φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



จรวด Μ-V
เขียนเมื่อ 2014/01/20 13:43
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลประกอบบันทึกการร่วมค่ายอบรมวิชาการที่วิทยาเขตซางามิฮาระของ JAXA https://phyblas.hinaboshi.com/20131205
เนื่องจากจรวด Μ-V เป็นจรวดสำคัญที่ถูกพัฒนาขึ้นที่นี่และมีจรวด Μ-V ที่ไม่ได้ถูกใช้งานจริงมาตั้งจัดแสดงอยู่ภายในบริเวณจึงมีความสำคัญที่น่านำมากล่าวถึงโดยละเอียด

ข้อมูลโดยหลักแล้วแปลและสรุปเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นในเว็บไซต์ของ JAXA รวมกับวิกิพีเดีย รูปภาพทั้งหมดนำมาจากเว็บไซต์ของ JAXA

อ้างอิง
http://www.jaxa.jp/pr/brochure/pdf/01/rocket02.pdf
http://www.jaxa.jp/projects/rockets/m_v/index_j.html
http://www.jaxa.jp/projects/sat/index_j.html
http://www.jaxa.jp/pr/brochure/sat_j.html





จรวด
Μ-V หมายเลข 8 ขณะกำลังเตรียมปล่อย

    จรวด Μ-V (มิว 5) เป็นจรวดของญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว ลักษณะเป็นจรวดสามท่อนที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งทั้งหมด และสามารถเสริมเป็นสี่ท่อนเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานบางอย่างได้ ตัวจรวดความยาวทั้งหมด ๓๐.๘ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕ ม. น้ำหนักประมาณ ๑๔๐ ตัน สามารถส่งดาวเทียมหนัก ๑.๘ ตันขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำของโลกได้ Μ-V เป็นจรวดชนิดเดียวของโลกที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งทั้งหมดในการส่งยานอวกาศไปสู่วงโคจรระหว่างดาวเคราะห์ได้

    จรวดที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งต่างจากจรวดที่ใช้เชื้อเพลิงเหลวตรงที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนเพราะไม่ต้องทำถังเก็บและท่อส่งเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ แต่มีข้อเสียคือถ้าจุดเชื้อเพลิงไปแล้วจะเริ่มเผาไหม้ไปเรื่อยๆจากแกนกลางไปยังปลายขอบโดยไม่สามารถหยุดหรือควบคุมปริมาณการเผาไหม้ได้

    จรวด Μ-V เป็นจรวดรุ่นสุดท้ายของจรวดมิว (ミューロケット) ซึ่งเริ่มพัฒนาโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศ (ISAS) ต่อจากจรวดแลมดา (ラムダロケット) ซึ่งส่งดาวเทียมดวงแรกของญี่ปุ่น “โอสึมิ” (おおすみ) ออกไปเมื่อปี 1970 หลังจากนั้นจรวดมิวรุ่นแรกคือ Μ-4S ก็ได้ถูกใช้ปล่อยดาวเทียมดวงที่สอง “ทันเซย์” (たんせい) ในปี 1971 หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆอีกหลายรุ่นได้แก่ Μ-3C, Μ-3H, Μ-3S, Μ-3SII จนมาปิดท้ายที่ Μ-V และเลิกใช้ไปในปี 2006 รวมแล้วจรวดมิวทั้งหมดถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน ๓๕ ปี

    อักษรตัว "Μ" ของจรวดมิวนี้ไม่ใช่ตัว "เอ็มใหญ่" แต่เป็นอักษรกรีก "มิว" (μ) ที่เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ หน้าตาจะเหมือนเอ็มใหญ่แต่ความจริงแล้วคือ "มิวใหญ่" ส่วน V เป็นเลขโรมันคือเลข 5 นั่นเอง

    จรวด Μ-V ต่างจากรุ่นก่อนตรงที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่ามาก จากที่จรวดมิวรุ่นก่อนๆเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง ๑.๔๑ เมตร จรวด Μ-V ที่ถูกปล่อยรวมถึงแค่ถูกวางแผนสร้างขึ้นมีทั้งหมด ๙ ลำ ตั้งแต่ Μ-V-1 ถึง Μ-V-9 โดย Μ-V-1 ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 1997 เพื่อปล่อยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ “ฮารุกะ” (はるか) ในแต่ละครั้งที่ปล่อยก็ได้มีการดัดแปลงเพิ่มเติมให้ดีขึ้นเรื่อยๆทีละนิด ครั้งสำคัญก็คือหลังจากการปล่อย Μ-V-4 ประสบความล้มเหลวไปเนื่องจากหัวฉีดไอพ่นของจรวดท่อนที่หนึ่งได้รับความเสียหาย จรวดลำต่อมาตั้งแต่ Μ-V-5 จึงต้องดัดแปลงส่วนโครงสร้างภายในของหัวฉีดไอพ่นใหม่

