φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



แนะนำประสบการณ์สมัครทุนรัฐบาลจีน
เขียนเมื่อ 2011/11/24 00:46
แก้ไขล่าสุด 2023/02/25 22:35
 ช่วงนี้ทุนรัฐบาลจีนของหลายๆมหาวิทยาลัยก็ได้เริ่มประกาศรับสมัครออกมาแล้ว ได้เวลาสำหรับผู้ที่สนใจเรียนต่อในประเทศจีนจะได้มาเริ่มเตรียมตัว

เนื่องจากของปีที่แล้วเราเองก็สมัครทุนนี้และสุดท้ายก็ได้มาก็เลยอยากมาแบ่งประสบการณ์ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อใครๆที่ตั้งใจจะสมัครปีนี้ หรือคนที่ยังไม่รู้จักทุนนี้และเปิดเข้ามาอ่านเจอพอดีก็อาจจะสนใจลองสมัครขึ้นมา

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับทุนนี้ถ้าไปอ่านตามเว็บหลักจะเข้าใจได้ยากอยู่ดี ต้องพยายามรวบรวมข้อมูลจากหลายๆที่จึงจะพอเข้าใจ ดังนั้นจึงรู้สึกว่าการที่มีใครสักคนเขียนสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นพอสมควร แต่อ่านจากแหล่งเดียวหรือคนเดียวนั้นก็อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นหลังจากที่อ่านหน้านี้เสร็จแล้วก็ยังแนะนำให้ไปหาข้อมูลจากที่อื่นต่อด้วย เพราะคงไม่อาจเขียนให้ครอบคลุมทุกสิ่งที่จำเป็นได้ แต่จะพยายามใส่ข้อมูลและประสบการณ์เท่าที่รู้

ตอนที่สมัคร ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้จากการอ่านตามเว็บบอร์ด ถามรุ่นพี่ที่เคยได้มาก่อน โดยเฉพาะที่มีส่วนช่วยอย่างมากก็คือได้อ่านบทความที่คุณ tomimoto เขียนเล่าประสบการณ์ของตัวเองในปี 2009 เอาไว้ยาวเหยียด จนรู้สึกได้ว่าที่ตัวเองได้ทุนมานี่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขา

เนื่องจากมันเก่ามากแล้ว ไฟล์บทความในที่ที่เคยโหลดมาตอนนี้ได้หายไปแล้ว โชคดีที่เรามีโหลดมาเก็บเอาไว้ จึงขออัปใหม่เองเลย แนะนำอย่างยิ่งว่าใครที่จะสมัครทุนรัฐบาลจีนต้องอ่านบทความของเขา

link>> http://www.mediafire.com/?abbnksiyh31wss2



รายละเอียดคร่าวๆของทุน

ก่อนอื่นคงต้องแนะนำให้ข้อมูลให้เข้าใจง่ายๆก่อนว่าทุนนี้เป็นทุนสำหรับอะไร มีเงื่อนไขยังไง

- ทุนนี้เป็นทุนยังไง?

ทุนรัฐบาลจีนเป็นทุนที่รัฐบาลจีนมอบให้กับนักศึกษาต่างชาติไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆในจีน โดยจะมีการแจกอยู่เป็นประจำทุกปี ปีละจำนวนมาก รายละเอียดดูได้ที่เว็บหลัก http://en.csc.edu.cn/

- ทุนแบ่งเป็นกี่ประเภทมีอะไรบ้าง?
มีหลากหลายมากทั้งทุนไปเรียนปริญญาและไปเรียนภาษา ส่วนถ้าแบ่งตามวิธีสมัครก็มีอยู่สองประเภทก็คือทุนที่สมัครกับมหาวิทยาลัยโดยตรง กับสมัครกับรัฐบาลจีนโดยตรงผ่านทางโครงการต่างๆ เช่น AUN เป็นต้น

สำหรับที่จะแนะนำในนี้จะพูดถึงแต่เฉพาะทุนสำหรับไปเรียนปริญญาโทและเอกเป็นหลัก ทุนประเภทอื่นนั้นเรามีข้อมูลน้อย และต่อให้เล่าไปมันก็ไม่ใช่ประสบการณ์ตรงอาจให้ข้อมูลได้ไม่ดีเท่าคนที่มีประสบการณ์สมัครทุนนั้นโดยตรง

