φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ชมส่วนจัดแสดงภายในวิทยาเขตซางามิฮาระของ JAXA
เขียนเมื่อ 2014/01/31 09:28
แก้ไขล่าสุด 2023/07/01 20:22
#อังคาร 12 พ.ย. 2013

หลังจากที่ไปเดินเล่นออกกำลังกายยามเช้าที่เมืองซามะมา https://phyblas.hinaboshi.com/20140126

ก็กลับมาถึงวิทยาเขตซางามิฮาระทันก่อนที่การบรรยายช่วงเช้าจะเริ่มขึ้นตอนสิบโมงแบบเฉียดฉิว

เล็กเชอร์แรกของวันนี้บรรยายโดย ผ.ศ. ยามาซากิ อัตสึชิ (山﨑 敦) ผู้วิจัยด้านฟิสิกส์พลาสมาและบรรยากาศดาวเคราะห์ ซึ่งเดิมทีต้องมาบรรยายตั้งแต่เมื่อวาน แต่เนื่องจากติดธุระจึงสลับมาวันนี้



เขามีส่วนในการวิจัยดาวเทียมสังเกตการณ์วิเคราะห์แสงดาวเคราะห์ ฮิซากิ (ひさき) ซึ่งถูกส่งออกไปโคจรรอบโลกเมื่อ 14 ก.ย. 2013 เป็นดาวเทียมลำแรกของโลกที่มีเป้าหมายเพื่อสังเกตการณ์ดาวเคราะห์โดยเฉพาะ

การส่งฮิซากิยังถือเป็นการทดสอบการใช้งานครั้งแรกของจรวดเอ็ปซิลอน (イプシロンロケット) ซึ่งเป็นจรวดล่าสุดที่เพิ่งถูกคิดค้นใหม่ล่าสุดของ JAXA ตอนท้ายของการบรรยายเขามีให้ดูคลิปวีดีโอการปล่อยจรวดด้วย



หลังจากฟังบรรยายนี้เสร็จแล้วต่อไปเขาก็พาไปชมห้องควบคุมดาวเทียมเรย์เมย์ (れいめい) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำหรับสังเกตการณ์ออโรราซึ่งถูกส่งออกไปเมื่อ 24 ส.ค. 2005 จนถึงตอนนี้ก็ยังใช้งานอยู่

เรย์เมย์จะทำการสังเกตการณ์การกระจายของการเปล่งออโรราและอนุภาคพลาสมาในบริเวณหนึ่งเพื่อวิเคราะห์จุดกำเนิดและโครงสร้างของออโรรา ภายในประกอบไปด้วยกล้องถ่ายออโรราในหลากหลายความยาวคลื่น และอุปกรณ์วิเคราะห์สเป็กตรัม ทำให้สามารถสังเกตการณ์โครงสร้างการเปล่งออราและอนุภาคพลาสมาไปพร้อมๆกันได้

ระหว่างทางเดินภายในอาคารศูนย์วิจัย



นี่คือห้องควบคุมดาวเทียมเรย์เมย์ คนที่ยืนอยู่หลังสุดคือนักวิจัยที่ทำงานที่นี่



เขาให้พวกเราดูจอที่ใช้ควบคุมดาวเทียมและอธิบายการทำงานให้ฟัง



ที่ผนังห้องมีอะไรๆติดอยู่มากมายเลย ตรงกลางนี้คือรูปดาวเทียมเรย์เมย์



เห็นมีติดแผ่นพับของสถาบันเทคโนโลยีอวกาศของเวียดนาม (viện công nghệ vũ trụ) ด้วย เลยลองชวนเพื่อนคนเวียดนามคุยถามถึงก็เห็นบอกว่าที่เวียดนามมีความร่วมมือกับที่นี่อยู่ ไม่นานนี้มีการส่งดาวเทียมออกไป



ดูเสร็จก็ได้เวลาทานข้าว ก็ทานที่โรงอาหารอีกเช่นเคย มื้อนี้ลองสปาเก็ตตี ราคา ๕๐๐ เยน อร่อยดี





หลังจากทานมื้อเที่ยงเสร็จก็กลับมาฟังเล็กเชอร์ต่อ ซึ่งบรรยายโดย ศ. อิชิกาวะ ทาเกฮิโกะ (石川 毅彦) ผู้ทำงานวิจัยด้านวิศวกรรมเครื่องกล

เขามาบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ และสถานีอวกาศนานาชาติ

สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ หรือสภาวะไร้น้ำหนัก ก็คือสภาวะเมื่ออยู่ในอวกาศซึ่งแรงโน้มถ่วงจากโลกมีอิทธิพลต่ำมาก ทำให้วัตถุล้วนลอยอิสระ ไม่มีด้านบนด้านล่าง ไม่มีการตกสู่พื้น การจะวิจัยผลของสภาวะนี้ต้องไปทำกันในอวกาศ ซึ่งสถานทดลองเรื่องนี้ที่ดีที่สุดในปัจจุบันก็คือที่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งโคจรอยู่รอบโลกโดยอยู่สูงจากพื้นโลก ๔๐๐ กิโลเมตร



หลังจากการบรรยายจบ รายการต่อไปก็คือการไปชมส่วนจัดแสดงซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้



ระหว่างทางเดินผ่านตรงที่มีจรวด Μ-V และแบบจำลองจรวด Μ-3SII ตั้งแสดงอยู่ จรวดทั้งสองชนิดนี้เป็นจรวดในกลุ่มจรวดมิว ซึ่งเป็นจรวดรุ่นเก่าที่พัฒนาขึ้นมาโดย ISAS ก่อนที่จะมารวมเป็น JAXA ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว โดย Μ-3SII ถูกใช้ตั้งแต่ปี 1985 ถึง 1995 ส่วน Μ-V ถูกใช้ตั้งแต่ปี 1997 ถึง 2006


รายละเอียดอ่านได้ที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20140120

อ. โซเนะ กำลังบรรยายเกี่ยวกับจรวดให้ฟัง



เข้ามาด้านในส่วนจัดแสดง จะเห็นว่าไม่ได้กว้างอะไรมาก แต่ของตั้งแสดงอยู่เต็มไปหมด



ที่เห็นตั้งอยู่ตรงกลางเด่นสุดคือแบบจำลองยานฮายาบุสะ (やはぶさ) ขนาดเท่าของจริง



ฮายาบุสะเป็นยานสำรวจอวกาศที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น มันถูกส่งออกไปเมื่อปี 2006 เพื่อไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ (イトカワ) โดยถ่ายภาพระยะใกล้ และทำการลงจอดเพื่อเก็บชิ้นส่วนจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มา ระหว่างการทำงานของมันมีปัญหามากมาย เช่นเครื่องยนต์ไอออนทำงานไม่ปกติ ลงจอดล้มเหลวไปครั้งหนึ่ง ระเบิด สัญญาณขาดหายไประหว่างเดินทาง จนเกือบจะกลับมาไม่ได้ ทำให้นักวิจัยทุกคนต้องปวดหัวคิดหาทางแก้เฉพาะทางกันแบบไม่ว่างเว้น แต่สุดท้ายก็พามันกลับมาได้ในปี 2010 ซึ่งช้ากว่าแผนเดิมไปที่ตั้งใจจะกลับมาตั้งแต่ปี 2007 แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ฮายาบุสะเป็นยานลำแรกของโลกที่นำตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยกลับสู่โลกได้สำเร็จ เป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น การสำรวจดาวเคราะห์น้อยนั้นมีความสำคัญเนื่องจากหินบนดาวเคราะห์น้อยมีอายุเก่าแก่มากกว่าหินบนดาวเคราะห์เนื่องจากไม่ถูกหลอมและเปลี่ยนรูปเนื่องจากความร้อนภายในดาวเคราะห์

นี่คือแบบจำลองขนาดเท่าของจริงของแค็ปซูลที่ใส่ชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นส่วนของฮายาบุสะที่กลับมายังโลก มันตกลงบนพื้นโลกที่ออสเตรเลีย และก็มีทีมงานไปค้นหาเพื่อเก็บมันขึ้นมา ตรงนี้เขาให้เราลองยกมันขึ้นมาดูได้ น้ำหนักถูกสร้างขึ้นมาให้เท่าของจริง ซึ่งก็หนักกว่าที่คิด แต่คนเดียวสามารถยกขึ้นมาได้ไม่ยาก



โปสเตอร์บรรยายเรื่องของยานฮายาบุสะและดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ



ในรูปนี้คือทีมงานที่ทำงานกับฮายาบุสะ



ภายในตู้แสดงชิ้นส่วนภายในของยานฮายาบุสะ และรูปที่ติดผนังอยู่ก็เป็นคนที่ออกมาแสดงความยินดีกับความสำเร็จ



นี่คือฮายาบุสะ 2 (はやぶさ2) เป็นโครงการที่สานต่อจากยานฮายาบุสะ คราวนี้โดยจะไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยอีกดวงหนึ่งเพื่อเก็บตัวอย่างมาเช่นเดิม ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการ มีกำหนดจะปล่อยในปี 2014 ด้วยจรวด H-IIA ดาวเคราะห์เป้าหมายครั้งนี้มีชื่อว่า (162173) 1999 JU3 โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยวงโคจรใกล้เคียงกับโลก ระห่างเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1.2 AU ตามกำหนด ยานจะไปถึงมันในปี 2018



หน้าประตูทางเข้ามีแบบจำลองขนาดเล็กของยานอากัตสึกิ (あかつき) ซึ่งส่งไปสำรวจดาวศุกร์ ขณะนี้ยานนี้กำลังอยู่ในระหว่างรอเพื่อที่จะเข้าสู่วงโคจรของดาวศุกร์ใหม่ในปี 2015 หลังจากที่ล้มเหลวในการเข้าสู่วงโคจรดาวศุกร์ตามแผนเดิมในปี 2010



แผ่นนี้อธิบายเกี่ยวกับโครงการเบปีโคลอมโบ (BepiColombo) ที่วางแผนจะไปสำรวจดาวพุธโดยมีกำหนดจะปล่อยในปี 2015 และไปถึงดาวพุธในปี 2022



ภาพถ่ายวีดีโอของนักบินอวกาศ วากาตะ โควอิจิ (若田 光一) ที่ถ่ายจากอวกาศตอนที่เขาขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2009 เป็นข้อความทักทายคนที่เข้ามาชมส่วนจัดแสดงที่วิทยาเขตซางามิฮาระนี้



ตู้นี้จัดแสดงแบบจำลองขนาดเล็กของดาวเทียมต่างๆที่เคยถูกส่งไปตั้งแต่เมื่อก่อน



แบบจำลองดาวเทียมโอสึมิ (おおすみ) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของญี่ปุ่น ถูกส่งออกไปเมื่อปี 1970



แบบจำลองจรวด อันขวาคือจรวด Μ-3S และอันซ้ายคือจรวด Μ-3SII ซึ่งเป็นจรวดในกลุ่มจรวดมิว จรวด Μ-3SII นั้นเป็นรุ่นเดียวกับที่ตั้งแบบจำลองขนาดเท่าของจริงอยู่ด้นานอก ส่วนจรวด Μ-3S เป็นรุ่นเก่ากว่า ถูกใช้ในช่วงปี 1980 ถึง 1984



วิวัฒนาการของจรวดญี่ปุ่น จะเห็นว่าแบ่งออกเป็นสองสาย ด้านบนคือตระกูลจรวดมิว (ミューロケット) ที่พัฒนาโดย ISAS  และด้านล่างคือจรวดที่พัฒนาโดย NASDA ก่อนที่ปี 2003 จะมารวมกันเป็น JAXA และในที่สุดทั้งสองสายก็มารวมกันกลายเป็นจรวด H-IIB และจรวดเอ็ปซิลอน (イプシロンロケット)



แบบจำลองยานกล้องโทรทรรศน์วิทยุฮารุกะ (はるか) ซึ่งถูกส่งออกไปเมื่อปี 1997 ด้วยจรวด Μ-V และใช้งานอยู่จนถึงปี 2005 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Very Long Baseline Interferometry (VLBI) ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุจากดาวเทียมที่โคจรรอบโลกอยู่หลายๆตัวเพื่อทำหน้าที่เหมือนกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่กว่าโลก ซึ่งมีประโยชน์ในการสำรวจอวกาศไกลๆ



ทรงสี่เหลี่ยมด้านขวาเป็นแบบจำลองขนาดเท่าของจริงของส่วนตัวยานของฮารุกะ ขนาด 1.5 × 1.5 × 1.1 m ตั้งอยู่คู่กับทรงกระบอกด้านซ้าย คือแบบจำลองเท่าของจริงของดาวเทียมฮิเตง (ひてん) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4m × ความสูง 0.79m



