φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



ตำบลซีโข่ว บ้านเกิดของเจียงไคเชก ผู้นำแห่งสาธารณรัฐจีน
เขียนเมื่อ 2012/03/23 11:45
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#พฤหัส 2 ก.พ. 2012

* หมายเหตุ ๑ : หน้านี้ยาวสุดๆ และอัดแน่นด้วยเนื้อหา ตั้งแต่เขียนบล็อกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมาไม่เคยเขียนยาวขนาดนี้มาก่อน
* หมายเหตุ ๒ : 
หน้านี้มีลงรูปถ่ายไว้ถึง ๑๕๙ รูป ดังนั้นจึงโหลดโหดมาก ใครคอมไม่แข็งแรงอาจเกิดปัญหาได้



หน้านี้เนื่องจากยาวมาก จะขอทำสารบัญแบ่งออกเป็นส่วนๆดังนี้

1. อารัมภบท

2. แนะนำก่อนเดินทาง
~~2.1 ประวัติบุคคลสำคัญ (เจียงไคเชก)
~~2.2 แนะนำสถานที่เที่ยวคร่าวๆ
~~2.3 การเดินทาง

3. บันทึกการเดินทาง
~~3.1 ออกเดินทาง
~~3.2 ลานโถงใหญ่แห่งสาธารณรัฐ
~~3.3 ย่านบ้านเก่าของเจียงไคเชก
~~~~3.3.1 เหวินชางเก๋อ
~~~~3.3.2 เสี่ยวหยางฝาง
~~~~3.3.3 ศาลประจำตระกูลเจี่ยง
~~~~3.3.4 เฟิงเฮ่าฝาง
~~~~3.3.5 ร้านเกลือยวี่ไท่
~~~~3.3.6 พิพิธภัณฑ์ซีโข่ว
~~3.4 สวนสุสานแม่ของเจียงไคเชก

4. สรุปความประทับใจ



1. อารัมภบท

วันนี้จะพาไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ที่นั่นเป็นบ้านเกิดของบุคคลสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ เขาคือ เจี่ยงเจี้ยสือ (蒋介石) หรือที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเขาในชื่อเจียงไคเชก

ถ้าพูดถึงเจียงไคเชกทุกคนคงพอจะเคยได้ยินชื่อ รู้จักอยู่ไม่มากก็น้อย เขาคืออดีตผู้นำของประเทศจีนอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตงแล้วต้องหนีไปอยู่เกาะไต้หวัน


แม้ว่าเขาจะเป็นคนสำคัญของไต้หวัน แต่ว่าชีวประวัติเขาในช่วงต้นๆชีวิตนั้นไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะ ไต้หวันเลย บ้านเกิดของเขานั้นอยู่ที่ตำบลซีโข่ว (溪口) ในอำเภอ เฟิ่งฮว่า (奉化) จังหวัดหนิงปัว (宁波) มณฑลเจ้อเจียง (浙江)

แม้เวลาพูดถึงเจียงไคเชกน้อยคนที่จะพูดถึงซีโข่ว แต่ก็เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญสำหรับชีวิตของเจียงไคเชกพอสมควร ไม่ใช่แค่เป็นบ้านเกิด แต่เขายังสร้างอะไรหลายอย่างไว้ที่นั่น ซึ่งทั้งหมดนั้นก็กลายมาเป็นสถานท่องเที่ยวซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาที่ เมืองนี้

ซีโข่วตอนนี้ได้จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ซึ่งเป็นระดับสูงสุด กำแพงเมืองจีนก็อยู่ในระดับนี้เหมือนกัน



2. แนะนำก่อนเดินทาง

2.1 ประวัติบุคคลสำคัญ (เจียงไคเชก)



ก่อนที่จะพาไปชมสถานที่ขอเท้าความถึงประวัติของเจียงไคเชกก่อนเพื่อจะได้เข้าในถึงสถานที่มากขึ้นเมื่อเล่าถึง

เจียงไคเชกเกิดที่ซีโข่วในวันที่ 31 ตุลาคม 1887 คนในครอบครัวของเขาส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ซีโข่ว

