φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ภาษา python เบื้องต้น บทที่ ๑: รู้จักกับภาษาไพธอน
เขียนเมื่อ 2016/03/03 18:56
แก้ไขล่าสุด 2024/02/13 06:26
 

บทความนี้เขียนครั้งแรก 3 มี.ค. 2016 สมัยไพธอน 3.5 แต่ปรับปรุงเรียบเรียงใหม่ 12 ก.พ. 2024 ไพธอน 3.11

ประวัติและความสำคัญของคอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์หลักคือเพื่อไว้เป็นอุปกรณ์ในการคำนวณ

การคำนวณนั้นที่จริงแล้วมนุษย์ก็ทำได้ แต่หากต้องคำนวณตัวเลขจำนวนมากๆคำนวณซ้ำๆไปเรื่อยๆไม่ว่าใครก็คงจะเบื่อและอาจเริ่มมีการคำนวณผิดพลาดขึ้นได้

เช่นสมมุติว่าต้องการหาค่าแฟกทอเรียล กว่าเราจะคูณเสร็จก็คงใช้เวลาหลายนาที แต่คอมพิวเตอร์สามารถทำได้ภายในพริบตา

อะไรก็ตามที่เป็นการคำนวณที่มีรูปแบบตายตัวอย่างเป็นระบบเราสามารถสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำแทนได้ มันสามารถทำได้อย่างไม่รู้จักเบื่อ รวดเร็วแถมไม่มีข้อผิดพลาดด้วย (ยกเว้นคนจะป้อนคำสั่งให้มันผิดเอง)

ที่จริงแล้วแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการคำนวณอย่างเป็นระบบนั้นมีมาตั้งแต่โบราณก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์ใช้กันแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่ชื่อระเบียบวิธีการเชิงตัวเลขมีชื่อนักคณิตศาสตร์สมัยก่อนติดอยู่ เช่นระเบียบวิธีของนิวตัน, ระเบียบวิธีของออยเลอร์ ซึ่งเอาไว้คำนวณแบบวนซ้ำๆเพื่อหาคำตอบของสมการหรือค่าที่ต้องการ

แนวคิดพวกนี้มีมานานแล้วแต่สมัยแรกๆเขาได้แต่คำนวณด้วยตัวเอง คำนวณซ้ำๆไปเรื่อยๆ ถ้าผิดเมื่อไหร่ก็อาจต้องคำนวณใหม่

ต่อมาจึงได้เริ่มมีแนวคิดที่จะใช้เครื่องจักรเพื่อช่วยในการคำนวณ ซึ่งเรียกว่าเครื่องคำนวณเชิงกล เครื่องแรกถูกสร้างโดยแบลซ ปัสกาล (Blaise Pascal) เมื่อปี 1642 ชื่อว่า ปัสกาลีน (pascaline)

เครื่องคำนวณเชิงกลช่วยให้การคำนวณอย่างเป็นระบบสามารถเป็นไปได้ ในยุคแรกใช้เฟืองและแรงคน ต่อมาก็เริ่มมีการนำพลังงานธรรมชาติเช่นพลังไอน้ำเข้าช่วย แล้วก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆอย่างช้าๆ อุปกรณ์ที่ใช้ก็ค่อยๆเปลี่ยนไป และคำนวณได้ดีมากขึ้น

ในที่สุดก็เริ่มมีการนำวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาใช้สร้างเป็นเครื่องคำนวณเป็นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

ในยุคแรกๆคอมพิวเตอร์ใช้หลอดสุญญากาศ เป็นส่วนประกอบ ซึ่งทำให้มีขนาดใหญ่มาก แต่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนมาใช้สารกึ่งตัวนำ ทำให้ขนาดเล็กลง และยิ่งพัฒนาต่อมาก็ยิ่งเล็กลงเรื่อยๆ กลายเป็นคอมพิวเตอร์แบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อคอมพิวเตอร์เริ่มเล็กและมีราคาถูกก็ทำให้คนทั่วไปเริ่มสามารถใช้กันได้ คอมพิวเตอร์จึงไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์คำนวณอีกต่อไป แต่ถูกใช้ในอีกหลายด้าน เช่นเพื่อการบันเทิง นำไปสู่การสร้างเกมต่างๆมากมายให้พวกเราได้เล่นกัน



การเขียนโปรแกรม

เราได้รู้กันไปแล้วว่าคอมพิวเตอร์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคำนวณ แต่ว่าต้องทำยังไงมันถึงจะทำการคำนวณสิ่งที่เราต้องการให้?