ฮิเตงเป็นดาวเทียมสำหรับทดสอบทางวิศวกรรมที่ถูกส่งไปเมื่อปี 1990 วัตถุประสงค์คือเพื่อทดสอบการสวิงบาย โดยได้สวิงบายที่ดวงจันทร์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สังเกตการณ์ฝุ่นในอวกาศไปด้วย

การสวิงบายคือการใช้แรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์เพื่อช่วยเร่งหรือหน่วงความเร็วของยานอวกาศโดยการเฉียดเข้าใกล้ดวงดาวและแย่งพลังงานจากมันมา เป็นเทคนิกที่มีประโยชน์มากในการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวเคราะห์


แบบจำลองขนาดเล็กของดาวเทียมอาเกโบโนะ (あけぼの) เป็นดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 1989 โดย ISAS เพื่อศึกษาแม็กเนโตสเฟียร์ของโลก ปัจจุบันผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วก็ยังคงทำงานอยู่ ด้านขวาของรูปเป็นแบบจำลองแถบสนามแม่เหล็กของโลก



แบบจำลองหุ่นยนต์สำหรับไปเดินบนดวงจันทร์หรือผิวดาวเคราะห์ กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา



หัวเจาะสำหรับใช้เจาะลงไปในดวงจันทร์ ซึ่งมีความพยายามที่จะพัฒนาขึ้นตั้งนานแล้วโดยเดิมทีมีแผนจะส่งยานสำรวจดวงจันทร์ชื่อ LUNAR-A ออกไปตั้งแต่ปี 1995 เพื่อจะเจาะสำรวจพื้นผิว แต่ว่าเพราะการพัฒนาหัวเจาะที่ล่าช้าทำให้สุดท้ายต้องล้มเลิกแผน ส่วนหัวเจาะนั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงกำลังพยายามพัฒนาอยู่



ที่เห็นนี้คือแบบจำลองบัลลูนขนาดใหญ่สำหรับใช้ทำการทดลองต่างๆบนบรรยากาศชั้นสูง การใช้บัลลูนสามารถทำให้ลอยสูงได้มากกว่าการใช้เครื่องบิน แต่ไม่ได้ไปสูงเท่าจรวด สามารถไปถึงความสูงหลายสิบกิโลเมตรได้ ไปได้ถึงบรรยากาศชั้นสตาโตสเฟียร์ และชั้นมีโซสเฟียร์



ที่จัดแสดงอยู่นี้คือบัลลูนรุ่น B50-50 ในแบบจำลองที่เห็นนี้เล็กนิดเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วบัลลูนนี้สร้างให้มีขนาดใหญ่ถึง ๕๐ เมตร พื้นที่ผิว ๕ หมื่น ตร.ม. น้ำหนัก ๑๒๗ กก.

การส่งบัลลูนขึ้นไปสูงขนาดนั้นมีความสำคัญในงานวิจัยหลายอย่าง เช่นการสังเกตการณ์ชั้นโอโซนและก๊าซเรือนกระจก, ค้นหาจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศ, สังเกตการณ์รังสีคอสมิก และยังใช้ทดสอบทางวิศวกรรมอวกาศเช่นการตกอิสระภายใต้แรงโน้มถ่วงต่ำ, ทดสอบการกางออกของโครงสร้างเยื่อขนาดใหญ่, ทดสอบสภาพแวดล้อมของเซลล์เชื้อเพลิง และทดสอบการกางออกของร่มชูชีพสำหรับยานที่กลับสู่โลก

เขามีให้ลองจับดูวัสดุที่ใช้ทำบัลลูนด้วย วัสดุใช้โพลีเอทิลีนชนิดบางเป็นพิเศษ ความหนาเพียง ๓.๔ ไมครอน หรือก็คือ ๐.๐๐๓๔ ม.ม. เท่านั้น เพื่อให้ตัวบัลลูนเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้



การใช้บัลลูนทดลองนั้นเป็นงานวิจัยอย่างหนึ่งที่ทำอยู่ในวิทยาเขตซางามิฮาระนี้ แต่เวลาทดลองปล่อยบัลลูนต้องไปปล่อยในสถานที่ห่างไกลตัวเมือง เมื่อก่อนการปล่อยบัลลูนจะทำที่ฐานสังเกตการณ์บัลลูนขนาดใหญ่ซันริกุ (三陸大気球観測所) ที่เมืองโอฟุนาโตะ (大船渡市) จังหวัดอิวาเตะ แต่ตั้งแต่ปี 2008 ได้ย้ายไปทำที่สนามทดลองการบินและอวกาศไทกิ (大樹航空宇宙実験場) ที่เมืองไทกิ (大樹町) จังหวัดฮกไกโด

หนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรด อาการิ (あかり) ซึ่งถูกวาดเป็นตัวละครโมเอะอาการิจัง คนญี่ปุ่นชอบทำแบบนี้



รูปกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรด อาการิ



ที่นี่มีตราประทับให้ประทับตราเป็นที่ระลึกด้วย ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆรอบๆสถานที่จัดแสดง สามารถไปขอกระดาษสำหรับประทับตราได้ อย่างอันนี้เป็นตราประทับรูปจรวดเอ็ปซิลอน



แผ่นกระดาษที่ประทับตราหยิบเอาได้จากตรงนี้





ส่วนจัดแสดงก็ดูจบเท่านี้ ที่จริงมีอะไรน่าสนใจมากกว่านี้ แต่เนื่องจากเขาให้เวลาจำกัดไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้หมด

แต่ความจริงแล้วสำหรับผู้ร่วมอบรมคนอื่นนอกจากเราอาจจะใช้เวลาเดินไม่นานนักก็ได้เพราะข้อมูลต่างๆเกือบทั้งหมดเป็นภาษาญี่ปุ่น นอกจากเราแล้วคนอื่นไม่มีใครรู้ภาษาญี่ปุ่น ถ้าเดินดูเฉยๆโดยไม่ได้อ่านอะไรมากก็คงไม่ได้ใช้เวลานานมาก

เนื่องจากกลุ่มที่เข้าชมครั้งนี้เป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น การเดินชมครั้งนี้โดยหลักแล้ว อ.โซเนะ พานำและช่วยบรรยายประกอบเป็นภาษาอังกฤษตลอด



ใครสนใจเรื่องอวกาศสามารถแวะมาเที่ยวชมได้ ที่นี่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้

คนญี่ปุ่นที่เคยมาเที่ยวชมที่นี่แล้วเขียนบล็อกเอาไว้ มีอยู่ไม่น้อย ขอยกมาส่วนหนึ่งที่ได้อ่านผ่านๆมา
http://kanaisocho.blog77.fc2.com/blog-entry-711.html
http://kahy.info/?p=930
http://linka100.cocolog-nifty.com/blog/2011/01/jaxa-ad68.html
http://blog.okumura.com/article/158094950.html



ระหว่างที่เขาปล่อยให้เดินอิสระก็มีออกไปเดินดูตรงร้านขายของ ซึ่งมีของที่ระลึกเกี่ยวกับดาราศาสตร์ขายอยู่ด้วย




พวกขนมอวกาศต่างๆ มีไอศกรีมอวกาศ ช็อคโกแลตอวกาศ ทาโกยากิอวกาศ ฯลฯ ไม่รู้ว่าเป็นยังไงเหมือนกัน ไม่ได้ลองซื้อมาทาน



มีพวกพวงกุญแจ




ปากการูปจรวด



แบบจำลองตัวต่อโลหะ



แล้วก็แบบจำลองพลาสติก เราซื้อันนี้ไปทั้งสีฟ้าและสีส้ม ราคาอันละ ๖๓๐ เยน รวมเป็น ๑๒๖๐



ต่อเสร็จแล้วก็จะออกมาเป็นแบบนี้ แต่สังเกตดีๆจะเห็นว่าอันสีฟ้าต่อผิดอยู่



มีขายพวกหนังสือด้วย มีทั้งที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์และไม่เกี่ยว แม้แต่มังงะก็มี



มากิก็มี มังงะตอนนั้นไปถึงเล่ม ๑๙ แล้ว





หลังจากนั้นก็ได้กลับขึ้นไปบนห้องเล็กเชอร์เพื่อกล่าวอะไรปิดท้ายสำหรับวันนี้ เนื่องจากวันรุ่งขึ้นจะต้องย้ายไปที่วิทยาเขตมิตากะต่อ ดังนั้นจึงต้องเก็บโปสเตอร์ที่เตรียมมาเพื่อไปติดที่นั่นต่อ