    หลังจากที่ ISAS ยุบรวมกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการบินอวกาศ (NAL) และองค์การพัฒนาอวกาศ (NASDA) ในปี 2003 กลายเป็นองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) จรวด Μ-V ก็ยังมีการใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ควบคู่ไปกับจรวด H-IIA ซึ่งพัฒนาโดย NASDA มาก่อน

    ในปี 2006 JAXA ได้ประกาศเลิกใช้จรวด Μ-V และไปพัฒนาจรวดชนิดอื่นที่มีขนาดเล็กและต้นทุนต่ำกว่าแทน ในที่สุดจรวดเอ็ปซิลอน (イプシロンロケット) ซึ่งราคาต่ำกว่าและใช้เวลาในการประกอบและเตรียมตัวน้อยกว่าจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นมาแทน และถูกใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ 14 ก.ย. 2013 เพื่อปล่อยดาวเทียม “ฮิซากิ” (ひさき) ระหว่างช่วงปี 2006-2013 นั้นการส่งจรวดของ JAXA ใช้จรวด H-IIA และจรวด H-IIB ซึ่งเป็นรุ่นต่อของจรวด H-IIA



เทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในจรวด Μ-V
๑. มีการใช้เหล็กกล้าทนแรงดึงสูง HT-230 เป็นปลอกหุ้มมอเตอร์ท่อนที่หนึ่ง
๒. รอยต่อระหว่างท่อนที่หนึ่งกับสองใช้ระบบไฟร์อินเดอะโฮล ซึ่งมีการจุดจรวดท่อนที่สองขึ้นทันทีที่แยกออกจากท่อนแรก
๓. เพื่อจะให้เบาขึ้น ปลอกหุ้มมอเตอร์ของท่อนที่สอง, ท่อนที่สาม และท่อนถีบตัวจึงใช้เป็นพลาสติกเสริมเส้นใยคาร์บอน (CFRP)
๔. หัวฉีดไอพ่นของมอเตอร์ของท่อนที่สามและท่อนถีบตัวจะหดสั้นไว้ก่อนในขณะยังไม่ใช้งาน พอจะใช้งานจึงให้ยื่นออกมาทันที
๕. มีการใช้กลไกการเปิดส่วนหัวจรวด
๖.
ในการตรวจวัดสภาพของตัวจรวดใช้ไฟเบอร์อ็อปติคัลไจโร (FOG) ซึ่งเป็นไจโรสโกปที่ใช้การสังเกตการณ์แทรกสอดของแสงเพื่อตรวจจับการหมุน โดยตัวเซ็นเซอร์ทำจากเส้นใยนำแสงยาว ๕ กม. มาม้วนเป็นขด


สมบัติของจรวดแต่ละท่อน
            ท่อนที่หนึ่ง / ท่อนที่สอง / ท่อนที่สาม
- ความยาวตัวจรวด : ๓๐.๘ / ๑๗.๒ / ๘.๖ ม.
- เส้นผ่านศูนย์กลางตัวจรวด : ๒.๕ / ๒.๕ / ๒.๒ ม.
- มวลตอนเริ่มจุดระเบิด : ๑๔๐ / ๕๕ / ๑๖ ตัน
- ความยาวมอเตอร์ : ๑๓.๗๓ / ๖.๖๑ / ๓.๖๑ ม. (เมื่อยืดออกจะยาว ๔.๒๙ ม.)
- เส้นผ่านศูนย์กลางมอเตอร์ : ๒.๕ / ๒.๕ / ๒.๒ ม.
- มวลมอเตอร์ : ๘๓ / ๓๗ / ๑๒ ตัน
- มวลเชื้อเพลิง : ๗๒ / ๓๓ / ๑๑ ตัน
- แรงดลจำเพาะ* : ๒๗๔ / ๒๙๒ / ๓๐๑ วินาที

*แรงดลจำเพาะเป็นปริมาณที่แสดงถึงขนาดของแรงผลักดันต่อปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ต่อเวลา บอกถึงประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเครื่องยนต์จรวด มีหน่วยเป็นวินาที คำนวณโดย
    แรงดลจำเพาะ = แรงผลักดัน / (มวลเชื้อเพลิงที่ใช้ต่อเวลา × g)


