φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์และตราไปรษณียากรจีน
เขียนเมื่อ 2015/07/02 18:52
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#พุธ 6 พ.ค. 2015

ในจีนมีพิพิธภัณฑ์อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วค่าเข้าไม่แพง หรือไม่ก็เข้าได้โดยไม่เสียตังค์เลย แต่ภายในเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าดูและเต็มไปด้วยข้อมูลความรู้มากมายสามารถได้อะไรมากมายจากในนั้น ดังนั้นจึงเป็นสถานที่เที่ยวที่เหมาะจะแวะมาหากมีเวลา

ครั้งนี้ไปชมพิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่สามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม นั่นคือพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์และตราไปรษณียากรจีน (中国邮政邮票博物馆)

พิพิธภัณฑ์นี้เปิดตั้งแต่ปี 2007 ตั้งอยู่ใกล้กับเจี้ยนกั๋วเหมิน (建国门) เป็นสถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ไปรษณีย์ของจีน และจัดแสดงแสตมป์ด้วย



การเดินทางมานั้นง่ายดาย นั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีเจี้ยนกั๋วเหมิน (建国门站) แล้วเดินไปทางตะวันตกตามถนนเจี้ยนเน่ย์ (建内大街) แล้วเลี้ยวขวาไปทางทิศเหนือเดินไปตามถนนก้งย่วนซี (贡院西街) สักพักก็ถึง อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นตึกสูงอย่างที่เห็นแต่ส่วนที่เปิดจัดแสดงให้คนเข้าชมนั้นคือ ๔ ชั้นล่าง



เมื่อเดินเข้าไป ชั้น ๑ ไม่มีอะไร เป็นแค่ทางผ่าน ส่วนจัดแสดงอยู่ที่ชั้น ๒ ถึง ๔ แต่ถ้าใครเอากระเป๋ามาเขาจะบังคับให้ฝากไว้ชั้นล่าง



เมื่อขึ้นมา ชั้น ๒ เป็นที่จัดแสดงแสตมป์มากมาย แต่เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้ที่ชื่นชอบบการสะสมแสตมป์จึงแค่ดูผ่านๆแล้วรีบเดินต่อขึ้นไปยังชั้น ๓ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด



ชั้น ๓ เป็นส่วนที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ของไปรษณีย์จีนตั้งแต่สมัยโบราณ ข้อมูลที่จัดแสดงอยู่ที่นั้นถือว่าละเอียดเยอะมากพอสมควร เราใช้เวลาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ในชั้นนี้



เริ่มแรกเริ่มต้นจากพูดถึงว่าการสื่อสารนั้นกำเนิดขึ้นมายังไง การสื่อสารในระยะแรกๆของมนุษย์นั้นใช้สิ่งของต่างๆเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความหมายต่างๆ หรือใช้อุปกรณ์บางอย่างในการสร้างเสียงขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีบางชนเผ่าในจีนที่ยังใช้วิธีการดั้งเดิมนี้อยู่ ในรูปนี้คือใบไม้ชนิดต่างๆที่ใช้แทนสัญลักษณ์ ใช้โดยชาวจิ่งพัว (景颇族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในจีน ส่วนด้านล่างเป็นกลองของชาวต้ง (侗族) ชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่ม



แล้วก็เริ่มพัฒนามาเป็นใช้ตัวอักษรในการเขียนข้อความเพื่อสื่อสาร ในระยะแรกนั้นอักษรมักเป็นอักษรรูปภาพ ด้านบนเป็นอักษรของชาวน่าซี (纳西族) ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองลี่เจียง อักษรนี้ยังมีการใช้อยู่จนปัจจุบัน กลางซ้ายเป็นอักษรที่พบที่ซากโบราณสถานป้านพัว (半坡) ในเมืองซีอาน (西安) มณฑลส่านซี ซึ่งเป็นซากโบราณสถานสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าจีนเริ่มมีการสร้างตัวอักษรตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว



นี่เป็นอักษรจีนยุคเริ่มแรกๆ ยุคราชวงศ์เซี่ย (夏朝, 21 - 17 ศตวรรษก่อน ค.ศ.)



