φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



บันทึกการเที่ยวสวีเดน 1-12 พ.ค. 2014
เขียนเมื่อ 2014/05/14 21:25
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
ช่วงวันที่ 1-12 พ.ค. ที่ผ่านมีโอกาสได้ไปเที่ยวประเทศสวีเดนมา นี่เป็นการเที่ยวยุโรปเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยจึงมีเรื่องน่าเล่ามากมาย

เริ่มแรกจะขออธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับการเที่ยวนี้ก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่องราวโดยละเอียดในตอนถัดไป



แผนการเที่ยว
เนื่องจากพี่คนรู้จักได้แต่งงานกับคนสวีเดนและมีบ้านอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆในอำเภอคริครานสตา (Kristianstad) ในจังหวัดสโกเน (Skåne) ทางใต้สุดของสวีเดน เขาจึงเชิญครอบครัวเราไปเยี่ยมบ้านเขา และจะได้ถือโอกาสเที่ยวสวีเดนไปด้วย

หลังจากที่วางแผนอะไรต่างๆออกมาก็สรุปว่าการเที่ยวครั้งนี้ไปทั้งหมด ๑๒ วัน ช่วงแรกพักบ้านพี่คนรู้จักที่มีบ้านอยู่ที่สวีเดน ต่อมาพักที่เมืองสตอกโฮล์ม (Stockholm) เมืองหลวงของสวีเดน หลังจากนั้นคนอื่นกลับบ้านไปก่อน ส่วนเราคนเดียวเที่ยวต่อโดยไปพักหอพักของเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่ในเมืองลินเชอปิง (Linköping) หนึ่งคืน จากนั้นก็เดินทางกลับโดยไปเปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิ (Helsinki) เมืองหลวงของฟินแลนด์ และได้ถือโอกาสเที่ยวที่นั่นเล็กน้อยก่อนกลับ

ในช่วงครึ่งแรกของการเที่ยวครั้งนี้พักอยู่กับบ้านที่เขาเตรียมไว้ให้เราอยู่ถึง ๕ คืน จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ครอบครัวเขาเองก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี บ้านที่เขาให้อยู่ก็น่าอยู่ดีมาก ตอนขอวีซาเขาก็ได้เขาเป็นคนเขียนจดหมายเชิญเพื่อขอวีซาแบบเยี่ยมเพื่อน

นอกจากจะเที่ยวในสวีเดนแล้วยังมีโอกาสได้ข้ามไปเที่ยวเดนมาร์กด้วยเล็กน้อยเพราะอยู่ใกล้กัน แต่เวลาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ในสวีเดนและได้แวะเดนมาร์กและฟินแลนด์เพียงนิดเดียวเหมือนเป็นตัวเสริมก็เลยถือว่าครั้งนี้เป็นการไปเพื่อเที่ยวสวีเดนเป็นหลัก

สวีเดนเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก มีสถานที่เที่ยวมากมายจนเวลาเพียงแค่ ๑๒ วันสั้นๆไม่มีทางเที่ยวได้พอ ที่เที่ยวไปนี้ก็ถือว่าเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียวของสวีเดนเท่านั้นเอง เก็บส่วนหลักๆ จริงๆแล้วยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่งที่ไม่มีโอกาสได้ไป

เนื่องจากพักอยู่ทางตอนใต้ของสวีเดนเป็นหลัก สถานที่เที่ยวส่วนใหญ่ที่ได้ไปก็อยู่ในภาคใต้ทั้งนั้น ภาคเหนือไม่ได้ไปเลย แต่ภาคใต้เองก็มีสถานที่เที่ยวเยอะแยะมากมาย เมืองหลักๆส่วนใหญ่ก็อยู่ภาคใต้ทั้งนั้น ภาคเหนือเองก็น่าสนใจหากมีโอกาสไว้สักวันหนึ่งหวังว่าคงมีโอกาสได้ไป

