φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



พิพิธภัณฑ์ศุลกากรจีน
เขียนเมื่อ 2015/05/31 21:41
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#ศุกร์ 1 พ.ค. 2015

วันที่ 1 พ.ค. เป็นวัดหยุดของจีนวันหนึ่ง นั่นคือวันแรงงาน (劳动节, เหลาต้งเจี๋ย) หรือนิยมเรียกกันว่าอู่อี (五一)

วันหยุดแบบนี้ก็ย่อมเป็นวันที่ผู้คนต่างถือโอกาสไปเที่ยวข้างนอกกัน เราเองก็ได้ออกไปเที่ยวมาเช่นกัน แต่ถ้าหากไปเที่ยวที่ที่คนไปเยอะในวันแบบนี้คนย่อมจะแน่น ดังนั้นจึงคิดว่าควรไปเที่ยวในสถานที่ซึ่งคนน่าจะไปน้อย จึงตัดสินใจไปเข้าชมพิพิธภัณฑ์ศุลกากรจีน (中国海关博物馆, จงกั๋วไห่กวานปั๋วอู้กว่าน)

พิพิธภัณฑ์ศุลกากรจีน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศุลกากรของจีนและเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพิ่งเปิดใหม่เมื่อเดือน 30 มี.ค. 2014 ที่ผ่านมา ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักจึงไม่ค่อยจะมีใครมาเข้าชมมากนัก การเข้าชมที่นี่สามารถเข้าได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ว่าต้องเตรียมบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตไปด้วย

ที่นี่ตั้งอยู่ข้างรถไฟฟ้า
สถานีเจี้ยนกั๋วเหมิน (建国门站) ใกล้กับหอสังเกตการณ์โบราณปักกิ่ง (北京古观象台) การมาจึงเดินทางได้ง่ายๆคือนั่งรถไฟฟ้าสาย 2 มาลงแล้วถึงทันที

จีนเริ่มติดต่อทำการค้ากับต่างแดนมาตั้งแต่สมัยอดีตแล้ว ศุลกากรจึงมีความสำคัญเพื่อที่จะควบคุมการติดต่อกับต่างแดน มีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับต่างประเทศของจีน จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจน่าลองศึกษาข้อมูลดูสักหน่อย เราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์จีนส่วนหนึ่งได้จากที่นี่



วันที่ไปนี้อากาศไม่ค่อยดี เมฆครึ้มฟ้ามืดทัศนวิสัยไม่ค่อยดีตลอด น่าเสียดายแทนคนที่อุตส่าห์ออกมาเที่ยวในวันหยุด แต่สำหรับการเที่ยวสถานที่ในร่มอย่างพิพิธภัณฑ์อากาศจะเป็นยังไงก็ไม่สำคัญ

พอนั่งรถไฟฟ้ามาลงสถานีเจี้ยนกั๋วเหมินแล้วออกจากสถานีเดินมาทางตะวันตกผ่านหอสังเกตการณ์โบราณปักกิ่งก็มาถึง



ทางเข้า ต้องไปยื่นบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตเพื่อรับบัตร ปกติแล้วพิพิธภัณฑ์ที่เข้าได้ฟรีจะต้องแสดงหลักฐานแบบนี้ไม่งั้นก็จะเข้าไม่ได้ ดังนั้นควรจะพกพาสปอร์ตไปด้วยตลอดเวลา



สถานที่แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือชั้น ๑ ชั้น ๒ และชั้นใต้ดิน การชมนั้นต้องเริ่มชมจากชั้น ๒ ก่อน ซึ่งจะอธิบายประวัติศาสตร์สมัยโบราณ ส่วนชั้น ๑ จะเป็นเรื่องของสมัยปัจจุบัน และชั้นใต้ดินจะแสดงเกี่ยวกับผลงานของศุลกากรจีน



