φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



ว่าด้วยเรื่องปริญญาจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะนำไปใช้ในไต้หวัน
เขียนเมื่อ 2017/06/15 16:21
แก้ไขล่าสุด 2023/02/25 22:33
ในการสมัครเรียนต่อต่างประเทศนั้นมักจะประกอบไปด้วยขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนมากมายทำให้ต้องวุ่นวายและกินเวลาพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมเอกสาร

โดยเฉพาะเมื่อประเทศที่จบมาและประเทศที่จะไปเรียนต่อเป็นคนละประเทศกัน แบบนี้ก็ยิ่งยุ่งยากขึ้นไปอีก

ความยุ่งยากนั้นไม่ได้มาจากแค่เรื่องภาษา แต่มาจากนโยบายการดำเนินการต่างๆข้ามประเทศและอาจรวมถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศด้วย

หลายคนอาจคิดว่าจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันนั้นก็คล้ายๆกัน จบจากจีนแผ่นดินใหญ่น่าจะไปต่อไต้หวันได้ง่ายๆ (หรือกลับกัน)

แต่ในความจริงแล้วมันมีความยุ่งยากกว่าที่คิด ซึ่งในบทความนี้จะมาเล่าประสบการณ์ตรงนี้



เรื่องเริ่มมาจากตอนที่เราเริ่มตัดสินใจทีจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว (國立清華大學) หลังจากที่เรียนจบจากจีนมาแล้วเริ่มทำงานมาสักพัก

ในการสมัครเรียนต่อ แน่นอนว่าต้องใช้ปริญญาบัตรและผลการเรียนจากมหาวิทยาลัยที่จบมา ซึ่งตอนจบก็ได้รับมาอยู่แล้วทั้งใบจบ, ปริญญาบัตร และผลการเรียน จึงคิดว่าใช้เป็นเอกสารสำหรับสมัครได้เลยไม่มีปัญหา

แต่พอลองสมัครดูจริงๆก็มีเมลแจ้งมาว่าเอกสารเหล่านี้ต้องผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งเรียกว่า กงเจิ้ง (公证, 公證) ซะก่อน

ตอนแรกเขาก็ไม่ได้ข้อมูลมาจนเข้าใจได้ดีพอ พอถามทางเจ้าหน้าที่ที่รับสมัครเขาก็ไม่รู้รายละเอียด บอกให้ถามทางจีนเอาเอง

เลยต้องลองติดต่อถามอาจารย์ที่ปรึกษาตอนเรียนที่ปักกิ่ง จึงได้ความว่าต้องไปยื่นเรื่องทำเอกสารที่ปักกิ่ง โดยต้องนำเอาตัวหลักฐานการศึกษาฉบับจริงที่เราได้ตอนจบไปด้วย

สถานที่ทำรับรองเอกสารเรียกว่ากงเจิ้งชู่ (公证处) มีอยู่หลายแห่งกระจายในเมืองต่างๆทั่วประเทศ แต่ละแห่งจะมีขอบเขตหน้าที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับกรณีรับรองผลการเรียนของมหาวิทยาลัยในปักกิ่งจะไปที่ทำการแห่งไหนก็ได้ในปักกิ่ง

ที่จริงหากจะทำตั้งแต่ตอนที่จบมาก็ทำได้ แต่ว่าการรับรองเอกสารเพื่อไปเรียนต่อแต่ละประเทศนั้นมีความต้องการที่ต่างกัน ขั้นตอนต่างกัน ค่าธรรมเนียมการทำก็ต่างกัน ดังนั้นหากยังไม่ได้แน่ชัดว่าจะไปเรียนต่อที่ไหนก็ยังไม่อาจทำล่วงหน้าไว้ได้อยู่ดี

และเท่าที่รู้มา สำหรับไต้หวันจะยุ่งยากยิ่งกว่าไปเรียนต่อประเทศไหนๆ สถานที่ที่รับทำเอกสารสำหรับไปไต้หวันก็มีน้อย จำกัดกว่ามาก