สำหรับการสมัครทุนไปเรียนปริญญาโทหรือเอก สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครแบบไหนระหว่างสมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรงกับสมัครกับรัฐบาลจีนโดยตรงผ่านทางโครงการต่างๆ แต่ไม่สามารถสมัครทั้งสองทางพร้อมกันได้เพราะมีกฎห้ามไว้ ถ้าทำอาจโดนตัดสิทธิ์ทันที

เท่าที่รู้ คนส่วนใหญ่ที่ได้นี่ก็คือจะสมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรงมากกว่า เพราะมีจำนวนรับเยอะกว่า และมีความแน่นอนมากกว่าเพราะยื่นมหาวิทยาลัยโดยตรง

ข้อมูลข้างล่างจากตรงนี้ไปจะพูดถึงเฉพาะทุนที่สมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรง

- การคัดเลือกทำยังไง?
แต่ละมหาวิทยาลัยอาจไม่ค่อยเหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือทุกแห่งจะคัดเลือกโดยดูเอกสารเป็นหลัก ซึ่งเราต้องส่งไปทางไปรษณีย์ สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมกันนั้นก็ต่างกันออกไปตามแต่มหาวิทยาลัยด้วย อย่างไรก็ตามเอกสารโดยหลักๆจะเหมือนกัน

บางแห่งต้องมีติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาก่อนถึงจะสมัครได้ ในขณะที่บางแห่งไม่ต้อง บางแห่งต้องจ่ายค่าสมัครด้วย ในขณะที่บางแห่งฟรีไม่คิดตัง ม. ที่เก็บตังค่าสมัครแพงที่สุดเท่าที่รู้ก็คือ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (复旦大学, Fudan University) ที่เซี่ยงไฮ้ ต้องเสียค่าสมัคร ๘๐๐ หยวน แพงมาก

นอกจากนี้บางมหาวิทยาลัยมีการสอบสัมภาษณ์ด้วย แต่ส่วนใหญ่จะไม่มี แค่ส่งเอกสารไปก็จบเลย ส่วนการสอบข้อเขียนเท่าที่รู้ยังไม่เห็นมีมหาวิทยาลัยแห่งไหนที่ต้องสอบ

ทั้งหมดนี้ต้องดูประกาศในเว็บเอาถึงจะรู้ว่าแต่ละแห่งต้องการอะไรบ้าง

สรุปแล้วสิ่งที่ต้องทำโดยหลักๆก็คือตั้งใจเตรียมเอกสารให้ดีที่สุด ส่วนเอกสารต้องเตรียมอะไรบ้างนั้นจะเขียนเอาไว้ข้างล่าง

- หลักสูตรที่สมัครได้มีอะไรบ้าง?
มีให้เลือกได้หลากหลายมากเลย ส่วนใหญ่เกือบทุกคณะที่มีอยู่ก็เปิดให้ชาวต่างชาติเรียนได้ รวมทั้งยังมีหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษด้วย แต่ก็ไม่มาก ยกเว้นบางมหาวิทยาลัยที่เน้นหลักสูตรอินเตอร์

- ต้องรู้ภาษาจีนหรือเปล่า?
ยกเว้นคนที่จะไปเรียนสายภาษา นอกนั้นไม่ต้องมีพื้นฐานภาษาจีนแม้แต่นิดเดียวก็สามารถสมัครได้  แม้ว่าจะสมัครไปเรียนหลักสูตรธรรมดาที่สอนเป็นภาษาจีน เพราะเขาจะมีให้ทุนเรียนภาษาจีนก่อนหนึ่งปีถึงจะเข้าเรียนจริงๆ สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานหรือพื้นฐานไม่พอ

อย่างไรก็ตามมีพื้นฐานไว้สักหน่อยน่าจะได้เปรียบกว่า เพราะเรียนแค่หนึ่งปีอาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เข้าไปนั่งเรียนฟังได้อย่างเข้าใจ แค่พอใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสบายเท่านั้นเอง