การจะให้คอมทำงานนั้นเราต้องป้อนคำสั่งให้เพื่อให้มันทำงาน และชุดของคำสั่งจำนวนมากที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้คอมทำงานเป็นระบบตามที่ ต้องการนั้นเรียกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ดังนั้นการกำหนดติดตั้งคำสั่งที่จะให้คอมพิวเตอร์ทำงานนั้นเป็นระบบตามที่ต้องการจึงเรียกว่าการเขียนโปรแกรม (programming)

แล้วการป้อนคำสั่งนั้นทำได้อย่างไร? ที่จริงแล้วการทำงานของคอมพิวเตอร์นันซับซ้อนมาก และมีตรรกะการทำงานที่ต่างจากมนุษย์ ภาษาที่ใช้สั่งการคอมนั้นเรียกว่าภาษาเครื่อง ซึ่งยากที่มนุษย์จะทำความเข้าใจ ทำให้ในยุคแรกๆผู้ที่จะใช้คอมพิวเตอร์ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างมาก

เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้นจึงมีการสร้างภาษาที่ใกล้เคียงกับที่มนุษย์ใช้ กันมากขึ้นตั้งแต่ปี 1950 กว่าๆ คือภาษาแอสเซมบลี (assembly)

แต่ภาษาแอสเซมบลีก็ยังยากต่อการใช้งานอยู่ จึงมีการคิดค้นภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งถูกเรียกว่าภาษาระดับสูง ภาษาเหล่านี้เวลาที่ทำงานต้องไปแปลงเป็นภาษาเครื่องอีกทีเพื่อให้คอมเข้าใจ จึงทำให้ช้าลงบ้าง แต่ก็สะดวกในการเขียนมากขึ้น เหมาะสำหรับให้คนทั่วไปใช้งานได้โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มากนัก

ภาษาระดับสูงในยุคแรกๆ ได้แก่ ฟอร์แทรน (fortran), ปาสกาล (pascal) และ ซี (c) เป็นต้น และเวลาผ่านไปก็มีคนคิดภาษาระดับสูงใหม่ๆขึ้นมาเรื่อยๆจนปัจจุบันมีอยู่ จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน

ในจำนวนนั้น หนึ่งในภาษาที่ได้รับความนิยมก็คือภาษาไพธอน (python) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่เรากำลังจะมาศึกษากันนี้

ก่อนหน้านี้ภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นภาษาซี อย่างไรก็ตาม มีหลายแห่งที่ได้หันมาสอนภาษาไพธอนแทนกันมากขึ้น

ภาษาไพธอนมีแนวโน้มที่จะเป็นที่นิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นภาษาหนึ่งที่น่าศึกษาไว้


ภาพวิวัฒนาการของภาษาคอมพิวเตอร์



ทำไมถึงเลือกใช้ภาษาไพธอน

ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปว่ามีภาษาโปรแกรมอยู่มากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีข้อดีแตกต่างกันไป เหมาะกับการใช้งานต่างกันออกไป

ภาษาโปรแกรมส่วนใหญ่เป็นภาษาระดับสูง ซึ่งในจำนวนนั้นก็ยังแบ่งย่อยออกได้เป็นหลายระดับ ถ้าระดับสูงมากก็จะยิ่งง่ายต่อการเขียน แต่ก็จะทำงานช้าลง ถ้าสูงไม่มากก็จะเขียนยากกว่า แต่ก็ทำงานได้เร็ว

ภาษาซีและฟอร์แทรนถือเป็นภาษาระดับที่สูงไม่มาก ในขณะที่ภาษาไพธอนเป็นภาษาระดับสูงมาก จึงเขียนง่ายและทำงานช้าเมื่อเทียบกับภาษาซีหรือฟอร์แทรนแล้ว

แม้จะรู้ว่าทำงานช้าแต่เหตุผลที่ยังคงควรจะใช้ ก็คงเป็นเพราะว่ามันใช้งานง่าย เหมาะกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์