กำหนดการโดยย่อ
- 1 พ.ค. 10:55 ออกจากปักกิ่ง บินไปเปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิ ถึงเฮลซิงกิเวลา 14:25 รอจนถึง 17:45 เพื่อไปลงที่โคเปนเฮเกน ถึงโคเปนเฮเกนเวลา 18:25 จากนั้นก็ข้ามไปยังสวีเดน
- 1-5 พ.ค. ค้างอยู่กับบ้านพี่คนรู้จักและเที่ยวเมืองรอบๆซึ่งอยู่ตอนใต้ของสวีเดน
- 6 พ.ค. ตอนกลางคืนนั่งรถไฟจากมาลเมอไปยังสตอกโฮล์ม ค้างคืนบนรถไฟ
- 7-9 พ.ค. ค้างคืนที่สตอกโฮล์ม เที่ยวในเมืองนี้และเมืองรอบๆ
- 10 พ.ค. ไปหาเพื่อนที่เมืองลินเชอปิง และพักค้างคืนในหอพักของเพื่อน
- 11 พ.ค. 17:30 ออกเดินทางจากสตอกโฮล์มไปเปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิ ถึงเฮลซิงกิเวลา  19:40 ค้างในเฮลซิงกิหนึ่งคืน
- 12 พ.ค. 17:10 ออกจากเฮลซิงกิเพื่อเดินทางกลับ ไปถึงตอนเช้าวันต่อมาเวลา 7:15






รู้จักกับสวีเดน
ก่อนจะเล่าถึงสวีเดนก็ขออธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับประเทศนี้สักหน่อย

ประเทศสวีเดนหรือที่เรียกเป็นภาษาสวีเดนว่าสแวริเย (Sverige) เป็นประเทศที่อยู่ในแถบสแกนดิเนเวียซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของยุโรป มีเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดคือประเทศนอร์เวย์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก โดยสวีเดนมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคทั้งเรื่องพื้นที่และประชากร และเมืองหลวงสตอกโฮล์มก็เป็นเมืองหลวงที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคด้วย

มีพื้นที่ ๔๔๙,๙๖๔ ตร.กม. ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าญี่ปุ่นแต่เล็กกว่าไทยอยู่เล็กน้อย แต่ประชากรมีเพียงไม่ถึงสิบล้านคนซึ่งถือว่าเบาบางมาก

ภูมิอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว ฤดูร้อนเย็นสบาย โดยปกติคนจะท่องเที่ยวกันมากในฤดูร้อนคือช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคม แต่ฤดูหนาวคือเดือนพฤษจิกายนถึงมีนาคมสถานที่เที่ยวส่วนใหญ่จะปิดหมดเพราะหนาวจัด ฤดูในไม้ผลิกับฤดูใบไม้ร่วงจะมีสถานที่เที่ยวเปิดแค่บางส่วน

ช่วงที่ไปนั้นคือช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิซึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้ที่กำลังเริ่มผลิบานสวยงาม แต่สถานที่เที่ยวต่างๆเปิดแค่บางส่วน และส่วนใหญ่กำลังซ่อมแซมอยู่เนื่องจากอากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นทำให้เริ่มจะสามารถทำงานอะไรต่างๆได้ และฤดูร้อนนักท่องเที่ยวจะเยอะกว่าจึงต้องรีบซ่อมแซมสิ่งต่างๆตั้งแต่ช่วงนี้เพื่อรอรับผู้คนที่จะหลั่งไหลเข้ามาเยอะกว่าตอนฤดูร้อน



การแบ่งเขตการปกครองในสวีเดนนั้นเริ่มแบ่งจากหน่วยที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่าแลน (län) ซึ่งอาจเทียบเท่ากับเป็นจังหวัด โดยมีทั้งหมด ๒๑ แลน และภายในแลนจะแยกย่อยออกเป็นคอมมูน (kommun) ซึ่งอาจเทียบเท่ากับเป็นอำเภอ ชื่อของแลนนั้นอาจเหมือนกับชื่อของคอมมูนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแลนนั้นหรือไม่ก็ได้ รวมแล้วมีทั้งหมด ๒๙๐ คอมมูน ภายในคอมมูนจะประกอบไปด้วยเมืองและหมู่บ้านต่างๆ โดยเมืองที่ใหญ่ที่สุดในคอมมูนส่วนใหญ่จะมีชื่อเหมือนกับคอมมูน

เพื่อความสะดวกต่อความเข้าใจ ต่อจากนี้ไปจะเรียกแทนแลนว่าจังหวัด และเรียกแทนคอมมูนว่าอำเภอ