เมื่อขึ้นมาถึงชั้น ๒ ในส่วนแรกสุดจะอธิบายถึงประวัติศาสตร์ในช่วงยุคแรกสุด



ตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจว ( 周朝, 1046 - 256 ปีก่อน ค.ศ.) ก็เริ่มมีระบบศุลกากรที่เรียกว่ากวานจิน (关津) ต่อมาพอถึงในยุคราชวงศ์ถังนั้นระบบศุลกากรจีนเรียกว่าซื่อปั๋วซือ (市舶司) หรือซื่อปั๋วสื่อ (市舶使) ระบบนี้ใช้ไปตลอดตั้งแต่ราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907) ไปจนถึงราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1386 - 1644)



ตอนช่วงที่เริ่มเข้าสู่ยุคราชวงศ์หมิงนั้นเนื่องจากมีกองโจรสลัดญี่ปุ่นที่เรียกว่าวอโค่ว (倭寇, ในภาษาญี่ปุ่นเรียก วาโกว (わこう)) ออกอาละวาดอยู่ในทะเลจีนตะวันออก ทางราชวงศ์หมิงกลัวว่าจะมีพวกกบฏทำการค้าอาวุธกับพวกนี้แล้วมาใช้ต่อสู้กับรัฐบาล ดังนั้นในปี 1370 จึงได้สั่งยกเลิกซื่อปั๋วซือ และปี 1371 สั่งปิดด่านทางทะเลทั้งหมด จีนเข้าสู่ช่วงยุคแห่งการปิดประเทศ

ต่อมาในปี 1567 สมัยจักรพรรดิหลงชิ่ง (隆庆, ปี 1567 - 1572) ได้มีการเปิดด่านเยวี่ยก่าง (月港) ในเมืองจางโจว (漳州) มณฑลฝูเจี้ยนให้เปิดทำการค้าได้ แต่ก็จำกัดให้แค่พ่อค้าในถิ่นนั้น และห้ามค้าขายกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามก็นับว่าเป็นการเปิดประเทศอีกครั้ง ทำให้การค้าเริ่มกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่าการเปิดด่านในสมัยหลงชิ่ง (隆庆开关, หลงชิ่งไคกวาน)

เดินข้ามด่านเข้ามาตรงส่วนต่อไปจะอธิบายถึงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงยุคราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1644 - 1912)



ส่วนจัดแสดงตรงนี้ตั้งอยู่บนเวทีที่ทำเป็นลักษณะเหมือนเรือและยังมีภาพวาดบนฝาผนังสวยๆด้วย



ตั้งแต่เริ่มต้นยุคราชวงศ์ชิงในปี 1644 นั้นจีนปิดประเทศมาโดยตลอด จนในปี 1684 สมัยจักรพรรดิคางซี (康熙, ปี 1662 - 1722) หลังจากที่ได้รวมเกาะไต้หวันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีนแล้ว ก็ได้มีการเปิดด่านการค้าทั้งหมด ๔ ด่านให้ทำการค้าขายกับต่างชาติ เรียกว่าไห่กวาน (海关) ซึ่งคำว่าไห่กวานนี้ได้กลายมาเป็นคำที่ใช้ในความหมายว่าศุลกากรในภาษาจีนซึ่งใช้โดยทั่วไปมาถึงปัจจุบัน ไห่กวานแปลตรงตัวว่าด่านทะเล



ด่านทั้ง ๔ แห่งนั้นได้แก่เมืองกว่างโจว (广州), ฝูโจว (福州), เซึ่ยงไฮ้ (上海) และหนิงปัว (宁波)

พอมาถึงปี 1757 ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆, ปี 1736 - 1795) ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้การค้ากับชาติตะวันตกเปิดเพียงแค่ด่านเดียวคือที่กว่างโจว เรียกระบบนี้ว่าอี้โข่วทงซาง (一口通商) แปลว่าการค้าด้วยช่องทางเดียว

แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังมีนักล่าอาณานิคมบางส่วนทำการค้าขายอยู่โดยเฉพาะที่มณฑลฝูเจี้ยน ชาวสเปนซึ่งตอนนั้นยึดฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมอยู่ได้เข้ามาทำการค้าด้วย นี่เป็นเหรียญเงินของสเปนที่ใช้ในช่วงนั้น