สำหรับการไปยื่นขอนั้น ขอแค่เอาเอกสารตัวจริงไปได้จะไปด้วยตัวเองหรือให้คนอื่นไปแทนก็ได้ แต่ถ้าจะให้คนอื่นทำให้ก็ต้องเอาเอกสารส่งไปรษณีย์ไปให้เพื่อนที่อยู่ปักกิ่งก็ดูจะลำบากอยู่ดี เรื่องสำคัญแบบนี้ก็ไม่อยากรบกวนคนอื่นมากไป ในที่สุดจึงตัดสินใจไปที่ปักกิ่งเอง

ผลก็คือต้องไปปักกิ่งในช่วงวันอาทิตย์ที่ 13 ถึงศุกร์ที่ 18 พ.ย. เป็นเวลา ๖ วัน

ต้องเสียเวลาไปหลายวันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ แต่การไปปักกิ่งครั้งนั้นก็ได้อะไรเพิ่มเติมหลายอย่างนอกเหนือไปจากแค่ไปทำธุระ

เช่นได้กลับไปเก็บรายละเอียดหอดูดาวโบราณปักกิ่งซึ่งเล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170203

แล้วก็ไปซื้อหนังสือมามากมาย https://phyblas.hinaboshi.com/20161220

ที่ต้องไปหลายวันเพราะจากการหาข้อมูลผ่านทางเว็บพบว่าต้องใช้เวลาทำเอกสาร ๓ วัน จึงกะว่าไปถึงวันอาทิตย์ วันรุ่งวันจันทร์รีบไปทำ พอวันพฤหัสก็น่าจะได้รับ แต่เผื่อไว้อีกวันเผื่อล่าช้าจึงกลับเป็นวันศุกร์



วางแผนไว้พร้อมแล้ว ก็หวังว่าทุกอย่างจะราบรื่น แต่... ก็เจอปัญหาตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลย นั่นคือพอไปที่สุวรรณภูมิตอนกลางดึกของวันที่ 12 เพื่อจะออกเดินทางด้วยเครื่องบินไปปักกิ่งรอบตี ๒ ของสายการบินเซี่ยงไฮ้ พอเช็คอินเขาก็บอกว่าไม่มีชื่อเราอยู่ในผู้โดยสารที่ได้จองไว้

ปัญหานี้เกิดจากการที่ตอนจอง จองกับทางเว็บ cheapticket ซึ่งเป็นเว็บตัวแทนจำหน่าย ดูเหมือนจะเกิดการผิดพลาดบางอย่างขึ้นมาทำให้ในระบบบอกว่าเราจองไว้แล้ว จ่ายเงินแล้วทุกอย่างไม่มีปัญหา แต่ในข้อมูลของสายการบินบอกว่าเราได้จองไว้จริงแต่ยกเลิกไป จึงไม่มีชื่อในผู้โดยสาร

ผลก็คือเราอดขึ้นเครื่องบินรอบนี้ จึงรีบหาเที่ยวบินถัดไปที่ใกล้เคียงที่สุดแทน ก็พบเที่ยวบินของการบินไทยรอบเช้า ซึ่งโชคดีว่าราคาไม่แพงทั้งๆที่จองแบบกะทันหัน

เนื่องจากเป็นเที่ยวบินรอบเช้าจึงต้องรอจนถึงเช้า จะให้นอนที่สนามบินก็ลำบาก จึงต้องหาที่พัก ผลก็คือต้องไปเสียค่าโรงแรมสำหรับพักค้างแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่ยังไงก็จำเป็นเพราะต้องพักเอาแรง

เรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เราได้ส่งเมลติดต่อสอบถามปัญหากับทาง cheapticket แล้ว ทางนั้นรับผิดชอบด้วยการคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินที่จองผิดพลาดนั้นให้ แค่นั้น ไม่มีการบวกค่าเสียเวลาใดๆให้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะฟ้องก็อาจจะได้ แต่เราไม่พร้อมที่จะทำเรื่องยุ่งๆขนาดนั้น

