φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



สวนชนเผ่าแห่งจีน ฝั่งใต้
เขียนเมื่อ 2015/06/04 02:15
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#จันทร์ 4 พ.ค. 2015

จีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่จึงมีความหลากหลายของเชื้อชาติสูงมาก แม้ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนเกือบหมดแต่ก็มีชนชาติอีกหลายกลุ่มที่แม้จะมีจำนวนน้อยแต่ก็มีความสำคัญ มีวัฒนธรรมและภาษาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

มีสถานที่แห่งหนึ่งในปักกิ่งที่ได้นำวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆมารวบรวมไว้เพื่อจัดแสดงให้ผู้คนทั่วไปได้มาชมและสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ คือที่สวนชนเผ่าแห่งจีน (中华民族园, จงหัวหมินจู๋หยวน)

ปัจจุบันมีชนเผ่าที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในจีนทั้งหมด ๕๖ กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีจำนวนต่างกันออกไป ตั้งแต่เผ่าจีนฮั่นเยอะสุดเป็นพันล้านคน และบางเผ่าปัจจุบันเหลืออยู่แค่ไม่กี่พันคนเท่านั้น

ภายในสวนแห่งนี้ได้จัดแสดงเกี่ยวกับชนเผ่าครบทั้ง ๕๖ กลุ่มนี้ ที่จริงแล้วนอกจากนี้แล้วก็ยังมีชนเผ่าที่ไม่ได้รับการยอมรับอยู่อีกด้วย ซึ่งในนี้ไม่ได้มีพูดถึงเลยเพราะแค่ ๕๖ นี่ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังสามารถนำมาบรรจุไว้ภายในพื้นที่สวนนี้ได้ทั้งหมด

แผนที่นำเที่ยว



ต่อไปนี้เป็นรายชื่อของชนเผ่าทั้งหมด เรียงลำดับตามที่เขียนอยู่ในแผนทึ่นำเที่ยวซึ่งเรียงตามตำแหน่งที่ตั้งภายในสวนนี้เป็นหลัก
อนึ่ง ชื่อเผ่าที่ระบุในนี้เน้นชื่อที่เรียกตามภาษาจีนเป็นหลัก ยกเว้นเผ่าที่มีชื่อเรียกที่คุ้นเคยดีในภาษาไทยอยู่แล้ว โดยจะวงเล็บชื่อในภาษาจีนเอาไว้

1. ทิเบต (จ้าง) 藏族
2. ลั่วปา 珞巴族
3. เหมินปา 门巴族
4. เชียง 羌族
5. ถู่ 土族
6. ไท (ไต่) 傣族
7. จิ่งพัว 景颇族
8. อาชาง 阿昌族
9. ฮาหนี 哈尼族
10. หว่า 佤族
11. หลี 黎族
12. ปู้หล่าง 布朗族
13. ม้ง (เหมียว) 苗族
14. ลาฮู่ 拉祜族
15. อี๋ 彝族
16. ปู้อี 布依族
17. ต้ง 侗族
18. ญวน (จิง) 京族
19. เฮ่อเจ๋อ 赫哲族
20. ต๋าว่อเอ่อร์ 达斡尔族
21. เอ้อหลุนชุน 鄂伦春族
22. แมนจู (หมั่น) 满族
23. รัสเซีย (เอ๋อหลัวซือ) 俄罗斯族
24. ซีปั๋ว 锡伯族
25. เกาหลี (เฉาเสี่ยน) 朝鲜族
26. เกาซาน 高山族
27. ซาลา 撒拉族
28. ไป๋ 白族
29. จีนั่ว 基诺族
30. ลี่ซู่ 傈僳族
31. ผูหมี่ 普米族
32. ตู๋หลง 独龙族
33. นู่ 怒族
34. เต๋ออ๋าง 德昂族
35. น่าซี 纳西族
36. ฮั่น 汉族
37. หุย 回族
38. เอเวงคี (เอ้อเวินเค่อ) 鄂温克族
39. คีร์กีซ (เคอเอ่อร์เค่อจือ) 柯尔克孜族
40. คาซัค (ฮาซ่าเค่อ) 哈萨克族
41. ทาจิกิซ (ถ่าจี๋เค่อ) 塔吉克族
42. อุยกูร์ (เหวย์อู๋เอ่อร์) 维吾尔族
43. อุซเบก (อูจือเปี๋ยเค่อ) 乌孜别克族
44. ตงเซียง 东乡族
45. ตาตาร์ (ถาถ่า) 塔塔族
46. ยวี่กู้ 裕固族
47. มองโกล (เหมิงกู่) 蒙古族
48. เป่าอาน 保安族
49. เซอ 畲族
50. เหมาหนาน 毛南族
51. เมี่ยน (เหยา) 瑶族
52. เกอเหล่า 仡佬族
53. สุ่ย 水族
54. มู่เหล่า 仫佬族
55. จว้าง 壮族
56. ถู่เจีย 土家族



สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสนามกีฬารังนกชื่อดัง ฉะนั้นหากใครมาเที่ยวรังนกก็สามารถแวะมาที่นี่ได้

ก่อนหน้านี้เราได้เล่าถึงบริเวณใกล้ๆแถวนี้ไปแล้วนิดหน่อยตอนที่มาเที่ยวสวนสาธารณะซากกำแพงเมืองสมัยราชวงศ์หยวนภายใต้หิมะ https://phyblas.hinaboshi.com/20120318

ตอนนั้นไม่ได้แวะเข้ามาที่นี่เพราะตั้งเป้าตรงไปที่สนามกีฬารังนก อย่างไรก็ตามหากจะเที่ยวที่นี่จริงๆแล้วควรจะเตรียมเวลาเผื่อไว้ทั้งวันเพราะว่ากว้างมากจริงๆ หากมาที่นี่แล้วเริ่มเดินแต่เช้าก็น่าจะเสร็จตอนบ่ายๆจากนั้นค่อยเดินต่อไปยังสนามกีฬารังนกก็น่าจะดี ถ้ายังเหลือแรงเดินต่ออยู่นะ

สถานที่แบ่งออกเป็นซีกเหนือกับซีกใต้ โดยที่ซีกเหนือจะเปิดอยู่ตลอดทั้งปี แต่ซีกใต้จะปิดในฤดูหนาว ทั้งสองซีกนี้มีถนนกั้นอยู่ สามารถเดินข้ามไปมาได้โดยสะพานลอยโดยไม่ต้องออกนอกบริเวณ

ที่นี่เริ่มถูกสร้างในปี 1992 ฝั่งเหนือสร้างเสร็จและเปิดให้เข้าชมได้ในปี 1994 ส่วนฝั่งใต้เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่ปี 2001

ฝั่งเหนือและฝั่งใต้พื้นที่โดยรวมทั้งหมด ๐.๕ ตร.กม. โดยทั้งหมด ๕๖ ชนเผ่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ หมายเลข 1 ถึง 27 อยู่ในฝั่งเหนือ ส่วนที่เหลืออยู่ฝั่งใต้

ว่าไปแล้วที่นี่ก็คล้ายกับเมืองจำลอง คือมีสิ่งก่อสร้างของที่ต่างๆมารวมกัน แต่ว่าสถานที่จำพวกเมืองจำลองนั้นมักจะเป็นแบบจำลองย่อส่วน แต่สำหรับที่นี่แล้วแต่ละสถานที่ที่จำลองส่วนใหญ่มีขนาดเท่าของจริง แถมในสิ่งก่อสร้างที่จำลองมานั้นก็มีจัดแสดงของเกี่ยวกับชนเผ่านั้นๆด้วยเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ย่อยภายใน

นอกจากจะมีจัดแสดงสิ่งก่อสร้างและของต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าต่างๆแล้วก็ยังมีคนมาแสดงการแสดงของชนเผ่าต่างๆให้ได้ชมด้วย การเข้าชมการแสดงนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพราะรวมอยู่ในตั๋วผ่านประตูอยู่แล้ว แต่การแสดงมีเป็นรอบๆต้องดูตารางเวลาแล้วกะให้ดี

ค่าเข้าชมที่นี่ค่อนข้างแพง คือ ๙๐ หยวน แต่ถ้าหากมาวันจันทร์ก็จะลดเหลือครึ่งราคาคือ ๔๕ หยวน นั่นเพราะว่าวันจันทร์เป็นวันที่ไม่มีการแสดงใดๆ ถ้าไปวันจันทร์ก็ได้แค่ชมสถานที่ไปเรื่อยๆเท่านั้น

