φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



เที่ยวเมืองอังวะ เมืองหลวงเก่าที่เหลือเพียงแต่ซาก
เขียนเมื่อ 2015/09/20 20:42
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อาทิตย์ 2 ส.ค. 2015

หลังจากที่ตอนที่แล้วได้ไปชมเมืองซะไกง์เมืองหลวงเก่ากันมาแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20150918

คราวนี้มาต่อที่เมืองหลวงเก่าอีกแห่งคือเมืองอังวะ

คำว่าอังวะเป็นชื่อที่เรียกในภาษาไทย ส่วนชื่อในภาษาพม่าเรียกว่า "อินวา" (
အင်းဝinwa) แต่ชื่อที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวตะวันตกมาตั้งแต่สมัยโบราณคือ Ava ซึ่งเริ่มมาจากภาษาโปรตุเกส โดยชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาในระยะแรกๆ

เที่ยวมาถึงตรงนี้เวลาได้ล่วงเลยมาจนเกือบเที่ยงแล้ว ท้องฟ้าตอนนี้ยังคงปกคลุมด้วยเมฆอยู่เช่นเคย

คงต้องร้องเพลงต่อจากตอนเช้าว่า "ฟ้าลุ่มอิรวดียามนี้มีแต่เมฆ..."

ว่าไปแล้วในเพลง "ผู้ชนะสิบทิศ" นั้นมีการกล่าวถึงเมืองอย่างตองอูหรือเมืองแปร ซึ่งทุกคนคงจะคุ้นหูกันดีอยู่แล้ว อย่างที่รู้ได้จากเพลงนี้คือบุเรงนองเผาเมืองแปรให้มันวอดวาย

เราไม่เคยอ่านนิยายหรือดูละครเรื่องผู้ชนะสิบทิศ เคยแต่อ่านประวัติศาสตร์จริงๆของช่วงนั้น ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าในยุคนั้นพม่ากำลังอยู่ในช่วงวุ่นวายหลังจากที่อาณาจักรพุกามล่มสลายลงมาแล้วเป็นเวลานาน

ช่วงศตวรรษที่ 16 มีอาณาจักรหลักๆอยู่ได้แก่อังวะ แปร ตองอู แล้วก็ยังมีพะโค (หงสาวดี) ของชาวมอญ

สำหรับตองอู เมืองแปร พะโค นั้นเราไม่มีโอกาสได้ไปในครั้งนี้เพราะอยู่ห่างลงไปทางใต้ แผนคราวนี้เมืองที่จะไปเที่ยวมีแค่เมืองที่อยู่ทางเหนือเท่านั้น ซึ่งมีแค่อังวะ

ตองอูนั้นก็คืออาณาจักรของบุเรงนอง ซึ่งตอนหลังเอาชนะแล้วก็รวบรวมพม่าเป็นปึกแผ่น ส่วนเมืองแปรนั้นเป็นแค่หัวเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่เดิมทีแยกตัวออกมาจากอาณาจักรอังวะในปี 1482 หากเทียบกันแล้วก็ไม่ได้ถึงกับเด่นเท่าไหร่ แต่กลับมีบทบาทมากในนิยาย แล้วก็ในเพลง

จากที่เล่าไปในตอนที่แล้ว อาณาจักรอังวะก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1364 โดยพระเจ้าธะโดมีนพะยา โดยสืบทอดอำนาจต่อจากอาณาจักรปินยาและซะไกง์

อังวะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากเพราะเป็นจุดตัดระหว่างแม่น้ำอิรวดีกับแม่น้ำมยิแง (
မြစ်ငယ်မြစ်myitnge myit) ซึ่งสามารถใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติ ตอนที่สร้างเมืองอังวะมีการขุดคลองล้อมโดยให้ตัวเมืองอยู่ในวงปิดระหว่างคลองกับแม่น้ำสองสายทำให้เมืองมีสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ

ว่ากันว่าในปี 1313 ตอนที่พระเจ้าธีหะธูก่อตั้งอาณาจักรปินยานั้นเขาได้เล็งตำแหน่งที่เมืองอังวะนี้ไว้แต่เพราะโหรทำนายว่าตำแหน่งไม่เป็นมงคลก็เลยต้องเลื่อนตำแหน่งที่ตั้งเมืองหลวงปินยาไปหลายกิโลเมตร

ในปี 1527 อังวะได้พ่ายแพ้ให้กับอาณาจักรไทใหญ่ แล้วทางไทใหญ่ก็ส่งคนของตัวเองมาตั้งเป็นกษัตริย์อังวะเสียเองทำให้อังวะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไทใหญ่ไป ส่วนเมืองแปรเองก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทใหญ่ไปด้วย

แต่ต่อมาความพยายามกอบกู้ชาติโดยราชวงศ์ตองอูก็เริ่มต้นขึ้นโดยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ โดยตีพะโคแตกในปี 1539 และตีเมืองแปรแตกในปี 1542

จากนั้นถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ปี 1555 ก็ตีอังวะแตก ทำให้อังวะกลับมาเป็นของพม่าอีกครั้ง ราชวงศ์ตองอูรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ

หลังจากนั้นราชวงศ์ตองอูยังได้นำอังวะกลับมาใช้เป็นเมืองหลวงด้วยเป็นระยะเวลานานกว่าร้อยปีในช่วงปลายยุคของราชวงศ์

พอมาถึงช่วงราชวงศ์อลองพญา เมืองอังวะก็มีช่วงที่ถูกใช้เป็นเมืองหลวง คือในปี 1765 จนถึงปี 1783 จากนั้นก็มีการย้ายไปที่อมรปุระแล้วก็ย้ายกลับมาอังวะอีกทีในปี 1821 จนถึงปี 1842 ก็ย้ายกลับไปยังอมรปุระอีกที

ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าอังวะเป็นเมืองหลวงเก่าที่สำคัญเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานมาก อย่างไรก็ตามในปี 1838 อังวะเจอแผ่นดินไหวทำให้เสียหายอย่างหนัก หลังจากนั้นก็ถูกทิ้งร้างไปเลย

ปัจจุบันอังวะกลายเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศเพราะเต็มไปด้วยโบราณสถานที่หลงเหลือจากสมัยที่ยังรุ่งโรจน์

การเที่ยวอังวะนั้นสามารถมาได้ง่ายจากเมืองมัณฑะเลย์ แต่ระหว่างมัณฑะเลย์กับอังวะนั้นมีแม่น้ำมยิเงคั่นอยู่และสะพานที่จะข้ามไปนั้นก็อยู่ไกล ทำให้เส้นทางถนนที่จะไปสู่อังวะนั้นต้องอ้อมไกล ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงมักจะนั่งรถมาจอดที่ท่าเรือซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามตัวเมืองอังวะแล้วนั่งเรือข้ามไปเที่ยวอังวะอีกที



รถพาเราข้ามสะพานข้ามแม่น้ำอิรวดีกลับมาฝั่งมัณฑะเลย์ โดยสะพานที่ข้ามคราวนี้เป็นสะพานเก่า ต่างจากขามาที่ข้ามโดยสะพานใหม่ สะพานเก่านี้ชื่อว่าสะพานอังวะ ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1934 ถูกทำบายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสร้างใหม่ในปี 1954



ข้ามสะพานมาแล้วก็เลี้ยวลงใต้ต่อมาจนถึงท่าเรือ เห็นสภาพท่าเรือแล้วรู้ได้เลยว่าระดับน้ำขึ้นสูงกว่าปกติ มีบ้านเรือนจมอยู่ใต้น้ำ



ค่าเรือคือ ๑๐๐๐ จ๊าด เรือลำที่เราเห็นตอนแรกที่มาถึงนั้นเต็มแล้วจึงต้องรอเรือถัดไปซึ่งก็เว้นช่วงไม่นานนัก มีคนมารอขึ้นเรืออยู่ไม่น้อย ซึ่งก็เป็นชาวต่างชาติซะส่วนใหญ่



