φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



บอกลาวิทยาเขตซางามิฮาระ เดินทางสู่วิทยาเขตมิตากะ
เขียนเมื่อ 2014/02/04 00:30
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#พุธ 13 พ.ย. 2013

หลังจากเมื่อวานได้ชมส่วนจัดแสดงในวิทยาเขตซางามิฮาระ https://phyblas.hinaboshi.com/20140131

วันนี้เป็นวันสุดท้ายในวิทยาเขตซางามิฮาระ



ตอนเช้าเล็กเชอร์โดย ศ. คาวาซากิ ชิเงโอะ (川﨑 繁男) ผู้วิจัยด้านวิศวกรรมสื่อสารคลื่นไฟฟ้าในอวกาศ นี่เป็นเล็กเชอร์ที่ ๗ และเป็นเล็กเชอร์สุดท้ายสำหรับวิทยาเขตซางามิฮาระ เนื้อหาที่พูดเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีวิศวกรรมการสื่อสารในอวกาศ

อาจารย์ท่านนี้เป็นคนจังหวัดมิยาซากิซึ่งอยู่บนเกาะคิวชู เขาแนะนำให้ผู้เข้าร่วมอบรมไปเที่ยวคิวชูกันถ้ามีโอกาส นอกจากนี้ยังแนะนำว่าทุกคนควรหาเวลาไปเที่ยวอากิฮาบาระกันด้วย เพราะเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น

ขนาดอาจารย์ท่านนี้ซึ่งเป็นผู้อาวุโสพอสมควร ก็ยังให้ความสำคัญกับอากิฮาบาระมากขนาดนี้ เห็นแล้วยิ่งอยากไปมากขึ้นอีก แต่เดิมทีถึงไม่มีใครบอกก็ตั้งใจจะหาโอกาสแวะไปอยู่แล้ว

เมื่อบรรยายเสร็จก็ได้เวลากล่าวปิดท้ายสำหรับค่ายอบรมที่นี่ อาจารย์โซเนะกล่าวสรุปเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เสร็จแล้วอยู่ดีๆเขาก็เรียกชื่อเราขึ้นมา ตอนแรกก็ตกใจว่ามีเรื่องอะไร ปรากฏว่าเขาบอกว่าเรามีการใช้โปรแกรมอะไรบางอย่างในการโหลดที่ผิดกฎ ซึ่งก็นึกขึ้นมาได้ทันทีว่าเราลง μtorrent ไว้ และมีของที่โหลดค้างอยู่ ปกติเวลาเปิดเครื่องมันจะเด้งขึ้นมาเองตลอด

เขาเตือนว่าที่ญี่ปุ่นเนี่ยหลายแห่งจะห้ามเอาไว้ไม่ให้โหลดของพวกนี้ ถ้าฝ่าฝืนก็มีโทษ ให้ระวังด้วย แต่สำหรับครั้งนี้เขาอนุโลมให้ ไม่ได้ทำโทษอะไร

ที่จริงเรื่องนี้เคยได้ยินมาจากเพื่อนเหมือนกัน แต่ลืมไปเลย นี่เป็นข้อหนึ่งที่ต้องระวังในการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ยิ่งอีกหน่อยตั้งใจจะมาเรียนต่อที่นี่ด้วย

เมื่อคุยธุระทุกอย่างเสร็จแล้วก็ได้เวลาทานอาหารเที่ยงมื้อสุดท้ายก่อนจะจากที่นี่ ราคา ๓๘๐ เยน



จากนั้นก็ได้เวลาขึ้นรถเพื่อไปยังหอดูดาวแห่งชาติ วิทยาเขตมิตากะแล้ว



หอดูดาวแห่งชาติ (国立天文台) เป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ของญี่ปุ่น

รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ที่ http://daejeonastronomy.wordpress.com/2013/12/06/แนะนำองค์การหอดูดาวแห่

