บางครั้งเราก็อาจต้องการเปลี่ยนชนิดของตัวแปรหนึ่งไปเป็นอีกชนิดให้เหมาะสมกับการใช้งานที่ต้องการ

ในบทนี้จะพูดถึงการแปลงชนิดข้อมูลระหว่างชนิดต่างๆ โดยเฉพาะตัวเลขและสายอักขระ

การแปลงข้อมูลชนิดต่างๆเป็นสายอักขระนั้นจะทำโดยใช้เมธอดที่ชื่อ toString

คำว่า "เมธอด" (method) นั้นมีความหมายคล้ายกับฟังก์ชัน อาจถือว่าเมธอดเป็นฟังก์ชันชนิดหนึ่ง แต่ต่างกันตรงที่เมธอดคือฟังก์ชันที่ถูกเก็บอยู่ภายในตัวออบเจ็กต์หรือข้อมูลชนิดต่างๆ

เมธอดนั้นจริงๆแล้วก็คือแอตทริบิวต์ของออบเจ็กต์ แต่เป็นแอตทริบิวต์ที่เป็นฟังก์ชัน

ดังนั้นปกติจะใช้เมธอดได้โดยการเติมจุดต่อจากตัวแปรที่เก็บออบเจ็กต์นั้นไว้ แล้วตามด้วยชื่อ เช่นเดียวกับพรอเพอร์ตีของออบเจ็กต์

เมธอดถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของออบเจ็กต์ แต่นอกจากข้อมูลชนิดออบเจ็กต์แล้ว ข้อมูลชนิดอื่นๆ ทั้งตัวเลข สายอักขระ บูล ก็มีเมธอดเช่นกัน

ข้อมูลทุกชนิดจะมีเมธอดที่ชื่อว่า toString ซึ่งปกติจะถูกใช้เวลาที่แสดงผล อย่างเวลาที่ใช้ alert นั้น จริงๆแล้วจะมีการเรียกเมธอด toString ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพื่อแสดงผลข้อมูลออกมาเป็นตัวหนังสือให้ได้เห็น

แต่ว่านอกจากเวลาใช้ alert แล้ว เราสามารถเรียกใช้เมธอด toString เพื่อเปลี่ยนข้อมูลชนิดใดๆเป็นสายอักขระโดยตรง

เช่น ลองดูข้อมูลตัวเลข
var n = 12.34;
alert(typeof n); // ได้ number
alert(n); // ได้ 12.34
var s = n.toString();
alert(typeof s); // ได้ string
alert(s); // ได้ 12.34

ในตัวอย่างนี้จะเห็นว่าตัวแปร n ถูกสร้างขึ้นมาเป็นข้อมูลตัวเลข สามารถใช้เมธอด toString เพื่อแปลงเป็นข้อมูลสายอักขระได้ โดยข้อมูลที่แปลงแล้วจะเก็บไว้ในตัวแปร s

ให้ระวังว่าเมธอด toString นั้นจะไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงตัวแปรที่ใช้เมธอดโดยตรง แต่จะทำการคืนค่าที่แปลงเป็นสายอักขระแล้วมาเท่านั้น จะต้องนำตัวแปรมารับค่า หรือไม่ก็นำมาใช้ทันที

ในที่นี้ใช้ตัวแปร s มารับค่าที่คืนมาจากเมธอด toString ของตัวแปร n ผลคือจะได้สายอักขระที่มีข้อความ "12.34"

แต่จะเห็นว่าเมื่อใช้ alert แล้วการแสดงผลจะเหมือนกันทั้ง n และ s นั่นเพราะจริงๆแล้วเวลาใช้ alert กับข้อมูลชนิดตัวเลขจะมีการใช้เมธอด toString โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ส่วนข้อมูลชนิดสายอักขระนั้นจะถูกแสดงออกมาโดยตรง

นอกจากนี้ ปกติเวลาที่เอาตัวเลขไปบวกกับสายอักขระ ข้อมูลตัวเลขจะเปลี่ยนเป็นสายอักขระโดยอัตโนมัติ การเปลี่ยนแปลงนี้จริงๆแล้วก็ทำผ่านเมธอด toString เช่นกัน คือ .toString จะถูกเรียกมาโดยอัตโนมัติ
var n = 12.34;
alert(n + "a"); // ได้ 12.34a
alert(n.toString() + "a"); // ได้ 12.34a

