# ศุกร์ 8 พ.ย. 2019ต่อจากตอนที่แล้วซึ่งได้เดินชมใน
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (香港科技大學) หรือเรียกชื่อย่อๆว่า "ฟ้อต่าย" เสร็จแล้วก็นั่งรถเมล์ออกมา เพื่อกลับสนามบินให้ทันขึ้นเครื่องบินรอบ 17:00
https://phyblas.hinaboshi.com/20191115ขากลับนี้เราไม่ได้กลับไปทางเก่า แต่ไปยัง
สถานีฮ้างเหา (坑口站) หรือเรียกว่า "
เคิงโข่ว" ในภาษาจีนกลาง
สถานีนี้เป็นสถานีที่ใกล้กับมหาวิทยาลัยมากที่สุด ปกติแล้วลงรถไฟฟ้าสถานีนี้เพื่อไปฟ้อต่ายจะเร็วกว่ามาจากทางสถานีฉอยห่ง
สถานีฮ้างเหานี้เป็นที่ที่เพื่อนเคยเล่าว่าเกิดการชุมนุมประท้วงอาละวาดในวันที่ 4 ตุลาคม 2019 หลังจากที่ผู้นำฮ่องกงประกาศใช้กฎหมายห้ามสวมหน้ากาก มีผู้ประท้วงมากมายบุกมาทำลายสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงสถานีฮ้างเหานี้
พูดถึงเรื่องการชุมนุมประท้วงฮ่องกงแล้ว เราได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนคนนี้หลายครั้งในประเด็นนี้มาตั้งแต่ก่อนที่จะมาหาครั้งนี้แล้ว ทำให้ได้เข้าใจมุมมองของผู้ประท้วงพอสมควร
เรื่องที่ได้ฟังจากคนที่อยู่ฮ่องกงจริงๆนั้นจะแตกต่างจากที่ปรากฏในข่าวที่ทางสื่อจีนพยายามนำเสนอออกมาพอสมควร
สื่อต่างๆมักนำเสนอภาพตอนที่ผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง แต่ความจริงตำรวจเองก็ใช้ความรุนแรงมากเช่นกัน สื่อจีนมักไม่พูดถึงส่วนร้ายของฝั่งตำรวจ
ส่วนเรื่องที่ว่าคนฮ่องกงชังชาติหรือต่อต้านความเป็นจีนนั้น ก็ไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว กลุ่มสุดโต่งที่คิดแบบนั้นจริงๆก็มี แต่จุดประสงค์หลักจริงๆของการประท้วงไม่ใช่การแยกประเทศอยู่แล้วตั้งแต่แรก แต่เป็นการเรียกร้องอิสรภาพให้ฮ่องกงในฐานะเขตปกครองพิเศษ ให้สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แต่สื่อจีนมักจะออกข่าวในทำนองที่ว่าคนฮ่องกงชังชาติ ทำให้คนจีนแผ่นดินใหญ่หรือคนไทยเชื้อสายจีนเห็นแล้วรู้สึกว่าผู้ประท้วงฮ่องกงเป็นตัวร้าย ทรยศชาติตัวเอง บ้างก็อ้างถึงขั้นว่ามีต่างชาติมาหนุนหลังเพื่อสร้างความแตกแยก ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ทำให้ชาวฮ่องกงไม่พอใจมาก ก็การโดนหาว่าทรยศขายชาติมันย่อมเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด
นี่เป็นแค่เรื่องที่ฟังมาจากเพื่อนคนฮ่องกง ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ประท้วง แต่ก็เป็นพวกเดียวกัน คือเป็นนักศึกษาที่เห็นด้วยกับการประท้วง
ฉะนั้นก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะเป็นจริงทั้งหมด แต่เล่าไว้ให้เข้าใจมุมมองของฝั่งผู้ประท้วง