แบบจำลองที่เห็นอยู่ตรงกลางห้องนี้คือจำลองย่านการค้าที่เปิดในกว่างโจวเพื่อทำการค้ากับชาติยุโรป ๑๓ ประเทศ เนื่องจากเปิดให้ทำการค้าได้ที่เดียว เรือจากต่างชาติก็ต้องมาชุมนุมกันอยู่ที่นี่ ย่านการค้าตรงนี้ถูกเรียกว่าสือซานหาง (十三行) จะเห็นว่ามีธงของประเทศหลักๆที่เข้ามาทำการค้าคือสวีเดน, ฮอลันดา, สหรัฐอเมริกา, สเปน, เดนมาร์ก และอังกฤษ



พอมาถึงปี 1839 - 1842 ได้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง (第一次鸦片战争) ขึ้นระหว่างจีนกับอังกฤษ เนื่องจากสมัยนั้นอังกฤษขายฝิ่งให้กับจีนจนทำให้มีคนติดฝิ่นกันมาก รัฐบาลจีนพยายามจะหาทางแก้ด้วยการยกเลิกการค้าฝิ่นกับอังกฤษ แต่อังกฤษไม่พอใจจึงเป็นชนวนของสงคราม ผลคือจีนพ่ายแพ้ย่อยยับและต้องทำสนธิสัญญาหนานจิง (南京条约) ในปี 1842 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

เนื้อหาของสนธิสัญญานี้คือจีนต้องชดใช้ค่าเสียหายจากสงคราม อีกทั้งมอบเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ นอกจากนี้ยังต้องเปิดให้เมืองกว่างโจว, เซี่ยเหมิน, ฝูโจว, หนิงปัว และเซี่ยงไฮ้ ๕ เมืองนี้เป็นเขตการค้าที่ให้อังกฤษสามารถทำการค้าได้อย่างเสรี อีกทั้งทางอังกฤษจะต้องมีอำนาจในการกำหนดภาษีนำเข้าส่งออกด้วย การค้าผ่าน ๕ เมืองนี้เรียกว่าอู๋โข่วทงซาง (五口通商)

นอกจากนี้ในปี 1844 สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสก็มาขอทำสนธิสัญญาคล้ายๆกับของอังกฤษ ทำให้มีสิทธิ์ในการค้าขายโดย ๕ ช่องทางนี้เช่นเดียวกัน นั่นทำให้ระบบศุลกากรจีนต่อจากนี้ไปถูกควบคุมโดยชาติตะวันตก จีนสูญเสียอำนาจในการควบคุมการค้าด้วยตัวเองไปแล้ว

แต่เรื่องร้ายๆก็ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เมื่อเวลาผ่านไปทางฝั่งอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เริ่มรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้ผลประโยชน์มากพอจากสนธิสัญญานี้ อยากจะขอแก้สัญญาเพิ่มเติมอีก จึงได้เสนอขอกับทางจีน แต่ทางจีนไม่ยอม สงครามจึงปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 1856 กลายเป็นสงครามฝิ่นครั้งที่สอง (第二次鸦片战争) ซึ่งครั้งนี้อังกฤษกับฝรั่งเศสรวมพลังกันตีจีน

กล้องส่องทางไกลที่ใช้โดยฝรั่งเศสในตอนที่มาบุกจีน



ในปี 1858 หลังแพ้สงครามที่ป้อมปืนใหญ่ต้ากู (大沽口炮台) เมืองเทียนจิน ทำให้จีนต้องยอมทำสัญญาใหม่ชื่อสนธิสัญญาเทียนจิน (天津条约)


ผลของสนธิสัญญานี้ทำให้จีนต้องยอมเปิดท่าเรือสำหรับทำการค้าเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง ซึ่งไม่เพียงแต่เมืองริมทะเลเท่านั้นยังรวมถึงเมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินด้วย

นี่เป็นภาพวาดสีน้ำมันของอาคารศุลกากรในเมืองต่างๆที่เปิดในช่วงยุคนั้น จะเห็นว่าสร้างเป็นอาคารแบบตะวันตก



