φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



วรรณยุกต์ในภาษาหมิ่นหนาน (ฮกเกี้ยน)
เขียนเมื่อ 2017/08/25 22:20
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
ในบทความที่แล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20170824

ได้แนะนำเกี่ยวกับภาษาหมิ่นหนาน (ฮกเกี้ยน) ในไต้หวันไปแล้ว และก็ได้ทิ้งท้ายด้วยเรื่องของการออกเสียงเอาไว้

สำหรับในบทความนี้จะพูดถึงในส่วนของวรรณยุกต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่ายุ่งยากที่สุดสำหรับภาษานี้ แต่ก็มีความน่าสนใจน่าศึกษาไม่น้อย



ภาษาหมิ่นหนานมีวรรณยุกต์กี่เสียง
วรรณยุกต์เป็นลักษณะร่วมอย่างหนึ่งของภาษาทั้งหมดในกลุ่มภาษาจีน โดยส่วนใหญ่แล้วภาษาจีนท้องถิ่นที่ใช้ในจีนตอนใต้จะมีวรรณยุกต์ค่อนข้างมาก โดยกวางตุ้งมีเยอะสุดคือ ๙ เสียง เทียบกันแล้วจีนกลางถือว่าค่อนข้างน้อยคือมีแค่ ๔ เสียงเท่านั้น

ภาษาหมิ่นหนานนั้นดั้งเดิมมีเสียงวรรณยุกต์ทั้งหมด ๘ เสียง แต่ในปัจจุบันสำเนียงส่วนใหญ่ได้สูญเสียวรรณยุกต์ไป ๑ เสียง จึงเหลือ ๗ เสียง

สำเนียงฮกเกี้ยนในไต้หวันและเซี่ยเหมินเดิมทีได้รับอิทธิพลจากสำเนียงจางโจวและสำเนียงเฉวียนโจวมามาก ซึ่งสำเนียงจางโจวนั้นมีวรรณยุกต์ ๗ เสียง ในขณะที่สำเนียงเฉวียนโจวเหลือวรรณยุกต์ครบ ๘ เสียง

แต่ในไต้หวันสำเนียงจางโจวมีอิทธิพลมากกว่า และยังมีสำเนียงผสมอีก สุดท้ายแล้วคนไต้หวันที่ใช้สำเนียงที่มีวรรณยุกต์ ๘ เสียงจึงเหลือแค่ที่อำเภอลู่ก่าง (鹿港) จังหวัดจางฮว่า (彰化) เท่านั้น ซึ่งเป็นแค่ส่วนน้อยมาก ส่วนสำเนียงเซี่ยเหมินเองก็เหลือ ๗ เสียงเช่นกัน

ดังนั้นโดยทั่วไปสามารถถือได้ว่าฮกเกี้ยนมีวรรณยุกต์ ๗ เสียง

มาดูทางด้านภาษาแต้จิ๋วกันบ้างเพื่อการเปรียบเทียบสักหน่อย

เนื่องจากสำเนียงฮกเกี้ยนกับสำเนียงแต้จิ๋วเป็นภาษาหมิ่นหนานเหมือนกัน ต่างกันแค่สำเนียงเท่านั้น ดังนั้นจึงมีลักษณะร่วมกันในระดับที่สามารถเทียบเคียงกันได้

วรรณยุกต์เองก็เช่นกัน สามารถเทียบเคียงกันได้โดยสมบูรณ์ ตัวเลขที่ใช้แทนวรรณยุกต์ใช้แบบเดียวกัน คือแทนด้วยเลข 1-8

เมื่อเทียบแล้วเราจะพบว่าสำเนียงแต้จิ๋วไม่ว่าจะแถบไหนก็ตามล้วนมีการอนุรักษ์วรรณยุกต์ไว้ครบ ๘ เสียง



ทำความเข้าใจวรรณยุกต์
ก่อนอื่นทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณยุกต์สักนิดก่อน แต่ไหนแต่ไรวรรณยุกต์คืออะไร

หลายคนคงอธิบายได้ว่ามันคือความสูงต่ำของเสียงนั่นเอง ซึ่งก็ไม่ผิดแต่นั่นเป็นแค่คำตอบแบบง่ายๆเท่านั้น เพราะจริงๆถ้าวรรณยุกต์เป็นแค่การออกเสียงให้สูงหรือต่ำต่างกัน มันก็ไม่อาจจะมีความหลากหลายเท่านี้ได้