เนื่องจากสวนนี้ใหญ่มากและเนื้อหาค่อนข้างเยอะมากดังนั้นจะขอแบ่งตอนเป็นฝั่งเหนือกับใต้ โดยเริ่มจากฝั่งใต้ก่อน



การเดินทางมาที่นี่มาได้โดยง่ายโดยรถไฟฟ้ามาลงสถานีเป๋ย์ถู่เฉิง (北土城站) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสาย 8 กับสาย 10 เมื่อออกจากสถานีมาก็จะมาโผล่หน้าประตูใต้ของสวนฝั่งใต้



เนื่องจากเรามาวันจันทร์ก็เลยได้ตั๋วถูก ๔๕ หยวน ที่ตัดสินใจมาวันจันทร์ก็เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมาดูพวกการแสดงก็ได้เพราะแค่ชมบริเวณสถานที่ก็ใหญ่มากเหลือเกินกินเวลามากแล้ว การลดราคาลงไปได้ขนาดนี้ก็น่าจะถือว่าคุ้ม แต่สำหรับใครที่สนใจอยากชมพวกการแสดงชนเผ่าละก็ ยังไงก็คงต้องดูวันให้ดีด้วยอย่ามาวันจันทร์

เมื่อเข้ามาก็พบว่าคนโล่งเงียบมาก คงเพราะเป็นวันธรรมดา ต่อให้เป็นวันที่ลดครึ่งราคาก็คงไม่ได้ดึงดูดให้ผู้คนมาวันนี้กันสักเท่าไหร่

สิ่งแรกที่เห็นหลังจากที่เดินเข้ามาก็คือหมู่ผาหินที่มีแกะสลักพระพุทธรูปเต็มไปหมด ตรงส่วนนี้คือบริเวณจัดแสดงผาหินซึ่งจำลองมาจากผาหินแห่งต่างๆของจีนที่มีการแกะสลักสวยงาม อันที่จริงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องของชนเผ่าเท่าไหร่เลย แต่น่าจะถูกเพิ่มเข้ามาเป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมเฉยๆ ดังนั้นจะไม่ขอพูดถึงมากเพราะเป้าหมายหลักที่มาที่นี่คือมาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชนเผ่าต่างๆในจีน



เดินขึ้นไปชมด้านบนของผาหิน



เมื่อขึ้นมาก็จะพบกับอาคารของชนชาติแรกที่เราได้เจอที่นี่ นั่นคือชาวทาจิก (塔吉克族, Tajik)



ชาวทาจิกเป็นชนชาติที่มีประเทศของตัวเองอยู่ คือประเทศทาจิกิสถานซึ่งเป็นประเทศในเอเชียกลาง ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจีน แต่ก็มีประชากรจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน มีประมาณ ๔ หมื่นกว่าคน ชาวทาจิกใช้ภาษาเปอร์เซีย (ภาษาของประเทศอิหร่าน) เป็นภาษาหลัก แต่เขียนด้วยอักษรซิริลลิกและเรียกว่าเป็นภาษาทาจิก ศาสนาที่นับถือคืออิสลาม


อาคารนี้ปิดอยู่ไม่สามารถเข้าได้ ส่วนบริเวณข้างๆอาคารของชาวทาจิกนี้เต็มไปด้วยถ้ำหินที่มีการแกะสลักซึ่งทำจำลองขึ้นมา แต่มองๆดูก็จะรู้ว่าทำออกมาไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ ยังไงก็เป็นแค่ของที่สร้างจำลองขึ้นมาแบบง่ายๆ



หากเดินต่อมาตามผาหินก็จะเจอกับสิ่งก่อสร้างของอีกชนชาติหนึ่งก็คือพวกหุย (回族) ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งที่มีจำนวนมากในจีน ประชากรมีอยู่ประมาณ ๑๐ ล้านกว่าคน นับถือศาสนาอิสลาม



ที่มาของชาวหุยนั้นมาจากเอเชียกลางแล้วอพยพเข้ามาใช้ชีวิตในส่วนหลักของแผ่นดินจีน กลมกลืนไปกับชาวจีน ชาวหุยมีชุมชนกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างทั่วจีน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ชาวหุยปัจจุบันไม่มีภาษาของตัวเอง โดยทั่วไปแล้วใช้ภาษาจีนเหมือนกับคนจีนทั่วไป