อักษรซึ่งพบในแผ่นกระดูกสัตว์หรือกระดองเต่าที่ถูกสลักข้อความต่างๆ ในช่วงยุคราชวงศ์ซาง (商朝, 17 - 11 ศตวรรษก่อน ค.ศ.) เรียกว่าเจี๋ยกู่เหวิน (甲骨文) ขุดพบแถวเมืองอานหยาง (安阳) มณฑลเหอหนาน เคยเล่าถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120915



ข้อความในเจี๋ยกูเหวินนั้นได้บันทึกเอาไว้ว่ามีการทำงานส่งจดหมายในยุคนั้น จึงนับว่าเป็นยุคแรกสุดที่พบว่ามีระบบไปรษณีย์

ต่อในในยุคราชวงศ์โจว ( 周朝, 1046- 256 ปีก่อน ค.ศ.) ก็มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องระบบส่งจดหมาย ในยุคชุนชิว (春秋, 770 - 476 ปีก่อน ค.ศ.) และ ยุคจ้านกั๋ว (战国, 476 - 221 ปีก่อน ค.ศ.) นั้นนิยมใช้แผ่นไม้ในการเขียนข้อความ

ที่ทำการไปรษณีย์ในยุคแรกนั้นเรียกว่าอี้จ้าน (驿站) อาจแปลว่าสถานีส่งสาร การส่งสารจำกัดอยู่แค่ใช้สำหรับเพื่อรายงานติดต่อราชการต่างๆ นี่เป็นเกวียนที่ใช้ในการขนส่งจดหมายต่างๆในยุคนั้น



ภาพทางซ้ายบนคือร่องรอยซากโบราณของศาลาไปรษณีย์ (邮亭, โหยวถิง) ในยุคราชวงศ์ฉิน (秦朝, 221 - 207 ปีก่อน ค.ศ.)  ในเมืองเกาโหยว (高邮) มณฑลเจียงซู
ส่วนภาพทางขวาบนและข้างล่างคือเส้นทางโบราณสมัยราชวงศ์ฉินซึ่งใช้ในการคมนาคมและรวมถึงการส่งสารด้วย อยู่ที่อำเภอจิ่งสิง (井陉) มณฑลเหอเป่ย์



ตราประทับของทางการที่ใช้ในสมัยก่อน



รูปหล่อสำริดของรถม้าที่ใช้ส่งสารในยุคราชวงศ์ฮั่น (汉朝, 202 ปีก่อน ค.ศ. - ปี 220) ขุดเจอจากหลุมศพเก่าเหลย์ไถ (雷台古墓) ที่เมืองอู่เวย์ (武威) มณฑลกานซู่



รูปปั้นเขียนจดหมาย กับม้าส่งจดหมาย ขุดเจอที่หลุมศพราชวงศ์ฮั่นตะวันตกในมณฑลหูเป่ย์



แผ่นไม้สำหรับเขียนข้อความจดหมายในยุคราชวงศ์ฮั่น แบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ



ป้อมส่งสัญญาณที่เรียกว่าเฟิงซุ่ย (烽燧) เอาไว้สังเกตการณ์ตามชายแดนเพื่อเตือนภัยและใช้สัญญาณไฟเพื่อส่งสาร



อิฐที่ใช้ในการสร้างป้อมเฟิ่งซุ่ยในสมัยราชวงศ์ฮั่น



ภาพคนส่งสารขี่ม้าที่ถูกวาดลงบนอิฐ ขุดพบที่หลุมศพที่ชานเมืองตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเจียยวี่กวาน (嘉峪关) มณฑลกานซู่



แบบจำลองเสวียนเฉวียนจื้อ (悬泉置) สถานีส่งสารโบราณที่เมืองตุนหวงมณฑลกานซู่ ถูกสร้างเมื่อประมาณ 92 ปีก่อน ค.ศ. ช่วงยุคราชวงศ์ฮั่น



จากนั้นเข้าสู่ยุคราชวงศ์สุย (隋朝, ปี 581 - 619) และราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907) การไปรษณีย์ก็ขยายออกไปอีก มีการใช้อุปกรณ์หลากหลายขึ้น การควบคุมจัดการเข้มงวดขึ้น