คนมักจะเข้าใจผิดว่าเจียงไคเชกเป็นคนกวางตุ้งเพราะชื่อ เจียงไคเชก ที่เรานิยมเรียกกันนั้นเป็นการอ่านชื่อ 蒋介石 ตามภาษาจีนกวางตุ้ง (อ่านให้ถูกต้องตามกวางตุ้งมาตรฐานคือ เจิ๋งกายเส็ก ส่วนจีนกลางอ่านว่า เจี่ยงเจี้ยสือ) ด้วยเหตุว่าก่อนหน้านั้นเขาเคยตั้งฐานบัญชาการอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง แต่ความจริงแล้วบ้านเกิดเขาอยู่ที่ซีโข่วนี้ ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับเซี่ยงไฮ้ ภาษาแม่ของเขาก็น่าจะเป็นภาษาจีนอู๋สำเนียงหนิงปัวซึ่งใกล้เคียงกับสำเนียง เซี่ยงไฮ้ ไม่เกี่ยวกับกวางตุ้งเลย

เวลาพูดถึงแซ่เขาจะต้องพูดว่าแซ่เจี่ยง (ต้องมีไม้เอก) ไม่ใช่แซ่เจียง คนแซ่เจียงในจีนมีเยอะมาก เยอะกว่าแซ่เจี่ยง แต่เจียงไคเชกนั้นแซ่เจี่ยง ไม่ใช่แซ่เจียง


ในปี 1906 ขณะอายุ ๑๙ ปี เจียงไคเชกได้ไปเรียนวิชาทหารที่ญี่ปุ่น และกลับมาในปี 1911 ตอนช่วงนั้นพอดีเป็นช่วงที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวายเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命, ซินไฮ่เก๋อมิ่ง) ขึ้นเพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง (清朝) ได้สำเร็จ สาธารณรัฐจีน (中华民国, จงหัวหมินกั๋ว) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1912 โดยมีหยวนซื่อไข่ (袁世凯) เป็นผู้นำ

แต่ภายหลังกลับเกิดความขัดแย้งกันภายในขึ้นระหว่างหยวนซื่อไข่ซึ่งปกครองรัฐบาลเป่ย์หยาง (北洋政府) กับทางคณะปฏิวัติซึ่งมีผู้นำคือซุนยัดเซน (孙中山) ซุนยัดเซนได้ลี้ภัยไปอยู่ญี่ปุ่น ในระหว่างนั้นหยวนซื่อไข่ได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในปี 1915 แต่ไม่นานก็ป่วยตายลงในปี 1916 ซุนยัดเซนจึงได้กลับประเทศ หลังจากนั้นเขาได้ก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋งขึ้น เจียงไคเชกได้เข้าร่วมด้วย

ซุนยัดเซนพยายามรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นแต่ก็ไม่สำเร็จและตายลงในปี 1925 แล้วเจียงไคเชกก็ได้เป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งเพื่อสืบทอดเจตนารมย์ของซุนยัดเซนต่อไป


หลังจากนั้นปี 1927 ก็ได้เกิดสงครามกลางเมือง (国共内战) ขึ้นระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง กับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งในตอนแรกนำโดยเฉินตู๋ซิ่ว (陈独秀) และต่อมาในปี 1943 เหมาเจ๋อตง (毛泽东) ได้กลายเป็นผู้นำพรรค

สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี 1949 พรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเชกแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตงแล้วต้องย้ายไปปกครองไต้หวันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เหมาเจ๋อตงได้ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ต่อไป ส่วนเจียงไคเชกได้ปกครองไต้หวันอย่างต่อเนื่องตลอดจนเสียชีวิตในปี 1975


ที่ไต้หวันนั้นจะยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษคนหนึ่ง เพราะเขาปกครองไต้หวันจนเจริญก้าวหน้าอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ สำหรับในจีนแผ่นดินใหญ่คนอาจไม่ได้ยกย่องเขามากขนาดนั้น แต่เขาก็เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์และไม่อาจลืมเลือนได้

ตลอดชีวิตเจียงไคเชกมีภรรยาสี่คน แต่มีลูกเพียงคนเดียวคือเจี่ยงจิงกั๋ว (蒋经国) กับลูกเลี้ยงอีกหนึ่งคนคือเจี่ยงเหว่ย์กั๋ว (蒋纬国)


ซีโข่วเป็นบ้านเกิดของเจียงไคเชก และตอนเด็กๆก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ แม้หลังจากเจียงไคเชกจะได้ดิบได้ดีแล้วย้ายไปทำงานที่อื่นแต่เขาก็กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดแห่งนี้เป็นประจำ แต่หลังจากที่เขาต้องย้ายไปอยู่ไต้หวัน เขาก็ไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดเขาอีกเลยจนตลอดชีวิต