จากตรงนี้มองไปเจอกระโจมคล้ายๆกันอยู่หลายหลัง แต่ละหลังก็ต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย พวกนี้เป็นกระโจมของชาวคีร์กิซ (柯尔克孜族, Kyrgyz) ชาวคาซัก (哈萨克族, Kazakhs) ชาวอุซเบก (乌孜别克族, Uzbek) และชาวยวี่กู้ (裕固族)



ชาวคีร์กิซ คาซัก อุซเบกนั้นเช่นเดียวกับชาวทาจิก คือมีประเทศของตัวเองอยู่แล้ว มีแค่จำนวนส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ในจีน ทั้ง ๓ ประเทศนี้อยู่ในเอเชียกลาง คือประเทศคีร์กิซถาน คาซักสถาน อุซเบกิสถาน โดยมีแค่อุซเบกิสถานที่ชายแดนไม่อยู่ติดจีน ทั้ง ๓ ชนชาตินี้ใช้ภาษาในตระกูลภาษาอัลไตอิก และนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน

ส่วนชาวยวี่กู้นั้นเป็นชนเผ่าเล็กๆที่มีประชากรยู่แค่หมื่นกว่าคน โดยหลักแล้วอาศัยอยู่ในมณฑลกานซู่ ชาวยวี่กู้มีภาษาของตัวเอง ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลภาษาอัลไตอิก แต่แบ่งออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน กลุ่มตะวันตกคล้ายภาษาอุยกูร์ แต่กลุ่มทางตะวันออกคล้ายภาษามองโกล

กระโจมพวกนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ของแต่ละชนชาติ แต่ว่าตอนนี้ดูเหมือนว่าจะปิดอยู่ไม่สามารถเข้าไปชมได้ทั้งนั้น

มองขึ้นไปจากตรงนี้เห็นอาคารสวยๆที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนที่นี่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสวนนี้และไม่ใช่สถานที่เข้าชม แต่ว่าเขาก็ทำออกมาได้ค่อนข้างกลมกลืนไปกับสถานที่



เนื่องจากไม่สามารถผ่านไปจากตรงนี้ต่อได้ดังนั้นก็เดินลงมา



ข้างล่างนี้ก็มีสิ่งก่อสร้างของชาวหุยอีกส่วนหนึ่ง



ลองมองไปที่อาคารที่โรงแรมนั่นอีกที เป็นอาคารที่สวยดี



ยิ่งส่วนบริเวณฝั่งนั้นยิ่งสวย จากตรงนั้นคงมองลงมาเห็นสวนนี้ได้ชัดเจนสวยดีด้วย



ถัดมาหากขึ้นไปตรงนี้ก็จะเป็นทางไปสู่ส่วนจัดแสดงของชนชาติอุยกูร์ (维吾尔, Uyghur)



ชาวอุยกูร์ หรือเรียกในภาษาจีนว่าเหวย์อู๋เอ่อร์ เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ใกล้เคียงกับพวกคีร์กิซและคาซัก นับถืออิสลามเหมือนกัน ใช้ภาษากลุ่มเดียวกันมีความใกล้เคียงกัน แต่ต่างกันตรงที่ดินแดนที่พวกเขาอยู่นั้นปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของจีน คือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ถือเป็นเขตการปกครองที่ใหญ่ที่สุดในจีน มีกลุ่มกบฏชาวอุยกูร์พยายามจะแยกซินเจียงออกเป็นประเทศอิสระแต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีวันเป็นไปได้ง่ายๆ

ส่วนจัดแสดงของอุยกูร์นี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีอะไรอยู่มากมายกว่าพอสมควรเมื่อเทียบกับเผ่าอื่นๆที่จัดวางอยู่ใกล้ๆ

นี่คือบ้านของชาวพื้นเมืองอุยกูร์ที่เมืองถูหลู่ฟาน (吐鲁番) ในซินเจียง



ภายในนี้จัดแสดงผ้าไหมของซินเจียง ซินเจียงนั้นถือเป็นทางผ่านของเส้นทางสายไหมมาตั้งอดีตจึงมีความสำคัญ มีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมในแบบของตัวเอง โดยเฉพาะที่เมืองเหอเถียน (和田)




