φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



ลุยฝนเที่ยวพม่าภาคกลาง ๑๑ วัน 25 ก.ค. - 4 ส.ค.
เขียนเมื่อ 2015/08/21 04:06
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
ห่างหายจากการเที่ยวแบบยาวๆมาปีนึงเต็มๆ คราวนี้กลับมาเที่ยวเต็มที่ใหม่อีกครั้ง เป้าหมายคราวนี้ก็คือประเทศเพื่อนบ้านของเราซึ่งเพิ่งจะเปิดประเทศเมื่อไม่นานมานี้ พม่านั่นเอง



~ที่มาที่ไปและการวางแผนเที่ยว~

จากที่ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปเที่ยวเสียมราฐกับหนุ่มแทจ็อนและพี่โคค่อน https://phyblas.hinaboshi.com/20140804

ซึ่งเราทั้งสามก็ติดใจการเที่ยวครั้งนั้นเป็นอย่างมากก็เลยตั้งใจว่าจะเที่ยวคล้ายๆแบบนั้นอีกที โดยตั้งใจว่าช่วงเวลาเดิมของปี คือเดือนกรกฎาน่าจะเป็นโอกาสเหมาะ

เดิมทีวางแผนไว้ว่าอยากไปเที่ยวกัมพูชาอีก คราวนี้อยากเก็บเมืองอื่นนอกจากเสียมราฐ (សៀមរាប) เช่นเมืองหลวงพนมเปญ (ភ្នំពេញ) แต่ว่าพอใกล้ถึงเวลาพี่โคค่อนเกิดไม่ว่าง ในขณะที่เรากับหนุ่มแทจ็อนยังมีใจอยากเที่ยวกันอยู่ ดังนั้นแผนเที่ยวกัมพูชาส่วนอื่นต่อจึงพับเก็บเอาไว้ก่อนและหาแผนเที่ยวใหม่แทน

สุดท้ายก็เลยมาลงตัวที่พม่า เที่ยวกัน ๒ คน โดยหนุ่มแทจ็อนเป็นคนวางแผนเที่ยวทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ครั้งนี้เราไม่มีส่วนช่วยอะไรเท่าไหร่เลย เป็นแค่ผู้ตามอย่างเดียวเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้บังเอิญว่าเขามีธุระที่ต้องทำที่พม่าพอดี คือไปนำเสนองานวิจัยดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ ดังนั้นจึงจังหวะเหมาะ งานนี้ใช้เวลาแค่ครึ่งวัน ไม่ได้เสียเวลาเที่ยวเท่าไหร่แถมยังเป็นประสบการณ์ที่ดีด้วย ทั้งยังได้รู้จักคนมากขึ้นอีก ทำให้รู้สึกว่าคุ้มกว่าที่มาเที่ยวเฉยๆ

หลายคนที่ไปพม่าอาจจะเริ่มจากเมืองใหญ่สุดอย่างย่างกุ้ง แต่ว่าในเที่ยวนี้ย่างกุ้งไม่ได้อยู่ในแผนเลย เมืองหลักที่เราไปคือมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสอง การเดินทางนั่งเครื่องบินของแอร์เอเชียไปกลับจากเมืองนี้

ในการเที่ยวครั้งนี้เราไปทั้งหมด ๗ เมืองด้วยกัน โดยในจำนวนนี้เป็นเมืองหลักคือเมืองที่ไปนอนค้าง ๓ เมือง ได้แก่
- มัณฑะเลย์ (
မန္တလေးmandalay, มานดะเล) เมืองหลวงเก่าแห่งสุดท้ายของราชวงศ์อลองพญา ปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของพม่า
- เนปยีดอ (
နေပြည်တော်naypyidaw) เมืองหลวงปัจจุบัน และเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของพม่า
- พุกาม (
ပုဂံbagan, บากัน) เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรพุกาม
และเมืองข้างเคียงมัณฑะเลย์อีก ๔ เมืองซึ่งไปเที่ยวแบบไปกลับภายในวันเดียว ได้แก่
- อังวะ (
အင်းဝinwa, อีนวะ) เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรอังวะ และของราชวงศ์ตองอูและราชวงศ์อลองพญา
- อมรปุระ (
အမရပူရamarapura, อะมะยาปูยะ) เมืองหลวงเก่าของราชวงศ์อลองพญา
- ซะไกง์ (
စစ်ကိုင်းsagaing) เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรซะไกง์ และของราชวงศ์อลองพญา
- มีนกูน (
မင်းကွန်းmingun) เมืองเล็กๆริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี



