φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



วันแรกในวิทยาเขตซางามิฮาระ
เขียนเมื่อ 2014/01/22 02:00
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
กลับมาเขียนบันทึกการมาร่วมค่ายอบรมวิชาการของโซวเคนไดที่ญี่ปุ่นต่อหลังจากที่หายไปนาน ใครไม่ได้อ่านมาตั้งแต่ต้นให้ไปย้อนอ่านได้ที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20131205

#จันทร์ 11 พ.ย. 2013

เข้าสู่วันที่สองของการมาญี่ปุ่นเที่ยวนี้ แต่เป็นวันแรกของการประชุมวิชาการจริงๆ หลังจากที่เมื่อวานใช้เวลาในการเดินทางซะส่วนใหญ่

หลังจากที่เมื่อวานเดินทางบินจากปักกิ่งมาลงที่สนามบินนาริตะแล้วก็เดินทางไกลมาเข้าพักในวิทยาเขตซางามิของ JAXA แล้วไปเที่ยวโยโกฮามะจนกลับมาดึก https://phyblas.hinaboshi.com/20131217

เราก็ตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วก็นั่งเรื่อยเปื่อยในห้องจนสายๆ งานจะเริ่มตอนสิบโมง ดังนั้นจึงไม่ต้องรีบอะไรเท่าไหร่ ค่อยๆเตรียมความพร้อมของตัวเองสำหรับการเข้าร่วมงานประชุมวิชาการซึ่งจะต้องเจอกับคนชาติต่างๆมากมายซึ่งสนใจดาราศาตร์เหมือนกัน เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น



ก่อนอื่นเพื่อความเข้าใจมากขึ้น แนะนำให้อ่านหน้านี้ก่อน https://phyblas.hinaboshi.com/20140116

ซึ่งได้เขียนแนะนำให้รู้จักเกี่ยวกับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศ (宇宙航空研究開発機構) ของญี่ปุ่นหรือที่เรียกย่อๆกันว่า JAXA ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานในครั้งนี้

ส่วนเรื่องรายละเอียดของวิทยาเขตซางามิฮาระแห่งนี้ได้เขียนไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20140118



เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับสถานที่มากขึ้น ก่อนจะเล่าเรื่องของวันนี้ต่อขอลงรูปภายในวิทยาเขตซางามิฮาระแห่งนี้ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายตอนวันที่ 13 พ.ย. ไม่ใช่วันแรกที่เพิ่งมาถึงซึ่งยังไม่ค่อยได้ถ่ายอะไรนัก

ด้านหน้าทางเข้าวิทยาเขตซางามิฮาระ



อาคารวิจัยและบริหารจัดการตึกหนึ่ง เป็นอาคารหลักของที่นี่ ภายในมีห้องจัดแสดงที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม และห้องประชุมที่ใช้ตลอดงานนี้ก็อยู่ในตึกนี้ด้วย ภายในยังมีห้องจัดแสดงที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมด้วย มีอะไรน่าสนใจอยู่มากมายให้พูดถึง แต่จะยังไม่เขียนถึงในหน้านี้ แต่ยกไปเล่าใน https://phyblas.hinaboshi.com/20140131



อาคารวิจัยและบริหารจัดการตึกสอง ตั้งอยู่ข้างๆติดกัน



อาคารทดลองเฉพาะทาง



ที่เห็นอยู่ใกล้คืออาคารเครื่องจักรศูนย์กลาง และที่เห็นอยู่ทางซ้ายไกลๆคืออาคารทดลองอุโมงค์ลม



อาคารทดสอบโครงสร้างและสมรรถภาพ



ด้านหลังอาคารทดสอบสภาพแวดล้อมยานบิน



ลานจอดรถ



ป้อมยามหน้าประตู ที่ซึ่งคอยดูแลต้องรับผู้ที่มาเยือน เมื่อวานตอนมาถึงก็ต้องมาลงทะเบียนและรับกุญแจที่พักจากตรงนี้



ด้านนอกอาคารมีตั้งแสดงจรวด Μ-V (มิว 5) ซึ่งถูกยกเลิกการใช้งานไป รายละเอียดเกี่ยวจรวดนี้เขียนไว้แล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20140120



นี่คือหอที่เราและผู้ร่วมอบรมส่วนหนึ่งพักอยู่ อยู่ข้างๆอาคารที่มีห้องประชุมที่จัดงาน โรงอาหารก็อยู่ในอาคารนี้ เวลาเที่ยงต้องมาทาน



ฝั่งตรงข้ามประตูวิทยาเขตซางามิฮาระเป็นหอศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติ (国立近代美術館) สาขาซางามิฮาระ



ถัดไปอีกเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองซางามิฮาระ (相模原市立博物館)