มัสยิดในเมืองคาสือ (喀什) ในซินเจียง



ส่วนบ้านนี้เป็นบ้านที่จำลองบ้านในจังหวัดปกครองตนเองอีหลี (伊犁) ของชาวคาซัก ในซินเจียง



ภายในเป็นที่จัดแสดงของจำนวนหนึ่ง ข้างในมีคนนั่งอยู่ ดูเหมือนจะเป็นผู้ดูแลที่นี่ แต่เขาวางตัวสบายๆเหมือนกับเป็นบ้านเขาจริงๆเลย



ทางนี้เป็นบ้านในเมืองเหอเถียน



เข้าไปดูภายในได้ สวยจริงๆ



เพดานสวยมาก



จากนั้นเดินถัดต่อมาก็จะเจอกับหอคอยแห่งหนึ่งตั้งเด่นอยู่ทางโน้น คือหอคอยซูกง (苏公塔) เป็นหอคอยโบราณที่ใหญ่ที่สุดในซินเจียง สร้างเมื่อปี 1777 ตั้งอยู่ในเมืองถูหลู่ฟาน สูง ๔๔ เมตร



จากตรงนี้เดินลงไปข้างล่างแล้วมาชมหอคอยนี้จากที่ฐานจึงได้เห็นชัดถึงความสูงของมัน



ส่วนของอุยกูร์ก็หมดอยู่เพียงเท่านี้แล้ว จากนั้นก็เดินอ้อมไปเพื่อย้อนกลับมายังบริเวณทุ่งหญ้าที่มีพวกกระโจมของเผ่าต่างๆหลายเผ่า



กระโจมของชาวยวี่กู้ ข้างในไม่ได้เปิดให้เข้าชม



ตรงกลางทุ่งหญ้ามีคอกเลี้ยงแกะ เห็นคนกำลังให้อาหารมันอยู่ด้วย



แกะพวกนี้ดูเหมือนจะถูกใช้เพื่อการแสดง แต่ว่าวันนี้ไม่มีการแสดงอะไรก็คงอยู่ในคอกเฉยๆ



นี่คือกระโจมของชาวคีร์กิซ และข้างๆมีกระโจมของชาวคาซักหน้าตาคล้ายๆกัน ปิดอยู่ทั้งคู่



แต่ที่เปิดอยู่คือกระโจมของอีกชนชาติหนึ่ง คืนชาวเอ้อเวินเค่อ (鄂温克族) หรือเรียกว่าชาวเอเวงคี (Эвенки) ในภาษารัสเซีย เป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ทั้งในรัสเซียและในจีนพอๆกัน โดยในจีนมีอยู่ประมาณ ๓ หมื่นกว่าคน อาศัยอยู่ในมณฑลเฮย์หลงเจียงหรือเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน 
ชาวเอเวงคีใช้ภาษาในตระกูลภาษาอัลไตอิก



ภายในกระโจมจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของพวกเขา



ข้างๆมีบ้านไม้หลังหนึ่ง นี่ก็ของเผ่าเอเวงคีเช่นกัน ข้างในก็มีของจัดแสดงอีก



แล้วก็มีกระท่อมทรงกรวยด้วย
ในกระท่อมมีแขวนรูปชาวเผ่าคู่กับกวาง



ถัดมาอีกมีกระโจมของชาวมองโกล ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่าชาวเหมิงกู่ (蒙古)



ชาวมองโกลส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน แต่ก็มีส่วนหนึ่งแยกไปตั้งประเทศ คือประเทศมองโกเลีย แต่ความจริงแล้วประชากรในเขตมองโกเลียในของจีนนั้นมีมากเป็นสองเท่าของชาวมองโกลในประเทศมองโกเลีย ชาวมองโกลในจีนมีจำนวนประมาณ ๕ ล้านกว่าคน ถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆของจีน

อย่างที่รู้กันว่าชาวมองโกลเป็นชนเผ่าที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อนเป็นอย่างมากในอดีต เจงกิสข่านและกุบไลข่านผู้นำของมองโกลเคยสร้างอาณาจักรที่มีขนาดใหญ่โตแผ่ขยายไปทั่ว กุบไลข่านได้ตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นในปี 1271 และราชวงศ์นี้ก็ปกครองทั้งแผ่นดินจีนอยู่นานเกือบร้อยปีก่อนที่จะถูกราชวงศ์หมิงล้มในปี 1368 เป็นอันสิ้นสุดยุคสมัยอันรุ่งเรืองของชาวมองโกล