หนึ่งในบรรดาเมืองที่ถูกกำหนดให้ตั้งด่านสำหรับทำการค้าก็คือเมืองแต้จิ๋ว (潮州, เฉาโจว) แต่ต่อมาก็พบว่ามีการต่อต้านจากชาวเมืองอย่างหนักจึงต้องเปลี่ยนมาตั้งที่เมืองซัวเถา (汕头, ซ่านโถว) ซึ่งขณะนั้นเป็นแค่เมืองเล็กๆริมฝั่งทะเล ด่านที่นี่ถูกเรียกว่าด่านเฉาไห่กวาน (潮海关) ถูกเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1860


นี่คือแผ่นป้ายหินของด่านเฉาไห่กวานแห่งเก่าที่สร้างขึ้นในปี 1860 ก่อนที่จะถูกย้ายไปยังที่ใหม่ในปี 1921




ภาพวาดสีน้ำมันของสำนักงานศุลกากรแห่งใหม่ของซัวเถาซึ่งตั้งแต่ปี 1921 แทนที่เก่า อาคารนี้ปัจจุบันกลายมาเป็นหอจัดแสดงประวัติศาสตร์ศุลกากรซัวเถา (汕头海关关史陈列馆)



หลังจากที่ได้ตั้งเป็นสถานีการค้า และเนื่องจากความได้เปรียบของตำแหน่ง นั่นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เมืองซัวเถาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าเมืองแต้จิ๋ว กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในซึกตะวันออกของมณฑลกวางตุ้งไปจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการเปิดด่านครั้งนี้ก็เรียกได้ว่ามีความสำคัญมากสำหรับซัวเถา

ตราประทับที่ถูกใช้ในด่านเฉาไห่กวานที่ซัวเถา



หลังจากสนธิสัญญาเทียนจินไปแล้วสงครามฝิ่นก็ยังไม่ได้จบลง ปี 1859 จีนพยายามเรียกร้องให้แก้สัญญา แต่ทางอังกฤษและฝรั่งเศสไม่ยอมสงครามจึงเปิดฉากขึ้นต่อ ผลจบลงโดยที่ปี 1860 ทัพอังกฤษฝรั่งเศสบุกเข้าถึงปักกิ่งและบังคับให้ทำสนธิสัญญาปักกิ่ง (北京条约) เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งสัญญานี้ทำให้ต้องเปิดเมืองเทียนจินเป็นสถานีการค้าเพิ่มขึ้นอีกเมือง และยังต้องมอบดินแดนเกาลูนซึ่งอยู่ติดกับเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษ

ภาพบนเป็นการทำสนธิสัญญาเทียนจินปี 1858 ส่วนภาพซ้ายล่างเป็นสนธิสัญญาปักกิ่งปี 1860



ด่านที่เปิดขึ้นที่เทียนจินนี้ใช้ชื่อเรียกว่าจินไห่กวาน (津海关) นี่คือป้ายที่เคยใช้ติดบนอาคารของจินไห่กวาน เขียนว่าจินไห่ซินกวาน (津海新关) โดยมีคำว่าซิน (新) ที่แปลว่าใหม่แทรกเข้ามาด้วย มีลงชื่อหลี่หงจาง (李鸿章) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นอุปราชมณฑลจื๋อลี่อยู่ในขณะนั้น



หลังจากที่จีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่นและสูญเสียอำนาจในศุลกากรให้ชาติตะวันตกไปแล้วก็ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในศุลกากรนั้นจำนวนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ


มุมนี้มีหุ่นจำลองและสถานที่จำลองขนาดเท่าของจริงที่แสดงถึงห้องสำแดงสินค้าของศุลกากรจีนในช่วงปลายราชวงศ์ชิง



นี่คือเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติแต่ละคนที่มีบทบาทเด่นๆ



มุมนี้จำลองห้องทำงานของสำนักงานภาษีผ่านด่าน



ตั้งแต่ปี 1842 การพ่ายแพ้สงครามจนต้องเปิดประเทศนั้นทำให้จีนเสียหายไปหลายอย่าง แต่มันก็นำจีนเข้าสู่ยุคใหม่ เปิดโอกาสสู่อะไรมากมาย ตั้งแต่ปี 1861 จีนได้เริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆจากชาติตะวันตกเพื่อจะนำมาพัฒนาชาติตัวเอง