ความจริงสิ่งที่ทำให้เราแยกได้ว่าวรรณยุกต์อะไรนั้นต้องประกอบไปด้วยสองส่วนคือ ความสูงต่ำของเสียง และการเปลี่ยนแปลงความสูงต่ำในระหว่างออกเสียง

ภาษาที่แบ่งวรรณยุกต์แค่ความสูงต่ำของเสียงก็มีอยู่ แต่ภาษาแบบนั้นจะแบ่งวรรณยุกต์ได้แค่ ๓ เสียงคือสูง กลาง ต่ำ เท่านั้น

แต่ภาษาไทยและภาษาจีนทั้งหมดแบ่งวรรณยุกต์โดยใช้ทั้งความสูงต่ำและความเปลี่ยนแปลงไปด้วยพร้อมกัน ดังนั้นจึงสร้างวรรณยุกต์ได้หลากหลาย

เพื่อให้เห็นภาพชัดมาดูวรรณยุกต์ทั้ง ๕ ของภาษาไทยกันก่อนว่ามีการเปลี่ยนแปลงเสียงยังไง



ส่วนวรรณยุกต์ทั้ง ๗ ของภาษาหมิ่นหนานสำเนียงไต้หวันจะเป็นแบบนี้



ฟังเสียงทั้ง ๗ ได้ในคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=a_BVabMdiSk

ในนี้จะเห็นว่าแยกเป็น ๘ เสียง แต่เสียงที่ 6 ก็ใช้สัญลักษณ์เดียวกับ 2 แล้วก็อ่านเหมือนกัน

ฟังแล้วจะเห็นว่าฟังดูคล้ายภาษาไทย ดังนั้นเราจึงสามารถทำการเทียบเคียงแปลงมาเป็นวรรณยุกต์ไทยได้แบบคร่าวๆ แม้จะไม่ได้พอดีเป๊ะก็ตาม



เสียงวรรณยุกต์ของภาษาหมิ่นหนาน
ตารางแสดงการเปรียบเทียบวรรณยุกต์

ตัวเลข สัญลักษณ์ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว
a1 a อ๊า อา
a2 á อ้า อ้า
a3 à อ่า อ่า
ah4 ah อะ อะ
a5 â อ๋า อ๊า
a6 ǎ อ้า อ๋า
a7 ā อา อ่า
ah8 a̍h อ๊ะ อ๊ะ


ในที่นี้เสียง 4 กับ 8 จะเป็นพยางค์ปิด คือลงท้ายด้วย h k p t (ะ ก บ ด) ส่วนที่เหลือเป็นพยางค์เปิด

โดยรวมแล้วจะเห็นว่าเสียงพยางค์เปิดทั้ง ๕ (ตัดเสียง 6 ทิ้ง) จับคู่กับวรรณยุกต์ทั้ง ๕ ในภาษาไทยได้พอดี

ถึงจะมีพยางค์ปิดเพิ่มเข้ามาอีก ๒ เสียงคือเสียง 4 กับ 8 แต่ก็เป็นคนละคำกับเสียงอื่นแน่นอนจึงไม่ต้องกลัวจะสับสน

ทั้งนี้นี่เป็นแค่การเทียบเคียงแบบให้ใกล้เคียงที่สุดเท่านั้น ในความเป็นจริงไม่ได้เหมือนเป๊ะ อีกทั้งยังมีความแปรปรวนโดยขึ้นกับสำเนียงด้วย ในที่นี้ฮกเกี้ยนยึดตามสำเนียงมาตรฐานในเซี่ยเหมินและไต้หวัน ส่วนแต่้จิ๋วยึดตามซัวเถา

ตัวอย่างเสียงที่มีครบ ๗ วรรณยุกต์

1 2 3 4 5 7 8
kun kún kùn kut kûn kūn ku̍t
กุ๊น กุ้น กุ่น กุด กุ๋น กุน กุ๊ด

ที่ต้องระวังสักหน่อยคือเสียง 1, 4 และ 8

เสียง 1 สามารถเทียบเคียงเป็นเสียงตรี แต่ที่จริงมีความต่าง คือเป็นเสียงสูงเรียบ แต่เสียงตรีของไทยจะมีการยกเสียงสูงขึ้นในช่วงท้าย (ดูเส้นในภาพข้างบนเปรียบเทียบ)