สังเกตได้ว่าแต่ละที่ที่ไปมานี้เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของพม่าทั้งนั้นเลยยกเว้นแห่งเดียวคือมีนกูน ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะพม่าเคยย้ายเมืองหลวงบ่อยมากเลยมีหลายเมืองที่เคยเป็นเมืองหลวง บางแห่งเป็นเมืองหลวงแค่ไม่กี่สิบปีเท่านั้นเอง แต่แม้จะเป็นเวลาสั้นก็ตามมันก็ได้หลงเหลืออะไรบางอย่างไว้ซึ่งน่าแวะไปชมกันทั้งนั้น

การเดินทางระหว่างเมืองหลัก ๓ เมืองนี้ใช้รถบัสทั้งหมด เพราะรถไฟในพม่าก็ค่อนข้างแย่เหมือนรถไฟไทย ไม่ค่อยสะดวกที่จะนั่ง ส่วนการเดินทางเที่ยวในตัวเมืองและการเดินทางระหว่างมัณฑะเลย์กับเมืองรอบๆนั้นใช้เหมาแท็กซีเอา ซึ่งหารกัน ๒ คนแล้วก็ไม่ได้แพงเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังมีนั่งเรือด้วยตอนที่ไปมีนกูน และที่อังวะก็ได้นั่งรถม้าด้วย

การวางตารางเที่ยวของเที่ยวนี้เป็นแบบสบายๆรายการไม่แน่นมาก เผื่อเวลาให้ได้หายใจ ดังนั้นจึงไม่เหนื่อยมากแม้จะเที่ยวนานหลายวัน บางวันเที่ยวทั้งวันแต่บางวันก็ว่างสบายๆครึ่งวัน



~รู้จักพม่า~

พม่าน่าสนใจยังไง ทำใมเราถึงจะต้องไปเที่ยวที่นั่นล่ะ?

หลายคนอาจได้ยินเรื่องราวของพม่ามาเยอะ ส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาภายในประเทศต่างๆนานาที่เกิดจากรัฐบาลทหาร ทำให้ภาพพจน์ของประเทศนี้ในสายตาคนไทยอาจไม่ค่อยดีนัก

อย่างไรก็ตามตอนนี้พม่ากำลังเริ่มเปิดประเทศอย่างเต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างเริ่มพากันเข้ามาเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ไม่ค่อยมีคนไปเที่ยวพม่า นั่นเป็นเรื่องน่าเสียดายมากเพราะพม่ามีที่เที่ยวน่าสนใจเยอะแยะมากมาย

สถานที่เที่ยวส่วนใหญ่ในพม่านั้นมักจะเน้นหนักไปที่โบราณสถาน ซึ่งแต่ละที่ก็ทรงคุณค่าทั้งนั้นเพราะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และยังสวยงามด้วย

พม่านับถือศาสนาพุทธเหมือนกับไทยทำให้มีวัดมากมาย แต่ว่าวัดของพม่านั้นต่างจากของไทยอยู่พอสมควร เอกลักษณ์ของวัดในพม่าที่เห็นได้ชัดที่สุดคือมักจะมีเจดีย์ ซึ่งมีจำนวนมากที่เป็นสีทอง นอกจากนี้ก็ยังมีสีขาวและสีอื่นๆด้วย แต่ละแห่งก็มีลักษณะเฉพาะต่างกันออกไป น่าลองไปชมดูหลายที่

นอกจากประวัติศาสตร์แล้วก็ยังมีสถานที่เที่ยวทางธรรมชาติด้วย น่าเสียดายว่าเป้าหมายที่เราไปครั้งนี้แต่ละเมืองนั้นไม่เน้นธรรมชาติ เน้นประวัติศาสตร์มากกว่า

