φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



เดินฮาราจุกุยามค่ำคืน
เขียนเมื่อ 2014/02/06 00:22
แก้ไขล่าสุด 2023/03/30 05:43
#พุธ 13 พ.ย. 2013

จากตอนที่แล้วที่เดินทางจากวิทยาเขตมิตากะมาที่โรงแรมซึ่งอยู่ที่สถานีมุซาชิซาไก https://phyblas.hinaboshi.com/20140204

หลังจากเข้าโรงแรมและแยกย้ายกันเข้าห้องแล้วทุกคนก็นัดกลับลงมาข้างล่างเพื่อจะไปหาอะไรทานกัน ทั้งหมดไปกันเก้าคน ซึ่งก็มีอยู่หลายความเห็นว่าจะไปไหนกันดี เราเสนอว่าไปอากิฮาบาระกันดีกว่า แต่ว่ามีคนอีกส่วนอยากไปฮาราจุกุ หลังจากคุยกันสักพักสุดท้ายก็สรุปว่าไปฮาราจุกุ

ฮาราจุกุ (原宿) เป็นย่านที่อยู่ในเขตชิบุยะ (渋谷区) ภายในตัวเมืองโตเกียว ย่านนี้มีชื่อเสียงที่เป็นแหล่งรวมเสื้อผ้าแปลกๆ เป็นศูนย์กลางแฟชันแปลกๆมากมาย มีพวกแบรนต่างๆ ผู้คนมักจะมาหาซื้อเสื้อผ้ากันที่นี่ พวกวัยรุ่นชอบมาเดินกัน ถ้ามาแล้วจะได้เห็นคนแต่งตัวแปลกๆเดินอยู่มากมาย

แผนที่โตเกียว แสดงตำแหน่งเขตชิบุยะเป็นสีม่วงเข้ม




ทั้งอากิฮาบาระทั้งฮาราจุกุก็เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่ต่างกันไปของญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวนิยมมากันมากเช่นกัน แน่นอนว่าถ้าให้เลือกเราก็อยากไปอากิฮาบาระมากกว่าอยู่แล้ว เพื่อนคนไทยอีกคนก็อยากไปอากิฮาบาระเช่นกัน เพราะฉะนั้นตอนที่ทุกคนตกลงกันว่าจะไปฮาราจุกุเราก็ลังเลอยู่ว่าจะแยกไปอากิฮาบาระกันเองสองคนดีหรือเปล่า แต่คิดว่าไปกับเพื่อนๆดีที่สุดเพราะจะได้คุยอะไรกันสนุกกว่าแยกไปเป็นไหนๆ ส่วนอากิฮาบาระจะไปพรุ่งนี้แทน

พวกเราเดินจากโรงแรมมาที่สถานีมุซาชิซาไกเพื่อขึ้นรถไฟไป




การเดินทาง เนื่องจากพวกเรามาจากสถานีมุซาชิซาไก (武蔵境駅) ซึ่งอยู่บนทางรถไฟสายจูโอว (中央線) ต้องมาเปลี่ยนรถที่สถานีชินจุกุ (新宿駅) เพื่อไปสายยามาโนเตะ (山手線)



แล้วก็มาลงที่สถานีฮาราจุกุ (原宿駅) ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีชินจุกุไปแค่สองสถานี ค่าเดินทางจากจากสถานีมุซาชิซาไกมาถึงตรงนี้คือ ๒๙๐ เยน




ระหว่างทางเราคุยกับเพื่อนคนไต้หวัน เขาพูดถึงชื่อสถานที่หนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งในภาษาจีนจะเรียกว่า "เซ่อกู่" เราพยายามจะนึกว่ามันหมายถึงที่ไหนก็นึกไม่ออกในทันที และเขาเองก็ไม่รู้ว่าชื่อเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่าอะไร ก็เลยให้ชี้อักษรให้ดู ก็พบว่ามันคือ "ชิบุยะ" นั่นเอง ในภาษาจีนจะเรียกชื่อในภาษาญี่ปุ่นโดยอ่านตามอักษรโดยอ่านแบบจีนไปเลย ซึ่งจะต่างจากภาษาญี่ปุ่นมากอยู่แล้ว และทำให้คนจีนมักจะไม่รู้ชื่อต่างๆในภาษาญี่ปุ่นอย่างถูกต้อง รู้แค่มันเขียนว่ายังไง ต่างจากคนชาติอื่น ชื่อชิบุยะนั้นเขียนเป็นคันจิว่า 渋谷 ซึ่งในภาษาจีนอ่านว่า "เซ่อกู่"

อย่างชินจุกุเขาก็จะเรียกว่า 新宿 "ซินซู่" ฮาราจุกุก็จะเรียกว่า 原宿 "หยวนซู่" มุซาชิซาไกจะเรียกว่า 武蔵境 "อู่จ้างจิ้ง" ถ้าไม่ชินก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง ลำบากเหมือนกัน

เดินออกมา



ระหว่างทางเจอร้านที่ขายเสื้อผ้าที่มีคำต่างๆเขียนมากมาย



ตรงนี้มีเรื่องตลกนิดหน่อย คือว่าเพื่อนคนจีนกับไต้หวันมองเห็นเสื้อที่เขียนว่า 勉強不足 แล้วเขาก็อ่านขึ้นมาว่า "เหมือนเฉี่ยงปู้จู๋" ตามเสียงอ่านภาษาจีนแล้วก็หัวเราะขึ้น