อีกอย่างคือถ้าใครมีใบผลสอบวัดระดับภาษาจีนแล้วยื่นไปพร้อมเอกสารด้วย โอกาสได้ทุนก็ย่อมจะเพิ่มขึ้น เพียงแต่ไม่รู้ว่ามีส่วนแค่ไหน เพราะคนที่ได้ทุนโดยไม่มีพื้นฐานภาษาจีนเลยก็มีเยอะ มันมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นอาจไม่สำคัญมาก

ส่วนคนที่เรียนหลักสูตรอินเตอร์จะสามารถเรียนได้ทันทีเลย ไม่มีให้เรียนภาษาจีนก่อน เพราะยังไงก็ไม่ได้ใช้ตอนเรียนอยู่แล้ว แต่จะลำบากตอนใช้ชีวิตประจำวันมากพอสมควร ดังนั้นก็ต้องพยายามฝึกภาษาจีนให้ได้จนได้อยู่ดี

- มหาวิทยาลัยอะไรบ้างที่มีทุนให้ และจำนวนทุนมีมากแค่ไหน?
ต้องเข้าไปดูในเว็บของแต่ละมหาวิทยาลัยเองถึงจะรู้ว่ามีทุนให้หรือเปล่า แต่โดยทั่วไปก็แทบจะทุกแห่งที่ดังๆในจีนจะมีหมด บางที่ก็อาจจะมีแต่ไม่ได้ประกาสในเว็บต้องเมลไปถามเองก็มี

จำนวนทุนที่ให้ของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ไม่เท่ากัน บางที่ให้แค่ ๕ คน บางทีให้มากกว่า ๓๐ คน อย่างไรก็ตาม จำนวนที่ว่านี้คือแข่งกันทั้งโลก ไม่ใช่นับแค่เฉพาะคนไทยหรือประเทศในภูมิภาค


บางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้บอกจำนวนที่รับในเว็บ ต้องดูจากผลประกาศของปีที่แล้วเอา หรือเมลไปถามเอง

สำหรับมหาวิทยาลัยในจีนที่ว่านี้ไม่นับที่อยู่ในไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สำหรับของไต้หวันนั้นก็มีทุนรัฐบาลไต้หวัน http://www.taiwanembassy.org/th/ct.asp?xItem=219690&ctNode=1796&mp=232

สำหรับการค้นมหาวิทยาลัยให้ดูได้ในวิกิพีเดีย เข้าไปไล่ดูรายละเอียดทีละมหาวิทยาลัยเลยว่าแห่งไหนมีสาขาวิชาที่เราต้องการหรือเปล่า สำหรับหน้านี้เป็นการจัดอันดับ  http://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_university_ranking


- สมัครพร้อมกันมากกว่าหนึ่งมหาวิทยาลัยได้มั้ย?
เท่าที่รู้คือสมัครหลายที่พร้อมกันได้ หลายคนที่รู้จักเขาก็สมัครกันทีเดียวหลายมหาวิทยาลัย เพียงแต่ว่าเราจะติดได้แค่ที่เดียวเท่านั้น ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะติดที่ไหน ไม่มีการเลือกอันดับว่าอยากเข้าอันไหนมากที่สุด ทางคณะกรรมการทุนจะเป็นคนเลือกให้เราตามความเหมาะสม ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเขาตัดสินยังไงเหมือนกัน

การสมัครไปหลายที่เผื่อไว้จะทำให้เพิ่มโอกาสได้ก็จริง แต่ก็อาจทำให้ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่อยากเข้า ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักดูให้ดี ถ้าจะสมัครหลายที่ต้องแน่ใจว่าแต่ละที่อยากเข้าทั้งหมดจริงๆ ไม่ว่าได้ที่ไหนก็ไม่เสียดาย

- ทุนได้เท่าไหร่ ครอบคลุมอะไรบ้าง และต้องตอบแทนคืนหรือเปล่า?
ทุนนี้เป็นทุนฟรี ไม่มีข้อผูกมัดว่าต้องใช้ทุนคืน