ภายในมีจัดแสดงเกี่ยวกับดาราศาสตร์ แต่เนื่องจากเปิดตอน 9:30 จึงหาเวลาดูไม่ได้เลย ได้แค่เข้าไปดูหน้าตึกแล้วก็ชั้นแรกนิดหน่อยแล้วก็กลับออกมา น่าเสียดายจริงๆ





กลับมาเล่าเรื่องในวันที่ 11 พ.ย. ต่อ

เราออกมาจากห้องตอนเก้าโมงกว่ามาเดินเล่นข้างๆหอพัก จังหวะนั้นก็เจอเพื่อนผู้ร่วมงานชาวจีนกับชาวไต้หวันพอดีก็เลยชวนคุยกันจนใกล้เวลาเริ่มก็เห็นคนจากชาติอื่นๆซึ่งพักอยู่โรงแรมพากันเดินเข้ามา แล้วทุกคนก็ไปรวมกันอยู่ที่ห้องบรรยาย แล้วงานก็เริ่มขึ้น

เริ่มจากการกล่าวเปิดงานโดย ศ. มัตสึฮาระ ฮิเดโอะ (松原 英雄) จากภาควิชาวิทยาศาสตร์อวกาศของแผนกวิจัยวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ของโซวเคนได ผู้เป็นประธานของค่ายในครั้งนี้ แล้วก็ตามด้วยการบรรยายแรกตอนสิบโมงครึ่ง

ต้องขอบอกก่อนว่าความจริงแล้วอยากจะอธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาของแต่ละเล็กเชอร์อย่างละเอียดสักหน่อย แต่ยังไม่สามารถลงตอนนี้ได้เนื่องจากอาจารย์ทางโน้นยังไม่ได้ลงสไลด์ ppt ของแต่ละเล็กเชอร์มาให้โหลดดูได้ ซึ่งเขามีบอกไว้ว่าจะลงไว้ในเว็บแต่ว่าต้องรอนานเป็นเดือนๆ ดังนั้นไว้ถึงตอนนั้นจะมาเพิ่มเติมเนื้อหาอีกที ในนี้จะพูดถึงแต่ละเล็กเชอร์แค่คร่าวๆเท่านั้นก่อน

เล็กเชอร์แรกบรรยายโดย ร.ศ. โองาวะ ฮิโรยุกิ (小川 博之) นักวิจัยของ  JAXA ผู้ทำวิจัยทางด้านพลศาสตร์ของไหลร้อน ขณะนี้เขากำลังวิจัยเรื่องเกี่ยวกับจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อยู่ วันนี้เขามาบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบทางด้านความร้อนของยานอวกาศและจรวด

หลังจากนั้นก็ต่อด้วยเล็กเชอร์ที่ ๒ ซึ่งกำหนดการณ์เดิมคนพูดจะต้องเป็น ผ.ศ. ยามาซากิ อัตสึชิ (山﨑 敦) ผู้วิจัยด้านฟิสิกส์พลาสมาและบรรยากาศดาวเคราะห์

แต่เนื่องจากเขาไม่สะดวกในวันนี้ จึงเปลี่ยนสลับโดยให้ ร.ศ. โซเนะ โยชิตสึงุ (曽根 理嗣) ผู้วิจัยด้านเทคโนโลยีคลื่นแหล่งกำเนิดคลื่นที่ใช้ในอวกาศ ซึ่งเดิมทีต้องบรรยายในวันพรุ่งนี้ มาพูดในวันนี้ก่อน

อาจารย์โซเนะเป็นเลขาธิการของค่ายนี้ เขาเป็นผู้รับผิดชอบจัดการดูแลผู้ร่วมงาน สามารถเจอเขาได้ตลอดงานนี้ เป็นอาจารย์ที่อารมณ์ดี คุยกับผู้เขาร่วมอบรมอย่างเป็นกันเองมาก (ภาพนี้ถ่ายโดยผู้ร่วมอบรมชาวมาเลเซีย ขอยืมเขามาลง)



เขามาบรรยายเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ของเคมีไฟฟ้าในด้านการสำรวจอวกาศ พูดถึงระบบไฟฟ้าในยานอวกาศ

หลังจากการบรรยายนี้จบก็ถึงเวลาพักเที่ยง

ภายในวิทยาเขตซางามิฮาระมีโรงอาหารอยู่แห่งเดียวอยู่ในอาคารที่พัก ตลอดสามวันก็ทานอยู่ในนี้ตลอด วันนี้ลองสั่งเส้นอุดงเปล่าๆมาทานกับเนื้อหมู่ชุบแป้งทอดแบบนี้ ดูแล้วไม่ค่อยเข้ากันก็เลยไม่ค่อยอร่อยนักมื้อนี้ พลาดแล้ว แต่ถูกดี ๓๒๐ เยนเท่านั้นเอง