หอดูดาวแห่งชาติมีที่ทำการตั้งอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ อ่านรายละเอียดได้ที่ http://daejeonastronomy.wordpress.com/2013/12/09/แนะนำองค์การหอดูดาวแห่-2

สำหรับที่จัดค่ายครั้งนี้คือที่วิทยาเขตมิตากะ (三鷹キャンパス) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมิตากะ (三鷹市) จังหวัดโตเกียว

เมืองมิตากะ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในส่วนตะวันตกของโตเกียว ซึ่งถ้าเทียบกับกรุงเทพฯแล้วที่นี่ก็เหมือนเป็นฝั่งธนบุรีนั่นเอง เป็นส่วนที่ไม่ใช่ใจกลางเมือง ไม่แออัดเท่า การคมนาคมไม่ได้ทั่วถึงเท่า มีจุดที่ไม่มีรถไฟวิ่งผ่านอยู่มาก เช่นวิทยาเขตมิตากาแห่งนี้ อยู่ห่างจากสถานีรถไฟมาก จำเป็นต้องต่อรถเมล์จากสถานีที่ใกล้ที่สุดเพื่อเดินทางไป

แผนที่จังหวัดโตเกียว แสดงตำแหน่งเมืองมิตากะเป็นสีชมพูเข้ม จะเห็นว่าอยู่ติดกับส่วนสีม่วงซึ่งเป็นส่วนของเขตการปกครองพิเศษ ๒๓ เขตในโตเกียว




การเดินทางไปยังวิทยาเขตมิตากะจะต้องนั่งรถไฟไปลงที่สถานีมุซาชิซาไก (武蔵境駅) หรือไม่ก็สถานีโจวฟุ (調布駅)

ถ้าลงที่สถานีมุซาชิซาไกก็ให้นั่งรถเมล์สาย 境 91 จากหน้าสถานีมา

ถ้าลงที่สถานีโจวฟุก็นั่งรถเมล์สาย 境 91 หรือ 鷹 51 หรือ 武 91

โดยลงที่ป้าย เทมมนไดมาเอะ (天文台前) ซึ่งแปลว่าด้านหน้าหอดูดาว ค่ารถเมล์ ๒๑๐ ตลอดสาย

ที่ต้องระวังก็คือรถเมล์สายที่หมายเลขเหมือนกันก็ยังมีแบ่งย่อยหลายชนิด เส้นทางจะต่างกัน ต้องดูว่าป้ายด้านหน้าเขียนว่าอะไร ถ้าจะใช้แน่นอนที่สุดคือขึ้นไปถามคนขับรถเมล์ว่ามันจะไปป้ายที่เราต้องการหรือเปล่า

เรื่องการเดินทางอ่านเพิ่มเติมในบันทึกการเดินทางของหนุ่มแทจ็อนที่มาค่ายเมื่อปีที่แล้วได้ http://daejeonastronomy.wordpress.com/2014/01/24/sokendai-asian-winter-school-2012naoj-tokyo-3



แต่การเดินไปครั้งนี้เขาเตรียมรถบัสไว้ให้เพื่อเดินทางโดยตรงจากวิทยาเขตซางามิฮาระไปยังวิทยาเขตมิตากะ ซึ่งถือว่าสะดวกกว่านั่งรถไฟไปเองมากนักเพราะระหว่างสองที่นี้ใช้รถไฟเดินทางไม่สะดวก เส้นทางค่อนข้างอ้อม



บนรถบัส



ระหว่างทาง ถ่ายรูปไว้เยอะเลย









เลี้ยวตรงแยกชินฟุกุโรบาชิ (新袋橋) แล้วลอดอุโมงค์ไป



ถนนตรงนี้ใบไม้กำลังเปลี่ยนสีสวยมาก









ผ่านย่านเมือง










จากนั้นก็ข้ามแม่น้ำทามะ (多摩川) ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่สำคัญสายหนึ่งของโตเกียว แม่น้ำนี้ยังกั้นเขตระหว่างโตเกียวกับเมืองคาวาซากิจังหวัดคานางาวะด้วย แต่สำหรับตรงนี้คือส่วนที่ลากผ่านในบริเวณจังหวัดโตเกียวส่วนตะวันตก