ดังนั้นเมธอด toString นั้นมักจะไม่ได้ถูกเรียกใช้โดยตรง แต่ก็อาจใช้เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนข้อมูล

อาจจะจำเป็นต้องเรียกใช้ toString โดยตรงเวลาที่ต้องการเอาตัวเลข ๒ ตัวมาต่อกันโดยไม่ใช่บวกกันเท่านั้น กรณีแบบนี้ต้องเอาตัวใดตัวหนึ่งมาแปลงเป็นสายอักขระก่อนไม่เช่นนั้นจะเป็นการบวกตัวเลขธรรมดา
var m = 12.5;
var n = 11.3;
alert(m + n); // ได้ 23.8
alert(m.toString() + n.toString()); // ได้ 12.511.3
alert(m.toString() + n); // 12.511.3

ส่วนกรณีข้อมูลชนิดบูล (true และ false) ถ้าใช้ toString ก็จะได้สายอักขระที่เขียนคำว่า true และ false

แต่ถึงไม่ใช้ .toString เวลาใช้ alert เฉยๆก็ขึ้นคำว่า true หรือ false อยู่แล้ว

และเวลาที่ไปบวกกับสายอักขระก็จะถูกแปลงเป็นสายอักขระโดยอัตโนมัติเช่นกัน
alert(true + "end"); // ได้ trueend
alert(true.toString() + "end"); // ได้ trueend

ส่วนข้อมูลออบเจ็กต์เองเวลาใช้ alert จะเห็นแค่ [object Object] แบบนี้โดยไม่แสดงเนื้อใน ไม่ว่าข้างในจะเป็นอย่างไร
var obj = { a: 1 };
alert(obj); // ได้ [object Object]
alert(obj.toString()); // ได้ [object Object]

แต่ก็มีวิธีทำให้ออบเจ็กต์แสดงเนื้อในเหมือนกัน คือทำการแก้เมธอด toString ซึ่งจะอธิบายในบทที่ ๑๙

จากตรงนี้สรุปได้ว่า ข้อมูลใดๆเมื่อใช้ alert หรือนำไปบวกกับสายอักขระจะมีการแปลงเป็นสายอักขระโดยอัตโนมัติโดยผ่านเมธอด toString

เมธอด toString มีติดตัวอยู่ในข้อมูลทุกชนิด ข้อมูลชนิดสายอักขระเองก็มีเมธอด toString ด้วย เพียงแต่ว่าเป็นสายอักขระอยู่แล้ว ถึงใช้ก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น

หากต้องการเปลี่ยนแปลงการแสดงผล เราสามารถเขียนแก้เมธอด toString ได้ด้วยตัวเอง รายละเอียดจะเขียนถึงในบทที่ ๑๙

นอกจากนี้อาจใช้ฟังก์ชัน String แทนเมธอด toString ผลที่ได้ก็เป็นการแปลงเป็นสายอักขระเหมือนกัน
alert(String(111)); // ได้ 111



เมธอดต่างๆที่ใช้แปลงตัวเลขเป็นสายอักขระ

.toString เป็นวิธีที่พื้นฐานที่สุดในการแปลงข้อมูลเป็นสายอักขระเพื่อแสดงออกมา

แต่สำหรับการแปลงตัวเลขเป็นสายอักขระนั้น นอกจาก .toString ที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ละวิธีมีความต่างกันออกไป

ข้อมูลชนิดตัวเลขนั้นจะมีเมธอดติดตัวหลายตัวที่ใช้สำหรับแปลงเป็นสายอักขระในลักษณะต่างๆที่ต่างกันไป ได้แก่

- .toString
- .toFixed
- .toPrecision
- .toExponential

โดยปกติถ้าใช้ .toString แปลงตัวเลขเป็นสายอักขระ จุดทศนิยมจะแสดงไปจนถึงตำแหน่งสุดท้ายที่ไม่ใช่ 0

แต่ถ้าใช้ toFixed จะแสดงจุดทศนิยมเป็นจำนวนตำแหน่งตามที่กำหนดได้ และจะมีการปัดเศษถ้าเลขตำแหน่งทศนิยมน้อยกว่าที่มีอยู่
var n = 12.93;
alert(n.toFixed(5)); // ได้ 12.93000
alert(n.toFixed(1)); // ได้ 12.9
alert(n.toFixed(0)); // ได้ 13