ได้แต่บอกให้คนอื่นรู้ว่าอย่าไว้ใจเว็บตัวแทนขายตั๋ว เพราะเวลามีปัญหาจะติดต่อหาความรับผิดชอบได้ยาก ถ้าจองตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บของสายการบินโดยตรงก็ควรจะไม่เกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ทำให้เสียแผนแต่อย่างใด หากตามกำหนดการณ์เดิมเราควรถึงปักกิ่งตอนเช้า แต่พอเลื่อนมาไปรอบเช้าก็เลยถึงตอนบ่าย แต่ยังไงก็เป็นวันอาทิตย์ ไม่ได้กะจะทำอะไรมากอยู่แล้ว

เที่ยวบินถึงตอนบ่ายและเรานั่งรถไฟฟ้าสายสนามบินเข้าเมืองแล้วต่อรถไฟฟ้าในเมืองเข้าไปพักในโรงแรม

ภาพสถานีรถไฟฟ้าสถานีซานหยวนเฉียว (三元桥站) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อ ไม่ได้มาซะนาน เวลาขณะนั้นหกโมงกว่า



จากนั้นก็พักในโรงแรม วันแรกจบไปโดยไม่มีอะไรมาก



ต่อมาวันจันทร์ที่ 13

ตอนเช้าเรารีบเดินทางไปยังสถานที่ออกใบรับรองกั๋วซิ่น (北京市国信公证处) ซึ่งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ดูแล้วไปง่ายที่สุดจึงเลือกมาที่นี่

แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าที่นี่ไม่รับทำเอกสารสำหรับคนที่จะไปเรียนต่อไต้หวันไม่สามารถรับทำที่นี่ได้ และเขาแนะนำว่าในปักกิ่งมีแค่ ๓ แห่งเท่านั้นทีรับทำเอกสารไปไต้หวัน

หนึ่งในนั้นก็คือ สถานที่ออกใบรับรองฟางเจิ้ง (北京市方正公证处) ซึ่งใกล้ที่สุด และเป็นที่ที่เราเลือกไป

สถานที่ตั้งอยู่ที่ย่านซีจื๋อเหมิน (西直门) อยู่ในตึกหน้าตาประหลาดที่มี ๓ ส่วน ทั้ง ๓ ส่วนนี้มีฐานเป็นอาคารเดียวกัน พื้นที่มีทั้งใช้เป็นอาคารสำนักงานแล้วก็มีส่วนที่เป็นห้างด้วย



พอเข้าไปยื่นเรื่องทำจริงๆก็ต้องพบเรื่องผิดคาดอีกเรื่อง นั่นคือสำหรับการทำเอกสารรับรองสำหรับไต้หวันต้องใช้เวลาอย่างน้อยสัปดาห์นึง นี่คือเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อเร่งแบบด่วนแล้ว หากไม่เพิ่มอาจต้องรอนานครึ่งเดือน

สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะเอกสารต้องส่งไปทางไต้หวันแล้วส่งกลับมาอีกที แล้วการติดต่อระหว่างสองฝั่งก็ไม่ใช่ง่ายๆ จึงต้องใช้เวลา

ตอนแรกหาข้อมูลบอกว่าต้องใช้เวลา ๓ วันนั่นคือสำหรับทำเอกสารไปประเทศอื่น แต่ไต้หวันจะลำบากเป็นพิเศษ ดังนั้นเท่ากับแผนที่วางไว้ก็พังแล้ว

สุดท้ายจึงได้แต่ให้เพื่อนช่วยเป็นคนไปรับเอกสารแทน เพราะเราไม่อาจอยู่ถึงวันที่เอกสารเสร็จได้อยู่แล้ว

หลังจากเสร็จเรื่องตรงนี้เรากลับไปเยี่ยมมหาวิทยาลัย หาอาจารย์และเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟัง เขาก็เลยบอกให้รุ่นน้องในกลุ่มวิจัยเป็นคนช่วยไปเอาเอกสารแล้วส่งไปให้เมื่อถึงวันที่รับได้ โดยค่าไปรษณีย์อาจารย์จะเป็นคนออกให้เอง อาจารย์ใจดีมาก

จบเรื่องที่ต้องทำแล้ว แต่ยังเหลือเวลาในปักกิ่งอีก ๔ วัน เวลาที่เหลือก็เอาไปเที่ยว ซึ่งได้เขียนเล่าไปแล้ว แน่นอนว่าไม่ปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์~