ตราสัญลักษณ์รูปปลาที่ใช้ติดตัวสำหรับแสดงฐานะผู้ส่งสารในยุคราชวงศ์ถัง



ล้อเกวียนสำหรับส่งสาร



ในยุคราชวงศ์ถังยังนิยมใช้อูฐในการส่งสารด้วย



จากนั้นถึงยุคราชวงศ์ซ่ง (宋朝, ปี 960 - 1279) มีการตั้งระบบที่ใช้ทหารเป็นคนส่งสาร



แผ่นป้ายของคนส่งสารของราชวงศ์เหลียว (辽朝, ปี 907 - 1125) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวชี่ตานที่ปกครองแผ่นดินจีนทางตอนเหนือร่วมสมัยกับราชวงศ์ซ่ง มีภาษาชี่ตานสลักอยู่



ส่วนนี่เป็นแผ่นป้ายของคนส่งสารของราชวงศ์ซีเซี่ย (西夏, 1038 - 1227) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินส่วนตะวันตกเฉียงเหนือของจีนอยู่ในช่วงเดียวกับราชวงศ์ซ่งและเหลียว ในแผ่นป้ายมีสลักภาษาซีเซี่ย



จากนั้นก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) ซึ่งปกครองโดยชาวมองโกล นี่เป็นแผนที่เส้นทางส่งสารในยุคนั้น



ตราสัญลักษณ์ของพนักงานประจำสถานีส่งสารซึ่งสลักด้วยอักษรมองโกลสมัยเก่า



แล้วก็มาถึงยุคราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644)



สถานีส่งสารแห่งต่างๆที่ถูกสร้างในช่วงยุคนั้น



แบบจำลองสถานีส่งสารหยวีเฉิง (盂城驿) ในอำเภอเกาโหยว มณฑลเจียงซู ซึ่งตั้งขึ้นในปี 1375 ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์หมิง อาคารถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี ปัจจุบันตัวอาคารกลายเป็นพิพิธภัณฑ์



อานม้าส่งสารสมัยราชวงศ์หมิง



กระดิ่งม้าส่งสาร



จากนั้นก็เป็นยุคราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1636 - 1912) ซึ่งปกครองโดยชาวแมนจู นี่คือตราเคลื่อนทัพของหวงไท่จี๋ (皇太极) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ชิง ในนี้จะเห็นว่ามีสองภาษาคือภาษาจีนและภาษาแมนจู



ตราต่างๆของบุคคลที่ทำหน้าที่ในสถานีส่งสาร



ซองใส่เอกสารทางราชการของราชวงศ์ชิง



แท่นสำหรับขึ้นขี่ม้าที่สถานีส่งสารหยวีหลิน (榆林驿) ในมณฑลส่านซี



ตราประทับที่ด่านเจียยวี่กวานซึ่งเป็นสถานีส่งสารที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในยุคราชวงศ์ชิง



บทกวีต่างๆที่เกี่ยวกับสถานีส่งสารของจีนตั้งเรียงอยู่ตามผนังตรงนี้



จากนั้นตรงนี้เริ่มมีการพูดถึงการส่งสารของภาคเอกชนสำหรับประชาชนทั่วไปบ้าง เนื่องจากการส่งสารตั้งแต่สมัยโบราณมานั้นมีแต่ทางรัฐบาลที่ใช้ได้ ดังนั้นประชาชนจึงต้องหาช่วงทางต่างๆในการส่งสารเอาเอง มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อส่งสาร เรียกว่า ซิ่นเค่อ (信客)



ที่ทำการไปรษณีย์ภาคเอกชนนั้นมีชื่อเรียกย่อๆว่าหมินจวี๋ (民局) เริ่มมีต้นกำเนิดจากเมืองหนิงปัว (宁波) มณฑลเจ้อเจียง ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐, ปี 1402 - 1424) แล้วค่อยๆพัฒนากว้างขวางขึ้น ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถือว่ารุ่งเรืองมากที่สุด ที่ทำการมีลักษณะเหมือนเป็นร้านค้าเล็กๆ นอกจากจะสื่อสารภายในประเทศแล้วในมณฑลกวางตุ้งและฝูเจี้ยนยังมีที่ทำการส่งจดหมายติดต่อกับคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพไปอยู่ต่างแดนด้วย



ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีบุคคลสำคัญหลายคนที่เสนอว่าจีนควรจะเริ่มใช้ระบบไปรษณีย์แบบสมัยใหม่ โดยเริ่มจากหงเหรินกาน (洪仁玕) หนึ่งในผู้นำกบฏไท่ผิง


หลังจากที่จีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่นและเปิดประเทศคบหากับชาวตะวันตกมากขึ้นก็เริ่มได้รู้จักระบบไปรษณีย์แบบใหม่และเริ่มเห็นถึงความสะดวก จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อจะเปลี่ยนมาใช้ระบบไปรณ๊ย์แบบใหม่เช่นเดียวกับชาติตะวันตก

ระบบไปรษณีย์สมัยใหม่นั้นเริ่มขึ้นที่ด่านศุลกากรซึ่งเป็นของชาวต่างชาติประเทศต่างๆ ในปี 1878 ได้มีการเริ่มผลิตแสตมป์ชุดแรกของจีนขึ้น เรียกว่าแสตมป์มังกรใหญ่ (大龙邮票, ต้าหลงโหยวเพี่ยว)



หลังสงครามระหว่างจีนกับฝรั่งเศสในปี 1883 ถึงปี 1885 จีนเริ่มเห็นความสำคัญของเกาะใต้หวันจึงจัดตั้งเป็นมณฑลอิสระแยกจากมณฑลฝูเจี้ยน และในปี 1888 เกาะไต้หวันภายใต้การนำของหลิวหมิงฉวาน (刘铭传) ได้เริ่มจัดตั้งไปรษณีย์สมัยใหม่ขึ้นมาโดยแยกเป็นอิสระจากระบบไปรษณีย์ในแผ่นดินใหญ่ซึ่งยังเป็นแบบสมัยเก่าอยู่



และในที่สุดปี 1896 ระบบไปรษณีย์แบบปัจจุบันในจีนก็ก่อตั้งขึ้นสำเร็จ โดยมีชื่อว่าไปรณีย์ต้าชิง (大清邮政, ต้าชิงโหยวเจิ้ง)

แต่เมื่อจัดตั้งขึ้นมาแล้วก็ทำให้ต้องแข่งขันกับไปรษณีย์ของภาคเอกชน บางครั้งก็เกิดการปะทะกัน

นอกจากนี้ยังมีไปรษณีย์ที่บริหารโดยชาวต่างชาติประเทศต่างๆ ซึ่งเรียกว่าเค่อโหยว (客邮) ซึ่งแปลว่าไปรษณีย์ของผู้มาเยือน



ตราประทับของประเทศต่างๆบนไปรษณียบัตร



ไปรษณียบัตรที่ส่งจากเทียนจินไปยังอิตาลีในปี 1902 โดยผ่านทางเค่อโหยวของฝรั่งเศสที่เซี่ยงไฮ้ ข้อความบนนี้เขียนด้วยสองภาษาคือฝรั่งเศสกับเยอรมัน แต่ข้อความที่ผู้ส่งเขียนนั้นเป็นภาษาอิตาลี จะเห็นว่าประทับตราที่เทียนจินวันที่ 27 พ.ค. และไปถึงอิตาลี 5 ก.ค. ใช้เวลามากกว่าเดือนกว่าจะส่งไปถึง



ภาพอาคารที่ทำการไปรษณีย์ต้าชิงสาขาต่างๆ



แบบจำลองขนาดเท่าของจริงของที่ทำการไปรษณีย์ต้าชิง



มองเข้าไปด้านใน



ป้ายท่าเรือไปรษณีย์



ทางซ้ายเป็นไปรษณียบรรณของไปรษณีย์ต้าชิง ทางขวาเป็นจดหมายที่จ่าหน้าเป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งส่งจากเซี่ยงไฮ้ไปโยโกฮามะ แล้วปิดผนึกด้วยตราสีดำของไปรษณีย์ต้าชิง



ตะกร้าใส่จดหมายแบบสะพายหลัง



ชุดของเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ต้าชิง



ไปรษณีย์ต้าชิงได้ขยายเส้นทางเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ถึงปี 1911 มีเส้นทางไปรษณีย์ยาวถึงกว่า ๓ แสน กม.