คนที่จำเป็นจะต้องเขียนโปรแกรมนั้นไม่ได้มีเพียงนักเขียนโปรแกรมมืออาชีพเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร หรือแม้แต่คนที่ทำงานด้านศิลปะบางคนเองก็มีความจำเป็นต้องเขียนโปรแกรมด้วยเช่นกัน

คนเหล่านั้นอาจไม่มีความจำเป็นจะต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ลึกมาก แค่ต้องการใช้โปรแกรมเพื่อทำงานเท่านั้น เช่นจำลองการเคลื่อนที่ของดาว ออกแบบก่อสร้างตึก ต้องมีการคำนวณตัวแปรต่างๆมากมาย วาดกราฟ และสร้างรูปภาพ สร้างแบบจำลองสามมิติ ฯลฯ

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้งานง่ายไว้ก่อน จริงอยู่ว่าภาษาระดับสูงมากอย่างไพธอนทำงานช้า แต่ด้วยความเรียบง่ายจะทำให้เราประหยัดทั้งเวลาในการเรียนรู้ และเวลาในการคิดและพัฒนาโปรแกรม

อีกทั้งหากว่าจำเป็นต้องการโปรแกรม ที่ทำงานเร็วจริงๆจะค่อยไปฝึกภาษาซีหรือฟอร์แทรนทีหลังก็ได้ เริ่มฝึกจากภาษาไพธอนก่อนแล้วจึงต่อยอดไปยังภาษาที่ยากขึ้นทีหลังก็ทำได้ไม่ยาก

หรือเราอาจสามารถแม้กระทั่งใช้ข้อดีของภาษาทั้งสองชนิดนี้ร่วมกันเสริมจุดแข็งจุดอ่อน เช่นโดยการเขียนโค้ดส่วนที่เป็นการคำนวณหนักๆด้วยภาษาซีหรือฟอร์แทรน แล้วใช้ไพธอนเขียนส่วนควบคุมที่นำเข้าโปรแกรมคำนวณจากภาษาซีหรือฟอร์แทรนมาใช้ แบบนี้ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ



จุดเด่นของภาษาไพธอน

- เป็นภาษาที่มีรูปแบบการเขียนที่เข้าใจง่าย เป็นระเบียบ
- มีคำสั่งต่างๆที่อำนวยความสะดวกอยู่ในตัว ช่วยให้การเขียนสั้นลง
- สร้างตัวแปรได้ง่าย ไม่ต้องประกาศชนิดของตัวแปร
- สามารถใช้งานได้ในหลายแพล็ตฟอร์ม
- มีชุดคำสั่งเสริม (หรือเรียกกันว่าไลบรารี (library) หรือ มอดูล (module)) ที่คนเขียนเอาไว้ค่อนข้างเยอะ สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างกว้างไกลขึ้นอีกมาก
- เป็นภาษาที่ถูกนำไปใช้กับซอฟต์แวร์ต่างๆหลากหลาย เช่น Maya, Houdini, Metasequoia
- ฯลฯ


ภาพงูหลามต้นไม้สีเขียว (ที่มา)



ที่มาของชื่อ "ไพธอน"

คำว่าไพธอน (python) เป็นชื่องูสกุลหนึ่ง ซึ่งในภาษาไทยเรียกว่า "งูเหลือม" หรือ "งูหลาม" เป็นงูไม่มีพิษ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าสกุล Pythonidae

รากศัพท์เดิมมาจากภาษากรีกคำว่า πύθων อ่านแบบกรีกโบราณว่า "ปือทอน" /py̌ː.tʰɔːn/ อ่านแบบกรีกสมัยใหม่ว่า "ปีโธน" /ˈpi.θon/ แต่พอมาใช้ในภาษาอังกฤษก็แผลงไปเป็น "ไพธอน" /ˈpaɪθɔn/

"ปือทอน" เป็นชื่อของงูยักษ์รูปร่างคล้ายมังกร ซึ่งปรากฏตัวในเทพปกรณัมกรีก แต่ตอนหลังจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรียกงูที่มีอยู่จริง

อนึ่ง อักษร "ธ" ในการเขียนทับศัพท์คำว่า "ไพธอน" ในที่นี้ไม่ได้แทนเสียง "ท" แต่แทนเสียง th ในภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่เหมือน th ในภาษาไทย แต่เป็นเสียงที่ไม่มีอยู่ในภาษาไทย เสียงนี้จริงๆแล้วใกล้เคียง "ซ" มากกว่า "ท" เสียอีก อย่างไรก็ตาม ถ้าทับศัพท์ตามเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานจะเขียนเป็น "ไพทอน" แต่ในที่นี้จะขอเขียนเป็น "ไพธอน" ทั้งหมด