สำหรับทุนที่จะได้รับก็คือจะได้ฟรีค่าเล่าเรียนและค่าที่พัก และยังได้เงินค่าใช้จ่ายรายเดือนมาใช้ด้วย โดยระดับปริญญาโทได้เดือน ๑๗๐๐ หยวน ปริญญาเอก ๒๐๐๐

แต่ว่าสำหรับบางมหาวิทยาลัยหอพักที่เตีรยมไว้ให้สำหรับเด็กทุนอาจจะไม่ดีนัก เช่นไม่มีห้องน้ำส่วนตัว กรณีนี้อาจขอเปลี่ยนได้โดยอาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย

ค่าเดินทางเพื่อมายังจีนทั้งหมดต้องออกเอง เขาจะออกให้แต่ค่ารถสำหรับเดินทางจากเมืองที่มีสนามบินไปยังเมืองที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่

นอกจากนี้เมื่อเดินทางมาถึงก็จะได้เงินก้อนแรกทันที (ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงินที่จะได้รับในแต่ละเดือน) ซึ่งได้ ๑๕๐๐ หยวน สำหรับคนที่มาเรียนมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป ส่วนคนที่มาเรียนแค่ปีเดียวก็ได้ ๑๐๐๐ หยวน

นอกจากนี้ยังมีออกค่าประกันสุขภาพให้ฟรีด้วย แต่ค่าทำวีซ่าไม่ฟรีและก็ยังแพงด้วย

โดยรวมแล้วถือว่าได้เยอะทีเดียว แม้ว่าอาจจะไม่เท่าทุนประเทศอื่นเพราะค่าครองชีพในจีนมันต่ำติดดิน เงินที่ได้มาเท่านี้เพียงพอเหลือเฟือ (ถ้าไม่เอาแต่เที่ยวหรือช็อปจนหมดตัวนะ)

- ช่วงที่เปิดรับสมัครคือช่วงไหน และประกาศผลเมื่อไหร่?
แล้วแต่มหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วงเวลาต่างกันออกไปมาก มหาวิทยาลัยที่เปิดเร็วอาจเปิดตั้งแต่ตุลาคม และปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่บางแห่งที่ช้าก็อาจปิดรับสมัครประมาณเมษายนก็มี แนวโน้มโดยทั่วไปคือ ม. ยิ่งดังยิ่งเปิดรับเร็วและปิดเร็ว เท่าที่รู้มา ม. ที่เปิดและปิดรับสมัครเร็วที่สุดคือ มหาวิทยาลัยหนานจิง (南京大学, Nanjing University) ปิดวันที่ ๑๕ ธันวาคม ดังนั้นใครจะสมัครต้องรีบเต็มที่

ที่สำคัญ วันหมดเขตนับตามวันที่เอกสารส่งไปถึงมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัคร ไม่ใช่วันที่ประทับตราไปรษณีย์

ส่วนวันประกาศผล โดยทั่วไปก็จะอยู่ที่ราวๆต้นเดือนมิถุนายน

- หากสมัครแล้วไม่ได้ จะมีทุนอื่นรองรับหรือเปล่า หรือถ้ายังอยากเรียนด้วยทุนตัวเองจะได้หรือเปล่า?
อันนี้ก็แล้วแต่แต่ละมหาวิทยาลัย เท่าที่รู้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เวลาสมัครทุนนี้ก็คือเป็นการสมัครเข้าศึกษาไปในตัวด้วยพร้อมกัน นั่นคือต่อให้ไม่ได้ทุนก็ยังอาจจะได้เข้าศึกษาเป็นนักเรียนที่เรียนด้วยทุนส่วนตัวก็ได้

หรือไม่ บางมหาวิทยาลัยก็จะมีทุนอื่นให้สมัครไปพร้อมๆกัน เช่นทุนรัฐบาลท้องถิ่น และทุนของมหาวิทยาลัยเอง สามารถยื่นสมัครสองทุนไปพร้อมๆกันได้ เพียงแต่ทุนเหล่านี้ให้เงินน้อยมาก บางทีก็เป็นทุนไม่เต็มส่วน บางทีก็ให้แต่ค่าเล่าเรียนแล้วต้องจ่ายค่าที่พักกับค่ากินอยู่เอาเอง ไม่อาจเทียบกับทุนรัฐบาลจีนได้เลย

มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจยื่นขอเสนอมอบทุนที่ว่านี่มาให้เองเมื่อเราไม่ผ่านการคัดเลือกของทุนรัฐบาลจีน เราไม่ต้องส่งเอกสารสมัครเพิ่มให้เหนื่อย


เอกสารที่ต้องเตรียม

ในส่วนของเอกสารนี้ เนื่องจากของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่ค่อยจะเหมือนกัน ดังนั้นที่เขียนไปนี้จะเขียนให้ครอบคลุมทั้งหมดไว้ก่อน แต่บางมหาวิทยาลัยอาจต้องการอะไรที่มากกว่านี้ หรือบางมหาวิทยาลัยอาจต้องการแค่ไม่กี่อย่างจากในนี้ก็ได้


1. แบบฟอร์มสมัครทุนรัฐบาลจีน
ต้องเข้าเว็บ http://laihua.csc.edu.cn ไปสมัครและกรอกข้อมุลให้เรียบร้อยแล้วปรินต์ออกมา

2. แบบฟอร์มสมัครมหาวิทยาลัย
ในเว็บของแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีระบบให้เข้าไปลงทะเบียนออนไลน์ พอกรอกข้อมูลเสร็จก็ปรินต์ออกมา

3. ใบรับรองผลการศึกษาฉบับภาษาอังกฤษ (พร้อมสำเนาตามจำนวนที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด)
ขอที่ฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัย

4. ปริญญาบัตรฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ (พร้อมสำเนาตามจำนวนที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด)
ปกติใบปริญญาบัตรที่เรารับในพิธีจะเป็นภาษาไทยอยู่แล้ว และมีเพียงใบเดียว แต่สำหรับฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเราสามารถไปขอจากฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัยกี่ใบก็ได้ (ของจุฬาฯจ่าย ๒๐๐ บาท รอรับใน ๓ วันทำการ)

สำหรับคนที่ยังไม่จบ แต่กำลังจะจบก็ไม่จำเป็นต้องเตรียม เพราะว่ายังไม่มี

5. ใบรับรองว่าจบการศึกษาฉบับภาษาอังกฤษ (พร้อมสำเนาตามจำนวนที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด)
ขอที่ฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัย อันนี้บางมหาวิทยาลัยก็ไม่จำเป็น เพราะยังไงก็ต้องส่งใบปริญญาบัตรอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะใช้ได้กว้างกว่า แต่บางมหาวิทยาลัยก็ต้องการทั้งสองอย่างเลย

6. study plan หรือ personal statement
เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในจำนวนเอกสารทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นส่วนที่เราจะต้องใช้ความสามารถอย่างแท้จริงเพื่อเขียนขึ้นมา

study plan หรือ personal statement นี้แม้จะเรียกชื่อต่างกันแต่สิ่งที่เขียนนั้นไม่ได้ต่างกันนัก คือเป็นการเขียนข้อมูลเกี่ยวว่าเรามีประวัติการศึกษายังไง สนใจอะไร ตั้งใจจะเรียนอะไร ทำไมถึงอยากเรียนสาขานี้ มีแผนในอนาคตยังไง จบแล้วจะไปทำอะไร เขียนสรุปในพื้นที่ความยาวประมาณไม่เกินสองหน้ากระดาษ A4 ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะกำหนดไว้ว่าต้องเขียนยาวแค่ไหน

การเขียนนั้นต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่ก็ภาษาจีน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องยากทีเดียวยิ่งถ้าไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน หลายคนจะขี้เกียจสมัครทุนก็เพราะว่าต้องเขียนไอ้นี่ขึ้นนี่ล่ะ แต่ไม่ว่าจะขอทุนไหนส่วนใหญ่ก็ต้องเขียนทั้งนั้น ครั้งนี้หากเขียนขึ้นแล้วยังสามารถนำไปใช้ตอนทุนอื่นๆ เช่นทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือแม้แต่การสมัครมหาวิทยาลัยธรรมดาไม่ใช่การขอทุนก็ยังต้องเขียน ซึ่งอาจเขียนคล้ายๆกันแค่เปลี่ยนแปลงในรายละเอียด