เมืองหลวงของพม่าคือเนปยีดอ ซึ่งเพิ่งย้ายเมืองหลวงมาเมื่อปี 2005 ก่อนหน้านี้เมืองหลวงคือเมืองย่างกุ้ง และยังคงเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน เมืองใหญ่อันดับสองคือมัณฑะเลย์ ส่วนเนปยีดอในขณะนี้ถือเป็นเมืองใหญ่อันดับสาม

ปัจจุบันเมืองหลักของพม่าที่มีสายการบินนานาชาติไปลงอย่างกว้างขวางก็คือย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ซึ่งก็เป็นเมืองที่มีที่เที่ยวน่าสนใจมากมาย และยังเป็นฐานในการไปเที่ยวเมืองอื่นๆที่อยู่โดยรอบต่อไปได้ด้วย

แม่น้ำสายหลักของพม่าคือแม่น้ำอิรวดี หรือที่เรียกในภาษาพม่าว่า "เอยาวะดีมยิ" (
ဧရာဝတီမြစ်Ayeyarwady myit) ลากผ่านเมืองสำคัญมากมายและเต็มไปด้วยสถานที่เที่ยวมากมายอยู่ตามริมแม่น้ำ การล่องเรือไปตามแม่น้ำสายนี้ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจเพราะสองข้างฝั่งก็เต็มไปด้วยเมืองที่มีประวัติศาตร์ยาวนาน

แผ่นดินพม่ากว้างใหญ่ไม่ได้มีแต่ชนชาติพม่าแต่ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกมากมาย พม่าถือเป็นประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยมาก ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มในอดีตเคยมีอาณาจักรยิ่งใหญ่แต่ก็ถูกตีจนเป็นเมืองขึ้นและก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพม่ามาจนปัจจุบัน เช่น มอญ ไทใหญ่ ยะไข่

การเที่ยวคราวนี้มุ่งไปที่ดินแดนส่วนที่ชาวพม่าอยู่เป็นหลัก ซึ่งก็คือตามเมืองใหญ่ๆกลางประเทศ แต่หลังจากนี้ไปหากมีโอกาสอีกละก็อยากลองไปเที่ยวรัฐฉาน (ไทใหญ่) หรือยะไข่ดูบ้างเหมือนกัน ซึ่งก็มีอะไรน่าสนใจให้เที่ยวอยู่เช่นกัน น่าจัดเป็นทริปแยกออกไป



~ประวัติศาสตร์~

พม่าเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานน่าสนใจมากทีเดียว ประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าไทยและผ่านอะไรมามากมาย เคยเป็นถึงประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ดังนั้นจึงมีความหมายน่าศึกษาเป็นอย่างมาก

เนื่องจากประวัติศาสตร์ยาวนานเราคงไม่อาจกล่าวโดยละเอียดได้ ในที่นี้จะขอพูดถึงคร่าวๆโดยเน้นตรงส่วนที่เกี่ยวกับสถานที่ที่ไปในการเที่ยวครั้งนี้

หากแบ่งช่วงประวัติศาสตร์พม่าตามราชวงศ์กษัตริย์ที่ปกครองประเทศก็จะแบ่งได้เป็นหลักๆทั้งหมด ๓ ยุค คือราชวงศ์พุกาม ราชวงศ์ตองอู และราชวงศ์อลองพญา

ราชวงศ์พุกาม (ပုဂံခေတ်bagan khit, ปี 849–1297) เป็นราชวงศ์แรกที่รวบรวมแผ่นดินพม่าเป็นปึกแผ่น ตั้งเป็นอาณาจักรพุกาม มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองพุกาม

เมืองพุกามเป็นเมืองหลวงมายาวนานมีความยิ่งใหญ่มาก มีการสร้างอะไรต่างๆมากมาย ซึ่งสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นจำนวนมากในพุกามนั้นยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน และมันจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการเที่ยวของเราครั้งนี้

อาณาจักรพุกามที่ยิ่งใหญ่ต้องจบสิ้นลงด้วยการบุกโจมตีของจักรวรรดิมองโกลที่นำโดยกุบไลข่าน เมื่อพุกามล่มสลายลงดินแดนต่างๆที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองก็พากันถือโอกาสแยกตัวออกไป แผ่นดินพม่าแตกออกเป็นอาณาจักรน้อยใหญ่มากมาย เช่น ปินยา ซะไกง์ อังวะ และอาณาจักรของชนกลุ่มน้อยเช่น พะโค (หงสาวดี) ยะไข่