หลังทานเสร็จก็กลับมาฟังบรรยายต่อตอนบ่ายโมงครึ่ง เล็กเชอร์ ๓ บรรยายโดย ศ. ฮายากาวะ ฮาจิเมะ (早川 基) ผู้วิจัยด้านฟิสิกส์แม็กนิโตสเฟียร์ดาวเคราะห์ และเป็นผู้จัดการโครงการ BepiColombo ซึ่งจะไปสำรวจดาวพุธ โดยมีแผนจะเริ่มปล่อยยานในปี 2015 และจะใช้เวลาเดินทางนานกว่าจะเข้าถึงวงโคจรดาวพุธในปี 2022

จากนั้นตามด้วยเล็กเชอร์ ๔ โดย ร.ศ. อิมามุระ ทาเกชิ (今村 剛) ผู้ศึกษาวิจัยด้านบรรยากาศดาวเคราะห์ เขามาพูดถึงแผนสำรวจดาวศุกร์ของยานอวกาศของญี่ปุ่นที่ชื่ออากัตสึกิ (あかつき)

อากัตสึกิถูกส่งออกไปตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2010 โดยตั้งใจจะเข้าสู่วงจรดาวศุกร์ในวันที่ 7 ธ.ค. ปีเดียวกันนั้นแต่ว่าล้มเหลว จึงวางแผนที่จะพยายามนำยานเข้าสู่วงโคจรของดาวศุกร์ใหม่ในปี 2015 เป้าหมายของอากัตสึกิคือการสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ซูเปอร์โรเทชัน (super rotation) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ลมในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์หมุนเร็วมากถึง ๖๐ เท่าของความเร็วในการหมุนรอบตัวเอง

หลังจากการบรรยายนี้จบก็ได้เวลาในการนำเสนอโปสเตอร์โดยผู้ร่วมอบรมแต่ละคน มีบางคนไม่ได้ปรินต์โปสเตอร์มาแต่เอาไฟล์มาปรินต์ที่นี่ ไม่ต้องลำบากขนมา ตอนแรกเราก็กะว่าอยากทำอย่างนั้นแต่กลัวว่าจะปรินต์ไม่ได้ก็เลยปรินต์แล้วขนมาเองดีกว่า



แต่มีคนหนึ่งที่เซฟไฟล์มาแต่มีปัญหาปรินต์ไม่ได้ ก็เลยเปลี่ยนเป็นใช้วิธีนำเสนอโปสเตอร์โดยฉายด้วยเครื่องฉายสไลด์แทน เลยดูเด่นกว่าคนอื่นเลย แถมประหยัดกระดาษด้วย

ระหว่างช่วงนำเสนอโปสเตอร์นี้ผู้เข้าร่วมอบรมชาวเวียดนามเพิ่งจะมาถึง เนื่องจากเขาติดพายุทำให้เครื่องเลื่อนเวลาจนมาถึงเอาป่านนี้ ก็เลยไม่ได้มาฟังเล็กเชอร์ของวันนี้ และไม่ได้ร่วมนำเสนอโปสเตอร์ด้วยทั้งที่อุตส่าห์เตรียมมาแล้ว แต่ไม่เป็นไรเพราะมีช่วงนำเสนอโปสเตอร์อีกทีตอนไปที่หอดูดาวแห่งชาติวิทยาเขตมิตากะ

หลังจากนั้นสักพักอาหารก็เริ่มมาตั้ง มื้อเย็นนี้ทางนี้เขาเลี้ยงต้อนรับผู้ร่วมอบรมเป็นอย่างดี



อาหารแต่ละอย่าง






ทั้งผู้ร่วมอบรมและอาจารย์ที่มาเป็นวิทยากรต่างมาร่วมกันทาน ระหว่างช่วงนั้นก็เป็นช่วยที่ทุกคนได้คุยแลกเปลี่ยนอะไรกันมากมาย





หลังทานอาหารเสร็จกิจกรรมของวันนี้ก็จบลงเพียงเท่านี้ ผู้ร่วมอบรมที่พักอยู่ที่โรงแรมก็มีรถมารับกลับ ส่วนพวกเราซึ่งพักอยู่ที่พักภายในวิทยาเขตอยู่แล้วก็เดินกลับห้องพักของตัวเองเพื่อไปพักผ่อนตามอัธยาศรัย

การอบรมเพิ่งจบลงเพียงวันเดียวเท่านั้น จากทั้งหมด ๕ วัน วันต่อไปยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายรออยู่

อ่านต่อเรื่องราวของวันต่อไป https://phyblas.hinaboshi.com/20140124



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์
-- ประเทศญี่ปุ่น >> คานางาวะ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