ในบทความนี้จะอธิบายหลักการทับศัพท์ภาษาไอนุเขียนด้วยอักษรไทย โดยจะอธิบายแยกเป็นส่วนๆอย่างละเอียด และมีการยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดด้วย เหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาภาษาไอนุ หรือต้องการนำระบบทับศัพท์ไปใช้เพื่อเขียนพวกชื่อต่างๆ
ที่มาที่ไป ภาษาไอนุนั้นเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเกาะฮกไกโดของญี่ปุ่น รวมถึงเกาะซาฮาลิน และหมู่เกาะคูริลของรัสเซีย
แม้ว่าจะมีประชากรผู้พูดน้อยและเป็นภาษาใกล้ตายแล้ว แต่ก็มีความสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น มีผู้สนใจศึกษาภาษาไอนุในญี่ปุ่นไม่น้อย
พวกชื่อสถานที่ต่างๆในฮกไกโดหลายแห่งใช้ชื่อภาษาไอนุ เนื่องจากชาวไอนุอาศัยอยู่มานานก่อนที่ชาวญี่ปุ่นจะเข้ามาอยู่ ดังนั้นการรู้ภาษาไอนุจึงทำให้เราเข้าใจที่มาของชื่อสถานที่ต่างๆ
ภาษาไอนุมีความหลากหลายมาก โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น ๓ กลุ่มคือ ไอนุฮกไกโด, ไอนุซาฮาลิน และไอนุคูริล ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ต่างกันมากจนอาจถือว่าเป็นคนละภาษากัน อย่างไรก็ตามปัจจุบันที่เหลืออยู่มีแค่ไอนุฮกไกโดเท่านั้น ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงภาษาไอนุก็มักจะหมายถึงภาษาไอนุฮกไกโดเป็นหลัก
สำหรับภาษาไอนุฮกไกโดนั้นก็ยังมีการแบ่งย่อยเป็นหลายสำเนียง และไม่ได้มีสำเนียงไหนที่ถูกกำหนดเป็นสำเนียงมาตรฐานแน่นอน แต่ในการเขียนอธิบายเสียงอ่านและวิธีการทับศัพท์ที่จะอธิบายถึงต่อไปนี้โดยหลักๆแล้วจะยึดตามหนังสือ
ニューエクスプレスプラス アイヌ語 ซึ่งใช้เป็นแหล่งอ้างอิงหลัก โดยหนังสือเล่มนี้ยืนพื้นจากสำเนียงซารุ (沙流方言) ซึ่งใช้ในแถบแม่น้ำซารุทางตอนกลางของฮกไกโด
ระบบการเขียน ภาษาไอนุนั้นไม่มีระบบเขียนเป็นของตัวเอง แต่โดยทั่วไปที่ญี่ปุ่นจะเขียนภาษาไอนุโดยใช้อักษรคาตากานะเขียนตามเสียงอ่าน โดยมีการเพิ่มอักษรบางส่วนที่นอกเหนือจากที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่นเข้ามาด้วย ได้แก่พวกอักษรตัวเล็กที่ไว้แทนตัวสะกด เช่น ㇰ ㇱ ㇲ ㇳ ㇴ ㇵ ㇶ ㇷ ㇸ ㇹ ㇷ゚ ㇺ ㇻ ㇼ ㇽ ㇾ ㇿ
ส่วนในต่างประเทศจะนิยมเขียนด้วยอักษรโรมัน ซึ่งจะต่างไปจากโรมาจิในภาษาญี่ปุ่น ระบบนี้ค่อนข้างเขียนได้ง่ายกว่าอักษรคาตากานะ และเหมาะสำหรับใช้ในการศึกษามากกว่า เพราะสามารถแยกหน่วยเสียงสระกับพยัญชนะได้อย่างดี
นอกจากนี้แล้วยังมีการเขียนเป็นอักษรซีริลลิกด้วย สำหรับใช้ในรัสเซียเป็นหลัก
ตัวอย่างการเขียนคำว่า "ภาษาไอนุ" ด้วยอักษรต่างๆ
คาตากานะ |
アイヌイタㇰ |
โรมัน |
Aynu itak |
ซีริลลิก |
Айну итак |
IPA |