ในภาษากรีกนั้นในคำว่า πύθων ใช้อักษร θ "เธตา" (ซึ่งคนไทยชอบเรียกเป็น "เซต้า") อย่างไรก็ตามกรีกโบราณไม่มีเสียงนี้ แต่ออกเสียง θ เป็นเสียงเหมือน "ท" ในภาษาไทยเลย

เกี่ยวกับภาษากรีกถ้าใครสนใจรายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ >> ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่


ตราสัญลักษณ์ของภาษาไพธอนใช้เป็นรูปงูสองตัวพันกัน ตัวหนึ่งสีเหลือง อีกตัวหนึ่งสีน้ำเงิน



ประวัติของภาษาไพธอน

ผู้ที่คิดค้นภาษาไพธอนขึ้นมาคือคีโด ฟาน รอสซึม (Guido van Rossum, [ˈɣido vɑn ˈrɔsʏm]) [1956 –] ชาวฮอลันดา

แม้ว่าไพธอนจะหมายถึงงู แต่เดิมทีผู้คิดค้นนั้นได้ชื่อนี้มาจากชื่อของซีรีส์รายการตลกเรื่อง Monty Python's Flying Circus ของสหราชอาณาจักร ซึ่งฉายตั้งแต่ปี 1969 ถึง 1974

เขาได้ทำงานอยู่กับสถาบันวิจัยคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติฮอลันดา เดิมทีร่วมพัฒนาภาษา abc ซึ่งถูกคิดขึ้นและใช้มาก่อนหน้า แต่ว่าตอนหลังเปลี่ยนมาพัฒนาภาษาขึ้นใหม่เป็นของตัวเอง ดังนั้นภาษาไพธอนจึงได้รับอิทธิพลจากภาษา abc มามาก

ภาษาไพธอนเริ่มกำเนิดขึ้นในปี 1989 จากนั้นในปี 1991 ก็ถูกปล่อยออกมาเป็นโอเพนซอร์สเป็นครั้งแรก


คีโด ฟาน รอสซึม ผู้ให้กำเนิดภาษาไพธอน



เวอร์ชันของไพธอน

หลังจากที่เริ่มถูกปล่อยออกมาให้ใช้ ภาษาไพธอนก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ มีการปรับปรุงเวอร์ชันใหม่อยู่บ่อยๆ ปัจจุบันออกมาถึงเวอร์ชัน 3 กว่าๆ

อย่างไรก็ตามเวอร์ชัน 2 กว่าๆเคยเป็นที่นิยมมาก่อน แม้หลังจากที่ไพธอน 3 ถูกปล่อยออกมาสักระยะนึงแล้วก็ตาม

ไพธอน 2 นั้นเริ่มถูกปล่อยออกมาในปี 2000 ส่วนไพธอน 3 เริ่มถูกปล่อยออกมาในปี 2008

เวอร์ชัน 3 มีการปรับปรุงอะไรต่างๆให้ดีขึ้นจาก 2 ไปพอสมควร แต่เนื่องจากสูญเสียความเข้ากันได้กับเวอร์ชัน 2 หมายความว่าคนที่เคยเขียนไพธอน 2 มาพอจะเปลี่ยนมาไพธอน 3 จำเป็นจะต้องแก้ไขโค้ด ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถอ่านได้ หรือแสดงผลผิดพลาด

นั่นทำให้ในช่วงแรกมีผู้ที่ใช้ไพธอน 2 มานานและไม่อยากจะเปลี่ยนอีกเป็นจำนวนมาก และภายหลังจากที่มีการออกเวอร์ชัน 3 ไปแล้ว เวอร์ชัน 2 ก็ยังคงมีการปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่องมา โดยมีเวอร์ชัน 2.7 ออกมาในปี 2010 โดยนำเอาความสามารถบางส่วนจากไพธอน 3 มาใช้ และถูกวางให้เป็นรุ่นสุดท้ายที่ขึ้นต้นด้วย 2.