แม่น้ำนี้เป็นจุดหนึ่งที่สามารถมองเห็นภูเขาฟุจิได้ ถ้าหากฟ้าใสมากพอ แต่ลองพยายามมองดูแล้วก็มองไม่เห็น วันนี้ฟ้าคงไม่ใสพอ น่าเสียดาย

เมื่อข้ามแม่น้ำมาไม่นานก็ใกล้จะถึงแล้ว




ถึงวิทยาเขตมิตากะแล้ว



รถมาจอดด้านใน บริเวณหน้าอาคารหลัก (中央棟) ซึ่งอยู่ใกล้ประตูทางเข้า เข้ามาก็เจอเลย



จากนั้นก็เดินไปยังอาคารสึบารุ (すばる棟) ซึ่งเป็นอาคารหอประชุมที่มีห้องประชุมขนาดใหญ่สำหรับฟังบรรยาย




นี่คือห้องที่ใช้ฟังบรรยาย



เมื่อมาถึงห้องฟังบรรยายกันแล้วเขาก็ให้เซ็นชื่อลงทะเบียน แล้วก็รับเงิน ๓๐๐๐ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอยู่ที่นี่ เพราะเขาจะไม่มีการเลี้ยงอาหาร และเรายังต้องเดินทางไปกลับที่พักเองด้วย

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเขาก็เรียกให้ทุกคนเข้าห้องฟังบรรยาย จากนั้นก็มีการกล่าวนำเพียงสั้นๆ แล้วเล็กเชอร์แรกจึงเริ่มขึ้นทันที

เล็กเชอร์แรกบรรยายโดย ศ. ดร. โรลันท์ ดีล (Prof. Dr. Roland Diehl) ชาวเยอรมันผู้เป็นอาจารย์ในสถาบันวิจัยมักซ์ พลังค์ และมหาวิทยาลัยเทคนิกแห่งมิวนิค เขาถูกเชิญมาเป็นพิเศษเพื่อบรรยายในงานนี้ โดยมาพูดเรื่องเกี่ยวกับรังสีแกมมาในอวกาศ

เล็กเชอร์ที่ ๒ ก็บรรยายโดยอาจารย์ชาวต่างชาติเช่นกัน คือ รัฟฟาเอเล ฟลามินิโอ (Prof. Raffaele Flaminio) ซึ่งเป็นชาวอิตาลีที่ทำงานอยู่ในศูนย์วิจัยคลื่นความโน้มถ่วงในวิทยาเขตมิตากะ เขามาพูดเรื่องเกี่ยวกับการค้นหาคลื่นความโน้มถ่วง



คลื่นความโน้มถ่วงเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นผลมาจากการทำนายตามทฤษฎีสัมพัทธภาพ ซึ่งบอกว่าแรงโน้มถ่วงเกิดจากการที่วัตถุซึ่งมีมวลได้ทำให้กาลอวกาศบิดเบี้ยวไป ดังนั้นหากมีวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ก็จะทำให้การบิดเบี้ยวของกาลอวกาศเปลี่ยนแปลงไปเป็นช่วงๆ เกิดเป็นคลื่นความโน้มถ่วงขึ้นได้

ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบคลื่นความโน้ม เนื่องจากมันมีขนาดเล็กมาก แหล่งที่จะสร้างคลื่นโน้มถ่วงแรงพอที่จะตรวจจับได้ต้องเกิดมาจากปรากฏการที่รุนแรง เช่นซูเปอร์โนวา การชนกันของดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ การจะตรวจจับได้นั้นต้องมีเครื่องมือที่สามารถแยกความแตกต่างของความโน้มถ่วงเพียงเล็กน้อยได้