กระโจมของมองโกลนั้นเปิดให้เข้าไปได้ ด้านในมีจัดแสดงของและมีขายของด้วย




ถัดมาเป็นส่วนของชาวเซอ (畲族) เป็นชนเผ่าที่กระจายอยู่ในมณฑลต่างๆในภาคตะวันออกของจีน ประชากรรวมแล้วประมาณ ๗ แสนคน นี่คือสะพานฉาถาง (茶堂桥) เป็นสะพานโบราณสร้างในปี 1696 เดิมทีอยู่ในอำเภอปกครองตัวเองจิ่งหนิง (景宁) ของเผ่าเซอ ในมณฑลเจ้อเจียง แต่ถูกรื้อทิ้งไปแล้วในปี 2002 วัสดุจากสะพานนั้นถูกย้ายนำมาสร้างใหม่ที่นี่



ประตูทางเข้าบ้านของชาวเซอ



ภายในได้จำลองพวกข้าวของต่างๆ อีกทั้งมีห้องเก็บอุปกรณ์เกษตรและห้องทอผ้า



เดินข้ามสะพานฉาถาง



จากตรงนี้มองลงไปข้างล่างเห็นบ้านของชาวเหมาหนาน (毛南族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตนเองกว่างซีจว้าง มีประชากรประมาณแสนกว่าคน พวกเขาใช้ภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได



เดินถัดมาจะเจอสิ่งก่อสร้างของชาวเกอเหล่า (仡佬族) อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีนในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และเขตปกครองตนเองกว่างซีจว้าง ประชากรประมาณ ๕ แสนกว่าคน มีภาษาเป็นของตัวเองแต่ปัจจุบันชาวเกอเหล่าส่วนใหญ่ไม่มีใครพูดภาษาดั้งเดิมนี้กันแล้ว



และถัดมาตรงนี้เป็นของชาวสุ่ย (水族) มีเรียงรายอยู่หลายหลัง ชาวสุ่ยเป็นชนเผ่าที่อยู่ในมณฑลกุ้ยโจวและเขตปกครองตนเองกว่างซีจว้าง มีประชากรประมาณ ๔ แสนคน




ชาวสุ่ยใช้ภาษาตระกูลภาษาไท-กะได ที่โดดเด่นอย่างมากก็คือมีอักษรเป็นของตัวเอง เรียกว่าสุ่ยซู (水书) แต่ปัจจุบันประชากรชาวสุ่ยส่วนใหญ่อ่านมันไม่ออกแล้วเพราะนิยมใช้อักษรจีนกันมากกว่า



ถัดจากตรงนี้ไปก็เจอกับเจดีย์ที่จำลองสามหอคอยวัดฉงเซิ่ง (崇圣寺三塔) แหล่งท่องเที่ยวในเมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน



ตรงกันข้ามนั้นเป็นส่วนที่จำลองเขาเหยาซาน (瑶山) ทางตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยแห่งหนึ่งของชาวเมี่ยน หรือที่เรียกในภาษาจีนว่าชาวเหยา (瑶族) เป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในหลายมณฑลทางตอนใต้ของจีน และยังมีอยู่ในประเทศไทย ลาว เวียดนามด้วย ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกในภาษาไทย พวกเขาใช้ภาษาในตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน



บ้านของชาวเมี่ยน อยู่บนเขา



จากตรงนี้มองไปข้างล่างยังเห็นหมู่อาคารของชาวน่าซี (纳西族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเก่าลี่เจียง และบริเวณรอบๆนั้นในมณฑลยูนนาน หมู่อาคารที่เห็นอยู่นี้จำลองมาจากย่านเมืองเก่าลี่เจียง ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวชื่อดัง ชาวน่าซีมีประชากรประมาณ ๓ แสนกว่าคน ใช้ภาษาน่าซีซึ่งเป็นภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต



ตอนนี้เราได้แค่มองจากตรงนี้ไปก่อน ยังไม่เข้าไปชมในย่านของชาวน่าซี
ตอนนี้

ทางบนเขา



นี่คือบ้านของชาวหมัวซัว (摩梭族) ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเผ่าหนึ่งในจีน แต่ถูกจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าน่าซี อย่างไรก็ตามพวกเขายังมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ต่างออกไปจากชาวนาซี



