φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



ลองแวะไปกินร้าน MK ของไทยที่เปิดในย่านโดอิในเขตฮิงาชิสุดขอบตะวันออกของเมืองฟุกุโอกะ
เขียนเมื่อ 2025/02/11 20:18
# อังคาร 11 ก.พ. 2025

รู้หรือไม่ว่าที่ญี่ปุ่นมีร้าน MK อยู่ด้วย ใช่แล้ว ร้าน MK สุกี้ติ่มซำของไทยนี่แหละ นอกจากจะมีสาขาอยู่มากมายภายในประเทศไทยแล้ว ก็ยังมีไปเปิดถึงที่ญี่ปุ่นด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วร้านจะอยู่ในจังหวัดฟุกุโอกะเป็นหลัก เมื่อก่อนเคยมีสาขาที่โตเกียวด้วย แต่ตอนนี้ปิดไปแล้ว ที่เหลืออยู่ตอนนี้ก็อยู่ในเกาะคิวชูทั้งหมด

ตอนนี้ในจังหวัดฟุกุโอกะมีอยู่ ๑๔​ สาขา ในจำนวนนั้น ๖ ร้านอยู่ในเมืองฟุกุโอกะ ลองค้นดูตำแหน่งร้านได้ใน https://store.mkrestaurants.co.jp/b/mkrestaurants/attr/?t=attr_con&kencode=40

เมนูก็ต่างจากที่ไทยพอสมควรเลย มีการปรับให้เข้ากับคนญี่ปุ่น หลายอย่างไม่มีในไทย ลองดูได้ที่หน้านี้ https://www.mkrestaurants.co.jp/menu/

ที่จริงเราก็เพิ่งมีโอกาสได้รู้ว่ามีร้าน MK อยู่ในฟุกุโอกะเมื่อไม่นานมานี่เอง โดยได้ไปเจอมาโดยบังเอิญเมื่อตอนที่ไปเดินแถวย่านเมย์โนฮามะ (姪浜駅めいのはまえき) ซึ่งเล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20250102

ร้าน MK ที่เมย์โนฮามะนั่นก็เป็นสาขาหนึ่งในเมืองฟุกุโอกะ น่าเสียดายว่าตอนนั้นเป็นช่วงปีใหม่ที่ไม่มีร้านเปิดเลย MK เองก็ปิดไปด้วย เลยไม่มีโอกาสได้กิน

แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะว่า MK ในฟุกุโอกะมีอยู่หลายร้าน ต่อให้ไม่ต้องไปไกลถึงย่านเมย์โนฮามะก็พบได้ทั้งในย่านใจกลางเมืองอย่างเทนจิงหรือเขตฮากาตะ ดังนั้นถ้าคิดจะแวะไปกินก็ไม่ยากเลย ดังนั้นก็คิดว่าไว้ถ้ามีโอกาสจะแวะไปกิน

แล้ววันนี้ 11 กุมภาพันธ์ เป็นวันหยุดวันชาติญี่ปุ่น ก็เลยตัดสินใจเลือกไปวันนี้ แล้วก็มาเล่าแนะนำร้านสักหน่อย

แต่สาขาที่เราเลือกไปนั้นไม่ใช่สาขาย่านใจกลางเมืองอย่างเทนจิงหรือฮากาตะที่ไปได้ง่าย แต่กลับเลือกที่จะลองไปที่สาขาโดอิ (土井どい) ซึ่งอยู่ที่ย่านโดอิ ในเขตฮิงาชิ (東区ひがしく) เกือบสุดขอบทางตะวันออกของเมืองฟุกุโอกะ ถือเป็นสาขาที่อยู่ทางตะวันออกที่สุดในเมืองฟุกุโอกะ

ทำไมต้องอุตส่าห์ไปถึงโน่น? ที่จริงก็ไม่มีอะไรมาก แค่อยากไปเดินเล่นดูย่านที่อยู่ไกลหน่อยที่ยังไม่เคยไป แล้วก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่ร้าน MK อุตส่าห์ไปเปิดในย่านห่างไกลแบบนั้น แต่ก็ไม่ถึงกับเดินทางไปลำบาก เพราะมีทั้งรถเมล์และรถไฟที่สามารถเดินไปได้จากสถานีฮากาตะ