แต่ในที่สุดพม่าก็กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งภายใต้การนำของราชวงศ์ตองอู (တောင်ငူခေတ်taung-u khit, ปี 1510–1752) ซึ่งมีกษัตริย์ที่เก่งกาจอย่างตะเบ็งชเวตี้และบุเรงนอง อีกทั้งยังตียึดอาณาจักรรอบข้างอย่างอยุธยา ล้านนา ล้านช้าง มาได้ด้วย

แต่ราชวงศ์ตองอูก็ต้องล่มสลายลงด้วยการรุกรานของชาวมอญ หลังจากนั้นไม่นานก็มีผู้กอบกู้ชาติรวบรวมพม่าขึ้นเป็นปึกแผ่นขึ้นอีกครั้ง และตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์คือพระเจ้าอลองพญา แล้วพม่าก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์อลองพญา หรือราชวงศ์โกนบอง (ကုန်းဘောင်ခေတ်konbaung khit, ปี 1752–1885)

แต่ราชวงศ์นี้ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะต้องเจอการรุกรานจากอังกฤษซึ่งเริ่มยึดครองอินเดียได้ก่อนแล้ว พม่าต้องทำสงครามกับอังกฤษครั้งแรกในปี 1824 - 1826 และต้องพ่ายแพ้เสียดินแดนยะไข่และตะนาวศรีไป

แล้วก็ตามมาด้วยสงครามครั้งที่สองในปี 1852 ซึ่งก็แพ้แล้วเสียดินแดนตอนใต้อย่างย่างกุ้งและพะโค จากนั้นสุดท้ายสงครามครั้งที่สามปี 1885 พม่าจึงถูกอังกฤษยึดครองทั้งหมด เมืองหลวงถูกย้ายจากมัณฑะเลย์ไปอยู่ย่างกุ้ง

หลังสงครามโลกครั้งที่สองพม่าก็ได้ประกาศตัวเป็นอิสระจากอังกฤษในปี 1948 แต่ไม่นานประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารซึ่งทำให้เกิดปัญหาอย่างยาวนานต่อมา จนปัจจุบันถึงเริ่มค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ และในปี 2005 พม่าย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งมาอยู่ที่เนปยีดอ

เป้าหมายการเที่ยวในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคอาณาจักรพุกาม คือเมืองพุกาม ไปจนถึงยุคราชวงศ์อลองพญาซึ่งใช้เมืองหลวงหลายแห่งและเกือบทั้งหมดเป็นเมืองที่เราแวะไปในเที่ยวนี้ ได้แก่อังวะ ซะไกง์ อมรปุระ และมัณฑะเลย์

สำหรับประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมและช่วงเผด็จการทหารนั้นคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเที่ยวนี้มากเพราะไม่ได้ไปย่างกุ้ง แต่จะมาเกี่ยวอีกทีก็คือช่วงสมัยใหม่ที่ย้ายเมืองหลวงไปแห่งใหม่คือเนปยีดอ เพราะเราได้แวะไปเที่ยวเมืองหลวงแห่งใหม่นี้มา และนี่เป็นส่วนเดียวของเที่ยวนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับอะไรที่เป็นสมัยใหม่ นอกจากที่เที่ยวในเนปยีดอแล้วทุกที่เที่ยวที่ไปมาเป็นโบราณสถานทั้งสิ้น



~ภาษาและชื่อต่างๆ~

ปกติเราไปประเทศไหนก็จะพยายามศึกษาภาษาที่นั่นไว้บ้าง สำหรับเที่ยวพม่าครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับที่ไปเที่ยวเขมร นั่นคือแม้จะไม่ได้ศึกษาจนถึงขั้นสื่อสารกันได้ แต่ก็รู้คำพื้นฐาน แล้วก็วิธีการอ่านตัวอักษร

หลักการเขียนชื่อต่างๆภายในบทความนี้ยึดตามหลักของราชบัณฑิต https://th.wikipedia.org/wiki/การทับศัพท์ภาษาพม่า