ภาพเปรียบเทียบจรวด Μ-V กับจรวดรุ่นก่อนๆ



ประวัติการใช้งาน
    จรวด Μ-V มีทั้งหมด ๙ ลำ ในจำนวนนั้นมี Μ-V-2 และ Μ-V-9 ที่ถูกยกเลิกไป และ Μ-V-4 ซึ่งปล่อยล้มเหลว นอกนั้น ๖ ลำประสบความสำเร็จ ลำสุดท้ายที่ปล่อยคือ Μ-V-7 ซึ่งทำการปล่อยจริงหลังจาก Μ-V-8 จรวดทั้งหมดถูกส่งที่ฐานสังเกตการณ์อวกาศอุจิโนอุระ (内之浦宇宙空間観測所) ซึ่งเป็นฐานปล่อยจรวดของ ISAS ตั้งแต่สมัยก่อนที่จะยุบรวมเป็น JAXA

Μ-V-1 กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ฮารุกะ (はるか)


    มีชื่อภาษาอังกฤษว่า HALCA (ย่อมาจาก Highly Advanced Laboratory for Communications and Astronomy) ถูกปล่อยเมื่อ 12 ก.พ. 1997 เข้าสู่วงโคจรรอบโลกเมื่อ 21 ก.พ. และเริ่มเปิดกล้องใช้งานเมื่อ 28 ก.พ.

    ฮารุกะทำหน้าที่เป็นจานรับสัญญาณตัวหนึ่งของโครงการ Very Long Baseline Interferometry (VLBI) ซึ่งเป็นการใช้จานรับสัญญาณจากทั้งบนโลกและนอกโลกประสานกันเพื่อทำหน้าที่เสมือนเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ตัว
เดียวซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลกสองเท่าครึ่ง การทำอย่างนี้จะทำให้สามารถสำรวจอวกาศไกลๆได้

    ฮารุกะถูกคาดการณ์ว่าจะใช้งานได้แค่ ๓ ปี แต่ใช้งานจริงนานถึง ๘ ปี ๙ เดือน โดยยุติการทำงานลงเมื่อ 30 พ.ย. 2005


Μ-V-2 ยานสำรวจดวงจันทร์ LUNAR-A


    มีวัตถุประสงค์ที่จะสำรวจภายในดวงจันทร์โดยใช้อุปกรณ์หัวเจาะทำการขุดลงไป เดิมทีวางแผนจะถูกส่งไปตั้งแต่ปี 1995 แต่ถูกเลื่อนมาเรื่อยจนยกเลิกไปในที่สุดเนื่องจากปัญหาหลายอย่างเช่นหัวเจาะใช้เวลาในการพัฒนามากกว่าที่คาดไว้ ส่วนประกอบจากจรวด Μ-V-2 ถูกนำไปใส่ในจรวดอื่นแทน สุดท้ายในปี 2008 จรวด Μ-V-2 จึงได้ถูกนำมาตั้งแสดงที่วิทยาเขตซางามิฮาระของ JAXA


Μ-V-3 ยานสำรวจดาวอังคาร โนโซมิ (のぞみ)


    ถูกปล่อยเมื่อ 4 ก.ค. 1998 คำว่าโนโซมิมีความหมายว่า “ความปรารถนา” โนโซมิถูกส่งไปเพื่อให้เข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคาร แต่หลังจากปล่อยออกไปเกิดมีปัญหาสัญญาณขาดหายไประหว่างทางทำให้ไม่สามารถส่งสัญญาณกลับมายังโลกได้ เพื่อป้องกันไม่ให้โนโซมิชนพุ่งชนดาวอังคาร เนื่องจากมีการตกลงเอาไว้ว่ายานอวกาศที่ไม่ได้ทำการฆ่าเชื้อไม่ควรลงจอดบนดาวอังคารภายใน ๒๐ ปีหลังถูกส่งออกไป จึงต้องส่งคำสั่งให้โนโซมิเบี่ยงทิศทางไปให้มีโอกาสเข้าชนดาวอังคารน้อยที่สุด

    สุดท้ายคาดการณ์กันว่าโนโซมิได้เข้าเฉียดดาวอังคารในระยะใกล้สุดประมาณ ๑๐๐๐ กิโลเมตร ในวันที่ 14 ธ.ค. 2003 และหลังจากนั้นก็จะโคจรรอบดวงอาทิตย์ในวงโคจรเดียวกับดาวอังคารไปอีกนานนับล้านปี


Μ-V-4 กล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์ ASTRO-E
    ถูกปล่อยออกไปเมื่อ 10 ก.พ. 2000 แต่ล้มเหลวเนื่องจากหัวฉีดไอพ่นของจรวดท่อนที่หนึ่งเสียหายทำให้ความเร็วตก สุดท้ายจึงร่วงตกลงมา เนื่องจากส่งล้มเหลวจึงไม่ได้รับการตั้งชื่อเรียก หลังจากนั้นในปี 2005 จึงได้ส่ง ASTRO-EII ออกไปแทนโดย Μ-V-6 ซึ่งส่งสำเร็จและได้รับการตั้งชื่อว่าสึซากุ (すざく)