สำหรับการเดินทางไปนั้นถ้าจะนั่งรถไฟก็ไปลงที่สถานีโดอิ (土井駅どいえき) ซึ่งอยู่บนสายคาชี (香椎線かしいせん) แต่ว่าร้านอยู่ห่างจากสถานีไปหน่อย ต้องเดินอีกประมาณ ๖๐๐​ เมตร และสถานีนี้ไม่ได้เชื่อมตรงกับสถานีฮากาตะ ต้องต่อรถไฟจึงจะมาได้ ดังนั้นการเดินทางด้วยรถเมล์จึงสะดวกกว่า เพราะต่อเดียวถึง แล้วป้ายก็อยู่ใกล้ร้าน เดินไปแค่ ๑๐๐ เมตร

การนั่งรถเมล์ก็ไปได้โดยสายโนงาตะ (直方線のおがたせん) ซึ่งเป็นรถเมล์ที่วิ่งระหว่างสถานีฮากาตะกับเมืองโนงาตะที่อยู่ทางตะวันออก ระหว่างทางผ่านแถวย่านโดอิด้วย โดยป้ายที่อยู่ใกล้ร้านที่สุดคือป้ายทาตาระโนวเกียวมาเอะ (多々良農協前たたらのうきょうまえ)

แต่ว่าราคาก็ต่างกันด้วย ถ้านั่งรถเมล์ไปราคา ๔๓๐ เยน ส่วนรถไฟแค่ ๒๘๐​ เยนเท่านั้น ในเมืองฟุกุโอกะปกติรถไฟถูกกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าที่ไหนมีรถไฟละก็เลือกได้เลือกรถไฟดีที่สุด

ครั้งนี้เราเลือกที่จะไปด้วยรถเมล์แล้วกลับด้วยรถไฟ



สำหรับรถเมล์นั้นขึ้นที่ท่ารถบัสฮากาตะ (博多はかたバスターミナル) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสถานีฮากาตะ จุดขึ้นรถเมล์สายโนงาตะอยู่ที่ชั้น ๓ เป็นจุดเดียวกับที่ไปยังยุฟุอิง (由布院ゆふいん) ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดโออิตะ (ซึ่งเราก็เคยไปมาแล้ว เล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20241112) ดังนั้นจึงเห็นคนที่ดูเหมือนจะเป็นนักท่องเที่ยวมารอรถอยู่ตรงนี้ด้วย รถเมล์ที่เราจะขึ้นนั้นเป็นรอบ 11:20 แต่ะก่อนหน้านั้นต้องรอให้รถที่ไปยุฟุอิงรอบ 11:18 ออกไปก่อน แต่เพราะรถที่ไปยุฟุอิงเกิดปัญหาล่าช้า ก็เลยทำให้รถเมล์ที่เราขึ้นออกช้าไปด้วย




แล้วก็ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เดินทางมาลงถึงป้ายที่เป็นเป้าหมาย




จากตรงป้ายนี้มองไปทางตะวันออกก็เห็นร้าน MK อยู่ตรงหน้านี้เลย




เดินมาถึงร้าน แต่ว่าตรงนี้เป็นคนละฝั่งกับทางเข้า



เดินมาถึงหน้าทางเข้า



ทั้งหลังนี้คือร้าน MK ตึกสวยดี ดูกว้างอยู่



หน้าทางเข้ามีลานจอดรถด้วย ใครจะมาด้วยรถก็ได้



เข้ามาดูภายในร้าน บรรยากาศดีอยู่ ลูกค้าก็ไม่น้อยเลย



โต๊ะมีแต่ที่นั่งแบบหลายคน เรามาคนเดียวแต่เขาก็ให้มานั่งโต๊ะแบบนี้



ตรงนี้เป็นส่วนบริการพวกเครื่องดื่ม แต่ว่าต้องสั่งดึ่มไม่อั้นถึงจะกดได้ แต่ว่าถ้าแค่น้ำเปล่าก็ไม่ต้องจ่าย เราจึงเลือกไม่สั่งน้ำ ดื่มแค่น้ำเปล่าก็พอ