/ʔajnu itak̚/ |
ทับศัพท์ไทย |
ไอนูอีตัก |
ในบทความนี้จะเขียนทับศัพท์จากอักษรโรมันเป็นหลัก แต่ก็จะเขียนอักษรคาตากานะกำกับไว้ด้วย
การทับศัพท์สระ ภาษาไอนุมีเสียงสระ ๕ เสียง ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ในภาษาไทยจึงทับศัพท์ได้โดยง่าย เสียงสระไม่มีการแยกความแตกต่างระหว่างเสียงสั้นกับเสียงยาว แต่ในการทับศัพท์เป็นภาษาไทยจะให้เขียนในรูปสระเสียงยาวเมื่อไม่มีตัวสะกด และเขียนในรูปสระเสียงสั้นเมื่อมีตัวสะกด
เพียงแต่ว่าหากตัวสะกดเป็น "ร" ปกติในภาษาไทยมักจะไม่ถือเป็นตัวสะกด แต่จะเขียนในรูป "ร์" ดังนั้นก็ให้เขียนในรูปเหมือนไม่มีตัวสะกด
ตารางต่อไปนี้แสดงเสียงสระทั้ง ๕ และการทับศัพท์ โดยแยกเป็นกรณีไม่มีตัวสะกด (หรือสะกด ร) และไม่มีตัวสะกด
อักษรโรมัน |
คาตากานะ |
IPA |
ทับศัพท์ |
ตัวอย่าง |
a |
ア |
/a/ |
อา |
kapar = กาปาร์ |
อั- |
takne = ตักเน |
i |
イ |
/i/ |
อี |
asir = อาซีร์ |
อิ- |
siwnin = ซิวนิน |
u |
ウ |
/u/ |
อู |
nupur = นูปูร์ |
อุ- |
husko = ฮุสโก |
e |
エ |
/e/ |
เอ |
ruwe = รูเว |
เอ็- |
topen = โตเป็น |
o |
オ |
/o/ |
โอ |
poro = โปโร |
อ- |
kosne = กสเน |
นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมเนื่องจากข้อจำกัดหรือความนิยมของรูปแบบการเขียนในภาษาไทย คือกรณีที่ตัวสะกดเป็น "ย" หรือ "ว" ในบางสระ
อักษรโรมัน |
คาตากานะ |
IPA |
ทับศัพท์ |
ตัวอย่าง |
ay |
アイ |
/aj/ |
ไอ |
komay = โกไม |
aw |
アウ |
/aw/ |
เอา |
ohaw = โอเฮา |
ey |
エイ |
/ej/ |
เอย์ |
nisey = นีเซย์ |
oy |
オイ |
/oj/ |
โอย |
noyne = โนยเน |
ow |
オウ |
/ow/ |
โอว |
nipow = นีโปว |
ภาษาไอนุไม่มีสระประสม ดังนั้นถ้าเห็นสระ ๒ ตัวติดกันเวลาเขียนเป็นอักษรโรมันก็ถือเป็นคนละพยางค์กัน ให้แยกชัด
uari = อูอารี
eikar = เออีการ์
oika = โออีกา
แต่อย่าสับสนกรณีสระอีกับกรณีที่เป็นตัวสะกดซึ่งมักเขียนด้วย y ไม่ใช่ i ถือว่าไม่เหมือนกัน
oyra = โอยรา
ดังนั้นแล้ว ๒ คำนี้ถือว่าอ่านต่างกัน และเป็นคนละความหมาย ต้องแยกให้ดี
yayrayke = ไยไรเก (ฆ่าตัวตาย)
yairayke = ยาอีไรเก (ขอบคุณ)
เพียงแต่ว่าเวลาเขียนด้วยอักษรคาตากานะมักจะเขียนด้วย イ ทั้งคู่ จึงไม่สามารถแยกได้ ให้ดูอักษรโรมันเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ในการเขียนด้วยอักษรโรมันเองบางครั้งก็มีการเขียนด้วย i ทั้งที่ควรเขียนเป็น y ดังนั้นก็ชวนสับสนได้ เช่นคำว่า "ไอนู" (ไอนุ) จริงๆควรเขียนเป็น aynu แต่มักถูกเขียนเป็น ainu มากกว่า ต้องระวังด้วย
บางครั้งสระเดียวกันก็อยู่ติดกัน กรณีนี้ก็ถือว่าแยกเป็นคนละพยางค์เช่นกัน