จากนั้นพอเข้าสู่ปี 1912 ก็เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ราชวงศ์ชิงถูกโค่นล้ม จีนถูกปกครองโดยรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ไปรษณีย์ต้าชิงก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไปรษณีย์สาธารณรัฐจีน (中华民国邮政, จงหัวหมินกั๋วโหยวเจิ้ง)

นี่เป็นเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ต่างๆที่ใช้ในยุคแรกๆ



หุ่นจำลองพนักงานขนส่งจดหมายในยุคนั้น และทางซ้ายเป็นตู้ไปรษณีย์



ถุงใส่จดหมายที่ใช้ในเขตเทียนจินและซานซี แล้วก็ท่อนไม้สำหรับแบกของบนไหล่



ตาชั่งที่ใช้ในไปรษณีย์



ตราประทับของแผนผังเขตส่งจดหมายในเซี่ยงไฮ้และหนานจิง



แผนที่แบ่งเขตไปรษณีย์ในตัวเมืองปักกิ่ง (สมัยนั้นชื่อว่าเป่ย์ผิง)



เนื่องจากว่าตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กิจการไปรษณีย์ของจีนในหลายส่วนเป็นของต่างชาติ ดังนั้นตั้งแต่เข้าสู่ยุคของสาธารณรัฐจีนก็ได้พยายามจะเอากิจการเหล่านี้กลับคืนมาเป็นของประเทศชาติ



ระหว่างช่วงที่ทำสงครามกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ อยู่นั้นทางกลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนได้ตั้งระบบขนส่งจดหมายของตัวเองขึ้น เรียกว่าไปรษณีย์คมนาคม (交通邮政, เจียวทงโหยวเจิ้ง) มีส่วนอย่างมากในติดต่อประสานงานเพื่อการสู้รบกับญี่ปุ่น



หลังจากสงครามกับญี่ปุ่นจบลงระบบไปรษณีย์คมนาคมนี้ก็ได้กลายมาเป็นระบบไปรษณีย์หลักในพื้นที่ครอบครองของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามกลางเมือง เปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็นไปรษณีย์ประชาชน (人民邮政, เหรินหมินโยวเจิ้ง) พอพรรคคอมมิวนิสต์ชนะและรวบรวมทั้งประเทศเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งในปี 1949 ก็ได้รวมระบบไปรษณีย์ของทั้งประเทศเป็นหนึ่งเดียว

แสตมป์ที่ถูกใช้ในเขตครอบครองของพรรคคอมมิวนิสต์ อันขวาเป็นรูปเหมาเจ๋อตง





ส่วนจัดแสดงของชั้น ๓ ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ ต่อไปขึ้นไปชั้น ๔ ซึ่งเป็นชั้นบนสุด เป็นส่วนที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ไปรษณีย์จีนในช่วงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน คือยุคปัจจุบัน



รูปการทำงานของไปรษณีย์จีนท่ามกลางความยากลำบาก น้ำท่วมก็ยังพยายามฝ่าฟันเพื่อจะส่งจดหมายถึงปลายทาง



พาหนะต่างๆที่ใช้ในการขนส่ง



แบบจำลองอาคารจัดการไปรษณีย์สมัยใหม่



แบบจำลองระบบภายในอาคารจัดการไปรษณีย์



ตรงส่วนนี้จัดแสดงเทคโนโลที่ใช้ในระบบไปรษณีย์สมัยใหม่



คอมพิวเตอร์ในยุคเก่า



ค่อยๆพัฒนามาเป็นคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ ใช้จอ LCD



เนื้อหาของชั้น ๔ น้อยกว่าชั้น ๓ มาก ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกันแล้ว ดูแค่แป๊บเดียวก็จบ ใช้เวลาในชั้น ๔ แค่ ๑๕ นาทีเท่านั้น แต่ใช้เวลาในชั้น ๓ ไปถึงเกือบ ๓ ชั่วโมง โดยรวมทุกชั้นแล้วใช้เวลาไปรวมทั้งหมด ๓ ชั่วโมงกว่า ตอนที่เดินออกมาก็เกือบบ่ายโมงแล้ว

ใช้เวลาไปกับที่นี่นานพอสมควร ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์แล้วที่นี่เป็นที่ที่คิดว่าคุ้มกับการแวะมาชม



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文