Μ-V-5 ยานสำรวจดาวเคราะห์น้อย ฮายาบุสะ (はやぶさ)

    เป็นยานสำรวจอวกาศที่มีชื่อเสียงที่สุดลำหนึ่งของญี่ปุ่น ชื่อฮายาบุสะมีความหมายว่า “เหยี่ยว” ถูกส่งออกไปเมื่อ 9 พ.ค. 2003 มีเป้าหมายเพื่อเจาะและนำชิ้นส่วนจากดาวเคราะห์น้อยชื่ออิโตกาวะ (イトカワ) กลับโลก เป็นภารกิจที่ท้าทายและเผชิญปัญหาน่าปวดหัวมากมายแต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ

    ฮายาบุสะไปถึงอิโตกาวะเมื่อ 12 กันยายน 2005 ถือเป็นยานลำแรกของโลกที่ทำการนัดพบกับวัตถุนอกโลกได้หลังจากที่ถูกเร่งด้วยเครื่องยนต์อิออนมาเป็นเวลานาน หลังจากนั้นก็ได้เริ่มการสำรวจอิโตกาวะ โดยได้ถ่ายภาพระยะใกล้ และพยายามจะลงจอดเพื่อเจาะและเก็บชิ้นส่วนหินจากดาว โดยที่ครั้งแรกล้มเหลว แต่ก็ลองใหม่จนสำเร็จ สุดท้ายก็เก็บตัวอย่างได้และเตรียมจะกลับมายังโลกในปี 2007 แต่เจอปัญหาต่างๆนานาทำให้สุดท้ายกว่าจะกลับมาได้ก็คือวันที่ 13 มิ.ย. 2010 มีการฉลองกันใหญ่โตสำหรับต้อนรับการกลับมาของฮายาบุสะ และยังมีการนำเรื่องราวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย


Μ-V-6 กล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์ สึซากุ (すざく)


    ถูกปล่อยออกไปเมื่อ 10 ก.ค. 2005 เป็นยาน ASTRO-EII ที่มาทดแทน ASTRO-E ที่ส่งล้มเหลวไปเมื่อปี 2000 สึซากุเป็นชื่อสัตว์เทพในตำนานของจีนซึ่งเป็นเทพที่คอยปกป้องอวกาศ มีลักษณะเป็นหงส์ที่มีขนเป็นเปลวไฟ เป็นกล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์ในอวกาศตัวที่ ๕ ของญี่ปุ่น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยส่งอาสึกะ (あすか) ออกไปตั้งแต่ปี 1993

    กล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์สึซากุมีเส้นผ่านศูนย์กลางปากลำกล้อง ๔๐ ซม. ระยะโฟกัส ๔.๕ ม. ตัวลำกล้องยาว ๖.๕ ม. เป็นอุปกรณ์สังเกตการณ์รังสีเอ็กซ์ตัวสำคัญซึ่งยังถูกใช้โดยนักวิจัยจากทางยุโรปและอเมริกาอีกด้วย เนื่องจากมีความไวสูงทำให้สามารถสังเกตการณ์วัตถุที่อยู่ในอวกาศไกลๆได้ จึงได้มีบทบาทสำคัญในการไขปริศนาโครงสร้างและวิวัฒนาการของจักรวาล


Μ-V-7 ดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ ฮิโนเดะ (ひので)


    ถูกปล่อยขึ้นไปเมื่อ 23 ก.ย. 2006 ชื่อฮิโนเดะแปลว่า “ดวงอาทิตย์ขึ้น” ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์แสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางปากลำกล้อง ๕๐ ซม. และมีกล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์ซึ่งมีกำลังแยกภาพเชิงมุมประมาณ ๑ พิลิปดา ซึ่งจะทำการถ่ายภาพชั้นบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าชั้นโคโรนาซึ่งอุณหภูมิสูง ๑ ถึง ๑๐ ล้านเคลวิน เป้าหมายของฮิโนเดะคือเพื่อสังเกตการณ์ศึกษากลไกและไขปริศนาของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์