oaat = โออาอัต
piitak = ปีอีตัก
การทับศัพท์พยัญชนะ ภาษาไอนุมีเสียงพยัญชนะอยู่ทั้งหมด ๑๒ เสียง ซึ่งส่วนใหญ่ตรงหรือใกล้เคียงกับที่มีในภาษาไทย และไม่มีพยัญชนะประสมหรือเสียงควบอยู่เลย จึงสามารถเขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทยได้โดยง่าย
อักษรโรมัน |
คาตากานะ |
IPA |
ทับศัพท์ |
ตัวอย่าง |
- |
ア |
イ |
ウ |
エ |
オ |
/ʔ/ |
อ |
osor = โอโซร์ |
k |
カ |
キ |
ク |
ケ |
コ |
/k/ |
ก |
kewre = เก็วเร |
s (sh) |
サ |
シ |
ス |
セ |
ソ |
/s/~/ʃ/ |
ซ |
suwop = ซูวป |
t |
タ |
|
トゥ |
テ |
ト |
/t/ |
ต |
teeta = เตเอตา |
c |
チャ |
チ |
チュ |
チェ |
チョ |
/ʧ/~/ʦ/ |
จ |
cikap = จีกัป |
n |
ナ |
ニ |
ヌ |
ネ |
ノ |
/n/ |
น |
nukar = นูการ์ |
h |
ハ |
ヒ |
フ |
ヘ |
ホ |
/h/ |
ฮ |
hunak = ฮูนัก |
p |
パ |
ピ |
プ |
ペ |
ポ |
/p/ |
ป |
paskur = ปัสกูร์ |
m |
マ |
ミ |
ム |
メ |
モ |
/m/ |
ม |
mukar = มูการ์ |
y |
ヤ |
|
ユ |
イェ |
ヨ |
/j/ |
ย |
yayan = ยายัน |
r |
ラ |
リ |
ル |
レ |
ロ |
/ɾ/ |
ร |
ruska = รุสกา |
w |
ワ |
ウィ |
|
ウェ |
ウォ |
/w/ |
ว |
wanpe = วันเป |
ในนี้ที่ไม่ตรงกับภาษาไทยเสียทีเดียวก็คือเสียง r ซึ่งจะเหมือนเสียง r ในภาษาญี่ปุ่น ต่างจาก "ร" ในภาษาไทยเล็กน้อย
สำหรับเสียง s นั้นส่วนใหญ่จะออกเป็นเหมือน "ซ" ในภาษาไทย แต่บางครั้งก็อาจออกเสียงเป็นเหมือนเสียง sh ในภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะเวลาอยู่กับสระอี ซึ่งในการเขียนด้วยอักษรโรมันบางครั้งก็อาจถูกเขียนเป็น sh ด้วย แต่ไม่ว่าจะ s หรือ sh ก็ถือเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน ในที่นี้จะให้ทับศัพท์เป็น "ซ" ทั้งหมด
ภาษาไอนุไม่มีการแยกเสียงพ่นลม (ค, ท, พ) กับไม่พ่นลม (ก, ต, ป) จึงอาจมีการออกเสียงได้ทั้ง ๒ แบบ แต่ส่วนใหญ่จะออกเป็นแบบไม่พ่นลมมากกว่า จึงให้เขียนทับเป็น "ก, ต, ป"
นอกจากนี้ยังไม่มีการแยกระหว่างเสียงก้อง (g, ด, บ) กับเสียงไม่ก้อง (ก, ต, ป) ด้วย โดยอาจขึ้นอยู่กับผู้พูดหรือตำแหน่งในคำ ดังนั้นแล้ว k, t, p บางครั้งก็ถูกเขียนเป็น g, d, b แต่ก็ถือเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน ไม่มีการแยกความแตกต่าง
เวลาเจอภาษาไอนุที่เขียนด้วยอักษรโรมันนั้นนานๆทีอาจเจอการเขียนด้วย g, d, b กรณีแบบนี้ให้รู้ว่าจริงๆก็คือเสียง k, t, p ดังนั้นก็ให้ทับศัพท์เป็น "ก, ต, ป" ไป
การทับศัพท์ตัวสะกด ภาษาไอนุมีเสียงตัวสะกด โดยเสียงพยัญชนะเกือบทั้งหมดที่ใช้เป็นพยัญชนะต้นนั้นสามารถใช้เป็นตัวสะกดได้ ยกเว้น c เท่านั้น และตัวสะกด h จะไม่มีในสำเนียงฮกไกโดแต่จะมีในสำเนียงซาฮาลิน