ภายในร้านมีการส่งอาหารโดยใช้หุ่นส่งอาหารด้วย เห็นวิ่งไปมาอยู่ตลอด



ดูในเมนูของร้านเห็นชุด MK โทริชิรุโซบะ (MK鶏汁とりしるそば) เป็นบะหมี่ไก่และเปาะเปี๊ยะ ราคา ๗๙๐ เยน แต่ถ้าเพิ่มเสี่ยวหลงเปาด้วยอีก ๓๐๐​ เป็น ๑๐๙๐ เยน เพียงแต่ว่านอกจากนี้แล้วยังมีข้าวด้วย ตามในรูป คนญี่ปุ่นกินบะหมี่กับข้าวกันเป็นปกติ แถมยังมีชื่อเรียกเฉพาะวิธีกินแบบนี้ว่า ราเมงไรซ์ (ラーメンライス) แต่เรารู้สึกไม่ชินกับวิธีการกินแบบนี้ ปกติถ้าจะกินบะหมี่ก็จะไม่กินข้าว ถึงอย่างนั้นก็อยากสั่งชุดนี้ ก็เลยถามพนักงานร้านว่าขอแบบไม่เอาข้าวได้มั้ย เขาก็บอกว่าได้ แต่ว่าราคาไม่ได้ลดลงนะ ซึ่งเราก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรตรงนี้ เพราะของที่ไม่อยากกินต่อให้ได้ฟรีมาก็คงกินไม่ลง จะยิ่งทำให้รู้สึกเสียดายของแล้วฝืนกินจนไม่อร่อยซะเปล่า



เวลาสั่งก็กดที่เครื่องเอาแบบนี้



หลังจากสั่งไปแล้วรอสัก ๑๐​ นาทีชุดที่สั่งก็มา เขาช่วยตัดข้าวออกไป ตามที่คุยกันไว้



แต่ว่าเขาไม่ได้ให้ช้อนมา ก็เลยเรียกขอช้อนเพิ่ม ปรากฏว่าเขาให้มาเป็นช้อนกินข้าว แทนที่จะเป็นช้อนซุป ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน ปกติถ้าเป็นร้านราเมงหรืออุดงละก็ต้องมีช้อนซุปให้เป็นปกติ แต่ว่าอาจเป็นเพราะนี่ไม่ใช่ร้านบะหมี่โดยเฉพาะเลยไม่ได้เตรียม ก็เลยต้องกินทั้งแบบนี้ แม้จะไม่ชินก็ตาม



เปาะเปี๊ยะ อร่อยปกติเหมือนกินที่ไทย



เสี่ยวหลงเปาก็อร่อย น้ำจิ้มที่ใช้จิ้มนี้เรียกว่า ปนซึ (ポン) เป็นซอสเปรี้ยวของญี่ปุ่น คล้ายจิ๊กโฉ่ว




อันนี้น้ำจิ้มที่เตรียมไว้บนโต๊ะให้เติมได้



กินเสร็จยังรู้สึกว่าพอกินต่อไหวอยู่ เลยตัดสินใจสั่งอะไรเพิ่มอีกหน่อย ดูแล้วก็มาเจอซาลาเปารูปแพนด้าน่ารัก อันนี้ไม่เคยเจอในไทยเลย ก็เลยลองสั่งดู ราคา ๒๕๐ เยน




หลังจากสั่งก็รอไป ๑๕ นาทีจึงมา แพนด้าน่ารักตามที่เห็นในรูป



ส่วนภายในก็คือไส้ครีม รสชาติก็เหมือนกับซาลาเปาไส้ครีมธรรมดาที่กินใน MK ที่ไทยนั่นแหละ แค่แต่งภายนอกให้น่ารักเท่านั้นเอง



กินเสร็จก็พอเท่านี้ ค่าใช้จ่ายรวมทั้ง ๒ อย่างเป็น ๑๓๔๐ เยน นานๆทีจะกินแพงแบบนี้สักที แต่ว่าเท่านี้สำหรับ MK ถือว่าถูกแล้ว ถ้ากินสุกี้จะยิ่งแพงกว่านี้ แต่ปกติแล้วเราไม่กินสุกี้ ตอนอยู่ไทยเวลาไปกิน MK ก็มักจะไปกินติ่มซำซะมากกว่า ครั้งนี้ที่มา MK ก็ไม่ได้กะจะกินสุกี้อยู่แล้ว บางคนอาจมองว่า MK เป็นร้านสุกี้ แต่เรามอง MK เป็นร้านอาหารกวางตุ้งมากกว่า