นอกจากการแบ่งเขตอย่างที่ว่านี้แล้วก็ยังมีการแบ่งเขตออกเป็นลันด์สกอป (landskap) ซึ่งเป็นการแบ่งแบบโบราณ แต่ปัจจุบันคนยังพูดถึงและใช้กันอยู่เนื่องจากมีความหมายในทางประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่มีความหมายในด้านการปกครองแล้ว ทั้งสวีเดนแบ่งออกเป็น ๒๕ ลันด์สกอป เขตพื้นที่ของลันด์สกอปนั้นอาจตรงกันหรือต่างกับแลนไม่มากก็น้อย

ตอนใต้ของสวีเดนเมื่อสมัยก่อนเคยเป็นดินแดนของเดนมาร์ก และได้มีการสร้างปราสาทจำนวนมากตั้งแต่สมัยนั้น ปัจจุบันจึงเหลือปราสาทโบราณที่สวยงามอยู่มากมาย



หน่วยเงินที่ใช้ในสวีเดนคือโครนสวีเดน อัตราแลกเปลี่ยนเป็นประมาณ ๕ เท่าของเงินบาท ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดนมาร์กกับนอร์เวย์ก็ใช้เงินโครนเช่นกันแต่เป็นโครนเดนมาร์กกับโครนนอร์เวย์ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนพอๆกันต่างกันเล็กน้อยเวลาเดินทางข้ามประเทศจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเงิน

สวีเดนเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) และอยู่ในกลุ่มประเทศเชงเกน สำหรับรายละเอียดการขอวีซามีเขียนไว้แล้วอ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20140417



ภาษาสวีเดนเบื้องต้น

เวลาที่ไปเที่ยวประเทศไหนเพื่อจะเข้าใจอะไรมากขึ้นการรู้ภาษาของที่นั่นไว้บ้างก็เป็นสิ่งจำเป็นเหมือนกัน

ที่จริงต้องบอกตามตรงว่าเดิมทีไม่เคยรู้ภาษาสวีเดนเลย ก่อนไปก็ศึกษามาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ระหว่างอยู่สวีเดนก็ได้พยายามฟังมากๆ และเพื่อให้สามารถสะกดเรียกชื่อต่างๆในภาษาสวีเดนได้ถูกต้องจึงได้ทำการ ศึกษาหลักการอ่านออกเสียงในภาษาสวีเดนมาจนเข้าใจอย่างดีพอสมควร และได้เปิดเทียบเสียงใน google ด้วย เพื่อจะได้เรียกให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะเท่าที่เคยอ่านที่คนอื่นเขียนเล่ามักจะอ่านชื่อผิดกันซะเยอะ ทำให้เวลาไปถามหาสถานที่กับเจ้าของภาษาเขาอาจไม่รู้ว่าเราหมายถึงที่ไหนก็เป็นได้

การเขียนเล่าเรื่องในครั้งนี้ได้พยายามเขียนเสียงอ่านให้ใกล้เคียงกับที่ออกเสียงจริงมากที่สุด

ภาษาสวีเดนเป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษายุโรป มีความใกล้เคียงกับภาษาเดนมาร์กและนอร์เวย์ สามารถพอสื่อสารกันได้รู้เรื่อง แต่จะต่างกับภาษาฟินแลนด์ซึ่งไม่ใช่ภาษาในกลุ่มยุโรปแม้จะอยู่ในแถบเดียวกันก็ตาม

นอกจากจะเป็นภาษาราชการในสวีเดนแล้วก็ยังเป็นภาษาราชการในฟินแลนด์ด้วย เนื่องจากฟินแลนด์เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสวีเดนมาช้านาน และปัจจุบันก็มีคนสวีเดนอาศัยอยู่ในฟินแลนด์เป็นจำนวนมาก ซึ่งพูดภาษาสวีเดนเป็นภาษาแม่ ป้ายต่างๆภายในฟินแลนด์จะมีเขียงสองภาษาคือภาษาฟินแลนด์กับภาษาสวีเดนอยู่เสมอ

ภาษาสวีเดนมีความใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษ ไวยากรณ์ใกล้เคียงกัน แต่ว่ามีการแบ่งเพศทางไวยากรณ์ คำกริยาผันตามกาลแต่ไม่ผันตามประธาน คำนามมีรูปเอกพจน์และพหูพจน์ แต่การแปลงรูปพหูพจน์ค่อนข้างไม่ตายตัว ต้องอาศัยจำเอา