สำหรับวิธีการเขียนนั้นเราอาจแนะนำไม่ได้มาก เพราะต่างกันออกไปตามสาขาวิชาที่แต่ละคนต้องการสมัคร ที่พอแนะนำได้อย่างหนึ่งคือ เราต้องแน่ใจว่าเรามีความสนใจด้านไหน อยากทำงานวิจัยอะไร แล้วก็เขียนไปตามนั้น พยายามเขียนให้ดูดีที่สุดแต่ข้อมูลทั้งหมดต้องเป็นความจริงเท่านั้นห้ามโกหก

เรื่องคำแนะนำในการเขียนนั้นสามารถหาอ่านได้จากหลายแห่งในอินเทอร์เน็ต สามารถลองค้นหาดูได้ ส่วนหนึ่งที่แนะนำคือให้ไปอ่านบทความของคุณ tomimoto ซึ่งเขียนเอาไว้ละเอียดมากทีเดียว

7. ใบ recommendation จากอาจารย์ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไปจากมหาวิทยาลัยที่เราจบมา
สำหรับการได้สิ่งนี้มาต้องไปหาอาจารย์ที่เรารู้จักให้ช่วยเขียนให้ บอกอาจารย์ว่าให้ช่วยเขียน recommendation อาจารย์ส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วว่าควรจะเขียนยังไง ใบนี้จะเป็นตัวบอกว่าเรามีคุณสมบัติยังไงโดยดูผ่านมุมมองของอาจารย์ ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้เราเพื่อเขาจะได้รับพิจารณาว่าเราควรจะได้ทุนหรือเปล่า

แน่นอนว่าควรให้อาจารย์ที่รู้แง่ดีของเราเยอะๆเป็นคนเขียน เพราะเขาจะเขียนแนะนำถึงตัวเราได้ง่าย ถ้าให้อาจารย์ที่ไม่ค่อยประทับใจเราเป็นคนเขียนให้เขาอาจเขียนให้ไม่ดี ซึ่งเราก็ไม่มีสิทธิ์อ่านสิ่งที่อาจารย์เขียนด้วย ตามธรรมเนียมการเขียน recommendation เมื่อเขียนเสร็จอาจารย์จะปิดผนึกซองและเซ็นชื่อทับรอยที่ปิดผนึกซอง แล้วเราก็ต้องเอาซองที่ปิดผนึกอยู่นี่ส่งไปทั้งอย่างนั้นเลย แต่ถ้าอาจารย์ที่เคร่งน้อยหน่อยก็อาจให้เราดูก่อนที่จะปิดผนึกก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่
(ได้ยินว่ามีอาจารย์บางคนที่ง่ายกว่านั้นคือให้เราเป็นคนเขียนเอง บรรยายสรรพคุณให้ตัวเองชมตัวเองเต็มที่ เสร็จแล้วอาจารย์ก็แค่มาเซ็นชื่อให้แค่นั้น แต่แบบนั้นเราคิดว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่)

นี่น่าจะเป็นเอกสารที่เตรียมได้ยากที่สุดแล้วก็ว่าได้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถเตรียมได้เอง ต้องเข้าหาอาจารย์ที่เรารู้จัก แถมยังต้องเป็นอาจารย์ระดับ รศ. หรือ ศ. เท่านั้นด้วย ซึ่งโดยปกติอาจารย์ระดับนี้ก็หายากอยู่แล้ว ต่อให้มีเวลาว่างเขาก็คงน้อย แถมเราจะไปเร่งเขาก็ไม่เหมาะเพราะเขาเป็นอาจารย์ ดังนั้นสิ่งนี้ขอให้เตรียมล่วงหน้าเป็นเวลานานเลย