อนึ่ง ช่วงนั้นไทยกำลังอยู่ในยุครัชกาลที่ ๔ (ปี 1851 - 1868) ก็เป็นช่วงที่เพิ่งเปิดประเทศเช่นกันหลังจากที่ลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษไปในปี 1855 เนื้อหาใกล้เคียงกับสนธิสัญญาหนานจิง ส่วนญี่ปุ่นก็โดนบังคับให้เปิดประเทศในปี 1854 ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

เอกสารสัญญาที่ด่านเฉาไห่กวานที่ซัวเถา และด่านที่เซี่ยงไฮ้



นี่เป็นกล่องใส่อุปกรณ์ที่ใช้ที่ด่านหมินไห่กวาน (闽海关) ที่เมืองฝูโจวสมัยปลายยุคราชวงศ์ชิง



การตรวจค้นของตามด่านในยุคนั้น



กระเป๋าถุงใส่พัสดุที่ขนส่งจากสำนักงานภาษีศุลกากรที่เซี่ยงไฮ้ไปยังปักกิ่งในสมัยปลายยุคราชวงศ์ชิง คนส่งเป็นเจ้าหน้าต่างชาติที่ประจำการอยู่



ตั้งแต่เริ่มเปิดด่านค้ากับชาติตะวันตก ก็ได้เริ่มมีการพัฒนาระบบไปรษณีย์แบบปัจจุบันขึ้นมา ไปรษณีย์ต้าชิง (大清邮政, ต้าชิงโหยวเจิ้ง) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาในช่วงนั้น เป็นระบบไปรษณีย์สมัยใหม่

นี่คือแสตมป์ว่านโซ่ว (万寿票) สร้างขึ้นในปี 1894 เป็นที่ระลึกแซยิกอายุครบ ๖๐ ปีของซูสีไทเฮา



นี่คือแผนที่ไปรษณีย์ในปี 1907



ประภาคารตามด่านทางทะเลก็เป็นสิ่งสำคัญ ภาพกลางเป็นเรือประภาคารที่เทียนจิน ภาพซ้ายเป็นประภาคารที่ไต้หวัน ภาพขวาเป็นประภาคารที่มณฑลซานตง



ตำแหน่งประภาคารที่กระจายตัวอยู่ในจีนปี 1933



ภาพของอาคารศุลกากรแห่งต่างๆในอดีต



หมดในส่วนของชั้น ๒ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยก่อนปี 1949 ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่ได้กล่าวถึง เนื้อหาเยอะมากไม่อาจเขียนถึงได้หมด ได้แต่หยิบมาบางส่วน



จากนั้นลงบันไดเลื่อนเพื่อไปชมชั้น ๑ ซึ่งจะพูดถึงเรื่องของศุลกากรในยุคปัจจุบัน ชั้นนี้ใหญ่พอๆกับชั้น ๒ เนื้อหาก็มีมาก แต่จะไม่ขอเล่าถึงอย่างละเอียดเท่าชั้น ๒ เนื่องจากคิดว่าเนื้อหาไม่ได้น่าสนใจเท่า ของส่วนใหญ่ที่จัดแสดงเป็นของในยุคใกล้ปัจจุบัน ไม่มีพวกของเก่าๆให้ดู



ยุคสมัยใหม่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1949 ซึ่งได้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนประเทศจีนเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์



ตรงส่วนนี้เล่าประวัติศาสตร์ของศุลกากรตั้งแต่ปี 1949



ตรงนี้พูดถึงการตรวจสอบและยึดของลักลอบนำเข้า



ซากฟอสซิลต่างๆที่ลักลอบนำเข้าและยึดมาได้



ฟอสซิลเต่ากานซู่ (甘肃陆龟) ยึดได้จากด่านที่เมืองเทียนจิน



ฟอสซิลกะโหลกเสือเขี้ยวดาบ (剑齿虎) ยึดได้ที่ด่านที่เมืองหางโจว



ฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ (恐龙蛋) ยึดได้ที่ด่านที่เมืองฝูโจว



