ภาษา python เบื้องต้น บทที่ ๓๖: บทส่งท้าย
เขียนเมื่อ 2016/05/01 23:41
แก้ไขล่าสุด 2024/02/12 19:23
print('''
หากใครอ่านตั้งแต่ต้นมาจนถึงบทนี้ก็น่าจะได้ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับภาษาไพธอนไปมากมายแล้ว
เริ่มจากอธิบายแนวคิดโดยทั่วไป ตามด้วยการลงโปรแกรมเพื่อใช้งาน อธิบายเรื่องตัวแปรและฟังก์ชันพื้นฐาน การตั้งเงื่อนไขและการทำซ้ำ ข้อมูลชนิดกลุ่มและลำดับแบบต่างๆ
จากนั้นก็เป็นเรื่องของการเรียกใช้มอดูลเพิ่มเติม การอ่านเขียนไฟล์ สร้างฟังก์ชัน แล้วจึงเริ่มเรียนรู้หลักการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุและการสร้างคลาส ตามด้วยการจัดการกับข้อผิดพลาด
เสร็จแล้วที่เหลือก็เป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างลึกขึ้นมาอย่างอิเทอเรเตอร์และเดคอเรเตอร์ค่อนข้างเข้าใจยาก แล้วก็ปิดท้ายด้วยการสร้างมอดูลและแพ็กเกจขึ้นมา
ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาพื้นฐานที่น่าจะจำเป็นต้องใช้ไม่ว่าจะนำโปรแกรมไปทำอะไรต่อก็ตาม
อย่างไรก็ตาม นี่ก็เหมือนเป็นเพียงใบไม้ในป่าใหญ่ ยังมีข้อมูลอีกมากมายที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะนำไปใช้เขียนอะไรต่อ
ไพธอนมีฟังก์ชันและคลาสอะไรต่างๆอีกมากมายอยู่ภายในมอดูลภายในตัว สามารถนำมาใช้ให้เหมาะกับงานตามที่แต่ละคนต้องการได้
นอกจากนี้ยังมีมอดูลภายนอกที่สามารถโหลดเพิ่มมาลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลต่างๆมีมากมายสามารถค้นหาตามเว็บต่างๆได้โดยอาจไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือเลย อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายว่าข้อมูลที่เป็นภาษาไทยค่อนข้างน้อย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้ภาษาต่างชาติ
เช่น เว็บญี่ปุ่นมีข้อมูลเกี่ยวกับภาษาไพธอนที่คนเขียนลงบล็อกไว้เยอะมาก เมื่อลองค้นดูก็สามารถเจอเนื้อหาแทบทุกอย่าง ข้อมูลที่ลงในบล็อกนี้ทั้งหมดส่วนใหญ่ก็สรุปรวบรวมมาจากเว็บญี่ปุ่น ซึ่งได้เขียนไว้ในเอกสารอ้างอิงท้ายบทแต่ละบท
สาเหตุหลักที่มาเขียนบทความสอนภาษาไพธอนลงบล็อกก็เพราะอยากช่วยเพิ่มข้อมูลที่เป็นภาษาไทยให้มากขึ้นสักหน่อย เพื่อให้คนไทยเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น แม้ว่าคงจะอีกห่างไกลกว่าจะมีข้อมูลเยอะเหมือนอย่างภาษาญี่ปุ่น
ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาธรรมชาติที่สวยงามอ่านง่าย เหมาะแก่การอ่านค้นคว้าข้อมูล ในขณะเดียวกันภาษาไพธอนก็เป็นภาษาโปรแกรมที่สวยงามอ่านง่าย เหมาะแก่การเขียนเพื่อทำอะไรต่างๆมากมาย ให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกันเป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเรียนภาษาธรรมชาติ หรือภาษาโปรแกรมก็ตาม ต่างมีหลักการคล้ายๆกันคือต้องทำความเข้าใจไวยากรณ์ จำศัพท์ และต้องฝึกใช้เยอะๆเรื่อยๆให้ชำนาญ
และไม่ว่าจะเรียนภาษาไหน พอได้รู้ภาษามากขึ้นก็เป็นการเปิดโลก เปิดหูเปิดตาให้กว้างไกลมากขึ้น
โดยเฉพาะภาษาไพธอนนั้นเป็นภาษาที่ใช้อยู่อย่างกว้างขวางในทุกวงการ ไม่ได้จำเพาะแค่ด้านใดด้านหนึ่ง สามารถทำแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างที่ภาษาอื่นทำได้ ดังนั้นจึงมีประโยชน์ที่จะเรียนรู้เป็นอย่างมาก
ต่อไปจะแนะนำมอดูลที่จำเป็นสำหรับคนที่ต้องการจะศึกษาค้นคว้าต่อในด้านต่างๆ ขอใส่แต่ชื่อเอาไว้ สามารถนำไปค้นตามเว็บต่อกันได้
การคำนวณคณิตศาสตร์
- numpy
- sympy
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
- scipy
วาดกราฟแสดงข้อมูล
- matplotlib
- mayavi
วิเคราะห์ข้อมูล
- pandas
ดาราศาสตร์
- astropy
การเรียนรู้ของเครื่อง
- scikit-learn
- keras
- pytorch
สถิติ
- statmodels
ภาษาธรรมชาติ
- gensim
- pythainlp
- pykakasi
จัดการรูปภาพ
- scikit-image
- imageio
- opencv
กราฟิก
- vpython
- pyopengl
ล้วงข้อมูลจากเว็บ
- beautifulsoup
- selenium
เขียนเว็บ
- django
- flask
- responder
- fastapi
ทำฐานข้อมูล
- sqlite
- sqlalchemy
สร้างแอปพลิเคชัน
- pyqt
- pyside
- wxpython
- kivy
- tkinter
- pysimplegui
- flet
สร้างเกม
- pygame
- pyglet
และอื่นๆอีกมากมายซึ่งไม่สามารถยกมาทั้งหมดได้
นอกจากนี้ไพธอนยังเป็นภาษาที่ถูกนำไปใช้เพื่อสั่งการโปรแกรมต่างๆ เช่นโปรแกรมด้านกราฟิกอย่าง maya, houdini, blender, nuke, metasequoia, ฯลฯ
หวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่เขียนขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อย
''')
三十六
-----------------------------------------
囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧
ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