ปัญหาก็คือตำแหน่งทางวิชาการในมหาวิทยาลัยในจีนนั้นได้มาง่ายกว่าในไทยมาก คือมีศาสตราจารย์และรอ'ศาสตราจารย์อยู่เกลื่อนเต็มไปหมด ซึ่งต่างจากในไทยที่บางแห่งอาจไม่มีศาสตราจารย์อยู่เลย และรองศาสตราจารย์เองก็ยังน้อยแค่ไม่กี่คน ดังนั้นจึงเป็นปัญหาสำหรับคนไทยที่จะสมัครแต่ก็ช่วยไม่ได้เนื่องจากเขากำหนดมาอย่างนี้

แต่หากหาไม่ได้จริงๆก็อาจต้องลองส่งเมลไปหากรรมการที่รับสมัครของมหาวิทยาลัยนั้นๆว่าพอจะยอมให้ใช้อาจารย์ที่ไม่มีตำแหน่งได้หรือเปล่า โดยอธิบายเหตุผลไปว่าในไทยหาอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการสูงได้ยาก ถ้าเขายอมก็ดีไป


8. ใบตรวจสุขภาพ (สำเนา)
ใบนี้โหลดจาก http://en.csc.edu.cn/uploads/foreinphy.pdf

แต่ถ้าวันไหนที่ลิงค์เสียไปแล้วก็เข้าหน้าเว็บหลักของทุน csc ไปหาโหลดได้ http://en.csc.edu.cn หรือไม่ก็ไปขอที่สถานที่ทำวีซ่าจีน


ปรินต์มาแล้วก็เอาไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ อย่าลืมเอาพาสปอร์ตไปด้วยเวลาไปตรวจ พอเสร็จได้เสร็จแล้วก็เอาไปถ่ายเอกสารเพื่อใช้ส่ง ส่วนใบจริงไม่ต้องส่งไปด้วย ให้เก็บไว้กับตัวให้ดี

หลังจากที่ได้ทุนมาแล้วเราก็ยังจะต้องไปตรวจสุขภาพใหม่อีกรอบด้วย เพราะใบตรวจสุขภาพนี้มีอายุใช้งานได้แค่ ๖ เดือน

9. สำเนาพาสปอร์ตที่ยังไม่หมดอายุการใช้งาน
บางแห่งอาจไม่ต้องใช้ แต่ยังไงการจะสมัครก็ต้องมีพาสปอร์ตแน่นอนอยู่แล้ว เพราะต้องกรอกหมายเลขพาสปอร์ตในใบแบบฟอร์ม ถ้ายังไม่มีก็รีบไปทำ พาสปอร์ตนี้จะเป็นเสมือนบัตรประจำตัวประชาชนเราตลอดเวลาที่เรียนอยู่ที่นั่น

10. ใบสอบวัดระดับภาษาจีน (HSK) ถ้ามี
ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ยกเว้นคนที่จะเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาษา

11. เอกสารอื่นๆเพิ่มเติมตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ
เนื่องจากแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ต้องดูในรายละเอียดการสมัคร

12. เอกสารอื่นๆที่อยากเพิ่มเข้าไปเองตามความเหมาะสม
นอกจากเอกสารที่ทางมหาวิทยาลัยขอแล้ว ใครอยากใส่อะไรเพิ่มเติมไปเพื่อเป็นการยืนยันถึงความสามารถและความพร้อมของตัวเองก็ทำได้ด้วย และเป็นเรื่องที่ควรจะทำ

ตรงส่วนนี้เราได้รับคำแนะนำมาจากบทความของคุณ tomimoto ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ได้คิดจะเตรียมเอกสารเพิ่มเติมเช่นกัน เอกสารเหล่านี้ได้แก่เช่น
- จดหมายแปะหน้า
- สารบัญรายชื่อเอกสาร
- CV
- ใบสำเนาของประกาศนียบัตรหรือผลงานต่างๆว่าเรามีความสามารถอะไรหรือผลงานอะไรให้ใส่ไปให้หมด เช่นใบเรียนดี เกียรตินิยม ความประพฤติเรียบร้อย ร่วมกิจกรรมอะไรที่มีความสำคัญ ความสามารถพิเศษ เช่นภาษา ใบผลสอบ TOFLE, IELT, JLPT ฯลฯ ประมาณว่ามีอะไรดีก็อวดไปให้หมดไม่มีอะไรเสีย