ถ้าใช้ .toPrecision จะเป็นการกำหนดเลขนัยสำคัญ ผลที่ได้อาจถูกเขียนในรูปคูณ 10 ยกกำลัง
var n = 129.3;
alert(n.toPrecision(5)); // ได้ 129.30
alert(n.toPrecision(3)); // ได้ 129
alert(n.toPrecision(2)); // ได้ 1.3e+2

ถ้าใช้ .toExponential จะได้เป็นรูปเลข [1,10) คูณ 10 ยกกำลัง โดยมีตำแหน่งทศนิยมตามเลขที่กำหนด
var n = 0.01293;
alert(n.toExponential(5)); // ได้ 1.29300e-2
alert(n.toExponential(1)); // ได้ 1.3e-2
var n = 1293;
alert(n.toExponential(4)); // ได้ 1.2930e+3
alert(n.toExponential(1)); // ได้ 1.3e+3



การแปลงเลขเป็นฐานต่างๆ

เมธอด toString เมื่อใช้กับตัวเลขยังมีวิธีการใช้แบบพิเศษอย่างหนึ่งก็คือใช้แปลงตัวเลขให้แสดงเป็นฐานที่เรากำหนดได้

ปกติถ้าหากไม่ใส่ก็จะเป็นฐานสิบ คือเป็นไปตามตัวเลขที่ใส่ไป

เลขที่ใส่อาจเป็นเท่าใดก็ได้ตั้งแต่ 2 ถึง 36 มากกว่านั้นไม่ได้ เลขที่เกินมาจะกลายเป็นตัวอักษรโรมัน โดยที่ 10 เป็น a และ 35 เป็น z
alert((75).toString(2)); // ได้ 1001011
alert((88).toString(8)); // ได้ 130
alert((111).toString(10)); // ได้ 111
alert((250).toString(16)); // ได้ fa
alert((71).toString(36)); // ได้ 1z



เลขฐาน 2 ฐาน 8 ฐาน 16

ตัวเลขในจาวาสคริปต์และอีกหลายภาษานอกจากจะเขียนในรูปฐาน 10 ทั่วไปแล้วยังสามารถเขียนในรูปฐาน 2 ฐาน 8 ฐาน 16 ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญ ใช้บ่อยรองลงมาจากฐาน 10

** สำหรับการเขียนในรูปฐาน 16 นั้นทำได้ตั้งแต่ใน ES3 แล้ว แต่ว่าฐาน 2 และฐาน 8 นั้นเพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาให้เขียนได้ตั้งแต่ใน ES6 เป็นต้นมา

การเขียนในรูปเลขฐาน 2 ทำได้โดยขึ้นต้นด้วย 0b แล้วตามด้วยเลขฐาน 2 ที่ต้องการ เลขจะถูกตีความแปลงเป็นเลขฐาน 10 ให้
alert(0b1111); // ได้ 15
alert(0b1101011); // ได้ 107

ส่วนเลขฐาน 8 ให้ขึ้นต้นด้วย 0o เลขฐาน 16 ให้ขึ้นต้นด้วย 0x
alert(0o77); // ได้ 63
alert(0xff); // ได 255

แต่ว่าถ้าใช้เลขฐาน 2 จะใส่ได้แค่ 0 กับ 1 ส่วนเลขฐาน 8 จะมีได้แค่เลข 0~7 ถ้าใส่เกินโปรแกรมจะรู้และเกิดข้อผิดพลาดทันที
alert(0b22); // ได้ SyntaxError: missing binary digits after '0b'
alert(0o99); // ได้ SyntaxError: missing octal digits after '0o'

แต่ไม่ว่าเขียนอย่างไรข้อมูลก็ถูกแปลงเป็นฐาน 10 หมด และในทางกลับกันเมื่อต้องการให้กลับมาแสดงในรูป 2, 8, 16 ก็ใช้ .toString

หากแปลงไปแล้วแปลงกับ แน่นอนว่าได้ค่าเท่าเดิม
alert((0b111011000).toString(2)); // ได้ 111011000
alert((0o76).toString(8)); // ได้ 76
alert((0xfba).toString(16)); // ได fba