ภาษาพม่ามีลักษณะที่น่าจำอยู่อย่างก็คือว่ามันไม่มีเสียงตัวสะกดที่ชัดเจน เวลาที่เห็นชื่อที่เขียนทับศัพท์ด้วยอักษรโรมันมักจะเห็นลงท้ายด้วย t หรือ k ซึ่งแทนอักษร
တ และ က ซึ่งแทนเสียงแม่กดและแม่กด แต่ว่าในความเป็นจริงไม่มีการออกเสียงชัดเจนจึงเป็นแค่เสียงกักท้ายพยางค์ เช่นคำว่า kyauk (ကျောက်) แปลว่า "หิน" ออกเสียงเป็น "เจา" แล้วท้ายพยางค์ให้หยุดเหมือนมีตัวสะกดปิดท้ายแต่ไม่ต้องออกเสียง ในที่นี้จะเขียนเป็น "เจาะ" ตามหลักการเขียนของราชบัณฑิต

ส่วนตัวสะกดแม่กง กน กม นั้นในภาษาพม่าถูกรวบเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมดคือเป็นเสียงแม่กงกึ่งแม่กน คล้ายๆในภาษาญี่ปุ่น ไม่มีการแยกชัดเจนแม้จะมีรูปเขียนที่ต่างกันก็ตาม

ดังนั้นไม่ว่าคำจะลงท้ายด้วย น (န
) ง () หรือ ม () (ทับศัพท์เป็น n ng หรือ m) ก็ตาม ก็ไม่ได้ออกเสียงต่างกัน แต่บางทีอาจมีการถอดเป็นอักษรโรมันเป็น n บ้าง ng บ้าง ซึ่งระบบการทับศัพท์ตามของราชบัณฑิตก็มีการใช้ทั้ง "น" และ "ง" แล้วแต่คำ เช่น kyaung (ကျောင်း) ที่แปลว่า "โรงเรียน" อ่านว่า "จอง"

ที่น่าจำไว้อีกอย่างเพราะอาจเข้าใจผิดได้ง่ายก็คือว่า ky (
ကျ) ในภาษาพม่าอ่านออกเสียงเป็น "จ" ซึ่งถ้าใครไม่รู้มาก่อนคงอ่านผิดแน่ ส่วน gy (ဂျ) นั้นจะอ่านออกเสียงเป็นคล้ายตัว j ในภาษาญี่ปุ่น ในที่นี้เขียนแทนด้วย "จ" เช่นเดียวกับ ky เพราะภาษาไทยไม่มีเสียงนี้ แต่ที่จริงเป็นคนละเสียง

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย เช่นอักษร
သ ซึ่งมักทับศัพท์เป็น th ไม่ใช่เสียง "ท" แต่เป็นเสียง th แบบในภาษาอังกฤษเลย ในที่นี้จะเขียนแทนด้วย "ธ" ส่วนเสียง "ท" ในภาษาพม่าคือตัว มักจะเขียนเป็น ht และในทำนองเดียวกัน เสียง "พ" คืออักษร ဖ ก็เขียนเป็น hp ไม่ได้เขียนเป็น ph เหมือนในภาษาไทย ลาว เขมร

แล้วก็ยังมีเสียง ny ซึ่งเป็นเสียง น ควบ ย คล้ายๆในภาษาอีสาน (ลาว) ไม่มีในภาษาไทยกลาง ในที่นี้จะเขียนแทนด้วย "ญ"

ชื่อเมืองที่จะเขียนในนี้ทั้งหมดเป็นการเขียนตามเสียงอ่านในภาษาพม่า ยกเว้นชื่อที่คนไทยเรียกมาจนชินคุ้นหูแล้วก็จะใช้ชื่อตามนั้น เช่นชื่อเมืองหลักอย่างมัณฑะเลย์ พุกาม อังวะ ซึ่งจริงๆถ้าเขียนตามหลักก็น่าจะเขียนว่า มานดะเล บากัน อินวะ