เสียง 4 ที่จริงเป็นเสียงสามัญ ไม่ใช่เสียงเอก เสียงอยู่ในระดับกลาง ไม่ได้ต่ำนัก แต่ในภาษาไทยไม่สามารถเขียน "คำตายเสียงสามัญ" ได้ เลยได้แต่เขียน "อะ" หรือ "อัด" แบบนั้น

เสียง 8 ก็เป็นเสียงสูงเรียบเช่นเดียวกับเสียง 1 แต่จะสูงกว่าและสั้นกว่า

แล้วก็ที่จริงนอกจากนี้แล้วยังมีวรรณยุกต์เสียงเบาด้วย เช่นเดียวกับจีนกลาง ไม่นับว่าเป็นวรรณยุกต์นึง แล้วก็เจอในคำบางคำแบบไม่ตายตัว ต้องจำเอาเองว่าคำไหนเป็น

ปกติเวลาเขียนพินอินเสียงเบาจะถูกเขียนแทนด้วย -- นำหน้า เช่น

出來 tshut--lâi อ่านว่า "ฉุดไหล่"

กรณีนี้ 來 เป็นเสียงเบา แม้จะยังเขียนรูปวรรณยุกต์อยู่แต่ก็ไม่ได้ออกเสียงตามนั้นแล้ว แต่เสียงจะกลายเป็นอะไรนั้นก็แล้วแต่คำ

จากตรงนี้จะเห็นว่าแม้วรรณยุกต์ในไต้หวันกับแต้จิ๋วจะเทียบเคียงกันได้ แต่เสียงเดียวกันก็ออกเสียงต่างกัน ที่ต่างกันชัดคือเสียง 1 5 6 7

เสียง 1 ของฮกเกี้ยนจะเสียงค่อนข้างสูง ใกล้เคียงเสียงตรี แต่ของแต้จิ๋วจะตรงกับเสียงสามัญ

เช่นคำว่าเต้าฮวย คือ 豆花 tāu-hue แต้จิ๋วเรียกว่า "เต่าฮวย" แต่ฮกเกี้ยนจะเป็น "เต่าฮ้วย"

(tāu ในที่นี้เป็นเสียง 7 (สามัญ) แต่ผันเป็นเสียง 3 (เอก) เพราะนำหน้าคำอื่น เกี่ยวกับเรื่องนี้จะขยายความในหัวข้อถัดไป)

เสียง 5 ของไต้หวันเป็นเสียงจัตวา ส่วนแต้จิ๋วเป็นเสียงตรี

เช่นคำว่าลูกเต๋า คือ 骰 tâu แต้จิ๋วเรียกว่า "เต๊า" แต่ฮกเกี้ยนเป็น "เต๋า"

เสียง 7 ของฮกเกี้ยนเป็นเสียงสามัญ ของแต้จิ๋วเป็นเสียงเอก

เช่นคำว่าเต้าหู้ คือ 豆腐 tāu-hū แต้จิ๋วเรียกว่า "เต่าหู่" ฮกเกี้ยนเรียกว่า "เต่าฮู"

นอกจากนี้คำที่ในแต้จิ๋วเป็นเสียง 6 นั้น ฮกเกี้ยนจะไม่มีแล้ว (ยกเว้นแค่ในบางสำเนียง) จึงกลายเป็นเสียงอื่นแทน มักกลายเป็นเสียง 7

อย่างคำว่า "ตี๋" 弟 ที่แปลว่าน้องชาย คำนี้เป็นเสียง 6 ในแต้จิ๋ว ไทยเรียกตามแต้จิ๋ว แต่ในฮกเกี้ยนเป็นเสียง 7 คือ "ตี" dī



การเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์เมื่อนำหน้าคำ
วรรณยุกต์ในภาษาหมิ่นหนานมีเอกลักษณ์ตรงที่ต้องมีการเปลี่ยนเสียงเมื่อไปนำหน้าคำอื่น