แล้วก็กินเสร็จ จ่ายเงิน บอกลาร้านเพียงเท่านี้ ต่อไปก็เดินไปยังสถานีรถไฟเพื่อเดินทางกลับ ก่อนไปก็หันไปถ่ายภาพย่านบ้านอยู่อาศัยที่มองเห็นร้าน MK อยู่ทางขวา



เดินมาทางตะวันออกอีกหน่อยก็เห็นรางชิงกันเซง ที่จริงแล้วสถานีโดอินี้มีรางชิงกันเซงตัดผ่านด้วย แต่ผ่านไปเลย ไม่ได้จอด ถ้าดูในแผนที่จะเห็นว่าสถานีโดอิอยู่ตรงจุดตัดกับรางชิงกันเซง ทำให้ชวนเข้าใจผิดได้ว่าชิงกันเซงจะจอดที่นี่ แต่ที่นี่อยู่ห่างจากสถานีฮากาตะไปไม่ได้มาก ยังอยู่ในเมืองฟุกุโอกะ ไม่มีเหตุผลอะไรที่ชิงกันเซงจะอุตส่าห์มาจอดตรงนี้อยู่แล้ว



ในบริเวณนี้ยังมีร้านอาหารอื่นอีกหลายร้าน เช่นร้านกัสโต (ガスト)



แล้วตรงนี้ก็มีร้านราเมงและจัมปง มารุชิเงะราเมง (まるしげラーメン)



ข้างๆเป็นร้านตัดผม แล้วถัดไปเป็นโอโคโนมิยากิ



ป้ายร้านราเมงโดยมีฉากหลังเป็นบ้านคนและรางรถไฟชิงกันเซง ขณะที่รถเมล์วิ่งผ่านมา



จากนั้นเดินไปทางเหนือเพื่อมุ่งหน้าไปยังสถานี




ตรงนี้เป็นโรงพยาบาลสัตว์



จุดข้ามทางรถไฟ อันนี้เป็นรถไฟสายคาชีที่เราจะมานั่ง แต่ว่าเป็นคนละทางกับที่จะไป



เดินเลียมริมรางรถไฟมาทางตะวันออกโดยไม่ต้องข้ามไป เพราะว่าทางเข้าสถานีอยู่ฝั่งนี้อยู่แล้ว



แล้วก็มาถึงตัวสถานี มองดูภายในชานชลาจากด้านนอก



มาถึงหน้าทางเข้าอาคารสถานี ดูสภาพแล้วโทรมมาก ด้านหลังเห็นรางชิงกันเซง จะเห็นได้ว่าชิงกันเซงแค่ผ่านเหนือสถานีนี้ไป



เข้ามาในสถานี ในนี้ไม่มีคนเข้า แต่มีที่ให้แตะบัตรได้ ใช้พวก Suica ได้



เข้ามาภายในสถานี แต่ว่ารถไฟที่จะขึ้นนั้นอยู่คนละฝั่ง



ต้องมาเดินข้ามรางจากตรงนี้ไปอีกฝั่ง



แล้วก็ข้ามมาฝั่งที่จะรอรถ ฝั่งนี้ปลายทางอยู่ที่สถานีอุมิ (宇美駅うみえき) ในเมืองอุมิ (宇美町うみまち) ทางใต้ แต่ว่าที่เราจะไปนั้นคือที่สถานีโจวจาบารุ (長者原駅ちょうじゃばるえき) เพื่อเปลี่ยนรถกลับสู่ฮากาตะ