หลายคนอาจมองว่าผู้ประท้วงฮ่องกงทำรุนแรงเหลือเกิน แต่พวกเขาก็พยายามจะบอกว่าพวกเขาเจออะไรมาบ้างในช่วงที่ผ่านมาจนหมดความอดทน ต้องตัดสินใจออกมาทำอะไรแบบนี้ พวกเขาต่างก็มีเหตุผล แต่ละคนก็มีการศึกษา มีอนาคต ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความคิด ทุกคนก็รักบ้านเกิดทั้งนั้น อยากให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ถึงอย่างนั้นวิธีการที่ทำอยู่นั้นคงไม่อาจเรียกว่าถูกต้อง หลายอย่างมันเกินกว่าเหตุ เกินขอบเขตที่ควรไปแล้ว และสุดท้ายยังไงการชุมนุมนี้ก็ไม่น่าจะสัมฤทธิ์ผล คงจบลงด้วยความล้มเหลวเป็นแน่
ก็ขอเอาใจช่วยให้ฮ่องกงผ่นวิกฤตนี้ไปได้โดยเสียหายน้อยที่สุด
นอกเรื่องมาเยอะ กลับมาเล่าเรื่องเที่ยวต่อ
เพื่อนพานั่งรถเมล์เล็กออกมาลงที่ป้ายใกล้กับสถานีฮ้างเหา เขาชวนไปแวะหาอะไรกินก่อนกลับ เพราะยังไม่ได้กินมื้อเที่ยงเลย แต่เนื่องจากต้องรีบกลับสนามบิน เหลือเวลาไม่มากแล้ว ไม่มีเวลานั่งกินสบายๆจึงแค่ไปหาซื้ออะไรถือกิน
เขาพาเข้ามาในห้าง
แล้วก็มาเจอร้านนี้ ขายซาลาเปา
ก็ซื้อมากินชิ้นนึงง่ายๆ
เสร็จแล้วก็รีบเดินต่อไปไปยังสถานีฮ้างเหา
ถึงหน้าสถานี
เพื่อนชี้ให้ดูว่าตรงนี้ถูกทำลายโดยผู้ชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม แต่ได้รับการซ่อมแซมแล้ว แม้จะดูครึ่งๆกลางๆไม่สมบูรณ์
อันนี้เป็นภาพหลังจากวันเกิดเหตุ ซึ่งเพื่อนถ่ายมา ขอยืมมาลง ลองเทียบดู จะเห็นว่าตอนนั้นเป็นกระจก แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นเหล็กแทนไป
กระจกโดนทุบแตกยับเยิน
ส่วนด้่านในสถานีถูกปิดอยู่ ในวันนั้นไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้
เครื่องกั้นที่ต้องแตะบัตรเพื่อเข้าไปนี่ก็โดนทำลายไปเหมือนกัน แบบนี้ก็ไม่แปลกที่จะต้องปิด ใช้การไม่ได้ในวันนั้น
ตัดกลับมาที่ภาพปัจจุบัน สภาพในสถานีตอนนี้ดูปกติ ร้านค้าจำนวนหนึ่งเปิด
แต่ก็เห็นร่องรอยความเสียหายที่ยังไม่ได้ซ่อมหมด ร้านค้าบางแห่งไม่เปิด
ตรงที่แตะบัตรเพื่อเข้าไปด้านในก็ดูจะมีร่องรอยของการซ่อมแซม
ดูอยู่ได้ไม่นานก็ต้องรีบไปขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อกลับสนามบินแล้ว ก็แยกจากเพื่อนตรงนี้ ซื้อบัตรแล้วเข้าไป
สำหรับการเดินทางขากลับจากสถานีฮ้างเหานั้นต้องนั่งรถไฟฟ้าหลายต่อมาก หากเทียบกับตอนที่นั่งรถเมล์มาแค่ ๒ ต่อถึงนั้นถือว่าต่างกันมาก แต่ว่ารถไฟฟ้ามีข้อดีคือเร็วและไม่ต้องเจอรถติด ยิ่งช่วงเย็นวันศุกร์ซึ่งรถมีแนวโน้มจะติดแบบนี้
การเดินทางเริ่มจากนั่งสายเจิ๊งกวั๊นโอว (
將軍澳綫, 将军澳线) ไปลงสถานีถิ่วเก๋งเหล็ง (
調景嶺站, 调景岭站) เพื่อเปลี่ยนรถ
แล้วนั่งต่อสายกุ๊นถ่อง (
觀塘綫, 观塘线) ไปลงสถานีทายจี๋ (
太子站)
แล้วนั่งต่อสายฉวิ่นว้าน (
荃灣綫, 荃湾线) ไปลงสถานีไหล่เก๋ง (
荔景站)
จากนั้นจึงต่อสายต๊งช้ง (
東涌綫, 东涌线) ไปลงสถานีเช้งยี้ (