สำหรับส่วนนี้ขอไม่พูดถึงรายละเอียดเพราะอ่านที่คุณ tomimoto เขียนคงจะได้รายละเอียดดีกว่า

ก็จบเท่านี้ในส่วนของเอกสาร ถือว่าเยอะและยุ่งยากในการเตรียมการมากพอสมควรทีเดียว ควรเผื่อเวลาไว้เป็นเดือนในการเตรียมการ



ลิงค์รายละเอียดรับสมัครของมหาวิทยาลัยต่างๆบางแห่งในปี 2012
- 大连理工大学 (Dalian University of Technology) http://dutsice.dlut.edu.cn/e/ShowNews.aspx?n_id=1126
- 北京师范大学 (Beijing Normal University) http://www.bnulxsh.com/jieshao/2011CSC_Postgraduate_en.html
- 北京航天航空大学 (Beihang University) http://is.buaa.edu.cn/HTML/Scholarship/CSC%20Scholarship2012.html
- 北京理工大学 (Beijing Institute of Technology) http://isc.bit.edu.cn/show.aspx?id=329&cid=75
- 南京大学 (Nanjing University) http://hwxy.nju.edu.cn/English/NoticeDetail.aspx?ID=2b0fe8a1-2551-44f5-91f5-06b5ba7345c9
-中国药科大学 (China Pharmaceutical University) http://wb.cpu.edu.cn/enDetail.aspx?id=175
- 华中科技大学 (Huazhong University of Science & Technology) http://english.hust.edu.cn/Full_Scholarship.html
- 复旦大学 (Fudan University) http://iso.fudan.edu.cn/downloads/zxjxj20111215.swf
- 上海理工大学 (Shanghai Univeresity for Science and technology) http://isoe.usst.edu.cn/s/17/t/69/66/07/info26119.htm
- 浙江大学 (Zhejiang University) http://iczu.zju.edu.cn/english/type1/01032501.html 
- 重庆大学 (Chongqing University)  http://international.cqu.edu.cn/ArticleView/2011-12-26/Article_View_416.Htm
- 兰州交通大学 (Lanzhou Jiaotong University) http://wsc.lzjtu.edu.cn/news.asp?id=370

ข้อมูลทั้งหมดที่ให้มานี้เป็นประสบการณ์สอบของปี 2011 ซึ่งไม่รู้ว่าในปีถัดๆมาจะมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดตรงไหน แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปนัก
และประสบการณ์ทั้งหมดนี้ได้มาจากของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเคยสมัคร หรือเคยคิดจะสมัคร หรือจากเพื่อนที่รู้จักเท่านั้น สำหรับมหาวิทยาลัยอื่นที่ไม่เคยหาข้อมูลอาจจะมีรายละเอียดการสมัครที่ไม่ตรงหรือเพิ่มเติมไปจากตรงนี้ได้


สำหรับเรื่องที่ว่าพอประกาศผลว่าได้ทุนแล้วจะเป็นยังไงต้องเตรียมตัวยังไงต่อนั้นก็เป็นสิ่งที่อยากจะเขียนต่อไปเหมือนกัน แต่คิดว่าคงไปเขียนเอาตอนช่วงพฤษภาคมที่เริ่มประกาศผลแล้วจะดีกว่า ตอนนี้อยากให้ทุกคนมุ่งเป้าไปที่การสมัครให้ผ่านก่อน
 

 
ก็หวังว่าที่เขียนมานี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่สนใจไปเรียนต่อจีน  สุดท้ายนี้ขอให้คนที่สมัครโชคดีได้ทุนกันทุกคน



ลิงค์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง

- รายละเอียดและขั้นตอนการขอทุนรัฐบาลจีน >> http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=beauhlinglings&month=07-2012&date=04&group=3&gblog=2
- ขั้นตอนการขอ X-visa เข้าประเทศจีนสำหรับศึกษาต่อ >> http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=beauhlinglings&month=07-2012&date=17&group=3&gblog=3
- ทำไมถึงอยากมาเรียนต่อนอก >> https://phyblas.hinaboshi.com/20120622
 

 


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