แต่ว่าเนื่องจากอากาศปักกิ่งช่วงนั้นแย่ ทำให้เราป่วย ต้องซื้อยามากิน หมดไปอีกเยอะ วันท้ายๆแทบไปไหนไม่ได้



จากนั้นก็กลับบ้านในวันที่ 18 แล้วพอถึงวันอังคารถัดมาคือวันที่ 22 เอกสารก็เสร็จเรียบร้อย รุ่นน้องช่วยสแกนเอกสารที่ไปรับมาส่งให้เราทางเวย์ซิ่นก่อน จากนั้นตัวจริงจึงไปรษณีย์ตามมา

ในขั้นตอนการสมัครเรียนจะใช้แค่เอกสารที่สแกนส่งทางเน็ต แต่เอกสารตัวจริงก็ต้องเก็บไว้เพื่อยื่นตอนที่ได้ไปเรียนจริงๆ

หลังจากส่งเอกสารสแกนไปเอกสารทั้งหมดก็พร้อม เราจึงได้สมัครเข้าเรียนในที่สุด



จากนั้นพอได้เข้ามาเรียนเราก็เอาเอกสารตัวจริงมายื่น เรื่องดูเหมือนจะเรียบร้อยดี แต่... ไม่ช้าทางฝ่ายทะเบียนก็มาแจ้งเตือนว่ายังมีเรื่องที่ต้องทำการรับรองอยู่อีก

ซึ่งเราก็สงสัยว่าทำไมอุตส่าห์ไปทำการรับรองถึงปักกิ่งแล้วยังจะต้องรับรองอะไรอีก และข้อมูลที่เขาให้มาเกี่ยวกับการทำเรื่องรับรองก็ซับซ้อนอ่านยาก

สาเหตุที่ไปขอใบรับรองอย่างเป็นทางการมาแล้วยังต้องขออะไรอีกเขาอธิบายว่ามันเป็นคนละอย่างกัน ที่ขอตอนที่สมัครนั้นเรียกว่า กงเจิ้ง (公證) แต่ที่ต้องทำคราวนี้เรียกว่าเริ่นเจิ้ง (認證) ซึ่งที่จริงมันก็ฟังดูความหมายคล้ายๆกัน ก็คือการรับรอง จะแปลเป็นภาษาไทยให้แยกกันชัดเจนก็ยากอยู่

เราจึงไปปรึกษาเรื่องนี้กับฝ่ายบริการนักศึกษาต่างชาติ เขาก็บอกว่าการรับรองนี้ไม่ยาก แค่เอาใบหลักฐานการศึกษาไปยื่นเรื่องที่ไห่จีฮุ่ย (海基會) ซึ่งอยู่ในไทเป

ไห่จีฮุ่ย ย่อมาจาก มูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนข้ามสองฝั่งช่องแคบ (海峽交流基金會, ไห่เสียเจียวหลิวจีจินฮุ่ย) เป็นมูลนิธิที่ตั้งมาเพื่อช่วยในการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน

เรามีเรื่องต้องแวะไปไทเปอยู่แล้วในช่วงเดือนเมษายน จึงถือโอกาสนี้แวะไปที่ไห่จีฮุ่ย

การเดินทางนั้นมาได้ง่าย ตั้งอยู่ติดกับรถไฟฟ้าสถานีต้าจื๋อ (大直站)



เมื่อนั่งมาลงก็จะเห็นอาคารหน้าตาสวยๆ คือที่นี่เอง



การทำเอกสารสามารถรับได้โดยรอแค่ประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างรอก็ไปเดินเล่นแถวๆนั้นได้ มีสวนสาธารณะหมิงสุ่ย (明水公園)





เอกสารที่ได้มาเป็นแบบนี้



พอได้เอกสารแล้วเราก็รีบเอามาให้ที่ฝ่ายทะเบียน แต่ก็พบว่าสิ่งที่เขาถามหาต้องการจริงๆไม่ใช่เอกสารอันนี้ ฝ่ายบริการนักศึกษาต่างชาติเข้าใจผิดไปเอง