ไพธอน 2.7 ยังคงได้รับการสนับสนุนอยู่จนถึงปี 2020 ปัจจุบันการใช้ไพธอน 2.7 จึงลดลงไปอย่างมาก ผู้ใช้หน้าใหม่ตอนนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างไพธอน 3.x กับ 2.7 ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นของไพธอนรุ่นเก่าก็ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่นเวลาอ่านโค้ดที่ถูกเขียนมานานแล้ว

ในบทความนี้จะอธิบายถึงไพธอน 3 เท่านั้น จะไม่พูดถึงไพธอน 2 ถ้าไม่จำเป็น แต่เพื่อให้คนที่อาจยังต้องใช้ไพธอน 2 สามารถอ่านแล้วอ้างอิงตามได้ด้วย จึงได้เขียนสรุปเรื่องความแตกต่างตรงนี้แยกเอาไว้
สามารถอ่านได้ที่ >> ความแตกต่างระหว่าง python 2.x และ 3.x


สาวน้อยไพธอน (ที่มา)



การใช้งานภาษาไพธอน

ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตาม การที่จะทำงานได้นั้นต้องประกอบไปด้วยโปรแกรมที่ใช้ในการอ่านตีความหมายของ สิ่งที่เราเขียนลงไปให้กลายเป็นภาษาเครื่องเพื่อให้มันทำงานตามที่เราต้องการ

หากให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับการแปลงภาษามนุษย์นั่นเอง สมมุติว่ามีนายทุนคนหนึ่งไปเปิดโรงงานในต่างประเทศ โรงงานจะทำงานได้ต้องใช้คนงาน แต่พวกคนงานที่นั่นเขาไม่รู้ภาษาไทย และนายทุนก็ไม่รู้ภาษาท้องถิ่นที่นั่น นายทุนจะสั่งงานพวกคนงานให้ทำงานอย่างที่ตัวเองต้องการก็ต้องทำผ่านล่ามให้ ช่วยแปลเป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อจะได้สั่งคนงานได้

ในกรณีนี้ภาษาไพธอนก็เทียบได้กับภาษาไทย คือเป็นภาษาง่ายๆที่เราเข้าใจดีอยู่แล้ว แต่ว่าไม่สามารถนำไปสั่งงานได้โดยตรง ส่วนภาษาท้องถิ่นก็เทียบได้กับภาษาเครื่อง คือเป็นภาษาที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงแต่เราไม่เข้าใจ โดยคนงานก็เทียบได้กับคอมพิวเตอร์ นายทุนเปรียบได้กับผู้เขียนโปรแกรม ส่วนล่ามก็เปรียบได้กับตัวแปรภาษา

ในคอมพิวเตอร์ ตัวที่ทำหน้าที่ตีความภาษาจะเรียกว่าคอมไพเลอร์ (compiler)

นอกจากคอมไพเลอร์แล้ว ส่วนประกอบที่สำคัญอีกอย่างรองลงมาก็คือส่วนที่เอาไว้ใช้สำหรับเขียนข้อความลงไป ซึ่งเรียกว่าอีดิเตอร์ (editor)

เหมือนกับเราเขียนข้อความในกระดาษบอกล่ามไปทีเดียวเลยว่าต้องการให้ทำอะไรบ้าง แล้วล่ามก็เอาไปบอกคนงานทีเดียว ไม่ต้องคอยสั่งทีละประโยค

อีดิเตอร์กับคอมไพเลอร์อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในโปรแกรมเดียวกัน เราอาจเขียนโค้ดผ่านโปรแกรมง่ายๆเช่น notepad จากนั้นค่อยนำไปรันก็ได้ ดังนั้น ดังนั้นอีดิเตอร์จึงไม่มีความสำคัญเท่าคอมไพเลอร์

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมที่ใช้ทำงานกับภาษาไพธอนนั้นมักจะประกอบไปด้วยอีดิเตอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้การเขียนง่ายขึ้น เช่นมีการใส่สีให้ข้อความส่วนที่สำคัญ และมีตัวตรวจไวยากรณ์ทำให้มีการฟ้องเวลาเจอข้อผิดพลาดทางวากยสัมพันธ์ (syntax error) ในขณะที่หากเขียนใน notepad จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผิดตรงไหน นอกจากนี้ยังมีตัวตรวจบั๊ก (debugger) ซึ่งมีไว้ค้นหาข้อผิดพลาดในการทำงานของโปรแกรม