2.2 แนะนำสถานที่เที่ยวคร่าวๆ

จุดท่องเที่ยวหลักๆในบริเวณนี้ที่ได้ไปมาและจะเอามาเขียนถึงประกอบไปด้วย เสี่ยวหยางฝาง (小洋房), เหวินชางเก๋อ (文昌阁), ศาลประจำตระกูลเจี่ยง (蒋氏宗祠), เฟิงเฮ่าฝาง (丰镐房), ร้านเกลือยวี่ไท่ (玉泰盐铺), พิพิธภัณฑ์ซีโข่ว (溪口博物馆) และสวนหลุมศพแม่ของเจียงไคเชก (蒋母陵园)

นอกจากนี้ยังมีเขาเสวี่ยโต้ว (雪窦山) ซึ่งเราไม่ได้ขึ้นไปเพราะไม่มีเวลา แม้ว่าความสวยงามของธรรมชาติบริเวณนั้นจะดูแล้วน่าดึงดูดให้อยากลองขึ้นไปก็ตาม น่าเสียดายเหมือนกัน

การจะเข้าชมแต่ละสถานที่ที่ว่ามานั้นต้องมีบัตรสำหรับผ่านประตูเข้าไปไม่งั้นก็ได้แค่มองจากด้านนอก ซึ่งค่าเข้าชมก็แพงมากถึง ๑๒๐ หยวน

นอกจากที่ว่ามานี้ก็ยังมี ลานโถงใหญ่แห่งสาธารณรัฐ (民国大杂院) ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่เราแวะเข้าไป ที่นั่นไม่ได้รวมอยู่ใน ๑๒๐ หยวนนี้ด้วย แต่ต้องจ่ายค่าเข้าชมต่างหาก ๕๐ หยวน ทำให้รวมแล้วแค่ค่าผ่านประตูก็เสียไปตั้ง ๑๗๐ แล้ว นับว่าแพงโหดมากทีเดียว

หมายเหตุ : ข้อมูลนี้เป็นของตอนที่เราไปคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2012 อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เพราะข้อมูลที่หาจากเว็บก่อนมาก็ได้ไม่ตรงกับที่ไปเจอกับตัวเหมือนกัน


2.3 การเดินทาง



จากแผนที่ ซีโข่วนั้นอยู่ใกล้กับเมืองท่องเที่ยวหลักๆอย่างเซี่ยงไฮ้ หางโจว ซูโจว แต่ปัญหาคือไม่มีรถตรงๆจากเมืองเหล่านั้นมายังซีโข่วเลย โดยทั่วไปจึงต้องนั่งรถไฟหรือรถบัสไปลงที่หนิงปัวก่อน แล้วจากหนิงปัวค่อยไปซีโข่ว ซึ่งหารถไปได้ง่าย

หรืออีกทางหนึ่งคือนั่งรถไปลงที่ตัวเมืองเฟิ่งฮว่า จากเฟิ่งฮว่าไปซีโข่วนั้นแค่ ๑๐ นาทีเพราะซีโข่วเป็นแค่ตำบลหนึ่งในอำเภอเฟิ่งฮว่า เพียงแต่เฟิ่งฮว่าเป็นแค่เมืองเล็กๆ เที่ยวรถที่มาเฟิ่งฮว่านี้มีน้อย ดังนั้นโดยทั่วไปนั่งรถจากหนิงปัวซึ่งเป็นเมืองใหญ่ก็อาจจะสะดวกกว่า จากเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้หรือหางโจวนั้นมีรถโดยตรงไปเฟิ่งฮว่า แต่จำนวนเที่ยวน้อยกว่าไปหนิงปัวมาก


เราตัดสินใจเลือกเดินทางจากหางโจวไปถึงเฟิ่งฮว่าโดยตรง ซึ่งก็ลำบากพอควร เพราะเที่ยวรถไปเฟิ่งฮว่ามีน้อย คือมีราวๆชั่วโมงละคัน ดังนั้นต้องดูตารางเวลาให้ดีและกะให้ไปถึงทัน แถมท่าขึ้นรถของหางโจวที่จะไปถึงเฟิ่งฮว่าได้นั้นคือสถานีขนส่งจิ๋วเป่า (九堡客运站) ซึ่งอยู่ไกลจากใจกลางเมืองหางโจวพอสมควร ขึ้นรถเมล์จากหอพักที่เราอยู่ต้องใช้เวลา ๑ ชั่วโมงจึงไปถึง