青衣站)
แล้วสุดท้ายจึงนั่งสายสายรถด่วนท่าอากาศยาน (
機場快綫, 机场快线) จึงกลับไปถึงสนามบิน
ภาพตอนเปลี่ยนรถจากสายเจิ๊งกวั๊นโอว (สายสีม่วง) ไปสายกุ๊นถ่อง (สายสีเขียว) ที่สถานีถิ่วเก๋งเหล็ง
ผังสายรถไฟภายในรถไฟฟ้าสายกุ๊นถ่อง
แล้วก็ลงที่สถานีทายจี๋ ระหว่างรอเปลี่ยนรถที่สถานีทายจี๋ไปขึ้นสายฉวิ่นว้าน (สายสีแดง)
จากทายจี๋ นั่งสายฉวิ่นว้านไปอีก ๕ สถานี เพื่อไปลงสถานีไหล่เก๋ง
ระหว่างรอเปลี่ยนรถไปสายต๊งช้ง (สายสีส้ม) ที่สถานีไหล่เก๋ง
นั่งไปสถานีเดียวก็ถึงสถานีเช้งยี้
จากนั้นต้องออกมาซื้อตั๋วรถไฟด่วนสายเชื่อมต่อสนามบิน ซึ่งแยกต่างหากจากระบบรถไฟฟ้าส่วนอื่น ราคาจากเช้งยี้ไปสนามบินคือ ๗๐ มั้น
ระหว่างทาง
ขณะที่ไปถึงนั้นเป็นเวลาเกือบ 4 โมงแล้ว ส่วนรถไฟที่ได้ขึ้นนั้นมาถึงตอน 4 โมง
จากนั้นก็วิ่งออกไปอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาแค่ ๑๕ นาทีเพื่อถึงสนามบิน
ถึงสนามบินตอน 16:15 แล้วก็รีบเข้าไปหาจุดขึ้นเครื่องอย่างไว
ผ่านด่านตรวจคนเข้าออกเมืองมาแล้วก็ยังต้องมานั่งรถไฟฟ้าภายในสนามบินจึงจะไปถึงห้องรอเครื่องที่ต้องไปเพื่อเดินทางกลับ
ตอนที่ไปถึงจุดรอขึ้นเครื่องก็เป็นเวลา 16:40 แล้ว ซึ่งทันเวลาพอดี เพราะปกติเขาต้องให้มาขึ้นเครื่องก่อนเครื่องออกประมาณ ๒๐ นาที ซึ่งตอนนั้นก็เหลือ ๒๐ นาทีพอดี และผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็ขึ้นไปแล้ว เหลือต่อแถวรอขึ้นอยู่ไม่มาก
ถึงตรงนี้ก็โล่งแล้วว่าไม่ตกเครื่อง ได้กลับแน่นอน ต้องถือว่านี่เป็นครั้งที่มาถึงสนามบินด้วยเวลาที่เฉียดฉิวหวาดเสียวที่สุดแล้ว คงเป็นประสบการณ์ที่จำไปอีกนาน ถ้าจะมีครั้งไหนที่มาสายกว่านี้ก็คงจะตกเครื่องไปแล้ว
ลาก่อนฮ่องกง
อาหารบนเครื่อง
เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯโดยสวัสดิภาพ
ครั้งนี้เป็นแค่การเดินทางจากไต้หวันมาต่อเครื่องที่ฮ่องกงเพื่อกลับไทยแล้วได้เที่ยวอยู่ในฮ่องกงแค่ ๗ ชั่วโมง แต่ก็ถือว่าได้เที่ยวอย่างเต็มที่เต็มเวลาจริงๆ
ครั้งนี้ได้ไปเที่ยวที่เดียวคือเดินในมหาวิทยาลัย แต่ก็ถือว่าดี เพราะได้มาเยี่ยมเพื่อน แล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และได้เห็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงด้วย แล้วก็ได้แต่มองด้วยความเป็นห่วง
จะคนฮ่องกงหรือไต้หวันหรือจีนแผ่นดินใหญ่ต่างก็เป็นคนจีนทั้งนั้น แม้แต่คนที่เกิดและโตในไทยอย่างเราเองก็ยังรักและภูมิใจในความเป็นจีนเช่นกัน คงไม่อยากเห็นคนจีนด้วยกันเองทำร้ายกันมากไปกว่านี้
จากนี้ไปอนาคตฮ่องกงจะเป็นยังไงต่อไปก็อดเป็นห่วงไม่ได้ แต่ก็ขอเอาใจช่วยให้ทุกอย่างกลับมาเรียบร้อย กลับมาเป็นสถานที่ที่น่าอยู่น่าเที่ยวที่ใครๆต่างก็ชอบ เป็นเมืองที่สำคัญและน่าภาคภูมิใจของจีน