φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีสาเหตุมาจากความคิดเห็นแตกต่างและระบอบการปกครอง
เขียนเมื่อ 2020/08/23 06:51
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
ลังเลอยู่ว่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในตอนนี้ดูสักครั้งดีหรือเปล่า แต่เรื่องมาถึงตรงนี้แล้วเห็นหลายคนต่างก็แสดงจุดยืนความเห็นไปพอสมควรก็เลยขอแสดงความเห็นจากมุมมองของเราบ้าง

ที่จริงช่วงนี้กำลังพยายามรีบปั่นบทความ python และการเรียนรู้ของเครื่องชุดใหม่เพื่อจะลงในบล็อกอยู่ แต่พอเห็นเหตุการณ์บ้านเมืองมีปัญหาแล้วก็อดห่วงไม่ได้ จึงใช้เวลาไปกับการตามข่าวเรื่องพวกนี้พอสมควร จนทำให้อะไรๆอย่างอื่นล่าช้าไปอย่างช่วยไม่ได้

วันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมาที่มีการรวมคนไทยที่ไทเปเราก็มีโอกาสได้แวะไปดูสถานการณ์มาด้วย ดังที่ได้เล่าไว้ใน
>> https://phyblas.hinaboshi.com/20200816



(ภาพประกอบที่ใช้นี้คือภาพในงานนั้น เป็นตอนช่วงท้ายสุดที่ทุกคนชูสามนิ้วกัน)

เข้าเรื่องละกัน

ช่วงนี้ในเพจนี้เองก็ลงเนื้อหาที่มีส่วนเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนี่เยอะ เพราะใช้เวลาติดตามอยู่แล้วก็อดเป็นห่วงไม่ได้ แม้จะอยู่ต่างประเทศก็ห่วงสถานการณ์ในไทย

ก่อนอื่นเลย สิ่งที่เรามักจะเน้นอยู่เสมอก็คือ แต่ละคนต่างก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่มีใครจะคิดเหมือนกันไปหมด ต่อให้แบ่งกลุ่มแบ่งฝ่ายกันแบบนี้ แต่ภายในก็มีความแตกต่างกันมาก

แต่ละคนก็น่าจะมีเหตุผลของตัวเองอยู่ ให้หาทางบรรยายเหตุผลนั้นออกมาเป็นคำพูด ไม่ใช่ด้วยอารมณ์

ไม่ว่าฝ่ายไหน ถ้าหากสุดขั้วเกินไป และมองคนที่เห็นต่างเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามไปทั้งหมดแบบนั้น สุดท้ายก็อาจจะเสียพวกพ้องและไม่ได้อะไรเลย

อย่างเรื่องที่ว่าการชุมนุมมีเพื่อต่อต้านเผด็จการนั่นน่ะ แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เราต่อต้านคือเผด็จการจริงหรือเปล่า?

สำหรับหลายคนอาจมองว่าแบบนั้น แต่เรากลับมองต่างออกไป สิ่งที่เราควรยึดติดไม่ใช่ระบอบ เพราะสุดท้ายไม่ว่าระบอบไหนก็เจริญหรือเละเทะได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆมากมายเช่นประชาชนและตัวผู้นำ

เผด็จการที่ไปได้สวยก็มีไม่น้อย เช่น สิงคโปร์ รวมทั้งเกาหลีและไต้หวันในอดีตเองก็เป็นเผด็จการ และเจริญขึ้นมามากในช่วงที่เป็นเผด็จการอยู่นั่นเอง แม้ตอนนี้จะเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยเต็มตัวแล้วก็ตาม

ดังนั้นสิ่งที่ต่อต้านจริงๆไม่ใช่เผด็จการ แต่เป็นรัฐบาลที่โกงกิน บริหารประเทศไม่ได้เรื่อง เอาแต่ผลาญภาษีประชาชนไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ดึงสถาบันเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ข่มเหงรังแกประชาชน

(ซึ่งก็คือรัฐบาลไทยในตอนนี้ และยิ่งเป็นเผด็จการด้วยเลยยิ่งเลวร้าย)

ฉะนั้นการต่อต้านเผด็จการไม่ใช่จุดยืนจริงๆของเรา ประชาธิปไตยไม่ได้ดีเลิศ เผด็จการไม่ได้เลวร้ายเสมอไป แน่นอนว่าถ้าเลือกได้ก็เป็นประชาธิปไตยดีกว่าอยู่แล้ว เพราะเห็นได้ชัดว่าประเทศที่เจริญส่วนใหญ่เป็นประชาธิปไตย แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้ สุดท้ายขอแค่ประเทศไปได้สวยจะระบอบไหนก็รับได้ทั้งนั้น

