φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



พิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่น นักเขียนผู้พยายามเปลี่ยนโลกด้วยวรรณกรรม
เขียนเมื่อ 2015/06/16 01:46
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อาทิตย์ 7 มิ.ย. 2015

เมื่อก่อนเคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองเซ่าซิง (绍兴) ในมณฑลเจ้อเจียง และได้เที่ยวบ้านเก่าของบุคคลสำคัญคนหนึ่งของจีน คือหลู่ซวิ่น (鲁迅) https://phyblas.hinaboshi.com/20120720

หลู่ซวิ่นนั้นเป็นปรมาจารย์วรรณคดีจีนยุคใหม่ที่มีชื่อเสียงมาก เขาเกิดที่เมืองเซ่าซิงและก็ย้ายที่อยู่ไปอีกหลายแห่ง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาอาศัยอยู่ปักกิ่งดังนั้นจึงมีบ้านเขาอยู่ในปักกิ่ง

ปัจจุบันบ้านเก่าของเขาในปักกิ่งได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่น (鲁迅博物馆) ซึ่งเป็นที่จัดแสดงบอกเล่าชีวประวัติเขา ตั้งอยู่แถวฟู่เฉิงเหมิน (阜成门) เขาเริ่มอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 1924 บริเวณบ้านเป็นซื่อเหอย่วน หลู่ซวิ่นเป็นคนออกแบบเอง

เมื่อสมัยที่เราไปเที่ยวเซ่าซิงนั้นยังไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับหลู่ซวิ่นมากนัก จึงไม่ได้ตั้งใจเขียนข้อมูลอย่างละเอียดสักเท่าไหร่ ทั้งๆที่หากเขียนถึงโดยจริงๆแล้วละก็ที่นั่นมีอะไรน่าพูดถึงยาวกว่ามากมาย

แต่เมื่ออยู่เมืองจีนมาเป็นเวลานานเราก็ได้ยินคนพูดถึงหลู่ซวิ่นอยู่ไม่น้อย ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเขามากขึ้นและรู้ว่าเขาเป็นคนที่มีความสำคัญไม่น้อยในประวัติศาสตร์จีน ทำให้ครั้งนี้สนใจที่จะเล่าถึงหลู่ซวิ่นอย่างละเอียดมากขึ้นสักหน่อย





เราแวะมาที่นี่หลังจากที่เพิ่งไปเที่ยวหอคอยโทรทัศน์กลาง (中央电视塔) และหอจัดแสดงโลกใต้น้ำไท่ผิงหยาง (太平洋海底世界展览馆) เสร็จไป https://phyblas.hinaboshi.com/20150614

ที่เราแวะมาเที่ยวที่นี่ครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญ เดิมทีตั้งใจว่าจะเที่ยววัดไป๋ถ่า (白塔寺) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่มีเจดีย์โดดเด่นสวยงามอีกแห่ง แต่ระหว่างทางเดินไปวัดไป๋ถ่าก็พบที่นี่ก่อนก็เลยลองแวะเข้าไปชมสักหน่อย

หากให้เทียบกับบ้านเก่าของหลู่ซวิ่นที่เซ่าซิงแล้วต้องถือว่าไม่ค่อยมีอะไรมาก มีแค่ส่วนจัดแสดงเล็กๆ อย่างไรก็ตามก็อธิบายชีวประวัติเขาตั้งแต่เกิดจนตาย ทำออกมาได้ดี โดยรวมแล้วคิดว่าใครที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของหลู่ซวิ่นแต่ไม่อยากต้องไปไกลถึงเมืองเซ่าซิงก็น่าลองแวะมาเหมือนกัน

พิพิธภัณฑ์นี้สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียตังค์ แต่ต้องพกพาสปอร์ตไปด้วย

ด้านหน้าทางเข้า



ในสวนกลางบริเวณบ้านมีรูปปั้นหลู่ซวิ่นตั้งอยู่เด่น



อาคารนี้เป็นที่จัดแสดง



เริ่มต้นเข้ามาห้องแรกเป็นโถงโล่งๆ มีจัดแสดงพวกภาพเขียนอยู่ตามผนัง



ส่วนสำคัญจริงๆเดินถัดเข้ามาทางนี้



นี่เป็นห้องที่จัดแสดงชีวประวัติของหลู่ซวิ่นตั้งแต่เกิดจนตาย มีทั้งหมด ๒ ชั้น ชั้นบนซึ่งเป็นชั้นเริ่มต้นนั้นเป็นช่วงต้น จากนั้นถ้าเดินลงไปชั้นล่างก็จะเป็นช่วงท้าย