ศูนย์วิจัยคลื่นโน้มถ่วงอยู่ที่วิทยาเขตมิตากะนี้เอง ซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์ทดลองเรื่องคลื่นความโน้มถ่วงอยู่ ซึ่งเขาจะพาไปชมในวันพรุ่งนี้ ดังนั้นรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือสำหรับการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงจะไปพูดถึงอีกที



หลังจากนั้นก็เลิกตอนเย็นประมาณหกโมง ได้เวลาที่จะเดินทางไปยังที่พัก ซึ่งสถานที่พักนั้นทางนี้ก็จัดเตรียมไว้ให้ โดยมีแยกเป็นสองส่วนคือพักภายในวิทยาเขตกับพักที่โรงแรม เช่นเดียวกับที่วิทยาเขตซางามิฮาระ แต่ว่าครั้งนี้เราได้พักที่โรงแรม

ต่างจากที่วิทยาเขตซางามิฮาระตรงที่ว่าคนที่พักที่โรงแรมจะไม่มีรถไปรับ ให้เดินทางกันเอาเองด้วยรถเมล์ ก่อนจะแยกย้ายกันไปเขาอธิบายเกี่ยวกับวิธีการเดินทางให้ฟังอย่างละเอียด ย้ำเรื่องรถเมล์ และในวันแรกนี้เขาก็ช่วยพาขึ้นรถเมล์ไปด้วย

โรงแรมที่พักนั้นคือโรงแรมซิตีเทลมุซาชิซาไก (シティテル武蔵境) ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีมุซาชิซาไก (武蔵境駅) ในเมืองมุซาชิโนะ (武蔵野市) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ข้างๆเมืองมิตากะ
เว็บไซต์ของโรงแรม http://www.hotel-citytel.jp/citytel_sakai/index.html

เมืองมุซาชิโนะก็เป็นเมืองที่อยู่ทางตะวันตกของโตเกียวเช่นกันกับมิตากะ โดยตั้งอยู่ทางเหนือของมิตากะ

ตำแหน่ง



ความจริงแล้วต้องถือว่าโชคดีที่ได้พักที่โรงแรม เพราะว่าอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ ถ้าจะไปไหนต่อก็เดินทางได้ง่าย



ป้ายรถเมล์อยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าเลย



เมื่อรถเมล์มาถึงเขาก็ชี้ให้พวกเราขึ้น แต่เนื่องจากมีหลายคนที่ดูเหมือนจะยังไม่เคยขึ้นรถเมล์ ก็เลยยังไม่คล่อง จึงช้าพอสมควร เพราะรถเมล์ที่ต้องหยอดเงินจ่ายตอนขึ้นรถ ถ้าไม่ได้เตรียมเศษตังค์ไว้ก็จะช้า ทำเอาเกรงใจผู้โดยสารคนอื่นเหมือนกัน เหมือนไปทำให้เขาช้า แต่รถเมล์ที่นี่วิ่งตามเวลาที่ค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าช้าตรงนี้เขาก็ไปเร่งเอาตรงเส้นทางข้างหน้าได้



ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒๐ นาทีก็ถึงสถานีมุซาชิซาไก



เดินจากสถานีแค่นิดเดียวก็ถึงโรงแรมซิตีเทลมุซาชิซาไก ดูแล้วไม่ได้ใหญ่โตมากอย่างที่คิดไว้



ห้องที่พักเป็นห้องเดี่ยว จึงไม่กว้าง ขนาดแคบกว่าที่พักในวิทยาเขตซางามิฮาระเสียอีก แต่ก็พออยู่สบาย



ห้องน้ำเป็นแบบนี้



เรื่องของวันนี้ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ หลังจากที่เข้าห้องพักไปวางของเสร็จแล้วทุกคนก็นัดกันว่าจะไปหาที่ทานมื้อเย็นกันต่อ

ตอนต่อไปจะได้เข้าไปในตัวเมืองโตเกียวแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20140206



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> คานางาวะ
-- ประเทศญี่ปุ่น >> โตเกียว

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文