เมื่อปีที่แล้วเคยเขียนบทความหนึ่งเป็นการสรุปหนังสือที่อ่าน เกี่ยวกับประชาธิปไตยและประวัติศาสตร์ และทำให้ได้แนวคิดอะไรมากมาย

คนที่สนใจลองอ่านดูในนี้ได้
>> ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา



อีกเรื่องคือ การที่คนชอบไปตีความว่าการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ทำเพราะชังชาติหรือมีขึ้นเพื่อล้มเจ้าล้มสถาบัน ซึ่งทำให้การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ถูกมองว่าแย่ลง ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันตรงกันข้าม

อย่าลืมว่าจุดประสงค์หลักของการชุมนุมประท้วงคือต้องการเป็นอนาคตของชาติเป็นไปในทางที่ดี ต้องการให้ทหารเลิกยุ่งกับการเมือง

แน่นอนว่าในกลุ่มผู้ประท้วงก็มีหลากหลาย คนที่คิดล้มเจ้าจริงๆก็ย่อมมีอยู่ แต่ที่เกิดความคิดแบบนั้นขึ้นมาก็มาจากการที่สถาบันอยู่ในสถานะที่วิจารณ์ไม่ได้ และใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม ความรู้สึกไม่เป็นธรรม ไม่ใช่อยู่ดีๆก็เกิดความคิดแบบนั้นขึ้นมา

ความรู้สึกไม่ยุติธรรมต่างๆเหล่านั้นเป็นสิ่งจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านสถาบัน และหากไม่มีการปรับอะไรเลยตรงนี้ก็จะลุกลามไปสู่การล้มลง

"ต้นไม้ที่ล้มก็คือต้นไม้ที่ไม่ยอมโอนอ่อนไปตามลม" 🌴🌴🌴

อาจลองดูตัวอย่างจากหลายประเทศเช่นฝรั่งเศสหรือจีนหรือรัสเซียที่มีการล้มเจ้าก็ได้ ที่จริงก็จะเห็นได้ว่าการล้มเจ้าจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากประชาชนอยู่อย่างมีความสุขและประเทศเจริญก้าวหน้าไปได้

ไม่ว่าอะไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยผ่านไปก็ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ไม่อาจจะให้อะไรคงอยู่ไปได้ตลอด ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน

หลายประเทศก็ยังคงเหลือกษัตริย์ เช่นญี่ปุ่น อังกฤษ แต่ไม่ได้มีปัญหาอะไร ยังไงก็เป็นสิ่งที่มีแต่โบราณนานมา อนุรักษ์ไว้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม นั่นไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

ดังนั้นปัญหาไม่ใช่การมีอยู่ของสถาบัน แต่เป็นการที่สถาบันอยู่ในสถานะที่วิจารณ์ไม่ได้ และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกำจัดคนเห็นต่างอยู่เสมอ สิ่งนี้จะนำไปสู่ความเสื่อมถอย

น่าแปลกที่หลายคนที่อ้างว่ารักสถาบันกลับไม่เข้าใจเรื่องนี้ หรือแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ

ถ้ารักสถาบันจริงๆก็ควรจะเลิกดึงสถาบันลงมาแปดเปื้อนได้แล้ว ควรจะให้วิจารณ์ได้เพื่อจะได้รู้ว่ามีอะไรควรปรับไปตามยุคสมัย และไม่ควรจะมายุ่งกับการเมือง แค่นี้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องล้มแล้ว ทุกคนก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

มันก็เป็นอะไรที่ดูย้อนแย้งนะ คนเราทำตัวเหมือนจะพยายามปกป้องอะไรบางอย่าง แต่จริงๆแล้วกลับกำลังทำลายสิ่งนั้นเสียเอง

ในกรณีของไทย ยังไม่ได้อยู่ในจุดที่สายเกินไป เราต้องแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ เราคงไม่ต้องการให้เป็นแบบฝรั่งเศสหรือรัสเซีย แต่ถ้าเป็นแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่นได้ก็น่าจะดีกว่า



เรื่องสุดท้ายที่อยากพูดถึงก็คือ ปัญหาขัดแย้งเรื่องเด็กหรือผู้ใหญ่ คนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่