ความจริงแล้วคำว่า 勉強 ในภาษาจีนอ่านว่า "เหมือนเฉี่ยง" แปลว่า "ฝืน" แต่ว่าในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า "เบงเกียว" แปลว่า "เรียน" ส่วนคำว่า 不足 นั้นภาษาจีนอ่านว่า "ปู้จู๋" ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า "ฟุโซกุ "แปลเหมือนกัน แปลว่า "ไม่พอ"

พอพูดเป็นภาษาจีนก็เลยกลายเป็นแปลว่า "ฝืนไม่พอ" ก็เลยฟังดูแปลกๆ แต่ความจริงแล้วมันเป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า "เรียนไม่พอ"

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ภาษาจีนกับญี่ปุ่นใช้คำต่างกัน เขียนเหมือนกันแต่ว่าความหมายต่างกันไปคนละเรื่องเลย คำแบบนี้มีไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่แล้วถ้าเขียนเหมือนกันก็ความหมายเหมือนกัน อย่างไรก็ตามควรระวังคำที่ความหมายต่างกันเพราะจะเข้าใจผิดได้

ทางเข้าถนนคนเดิน ถนนทาเกชิตะ (竹下通り) เป็นถนนเล็กๆที่เป็นแหล่งรวมร้านค้าต่างๆ



ดูแล้วก็ไม่ได้เห็นคนแต่งตัวแปลกๆเท่าไหร่นะ



เพื่อนคนญี่ปุ่นชวนเข้าร้านแห่งหนึ่ง เป็นร้านถ่ายรูปทำเป็นสติกเกอร์เล็กๆ เข้าไปด้านในมีตู้สำหรับถ่ายรูป เราก็เข้าไปถ่ายกันทั้งกลุ่มเก้าคนเลย พอถ่ายเสร็จก็ไปแต่งภาพ เครื่องมันสามารถเปลี่ยนหน้าคนให้เป็นรูปร่างแปลกๆได้ แล้วก็สามารถแต่งเพิ่มเติมตามที่ต้องการได้ เสร็จแล้วก็จะพิมพ์ออกมาสติกเกอร์เล็กๆ แล้วก็ยังเซฟเป็นไฟล์เก็บกลับไปได้ด้วย




แล้วก็เดินต่ออีกหน่อยเพื่อหาร้านที่จะทาน กว่าจะมาถึงนี่ก็ดึกมากจนหิวกันแย่แล้ว มื้อเย็นกลายเป็นมื้อดึก






เพื่อนคนญี่ปุ่นชวนเข้าร้านนี้ เป็นร้านทงคัตสึชื่อทงคัตสึโชวตาโรว (とんかつ庄太郎)



มื้อนี้สั่งฮิเรดง ราคา ๙๘๐ เยน ก็ถือว่าแพงถ้าเทียบกับทงคัตสึที่เคยทานมาที่อื่น ความจริงแล้วทงคัตสึไม่ได้ถือว่าเป็นอาหารที่แพงนักในญี่ปุ่น แต่ก็แล้วแต่ร้าน



กว่าจะทานเสร็จก็ดึกมากพอสมควรตอนนั้นสี่ทุ่มกว่าแล้ว

กลับมาที่สถานีเพื่อเดินทางกลับ โดยมาต่อรถที่สถานีชินจุกุเช่นเดียวกับตอนขามา




แต่ครั้งนี้นั่งรถเร็วไปลงที่สถานีมิตากะ (三鷹駅) ก่อนแล้วค่อยต่อรถธรรมดาไปยังสถานีมุซาชิซาไก วิธีนี้ประหยัดเวลาเพราะว่ารถธรรมดาจะจอดทุกสถานี ซึ่งระหว่างทางต้องผ่านหลายสถานีมาก ในขณะที่รถเร็วจะข้ามสถานีที่ไม่จำเป็นไปเยอะ แต่รถเร็วจะไม่จอดที่สถานีมุซาชิซาไกเพราะไม่ใช่สถานีหลัก ต้องลงสถานีมิตากะซึ่งเป็นสถานีหลัก

กลับมาถึงก็เกือบห้าทุ่มแล้ว พอถึงทุกคนก็แยกย้ายกันกลับเข้าห้อง แต่เราแยกมาแวะร้านสะดวกซื้อที่อยู่ข้างๆโรงแรมเพื่อแวะซื้อเสบียงสำหรับพรุ่งนี้ก่อนค่อยกลับ



ชาแดง ๑๒๕ เยน
ชาเขียว ๑๒๕ เยน
กาแฟโอเล ๑๐๐ เยน
ข้าวห่อสาหร่าย ๑๓๕ เยน
กล้วย ๕๐ เยน

หมดวันแค่นี้ พรุ่งนี้มีแผนเที่ยวตอนช่วงเช้าอยู่ จึงต้องรีบนอน เนื่องจากเล็กเชอร์จะเริ่มตอน ๑๐ โมง จึงตั้งใจว่าจะตื่นเช้าตรู่เพื่อไปเที่ยวแล้วรีบกลับมาให้ทัน https://phyblas.hinaboshi.com/20140208



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> โตเกียว
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文