เนื่องจากภาษาพม่าเป็นภาษาที่ได้อิทธิพลจากภาษาบาลีสันสกฤตเหมือนกันกับไทย ทำให้อักษรมีลักษณะคล้ายอักษรไทย สามารถเทียบเคียงกันได้ ดังนั้นบางชื่อที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยนั้นจึงมาจากการเทียบตัวอักษรโดยตรงซะมาก แต่อักษรเดียวกันในสองภาษานี้ก็มีอยู่หลายตัวที่ไม่ได้ออกเสียงเดียวกันในปัจจุบัน ดังนั้นการถอดอักษรจึงไม่ได้ให้เสียงอ่านที่ตรง

เช่น อักษร
စ ในภาษาพม่าซึ่งเทียบเคียงกับ "จ" ในภาษาไทยนั้นอ่านออกเสียงเป็น "ซ" ทำให้คำว่า "เจดีย์" (စေတီ) ในภาษาพม่าอ่านเป็น "เซดี"

ภาษาพม่ามีการใช้คำทับศัพท์จากภาษาบาลีสันสกฤตเยอะเช่นเดียวกับไทย ดังนั้นถ้าหากถอดได้ว่าอักษรไหนเทียบเคียงกับอักษรไทยตัวอะไรก็จะเดาความหมายได้ไม่ยากเลย

ที่สำคัญอีกอย่างคือภาษาพม่าเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ แต่โดยทั่วไปเวลาเขียนทับศัพท์ในภาษาไทยมักถูกละเลย ชื่อภาษาพม่าที่เรียกกันจนชินในภาษาไทยที่มีเขียนรูปวรรณยุกต์นั้นส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้ออกเสียงแบบนั้นจริงๆ

เพื่อลดความยุ่งยาก หลักการเขียนของราชบัณฑิตเองก็ละเรื่องเสียงวรรณยุกต์ ในบทความนี้ก็จะยึดหลักตามนั้น คือไม่มีการใส่รูปวรรณยุกต์ อย่างไรก็ตามขอให้รู้ไว้ว่าในความเป็นจริงภาษาพม่ามีวรรณยุกต์ทั้งหมด ๓ เสียง ถ้าออกเสียงผิดวรรณยุกต์ความหมายก็เปลี่ยนไปด้วย



~เตรียมตัวออกเดินทาง~

ครั้งนี้เป็นการเที่ยวค่อนข้างยาว สัมภาระจึงต้องเตรียมไปเยอะพอสมควร ต้องโหลดของขึ้นเครื่องทำให้ต้องจ่ายเงินค่าโหลดกระเป๋า ต่างจากครั้งเมื่อไปเสียมราฐที่ไปแค่ ๔ วันแบกเป้ใบเดียวเหลือเฟือ

นอกจากพวกเครื่องแต่งกายและเสบียงแล้ว อุปกรณ์ที่เตรียมไปคร่าวๆก็มีดังในรูปนี้



แม็กบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป ไฟสำรอง และ ps vita

กล้องถ่ายรูปนี่คงไม่ต้องพูดถึง เป็นอุปกรณ์ขาดไม่ได้สำหรับการเที่ยวอยู่แล้ว ส่วนมือถือก็เอาไปเพื่อใส่ซิมที่นั่น เผื่อว่าเวลาจ้างรถรับจ้างแล้วต้องมีการโทรตามกัน หรือเผื่อธุระฉุกเฉินอื่นๆ อีกทั้งยังใช้ GPS ดูแผนที่หาตำแหน่งได้ด้วย นอกจากนี้ยังใช้แทนไฟฉายได้ด้วย แล้วก็เป็นกล้องสำรองเวลาไม่สะดวกหยิบกล้องตัวหลักออกมา

ส่วนคอมนั้นที่ต้องเอาไปเพราะอยู่นาน เป็นคนติดคอมไม่อาจห่างหายไปนานเกินไปได้

ไฟสำรองก็เอาไปเผื่อมือถือหรือกล้องแบตหมด แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่เคยใช้จนหมด แต่เผื่อไว้ก็ดีกว่าขาด