ด้านใต้ของเหยาซานนั้นเป็นส่วนที่เรียกว่าหอจัดแสดงหลัก (主展馆)



ในนี้อธิบายเกี่ยวกับที่นี่คร่าวๆ ให้ข้อมูลโดยรวมๆของชนเผ่าทั้งหมดในจีนนอกจากนี้ก็มีจัดแสดงสิ่งของจากหลายชนเผ่าอยู่ภายในนี้ อย่างไรก็ตามมีความรู้สึกว่ามันจะดูซ้ำซ้อน ดังนั้นก็ขอข้าม ไม่เล่าถึงในส่วนตรงนี้ดีกว่า แม้ว่ามันจะใหญ่และมีอะไรมากพอสมควร

ออกมาแล้วเดินต่อ ที่นี่คือสิ่งก่อสร้างของชาวมู่เหล่า (仫佬族) ซึ่งอาศัยอยู่ในกว่างซี มีประชากรประมาณ ๒ แสนกว่าคน ใช้ภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได



จากตรงนี้มองข้ามน้ำไปก็ได้ภาพสวยๆอีกภาพของย่านเมืองเก่าลี่เจียงของชาวน่าซีริมน้ำ



ถัดมาตรงนี้เป็นส่วนของชาวจว้าง (壮族) ซึ่งเป็นชนชาติที่มีจำนวนมากเป็นอันดับ ๒ ในจีนรองจากชาวจีนฮั่น มีประชากร ๑๘ ล้านคน อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจว้าง ชาวจว้างพูดภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได



ถัดมาขึ้นไปด้านบนเป็นอาคารของชาวถู่เจีย (土家族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในแถบที่ราบสูงตอนใต้ของจีน มีประชากรประมาณ ๘ ล้านกว่าคน ถือว่าเป็นอีกกลุ่มที่ประชากรเยอะ



ชาวถู่เจียมีภาษาถู่เจียเป็นภาษาดั้งเดิมของตัวเอง เป็นภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต แต่ด้วยสาเหตุต่างๆทำให้คนส่วนใหญ่หันไปใช้ภาษาจีนกันหมดจนทำให้ภาษาถู่เจียกำลังใกล้สูญพันธุ์

เสาใต้ถุนบ้าน



บ้านจำลองนี้จำลองมาจากบ้านของชาวถู่เจียในมณฑลหูหนาน




อาคารโรงสกัดน้ำมันพืช



ตำแหน่งของที่นี่เนื่องจากตั้งอยู่บนหัวมุมตะวันออกเฉียงเหนือของสวนฝั่งใต้ทำให้เหมาะจะชมทิวทัศน์ด้านนอก มองออกไปทางตะวันออกเห็นโรงยิมโอลิมปิก (奥运中心体育馆)



และมองข้ามไปทางทิศเหนือก็จะเห็นสวนฝั่งเหนือ ซึ่งเดี๋ยวเราก็จะข้ามไปชมในไม่ช้า



จากนั้นเดินลงมาแล้วเดินต่อไปก็จะเห็นทางขึ้นเขาสวยๆ นี่คือทางขึ้นไปสู่ส่วนของชาวไป๋ (白族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดปกครองตัวเองต้าหลี่ ประชากรมีทั้งหมดล้านกว่าคน ใช้ภาษาไป๋ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต



เมื่อขึ้นมาก็เห็นน้ำพุซึ่งจำลองมาจากน้ำพุผีเสื้อ (蝴蝶泉, หูเตี๋ยเฉวียน) ที่ต้าหลี่



มองไปทางโน้นเห็นสามหอคอยวัดฉงเซิ่งแห่งต้าหลี่



หมู่อาคารที่จำลองมานี้ก็จำลองมาจากเมืองโบราณต้าหลี่




บางหลังสามารถเข้าไปชมภายใน มีจัดแสดงอะไรอยู่นิดหน่อย



จากตรงนี้สามารถเห็นสะพานที่จะพาเชื่อมไปยังสวนฝั่งเหนือ ถ้าข้ามตรงนี้ไปการเที่ยวในฝั่งใต้ของเราก็จบลงเท่านี้