ตอนท้ายเขาให้พวกเราผู้ร่วมอบรมมาช่วยกันขนแผ่นกระดานที่เอาไว้ติดโปสเตอร์ด้วย

หลังจากช่วยงานออกแรงเสร็จเหนื่อยๆก็ได้เวลาไปหาอะไรทาน เห็นเพื่อนกลุ่มหนึ่งเขาคุยกันว่าจะไปหาอะไรกินกันก็เลยขอตามไปด้วย

ทุกคนพากันเดินไปขึ้นรถไฟที่สถานีฟุจิโนเบะ เพื่อจะไปหาอะไรทานที่แถวๆสถานีมาจิดะ ซึ่งก็บังเอิญว่าเราเพิ่งไปมาเมื่อเช้านี้เอง แต่ตอนนั้นแค่ไปเปลี่ยนรถเฉยๆไม่ได้เดินละเอียด

เมื่อไปถึงก็ประมาณทุ่มยี่สิบ บรรยากาศสถานีมาจิดะยามนี้เบียดเสียดยิ่งกว่าเมื่อเช้าเสียอีก



เพื่อนคนญี่ปุ่นเป็นคนแนะนำร้าน เราก็เข้าร้านนี้กัน ชื่อร้านโบจิโบจิ (ぼちぼち) เป็นร้านโอโคโนมิยากิและเทปปันยากิ



ร้านนี้จะสั่งอาหารแล้วมาวางบนกระทะให้ย่างกันเอาเองแบบนี้




รูปสมาชิกจำนวนหนึ่งที่มาทานด้วยกัน ที่จริงมาทานกันสิบคนแต่ว่าโต๊ะไม่กว้างพอเลยแบ่งกันนั่งเป็น ๖ กับ ๔



ค่าใช้จ่ายมื้อนี้หมดไป ๑๕๐๐ เยน หลังจากทานเสร็จก็ดึกแล้ว ทุกคนก็นั่งรถไฟกลับ พวกเราคนไทย เวียดนาม จีน ไต้หวัน ซึ่งพักอยู่ในวิทยาเขตอยู่แล้วก็กลับมาที่สถานีฟุจิโนเบะเหมือนเดิม แต่เพื่อนคนเกาหลีกับคนฟิลิปปินส์พักอยู่ที่โรงแรม ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีโคบุจิ (古淵駅) ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ระหว่างสถานีฟุจิโนเบะกับสถานีมาจิดะ เขาก็ลงก่อนที่สถานีนี้

หลังจากกลับถึงทุกคนก็แยกย้ายกันกลับห้อง ตอนนั้นก็เกิดนึกขึ้นได้ว่าลืมซื้อน้ำและของกินไว้ทานเป็นมื้อเช่าพรุ่งนี้ ก็เลยต้องออกไปหาร้านสะดวกซื้อ โดยถามยามที่อยู่ตรงป้อม เขาก็บอกว่าตอนนี้มีแต่ 7-11 ที่ยังเปิดอยู่ แต่ว่าเดินออกไปไกลสักหน่อยสักสิบนาที ระหว่างทางก็ทั้งมืดทั้งเปลี่ยวและก็หนาวเหน็บมากทีเดียว เส้นทางก็ค่อนข้างงงๆเพราะถนนแถวนั้นตีตารางไม่ค่อยเป็นมุมฉาก แบ่งช่องกันยุ่ง กว่าจะถึงร้านก็แทบแย่เหมือนกัน โชคดีที่ยามเขาให้แผนที่ติดมาด้วย ช่วยได้มากเลย ยามที่นี่เท่าที่คุยแล้วเขาดูใจดีมากจริงๆ

ชาเขียว ๙๘ เยน, ชาแดง ๑๒๕ เยน, กาแฟนม ๘๘ เยน, ข้าวห่อสาหร่ายรสกุ้งมายองเนส ๑๐๕ เยน



หลังจากซื้อเสร็จก็กลับมานอนอย่างสบาย เป็นอันจบวันลงเท่านี้

วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันสุดท้ายในวิทยาเขตซางามิฮาระ โดยจะอยู่แค่ตอนช่วงเช้า และตอนบ่ายจะย้ายไปที่วิทยาเขตมิตากะ (三鷹キャンパス) ของหอดูดาวแห่งชาติ (国立天文台)
https://phyblas.hinaboshi.com/20140204
 



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์
-- ประเทศญี่ปุ่น >> คานางาวะ
-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์ >> พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文