อักษรโรมัน |
คาตากานะ |
IPA |
ทับศัพท์ |
ตัวอย่าง |
k |
ㇰ |
/k̚/ |
ก |
kimatek = กีมาเต็ก |
s |
ㇱ, ㇲ |
/s/~/ɕ/ |
ส |
roski = รสกี |
t |
ッ, ㇳ |
/t̚/ |
ต |
satke = ซัตเก |
n |
ㇴ, ン |
/n/ |
น |
ninkari = นินการี |
h |
ㇵ, ㇶ,ㇷ, ㇸ, ㇹ |
/x/ |
ฮ์ |
pahkay = ปาฮ์ไก |
p |
ㇷ゚ |
/p̚/ |
ป |
yupke = ยุปเก |
m |
ㇺ |
/m/ |
ม |
niham = นีฮัม |
y |
イ |
/j/ |
ย |
atuy = อาตุย |
r |
ㇻ, ㇼ, ㇽ, ㇾ, ㇿ |
/ɾ/ |
ร์ |
pirka = ปีร์กา |
w |
ウ |
/w/ |
ว |
aciw = อาจิว |
กรณีที่สะกดด้วย "ร", "ย" หรือ "ว" นั้นจะมีข้อยกเว้นในการเขียน ดังที่ได้เขียนถึงไปแล้วในส่วนที่อธิบายสระ
ในการเขียนด้วยอักษรคาตากานะนั้นตัวสะกดจะถูกเขียนแทนด้วยอักษรตัวเล็ก ㇰ, ㇷ゚, ㇺ แทนตัวสะกด "ก, ป, ม" ส่วนตัวสะกด "ต" อาจใช้ ッ หรือ ㇳ แต่โดยทั่วไปนิยมใช้ ッ มากกว่า ส่วนตัวสะกด "น" ซึ่งมีอยู่แล้วในภาษาญี่ปุ่นก็มักใช้ ン แต่ก็อาจเจอการใช้ ㇴ แทนด้วย
ส่วนกรณีที่ตัวสะกดเป็น "ร์" จะค่อนข้างพิเศษ โดยจะเขียนเป็น ㇻ, ㇼ, ㇽ, ㇾ, ㇿ ซึ่งเป็นอักษรตัวเล็กของ ラ, リ, ル, レ, ロ โดยจะขึ้นอยู่กับเสียงสระของพยางค์นั้น เพราะจริงๆแล้วตัวสะกด "ร" ในภาษาไอนุจะเหมือนเป็นการลากเสียงสระต่อเบาๆมากกว่าที่จะเป็นเสียงตัวสะกดจริงๆ แต่ในการเขียนด้วยอักษรโรมันจะใช้ r เฉยๆ ดังนั้นแล้วในการทับศัพท์เป็นภาษาไทยก็จะขอเขียนเป็น "ร์" เฉยๆ
เช่น
ker (แปลว่า รองเท้า) เสียงจะใกล้เคียงกับ "เกเระ" แต่ให้เขียนทับศัพท์เป็น "เกร์"
สำหรับตัวสะกด s (บางครั้งก็เขียนเป็น sh) นั้นมักจะเป็นเสียงคล้าย sh ในภาษาญี่ปุ่น ระบบการเขียนคาตากานะเองก็มีเขียนทั้ง ㇱ และ ㇲ แต่มักใช้ ㇱ มากกว่า อย่างไรก็ตามในการทับศัพท์ให้แทนด้วย "ส"
ในภารเขียนด้วยอักษรโรมัน บางครั้งการแบ่งพยางค์ก็ชวนสับสน เพราะอักษรอาจเป็นได้ทั้งพยัญชนะต้นหรือตัวสะกด ต้องดูให้ดี ในบางครั้งจึงมีการเขียน ' คั่นเพื่อแยกให้ชัด แต่ก็ไม่เสมอไป จึงมักต้องแยกเอาเอง
เช่น hioyoy = hioy'oy ที่แปลว่า "ขอบคุณ" อ่านว่า "ฮีโอยโอย" ไม่ใช่ "ฮีโอโยย"
ตัวอย่างการใช้ การนับเลขในภาษาไอนุ
เลข |
อักษรโรมัน |
คาตากานะ |
ทับศัพท์ |
1 |
sine |
シネ |
ซีเน |
2 |
tu |
トゥ |
ตู |
3 |
re |
レ |
เร |
4 |
ine |
イネ |
อีเน |
5 |
asikne |
アシㇰネ |
อาซิกเน |
6 |
iwan |
イワン |
อีวัน |
7 |
arwan |
アㇻワン |
อาร์วัน |
8 |
tupesan |
トゥペサン |
ตูเปซัน |
9 |
sinepesan |
シネペサン |
ซีเนเปซัน |
10 |
wan |
ワン |
วัน |
11 |
sine ikasma wan |
シネ イカㇱマ ワン |
ซีเนอีกัสมาวัน |
20 |
hotne |
ホッネ |
ฮตเน |
30 |
wan etuhotne |
ワン エトゥホッネ |
วันเอตูฮตเน |
40 |
tuhotne |
トゥホッネ |
ตูฮตเน |
50 |