แต่ปัญหาคือตอนนี้เรายังไม่ได้เที่ยวฝั่งใต้จนทั่ว ยังมีอีกบางชนเผ่าที่ยังไม่ได้ดู ดังนั้นขอย้อนกลับไปชมอีกสักหน่อยค่อยกลับมา



เมื่อเดินย้อนกลับลงมาก็เจอกับอาคารของชาวจีนั่ว (基诺族) ซึ่งเป็นกลุ่มน้อยเล็กๆที่อาศัยอยู่ในตำบลเล็กๆในเมืองเชียงรุ่งในจังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนามณฑลยูนนาน ประชากรประมาณ ๒ หมื่นกว่าคน มีภาษาของตัวเองเป็นภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต แน่เนื่องจากอยู่รวมกับชาวไทลื้อในเมืองเชียงรุ่งจึงพูดภาษาไทลื้อได้ด้วย



แล้วก็ตามมาด้วยอาคารของชาวลี่ซู่ (傈僳族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างในตอนใต้ของจีน และยังมีบางส่วนอยู่ในพม่า และในไทยด้วย บางทีในภาษาไทยก็เรียกว่าลีซอ โดยที่ชาวลี่ซู่ในจีนมีอยู่ประมาณ ๗ แสนกว่าคน ใช้ภาษาลี่ซู่ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต



จากนั้นก็เจออาคารของผูหมี่ (普米族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในมณฑลยูนนานและเสฉวน พูดภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต



ถัดมาตรงนี้เป็นส่วนของชาวเต๋ออ๋าง (德昂族) เป็นชนกลุ่มน้อยในตอนเหนือของหม่า และมีบางส่วนอยู่ในมณฑลยูนนาน มีชื่อในภาษาพม่าว่าชาวปะหล่อง พวกเขาพูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก



มองลงไปข้างล่างเห็นย่านเมืองเก่าลี่เจียงของชนเผ่าน่าซีอีกรอบ มองมาหลายรอบแล้วจากหลายมุม ไม่ว่ามองจากทางไหนก็สวย คราวนี้เรากำลังจะลงไปเดินในนั้นจริงๆแล้ว



ภายในย่านเมืองเก่าลี่เจียง



มีอาคารที่เปิดให้เข้าชมได้อยู่หลายหลังซึ่งจัดแสดงพวกของใช้พื้นบ้าน



ภาษาน่าซีที่ชาวน่าซีใช้นั้นมีอักษรเป็นของตัวเอง พบได้ประปรายในบริเวณนี้ ลักษณะเป็นอักษรรูปภาพดูแล้วสวยดี



อาคารหลังนี้จัดแสดงแม่พิมพ์ขนม



ข้างในมีแม่พิมพ์ขนมรูปต่างๆอยู่เต็มไปหมด และมีเขียนอธิบายอย่างละเอียดด้วย



เดินออกจากย่านเมืองเก่าลี่เจียงมา ข้างๆนั้นขึ้นเขาไปหน่อยก็เจออาคารของชาวนู่ (怒族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมณฑลยูนนานและทางตะวันออกของทิเบต โดยมากแล้วอาศัยอยู่ปนกับชาวลี่ซู่



เท่านี้ก็ครบหมดสำหรับชนเผ่าในสวนฝั่งใต้แล้ว เอาจริงๆยังมีบางเผ่าที่ถูกข้ามไปเพราะตั้งอยู่ในจุดที่ไม่โดดเด่นก็เลยไม่ได้สังเกตเห็น ก็เลยไม่ได้พูดถึง แต่ไม่เป็นไรเพราะเท่านี้ก็ถือว่าเยอะมากจนแทบอธิบายไม่ไหวแล้ว

เสร็จแล้วก็เดินกลับขึ้นเขาเพื่อไปยังสะพานที่จะข้ามไปสวนฝั่งเหนือ



เดินข้ามสะพานเพื่อไปเที่ยวต่อ มาถึงจุดนี้เราใช้เวลาไปทั้งหมดเกือบ ๓ ชั่วโมงแล้ว แต่การเดินทางเพิ่งจะเสร็จไปแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น จากนี้ไปยังจะมีอะไรรอให้เห็นอยู่อีกมากมาย วันที่แสนเหนื่อยยังคงดำเนินต่อไป https://phyblas.hinaboshi.com/20150606




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