ไม่ว่าจะฮกเกี้ยนหรือแต้จิ๋วก็มีการเปลี่ยนเสียง แต่ว่าเป็นไปในคนละทิศทางกัน

อีกทั้งสำเนียงฮกเกี้ยนภายในไต้หวันเองก็ยังมีกฎการเปลี่ยนไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับว่าได้รับอิทธิพลจากสำเนียงจางโจวหรือเฉวียนโจวมากกว่ากัน

แต่แบบจางโจวนั้นจะแพร่หลายกว่า สำเนียงมาตรฐานที่เซี่ยเหมินเองก็ยึดการผันตามแบบจางโจว ดังนั้นในนี้ก็จะยึดแบบจางโจวเป็นหลัก

สรุปเป็นแผนผังได้ดังนี้



ที่เขียนว่า 漳 คือแบบจางโจว ที่เขียนว่า 泉 คือแบบเฉวียนโจว

จากแผนผังสรุปสั้นๆได้ว่า สำหรับวรรณยุกต์ที่เป็นเสียงพยางค์เปิด การเปลี่ยนจะวนดังนี้ สำหรับสำเนียงจางโจว
5 → 7 → 3 → 2 → 1 → 7
อ๋า > อา > อ่า > อ้า > อ๊า > อา

เพียงแต่ว่าหากเป็นสำเนียงเฉวียนโจวจะมีกฎการวนเป็น 1 → 7 → 3 → 2 → 5 → 3 แต่อันนี้ไม่ต้องจำก็ได้เพราะเป็นส่วนน้อย แค่ให้รู้ว่ามีคนผันแบบนี้

ตัวอย่าง คำว่า จางโจว 漳州 ชื่อในสำเนียงฮกเกี้ยนคือ tsiang-tsiu เป็นเสียง 1 (ตรี) ทั้งคู่ แต่ตัวหน้าต้องผันเป็นเสียง 7 (สามัญ) จึงเป็น "เจียง-จิ๊ว"

คำว่าไต้หวัน 台灣 tâi‑uân เป็นเสียง 5 (จัตวา) ทั้งตัวหน้าและหลัง แต่ตัวหน้าต้องผันเป็นเสียง 7 (สามัญ) ดังนั้นจึงอ่านว่า "ไตอ๋วน"

เซี่ยเหมิน 廈門 ē-mn̂g ตัวแรกเป็นเสียง 7 (สามัญ) ต้องผันเป็นเสียง 3 (เอก) จึงเป็น "เอ่หมึง"



ลองเทียบกับแต้จิ๋วดูสักหน่อย สำหรับกฎการผันของแต้จิ๋วจะเป็น
2 → 6 → 7
3 → 5 → 7

จะเห็นว่าต่างไปมาก นอกจากจะไม่ได้มีลักษณะเป็นวังวนแล้ว เสียง 1 กับ 7 ก็ไม่มีการผันด้วย แต่ของฮกเกี้ยนจะต้องผันหมดไม่ว่าเสียงไหน

ยกตัวอย่างเช่นเสียง 2 (โท) ฮกเกี้ยนผันเป็นเสียง 1 (ตรี) แต่แต้จิ๋วผันเป็นเสียง 6 (สำหรับแต้จิ๋วคือจัตวา)

เช่นคำว่า "ก๋วยเตี๋ยว" คือ 粿條 kué tiâu แต้จิ๋วเรียกว่า "ก๋วยเตี๊ยว" ฮกเกี้ยนเรียก "ก๊วยเตี๋ยว"



ต่อมาดูกรณีของเสียงพยางค์ปิด ซึ่งอันนี้ต้องแบ่งเป็น ๒ กรณี คือกรณีลงท้ายด้วย k p t (อัก อับ อัด) จะเป็น
4 → 8 และ 8 → 4

ก็คือแค่สลับกันเท่านั้น
อัด > อั๊ด, อั๊ด > อัด

ตัวอย่างเช่น คำว่า "ฮกเกี้ยน" ในสำเนียงฮกเกี้ยนจริงๆต้องอ่านเป็น "ฮ็อกเกี่ยน" คำนี้มาจาก ห็อก 福 hok กับ เกี่ยน 建 kiàn แต่พอรวมกันแล้วตัวหน้าซึ่งเป็นเสียง 4 จะผันเป็นเสียง 8 จึงเป็น "ฮ็อกเกี่ยน"