การเล่าเรื่องนั้นแบ่งเป็นช่วงๆซึ่งแบ่งตามสถานที่ที่หลู่ซวิ่นอาศัยอยู่ในช่วงชีวิตนั้น ช่วงแรกคือที่เมืองเซ่าซิง บ้านเกิดของเขา เขาอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี 1881 ที่เกิดจนมาถึงปี 1898



หลู่ซวิ่นมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1881 - 1936 ชื่อหลู่ซวิ่นนั้นเป็นนามปากกา ชื่อจริงของเขาคือโจวซู่เหริน (周树人) แต่ชื่อจริงตอนเกิดคือโจวจางโซ่ว (周樟寿)



แบบจำลองย่านบ้านเกิดของเขาที่เซ่าซิงซึ่งเราเคยไปมาแล้วนั่นเอง เป็นย่านเมืองเก่าที่สวยมากยังไงก็แนะนำว่าให้หาโอกาสไปกัน



จากนั้นในปี 1898 หลู่ซวิ่นได้ย้ายไปอยู่ที่หนานจิงเพื่อเรียนมหาวิทยาลัยในระบบการศึกษาสมัยใหม่สาขาโดยมีทุนการศึกษา ในตอนนั้นเองที่เขาเริ่มเปลี่ยนชื่อเป็นโจวซู่เหริน



ในปีเดียวกันนั้นเกิดเหตุการณ์การปฏิรูปร้อยวัน (戊戌变法) ซึ่งจักรพรรดิกวางซวี่ (光绪) พยายามจะปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบสมัยใหม่ แต่ว่าโดนซูสีไทเฮา (慈禧太后) ต่อต้านทำให้การปฏิรูปล้มเหลวจนทำให้ผู้สนับสนุนการปฏิรูปแต่ละคนโดนจับหรือไม่ก็หนีออกนอกประเทศไป

พอปี 1900 ก็เกิดเหตุการณ์ที่กองทัพพันธมิตร ๘ ชาติมาบุกปักกิ่ง เหตุการณ์ต่างๆที่ประทังเข้ามาในช่วงนี้ทำให้หลู่ซวิ่นคิดเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ของประเทศชาติมากขึ้น

ปี 1901 เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่หนานจิง ต่อมาปี 1902 ก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น สองปีแรกศึกษาภาษาญี่ปุ่นและความรู้ทั่วไป ระหว่างนั้นสถานการณ์ในจีนความเคลื่อนไหวปฏิวัติเพื่อล้มราชวงศ์ชิงก็ร้อนแรงขึ้นทุกที หลู่ซวิ่นก็มีความคิดโน้มเอียงไปกับคณะปฏิวัติ เขาตัดสินใจตัดผมเปียซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการปกครองของราชวงศ์ชิงทิ้งไป



นอกจากนี้เขายังได้เริ่มทำการแปลนิยายไซไฟของทางตะวันตก และยังเริ่มเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรณีวิทยาและแร่ธาตุของจีนด้วย


พอถึงปี 1904 เขาก็เริ่มเข้าเรียนในสถาบันแพทยศาสตร์ที่เมืองเซนได

นี่คือใบประกาศอนุญาตให้เขาเข้าเรียนแพทย์ที่เซนไดด้วยทุนการศึกษา



ในช่วงนั้นเขามีโอกาสได้ดูคลิปที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียเข้า ในนั้นมีคนจีนที่ถูกจับด้วยขอหาเป็นไส้ศึกให้กับทางรัสเซียและกำลังถูกทหารญี่ปุ่นประหารตัดหัว แต่คนจีนที่อยู่รอบๆกลับไม่มีทีไม่รู้ไม่ชี้อะไร นั่นทำให้เขารู้สึกขึ้นมาว่าสิ่งที่คนจีนป่วยอยู่นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องร่างกายแต่กลับเป็นจิตใจมากกว่า เขาจึงเลิกเรียนหมอแล้วหันไปเรียนวรรณกรรมแทน