แล้วก็พวกอาวุธและยาเสพติดที่ลักลอบนำเข้า



งานศิลปะที่ทำจากงาช้าง ยึดได้จากด่านที่เมืองเจิ้งโจว




หนังหมี ยึดจากด่านที่เมืองปักกิ่ง



วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใช้ในศุลกากร



ฉากจำลองด่านในเขตภูเขาสูงในเขตปกครองตัวเองซินเจียงซึ่งหนาวเย็นอุณหภูมิติดลบ



เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ศุลกากรในอดีต ตั้งแต่ปี 1950 ทางซ้ายสุด ไล่มาทางขวาเรียงตามยุค



เครื่องแบบในปัจจุบัน



จีนได้เข้าร่วมองค์กรศุลกากรโลก (WCO) เนื่องจากติดต่อกับประเทศต่างๆมากมายทั่วโลกทำให้ศุลกากรจีนมีบทบาทมาก





หมดแค่นี้สำหรับส่วนจัดแสดงของชั้น ๑ ต่อจากนี้ก็ลงไปชั้นใต้ดิน



ตรงนี้จัดแสดงผลงานของศุลกากรจีนที่ผ่านมา ขอไม่พูดถึงอะไรมากเพราะเล็กนิดเดียวและแค่มาดูแบบผ่านๆเนื่องจากตอนที่ดูมาจนถึงตรงนี้รู้สึกเหนื่อยมากแล้ว





ด้านในสุดมีเนื้อเพลงของเจ้าหน้าที่ศุลกากรอยู่ด้วย





ภายในอาคารหลักก็มีอยู่เท่านี้ แต่ยังไม่จบแค่นี้เพราะนอกจากส่วนนี้แล้วก็ยังมีส่วนจัดแสดงเล็กๆตั้งอยู่ในอาคารข้างๆ ส่วนจัดแสดงอีกส่วนนั้นจัดแสดงเรือ ไห่กวาน 902 (海关902)



เดินออกจากอาคารหลักเพื่อไปยังอีกอาคารที่อยู่ข้างๆใกล้ๆกัน เข้าไปแล้ว



เรือไห่กวาน 902 ยาว ๕๘.๕ เมตร สูง ๑๓ เมตร กว้าง ๗.๘ เมตร หนัก ๔๐๐ ตัน เป็นเรือศุลกากรที่ถูกใช้ในพื้นที่มณฑลกวางตุ้ง เรือลำนี้เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 1989 และปลดประจำการในปี 2009 หลังใช้งานมานาน ๒๐ ปี หลังจากนั้นจึงถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้


เมื่อปี 1992 ที่เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีนซึ่งตอนนั้นได้ออกจากตำแหน่งไปแล้ว ได้ออกตระเวนภาคใต้ก็ได้นั่งเรือลำนี้ด้วย



ขึ้นไปเดินดูได้



หัวเรือ



ภายในเรือเข้าไปไม่ได้แต่ว่ามองจากนอกหน้าต่างได้ ข้างในเปิดไฟไว้อยู่



เดินไปตามระเบียงทางเดินด้านข้าง



มองเข้าไปก็เห็นห้องนอน



และห้องนั่งเล่น



ท้ายเรือ



ข้างบนขึ้นไม่ได้



หมดแล้ว มีอยู่แค่นี้เท่านั้น



รวมทั้งหมดแล้วก็ใช้เวลาเดินชมในนี้ไป ๒ ชั่วโมงกว่า เมื่อออกมาอากาศก็ยังคงฟ้าครึ้มอยู่ เดินกลับไปยังสถานีเจี้ยนกั๋วเหมินเพื่อนั่งรถไฟฟ้ากลับ



การมาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นมากมาย จีนให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและมีพิพิธภัณฑ์แบบนี้อยู่อีกเยอะ หลังจากนี้ไปก็ตั้งใจที่จะแวะเวียนไปชมอีกหลายแห่ง



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