เวลาคำนามหนึ่งไปขยายอีกไปขยายคำนามอีกคำ คำนามที่ขยายจะวางไว้ด้านหน้าและเติม s

และเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ อักษรตัวหนึ่งอาจมีเสียงอ่านสามารถออกเสียงได้หลายแบบต่างกันออกไปตามคำ ไม่ตายตัว อาจต้องจำเอาเป็นคำๆ

อักษรในภาษาสวีเดนเหมือนกับภาษาอังกฤษแต่มีสระเพิ่มเข้ามาสามตัวคือ ä ö å
ä ออกเสียง "แอ"
ö ออกเสียง "เออ"
å ออกเสียง "โอ" หรือ "ออ"

หลักการอ่านออกเสียงบางส่วนที่ควรเน้นเพราะต่างจากภาษาอังกฤษ เช่น
k เมื่อตามด้วยสระ ä e i ö y ส่วนใหญ่จะออกเสียง "ช" แต่ถ้าตามด้วยพยัญชนะหรือตามด้วยสระ a å o u ส่วนใหญ่จะออกเสียง "ค" แต่ก็ไม่เสมอไป มีข้อยกเว้นมาก
(เสียง ช ที่ว่านี้ไม่ใช่ ช แบบในภาษาไทย แต่คล้ายเสียง sh ในภาษาญี่ปุ่น หรือเสียง x ในภาษาจีน)
g เมื่อตามด้วยสระ ä e i ö y ส่วนใหญ่จะออกเสียง "ย" แต่ถ้าตามด้วยพยัญชนะหรือตามด้วยสระ a å o u ส่วนใหญ่จะออกเสียง "ก" แต่ก็ไม่เสมอไป มีข้อยกเว้นมาก
j ออกเสียง "ย"
a อาจออกเสียงเป็น "อา" หรือ "ออ" แล้วแต่คำ แต่จะไม่มีการออกเสียงเป็นสระ "แอ" (ต้องเป็น ä จึงออกเสียง "แอ")
o อาจออกเสียงเป็น "โอ" หรือ "ออ" หรือ "อู" แล้วแต่คำ
y ออกเสียงคล้าย ü ในภาษาเยอรมันหรือภาษาจีน ไม่มีเสียงเทียบเคียงในภาษาไทย ในที่นี้จะขอเขียนแทนด้วยสระ "อือ"

นอกจากนี้ยังมีอีกมากมายที่อ่านไม่เป็นไปตามกฎ และไม่อาจคาดเดาได้

ในภาษาสวีเดนมีเสียงพิเศษอยู่เสียงหนึ่งที่ไม่มีในภาษาอื่น เสียงนี้เขียนด้วย IPA ว่า /ɧ/ และจะปรากฏแบบค่อนข้างสุ่มไม่ตายตัวในบางคำ หากฟังดูแล้วจะฟังดูคล้ายๆ "คร" ในภาษาไทย แต่ที่จริงไม่มีเสียงอะไรเทียบเคียงได้ตรงจริงๆ ในที่นี้จะเขียนแทนด้วย "คร"
เสียงนี้พบมากในชื่อเฉพาะ เช่นเสียง sti ในชื่อเมืองคริครานสตา (Kristianstad) เสียง xj ในชื่อเมืองแว็กเครอ (Växjö) และเสียง sk ในชื่อปราสาทวิตเคริฟเล (Vittskövle) ซึ่งจะมีเล่าถึงต่อไป

ลักษณะเสียงของภาษาสวีเดนนั้นใกล้เคียงกับของภาษาอังกฤษมาก ดังนั้นใหม่ๆฟังเผินๆเราอาจแทบแยกไม่ออกว่าเขาพูดภาษาสวีเดนอยู่หรือภาษาอังกฤษอยู่ บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนว่าเขาพูดภาษาอังกฤษอยู่แต่ทำไมเราฟังไม่ออกเลย ที่แท้คือเขาพูดภาษาสวีเดนอยู่นั่นเอง ฟังไม่ออกไม่แปลก

ภาษาเดนมาร์กจะคล้ายภาษาสวีเดนมาก แต่การออกเสียงจะต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยภาษาเดนมาร์กออกเสียงยากกว่ามากและไม่ตายตัวยิ่งกว่า และอักษร ä จะใช้ æ แทน ทำให้ดูแปลกตาไม่น้อยสำหรับคนที่ไม่เคยเห็น ส่วน ö จะใช้ ø แทน ส่วน å ก็ใช้เหมือนกัน