ในช่วงนั้นเขาพยายามตีพิมพ์บทความหลากหลาย งานของเขาส่วนใหญ่เป็นงานแปล

นี่คือบทความเกี่ยวกับการค้นพบธาตุเรเดียมของมารี กูรี (Marie Curie) แปลเป็นภาษาจีนโดยหลู่ซวิ่น



ปี 1909 หลู่ซวิ่นกลับมายังบ้านกลางคันเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเงิน เขามาสอนหนังสือในเมืองหางโจว แล้วต่อมาไม่นานก็ได้ย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนที่เมืองเซ่าซิงบ้านเกิด

ในปี 1911 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) โค่นล้มราชวงศ์ จีนเข้ายุคสาธารณรัฐได้สำเร็จ แต่หลู่ซวิ่นก็พบว่านั่นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้เลย จิตใจของประชาจนก็ยังเหมือนเดิม นั่นทำให้เขารู้สึกผิดหวังอย่างมากและไม่พอใจต่อรัฐบาล ในปี 1912 เขาได้มารับตำแหน่งในกระทรวงศึกษาทิการของรัฐบาลชั่วคราวที่หนานจิง

ในเดือนพฤษภาคม 1912 ได้ตามกระทรวงศึกษาธิการมาทำงานที่ปักกิ่ง เวลาที่ว่างจากงานเขายังทำการวิจัยนวนิยายสมัยเก่าของจีน พอถึงปี 1918 เขาเริ่มตีพิมพ์ผลงานชื่อ "บันทึกของคนบ้า" (狂人日记) ซึ่งเปิดโปงความไม่มีมนุษยธรรมและจอมปลอมของระบบศักดินาในประวัติศาสตร์จีน นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาเริ่มใช้นามปากกา "หลูซวิ่น"



จากนั้นต่อมาในปี 1921 เขาได้ตีพิมพ์นิยายเรื่อง "เรื่องจริงของอา Q" (阿Q正传) ซึ่งเป็นผลงานโด่งดังที่สุดของเขา เนื้อหาเป็นการเสียดสีสังคมโดยผ่านตัวละครชื่ออา Q ซึ่งเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่กับความจอมปลอม ผลงานนี้ของหลู่ซวิ่นได้มีผลกระทบต่อสังคมจีนในสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย

นี่คือพู่กันและจานหมึกที่ใช้โดยหลู่ซวิ่นในช่วงที่อยู่ปักกิ่ง



ของเก่าที่หลู่ซวิ่นสะสม



ชามและกระจกเก่าสมัยราชวงศ์หมิงที่หลู่ซวิ่นมอบให้พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จีน



ในปี 1926 เกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลทำร้ายประชาชนที่ต่อต้านจนบาดเจ็บล้มตาย ในจำนวนผู้เคราะห์ร้ายมีนักเรียนของหลู่ซวิ่นอยู่ด้วย เขาจึงประนามเหตุการณ์นี้จนถูกออกหมายจับไปด้วย ทำให้เขาต้องหนีออกจากปักกิ่งมาอยู่ที่เซี่ยเหมิน ช่วงนั้นเขายังได้มีโอกาสเจอและพบรักกับสวี่กว่างผิง (许广平) ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกัน

เรื่องราวต่อจากนี้ไปลงมาดูต่อที่ชั้นล่าง



เมื่อหลู่ซวิ่นย้ายมาอยู่ที่เซี่ยเหมินเขาก็ได้เป็นศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมจีนและสถาบันวิจัยจีนศึกษาในมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน

บันทึกประจำวันของหลู่ซวิ่นในช่วงที่รับหน้าที่อยู่ที่นั่น



ไปรษณีย์บัตรที่หลู่ซวิ่นส่งให้สวี่กว่างผิงซึ่งอยู่ที่กว่างโจว เป็นภาพทิวทัศน์ของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน



ในปี 1927 เขาได้ย้ายไปอยู่กว่างโจวเพื่อเป็นศาสตาจารย์ที่มหาวิทยาลัยซุนยัดเซน ในช่วงนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นอีก พรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋งเกิดความแตกแยกกัน นักเรียนจำนวนหนึ่งของหลู่ซวิ่นถูกจับ เขาพยายามจะช่วยนักเรียนแต่ไม่ได้ผล สุดท้ายจึงขอลาออกจากตำแหน่งมหาวิทยาลัย