แล้วก็ หากคำว่า "คนฮกเกี้ยน" ก็จะเป็น 福建人 hok-kiàn-lâng ซึ่งตัว kiàn ก็ต้องถูกผันไปด้วย จากเสียง 3 (เอก) จึงกลายเป็นเสียง 2 (โท) เป็น "ฮ็อกเกี้ยนหลัง"

ส่วนกรณีที่ลงท้ายด้วย h (อะ) จะมีกฎการผันต่างไป คือกลายเป็น
4 → 2 และ 8 → 3

ข้อสังเกตก็คือเสียงจะกลายเป็นพยางค์เปิดไป เสียงจะยาวขึ้น
อะ > อ้า, อ๊ะ > อ่า

สำหรับการผันของแต้จิ๋วนั้น ก็จะเป็น 4 กับ 8 เปลี่ยนไปมาเช่นกัน แต่จะเป็นทุกกรณี ไม่ว่าจะลงท้ายด้วย h หรือเปล่า

ตัวอย่างความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเช่นคำว่า "บ๊ะจ่าง" 肉粽 bah-tsàng พยางค์แรก "บะ" ต้องผัน

แต้จิ๋วจะผันเป็น "บ๊ะจั่ง" แต่ฮกเกียนต้องออกเสียงยาวเป็น "บ้าจั่ง"

ลองดูคลิปนี้จะได้ยินชัดเจนว่าออกเสียงเป็น "บ้าจั่ง" https://www.youtube.com/watch?v=E3nbd4REaY4



คำไหนบ้างที่ต้องเปลี่ยนเสียง
หลังจากที่เข้าใจว่าคำไหนผันเสียงยังไงแล้ว ยังมีปัญหาที่ยุ่งยากเหลืออยู่อีกข้อ นั่นก็คือ... คำไหนบ้างที่จะต้องเปลี่ยนเสียง

ในตอนแรกได้อธิบายแค่คร่าวๆว่าเมื่อนำหน้าคำอื่นจะต้องเปลี่ยนเสียง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกตัวยกเว้นตัวสุดท้ายของคำจะต้องเปลี่ยนเสียงทั้งหมด มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องทำความเข้าใจก่อน

เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน รายละเอียดจริงๆยังจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์เป็นอย่างมาก

ในที่นี้จะสรุปคร่าวๆดังนี้

(จากตรงนี้คำไหนขีดเส้นใต้ก็คือไม่เปลี่ยนเสียง)

๑. ในประโยคจะมีการแบ่งช่วงใจความชัดเจน คำสุดท้ายของแต่ละช่วงไม่ต้องเปลี่ยนเสียง

๒. คำที่เป็นภาคประธานของประโยคก็ถือเป็นการแบ่งช่วงจึงไม่ต้องเปลี่ยนเสียง
台灣文學 真趣
tâi‑uân-bûn‑ha̍k-sái tsin tshù‑
ไต-วัน-บุน-หัก-ไซ่ จิน ชู่-บี
(ประวัติศาสตร์วรรณกรรมไต้หวันน่าสนุกมาก)

敢有?
kam‑á kám ū tinn ?
กัม-อ้า กั๊ม อู ตี๊ง์?
(ส้มหวานมั้ย?)

๓. เพียงแต่ว่ายกเว้นคำที่เป็นสรรพนาม เนื่องจากมักเป็นสิ่งที่ผู้พูดและผู้ฟังรู้ดีอยู่แล้ว อาจเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเสียงก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเน้นหรือเปล่า เช่น

伊敢欲來台?
i kám beh lâi Tâi-pak ?
อี กั๊ม เบ้ ไหล ไต-ปัก?
(เขาจะมาไทเปมั้ย?)