ส่วนการเดินทางจากจิ๋วเป่า (หางโจว) ไปยังเฟิ่งฮว่าก็ประมาณ ๑ ชั่วโมง ๔๐ นาที แล้วจากเฟิ่งฮว่าไปซีโข่วก็ต่อรถอีกราวๆ ๑๕ นาที ดังนั้นเราออกเดินทางจากหอพักตอน ๗ โมงครึ่ง แต่ไปถึงซีโข่วตอน ๑๑ โมงครึ่ง รวมแล้ว ๓ ชั่วโมง เป็นการเดินทางที่ทรหดพอดู



3. บันทึกการเดินทาง

3.1 ออกเดินทาง

เราเริ่มออกเดินทางจากหอพักราวๆเกือบ 7.30 น. เพื่อไปยังสถานีขนส่งจิ๋วเป่าเพื่อขึ้นรถที่นั่น ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ถึงสถานีจิ๋วเป่าก่อนเวลาออกรถตอน 8.30 น. แบบเฉียดฉิวพอดี (ถ้าไม่ทันรอบนี้ต้องรอรอบ 9.30 น. คือเสียเวลาฟรีอีกชั่วโมงเต็ม)

ตั๋วโดยสารรถบัสจากสถานีขนส่งจิ๋วเป่าของหางโจวไปยังเฟิ่งฮว่า ราคา ๖๒ หยวน ออกเวลา 8.30 น.




หลังจากถึงตัวเมืองเฟิ่งฮว่าเราก็รีบขึ้นรถต่อไปยังซีโข่วทันที (ไม่ได้ถ่ายรูปอะไรที่ตัวเมืองเฟิ่งฮว่าเลย) แล้วเราก็มาถึงท่ารถของซีโข่ว



จากตรงนี้ก็นั่งรถสามล้อถีบรับจ้างเพื่อไปยังสถานที่เที่ยว ซึ่งก็ดีจะได้ชมเมืองไปด้วย



เป็นเมืองเล็กๆที่ดูสงบดี




ทิวทัศน์ริมน้ำ วันนี้ท้องฟ้าสดใสเป็นพิเศษเลยได้ภาพค่อนข้างสวย







3.2 ลานโถงใหญ่แห่งสาธารณรัฐ

แล้วก็ถึงสถานที่แรกที่เราเที่ยวในวันนี้ ลานโถงใหญ่แห่งสาธารณรัฐ (民国大杂院) เป็นสถานที่เก็บรวบรวมสมบัติทางวัฒนธรรมของจีนสมัยสาธารณรัฐ (1912-1949)



ที่จริงตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะมาที่นี่เลย เราบอกเขาว่าให้ไปที่ย่านบ้านเก่าของเจียงไคเชก แต่ภาษาจีนกลางของคนที่นี่พูดกันแย่มาก สื่อสารกันรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ไหงกลายเป็นพามาที่นี่ไม่รู้ ซึ่งไม่ใช่จุดที่น่าสนใจเท่า แต่เมื่อพามาแล้วก็ช่วยไม่ได้ เลยเริ่มจากเที่ยวที่นี่ก่อน



เราเมื่อเข้่ามาถึงก็จะเจอบ่อน้ำเล็กๆด้านหน้า และข้างในเป็นโถงอาคารชั้นเดียว



รูปปั้นเจียงไคเชกขี่ม้าเด่นอยู่ด้านหน้าอาคาร




ข้างในเป็นที่จัดแสดงของเก่าอะไรต่างๆมากมาย








นักท่องเที่ยวที่ดูเหมือนจะมากับกลุ่มทัวร์ คนเยอะพอดูเหมือนกัน



ภาพซุนยัดเซน (孙中山) ผู้นำคนสำคัญของสาธารณรัฐจีน



เจี่ยงจิงกั๋ว (蒋经国) ลูกชายคนโตของเจียงไคเชก เขาเป็นผู้มีบทบาทมากคนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน



และรูปบุคคลสำคัญ และภาพเหตุการณ์สำคัญต่างๆมากมายแขวนอยู่ตามผนังและทางเดิน




เดินเข้ามาห้องด้านในก็เจอพวกอุปกรณ์เครื่องมือเก่าๆต่างๆ




นอกจากนี้ก็มีห้องที่จัดแสดงเกี่ยวกับศาสนา






ส่วนห้องด้านในนี้เต็มไปด้วยรูปปั้นพระอรหันต์






ห้องชมการแสดง




บนเวทีมีโทรทัศน์ที่เปิดอยู่ กำลังฉายภาพเหตุการณ์ในอดีตอยู่



ขายของโบราณ




ในอาคารก็หมดแคนี้ ต่อไปเราออกมาชมบริเวณด้านนอกอาคารกันบ้าง



มีสถานที่ฝึกยิ่งปืน



ทางรถราง



ขึ้นไปนั่งรถเล่นได้จริงๆนะ บังคับตรงคันโยกแล้วรถจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ



แล้วก็มีพวกอุปกรณ์แปลกๆต่างๆให้เล่นสนุกมากมาย









อะไรต่างๆในบริเวณ




รถทหาร เห็นมีสลักคำว่า USA ชัดเลย




บ่อสำหรับโยนเหรียญเพื่อความเป็นศิริมงคล ไม่ว่าจะไปเที่ยวสถานที่ไหนก็มักจะขาดสิ่งนี้ไม่ได้จริงๆ (แต่เราไม่เคยโยนสักครั้ง)



เครื่องวิดน้ำ สามารถเข้าไปวิดเล่นได้จริงๆด้วย มีทั้งใช้เท้าและที่ใช้มือ




อันนี้คือใช้เท้าวิด







ก็มีอยู่เท่านี้ กับสถานที่นี้ ใช้เวลาเดินในนั้นประมาณ ๕๐ นาที ก็เรียกว่านานอยู่ มีอะไรอยู่เยอะพอควร แต่ว่าส่วนสำคัญจริงๆคือต่อจากนี้ไป

เดินเที่ยวต่อไปภายใต้ท้องฟ้าสีครามอันสดใสซึ่งเป็นของหายากมากในช่วงที่อยู่หางโจวนี้





3.3 ย่านบ้านเก่าของเจียงไคเชก

จากนั้นเราก็นั่งรถสามล้อถีบต่อมายังย่านบ่านเก่าของเจียงไคเชก

สถานที่ซื้อตั๋วเพื่อผ่านเข้าชมสถานที่ต่างๆในย่านบ้านเก่าของเจียงไคเชก ที่จริงต่อให้ไม่มีตั๋วก็เดินเล่นในบริเวณได้ เพียงแต่จะเข้าไปชมด้านในสถานที่ต่างๆไม่ได้เท่านั้นเอง




แผนที่ในบริเวณที่เราต้องเดินไป จากตรงนี้เราต้องเดินไปตามถนนอู่หลิ่ง (武岭路)



ซุ้มประตูปากทางเข้า เรียกว่าประตูอู๋หลิ่งเหมิน (武岭门)





3.3.1 เหวินชางเก๋อ

เมื่อผ่านเข้ามาก็จะถึงจุดแรกทันที



นั่นคืออาคารเล็กๆสองชั้นที่เรียกว่าเหวินชางเก๋อ (文昌阁)




ที่นี่เดิมเป็นอาคารเก่าที่ถูกสร้างตั้งแต่ปี 1731 แต่ในปี 1924 ตอนที่เจียงไคเชกกลับมาไหว้หลุมศพ เขามาเห็นอาคารนี้เก่าเสื่อมโทรมจนทนดูไม่ได้ก็เลยจัดการสร้างใหม่

หลังจากนั้นที่นี่ก็กลายเป็นบ้านพักของเจียงไคเชกและภรรยาคนสุดท้ายของเขา ซ่งเหม่ย์หลิง (宋美龄) เวลาที่เขากลับมาเยี่ยมบ้านเกิด

เมื่อเข้ามาด้านใน สิ่งที่จะเจอก่อนเลยก็คือ ด่านตรวจบัตร ตรงนี้ถ้าไม่มีบัตรก็ผ่านเข้าไปชมด้านในไม่ได้



ข้างใน บริเวณชั้นหนึ่ง



ห้องรับแขก



ชั้นสอง ห้องนอน



ห้องนั่งเล่น



ทิวทัศน์ริมน้ำที่มองจากหน้าต่างชั้นสอง




ออกมาด้านนอกอาคารตรงฝั่งริมน้ำ




ทิวทัศน์ริมน้ำของที่นี่สวยมากจริงๆ






3.3.2 เสี่ยวหยางฝาง

ข้างๆเหวินชางเก๋อเป็นอาคารเล็กๆสองชั้นอีกหลังชื่อว่า เสี่ยวหยางฝาง (小洋房)