ส่วน ps vita นี่เพิ่งเพิ่มเข้ามาตอนหลัง คิดดูแล้วมันเหมาะสำหรับเอาไปใช้ฆ่าเวลาได้ดี อีกทั้งเอาไว้สร้างความทรงจำร่วมระหว่างการท่องเที่ยวจริงๆกับการเที่ยวในโลกของเกม เหมือนอย่างครั้งเมื่อไปเสียมราฐเลย

เกมที่พกไปครั้งนี้คือเกม อาเตอลีเยของอาช่า ~นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งแผ่นดินสายันห์ ~(アーシャのアトリエ 〜黄昏たそがれ大地だいち錬金術士れんきんじゅつし〜, ayesha no atelier ~Tasogare no daichi no renkinjutsushi~)



เรื่องราวเกี่ยวกับสาวน้อยนักเล่นแร่แปรธาตุที่ออกเดินทางผจญภัยสำรวจซากโบราณสถานต่างๆ ซึ่งว่าไปแล้วก็เข้ากันได้ดีกับทริปนี้ซึ่งเน้นเที่ยวโบราณสถานเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งชื่ออาช่านั้นขึ้นต้นด้วย Aye ซึ่งตรงกับชื่อภาษาพม่าของแม่น้ำอิรวดีคือ Ayeyarwady

เรื่องเกี่ยวกับเกมนี้มีเขียนบันทึกไว้แล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150813

โบราณสถานไม่ว่าโลกไหนก็เป็นสถานที่ที่ดูลึกลับน่าค้นหา เหมาะแก่การมาผจญภัยเพื่อสืบค้นเรื่องราวต่างๆ



ส่วนเรื่องเงินนั้นเราเตรียมเงินไปเป็นดอลลาร์สหรัฐฯแล้วไปแลกเป็นเงินจ๊าดที่นั่นอีกที ที่ต้องทำแบบนี้เพราะจะได้อัตราที่คุ้มกว่าและสะดวกกว่าเพราะเงินบาทแลกเป็นจ๊าดโดยตรงจะโดนคิดอัตราแลกค่อนข้างโหด แต่เงินดอลที่จะเตรียมไปแลกที่พม่าได้มีเงื่อนไขค่อนข้างจำกัดคือต้องห้ามมีรอยยับหรือเปื้อนอะไร ทำให้เวลาไปแลกต้องกำชับกับพนักงานแลกให้ดี

เราไปแลกเงินเมื่อวันที่ 23 ก.ค. อัตราแลกขณะนั้นคือ ๑ ดอลต่อ ๓๔.๘๐ บาท แต่เขาคิดอัตราเพิ่มเป็น ๓๔.๙๐ บาทเนื่องจากเรามีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าจะต้องเป็นธนบัตรใหม่เอี่ยม ซึ่งพนักงานที่รับแลกเขาก็เหมือนจะรู้และเข้าใจดีอยู่แล้วว่ามีข้อกำหนดยุ่งยากแบบนั้นจริงๆและคนที่จะไปพม่าก็ต้องเรื่องมากแบบนี้ทุกคน



เราเตรียมเงินดอลติดตัวไว้ทั้งหมด ๕๒๕ ดอล ซึ่งถือว่าเยอะเกินที่ใช้จริงไปมาก แต่เผื่อไว้ก่อนไม่มีอะไรเสียหาย

แล้วก็ยังโชคดีที่ว่าช่วงนั้นอัตราแลกเปลี่ยนกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี ค่าเงินดอลถูกลงเรื่อยๆเมื่อเทียบกับเงินบาท คือตอนนั้นซื้อเงินดอลไม่แพง แต่พอกลับมาแล้วจะแลกเงินที่เหลือกลับนั้นกลับได้ราคาดีกว่า เลยกลายเป็นว่าเงินที่แลกไปเกินนั้นเหมือนเป็นการเล่นหุ้นแล้วได้กำไร

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทำวีซา ซึ่งช่วงที่เราไปยังต้องทำวีซาอยู่เพราะไปวันที่ 25 ก.ค. แต่วีซายกเลิกตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. ไปเร็วไปแค่นิดหน่อยเอง รายละเอียดเรื่องวีซาคงจะไม่เขียนถึงเพราะมันทำง่ายมาก แล้วก็ถึงเขียนถึงไปก็คงไม่ได้ใช้แล้วเพราะคงไม่มีความจำเป็นต้องทำอีกต่อไป ยกเว้นอยากจะเที่ยวนานเกิน ๑๔ วัน