ระหว่างที่รออยู่รถไฟที่มุ่งไปฝั่งตรงข้ามคือไปทางสถานีคาชี (香椎駅かしいえき) ก็มาจอด



จากนั้นนาทีต่อมารถไฟที่เราจะขึ้นจึงมาถึง ได้เห็นรถไฟ ๒ ขบวนที่วิ่งทิศตรงข้ามอยู่คู่กัน ที่จริงแล้วถ้าดูตารางเวลารถไฟก็จะเห็นได้ว่าสถานีนี้รถไฟที่วิ่งไป ๒ ทิศมาจอดเวลาไล่เลี่ยกันเกือบทุกครั้ง เหมือนถูกวางเอาไว้อย่างดีให้รถไฟต้องมาพบกันตรงนี้ น่าจะเพราะว่ารถไฟสายนี้เป็นรางเดี่ยว สวนกันกลางทางไม่ได้ มีแค่ภายในสถานีนี้เท่านั้นที่แยกเป็น ๒ รางจึงสามารถสวนกันได้



รถไฟที่นั่งเป็นรอบเวลา 13:24



เข้ามาภายในรถไฟ



แล้วรถไฟก็ออกเดินทาง ทิศทางที่มุ่งหน้าไปนั้นคือทางตะวันออกเฉียงใต้ ออกจากเมืองฟุกุโอกะ เข้าสู่เขตเมืองคาสึยะ (粕屋町かすやまち) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆที่เป็นบริวารของเมืองฟุกุโอกะ ระหว่างทางทิวทัศน์ก็สวยดี ดูเป็นนอกเมือง



แล้วรถไฟก็มาจอดที่สถานีอิงะ (伊賀駅いがえき)



จากนั้นจึงวิ่งต่อ มาจอดที่สถานีโจวจาบารุที่เราจะมาลงเพื่อเปลี่ยนสายรถไฟ



ออกมาจากชานชลา ตรงนี้มีจุดแตะบัตรเพื่อออกจากสถานีได้ แต่ว่าเราจะมาเปลี่ยนรถจึงไม่จำเป็นต้องออกไป เพียงแต่ว่าเวลาเที่ยวรถไฟดูจะไม่ได้ต่อเนื่องกันดีนัก รถไฟมาถึง 13:30 แต่ที่จะขึ้นนั้นเป็นเวลา 13:48 ต้องรอนานอยู่ ระหว่างนั้นก็แค่เดินเรื่อยเปื่อยในสถานี



จากบนสถานี มองออกไปก็เห็นย่านเมืองบริเวณนี้อยู่



มองไปตรงนั้นเห็นมีน้ำขังอยู่บนอาคาร



แล้วมีนกกามาเล่นน้ำอยู่ตรงน้ำขังด้วย เลยมองแล้วถ่ายรูปไว้สักหน่อย ฆ่าเวลา





จากนั้นพอใกล้เวลาก็ลงมาที่ชานชลา ระหว่างนั้นมีรถไฟรอบ 13:40 ที่วิ่งไปฝั่งตรงข้ามมาจอดก่อน รถไฟขบวนนี้มีปลายทางอยู่ที่สถานีชินอีซึกะ (新飯塚駅しんいいづかえき) ในเมืองอีซึกะ (飯塚市いいづかし) ที่อยู่ทางตะวันออก แต่ว่าที่เราจะขึ้นคือฝั่งตรงข้ามเวลา 13:48 ที่จะไปสถานีฮากาตะ



ระหว่างรอก็เดินดูในชานชลาต่อไป ก็พบว่าบนชานชลานี้ทิวทัศน์ดีทีเดียว จากตรงนี้มองไปเห็นตัวอาคารสถานีและหน้าทางเข้าด้านล่างด้วย



แล้วมองไปตรงนี้เห็นย่านเมืองบริเวณหน้าสถานีด้วย



ป้ายสถานี



แล้วรถไฟที่รอก็มา เราก็นั่งรถไฟนี้กลับสถานีฮากาตะไป เป็นอันจบการมาแวะเที่ยวกินครั้งนี้



ครั้งนี้อุตส่าห์แวะมานี่ก็เพื่อกิน MK แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้น ยังได้มารู้จักย่านใหม่ที่ไม่เคยไปด้วย ก็ถือว่าคุ้มที่มา




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> ฟุกุโอกะ
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

รวมร้านราเมงและบะหมี่ในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

各月日志

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

找更早以前的日志