๔. คำที่เป็นหัวข้อหลักที่เน้นในประโยค แม้จะไม่ใช่ประธานก็ไม่ต้องเปลี่ยนเสียงด้วย เช่นคำที่ยกกรรมขึ้นมากล่าวก่อน เช่น
予你,塗 我來
uánn hōo lí sué, thôo-kha guá lâi sào
อั๊วง์ ห่อ ลี้ ซ่วย, ทอ-คา งั้ว ไล เส่า
(ชามให้เธอล้าง พื้นให้ฉันกวาด)

๕. ท้ายคำที่นำหน้าคำบุพบทจะไม่ต้องเปลี่ยนเสียง เช่น
交無朋
káu‑kuài ê lâng kau bô pîng‑
เก๊า-ก่วย เอ หลัง เกา เบอ ปิง-อิ้ว
(คนเจ้าเล่ห์จะไม่มีเพื่อนคบ)

๖. คำบอกเวลาหรือสถานที่ ท้ายคำไม่ต้องเปลี่ยนเสียง เช่น

閣地
Lâm-tâu thàu‑tsá koh tē‑tāng
ลัม-เต๋า เท่า-จ้า เก้อ เต่-ตัง
(หนานโถวตอนรุ่งสางแผ่นดินไหวอีกแล้ว)

๗. คำที่นำหน้าคำเสียงเบาไม่ต้องเปลี่ยนเสียง

เช่น 起來 kóng--khí-lâi (ว่าไปแล้ว) คำนี้ 講 อ่านเสียงเดิมเป็น "ก้อง"

คำบางคำตัวท้ายอาจมีทั้งเสียงเบาและไม่เบา ก็จะทำให้ตัวหน้าอ่านต่างกันไปด้วย แล้วความหมายก็จะต่างกัน

เช่น 驚死 kiann-sí ถ้าตัวหลังเสียงเบาจะอ่านว่า "เกี๊ยง์สี่" แปลว่า "กลัวจะตาย" (กลัวมากๆ)

แต่ถ้าตัวหลังไม่ใช่เสียงเบาจะอ่านว่า "เกียง์ซี่" แปลว่า "กลัวความตาย" (ขี้ขลาด)

๘. คำที่ขยายคำที่อยู่ข้างหลังจะต้องเปลี่ยนเสียง แต่ถ้าคำหลังขยายคำหน้าจะไม่มีการเปลี่ยนเสียง

เช่น 烏 oo thinn àm ออ ที้ อั้ม เต (ฟ้าดำดินมืด) ตัว 烏 กับ 暗 จะเปลี่ยนเสียง

แต่ถ้า 天烏 地暗 thinn oo àm ที้ อ๊อ เต อั่ม (ความหมายเหมือนกัน) อ่านเสียงเดิมทั้งหมด

๙. ประโยคที่มีกริยาหลายตัวคู่ขนานกันไปก็ถือเป็นการแบ่งช่วง ท้ายแต่ละช่วงไม่ต้องเปลี่ยนเสียง
我欲買便 轉來
guá beh bué piān‑tong tńg lâi tsia̍h
งั้ว เบ้ บ๊วย เปี่ยน-ท้อง ตึ๊ง ไล เจี๊ยะ
(ฉันจะซื้อเบนโตวกลับมากิน)

ในที่นี้เริ่มจากซื้อก่อน เสร็จแล้วก็ค่อยกลับมากิน แม้จะมีความต่อเนื่องแต่สองส่วนนี้ก็มีใจความแยกกันอยู่ในตัว



นอกจากนี้ก็ยังมีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นปลีกย่อยอีกมากมาย



อ้างอิง
https://www.moedict.tw
http://uegu.blogspot.tw/2015/01/blog-post_16.html
http://twblg.dict.edu.tw/holodict_new/compile1_3_9_3.jsp
http://210.240.193.39/loh/jiapeng/d1-12.pdf
https://zh.wikipedia.org/wiki/台灣話
https://zh.wikipedia.org/wiki/闽南语
https://zh.wikipedia.org/wiki/闽南语连续变调
https://zh.wikipedia.org/wiki/台湾闽南语罗马字拼音方案
https://www.youtube.com/watch?v=DA_DMxQVLqE
https://www.youtube.com/watch?v=BPjAK3f5fJ4
http://v.youku.com/v_show/id_XNDk0MTAxNjM2.html
หนังสือ "ลูกหลานคนแต้จิ๋ว 潮人後裔" โดยเหล่าตั๊ง


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> เรียนภาษา
-- ภาษาศาสตร์ >> ภาษาจีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文