ข้อควรรู้เพิ่มเติมเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับสวีเดน
- น้ำประปาที่นี่ดื่มได้ จึงไม่จำเป็นต้องไปซื้อน้ำ แต่ว่าน้ำร้อนไม่สามารถดื่มได้ ต้องเปิดน้ำธรรมดาแล้วต้มเอาเอง
- รถเมล์ไม่สามารถใช้เงินสดจ่ายได้ ต้องใช้บัตรเติมเงินหรือบัตรเครดิตเท่านั้น บางแห่งรับเงินสดแต่จะต้องจ่ายแพงกว่าปกติ
- บัตรเติมเงินใช้สำหรับโดยสารรถเมล์หรือรถไฟท้องถิ่นมักแยกตามจังหวัด ไม่มีบัตรที่ใช้ได้ทั้งประเทศ เช่นที่สตอกโฮล์มมีบัตร SL ใช้ขึ้นรถไฟฟ้า, รถไฟ, รถราง, เรือ และรถเมล์ภายในเมืองสตอกโฮล์มและเมืองรอบๆได้
- บัตรเครดิตสามารถใช้ซื้อของตามตู้อัตโนมัติได้ แต่ต้องมีการใส่รหัส แต่ถ้าซื้อตามเคาน์เตอร์ที่มีคนขายจะใช้การเซ็นชื่อแทน ไม่ต้องใส่รหัส
- รถไฟที่สวีเดนแบ่งเป็นหลายบริษัทและมีกฎการใช้ไม่เหมือนกัน หากซื้อตั๋วรถไฟไหนแล้วไม่สามารถใช้นั่งรถไฟอื่นแทนกันได้แม้ว่าจะมีปลายทางเดียวกันก็ตาม
- รถไฟที่จอดอยู่ที่สถานีสามารถเดินขึ้นไปได้เลยไม่ต้องผ่านตัวสถานีหรือที่ตรวจตั๋ว แต่เมื่อขึ้นไปจะมีคนตรวจตั๋วถ้าหากไม่ซื้อตั๋วมาล่วงหน้าโดนจับได้จะถูกปรับแพงหลายเท่า ดังนั้นต้องระวัง ก่อนขึ้นรถไฟต้องซื้อตั๋ว ไม่มีการขายตั๋วบนรถไฟ
- เป็นการยากที่จะหาห้องน้ำที่เข้าฟรีๆ ส่วนใหญ่จะเจอห้องน้ำแบบหยอดเหรียญ โดยต้องหยอดเหรียญ ๕ โครน แต่บางแห่งอาจเก็บแพงถึง ๑๐ โครน ดังนั้นหากเจอห้องน้ำฟรีที่ไหนควรรีบเข้าเอาไว้ เช่นบนรถไฟ
- ห้องน้ำแบบหยอดเหรียญจ่ายครั้งหนึ่งสามารถเข้าได้หลายรอบ ตราบใดที่ยังไม่มีการปิดประตูจากด้านนอก ดังนั้นหากไม่ต้องการจ่ายก็ให้ดักรอคนอื่นเข้าเสร็จแล้วรีบเข้าตาม ไม่ต้องอายที่จะทำเพราะคนสวีเดนเองก็ทำแบบนี้กัน
- อาหารแพงกว่าในไทยมาก บางอย่างอาจแพงกว่าทานในไทยถึงสิบเท่า เช่นอาหารไทย แต่บางอย่างอาจแพงกว่าในไทยไม่ถึงสองเท่า เช่นแม็กโดนัลด์ ซึ่งถือเป็นของถูกสำหรับที่นี่ และอาจกลายเป็นอาหารหลักของเหล่านักท่องเที่ยวที่อยากประหยัด
- คนสวีเดนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีในระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่เป็นอุปสรรคมากนักในการเดินทาง อย่างไรก็ตามคนแก่อาจพูดไม่ได้เลย
- ป้ายต่างๆตามทางเป็นภาษาสวีเดนล้วนๆ แทบไม่มีภาษาอังกฤษ หากแปลไม่ออกก็มีแต่ต้องถามคนรอบข้างเอา
- คนสวีเดนมีน้ำใจดีมีปัญหาอะไรก็สามารถถามได้ แม้ว่าหน้าตาจะดูดุไปสักหน่อย



เริ่มอ่านตอนแรกกันได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20140516


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ต่างแดน >> ยุโรป >> สวีเดน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文