นอกจากการเขียนโปรแกรมและให้คอมไพเลอร์อ่านแล้ว ในบางภาษาซึ่งรวมถึงภาษาไพธอนด้วยนั้นยังมีอีกวิธีหนึ่งในการใช้งาน นั่นคือการสั่งให้ทำงานแบบคำต่อคำ

ซึ่งก็เทียบได้กับการที่นายทุน สั่งล่ามแล้วล่ามก็ไปสั่งคนงานทันทีโดยตรง แล้วคนงานก็เริ่มทำงาน พอทำเสร็จนายทุนก็สั่งงานต่อไปอีกทันที

ส่วนที่ใช้สั่งงานโปรแกรมแบบคำต่อคำนั้นเรียกว่า เชลโต้ตอบ (interactive shell) และในกรณีนี้ตัวประมวลผลจะถูกเรียกว่าอินเทอร์พรีเตอร์ (interpreter)

ข้อดีคือเห็นผลทันทีอย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องเซฟแล้วค่อยสั่งรัน แต่ข้อเสียคือใส่คำสั่งได้ทีละนิดและต้องสั่งไปเรื่อยๆ ไม่สามารถสั่งงานทิ้งไว้แล้วให้ทำงานยาวๆได้

สรุปโดยรวม สิ่งที่ต้องมีเพื่อจะทำงานกับภาษาไพธอนก็คือ
  • คอมไพเลอร์: ไว้ตีความโค้ดที่เราเขียนเพื่อสั่งให้คอมทำงาน
  • อีดิเตอร์: เอาไว้เขียนโค้ดยาวๆเพื่อให้คอมไพเลอร์อ่านแล้วสั่งคอมอีกที
  • เชลโต้ตอบ: เอาไว้ป้อนโค้ดเพื่อสั่งการคอมทันที



ควรจะเริ่มต้นยังไงดี

ก่อนอื่นต้องตั้งเป้าว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร

ถ้าเรียนรู้แล้วไปได้ไกลจริงๆก็สามารถเขียนโปรแกรมอะไรต่างๆได้แทบทุกอย่าง เช่นสร้างโปรแกรมออกมาใช้เองหรือแจกคนอื่น หรือจะสร้างเกมก็สร้างได้ และถ้าทำได้ดีอาจทำขายได้ แล้วก็ดัง...!

อาจดูเพ้อฝันไปสักหน่อย แต่มองเป้าหมายไกลๆไว้ก่อนก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพียงแต่ต้องรู้ว่ากว่าจะถึงตอนนั้นต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง ไม่ว่าอะไรก็ตามต้องเริ่มต้นจากศูนย์กันหมด หากมีพื้นฐานมาแล้วก็ไปได้เร็วขึ้น

ในตอนเริ่มต้นของบทเรียนนี้สิ่งที่จะทำได้ก็มีแต่อะไรง่ายๆก่อน เช่นเขียนโปรแกรมคำนวณง่ายๆ

ช่วงแรกๆเราคงยังไม่สามารถทำอะไรที่ตื่นเต้นมากมายออกมาได้ แต่หากคิดเป้าหมายไว้ว่าสุดท้ายเรียนไปเรื่อยๆแล้วในที่สุดก็จะสามารถทำอะไร ใหญ่ๆอย่างเช่นสร้างเกมออกมาได้ แบบนั้นก็จะมีกำลังใจขึ้นมาแล้วก็มุ่งมั่นเรียนต่อไปเรื่อยๆ

โอกาส ที่วิเศษนั้นอาจซ่อนแฝงอยู่ภายในปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนกับว่าไม่มีอะไร แต่มันจะปรากฏให้เห็นได้เฉพาะคนที่มีเป้าหมายในใจอย่างแรงกล้าเท่านั้น
(何でもない現象の中に、素晴らしいチャンスが潜んでいます。しかし、それは、強烈な目的意識を持った人にしか映らないものなのです。)

คำพูดโดย อินาโมริ คาซึโอะ (稲盛 和夫) นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น
(ที่มา)

ขอจบการเกริ่นนำเกี่ยวกับภาษาไพธอนเพียงเท่านี้ ในบทต่อไปจะเริ่มพูดถึงการติดตั้งโปรแกรมและเริ่มลงมือกันเลย

อ้างอิง




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文