wan erehotne |
ワン エレホッネ |
วันเอเรฮตเน |
60 |
rehotne |
レホッネ |
เรฮตเน |
80 |
inehotne |
イネホッネ |
อีเนฮตเน |
100 |
asikhotne |
アシㇰネホッネ |
อาซิกฮตเน |
1000 |
wanhotne ereatuyta |
ワンホッネ エレアトゥイタ |
วันฮตเนเอเรอาตุยตา |
ในฮกไกโดเต็มไปด้วยชื่อสถานที่ที่มีที่มาจากภาษาไอนุ ปัจจุบันกลายเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ถ้าสืบรากลงไปก็จะพบว่ามีความหมายในภาษาไอนุ ชื่ออาจถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับภาษาญี่ปุ่นจนดูเผินๆไม่รู้ที่มาเดิม บางชื่อก็ได้แค่ตั้งข้อสันนิษฐาน ไม่อาจยืนยันว่าที่มานี้ถูกต้องจริงหรือเปล่า
ตารางต่อไปนี้แสดงตัวอย่างชื่อสถานที่ในฮกไกโดที่มาจากภาษาไอนุ โดยเปรียบเทียบชื่อภาษาญี่ปุ่นและชื่อภาษาไอนุ แล้วเขียนทับศัพท์ตามหลักที่อธิบายมาข้างต้น
สำหรับชื่อที่เป็นคำประสมนั้นในการเขียนจะมีการคั่นด้วยขีด - เพื่อแยกส่วนประกอบของคำ แต่เวลาออกเสียงอาจจะอ่านรวบต่อเนื่องกันไป โดยถ้าหน้าขีดเป็นตัวสะกดและหลังขีดเป็นสระ เสียงตัวสะกดนั้นก็จะกลายเป็นเสียงพยัญชนะต้นไป แต่ก็ไม่เสมอไป อาจต้องดูรูปเขียนคาตากานะประกอบด้วยเพื่อตัดสินว่าควรอ่านรวบหรือไม่
ชื่อญี่ปุ่น |
ชื่อไอนุ |
ทับศัพท์ |
赤平 |
อากาบิระ |
wakka-pira |
วักกาปีรา |
厚岸 |
อักเกชิ |
at-ke-us-i |
อัตเกอูซี |
磯谷 |
อิโซยะ |
iso-ya |
อีโซยา |
歌志内 |
อุตาชิไน |
ota-us-nay |
โอตาอุสไน |
歌棄 |
อุตาซึตสึ |
ota-sut |
โอตาซุต |
恵庭 |
เอนิวะ |
e-en-iwa |
เอเอ็นอีวา |
襟裳 |
เอริโมะ |
enrum |
เอ็นรุม |
遠軽 |
เองงารุ |
inkar-us-i |
เอ็นการูซี |
長万部 |
โอชามัมเบะ |
o-samampe |
โอซามัมเป |
小樽 |
โอตารุ |
ota-or |
โอตาโอร์ |
黒松内 |
คุโรมัตสึไน |
kurmat-nay |
กูร์มัตไน |
札幌 |
ซัปโปโระ |
sat-poro |
ซัตโปโร |
白老 |
ชิราโออิ |
siraw-o-i |
ซีเราโออี |
知床 |
ชิเรโตโกะ |
siretok |
ซีเรตก |
壮瞥 |
โซวเบตสึ |
so-pet |
โซเป็ต |
洞爺 |
โทวยะ |
to-ya |
โตยา |
苫小牧 |
โทมาโกไม |
to-mak-oma-i |
โตมาโกมาอี |
豊平 |
โทโยฮิระ |
tuye-pira |
ตูเยปีรา |
登別 |
โนโบริเบตสึ |
nupur-pet |
นูปูร์เป็ต |
美唄 |
บิไบ |
pipa-i |
ปีปาอี |
美瑛 |
บิเอย์ |
piye |
ปีเย |
平取 |
บิราโตริ |
pira-utur |
ปีราอูตูร์ |
富良野 |
ฟุราโนะ |
hura-nu-i |
ฮูรานูอี |
古平 |
ฟุรุบิระ |
hure-pira |
ฮูเรปีรา |
幌加内 |
โฮโรกาไน |
horka-nay |
โฮร์กาไน |
幕別 |
มากุเบตสึ |
mak-un-pet |
มากุนเป็ต |
室蘭 |
มุโรรัง |
mo-ruran |
โมรูรัน |
藻岩 |
โมอิวะ |
mo-iwa |
โมอีวา |
紋別 |
มมเบตสึ |
mo-pet |
โมเป็ต |
門別 |
留寿都 |
รุซึตสึ |
ru-sut |
รูซุต |
稚内 |
วักกาไน |
wakka-nay |
วักกาไน |