การแปลงสายอักขระเป็นตัวเลข

หากเรามีสายอักขระที่ใส่ตัวเลขไว้อยู่สามารถนำมาแปลงเป็นข้อมูลชนิดตัวเลขได้

โดยหลักๆแล้วมีอยู่ ๓ ฟังก์ชันที่สามารถใช้ในการแปลงข้อมูลตัวหนังสือให้เป็นตัวเลขได้ ได้แก่

- parseInt
- parseFloat
- Number

แต่ละอันมีความคล้ายกัน บางทีก็ให้ผลเหมือนกัน แต่ก็มีความต่างออกไป

parseInt นั้นจะตีความเลขเป็นจำนวนเต็ม แม้ว่าที่ใส่ไปจะมีทศนิยมก็ตาม

parseFloat จะตีความตัวเลขเป็นจำนวนทศนิยมได้ แต่ถ้าใส่จำนวนเต็มก็ได้จำนวนเต็ม

Number จะคล้าย parseFloat แต่สามารถใช้แปลงค่าตัวเลขที่แสดงในรูปฐานสองและฐานสิบหกได้

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย ดูตัวอย่างจะเข้าใจได้

กรณีที่มีสายอักขระที่ใส่แต่ตัวเลขจำนวนเต็มเดี่ยวๆ ใช้อันไหนก็ได้ผลเหมือนกัน
alert(parseInt("1243")); // ได้ 1243
alert(parseFloat("1243")); // ได้ 1243
alert(Number("1243")); // ได้ 1243

แต่หากเป็นเลขที่มีทศนิยม parseInt จะถูกปัดทิ้ง
alert(parseInt("124.3")); // ได้ 124
alert(parseFloat("124.3")); // ได้ 124.3
alert(Number("124.3")); // ได้ 124.3

หากเป็นสายอักขระที่เขียนเลขที่เขียนในรูป e (คูณสิบยกกำลัง) parseInt จะไปหยิบเอาเลขที่อยู่หน้าจุดทศนิยมมาแค่นั้น ส่วน parseFloat และ Number จะอ่านได้ถูกต้อง
alert(parseInt("12.4e3")); // ได้ 12
alert(parseFloat("12.4e3")); // ได้ 12400
alert(Number("12.4e3")); // ได้ 12400

หากเป็นตัวเลขนำหน้าแล้วมีตัวหนังสืออะไรก็ตามอย่างอื่นตาม parseInt และ parseFloat จะหยิบเฉพาะตัวเลขมา โดย parseFloat จะหยิบมาถึงหลังทศนิยม แต่ parseInt จะตัดเศษทิ้ง ส่วน Number จะได้ NaN
alert(parseInt("12.1บาท")); // ได้ 12
alert(parseFloat("12.1บาท")); // ได้ 12.1
alert(Number("12.1บาท")); // ได้ NaN

แต่ถ้าขึ้นต้นด้วยอะไรที่ไม่ใช่ตัวเลข จะได้ NaN ทั้งหมด
alert(parseInt("b1")); // ได้ NaN
alert(parseFloat("b1")); // ได้ NaN
alert(Number("b1")); // ได้ NaN

กรณีที่อ่านสายอักขระที่เขียนแสดงเลขฐาน 2 (ขึ้นด้วย 0b) หรือ 8 (ขึ้นด้วย 0o) จะใช้ parseInt หรือ parseFloat ไม่ได้ ใช้แล้วจะกลายเป็น 0 หมด
alert(parseInt("0b1011")); // ได้ 0
alert(parseFloat("0b1011")); // ได้ 0
alert(Number("0b1011")); // ได้ 11
alert(parseInt("0o777")); // ได้ 0
alert(parseFloat("0o777")); // ได้ 0
alert(Number("0o777")); // ได้ 511

แต่เลขฐาน 16 (ขึ้นด้วย 0x) ใช้ parseInt ได้ด้วย ในขณะที่ parseFloat ยังคงได้ 0
alert(parseInt("0xaaa")); // ได้ 2730
alert(parseFloat("0xaaa")); // ได้ 0
alert(Number("0xaaa")); // ได้ 2730




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> javascript

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文