    เนื่องจากถูกส่งภายหลัง Μ-V-8 ทำให้ฮิโนเดะเป็นยานลำสุดท้ายที่ถูกส่งโดยจรวดรุ่น Μ-V นอกจากฮิโนเดะแล้วยังมีดาวเทียมขนาดเล็กติดไปด้วยอีกสองลำคือ HIT-SAT ซึ่งเป็นดาวเทียมสมัครเล่นของเอกชน และ SSSAT (Solar Sail Satellite) ซึ่งเป็นดาวเทียมติดเรือใบสุริยะที่ ทำหน้าที่สังเกตการณ์ฝุ่นในอวกาศ เรือใบสุริยะเป็นแนวคิดหนึ่งในการนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้แทนเชื้อเพลิง โดยกางใบเรือขนาดใหญ่ให้โฟตอนจากแสงอาทิตย์มากระทบ ใบต้องมีขนาดใหญ่เพื่อให้แรงกระทบมีมาก แต่ต้องบางมากด้วยเพื่อให้เบา จึงมีความยากในการสร้างเพื่อใช้จริง


Μ-V-8 กล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรด อาการิ (あかり)


    ถูกปล่อยขึ้นไปเมื่อ 22 ก.พ. 2006 และใช้งานอยู่จนถึง 24 พ.ย. 2011 อาการิแปลว่า “แสงไฟ” เป็นกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรดเต็มตัวอันแรกของญี่ปุ่น มีเส้นผ่านศูนย์กลางปากลำกล้อง ๖๘.๕ ซม. อาการิทำการส่องสำรวจแหล่งกำเนิดรังสีอินฟราเรดจากทั่วทุกทิศทาง โดยมีความสามารถสูงกว่ากล้อง IRAS (Infrared Astronomical Satellite) ที่ถูกส่งออกไปโดยอเมริกา อังกฤษ และฮอลันดาโดยมีเป้าหมายในลักษณะเดียวกัน เป้าหมายหลักของอาการิคือไขปัญหาว่าดาราจักรกำเนิดขึ้นมาอย่างไรและวิวัฒนาการมาเป็นอย่างในปัจจุบันได้อย่างไร ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์บริวารก่อตัวขึ้นมาอย่างไร

    อาการิถูกส่งขึ้นไปพร้อมกับดาวเทียมขนาดเล็กจิ๋ว Cute-1.7 + APD ที่ถูกพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งโตเกียว และโมดูลทดลองเรือใบสุริยะ SSP (Solar-sail Sub Payload)


Μ-V-9 ยานสำรวจดาวศุกร์ อากัตสึกิ (あかつき)


    เป็นยานสำรวจดาวศุกร์ที่แรกเริ่มวางแผนจะส่งตั้งแต่ปี 2007 โดยจรวด Μ-V แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปเป็น 21 พ.ค. 2010 และเนื่องจากจรวด Μ-V ได้ถูกประกาศเลิกใช้ไปแล้วจึงถูกส่งด้วยจรวด H-IIA แทน โดยถูกปล่อยพร้อมกับดาวเทียมขนาดเล็กอีก ๕ ลำ อากัตสึกิมีความหมายว่า “รุ่งสาง”

    อากัตสึกิวางแผนจะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์ในวันที่ 7 ธ.ค. 2010 แต่ล้มเหลวจึงต้องวางแผนให้โคจรมาพบกับดาวศุกร์เพื่อพยายามเข้าสู่วงโคจรของดาวศุกร์ใหม่ในปี 2015



การตั้งแสดง
ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2008 จรวด Μ-V-2 ซึ่งถูกยกเลิกการใช้งานไปได้ถูกนำมาตั้งไว้ด้านข้างแบบจำลองเท่าของจริงของจรวด M-3SII ที่วิทยาเขตซางามิฮาระ

ส่วนจรวดท่อนที่สองนั้นมาจากตัวเครื่องของ Μ-V-2 ซึ่งถูกใช้เพื่อทำการทดสอบการเผาไหม้ไปเมื่อเมื่อเดือนมีนาคม 2008 แต่ว่าจรวดท่อนที่หนึ่งนั้นเนื่องจากถูกนำไปใช้ในจรวด Μ-V-6 แล้วจึงไม่เหลืออยู่ ต้องนำของ Μ-V-9 ซึ่งถูกยกเลิกการใช้งานไปมาใช้แทน

นอกจากนี้ส่วนหัวจรวดก็ใช้แบบจำลองแทนเนื่องจากว่าส่วนหัวจรวดจริงๆนั้นทำจากไม้ก๊อกซึ่งเป็นวัตถุทนความร้อน อ่อนแอต่อฝน จึงไม่เหมาะจะนำมาตั้งแสดง


จรวด Μ-V-2 (ขวา) และแบบจำลองขนาดเท่าของจริงของจรวด Μ-3SII (ซ้าย) ภายในวิทยาเขตซางามิฮาระ


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文