เป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1930 ตามประวัติแล้วลูกชายคนโตของเจียงไคเชก คือเจี่ยงจิงกั๋ว (蒋经国) ได้กลับมาจากเรียนต่อที่สหภาพโซเวียตในปี 1937 ที่นี่ได้ถูกจัดให้กลายเป็นห้องเรียนสำหรับทบทวนวิชาภาษาจีนของเขา

คำว่าเสี่ยงหยางฝางนั้นมาจากคำว่าเสี่ยว (小) แปลว่าเล็ก เนื่องจากอาคารนี้เป็นแค่หลังเล็กๆ และคำว่า หยาง (洋) นั้นเนื่องจากสร้างด้วยซีเมนต์ ซึ่งภาษาจีนเรียกว่าหยางฮุย (洋灰) ส่วน ฝาง (房) แปลว่าบ้าน รวมแล้วก็อาจแปลได้ว่าบ้านคอนกรีตหลังเล็ก

ภาพในตัวอาคาร







บนดาดฟ้าของอาคาร



หลังจากออกมาจากบริเวณอาคารแล้วเราก็ได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศริมน้ำแถวนั้นต่อสักพัก ทิวทัศน์ริมน้ำไม่ว่ามองจากตรงไหนก็สวย






3.3.3 ศาลประจำตระกูลเจี่ยง

เดินต่อไปก็จะเจอศาลประจำตระกูลเจี่ยง (蒋氏宗祠, เจี่ยงซื่อจงฉือ)



ศาลเจ้าแห่งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน มีส่วนเก่าซึ่งถูกสร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงนานแล้ว และส่วนใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1930 โดยเจียงไคเชก และได้ทำให้กลายเป็นศาลประจำตระกูลของเขา

ภาพภายใน บริเวณไม่ได้ใหญ่มากเดินแค่ประมาณ ๕ นาทีก็ออกมาแล้ว








3.3.4 เฟิงเฮ่าฝาง

ถัดมาข้างๆเลยจะเจอกับสถานที่สำคัญต่อไป นั่นคือเฟิงเฮ่าฝาง (丰镐房)



ที่นี่เป็นบ้านหลังหนึ่งของครอบครัวเจียงไคเชก เขาเคยอาศัยอยู่ที่นี่หลังจากที่พ่อของเขา เจี่ยงซู่อาน (蒋肃庵) ตายลงเมื่อปี 1895 ขณะที่เจียงไคเชกอายุแค่ ๔ ปี

ที่นี่ยังเป็นสถานที่ตายของเหมาฝูเหมย์ (毛福梅) อดีตภรรยาคนแรกของเจียงไคเชก และเป็นแม่ของเจี่ยงจิงกั๋ว ทั้งสองคนหย่ากันในปี 1927 แต่เหมาฝูเหมย์ก็ยังคงอยู่ในบ้านนั้นมาตลอด

จนกระทั่งปี 1939 สงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้มาทิ้งระเบิดที่ซีโข่ว เหมาฝูเหมย์พยายามหลบระเบิด แต่ระเบิดนั้นได้ไปโดนบ้านข้างๆเข้า และผนังบ้านได้ล้มลงมาทับเธอตาย

ภาพภายในบริเวณบ้าน










3.3.5 ร้านเกลือยวี่ไท่

จากนั้นเดินไปอีกสักพัก สถานที่ต่อไปก็คือร้านเกลือยวี่ไท่ (玉泰盐铺, ยวี่ไท่หยานพู)



ที่นี่เป็นบ้านที่เจียงไคเชกเกิดมา ที่นี่คือร้านขายเกลือซึ่งก่อตั้งโดยปู่ของเขาในปี 1871 เขาอาศัยอยู่บ้านนี้จนปี 1895 เมื่อพ่อตายก็ย้ายไปอยู่ที่เฟิงเฮ่าฝางซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน







3.3.6 พิพิธภัณฑ์ซีโข่ว

ต่อไปคือพิพิธภัณฑ์ซีโข่ว (溪口博物馆, ซีโข่วปั๋วอู้กว่าน)



เป็นสถานที่ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเจียงไคเชกเลย แต่ก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของย่านบ้านเก่าของเจียงไคเชกด้วย เวลาเข้าก็ต้องใช้บัตรเดียวกันนี้

ที่นี่ถูกสร้างในปี 1988 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งต่างๆของซีโข่วและแถบตะวันออกของมณฑลเจ้อเจียง และก็จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของเจียงไคเชกด้วย