เราพยายามบอกว่าไม่เข้าใจจริงๆว่าต้องการอะไรกันแน่ แต่เขาเองก็ไม่รู้อะไรมากเพราะเป็นข้อกำหนดที่ทางหน่วยงานที่มหาวิทยาลัยจงซิงแห่งชาติ (國立中興大學) เป็นผู้กำหนดขึ้น

เขาก็เลยให้นักศึกษาอีกคนที่เคยทำเรื่องคล้ายๆกันนี้ช่วย นักศึกษาคนนั้นเป็นคนไต้หวันที่ไปเรียนจบมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ จึงต้องทำเรื่องยุ่งยากในแบบเดียวกัน

เขาให้คำแนะนำอย่างดี อย่างไรก็ตามในรายละเอียดแล้วดูเหมือนเขาจะเจออะไรที่ต่างออกไปเล็กน้อย และตอนที่เขาทำกับตอนนี้มีอะไรบางอย่างเปลี่ยนแปลง

สรุปได้ว่าการรับรองหลักฐานการศึกษานั้นต้องทำโดยผ่านทางเว็บของหน่วยงานที่จีน โดยสิ่งที่ต้องทำแบ่งเป็น ๒ ส่วน

สำหรับผลการศึกษาและปริญญาบัตรทำการยืนยันที่เว็บ
http://www.chinadegrees.cn/cqva/account/register.html?_r=0.024032043162355965

สำหรับใบจบการศึกษาทำผ่านเว็บ
https://my.chsi.com.cn/archive/index.jsp

ที่ต้องทำแยกกันเพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องใบจบกับปริญญาบัตรเป็นคนละแห่งกัน

ใบจบการศึกษา (畢業證) กับปริญญาบัตร (學位證) นั้นฟังดูคล้ายกันและสับสนได้ง่าย แต่มีความต่างกันอยู่เล็กน้อย ใบจบการศึกษาคือใบที่รับรองว่าเราจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ส่วนปริญญาบัตรคือใบที่รับรองว่าเราได้ตำแหน่งทางการศึกษา

บางครั้งสองอย่างนี้อาจใช้แทนกันได้ แต่อย่างไรก็ตามครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยต้องการทั้งสองอย่างนี้พร้อมกันทั้งคู่

ทั้งสองส่วนนี้เหมือนกันคือยื่นเรื่องทางเว็บ โดยต้องสแกนเอกสารที่จำเป็นต่างๆส่งให้เขา แล้วก็จ่ายเงินทางเน็ต ใช้บัตรเครดิตจ่ายได้ จากนั้นเขาก็จะส่งเอกสารมาทาง EMS กว่าจะได้แล้วเสร็จก็กินเวลาหลายวัน และค่าใช้จ่ายก็ไม่น้อย

และหลังจากรอนานอยู่พอสมควร ในที่สุดเอกสารก็ถูกส่งมาถึง ภาพนี้เป็นส่วนของใบจบการศึกษา ส่วนปริญญาบัตรกับผลการศึกษาก็ส่งมาในลักษณะเดียวกัน แยกกัน มาทีหลังเพราะติดเรื่องปัญหาบางอย่างวุ่นวายพอดู ซึ่งตรงนี้จะไม่ขอลงรายละเอียด





รวมทั้งหมดนี้แล้วก็หมดไปหลายพันบาท เสียเวลาศึกษาหาข้อมูลไม่น้อย ยังไม่รวมค่าเดินทางไปยังปักกิ่งเพื่อทำใบรับรองซึ่งหมดไปเป็นหมื่น

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สามารถมาเรียนต่อในไต้หวันได้ จะเห็นว่ายุ่งยากมากมาย

ที่จริงแล้วเรื่องของเอกสารทางการศึกษาก็เป็นอะไรที่ยุ่งยากแบบนี้อยู่แล้ว เพราะต้องการความรัดกุม

เพียงแต่ว่าสำหรับเรื่องของจีนกับไต้หวันนั้นจะมีความยุ่งยากเป็นพิเศษ ต้องไปทำยืนยันขั้นตอนมากมายหลายอย่าง

ปัญหานี้น่าจะดีขึ้นหากความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งนี้ดีขึ้นมา การติดต่ออะไรต่างๆจะง่ายขึ้น ลดปัญหาได้แน่นอน



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> ไต้หวัน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