แล้วเรือก็มา



เมื่อเรือเคลื่อนเข้ามาใกล้ถึงฝั่งอังวะก็เห็นบ้านเรือนหลายหลังจมน้ำอยู่





พอมาถึงก็เจอรถม้าอยู่เป็นจำนวนมากมาย นักท่องเที่ยวแต่ละคนต่างก็จับจองรถม้าของตัวเอง โดยมากจะนั่งสองคนต่อคัน ค่าโดยสารนั้นเป็นมาตรฐานอยู่แล้วคือ ๘๐๐๐ จ๊าดต่อคัน จ้างให้ไปไหนก็ได้ในนี้เป็นเวลา ๒ ชั่วโมง เรื่องนี้คนขับแท็กซีบอกเราชัดเจนตั้งแต่ก่อนนั่งเรือมา ถึงอย่างนั้นมาถึงก็ยังมีเล่นตุกติกเช่นบอกว่า ๘๐๐๐ จ๊าดนั่งไปได้แค่ชั่วโมงเดียว แต่พอค้านไปเขาก็ยอมให้เป็น ๒ ชั่วโมง



สำหรับสถานที่เที่ยวในนี้โดยหลักๆแล้วมีอยู่ ๔ แห่ง
- หมู่เจดีย์ยะดะนาซีมี (ရတနာဆီမီးဘုရားyadana hsimi buyar
)
- วิหารบากะยา (ဗားကရာကျောင်းbagaya kyaung
)
-
หอคอยนานมยิน (နန်းမြင့်မျှော်စင်nan myint myawsein)
- วัดมะฮาอองมเยโบนซาน (
မဟာအောင်မြေဘုံစံကျောင်းmaha aungmye bonzan kyaung)

ไม่ว่าใครจะมาก็ต้องชม ๔ แห่งนี้ ซึ่งเวลา ๒ ชั่วโมงที่วางไว้ก็ดูจะลงตัวพอดีเลย อย่างไรก็ตามที่จริงแล้วในนี้ยังมีพวกเจดีย์เล็กๆที่มีความสำคัญน้อยกว่า แล้วก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ดูแล้วเวลาไม่พอที่จะแวะก็เลยไม่ได้แวะ

คนที่ขับให้เรานั้นเป็นคุณลุงที่ดูแล้วอายุมากพอสมควรแต่ก็ดูยังแข็งแรงดีอยู่ เมื่อได้รถม้าแล้วก็ออกเดินทางเลย ค่ารถม้าจ่ายทันทีตั้งแต่ก่อนขึ้น ต่างจากรถม้าที่พุกามที่จ่ายหลังจากลง



ระหว่างทางผ่านพิพิธภัณฑ์โบราณคดีอังวะ แต่เราไม่ได้แวะเข้าไป



แล้วก็ผ่านเจดีย์ชเวซีโกน (ရွှေစည်းခုံဘုရားshwezigon buyar
) ชื่อเจดีย์นี้เหมือนกับชเวซีโกนที่พุกามเลย แต่ชเวซีโกนของที่นี่ไม่มีอะไรเด่น ไม่ใช่จุดที่คนจะต้องแวะเข้าไปชม แค่ถ่ายรูประหว่างผ่านก็พอ



ระหว่างทางเส้นทางที่ผ่านเท่าที่เห็นค่อนข้างเงียบสงบมีแต่ธรรมชาติซะมาก บ้านคนไม่ค่อยเยอะ ชาวบ้านแถวนี้ทำปศุสัตว์กัน




มาถึงเป้าหมายแรกคือหมู่เจดีย์ยะดะนาซีมีแล้ว









เราเดินไม่นานก็เสร็จ ระหว่างที่รอเพื่อนผู้ร่วมเดินทางสำรวจอย่างละเอียดอยู่นั้นก็ไปเดินเล่นที่ทุ่งหญ้าข้างๆแถวนั้น เจอวัวที่คนเขาเลี้ยงไว้จึงเข้าไปถ่ายใกล้ๆ



หลังจากที่ท้องฟ้ามีฝนตั้งเค้ามานานในที่สุดก็เริ่มมีหยดน้ำปรอยตกลงมา แต่ก็ไม่ได้หนักจนทำให้ใครต้องกางร่ม