ข้างใน





ห้องนี้จัดแสดงเกี่ยวกับธรรมชาติของที่นี่




แบบจำลองเขาเสวี่ยโต้ว (雪窦山) ยิ่งเห็นยิ่งรู้สึกว่าอยากไปที่นั่นด้วยจริงๆ แต่ยังไงก็ไม่มีเวลาไป



ส่วนตรงนี้จัดแสดงเรื่องราวของเจียงไคเชก






มีหุ่นจำลองให้เห็นภาพด้วย





ส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของที่นี่













เมื่อชมพิพิธภัณฑ์เสร็จเราก็ออกมาชมทิวทัศน์ในบริเวณแถวนั้นต่อก่อนจะไปยังจุดต่อไป



ข้างทางตลอดถนนสายนี้เต็มไปด้วยร้านค้าอย่างคับคั่งทีเดียว




โดยอีกด้านเป็นแม่น้ำสวยงาม





หนทางด้านหน้าถ้าเดินต่อไปจะไกลมากทีเดียว เดินไปสักพักมีคนขับรถสามล้อถีบมาบอกว่ามันไกลนะให้นั่งรถเขาดีกว่า เขาคิดเรา ๑๐ หยวน แต่เราพยายามต่อจนเหลือ ๘ หยวน ก็พอไหวอยู่

ภาพที่ถ่ายขณะกำลังนั่งรถสามล้อถีบของเขา ถูกของเขาที่ว่าระยะทางไกลใช่เล่น ถ้าเดินไปคงเสียเวลาพอดู





ถึงที่หมายสุดท้ายแล้ว แต่ก่อนอื่นเห็นคนขายมันเผาและเกาลัด เรากำลังหิวก็เลยซื้อมานั่งกินเล่น แต่ไม่ค่อยอร่อยเลย





3.4 สวนหลุมศพแม่ของเจียงไคเชก

เป้าหมายสุดท้ายก็คือสวนหลุมศพแม่ของเจียงไคเชก (蒋母陵园, เจี๋ยงหมู่หลิงหยวน)



เป็นสถานที่ที่เจียงไคเชกสร้างหลุมศพให้แม่ของเขา หวางไฉ่ยวี่ (王采玉) ซึ่งตายในปี 1922 แต่ที่นี่ถูกสร้างในปี 1923

แผนที่ในบริเวณ



ทางเดินยาวที่มุ่งไปยังบริเวณหลุมศพ ยาวทั้งหมด ๖๖๘ เมตร



แต่สิ่งหนึ่งที่ขวางทางเดินนั้นอยู่ก็คือด่านตรวจบัตร การเข้าที่นี่สามารถแยกซื้อบัตรต่างหากได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อตั๋วรวมสำหรับเที่ยวในย่านบ้านเก่าของเจียงไคเชก แต่เรามีบัตรนี้อยู่ก็เข้าได้เลยสบาย



ผ่านเข้ามาก็ยังเป็นทางเดินยาวต่อไป



ระหว่างทางเจอศาลาที่เรียกว่าศาลาเซี่ยวจื่อ (孝子亭) หรือแปลว่าศาลาลูกกตัญญู เจียงไคเชกสร้างให้แม่เพื่อแสดงถึงความกตัญญู



แล้วระหว่างทางก็ยังผ่านอาคารที่เรียกว่าฉืออาน (慈庵) เป็นบ้านที่เจียงไคเชกและภรรยามักมาพักเมื่อกลับมาบ้านเกิด









แล้วก็เดินต่อไปอีกหน่อย ระหว่างนี้เริ่มเห็นพวกนักท่องเที่ยวที่มากับคณะทัวร์



แล้วก็มาถึงบริเวณหน้าหลุมศพแล้ว



สักพักคณะทัวร์ก็มากรูกันหน้าหลุมศพ โชคดีที่เรารีบถ่ายทันก่อนเขาจะเข้ามา ตรงนี้มีไกด์บรรยายเราก็ถือโอกาสแอบฟังข้อมูลไปด้วย



หลังจากเห็นตัวหลุมศพแล้วก็ยังไม่จบ ยังมีทางให้เดินต่อไป



ตรงนี้เป็นส่วนที่เรียกว่า โลกผี้เสื้อ (蝴蝶世界)