หลังจากนั้นหลู่ซวิ่นได้ย้ายไปอยู่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นที่ที่เขาอยู่ไปตลอดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต



ปี 1929 ภรรยาเขาได้ให้กำเนิดลูกชายคนเดียวของเขาชื่อโจวไห่อิง (周海婴)

ระหว่างที่อยู่เซี่ยงไฮ้เขาได้เป็นนักเขียนอิสระ ตั้งหน้าตั้งตาตีพิมพ์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายหลักคือเปลี่ยนแปลงสังคมจีน

ของใช้ในช่วงที่หลู่ซวิ่นอยู่เซี่ยงไฮ้



รวบรวมเรื่องสั้นของหลู่ซวิ่นซึ่งแปลเป็นภาษาเชค



เขาได้ทำงานตรากตรำอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1936 ได้เสียชีวิตลงด้วยวัณโรคที่เซี่ยงไฮ้ ผู้คนมากมายต่างไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของเขา

ข้อความที่หลู่ซวิ่นเหลือทิ้งเอาไว้ "คนตายหากไม่ฝังลงภายในใจของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แบบนั้นก็เท่ากับตายไปจริงๆแล้ว" (死者倘不埋在活人的心中,那就真真死掉了)



เป็นข้อความที่โดนใจจริงๆ ต่อให้เราตายไปหากมีผลงานเหลือไว้ให้ผู้คนรู้จักเราก็ไม่ถือว่าตายไปจริงๆ แต่จะมีชีวิตอยู่ในใจของคนอื่นไปอีกตราบนานเท่านาน

งานครบรอบวันตาย ๒๐ ปีของหลู่ซวิ่นในปี 1956 จัดโดยโจวเอินไหล



งานจัดแสดงชีวประวัติของหลู่ซวิ่นที่สวีเดนปี 1978



ผลงานของหลู่ซวิ่นที่ได้แปลเป็นภาษาต่างๆ ทางซ้ายคือภาษาฝรั่งเศส ทางขวาคือภาษาสเปน



เรื่องจริงของอา Q ในภาษาโรมาเนีย



หนังต่างๆที่ทำออกมาจากเรื่องที่หลู่ซวิ่นแต่ง



ภายในส่วนจัดแสดงชีวประวัติจบลงเท่านี้ ที่หน้าทางออกมีร้านขายของที่ระลึก



เสร็จแล้วก็ออกมา ตอนที่ออกมาฝนเริ่มตกแล้ว ข้างๆกันนั้นมีส่วนจัดแสดงอีกส่วนซึ่งเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมยุคใหม่ในช่วงร้อยปีมานี้



เราไม่ได้ดูในนี้อย่างละเอียดเพราะห่วงเรื่องฝนเลยอยากรีบออกจากที่นี่ไปแล้ว ได้แต่ดูผ่านๆแล้วก็รีบออกมาเลย





ตอนขาออกมาเจอรูปปั้นของอักเนส สเมดลีย์ (Agnes Smedley) นักเขียนชาวสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาเรื่องประเทศจีน อาศัยอยู่ในจีนนาน ๑๒ ปี คุ้นเคยกับบุคคลสำคัญในจีนหลายคนรวมทั้งหลู่ซวิ่นด้วย สเมดลีย์เสียชีวิตที่ลอนดอนแต่ศพนำมาฝังไว้ที่สุสานปาเป่าซาน (八宝山公墓) ในปักกิ่ง





เราออกมาจากพิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่นแล้วมุ่งหน้าไปยังวัดไป๋ถ่าซึ่งเป็นเป้าหมายหลักจริงๆที่มาที่นี่ แต่ก็ต้องมาพบว่ามันปิดซ่อมอยู่ หอคอยสีขาวอันโด่งดังก็ปกคลุมไปด้วยม่านสีเขียวทำให้ไม่อาจชมความงดงามของมันได้ เป็นที่น่าเสียดายที่มาเสียเที่ยว แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยก็ได้มาแวะเยี่ยมบ้านเก่าของหลู่ซวิ่นแทน ไม่ผิดหวัง



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文