~กำหนดการ~

วันที่ ๑ : 25 ก.ค.
   ตอนเช้าออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองสู่เมืองมัณฑะเลย์ ตอนบ่ายเที่ยวพระราชวังมัณฑะเลย์ท่ามกลางสายฝน
วันที่ ๒ : 26 ก.ค.
   ตอนเช้าไปฟังบรรยายด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ เสร็จแล้วตอนบ่ายไปเที่ยวเนินเขามัณฑะเลย์และวัดในระแวกรอบๆท่ามกลางสายฝน
วันที่ ๓ : 27 ก.ค.
   ตอนเช้าเที่ยววัดที่อยู่ในแถบตะวันตกของเมืองมัณฑะเลย์และพิพิธภัณฑ์มัณฑะเลย์ท่ามกลางสายฝน จากนั้นตอนบ่ายเก็บข้าวของแล้วเดินทางด้วยรถบัสจากมัณฑะเลย์สู่เนปยีดอ ตอนเย็นถึงเนปยีดอแล้วเข้าพักในโรงแรม
วันที่ ๔ : 28 ก.ค.
   เหมารถแท็กซีเที่ยวในเนปยีดอทั้งวันท่ามกลางสายฝน
วันที่ ๕ : 29 ก.ค.
   นั่งรถบัสท่ามกลางสายฝนจากเนปยีดอสู่พุกาม ใช้เวลา ๘ ชั่วโมง ทั้งวันหมดไปกับการเดินทาง ตอนเย็นถึงพุกามและเข้าพักในโรงแรม
วันที่ ๖ : 30 ก.ค.
   เหมารถแท็กซีเที่ยวท่ามกลางสายฝน ชมเจดีย์ ๑๗ แห่งในพุกาม รวมถึงพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและปราสาทพุกาม
วันที่ ๗ : 31 ก.ค.
   ตอนเช้าเดินไปชมเจดีย์ชเวซิโกนและวิหารกูบเยาจีท่ามกลางสายฝน ตอนบ่ายพักผ่อนว่างๆ
วันที่ ๘ : 1 ส.ค.
   ตอนเช้าเดินทางจากพุกามสู่มัณฑเลย์ ตอนบ่ายไปถึงแล้วเข้าโรงแรมพักผ่อนว่างๆ กลางคืนไปชมการแสดงละครหุ่นกระบอกพื้นบ้าน
วันที่ ๙ : 2 ส.ค.
   เหมารถแท็กซีทั้งวัน ตอนเช้าเที่ยวเมืองซะไกง์ ตอนบ่ายเที่ยวเมืองอังวะ เสร็จแล้วก็เที่ยวเมืองอมรปุระ อยู่ดูพระอาทิตย์ตกดินที่สะพานอูเบน
วันที่ ๑๐ : 3 ส.ค.
   ตอนเช้านั่งเรือไปเที่ยวเมืองมีนกูน ตอนบ่ายพักผ่อนว่างๆ กลางคืนไปชมการแสดงเต้นพื้นบ้าน
วันที่ ๑๑ : 4 ส.ค.
   เดินทางกลับ

อนึ่ง จะเห็นว่ามีคำว่า "ท่ามกลางสายฝน" เยอะมาก เติมไปแล้วดูสวยดีเพราะดี และในความเป็นจริงมันก็ฝนตกแทบจะตลอดจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้กระทบอะไรมาก เที่ยวจนจบก็ยังไม่เป็นหวัดไม่รู้เหมือนกันว่ารอดมาได้ยังไง



จบการกล่าวนำเกี่ยวกับการเดินทาง ต่อจากนี้ไปจะเล่าเป็นตอนๆพูดถึงสถานที่ต่างๆที่ไปมาทั้งหมดและการเดินทาง ส่วนตอนท้ายสุดจะมีการสรุปอีกที

เริ่มตอนแรกได้เลย https://phyblas.hinaboshi.com/20150823


แก้ไขใหม่ล่าสุด 26 ธันวาคม 2019


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ต่างแดน >> อุษาคเนย์ >> พม่า

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