รถม้ามุ่งหน้าต่อไปสู่เป้าหมายต่อไป



นั่นคือวิหารบากะยา ที่นี่ถูกสร้างในปี 1834 โดยใช้ไม้สัก มีการแกะสลักลวดลายบนไม้มากมายดูแล้วสวยงาม เป็นสถาปัตยกรรมที่เยี่ยมยอด



หลังคาของศาลาทำออกมาได้สวยงาม



ตัวอาคารซึ่งทำจากไม้นั้นดูแล้วสวยงาม




ลวดลายต่างๆที่แกะสลักบนผิวไม้อย่างวิจิตร




เข้ามาชมด้านในอาคารก็พบว่ามีการแกะสลักอยู่มากมาย




แม้แต่ที่พื้นก็มีลวดลาย



ภายในนี้ยังมีสามเณรกำลังนั่งเรียนหนังสืออยู่ด้วย เราได้แต่มองจากห่างๆไม่ได้เข้าไปใกล้และไม่กล้าส่งเสียงรบกวน



ข้างๆมีเจดีย์ริมน้ำอยู่ ถ่ายสะท้อนน้ำสวยงาม



เสร็จแล้วก็เดินทางย้อนกลับไปทางเดิมเพื่อเลี้ยวไปเข้าย่านในกำแพงเมืองเก่า



เดินผ่านประตูเมืองเก่า



เข้ามาด้านในกำแพงแล้ว ภายในนี้ก็เห็นเจดีย์อยู่ประปรายระหว่างทาง




ระหว่างทางเส้นทางที่ผ่านนั้นเริ่มดูเคว้งและรถม้าก็แล่นช้าพอสมควร เรามองรอบข้างจนไม่มีอะไรให้มองแล้วก็เลยตัดสินใจหยิบเกมมาเล่นต่อ ซึ่งก็มีเวลาสักพักในการเล่นเพราะรถม้าค่อนข้างช้า แม้ขนาดภายในตัวเมืองจะไม่ได้กว้างสักเท่าไหร่แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ตรงนี้เล่นถึงตอนที่เจอศัตรูอาละวาดภายในหอสมุดและกำลังต่อสู้อยู่ https://phyblas.hinaboshi.com/20150819





มาถึงหอคอยนานมยิน หอนี้สูง ๓๐ เมตร ถูกสร้างขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังที่สร้างขึ้นในปี 1822 ปัจจุบันยังคงหลงเหลืออยู่โดยมีลักษณะเด่นคือเอียง



ด้านบนปิดไม่ให้ขึ้น





เสร็จแล้วก็มาต่อกันที่สุดท้ายคือวัดมะฮาอองมเยโบนซาน




ที่นี่เป็นวิหารสีเหลืองสวยงาม



ชั้นล่างของวิหารนั้นข้างในว่างเปล่าไม่มีอะไร


ขึ้นมาด้านบน



เข้าไปในอาคาร ในนี้มีแกะสลักอยู่บ้างแต่ไม่มาก



มองข้ามไปทางโน้นมีเจดีย์สีขาว




มองไปตรงนี้เห็นแม่น้ำอิรวดี



เห็นสะพานอังวะได้ชัด





เมื่อเสร็จแล้วก็นั่งรถม้ากลับมาที่เรือ เวลาที่ใช้ทั้งหมดก็ประมาณ ๒ ชั่วโมงพอดี



ออกเรือเพื่อเดินทางกลับ ระหว่างทางก็ถ่ายภาพสะพานอังวะพร้อมกับเนินเขาซะไกง์ได้




แล้วก็กลับมาถึงฝั่ง ซึ่งแท็กซีก็กำลังรอเราอยู่ เรารีบขึ้นแท็กซีเพื่อไปยังถัดไปซึ่งเป็นสุดท้ายของวันนี้นั่นคืออมรปุระ https://phyblas.hinaboshi.com/20150922




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> ศาสนสถาน >> วัด
-- ต่างแดน >> อุษาคเนย์ >> พม่า

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