ข้างในไม่มีอะไรมากแค่เป็นที่จัดแสดงผีเสื้อชนิดต่างๆมากมาย



เมื่อผ่านตรงนี้ก็จะเข้าสู่บริเวณหุบเขานกกาเหว่า (杜鹃谷, ตู้เจวียนกู่) เป็นสวนสาธารณะเล็กๆบนเนินเขา แต่บริเวณแค่เล็กๆไม่ค่อยกว้างเท่าไหร่



ภาพในบริเวณหุบเขานกกาเหว่า







สุดท้ายเราก็ลงมาโหล่บริเวณท่าขึ้นรถสำหรับพาขึ้นเขาเสวี่ยโต้ว เวลาขณะนั้นบ่าย ๓ โมงครึ่งแล้ว แน่นอนว่าเราไม่มีเวลาจะไปปีนเขาต่อ แถมต้องรีบกลับไปที่ท่าขึ้นรถแล้วด้วย



ทางขึ้นเขาเสวี่ยโต้วก็อยู่ตรงหน้านี้แล้วแต่ไม่ได้ขึ้น ว่าไปแล้วก็น่าเสียดาย



หลังจากนั้นเราก็รีบหารถเพื่อกลับไปที่ท่ารถ เป็นอันจบการเดินทางเที่ยวในซีโข่วลง



4. สรุปความประทับใจ


แล้วการเที่ยวที่ซีโข่วก็จบลงเท่านี้ ที่จริงเที่ยวนี้ต้องเรียกว่าได้อะไรมาเยอะทีเดียว ประสบการณ์ต่างๆได้มาเยอะ ได้เห็นอะไรต่างๆมากมาย สถานที่ก็น่าเที่ยว ไม่ใช่แค่เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ธรรมชาติก็สวยงามด้วย ยิ่งถ้ามาแล้วได้ปีนเขาเสวี่ยโต้วด้วยต้องยิ่งสวยแน่นอน

แต่ติดอยู่ที่ว่าการเดินทางนั้นลำบากพอดู เพราะขนาดเดินทางจากหางโจวยังต้องใช้เวลาตั้งสองชั่วโมง ถ้าเดินทางมาจากเซี่ยงไฮ้จะยิ่งกินเวลามากกว่าเพราะห่างกว่า

ดังนั้นสำหรับคนที่มาเที่ยวหางโจวหรือเซี่ยงไฮ้แบบระยะสั้นๆที่นี่อาจไม่ถึงกับเป็นสถานที่แนะนำนัก แต่สำหรับคนที่จะมาเที่ยวหนิงปัวแล้วที่นี่เป็นที่ที่พลาดไม่ได้ทีเดียว

หนิงปัวไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก สถานที่เที่ยวหลักๆของหนิงปัวนี้ที่จริงก็คือซีโข่วนี้เอง แต่ที่จริงสถานที่เที่ยวในตัวเมืองหนิงปัวเองก็มีอีกเยอะแม้อาจไม่มีชื่อเสียงมากมาย เพียงแต่เราไม่มีโอกาสได้ไปเพราะตั้งใจมาเที่ยวแค่วันเดียวกลับ แค่เที่ยวในซีโข่วก็กินเวลาเกือบทั้งวันแล้ว

เรื่องค่าผ่านประตูก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ที่นี่อาจไม่น่ามานัก เพราะแพงถึง ๑๒๐ หยวน สถานที่นี้เก็บค่าเข้าแพงกว่าที่ใดๆที่เคยเที่ยวมาทั้งหมด ทำให้วันนั้นเป็นวันที่เราผลาญเงินมากเป็นอันดับ ๒
ในช่วงที่อยู่หางโจว (อันดับ ๑ คือวันที่ซื้อกล้องใหม่ https://phyblas.hinaboshi.com/20120201)

แต่ถึงอย่างนั้นหากไม่ห่วงเรื่องความลำบากในการเดินทางและไม่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายแล้วละก็ ที่นี่ก็เป็นสถานที่หนึ่งที่อยากแนะนำให้ใครๆมาเที่ยวกัน


...

ขอจบการเล่าเรื่องซีโข่วแต่เพียงเท่านี้ หน้านี้เขียนยาวเป็นพิเศษ ที่จริงแล้วอยากตัดแบ่งเป็นสองหรือสามตอน แต่ไม่รู้จะแบ่งจากตรงไหนกลัวมันจะไม่ต่อเนื่องก็เลยตัดสินใจลงรวดเดียวเลย ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านทุกคนที่อุตส่าห์อ่านมาตั้งแต่ต้นจนจบ



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> เจ้อเจียง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