อย่างที่เห็นว่าความขัดแย้งตอนนี้มีแนวโน้มเรื่องวัยมาเกี่ยวเป็นอย่างมาก คนที่ประท้วงส่วนใหญ่เป็นคนอายุน้อย คนรุ่นใหม่ ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ก็ยิ่งดูจะมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ในขณะที่คนรุ่นเก่าก็มักอยากที่จะอนุรักษ์สิ่งเดิมๆไว้

ดังนั้นความขัดแย้งครั้งนี้จึงกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกันเองซะมาก เพราะในครอบครัวก็มีคนต่างวัยมาอยู่ด้วยกัน เราได้เห็นผู้ใหญ่ด่าเด็กว่าไม่มีความคิดดีพอ ถูกหลอก ในขณะที่เด็กก็ด่าว่าผู้ใหญ่หัวโบราณ ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

ที่จริงปัญหาแบบนี้ก็เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยนั่นแหละ แต่ละคนก็มีความคิดของตัวเองต่างกันไป เรื่องนี้อายุอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องแต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด

รวมถึงการจะมาตัดสินว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ดีกว่ากันด้วย จริงอยู่ว่าอายุมากจะมีแนวโน้มที่จะมีประสบการณ์มากกว่า แต่ก็ไม่เสมอไป บางคนถึงจะประสบปัญหาอะไรแค่ไหนก็ไม่ได้เรียนรู้ ยังคงจะมีปัญหาแบบเดิมอยู่ซ้ำซาก

ส่วนเด็กอาจยังขาดประสบการณ์ ยังมีอะไรที่ไม่เข้าใจเยอะ อาจถูกชักจูงได้ง่าย มีโอกาสหลงผิด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะด้อยไปกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในโลกยุคนี้ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เองจากอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในกรอบอย่างสมัยก่อน

ซึ่งมันทำให้เด็กรุ่นใหม่มีความคิดที่หลากหลายมากขึ้น บทเรียนในโรงเรียนมีผลน้อยลง ทำให้เริ่มตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวที่ได้เรียนรู้มาในห้องเรียน มีแนวโน้มที่จะถูกชักจูงให้คิดเห็นไปในทางเดียวกันน้อยลงกว่าเมื่อสมัยก่อนมาก

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเด็กจะดีกว่า ยังไงก็มีดีมีแย่ งั้นจะรู้ได้ไงว่าใครดีกว่า? มันไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินกันได้โดยดูจากวัย ที่สำคัญจริงๆคือการใช้เหตุผล สิ่งที่แสดงออกมา ดังนันไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ควรจะได้รับการรับฟัง และก็ควรจะรับฟังคนอื่นด้วยเช่นกัน

ท่ามกลางความขัดแย้งตอนนี้ เราได้เห็นเด็กเริ่มก้าวร้าว ด่าหรือดูถูกผู้ใหญ่หรือครูอาจารย์ ทำแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากที่ผู้ใหญ่ดูถูกเด็กเลยไม่ใช่หรือ ถ้าลดความรุนแรงลงได้ก็ดีไม่ใช่หรือ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม

อยากให้ใครรับฟังอะไรก็ต้องพูดกันดีๆ ใช้เหตุผลเป็นหลัก ไม่ใช่ให้ใช้อารมณ์ห้ำหั่นกัน แบบนั้นก็ไม่เกิดอะไร มีแต่ความแตกแยกเท่านั้น

ไม่ต้องการเห็นคนไทยแตกแยกกันมากไปกว่านี้ ประเทศชาติเป็นของทุกคน อย่าผูกขาดความรักชาติไว้ที่ตัวเองแล้วหาว่าคนอื่นที่เห็นต่างนั้นชังชาติ ไม่มีใครมีสิทธิ์ไล่ใครให้ออกไปไหนทั้งนั้น

ยังไงก็คนในชาติเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน สื่อสารกันเข้าใจได้ยิ่งกว่าคนภายนอก งั้นก็ควรจะคุยกันให้ดี มีอะไรยอมได้ก็ยอม ยังไงทุกคนมีส่วนดีส่วนไม่ดีต่างกันไป ทั้งหมดนี้เป็นอะไรที่ควรจะต้องไกล่เกลี่ยกัน ปรับเข้าหากันเพื่อจะสามารถอยู่ร่วมกันได้



自由、平等、博愛


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文